สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ : รายงาน
ฝ่ายภาพสารคดี : ภาพ

haengsakulเย็นวันฝนพรำ กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๒ คนเดินทาง ผู้ตั้งใจจะแวะ ไปเยี่ยม ยายตี๋ เฮงสกุล ช่างปั้นชื่อดัง ของบ้านทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้รับคำตอบ จากแม่ค้า ขายหม้อดินเผา แถบนั้น ด้วยน้ำเสียง และถ้อยความ น่าตกใจว่า

“พิโถ คุณเอ๋ย ไม่รู้เลยเรอะ หม่อตาย เสียตั้งแต่ เดือนที่แล้ว”

แม้ว่าศัพท์สำนวน ของแม่ค้า บ้านทุ่งหลวง จะฟังดูแปลกแปร่ง แต่ก็ประกาศ ความจริง ของชีวิตยายตี๋ เฮงสกุล ช่างปั้น ได้อย่าง ถนัดชัดเจน ไม่แพ้พุทธภาษิต ที่มักยกมา อ้างกัน บ่อยครั้ง ในหนังสืองานศพ

“ภาชนะดิน ที่ช่างปั้นหม้อ ปั้นแล้ว ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ ไม่ว่าเผาสุก หรือดิบ ไม่ว่าขนาดไหน มีแตกสลายในที่สุด ชีวิตคน และสัตว์ ทุกชนิด ในโลกนี้ เหมือนกัน”

———–

ใครต่อใคร ทั่วประเทศ ต่างก็รู้จัก และเรียกช่างปั้น ร่างผอมแกร่ง ผู้นี้อย่างคุ้นเคยว่า ยายตี๋ ยิ่งใคร ที่เคยพูดคุย กับยาย เคยเห็นยาย ทำงาน และงาน ที่ยายทำ ก็จะพบว่า ยายตี๋ ทำใน สิ่งที่ แปลกแตกต่าง ออกไป ใครต่อใคร ทั่วบ้านทุ่งหลวง เขาปั้นหม้อน้ำ กันทั้งนั้น สืบทอด อาชีพกัน มานานหลายชั่วคน ไม่เห็นมีใคร คิดทำอย่างอื่น ให้แปลกประหลาด แตกต่างออกไป เมื่อผ่านการทดสอบ ทดลอง มายาวนาน หม้อดินเผา ที่บ้านทุ่งหลวง แห่งนี้ จึงขึ้นชื่อว่า มีรูปทรงงดงาม และลงตัว แต่ไหนแต่ไรมา ใคร ๆ เขาก็รู้จัก “หม้อดินเผาบ้านทุ่งหลวง”

บ้านทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ก็คงขึ้นชื่อ อยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอื่นไป (หรือไม่ ก็ถูกลืมไปเสีย เมื่อไม่มีใคร จำเป็นต้องใช้ หม้อดินเผา ของทุ่งหลวงอีก) ถ้าหากว่าบ้านนี้ ไม่มีลูกบ้าน ที่ชื่อ ตี๋ เฮงสกุล แทนที่ยายตี๋ จะปั้นหม้อ เหมือนกับคนอื่น ๆ ยายกลับไปสนใจ ปั้นหมา ปั้นไก่ (อย่างที่เห็นอยู่ข้างบ้าน) ปั้นช้าง (เพราะ มีขบวนช้าง เตะฟุตบอล มาล้อมรั้ว ขายบัตรแสดงโชว์ แถวข้างบ้าน) ปั้นหมู่ลิงเล่นดนตรี และนางเงือก (ที่เห็นจากโทรทัศน์) และผลงานชิ้นสร้างชื่อ ของยาย ที่เห็นจะไม่มีใครเกิน ก็คือ ฝีมือปั้นนางกินรี (ที่ยายเห็นรูปจากหนังสือ) นางกินรี ของยาย ไม่ได้ม ีทรวดทรง องค์เอว งดงาม เหมือนที่อื่น หน้าตา ก็ไม่ได้สะสวย (แต่ว่าดูจิ้มลิ้ม) จะว่าไปแล้ว ผลงานปั้น ของยายแต่ละชิ้น ไม่ได้สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ ตรงไปตรงมา แบบหม้อไห แม้นางกินรี ของยาย จะมีฝาปิดเปิด อยู่ด้านหลัง แต่ก็เล็กเกินกว่า จะใส่อะไรลงไปได้ ดูเหมือนว่า ยายตี๋ ไม่ได้สนใจ ประโยชน์ใช้สอย “ที่ปั้น ก็เพราะอยากปั้น ขายได้ ไม่ได้ก็ปั้นไป” ยายบอก กับใคร ๆ อย่างนี้ และก็ด้วยเหตุผลง่าย ๆ แบบนี้เอง กระมัง ที่ทำให้ชื่อ “ยายตี๋” ขึ้นมา มีรัศมีเทียบเท่า “บ้านทุ่งหลวง” ยายตี๋ เป็นคนแรก ของบรรดา ช่างปั้น แห่งทุ่งหลวง ที่มีชื่อ ของตัวเอง ประทับอยู่ ในผลงาน แม้ว่า ยายจะ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้

