ตรวจสุขภาพดอยอินทนนท์

picture1

           

ใคร ๆก็รู้ว่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สวยงามเพียงใด เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆของคนไทย อากาศหนาวเย็นตลอดปี และเป็นสวรรค์สำหรับนักดูนกจากทั่วโลก

 

ภาพที่เห็นอยู่ข้างบนนี้ เป็นภาพถ่ายยอดดอยอินทนนท์จากทางเครื่องบิน จะเห็นว่าเป็นยอดเขาเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่สูงเหยียดฟ้าทะลุเมฆขึ้นมาด้วยความสูง 2,565  กลายเป็นเกาะโดด ๆท่ามกลางทะเลเมฆอันเวิ้งว้าง

 

 

แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชื่นชมความงามดอยอินทนนท์ปีละเกือบ 5 แสนคน ป่าแห่งนี้เปิดรับบริการนักท่องเที่ยวไม่หยุดหย่อนตลอดทั้งปี แทบจะไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือพักฟื้นตัวเองตามธรรมชาติเลย

คนเรายังต้องมีการตรวจสุขภาพกันทุกปี เพื่อจะได้รู้ว่ายังแข็งแรงสุขสบายดี หรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไร จะได้เตรียมการป้องกันได้

 

ประสาอะไรกับป่าผืนนี้ที่ทำงานไม่มีวันหยุด น่าจะมีการตรวจสุขภาพกันมั่ง

 

ปลายหน้าหนาวที่ผ่านมา ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่มได้ร่วมกันทำโครงการตรวจสุขภาพป่าดอยอินทนนท์ว่ายังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ยังสามารถเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติได้ดีหรือไม่

 

จากการสำรวจของอาสาสมัครผู้รักธรรมชาตินับร้อยคน บริเวณอ่างกาหลวงบนยอดดอย จุดสูงสุดของประเทศไทย หลายคนคงนึกถึงป่าดึกดำบรรพ์ ต้นไม้ขนาดใหญ่มีเฟิน มอสและไลเคนเกาะเต็มไปหมด ขณะที่ตรงพื้นเป็นแอ่งซับน้ำมีน้ำขังตลอดปี เป็นสภาพป่าพรุ มีข้าวตอกฤาษี มอสขนาดใหญ่ที่สุด ลำต้นอวบน้ำสีเขียว ยอดสีแดงขึ้นเต็มไปหมด และขึ้นได้ในระดับความสูง 2,000 เมตร จึงเป็นพืชหายากมาก

 

อาสาสมัครพบว่า ข้าวตอกฤาษีหายไปเยอะมาก เฟินและมอสที่เกาะตามต้นไม้ก็เหี่ยวแห้งไปมาก  ต้นไม้ใหญ่ยืนตาย เพราะความชื้นและน้ำขังได้เหือดแห้งลงไปมาก เพราะบนยอดดอยมีกิจกรรมของหน่วยงานหลายแห่งที่สูบน้ำจากบริเวณป่าต้นน้ำบนยอดดอยไปใช้มาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

 

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่คือสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศ ที่มีพื้นที่ถึง 33 ไร่ มากกว่าพื้นที่อ่างกาหลวงเสียอีก สถานีเรดาร์แห่งนี้มีคนพักอาศัยมากถึง 300 คน ปริมาณการใช้น้ำจึงมหาศาล มิหนำซ้ำยังเป็นเขตทหารห้ามเข้า แต่ภายในมีบ้านพักรับรอง สนามฟุตบอล สิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับบุคคลระดับวีไอพี

 

อาสาสมัครได้รายงานว่า แม้ว่าดอยอินทนนท์จะเป็นสวรรค์สำหรับนักดูนก เพราะจำนวนนกในบ้านเรา 900 กว่าชนิด มีอยู่บนดอยอินทนนท์ถึง 400 กว่าชนิด และนกก็เช่นเดียวกับข้าวตอกฤาษีเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

 

แต่บนดอยอ่างกา ที่เคยมีนกหายากของโลก อาทินกกินปลีหางยาวเขียว แต่บัดนนี้แทบจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะไลเคนฝอยลม อาหารโปรดของนกชนิดนี้ได้หายไปแล้ว เพราะอากาศบนยอดดอยไม่บริสุทธิ์เหมือนเดิม

 

ไลเคนคือดัชนีชี้ความบริสุทธิ์ของอากาศ และไลเคนฝอยลมจะขึ้นได้ดีในอากาศบริสุทธิ์มาก ๆ  แต่ทุกวันนี้โดยเฉพาะวันหยุด ปริมาณรถหลายร้อยคันที่เหยียบคันเร่งขึ้นลงบนยอดดอยแห่งนี้ ได้ทำให้อากาศที่อยู่เหนือเมฆแห่งนี้มีปริมาณควันพิษมากกว่าถนนลาดพร้าวเสียอีก

 

พอมาถึงตามลำธารในป่า นักสำรวจจากกลุ่ม siamensis.org ได้พบว่าลูกปลาเทร้าต์สายรุ้งจำนวนมากได้หลุดจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของโครงการหลวงที่อยู่ในดอยอินทนนท์ ไปอยู่ในลำธารตามธรรมชาติแล้ว

 

ปลาเทร้าต์สายรุ้งไม่ได้เป็นปลาบ้านเรา แต่เป็นพวกสัตว์ต่างถิ่นที่น่ากลัวมาก เพราะปลาเทร้าต์เป็นสัตว์ดุร้ายกินทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้ว่ารสชาติจะอร่อยเพียงใด แต่เมื่อมันอยู่ในน้ำแล้วมีโอกาสที่จะทำให้ปลาตามลำธารสูญพันธุ์ได้อย่างง่ายดาย

 

พอตกกลางคืน บริเวณหุบเขาใกล้ที่ทำการอุทยาน กลับสว่างไสวราวกับศูนย์การค้ากลางป่า เพราะชาวเขาใช้หลอดไฟเร่งการเจริญเติบโตของดอกเบญจมาศในแปลงเพาะเลี้ยง ไม่นับรวมการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงบนพื้นที่การเกษตรประมาณพันไร่บริเวณนั้น

 

ทุกวันนี้นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีทั้งทหารอากาศ โครงการหลวง  ชาวบ้าน ชาวเขา พ่อค้า แม่ค้า ต่างมาแย่งกันใช้น้ำ ใช้อากาศ ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ใช้ทรัพยากรบนดอยอินทนนท์กันอย่างกว้างขวางเกินกำลังที่ระบบนิเวศเปราะบางบนยอดดอยอินทนนท์จะฟื้นฟูตัวเองได้ทัน

 

ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของดอยอินทนนท์  คุณหมอประกาศผลว่า ไม่ผ่าน

 

มีปัญหาสุขภาพมาก ต้องเข้ารับการรักษาด่วน  

Comments

  1. คนคู่

    ผลการวินิจฉัยโรค พบว่าโรคที่เกิดจากอุตสหกรรมท่องเที่ยว เป็นสายพันธุ์ใหม่ไม่สามารถควบคุมได้ สมควรประกาศRED ZONE

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.