เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ

dakสาริน อุตมพิมล
วัย ๑๘ ปี นักเรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ปี ๒๕๔๙ จะเป็นปีแรกที่ระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์มาสู่ระบบใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ “แอดมิชชันส์” *

ระบบใหม่ที่ว่านี้เป็นเช่นไร จะลดปัญหาของระบบเอนทรานซ์แบบเก่าและทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษามากขึ้นจริงหรือไม่ ถึงวันนี้คงยังไม่มีใครให้ข้อสรุปได้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ เด็กชั้นมัธยมปลายทั่วประเทศซึ่งกำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเอนทรานซ์ในปีที่จะถึงนี้ คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยตรง

ลองมาฟังความคิดและมุมมองของเด็กที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดู

“เราไม่ได้มีปัญหากับระบบแอดมิชชันส์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเอามาใช้อย่างกะทันหัน ที่ผ่านมาเรารับรู้มาตลอดว่าจะใช้ระบบการสอบเอนทรานซ์แบบเก่า คือสอบ ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ในเดือนตุลาคม ครั้งที่ ๒ ในเดือนมีนาคม และใช้ GPA (ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม) ร้อยละ ๑๐ ประกอบการพิจารณา ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา เราวางแผน อ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานซ์ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะต้องสอบครั้งที่ ๑ แล้ว อยู่ๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลก็ออกมาประกาศว่าจะใช้ระบบแอดมิชชันส์ ทุกคนก็งง ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงทำอย่างนี้

“รัฐนำระบบนี้มาใช้โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า มีบางคนพูดว่า เราเหมือนเด็กที่กำลังแข่งวิ่ง ๑๐๐ เมตร วิ่งมาได้ครึ่งทาง อยู่ๆ เขาก็มาเปลี่ยนกติกา ไม่เอาแล้ว ไม่แข่งวิ่ง ๑๐๐ เมตรแล้ว เปลี่ยนเป็นแข่งวิ่ง ๔๐๐ เมตรแทน เมื่อผู้ใหญ่ไม่มีบรรทัดฐาน เด็กก็เกิดความสับสน เพราะเขาไม่มีหลักยึด ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอีกหรือเปล่า

“เทียบไปแล้ว การใช้ระบบใหม่แบบแอดมิชชันส์มันก็เหมือนกับการออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งตามหลักแล้วกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง เพราะฉะนั้นมันถูกหรือไม่กับการที่เขาเพิ่งมาประกาศว่าจะใช้ระบบแอดมิชชันส์ แล้วทำให้เกรดเฉลี่ยที่เราทำมาใน ม. ๔ และ ม.๕ มีผลมากขึ้น โดยที่เราไม่มีโอกาสกลับไปแก้ตัว ถ้าจะอ้างว่าระบบเก่าก็ต้องใช้เกรด มันก็ไม่ถูก เพราะเราเพิ่งมารู้ปีสุดท้ายว่า GPA มีบทบาทมากขึ้นในการถ่วงดุลคะแนนกับข้อสอบ O-NET ซึ่งเป็นข้อสอบที่ง่าย ถ้ารัฐบาลเอาระบบแอดมิชชันส์มาใช้กับน้อง ม. ๔ ปีนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์คงจะน้อยลง ระบบไหนไม่ว่า ขอให้บอกก่อน

“นอกจากจะประกาศใช้อย่างกะทันหันแล้ว ยังไม่มีตัวอย่างข้อสอบมาให้เราได้ดู ทำให้พวกเราไม่มีแนวทาง เหมือนเป็นคนตาบอด ไม่รู้ว่าข้อสอบจะออกมาแนวไหน ไม่รู้ว่าจะโฟกัสไปตรงไหน เด็กยิ่งเกิดความเครียด แทนที่ระบบกวดวิชาจะน้อยลง มันยิ่งทำให้ระบบกวดวิชาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าข้อสอบจะออกมาอย่างไร เด็กเลยต้องรู้ให้หมด ยิ่งรู้หมดยิ่งดี เท่าที่ดูแนวการสอบ เด็กสายศิลป์จะเสียเปรียบ เพราะบังคับสอบวิทยาศาสตร์และเลขฉบับเดียวกับเด็กสายวิทย์ แล้วตัดวิชาเฉพาะ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออกไป ส่วนเด็กสายวิทย์ที่จะเข้าคณะวิศวะ กลับต้องมาสอบชีววิทยา ซึ่งอาจทำให้ได้เด็กที่มีความถนัดไม่ตรงกับคณะที่เข้าเรียน

