ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

snowsok01พนักงานทั้งออฟฟิซยืนลุ้นตัวโก่งว่าใครจะดวงซวยถูกจับฉลากไล่ออกเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับฉากเปิดในภาพยนตร์ เรื่องตลก ๖๙ ของ เป็นเอก รัตนเรือง  พนักงานอู่เรือใน The Snows of Kilimanjaro (๒๐๑๑) ของ โรแบรต์ เกดีกียัง (Robert Guédiguian) ก็กำลังยืนลุ้นว่าชื่อของใครจะถูกให้ออกจากงานเมื่อบริษัทต้องลดจำนวนพนักงาน  อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างของหนัง ๒ เรื่องนี้คือ คนจับฉลากชื่อใน เรื่องตลก ๖๙ เป็นเจ้าของบริษัทซึ่งยังไงตัวเองก็ไม่โดนไล่ออก ขณะที่ใน The Snows of Kilimanjaro คนจับฉลากชื่อคือหัวหน้าสหพันธ์แรงงานของอู่เรือแห่งนี้เอง ทั้งที่เขาไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อตัวเองลงไปในกล่องแห่งความซวย แต่เขายืนยันว่าต้องมีชื่อเขาในกล่องนี้ด้วยเพื่อความเท่าเทียม  และแล้วก็แจ็กพอตเมื่อเขาจับได้ชื่อตัวเอง  “มิเชล” กลายเป็นหนึ่งในพนักงาน ๒๐ คนที่โดนให้ออกจากงาน

แม้เหตุการณ์จะดูตึงเครียด แต่เกดีกียังเลือกวิธีใช้ภาพในฉากนี้อย่างร่มรื่น พนักงานยืนเรียงรายริมทะเลลมพัดโชย ภาพถูกนำเสนออย่างเรียบง่ายไม่เร้าอารมณ์ใดๆ  สิ่งที่หนังทำหน้าที่ได้ดีคือการจับภาพและการตัดต่อ เนื่องจากมีตัวละครในฉากเยอะมาก เกดีกียังจึงจับภาพตัวละครเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ชัดเจนว่าใครอยู่ในตำแหน่งใดและมีอารมณ์เช่นไร  ส่วนผู้ชมนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมกับฉากนี้นัก อย่างที่ว่า…เมื่อการถ่ายภาพไม่เร้าอารมณ์ มันจึงเป็นการจัดวางผู้ชมให้เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจนเกินไป

ถึงจะตกงานกะทันหัน แต่มิเชลก็ไม่ลำบากนัก  เขาเป็นชายวัย ๕๐ กว่าๆ แต่งงานกับมารี-แคลร์มานาน  ทั้งคู่เป็นคนตัวเล็กๆ ประกอบอาชีพสุจริตจนสร้างเนื้อสร้างตัวได้  มิเชลเป็น (อดีต) พนักงานอู่ซ่อมเรือ ขณะที่มารี-แคลร์รับจ้างเป็นแม่บ้าน  พวกเขามีบ้านเล็กๆ มีรถเก่าๆ คันหนึ่ง  จริงอยู่พวกเขามีลูกหลายคน แต่ทุกคนก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแยกไปเลี้ยงตัวเองกันหมดแล้ว  ดังนั้นแม้มิเชลจะตกงาน และต่อมาหางานใหม่ด้วยการรับจ้างสอดใบปลิวตามบ้าน แต่เขากับภรรยาก็ไม่ลำบากนักเพราะไม่ได้มีภาระหนี้สินใดๆ  วันเสาร์จะชวนกันไปเที่ยวทะเลกับครอบครัว วันอาทิตย์ก็นัดเพื่อนและลูกๆ มาปาร์ตี้ที่บ้าน โดยเฉพาะราอูล เพื่อนสนิทที่ทำงานด้วยกันมากว่าครึ่งชีวิต และเดอนีส์ ภรรยาของราอูล  จากบทสนทนาในหนังทำให้เราพอรู้ว่าทั้งมิเชลและมารี-แคลร์ รวมทั้งราอูลและเดอนีส์ คืออดีตนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ ผ่านศึกการเมืองมาหลายสนามรบ จนปัจจุบันพวกเขาแม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ลำบาก และกลายเป็นชนชั้นกลางแบบที่ “เป็นชนชั้นกลางมาได้โดยไม่ทำร้ายใคร”–นี่คือนิยามที่พวกเขาเรียกตัวเอง

