เอ่ยถึง “สงคราม” ภาพที่ปรากฏขึ้นในมโนสำนึกคือความวินาศสันตะโร ความทุกขเวทนาแสนสาหัสของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ
ขึ้นชื่อว่า “สงคราม” ไม่ว่ายุคใด เกิดที่ไหนในโลก อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกอย่างถูกทำลาย มีคนตาย คนหาย และผู้นำที่สบายเพราะสั่งการอยู่ในห้องแอร์ โดยไม่สนใจว่าจะส่งทหารของตนไปชนะหรือแพ้ และลูกหลานใครจะไปตาย
ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ “สงคราม” เปลี่ยนรูปแปลงร่างไปจนเราดูไม่ออก
ดูไม่ออกว่ามันยังดำรงอยู่ในพื้นที่เดิม
– 1 –
ฤดูหนาว ปี ๒๐๐๘ , สะพานข้ามน้ำเทิน แขวงคำม่วน สปป. ลาว
สายน้ำไหลเอื่อย ทิวทัศน์แปลกตา สายไฟฟ้าแรงสูงที่ทอดขนานกับถนนหมายเลข 9 ซึ่งเชื่อมระหว่าง นครพนม-ท่าแขก-ด่านลาวบาว ย้ำเตือนผมว่า ที่นี่แม้ใกล้บ้าน แต่ก็ไม่ใช่บ้าน
ที่กลางแม่น้ำเทิน ชาวบ้านกำลังพายเรืออย่างแช่มช้า และลักษณะเรือของพวกเขาทำให้ผมต้องสาวเท้าไปที่ริมตลิ่งเพื่อดูใกล้ๆ
เรือลำนั้นคล้ายกับจรวดโดนผ่าครึ่ง ทำจากอลูมิเนียม สีตะกั่วทั้งลำ บางลำติดเครื่องยนต์ที่ส่วนท้ายแล่นทำให้แล่นปร๋อในแม่น้ำได้อย่างรวดเร็ว
คนท้องถิ่นเรียกเรือนี้ว่า “บอมโบ๊ท” (Bomb Boat) และเล่าว่าทำมาจากระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาสมัยสงครามอินโดจีนแล้วไม่ทำงาน (ระเบิดด้าน)
จากความรู้อันน้อยนิดที่ผมมี ลาวกลางบริเวณแม่น้ำเทินแม้เป็นเขตทิ้งระเบิด แต่ไม่น่าจะมีซากระเบิดเยอะเท่าอดีตสนามรบอื่นๆ อาทิ แขวงเชียงขวางในภาคเหนือ หรือพื้นที่แถบทางหลวงหมายเลข 13 ในภาคใต้ซึ่งเป็นทางลำเลียงเสบียงอาวุธของกองกำลังเวียดนามเหนือ
แต่เมื่อทบทวนดู คำตอบที่ได้ ก็ไม่น่าพิสมัยสำหรับคนไทยเท่าใดนัก
ย้อนไปในทศวรรษที่ 1960 ยุคที่สงครามในอินโดจีนยังคุกรุ่น ลาว คือหนึ่งในพื้นที่ซึ่งคู่สงครามคือ เวียดนามเหนือ (สนับสนุนโดยสหภาพโซเวียต) กับเวียดนามใต้ (สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา) ใช้ทำ “สงครามลับ” (Secret War) ที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ
เวียดนามเหนือส่งทหารแทรกซึมสู่ลาวตาม “เส้นทางโฮจิมินห์” (Hochiminh Trial ปัจจุบันคือถนนหมายเลข 13 ที่วิ่งขนานถนนหมายเลข 9 จากตะวันตกสู่ตะวันออก อยู่ห่างไปทางใต้ 150 กิโลเมตร) เพื่อส่งเสบียงและยุทธปัจจัยให้แนวหน้าซึ่งเผชิญหน้ากับกองกำลังเวียดนามใต้ สหรัฐฯ และทหารรับจ้างจากไทย
ส่วนเวียดนามใต้ก็อาศัยพี่ใหญ่สหรัฐฯ ให้มาตั้งฐานทัพอากาศในไทยหลายแห่ง อาทิ สนามบินอู่ตะเภา ระยอง สนามบินอุดรธานี อุดรธานี และใช้ฐานเหล่านี้ส่งเครื่องบินไปทิ้งไปโจมตีเส้นทางในลาวและเวียดนาม โดยที่เจ้าของบ้านอย่างลาวไม่อยู่ในสภาพป้องกันตัวได้ เพราะนอกจากขาดแคลนงบประมาณและอาวุธ ขณะนั้นยังมีความขัดแย้งทางลัทธิจนคนในชาติแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลพระราชอาณาจักรที่มีอำนาจในเวียงจันทน์ กับแนวลาวรักชาติ (คอมมิวนิสต์) ซึ่งมีอิทธิพลในเขตชนบท
