คิดสักนิดกับปลาแซลมอน

picture_of_salmon_showing_whole_fish_loin_fillets_steaks_and_tail_fillet
ผมเป็นคนชอบกินปลาครับ

ปลาในดวงใจที่ชอบก็คือปลาจะละเม็ด ปลาทู และปลาแซลมอน

จำได้ว่ากินปลาแซลมอนครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนในต่างแดน อาหารเย็นมื้อนั้นเพื่อนฝรั่งพาไปกินปลาแซลมอนรมควัน ผมยังนึกสงสัยอยู่ในใจว่า ปลาอะไรหนอ เนื้อสีส้มอมชมพูแสนสวย พอได้ชิมเนื้อปลาแล้วก็เริ่มติดใจในรสชาติขึ้นมา เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ยังหาโอกาสกินปลาแซลมอนบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก เพราะตอนนั้นราคาปลาแซลมอนในเมืองไทยจัดว่าค่อนข้างแพง

นาน ๆ ครั้ง เพื่อนพาไปกินอาหารญี่ปุ่น อันดับแรกที่ต้องสั่งคือซาชิมิปลาแซลมอนจิ้มวาซาบิ เพื่อนสั่งปลาดิบมาให้กินกี่จาน ๆ ก็กินหมดจนพุงกาง หากวันไหนเพื่อนพาไปร้านอาหารฝรั่ง ก็จะต้องสั่งปลาแซลมอนรมควัน จนกลายเป็นอาหารจานโปรดไปเสียแล้ว

เพื่อนผมเคยบอกว่า สงสัยชาติที่แล้วผมคงเกิดเป็นหมีสีน้ำตาลแถวอะแลสกา ที่ชอบกินปลาแซลมอนตามลำธารเวลาที่มันอพยพขึ้นมาวางไข่

ผมชอบกินปลาแซลมอนเพราะเนื้อไร้กลิ่นคาว เวลาเคี้ยวก็รู้สึกได้ถึงความลื่นมัน ได้รสธรรมชาติแสนเอร็ดอร่อย และต้องกินแบบไม่ปรุงแต่ง ถ้าเอาปลาไปนึ่งหรือทอด รสชาติก็สู้กินแบบดิบ ๆ ไม่ได้

จนกระทั่ง ๔-๕ ปีให้หลัง ผมสังเกตเห็นว่ามีการนำเนื้อปลาแซลมอนเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรามากขึ้น ราคาก็ไม่แพงเหมือนในอดีต สมัยก่อนอาจมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำไม่กี่แห่ง แต่ตอนนี้ตลาดติดแอร์แทบทุกแห่งจะมีเนื้อปลาแซลมอนวางขาย เคียงคู่กับเนื้อปลากะพง ปลาเก๋า ในราคาไม่แตกต่างกัน และดูเหมือนว่าจะถูกกว่าเนื้อปลาจะละเม็ดเสียอีก

กล่าวคือเนื้อปลาแซลมอนที่เคยขายกันกิโลกรัมละ ๗๐๐-๘๐๐ บาท บัดนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท ขณะที่เนื้อปลาจะละเม็ดขนาดใหญ่ยังคงยืนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๔๐๐-๕๐๐ บาทขึ้นไป

เมื่อเห็นว่าปลาแซลมอนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศทางยุโรป ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก วันไหนพอมีเวลาก็แวะซูเปอร์มาร์เกตซื้อปลาแซลมอนมากินเล่น พลางดูรายการสารคดีชีวิตปลาแซลมอนที่ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลหลายพันไมล์เพื่อขึ้นมาวางไข่ออกลูกหลานที่ต้นลำธาร ดูแล้วก็นึกเอาเองว่าปลาแซลมอนที่เรากินคงต้องเป็นปลาที่พลานามัยแข็งแรงแน่ แถมยังอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา-๓ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ อย่างนี้จะไม่ให้หลงใหลแซลมอนอย่างไรไหว

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมเหลือบไปเห็นบทความเกี่ยวกับปลาแซลมอนในวารสาร ecologist ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ตาสว่างขึ้นทันที

