|
แม่อุ๊ยกำลังทำอะไรในวัดในวันสงกรานต์
เมื่อถึงสงกรานต์
ใคร ๆ ก็มักตั้งใจไปเที่ยวเมืองเหนือเล่นสาดน้ำกัน
แต่ถ้าใครเข้าไปเที่ยวทำบุญตักบาตรตามวัดในวันที่
๑๔ เมษายน ก็จะพบภาพของแม่อุ๊ยที่กำลังประดับตุงไว้บนพระเจดีย์ทรายที่ชาวบ้านก่อขึ้นร่วมกัน
|
การก่อพระเจดีย์ทรายนี้
คนเหนือจะทำกันในตอนบ่ายของวันเนาว์หรือวันเน่า คือ วันที่
๑๔ เมษายน เพราะความเชื่อตามตำนานเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อพระเจดีย์ทราย
๘๔,๐๐๐ องค์ ถวายเป็นพุทธะ ธัมมะ สังฆะบูชา กับเรื่องพระโพธิสัตว์ครั้งเสวยชาติเป็นทุกขตะเข็ญใจ
ได้ก่อพระเจดีย์ทรายและฉีกสบงผ้าแขวนเป็นตุง พร้อมกับขอให้เสวยชาติใหม่เป็นองค์สัพพัญญู
ผู้ใดตานพระเจดีย์ทรายจึงได้บุญมหาศาลเท่าจำนวนเม็ดหินเม็ดทราย
อีกทั้งยังจะเป็นคนมีปัญญากล้าแข็งละเอียดเหมือนเม็ดทราย
จะเกิดร่วมกับพระศรีอาริย์ มีญาติพี่น้องบริวารมาก ไปไหนไม่อดอยาก
ถ้าเป็นคนแก่ก็จะมีอายุยืนยาว ส่วนหนุ่มสาวที่ก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน
ก็จะเป็นคู่สร้างคู่สมตลอดไป
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อตามคติไตรภูมิว่า
วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธองค์หรือองค์พระธาตุเจดีย์นั้น
เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นแกนกลางของจักรวาล โดยมีสัตภัณฑ์
(ไม้แกะสลักรูปสามเหลี่ยมที่ทำเป็นเชิงเทียน เจ็ดอัน มักตั้งอยู่ด้านหน้าฐานชุกชีพระประธาน)
ที่ตั้งอยู่หน้าองค์พระเป็นดังเขาสัตภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ห้อมล้อมโดยรอบ
และทั้งเขาพระสุเมรุและเขาสัตภัณฑ์ก็ถูกโอบล้อมด้วยนทีสีทันดรอันกว้างใหญ่
ซึ่งก็คือ อาณาบริเวณโดยรอบวัด ที่มีทรายเป็นสัญลักษณ์ของทะเลสีทันดร
คนโบราณจึงเชื่อว่าทุกครั้งที่เดินเข้าในวัด ก็จะนำเม็ดทรายในวัดติดเท้าออกมาด้วย
และหากไม่ขนทรายไปใช้แทน เมื่อตายไปจะเกิดเป็นเปรต เพราะคนล้านนาถือเรื่องสมบัติของสงฆ์ว่าเป็นของสูง
ของศักดิ์สิทธิ์ ใครจะลักหรือทำลายไม่ได้ เป็นบาปมหันต์
การก่อพระเจดีย์ทรายตามวัดต่าง
ๆ เราจึงมักเห็นก่ออยู่รอบ ๆ วิหารในวัด และตามเจดีย์ทรายเหล่านี้
ยังประดับประดาด้วยธง หรือที่คนเหนือเรียกว่า ตุง หลากสีหลากรูปแบบอีกด้วย

|