(จากบรรณาธิการ 273) กล้วยแขก ดัชนีชี้วัดภูมิปัญญาไทย

ครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกคนคงเคยทานกล้วยแขก

กล้วยแขกหรือกล้วยทอดเป็นขนมกินเล่นตั้งแต่วัยเด็ก  ขนมไทยชนิดอื่นอาจจะหายสาบสูญไป แต่กล้วยแขกไม่เคยตาย จากรสชาติกรอบนอก หอมหวานมันภายใน


กล้วยแขกคงไม่ใช่ถือกำเนิดในไทย น่าจะดัดแปลงจากอาหารประเทศอื่น เพราะอาหารไทยโดยดั้งเดิม มักจะปิ้ง ย่าง เป็นหลัก การทอดไม่ใช่วัฒนธรรมการทำอาหารไทย ส่วนจะมาจากประเทศแขกหรือไม่ ใครรู้ช่วยตอบที

เมื่อสิบปีก่อน แถวที่ทำงานของสารคดี มีกล้วยแขกชื่อดังร้านหนึ่งชื่อแม่กิมล้ง อยู่ย่านนางเลิ้ง ใกล้สี่แยกจักรพรรดิพงษ์   ผมยอมรับว่าอร่อยมาก เวลาขับรถผ่านแถวนั้นและติดไฟแดงมักจะตะโกนเรียกคนขายทันที

ใครผ่านไปแถวนั้นจะทราบดีว่า มีกล้วยแขกอร่อย

กล้วยแขกที่ทำได้อร่อยนั้น ต้องใช้กล้วยนางพญาของภาคใต้  หรือกล้วยน้ำว้า ที่ไม่สุกหรือดิบเกินไป นำมาฝานและชุบแป้งข้าวเจ้า ที่ผสมด้วยมะพร้าวขูด งาคั่ว น้ำตาล เกลือ น้ำปูนใส แล้วนำไปทอดน้ำมันร้อน ๆ พอสุกเป็นสีเหลืองทอง ก็นำออกมาสะเด็ดน้ำมัน

ร้านแม่กิมล้งใช้สูตรใด เจ้าของร้านคงไม่ยอมบอก แต่ความอร่อยของกล้วยแขกร้านนี้ มีส่วนผสมลงตัวของความกรอบด้วยแป้ง หวานจากกล้วยและมันจากมะพร้าวและงา มามานานหลายปีแล้ว

แต่สองสามปีที่ผ่านมา ใครผ่านไปแถวนั้นและสี่แยกใกล้เคียง คงต้องแปลกใจกับคนขายกล้วยแขกหลายร้อยคน มีผ้ากันเปื้อนบอกยี่ห้อแม่ต่าง ๆ ถือถุงพลาสติกตะโกนแย่งกันขายสินค้ากลางถนน

สนนราคาก็พุ่งพรวดขึ้นมาเกือบเท่าตัว จากราคาถุงละสิบบาท ขึ้นมาเป็นถุงละยี่สิบบาท ส่วนจำนวนกล้วยแขกแทบจะนับชิ้นได้

บริเวณนั้นมีร้านขายกล้วยแขกเกิดใหม่อย่างรวดเร็วเกือบยี่สิบร้าน เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าหัวไวแห่กันมาเปิดเต็มไปหมด เพราะรู้ดีว่าคนมาซื้อเชื่อว่าแถวนี้มีกล้วยแขกอร่อย  แต่ละร้านมีคำว่าเจ้าเก่าต่อท้าย ทำให้ผู้ซื้อไม่อาจแยกได้ชัดเจนว่า ร้านไหนทอดกล้วยแขกได้เอร็ดอร่อย

ร้านแม่กิมล้งดั้งเดิม ที่ทำกล้วยแขกอร่อยเป็นรายแรกมาช้านาน ก็ถูกกลืนหายไป ยิ่งนานวันเข้า ไม่มีใครรู้ว่า เป็นร้านเจ้าเก่า ตัวจริง

บางร้านยังไปรับซื้อน้ำมันทอดที่ใช้แล้วตามร้านอาหารใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มาทอดกล้วยแขกเพื่อลดต้นทุน

คนที่ทำงานเคยซื้อกล้วยแขกแถวนี้ไปกิน และทิ้งไว้ในรถเกือบอาทิตย์ พอเอามากินใหม่ กล้วยยังกรอบอยู่เลย จนต้องปาทิ้ง เพราะไม่แน่ใจว่าใส่สารเคมีอะไรทำให้กรอบได้นานขนาดนี้

ทุกวันนี้ยอดขายกล้วยแขกตามสี่แยกแถวนั้นที่เคยเฟื่องฟู ได้ค่อย ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเทศกิจคอยขัดขวาง เพราะคนขายทำให้จราจรติดขัด แถมบางคนยังไปทุบกระจกรถบังคับขู่เข็ญคนซื้ออีกต่างหาก แต่เป็นเพราะผู้บริโภคค่อย ๆทราบแล้วว่า กล้วยแขกแถวนางเลิ้ง ไม่ได้เอร็ดอร่อยอย่างที่คิด

เรื่องของกล้วยแขกนางเลิ้งเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนนิสัยคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า ไม่คิดจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยมันสมองของตัวเอง คอยดูว่าจะลอกเลียนแบบใครได้มั่ง ใครทำอะไรประสบความสำเร็จ ได้เงินเยอะ ก็มักจะตามแห่กัน

