เพชร มโนปวิตร : รายงาน / ถ่ายภาพ

loma1

“เราชนะแล้ว” ไบรอัน สมิท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชูกำปั้นขึ้นด้วยความยินดีท่ามกลางเสียงปรบมือเกรียวกราวของผู้แทนประเทศและตัวแทนองค์กรอนุรักษ์จากทั่วโลก หลังจาก ดร. ฮอลลี ดับบลิน ประธานในที่ประชุมไซเตส ประกาศรับรองร่างข้อเสนอของประเทศไทยในการเลื่อนสถานภาพโลมาอิรวดีจากบัญชีที่ ๒ ขึ้นเป็นบัญชีที่ ๑ อย่างเป็นทางการ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคมที่ผ่านมา

ไบรอัน สมิท เป็นนักวิจัยเรื่องโลมาน้ำจืดประจำสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และเป็นผู้ประสานงานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโลมาในเอเชียของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN Species Specialist Group) เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการผลักดันร่างข้อเสนอเรื่องโลมาอิรวดีมาตั้งแต่ต้น ไบรอันและทีมนักวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งนำโดย ดร. ไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องทำงานอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้าการประชุม เพื่อเตรียมข้อมูลในการนำเสนอและทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกถึงความสำคัญของการเลื่อนสถานภาพการอนุรักษ์โลมาชนิดนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับแนวต้านอย่างญี่ปุ่นที่พยายามล็อบบีไม่ให้ข้อเสนอเรื่องโลมาอิรวดีผ่านการเห็นชอบ

loma2

การประชุมประเทศภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) หรือที่รู้จักกันสั้น ๆ ว่า CoP (Conference of Parties) นี้ ได้จัดให้มีขึ้นทุก ๒ หรือ ๓ ปีเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกจำนวนกว่า ๑๖๐ ประเทศได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระรวมถึงเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในอนุสัญญา โดยข้อเสนอที่จะได้รับการยอมรับให้มีการแก้ไขจะต้องได้เสียงรับรองไม่น้อยกว่าสองในสาม ในการประชุมประเทศภาคีครั้งที่ ๑๓ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๑๔ ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเทศไทย และนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ข้อเสนอเรื่องโลมาอิรวดีจากประเทศไทยนับเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin / Orcaella brevirostris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ อยู่ร่วมกันเป็นฝูงและมีระบบสังคมที่ซับซ้อน มีอายุยืนเต็มที่ประมาณ ๓๐ ปี โลมาชนิดนี้อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่หลายสายในเอเชีย เช่น แม่น้ำโขงในเวียดนาม กัมพูชา และลาว แม่น้ำอิรวดีในพม่า นอกจากนี้ยังพบอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบโลมาอิรวดีได้ตามแนวชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน โดยพบมากที่ชายทะเลจังหวัดตราด ที่สำคัญยังพบโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งถือเป็นทะเลสาบน้ำจืดหนึ่งในสองแห่งของโลกที่มีโลมาอิรวดีอาศัยอยู่

loma3

ปัจจุบันโลมาอิรวดีถูกคุกคามอย่างหนักจนใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำและทะเลสาบ จากการสำรวจประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่ามีจำนวนลดน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งตายจากการติดไปกับเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอวนลอย โดยคาดว่าในปัจจุบันอาจเหลืออยู่เพียง ๑๕-๒๐ เท่านั้น

นอกจากนี้ โลมาอิรวดียังถูกคุกคามจากการถูกจับเป็นเพื่อส่งให้แก่สถานแสดงพันธุ์สัตว์ทะเลเพื่อใช้ในการแสดงโลมา เพราะโลมาอิรวดีเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก มีพฤติกรรมตามธรรมชาติที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การชูคอพ่นน้ำ สามารถนำมาฝึกได้เช่นเดียวกับโลมาปากขวด ทั้งยังอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้โลมาอิรวดีเป็นที่ต้องการของสถานแสดงโลมาหลายแห่งเพราะการใช้น้ำจืดมีต้นทุนการดูแลรักษาที่ต่ำกว่าการใช้น้ำเค็มมาก จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอันใกล้ โลมาอิรวดีอาจถูกจับจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองธุรกิจประเภทนี้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจล่าสุดพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานแสดงโลมามากกว่า ๘๐ แห่งใน ๙ ประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกถึง ๑๓ แห่ง ที่ผ่านมายังพบว่ามีการส่งออกโลมาอิรวดีจากประเทศไทยไปยังญี่ปุ่นและสิงคโปร์เพื่อส่งให้สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเหล่านี้ด้วย

loma4

ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดีที่เกิดจากการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนจากประเทศไทยโดยการนำของกรมทรัพยากรชายฝั่งและทะเล จึงได้นำเสนอร่างเพื่อพิจารณาให้เลื่อนสถานภาพของโลมาอิรวดีจากบัญชีที่ ๒ (Appendix II) ขึ้นเป็นชนิดพันธุ์ในบัญชีที่ ๑ (Appendix I) ตามอนุสัญญาไซเตส การเลื่อนสถานภาพของโลมาอิรวดีให้อยู่ในบัญชีที่ ๑ จะเป็นการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ให้รอดพ้นจากการคุกคามเพื่อการค้าระหว่างประเทศ เพราะสัตว์ในบัญชีที่ ๑ จะห้ามมิให้มีการค้าอย่างเด็ดขาด ยกเว้นเพียงเพื่อการศึกษา วิจัย และการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์