ปลาแซลมอนที่เรากินก็คงไม่ต่างจากกุ้งกุลาดำในฟาร์มเลี้ยง ที่เราส่งไปขายเมืองนอกจนติดอันดับโลก คือถูกเลี้ยงให้เติบโตมาด้วยการใช้สารเคมีและอัดยาเยอะ

ปลาแซลมอนที่ส่งมาขายบ้านเราส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงปลาในยุโรป ปลาแซลมอนเหล่านี้อุดมไปด้วยเชื้อโรค เจ้าของฟาร์มจึงต้องใส่สารเคมีและยาปฏิชีวนะลงในบ่อปลา เพื่อกำจัดแมลงรบกวนและเชื้อโรคหลายอย่าง

ปลา แซลมอนในธรรมชาติมีเนื้อเป็นสีชมพู เพราะมันกินพวกกุ้งตัวเล็ก ๆ และพืชทะเล ปลาแซลมอนในฟาร์มก็มีเนื้อสีชมพูน่ากินเช่นกัน แต่เป็นเพราะมันกินอาหารปลาที่มีสารให้สีจำพวก astaxanthin และ canthaxanthin ชนิดเข้มข้น ซึ่งหากมนุษย์ได้รับสารเหล่านี้มากเกินไป อาจจะมีผลต่อระบบประสาทตา

นอกจากนี้ เนื้อของปลาแซลมอนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังยังอุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีผลต่อการอุดตันของเส้นเลือด แถมยังมีกรดไขมันโอเมกา-๓ น้อยกว่าปลาแซลมอนในธรรมชาติถึง ๓ เท่า ดังนั้นหากบริโภคแซลมอนจากฟาร์มเหล่านี้มากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้

ในสหรัฐอเมริกายังมีการวิจัยพบว่า เนื้อปลาแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยงมีสารก่อมะเร็งที่มาจากอาหารปลาในระดับที่สูงกว่าปลาแซลมอนจากธรรมชาติถึง ๑๖ เท่า มากกว่าเนื้อวัว ๔ เท่า ไม่นับรวมว่าปลาแซลมอนบางตัวมีพยาธิทะเลอาศัยอยู่ด้วย

ทุกวันนี้การเลี้ยงปลาแซลมอนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีความต้องการที่สูงขึ้นทั่วโลก

เมื่อไทยส่งกุ้งกุลาดำตีตลาดยุโรป ฝรั่งก็ส่งปลาแซลมอนมาเป็นบรรณาการบ้าง

ทั้งสองล้วนเป็นอาหารยอดฮิต และอุดมไปด้วยสารเคมีชนิดต่าง ๆ

ปีใหม่นี้คงต้องบอกตัวเองให้รักปลาแซลมอนน้อย ๆ ครั้นจะเหลียวมามองปลาจะละเม็ด ก็อุดมไปด้วยฟอร์มาลีน

กลับมาหาปลาทูเพื่อนยากกันดีกว่า

Comments

  1. ป๋อง โป๊ยเซียน

    เคยได้รับความรู้แบบนี้ผ่านข้อเขียนของพี่จอบมาก่อน เดี๋ยวนี้ทานน้อยลงเยอะเลยครับ

    เดือนธันวาคมกินปลาทูกันที่สมุทรสงครามดีกว่า-ปลาทูซาเตี๊ยะ สุดยอดนะครับพี่

  2. เก่ง

    ได้ยินเรื่องการเลี้ยงปลาแซลมอนมาซักพัก แต่ไม่ค่อยคิดมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากคิดว่าเป็นแค่ข่าวลือเรื่องหนึ่ง
    ..จนกระทั่งเห็นบทความของคุณวันชัย ทำให้คิดว่าจะเลิกกินปลาแซลมอนแสนโปรดดีมั๊ยเนี่ย..คงต้องหันหน้าไปซบปลาทูแม่กลองเหมือนกัน