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับการหนุนหลังจากมหาอำนาจ 2 ค่ายเช่นกัน
ช่วงปี 1964-1975 รัฐบาลฝ่ายพระราชอาณาจักรอนุญาตให้สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดได้อย่าง “อิสระ” ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนายพลวังเปา นายพลชาวม้งที่ทำศึกกับกองกำลังแนวลาวรักชาติและทหารเวียดนามเหนือที่แขวงเชียงขวาง
การได้รับอนุญาตให้ทิ้งระเบิดอย่างอิสระคราวนั้น ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ลาวกลางและใต้เลวร้ายลง
แกรนท์ อีแวนส์ นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ลาวระบุว่าช่วงนี้ภาคเหนือถูกทิ้งระเบิด 200-300 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่ภาคใต้มีการทิ้งระเบิดหลายร้อยเที่ยวต่อวัน โดยในทางนโยบาย ช่วงนั้นการทิ้งระเบิดจะมุ่งข่มขวัญพลเรือน จึงมีการบอกนักบินให้หลีกเลี่ยงการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มากที่สุด ทว่าแกรนท์วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“พวกเราซึ่งอยู่ในสมัยที่ทราบข่าวเกี่ยวกับลูกระเบิดบังคับทางไกล ย่อมรู้ดีว่ากระทั่งปัจจุบัน…ยังมิอาจรับประกันได้ว่าพลเรือนจะมิได้รับความสูญเสีย…การทิ้งระเบิดสมัยสงครามเวียดนาม (รวมถึงในลาว) ใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย (กว่าปัจจุบัน) มาก ย่อมมีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายมากมายแน่นอน”
มีการประเมินว่าระหว่างปี 1960-1975 มีเที่ยวบินทิ้งระเบิดในลาวทั้งหมด 2 แสนเที่ยว เฉลี่ยทุก 8 นาทีมีการทิ้งระเบิดหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ ข้อมูลจากบางหน่วยงานยังให้ตัวเลขถึง 5 แสนเที่ยว
ปริมาณระเบิดที่ทิ้งมีถึง 3 ล้านตัน พื้นที่ปฏิบัติการคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศ เมื่อสงครามจบลง ประชากรลาวที่ขณะนั้นมี 3 ล้านคนจึงได้มรดกเป็นลูกระเบิดคนละ 1 ตัน
และ 44 ปีที่ผ่านมา – – มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากระเบิดที่ตกค้าง 15,000 คน
“เรือระเบิด” ที่ลำน้ำเทินคือผลพวงและหลักฐานส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ครั้งนั้น
เพราะห่างไปทางตะวันตกราว 40 กิโลเมตรจากจุดที่ผมอยู่คือที่ตั้งเมืองท่าแขก ถ้าข้ามโขงไปก็จะเป็นจังหวัดนครพนม ที่ตั้งฐานทัพอากาศนครพนม ฐานทัพอากาศสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยสงครามอินโดจีน
ในกรณีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดไปจากอู่ตะเภาหรือสนามบินอื่นเพื่อโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์แล้วถูกยิงจนเสียหาย เส้นทางประคองเครื่องกลับได้เร็วที่สุดคือมุ่งหน้าสู่ฐานทัพอากาศนครพนม ซึ่งปัจจุบันคือท่าอากาศยานนครพนมซึ่งเปิดใช้สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์นั่นเอง