ลอกเลียนกันทุกระดับ

ธุรกิจระดับล่างก็ลอกกล้วยแขก ธุรกิจระดับร้อยล้านก็ยังลอกชาเขียวกัน  จนขาดทุนย่อยยับเมื่อหลายปีก่อน

แล้วจะไปตามหาภูมิปัญญาแบบไทย ๆที่ไหน วานบอกที

Comments

  1. คนคู่

    อ่านบทความนี้แล้วค่อนข้างตกใจที่คนไทยด้วยกันมองว่า

    ” เรื่องของกล้วยแขกนางเลิ้งเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนนิสัยคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า ไม่คิดจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยมันสมองของตัวเอง คอยดูว่าจะลอกเลียนแบบใครได้มั่ง ใครทำอะไรประสบความสำเร็จ ได้เงินเยอะ ก็มักจะตามแห่กัน”

    อ่านจบแล้วก็เกิดคำถามว่า แล้วพวกร้านขายของตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่เพชรบุรี มีร้านขายขนมหม้อแกงเต็มไปหมด ที่หนองมน ชลบุรี ขายข้าวหลาม เชียงใหม่ ก็มีใส้อั่ว นครสวรรค์ ก็ขายขนมโมจิ เหมือนๆกันไปหมดอย่างนี้ จะอธิบายว่าอย่างไร
    ยิ่งการที่คุณฟันธงไปที่ร้าน…ของคุณเพียงร้านเดียว เหมือนกับเป็นกลยุทธทางการตลาดแบบไร้สำนึก ที่ปัจจุบันนิยมใช้กัน ที่เรียกว่าโฆษณาแบบไม่โฆษณา โดยใช้สื่อที่น่าเชื่อถือบวกกับเทคนิคการเขียนเชิงสารคดี เป็นการโน้มนำแบบหวังผลอำพราง
    ถ้าคุณมองหาสิ่งที่มีเพียงหนึ่ง แล้วนำมาตีตราโดยปลายปากกาเพื่อจะเชิดชูว่านี่คือสารคดี ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเท่ากับคุณมองข้ามความสมดุล ความมีชีวิตชีวา และคุณค่าที่แท้จริงไป
    กลับกันถ้าคุณมองสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นสีสัน เป็นความต่อเนื่อง มันก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้คุณค่าของสิ่งนั้นยิ่งแจ่มจ้า และสะท้อนประโยชน์ให้กับเจ้าของงานนั้นตลอดจนคนในพื้นที่ได้เช่นกัน
    อย่าลืมว่าสิ่งสร้างสรรค์ใดๆ หากมันสามารถเคลื่อนไหวได้ คุณค่าของมันก็ย่อมแสดงออกมาได้ในที่สุด และตราบใดที่มันหยุดนิ่ง คุณค่าของมันก็จะเป็นเพียงที่ระลึกถึงเท่านั้น
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองแล้ว ความมีสีสันของย่านต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆแม้แต่นักผังเมืองเอง และโปรดเข้าใจด้วยว่าเรื่องของภูมิปัญญานั้นเป็นคนละเรื่องกับเรื่องกระแสตลาด
    ที่จริงเรื่องนี้มีประเด็นหลากหลายที่น่าสนใจจนต้องแวะเข้ามาอ่าน แต่ต้องผิดหวังที่เห็นมุมมองของบรรณาธิการเป็นเช่นนี้ เหมือนเวลาเห็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ แล้วอ่านเนื่อเรื่องกลับเป็นคนละเรื่องยังไงยังงั้นเลย
    อย่าให้งานเขียนของคุณชิ้นนี้ เป็นดัชนีชี้วัดภูมิปัญญาของคนสารคดีเลย หากมันควรจะเป็น Master piece ในลิ้นชักลับของสารคดีตลอดไป

    ด้วยจิตสำนึก

    จากคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกล้วยแขก

  2. ..ก็ไม่รู้

    นับแล้วมี ย่อหน้าที่บรรยายสรรพคุณแม่กิมล้ง ถึง 3 ย่อหน้าแน่ะ

  3. yuttipung

    ไม่เคยไปนางเลิ้งเลย(มันอยู่แถวไหนหว่า) แต่แฟนเคยเล่าให้ฟังเหมือนกันว่าคนขายเต็มเลย แต่กินแล้วไม่อร่อยซักเจ้า ของอย่างนี้ไม่รู้กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แค่ไหน

  4. คนเมือง

    กล้วยแขก..อร่อยมากๆ
    มีร้านกล้วยแขกที่อร่อยๆ มาแนะนำนะ
    ใครได้ไปเชียงใหม่ก็ลองไปทานกันนะ
    ร้านกล้วยแขกที่ว่านี้อยู้หน้าร้านหนังสือสุริวงค์บุ๊คเซนเตอร์
    ชาวเชียงใหม่เค้ารู้จักกันดี….ขายมาเป็น 10 ปีแล้ว

  5. อัญชัญ ทับละม่อม

    กล้วยแขกที่ถนนประชาชื่น 24-25 ไง (กล้วยทอดประชาชื่น) อร่อยมาก….ขอบอก 😛

  6. วิกานดา

    ทานอยู่ประจำเลย…
    กล้วยทอด ข้างร่านหนังสือสุริวงค์ อร่อยจิง
    อยากให้เพื่อนลองทานกันดูนะ
    ของอร่อยๆๆ อย่างนี้

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.