  3. วิภาดา

    ไม่ไร้สาระหรอกค่ะ เป็นความคิดเห็นหนึ่ง ของคุณวันนะค่ะ
    เมื่อวานเย็นเราไปซื้อปลาแซลมอนมาทานกันค่ะ มีประมาณ 7 ชิ้นเล็กๆ บนแครอท+ไชเท้าฝอย ทานไปได้หนึ่งชิ้นค่ะ ที่เหลือลูกชายทานหมด แล้วยังขอเพิ่มอีก เลยบอกไปว่าลูกต้องทำฟาร์มเองแล้วค่ะ ถึงจะมีทานเยอะๆ เช้ามาก็เลยมาหาข้อมูลดู พอได้อ่านบทความนี้แล้วคิดว่า เราซื้อปลาทูให้ลูกกินดีกว่าค่ะ น่าจะคุณค่าสมราคา
    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นี้ค่ะ

  4. วุ่นวาย

    แล้วที่เห็นเป็นสีส้มๆๆนี่หละค่ะ มันคืออะไร…..แล้วที่ทำเป็นซูชิที่ตลาดจะเกรดไหนหละเนี่ย

  5. Tree

    พรุ่งนี้ว่าจะไปกินอยู่พอดี อ่านแล้วก้อชวนอดให้คิดมากไม่ได้ ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับข้อมูลดีๆ

  6. เอก เอเจล

    สงสัยจะต้องกินหญ้า..ซะละมั้ง อุ้ย…หญ้าก็มี”กรัมมอคโซน”สะสมอีก ช่วยแนะนำด้วยครับ..ว่าพอมีอะไรเหลือให้พอกินมั้ง

  7. ร้านต้มยำยนต์ บ่อวิน

    เอามาทำต้มยำซิครับ อร่อยน่ะครับ เครื่องมี
    1.มะขาม -รสดี -น้ำ(ทำน้ำซุป)
    2.ข่า -ตะไคร้ -ใบมะกรูด -หอมหัวใหญ่ –
    3.ตังโอ๋ -ผักชีฝรั่ง -หอมแดงเผา
    4.มะนาว -น้ำปลา -ผงชูรส -พริกเผา -พริกสดปั่น(รวมกับมะเขือเทศ)
    5.นมสด คาร์เนชั่น

    ผมขายตลาดนัดกับคนเก็บกะตังค์(เมีย)ที่ สุรศักดิ์ ,เขาไม้แก้ว,เสาร์สูง ติดถนน 331 บ่อวิน-ปากร่าม รายได้ดีน่ะครับ

  8. สุนีย์. อภินันทนพงศ์

    ทำงานอยู่โรงงานปลาป่น.วัตถุดิบก็มีแซลมอนด้วย เนื้อปลาไม่ได้เป็นสีชมพู แต่เปนสีส้มแปร๊ดเลยแหละ เหมือนสี
    แครอท ยังไงยังงั้นเลย. สีนั้นน่าจะเกิดจากให้อาหารแบบจงใจ. เพื่อให้ดูน่ากิน เหมือนที่บ้านเราเลี้ยงหมูแล้วใส่สารเร่ง
    เนื้อแดง :mrgreen: :mrgreen:

  9. ฮาฟีเซาะห์ มิงยีนา

    ใจความสำคัญของบทความเรื่องคิดสักนิดกับปลาแซลมอน

  10. สาริษฐ์

    อาจารย์ลืมคำนึงถึง GMO ด้วยหรือเปล่าครับ ตอนนี้ที่ยุโรป เทรนด์ปลาประหลาด กำลังมาแรง ไม่ได้เลี้ยงในกระชังแบบที่เราคิดๆกันแล้ว

    http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-1309316/Frankensalmon-ruled-safe-eat-Fast-growing-GM-fish-approved-scientists.html

  11. แม่โอชิ

    🙄 กำลังจะไปซื้อมาทำให้ลูกชายทานอยู่พอดีเลย^^ แต่ตอนนี้ ไม่ค่อยแน่ใจแล้วอ่ะ

  12. เคอร์มิต

    ตามไปอ่านจากลิงค์นี้
    http://en.wikipedia.org/wiki/Aquaculture_of_salmon

    เลยเจออันนี้อ่ะพี่
    The conclusions were that

    “…consumers should not eat farmed fish from Scotland, Norway and eastern Canada more than three times a year; farmed fish from Maine, western Canada and Washington state no more than three to six times a year; and farmed fish from Chile no more than about six times a year. Wild chum salmon can be consumed safely as often as once a week, pink salmon, Sockeye and Coho about twice a month and Chinook just under once a month.”[25]

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.