บรรยากาศก่อนการพิจารณาเรื่องโลมาอิรวดีในที่ประชุมไซเตสนั้นค่อนข้างเคร่งเครียด เพราะการชี้แจงข้อมูลนอกรอบของฝ่ายไทยได้ถูกบางประเทศกล่าวโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งได้แสดงความเห็นว่า ข้อมูลที่ไทยนำเสนอนั้นไม่น่าเชื่อถือและขาดความสมบูรณ์เพราะเป็นการสำรวจในบางพื้นที่เท่านั้น และอ้างว่าจากการคาดการณ์โดยนักวิจัยญี่ปุ่น ยังมีโลมาอิรวดีเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า ๓-๔ หมื่นตัว ซึ่งตรงข้ามกับการประเมินเบื้องต้นของผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งว่าประชากรโลมาอิรวดีทั่วโลกไม่น่าจะเกิน ๓,๐๐๐ ตัว นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศแถบแอฟริกาหลายประเทศซึ่งเป็นที่รู้กันว่าได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากญี่ปุ่นยังกล่าวโจมตีว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลเกี่ยวกับการค้าโลมาอิรวดีระหว่างประเทศน้อยมาก สัตว์ชนิดนี้ถูกคุกคามเนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายและตายจากการติดเครื่องมือประมงมากกว่า ดังนั้นการพยายามผลักดันให้โลมาอิรวดีอยู่ในบัญชีที่ ๑ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

loma5

ซู ฟิชเชอร์ แห่งสมาคมอนุรักษ์โลมาและวาฬ (WDCS) กล่าวถึงการคัดค้านของญี่ปุ่นก่อนการประชุมว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร “เพราะในการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามทำทุกวิถีทางในการคัดค้านการอนุรักษ์โลมาและวาฬ แต่เรายังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยน่าจะได้เสียงสนับสนุนเพียงพอ เพราะล่าสุดประเทศที่มีโลมาอิรวดีอาศัยอยู่เกือบทั้งหมดได้ให้การสนับสนุนแล้ว รวมทั้งรัฐสภาของสหภาพยุโรปด้วย ขณะเดียวกันองค์กรอนุรักษ์นานาชาติหลายแห่งก็ได้รณรงค์ให้รัฐบาลของประเทศตนสนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทย แม้แต่คณะกรรมาธิการเพื่อควบคุมการล่าปลาวาฬนานาชาติ (International Whaling Commission) ก็ให้การสนับสนุนข้อเสนอเรื่องนี้”

ในที่สุด เวลา ๑๖.๔๐ น. ของวันที่ ๘ ตุลาคม ดร. ฮอลลี ดับบลิน ประธานในที่ประชุม ก็ได้เรียกให้เปิดการพิจารณาข้อเสนอเรื่องโลมาอิรวดีเป็นเรื่องสุดท้ายของวัน

ดร. ไมตรี ดวงสวัสดิ์ กล่าวรายงานในที่ประชุมใหญ่ระหว่างการพิจารณาว่า “เราเข้าใจดีว่าโลมาอิรวดีเผชิญกับภัยคุกคามหลายด้าน ภัยคุกคามจากการค้าระหว่างประเทศก็เป็นหนึ่งในภัยเหล่านั้น และเป็นปัญหาที่เราสามารถแก้ไขหรือควบคุมได้ด้วยไซเตส การขึ้นบัญชีที่ ๑ ให้แก่โลมาที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้จะเปิดโอกาสให้งานอนุรักษ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศไทยเชื่อว่านี่คือเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฉบับนี้”

loma6

หลังจากการนำเสนอข้อมูลของไทย พม่าและออสเตรเลียในฐานะประเทศที่มีการกระจายพันธุ์ของโลมาอิรวดีก็ได้ขึ้นมากล่าวเสริมข้อมูลจากประเทศของตนและให้การสนับสนุนข้อเสนอของไทยอย่างเต็มที่ ตามมาด้วยการชี้แจงข้อมูลคัดค้านอย่างยาวเหยียดของญี่ปุ่น จากนั้นสหภาพยุโรปและแคนาดาประกาศให้การสนับสนุน ก่อนที่นอร์เวย์จะแสดงความเห็นคัดค้าน ดร. ฮอลลีประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าคงไม่สามารถทำให้ทุกประเทศยอมรับข้อเสนอนี้ได้อย่างเป็นเอกฉันท์ จึงเปิดโอกาสให้ไทยเสนอความคิดเห็นต่อที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนที่จะให้ประเทศภาคีทั้งหมดทำการออกเสียงเพื่อรับรองข้อเสนอเรื่องโลมาอิรวดี

หลังจากการลงมติของที่ประชุมซึ่งสรุปได้ว่า มีประเทศออกเสียงสนับสนุน ๗๓ เสียง คัดค้าน ๓๐ เสียง และงดออกเสียง ๘ เสียง เสียงปรบมือก็เกรียวกราวลั่นหอประชุมใหญ่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นอันว่าโลมาอิรวดีได้รับการเลื่อนให้อยู่ในบัญชีที่ ๑ อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้

แม้การเปลี่ยนสถานภาพขึ้นสู่บัญชีที่ ๑ ในอนุสัญญาไซเตสจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายต่อความอยู่รอดของโลมาอิรวดี แต่นี่ย่อมเป็นก้าวสำคัญของนานาชาติในการแสดงออกถึงความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์โลมาหายากชนิดนี้ นับเป็นชัยชนะของโลมาอิรวดีและนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสแสดงบทบาทในการอนุรักษ์บนเวทีโลก