คนแก่ในหมู่บ้านหลายคนยังจำภาพเครื่องบินควันโขมงบินข้ามหัวกลับฝั่งไทยได้จนถึงวันนี้ ซ้ำร้ายบางคนถึงกับบอกได้ว่าเห็นบางลำมีระเบิดที่ยังไม่ได้ทิ้งและแท็งก์น้ำมันที่ต้องปล่อย ดังนั้น นกเหล็กพวกนี้ก็จะเอามาปล่อยในบริเวณรกร้างนอกเมืองก่อนกลับฐานทัพ
เป็นเหตุให้ระเบิดและถังน้ำมันของเครื่องบินแบบ B-53 ตกค้างอยู่แถบนี้ คนที่นี่บอกว่าวัตถุดิบทำบอมโบ๊ทส่วนมากคือถังน้ำมันของ B-53 แต่ถ้าวัตถุดิบคือลูกระเบิด ก็มักทำจากระเบิดลูกใหญ่ (Big Bomb) ซึ่งระเบิดประเภทนี้ ปัจจุบันในลาวกู้ได้เพียง 1% จากทั้งหมดที่ตกค้างทั้งประเทศ ที่เหลือถ้าถูกชาวบ้านพบ มันจะถูกแยกส่วนจนเหลือแต่เปลือกอลูมิเนียม นำไปผ่าครึ่งจนเหมือนเรือ โดยระเบิดลูกหนึ่งจะสร้างเรือได้ 2 ลำ และทีก็อาจถูกนำไปทำรั้วบ้าน
ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวไหลบ่า บอมโบ๊ทจึงเป็นของแปลกซึ่งแผนที่ท่องเที่ยวลาวฉบับหนึ่งที่ผมซื้อในเวียงจันทน์ถึงกับเขียนข้อความแนะนำไว้ตรงจุดที่เป็นสะพานข้ามลำน้ำเทิน
– 2 –
“บอมโบ๊ทเป็นของที่ระลึกจากสงคราม ยุคนี้ก็ต้องย่าน (กลัว) น้ำท่วม”
คุณป้าคนหนึ่งในหมู่บ้านริมน้ำเอ่ยขึ้นเมื่อถูกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่
คุณป้าเกิดในสมัยสงครามอินโดจีน เทียบกับปัจจุบัน สถานการณ์สงบและมีความสุขกว่า ทว่าเร็วๆ นี้เธอมองเห็นสงครามครั้งใหม่กำลังตั้งเค้า
มันคือ “สงครามแย่งชิงทรัพยากร” ที่รัฐบาลลาวร่วมกับนายทุนต่างชาติรบกับชาวบ้านที่ไม่มีสิทธิมีเสียงภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวและมีการควบคุมข่าวสารอย่างเข้มงวด
ด้วยหลายสิบปี หลังสนามรบถูกเปลี่ยนเป็นสนามการค้า รัฐบาลลาวหารายได้ด้วยการส่งออกทรัพยากร ให้นายทุนต่างชาติมาทำเหมืองทองแดง ทองคำ ฯลฯ อย่างคึกคักตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดของประเทศ หนึ่งในทรัพยากรหลักที่ลาวส่งออกนอกจากแร่ธาตุก็คือ “ไฟฟ้าพลังน้ำ” ซึ่งมีเหลือเฟือจากต้นธารของแม่น้ำนับพันสาย
รัฐบาลลาวกำหนดว่าในปี 2563 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ต้องเป็น “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” หรือ “เครื่องปั่นไฟฟ้า” ของภูมิภาคอุษาคเนย์ให้จงได้
ไม่ว่าประชาชนจะยินยอมหรือไม่ ขณะนี้มีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุดระบุว่าเฉพาะในแม่น้ำโขงมีโครงการสร้างเขื่อน ถึง 9 โครงการ ในบริเวณที่เป็นเส้นพรมแดนลาว-ไทย
ไม่นับเขื่อนตามลำน้ำสายรองในประเทศอีกนับสิบโครงการ
หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่ขอซื้อไฟฟ้าพร้อมร่วมทุนสร้างเขื่อนคือรัฐบาลไทยซึ่งมีแผนซื้อไฟฟ้าจากลาวไม่ต่ำกว่า 7 พันเมกะวัตต์ในช่วง 25 ปีข้างหน้า