snowsok02snowsok03

แต่แล้ววันหนึ่ง คนทั้งสี่ก็ต้องตั้งคำถามกับสถานะของตัวเอง  มันเริ่มมาจากงานปาร์ตี้ครบรอบวันแต่งงานของมิเชลกับมารี-แคลร์  ลูกๆ มอบหีบสมบัติให้ ในนั้นมีเงินสดรวมทั้งตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวภูเขาคิลิมันจาโร ทวีปแอฟริกา เพื่อให้มารี-แคลร์ได้ไปดูสัตว์นานาชนิดอย่างที่เธอใฝ่ฝัน  ในคืนนั้นเองขณะที่มิเชล มารี-แคลร์ ราอูล และเดอนีส์ นั่งสนทนากันอย่างออกรส  โจร ๒ คนก็บุกเข้ามาจับพวกเขามัดไว้ ทำร้ายร่างกาย ขโมยทั้งเงินทั้งตั๋วเครื่องบิน และน่าเจ็บใจที่ขโมยหนังสือการ์ตูนสุดรักของมิเชลไปด้วย  อย่างไรก็ดีเมื่อมิเชลตามร่องรอยของโจรไปก็พบว่า เขาคือคริสตอฟ (อดีต) ลูกน้องหนุ่มวัย ๒๐ เศษๆ ที่มิเชลเป็นผู้จับฉลากให้เขาถูกไล่ออกนั่นแหละ

นี่คือเรื่องของคนถูกไล่ออกจากงาน มาขโมยเงินของคนถูกไล่ออกจากงานที่มีเงินเก็บมากกว่า  มิเชลโกรธเกรี้ยวมากที่ลูกน้องเก่าทำกันได้ลงคอ  เขารีบตามตำรวจมาจับคริสตอฟ แต่แล้วก็ต้องสะอึกเมื่อพบว่าห้องเช่าเล็กๆ ในแฟลตนั้น คริสตอฟต้องดูแลน้องวัยประถม ๒ คนที่แม่ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี หากคริสตอฟต้องติดคุก ใครเล่าจะดูแลเด็กเหล่านี้

คำถามนี้คงตอบไม่ยากนักหากเราจะตอบแค่ว่า “ก็ให้เจ้าหน้าที่ดูแลไปสิ” ซึ่งอาจจะลงเอยด้วย ในแง่ดี-เด็ก ๒ คนถูกรับเลี้ยงและแยกจากกัน หรือในแง่ร้าย-กลายเป็นมิจฉาชีพ  คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญมากต่อศีลธรรมของตัวละครในเรื่อง เพราะทุกคนล้วนเชื่อมั่นในการกระทำความดี  การทำความดีคือแก่นเรื่องหลักซึ่งถูกนำเสนอผ่านหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ของมิเชลที่ถูกขโมยไป  มิเชลพยายามจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในชีวิตจริง สมัยหนุ่มๆ เขาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ต่อมาเขาต่อสู้ให้เด็กรุ่นหลังในฐานะตัวแทนสหพันธ์แรงงาน  แต่ในยามใกล้เกษียณ โจทย์ความดีนี้ช่างสีเทาเหลือเกิน เพราะมันไม่ชัดเจนเลยว่าทำสิ่งไหนจึงจะเรียกว่าดีได้ เนื่องจากทางเลือกทุกทางคือการเจรจาต่อรองระหว่างตัวเราในฐานะเหยื่อกับตัวเราในฐานะผู้ล่า