haengsakul2haengsakul3

ตี๋ เฮงสกุล เกิดในเดือนยี่ ปีฉลู ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่บ้านวัดกลาง ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย พบรักกับ นายตำรวจ ทา เขียวอ่อน แต่อยู่ด้วยกัน เพียง ๑๕ ปีสามี ก็ถึงแก่กรรม โดยไม่มีบุตรด้วยกัน ยายเล่า ชีวิตความเป็นมา (ด้วยน้ำเสียง แปลกหูคนต่างถิ่น) ผ่านหนังสือ ผู้หญิงเล่มหนึ่ง และผู้เขียนเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมาว่า

“ตอนเกิด เจ๊กเค้าบอกว่าทำไมตาตี๋ (ตาตี่) เค้าเลย ให้ชื่อมายังงี้ ชื่อจริงไม่มีซักทีนะ… ฉันลำบากมา ตั้งแต่เล็กจนโต ลำบาก ไม่มีใครเกินหรอก เจ๊ดขวบ แป๊ดขวบ นั่นแหละ คนอื่นเขา อยู่โรงเรียน ฉันไม่ได้อยู่ก๊ะเขา เขาไปเอาดินเมื่อไร ก็ไปกับเขา ตอนนั้นเขาไม่ให้เรียน ตะก๊อนนั่น เขาไม่ต้องเรียน คนมีลูกหลายคน คนจนอย่างเนี้ย ไม่มีใครทำกิน คนนึงยกเว้นได้ ไม่ต้องเข้าโรงเรียน ก็เลยโง่ยั้งกะ… หมาแท้ ๆ เลย… แต่ฉัน เป็นคนชอบทำอะไร ต่อมิอะไร มาจั๋งเล็กจั๋งน้อยเลย พอฉันอายุได้ ๑๑-๑๒ นะ เขาไปเอาดิน เอาทราย ก็ไปเอากับเขา เขาก็เอาดิน มาให้หาบ ข้างละน้อย ละน้อย เขาเหยียบ ก็เหยียบด้วย เขาตำ ก็ตำด้วย…จั้งเล็ก ๆ ก็ชอบปั้น อะไรเล่น ๆ เอ้ง ตัวนิดตัวน้อย สมัยก่อน ปู่ย่าตายาย เขาก็ทำหม้อ เป็นธรรมดางี้เอง เขาตีโอ่ง ตีอะไร ฉันก็เอาดินเขา มาปั้นเป็นตัวอะไร แล้วก็มาเผาก๊ะเขา พอคนเห็น ก็มาซื้อเอาไปขาย ได้ตัวละ ครึ่งสตางค์ก็มี