“เราไม่ได้คัดค้านระบบแอดมิชชันส์ แต่เชื่อว่าระบบจะดีได้ถ้าเอามาใช้กับกลุ่มคนที่ถูกต้องและอย่างถูกเวลา ตอนนี้มาตรฐานการศึกษา มาตรฐานในการออกเกรดของแต่ละโรงเรียนยังไม่เท่ากัน แทนที่โรงเรียนที่คุณภาพต่ำจะพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว กลับกลายเป็นว่าโรงเรียนที่เข้มงวด มีมาตรฐานการเรียนสูง ให้เกรดยาก ต้องลดคุณภาพลงมาเพื่อให้เด็กได้ GPA สูงขึ้น ในที่สุดผลเสียจะเกิดขึ้นกับนักเรียนเอง

“เราเข้าใจว่าระบบแอดมิชชันส์ที่ให้ความสำคัญกับ GPA มากขึ้น เป็นการขยายโอกาสให้เด็กต่างจังหวัด แต่ที่จริงมันยังมีวิธีอื่นอีกหลายวิธี มหาวิทยาลัยรัฐอาจให้โควตาหรือเปิดโอกาสให้เขาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ทำให้มาตรฐานอุดมศึกษาต่ำลง เราเชื่อว่าเด็กต่างจังหวัดกับเด็กในกรุงเทพฯ ศักยภาพไม่ได้ต่างกัน แต่อาจเป็นเพราะสภาพทางเศรษฐกิจหรือความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้โอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมาเถียงกันว่าระบบใดเด็กกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ กลุ่มไหนจะเสียประโยชน์ น่าจะมองว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีมาตรฐานเดียวกันที่ทุกฝ่ายพอใจที่สุด ไม่ต้องแบ่งแยกว่าเป็นเด็กกรุงเทพฯ หรือเด็กต่างจังหวัด

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้โรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชามีบทบาทมาก เด็กไทยถูกฝังหัวเหมือนกันหมดว่า เราต้องเก่ง ถึงจะไปแข่งกับคนอื่นได้ ทุกคนคิดว่า การเรียนเก่ง การเรียนดี เป็นหนทางที่จะทำให้เราได้เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยไม่ควรมุ่งเน้นทางด้านวิชาการอย่างเดียว ควรจะมีการใช้ portfolio (เอกสารประวัติการทำงานหรือการทำกิจกรรม) เข้ามามีส่วนด้วย เพราะสิ่งนี้จะช่วยบอกถึงความสามารถด้านอื่นของเด็กนอกจากการเรียนในห้องเรียน ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการบอกให้เด็กทำ portfolio เอาไว้เพื่อใช้ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เอาเข้าจริง portfolio ก็ไม่ได้นำมาใช้ในการพิจารณารับเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่เอามาใช้หลังจากสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ผ่านแล้ว คือสอบติดแน่ๆ แล้วถึงได้เอา portfolio ไปประกอบ เท่ากับว่า portfolio ไม่ได้มีความหมายอะไร เอาไปดูเป็นพิธีเท่านั้นเอง ถ้าจะให้ดีควรทำให้คะแนนในด้านกิจกรรมและวิชาการมีสัดส่วนพอๆ กัน อาจจะให้ยื่น GPA ทั้ง ๓ ปีพร้อมแนบ portfolio ไปด้วยตั้งแต่แรก คุณจะรับเราไหม ไม่ใช่ดูแต่คะแนนด้านวิชาการ

“เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ แล้ว ทำไมเราไม่ทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติเสียที ทำเป็นแผน เป็นนโยบายแห่งชาติไปเลย ระบุว่าช่วงนี้จะทำอะไรอย่างไร จะได้มีกรอบนโยบายที่แน่ชัด ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้”