ดราม่าข่าวกับกลยุทธ์การตลาด

images

หลายเดือนก่อน มีดาราแฟนกันคู่หนึ่งสร้างปรากฏการณ์ให้กับข่าว คือมีการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวให้กับผู้ชมทางบ้านเกือบทุกช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่องอานาล็อก ช่องดิจิทัล ช่องเคเบิ้ลหรือช่องดาวเทียมสร้างสถิติคนดูสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่งในประเทศนี้
ในอาคารที่ทำงานของผู้เขียนมีโทรทัศน์อยู่ทุกห้อง ทุกชั้น ต่างพร้อมใจกันเปิดดูการถ่ายทอดสด มีคนมุงดูอย่างใจจดใจจ่อ
เรากำลังพูดถึงกรณีน้องแตงโม กับ คุณโตโน่ ดารานักร้องชื่อดัง

ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนมีเรื่องระหองระแหงเป็นข่าวกันมาพักใหญ่

ต่อมามีข่าวว่าแตงโมกินยาฆ่าตัวตาย นำส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน

จากนั้นไม่นาน โตโน่ แฟนหนุ่มก็ออกแถลงข่าวเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของสองคนให้กับสื่อทุกช่อง โดยมีฉากหลังเป็นชื่อหมายเลขช่องของโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง

เชื่อได้ว่า เย็นวันนั้นคนดูทั้งประเทศที่ดูถ่ายทอดสดการแถลงข่าวสามารถจดจำหมายเลขช่องนั้นสร้างเรตติ้งให้กับช่องโดยไม่ต้องลงทุนทำโปรโมทหมายเลขช่องให้คนจดจำเลย และไม่รวมค่าโฆษณาราคาแพงที่เก็บได้ในช่วงเวลานั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นความสำเร็จสุดยอด การประสานงานอย่างดีระหว่างความเป็นข่าว กับ กลยุทธ์ทางการตลาด การวางแผนการตลาด สามารถสร้างเรทติ้งของข่าวบันเทิงชิ้นนั้นเพียงชิ้นเดียวให้ผู้คนได้จดจำดาราในสังกัดและจดจำช่องตัวเองด้วย โดยใช้ประเด็นของข่าวที่อยู่ในกระแสมาวางแผนการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าของข่าวชิ้นนั้นให้สูงขึ้น

ในอดีตข่าว อาจจะไม่ใช่แหล่งหาโฆษณาหรือรายได้ของสถานีโทรทัศน์ แต่หลายปีที่ผ่านมาข่าวทีวียุคใหม่ สามารถทำรายได้มหาศาลให้กับช่อง ไม่ต่างจากรายได้โฆษณาจากละคอน เกมส์โชว์ หรือเรียลิตี้

หากเชื่อว่า คนดูส่วนใหญ่ดูทีวีเพราะความบันเทิงเป็นสำคัญ ดูเหมือนว่า รายการครอบครัวข่าว เรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้สร้างสูตรการทำข่าวให้ดูง่าย ไม่เคร่งขรึม ตามขนบของการนำเสนอข่าว ต้องยอมรับว่า คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้สร้างปรากฎการณ์ในการทำให้คนไทยหันมาดูข่าวทางทีวีมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับทางสถานีโทรทัศน์เป็นกอบเป็นกำจากเรทติ้งข่าว

แน่นอนว่า เบื้องหลังความสำเร็จคือการใช้แผนการตลาดทำให้สินค้าข่าว เป็นอะไรที่เสพง่ายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ไม่ยาก โดยมีคุณสรยุทธ เป็นผู้เปิดทางให้ด้วยลีลาการพูด ภาษาเข้าใจง่าย และวิธีการตั้งคำถามแบบถึงลูกถึงคน ชวนติดตาม

ในอีกด้านหนึ่งวิธีการทำข่าว ก็ต้องทำให้เป็นดราม่ากันมากขึ้น เพื่อสร้างสีสันและความสนใจให้กับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่

อย่าลืมว่า ข่าวมีสองประเภท คือข่าวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาทิไฟไหม้ น้ำท่วม และข่าวที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ

ข่าวดราม่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนานแล้ว ในสังคมไทย คือการสร้างข่าวให้มีความขัดแย้งมาก แต่งแต้มให้มีสีสันจนโอเวอร์จากความเป็นจริง แต่ชวนติดตามและข่าวต้องสร้างประเด็นความขัดแย้งต่อเนื่องให้มีเรื่องดราม่าได้ระยะหนึ่ง เพื่อขายข่าว หลายปีก่อนมีดาราคนหนึ่งออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ท้องกับคนนั้น แต่สื่อเล่นข่าวตลอด สุดท้ายดาราคนนั้นท้องขึ้นมาจริง ๆ

ยิ่งมีความรุนแรง มีความขัดแย้งมากยิ่งดราม่ามาก แต่ไม่ต้องให้ถึงเสียชีวิต เพราะข่าวจะมีอารมณ์เศร้าเกินไป เอาแบบเฉียดตาย อันนี้ดราม่าสุด ๆ

เพราะทุกวันนี้คนจำนวนมากสนใจปรากฏการณ์มากกว่า ข้อเท็จจริง คือเกิดอะไรขึ้น จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ลือกันไปแล้ว

ดังนั้นความน่าเชื่อถือของชิ้นข่าว อาจจะไม่จึงใช่สิ่งที่ไม่จำเป็น มากไปกว่าการสร้างข่าวให้คนสนใจและความเร็วของข่าว เพื่อให้คนหันมาติดตาม

ไม่น่าแปลกใจที่สื่อหลายแห่งจึงให้ความสนใจกับความเร็วมากกว่าความน่าเชื่อถือของข่าวและที่สำคัญก็คือ ข่าวดราม่าไม่ได้มีเฉพาะข่าวบันเทิง ดารา นักร้อง นักแสดงเพียงอย่างเดียว แต่มีทุกวงการไม่ว่าจะข่าวดราม่าในวงการนักการเมือง วงการนักกีฬา วงการนักธุรกิจโดยฝ่ายการตลาดมีส่วนสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การสร้างความเป็นข่าวดราม่า เพราะโดยวัตถุดิบแล้วบรรดาเซเล็บในวงการต่าง ๆ ก็เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะนักการเมือง

หลายปีที่ผ่านมา สังคมอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองสูง ข่าวดราม่าของนักการเมืองทุกเฉดสีได้รับความนิยมสูงสุด เรียกว่า ข่าวนักการเมืองเป็นข่าวหลัก แต่หลังการรัฐประหาร คสช.จับตาดูข่าวการเมืองเป็นพิเศษ นักการเมืองถูกคุมบรรดาสื่อไม่กล้าเล่นข่าวการเมืองมาก เราจึงเห็นข่าวทุกวันนี้มีดราม่าจากกีฬา และวงการดารามากกว่าปกติเพื่อทดแทนดราม่านักการเมืองที่หายไป

สื่อหลายแห่งยังเชื่อว่า เป้าหมายสำคัญของข่าวประการหนึ่งคือ การสร้าง เรทติ้ง เพิ่มรายได้จากโฆษณาเพราะนี่คือความอยู่รอดขององค์กร จึงไม่แปลกใจว่า ฝ่ายตลาดของสื่อหลายแห่งจึงมีบทบาทสูงในการกำหนดทิศทางข่าว

อ่านแล้วไม่ต้องเชื่อครับ ลองคิดต่อเอง

กรุงเทพธุรกิจ 20 สค. 58

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.