“อายุ ๑๔-๑๕ ถึงเวลา หาบข้าว ก็ไปหาบข้าว ว่างก็มา ปั้นดินขาย… ฉันเห็นอะไรแปลก ๆ ฉันก็เอาไปทำเลย เห็นปลา ฉันก็เอาไปทำ… ที่บ้าน ไม่มีใคร ปั้นรูปอย่างนี้นะ ก็มันทำไม่ได้กัน… จั๊งเล็ก ๆ ไปขึ้นเขา กับเค้า เห็นพระซี้กร (สี่กร) อยู่ในถ้ำ มีสี่มือนะ (หมายถึง พระนารายณ์) ทีนี้ก็เอามา ปั้นดิบดีเลยนะ ใครเห็นก็ว่า ใครปั้นนี่ ใครปั้นนี่ … แล้วเค้าก็ว่า โอ้โฮ ทำไมถึงมาทำนี่เล่า ไม่ได้หรอก มีครูมีบาอะไรเล่า… พอเขาทักขึ้น ในราวสี่ห้าวัน เท่านั้นนะ อยู่ดี ๆ อย่างนี้ แดดแจ้อย่างนี้ มันมืดหมด เหมือนอย่างกะฝนจะตก ทีนี้ก็เอ๊ะ มันเป็นอะไรขึ้นมา ทำไมตามืดตามัวหมด… ทีนี้เขาก็พาไปโน่น ในราวซักสี่กิโล นั่งล้อวัวไป (เกวียน) ก็มันเดินไม่ได้นี่ ตาไม่เห็นอะไรเลย เขาก็พาไปหา อาจารย์ช่วง… ฉันก็เอาเทียนไป เอาดอกไม้ไป เขาก็ทำน้ำมนต์ แล้วก็จับมือ แนะนั่นนี่ พออาบน้ำมนต์แล้ว อะไรแล้ว ฉันมองเห็นแดดทันที เดี๋ยวนั้นเลยนะ… แล้วเขาก็บอกว่า ต่อไปเจ้าจะทำอะไรนะ เอามาให้กูจับมือก่อน ว่าเท่านี้แหละ มึงอยากทำอะไร ก็ทำไปเลย… ฉันก็ทำใหญ่ คิดเอาทั้งนั้นเลย คิดจะทำอี้ไหน ๆ ก็เอาเลย กลางคืนนอน ก็คิดว่า จะทำอะไรดี ก็ลุกขึ้นมาทำ

“ทีนี้พอโตขึ้นมาอายุ ๑๔-๑๕ ก็มาทำพวกกินรี เห็นอยู่ในกระดาษ หนังสือ มีหาง มีปีก ก็มาเริ่มทำ ทำ ก็ยังขายได้ ทำตัวน้อย ๆ ตัว ๑๕ ตัง แต่ก่อนเนาะ ๑๕ ตัง ก็โท้มไป ตอนนั้น หม้อใบใหญ่ ๆ ก็ห้าบาท สามบาท ซิบสลึงนี่แหละ โอ่งนี้ ฉันไม่ค่อยตีกั้บเขา ฉันนี่ปั้นอยู่งั้นเอง ขายได้ ไม่ได้ก็ปั้นไป เขาปั้นหม้อกัน แต่ฉันไม่เอา ไปเอาดินมา ก็มาปั้นเป็นตัว มันขายได้น่ะ ขายได้เรื่อย … ตั้งกะฉันมีแฟนนั่น ฉันมีทอง ๑๕ บาท ทั้งข้อมือ ทั้งคล้องคอ ทีนี้พอเขาตายไป ฉันก็มาอยู่ กับพ่อแม่ ไม่มีอะไรจะเลี้ยง ก็ขาย ขายจนโม้ด… ฉันก็ยังรักทางปั้น ทางเล่นดิน อยู่อย่างงี้ ขายได้ ขายไม่ได้ ก็ช่าง ทำไป จนเต็มบ้าน… ทีนี้เวลาไม่มีสตางค์ จะใช้ พวกลูกหลาน พี่น้องก็ให้ยื้มสตางค์ ไปซื้อกิน บางทีเขาก็ว่าให้น่ะ ว่า เออ… ไม่เห็นทำอะไร ทำแต่ดิน นี่แหละ มันก็กินดินซินะ ฉันก็โมโหเอ๊ง ยื้มตังก็ไม่ให้ ว่าเอาอีก… เอ้า… กินดินก็ได้ ฉันก็ว่างี้นะ