สายน้ำเทินที่ไหลเอื่อยอยู่ตรงหน้าผม ทุกวันนี้ก็ผ่านกังหันเครื่องปั่นไฟของเขื่อนยักษ์ “น้ำเทิน 2” ที่ต้นแม่น้ำเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวมาแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ธนาคารโลก หนึ่งในผู้ค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศให้ลาว ยกย่องว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 นี้ มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้มาตรฐาน ทั้งจะสร้างรายได้ให้ลาวนำไปปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลลาวคาดว่าในประเทศมีศักยภาพสร้างเขื่อนใหญ่น้อยได้นับร้อยแห่ง และถ้าทำได้ครึ่งเดียวก็จะมีรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนจะเพิ่มเป็น 840 ดอลลาร์ต่อปี
– 3 –
ต้นเดือนสิงหาคม 2009
ผมนึกถึงคำกล่าวคุณป้าคนนั้นอีก เมื่อมีข่าวว่าเกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำเซบั้งไฟ พื้นที่ท้ายเขื่อนสาขาของแม่น้ำเทินที่อยู่ห่างไปทางใต้ โดยกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ลาวระบุว่ามีพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 37,500 ไร่
ท่ามกลางความสงสัยของชาวบ้านในพื้นที่ว่าเกิดจากการทดลองทดลองปล่อยน้ำของเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่ทดลองเดินเครื่องปั่นไฟตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร่วมทุนก่อสร้างเขื่อน (แน่นอนว่ารัฐบาลลาวมีเอี่ยว) ปฏิเสธสิ้นเชิงว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยมีน้อยมาก ปล่อยมากที่สุดก็เพียงร้อยละ10 ของความจุซึ่งทำจริงแค่ 2-3 วันเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนน้ำท่วมมากกว่า
ทว่า การตัดสินใจยุติการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและปล่อยน้ำจากเขื่อนก็ทำให้น่าสงสัยว่า ถ้าเขื่อนนี้ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วม จะยุติการปล่อยน้ำด้วยเหตุอันใด และถ้าข้อสงสัยนี้เป็นจริง ถ้าเขื่อนน้ำเทิน 2 เดินเครื่องปั่นไฟฟ้าส่งไทยตามสัญญาคือ 995 เมกะวัตต์/ปี เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยเดินเครื่องและปล่อยน้ำอย่างเต็มที่ทุกวัน ชาวบ้านจะเจอกับอะไร
ปัจจุบัน เขื่อนหลายแห่งในลาวสร้างเสร็จแล้ว ทว่าหน่วยงานต่างชาติหลายแห่งก็ยังคงชี้ว่า 29% ของคนลาว 6 ล้านคน ยังคงมีรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เกษตรกรลาวร้อยละ 80 ยังคงต้องบุกเบิกที่ดินโดยเสี่ยงจากกับระเบิดที่ยังตกค้างอยู่ตามป่าเขา
ที่สำคัญคือ คนลาวหลายแสนคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ขณะที่สายไฟฟ้าพาดข้ามหัวพวกเขา
ในอนาคต ไม่รู้ว่านอกจาก “บอมโบ๊ท” ชาวบ้านตัวเล็กๆ ในลาว จะได้อะไรเป็นของที่ระลึกจากความละโมบของรัฐบาลลาวในนาม “สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย (ปลอมๆ) เอกภาพ (ปลอมๆ) วัฒนาถาวร (จริงเหรอ?)” และความกระหายพลังงานจากเพื่อนบ้านอย่างเราที่อ้างว่าปกครองโดยระบบประชาธิปไตย (ปลอมๆ) อีก
สงครามอินโดจีนจบลง สงครามครั้งใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น
อ่านสนุกและชอบมากๆ ครับ
Keep up the fantastic piece of work, I read few posts on this website and I conceive that your site is real interesting and has circles of superb info .