“ฉันก็เลี้ยงเตี่ย กับแม่มา จนเราไม่มีแรง จะเลี้ยง เตี่ยตายอายุ ๙๗ แม่ตายอายุ ๙๔ ปี … ก็หากินมา ขายขนมขะต้ม ขี้เกียจยั้ง (หยุดพัก) ขึ้นมา ก็เลยกลับหวน มาทำไอ้พวกนี้อีก ทำทิ้ง ๆ ไป อาจารย์จั้ก (อาจารย์จักร ศิริพานิช) มาเอาไปประกวด ที่สนามหลวง (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๗) จั้งนั้นเอง… ติดต่อมา ไม่เคยพัก แต่ก่อนเริ่ม ๆ ทำ หลังเหลิงก็ไม่เคยปวด กลางคืนก็ทำจนดึ๊ก โกลน ๆ เข้าไว้ พอแจ้งเช้าขึ้น ก็ทำอยู่อย่างนั้นแหละ… นี่มันมาทารุณใย้ ก็ที่มาเริ่ม ทำหม้อไอ้หม้อปู (หม้อ กาน้ำดินเผา มีรูปสัตว์ติดอยู่รอบ ๆ) หม้ออะไรมั่ง ยกบ้างนี่ ก็เริ่มปวดหลัง ตอนเช้า ก็ทำมาเรื่อย พอตอนบ่าย ก็ปวดหลังแล้ว ทำหยั้งได้ (ทำได้มากที่สุด) ก็แค่ตีลูกเนี้ย วันหนึ่งไม่แล้ว (ไม่เสร็จ) แค่หมุนให้มันแข็ง ต่อตีน ทำคอ ต่อปาก แล้วถึงมาทำดอก…

“ฉันก็กะจะปั้น จนทำไม่ไหวนะ ฉันก็พูดกับตัวเองว่า เอ้า… จะตายคามือก็เอา”

————

คงไม่เป็นการเกินเลย ถ้าจะกล่าวว่า หากไม่มี อาจารย์จักร ศิริพานิช (คณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัย ศิลปากร) ไม่มีสื่อมวลชน ที่คอยเผยแพร่ ผลงาน และเรื่องราว ของยายให “คนกรุง” ได้รับรู้ และไม่มีความ “ดื้อรั้น” ในแบบ ของยาย ยายตี๋ ก็คงไม่เป็นที่รู้จัก กว้างขวาง จนได้รับรางวัล จากการแสดงศิลปะ เครื่องปั้นดินเผา แห่งชาติ หลายครั้ง หลายคราว และคง ไม่ได้เป็น ผู้ที่มีผลงาน ดีเด่น ทางด้าน วัฒนธรรม สาขาศิลปะ การช่าง ศิลปะ และการช่างฝีมือ (พ.ศ. ๒๕๓๔) และ ใครต่อใคร ก็คงรู้จักกันแค่ งานหัตถกรรม พื้นบ้าน ของทุ่งหลวง แต่ไม่มีผู้ใด จดจำ รู้จัก หรือสนใจ ชื่อ และ ชีวิต ของคนผู้สร้าง อย่างเช่น ผู้หญิงช่างปั้น ที่ชื่อ ตี๋ เฮงสกุล– ช่างปั้น ที่มีชีวิต อย่างที่ ตัวอยากจะเป็น และตาย อย่างที่ทุกคน ฝันจะตาย ยายตี๋ ไหว้พระ ล้มตัวนอน แล้วก็หลับไปเลย

“หม่อตาย ทั้งที่ยังยิ้ม”

อ้างอิง

  • บินหลา สันกาลาคีรี “ยายตี๋” มติชน ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๒.
  • ตี๋ เฮงสกุล ศิลปินพื้นบ้าน อาวุโสแห่งบ้านทุ่งหลวง (บทสัมภาษณ์) นิตยสารดิฉัน มิถุนายน ๒๕๓๒.
  • สัมภาษณ์ ตี๋ เฮงสกุล พฤศจิกายน ๒๕๓๒.