มิเชลและมารี-แคลร์ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  ใช่-เขารู้ว่าคริสตอฟกระทำผิดที่ขโมยของและทำร้ายเขา ในขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่าคริสตอฟถูกระบบกดทับ  การขโมยของคริสตอฟเป็นเรื่องที่มิเชลพอจะเห็นที่มาที่ไปได้ และก็เป็นมิเชลเองนั่นแหละที่เป็นคนหยิบยื่นความซวยในนามใบลาออกให้แก่คริสตอฟ  พวกเขาไม่อาจทำอะไรได้อีกแล้วเพราะยังไงศาลก็จะส่งคริสตอฟเข้าคุก  คำถามคือนี่พวกเขากำลังเผลอทำร้ายเด็กบริสุทธิ์อีก ๒ คนหรือเปล่า นี่คือสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาสู้มาทั้งชีวิตหรือไม่

snowsok04สิ่งที่ท้าทายมิเชลและมารี-แคลร์ยิ่งกว่านั้นก็คือตัวคริสตอฟเองไม่มีความสำนึกผิดใดๆ  หากเขานอบน้อมและขอโทษ มันคงจะง่ายกว่านี้  แต่ด้วยความเป็นคนหนุ่มเลือดร้อน คริสตอฟด่ากราดมิเชลราวกับว่าเขาเป็นชนชั้นกลางใจยักษ์ใจมารที่ไม่มีวันเข้าใจหัวอกคนจน  สิ่งนี้สะเทือนความเชื่อของมิเชลอย่างยิ่งเพราะเขาเชื่อมาตลอดชีวิตว่าเขาต่อสู้เพื่อคนอย่างคริสตอฟ แต่วันนี้คริสตอฟกลับยืนชี้หน้าด่าเขาในฐานะฝ่ายตรงข้าม

ในขณะที่มิเชลและมารี-แคลร์ให้อภัยคริสตอฟอย่างรวดเร็วและพยายามจะคิดหาทางช่วยเหลือเท่าที่ตัวเองทำได้ ราอูลและเดอนีส์กลับเลือกในสิ่งตรงกันข้าม  ราอูลสาปส่งโจรให้ติดคุกไปนานแสนนาน ทั้งนี้ท่าทีของราอูลก็พอจะเข้าใจได้เนื่องจากนับแต่วันเกิดเรื่อง เดอนีส์ภรรยาของเขาก็มีอาการทางประสาทอ่อนๆ  ภาพคืนนั้นที่เธอโดนจับมัดกับเก้าอี้ กลัวจนฉี่แตกและนั่งจมกองฉี่ตัวเองทั้งคืน ยังคงหลอนเธอเสมอ  ดังนั้นในสายตาของราอูล การส่งโจรเข้าคุกเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ส่วนเด็ก ๒ คนก็ปล่อยให้เป็นไปตามระบบ  ขณะที่เดอนีส์นั้น สิ่งที่เธอทนไม่ได้มากที่สุดก็เช่นเดียวกับมิเชล นั่นคือเหตุใดเธอถึงถูกกล่าวหาว่าเป็นชนชั้นกลางจอมปลอมที่เอาเปรียบคนอื่นทั้งที่เธอคิดว่าเธอมิได้เป็นเช่นนั้น การถูกกล่าวหาจากโจรทำให้เธอถึงกับตั้งคำถามและหวาดกลัวว่าโลกที่เธออาศัยอยู่คือโลกที่เธอไม่เข้าใจและไม่แน่ใจอีกต่อไป

จากโครงสร้างของบททำให้เราโทษโจรได้ไม่เต็มที่ มันง่ายมากหากเราจะโทษตัวละครอื่นที่เป็นตัวแทนของผู้ก่อผลกระทบที่ไม่รับผิดชอบ  ทว่า ๑) หนังก็ไม่ได้สำรวจหรือกล่าวโทษระบบเศรษฐกิจแต่เป็นหนังที่ให้ความสำคัญกับโจทย์ศีลธรรมในชีวิตประจำวันที่ปัจเจกจะต้องเลือกมากกว่าการวิจารณ์ระบบในภาพใหญ่  ๒) ตัวละครหนึ่งที่ถูกกล่าวหาง่ายที่สุดก็คือแม่ของคริสตอฟที่ทิ้งน้องๆ ให้เขาเลี้ยงตามลำพัง  อย่างไรก็ดี ในฉากหนึ่งที่มารี-แคลร์ปะทะกับแม่ของคริสตอฟและกล่าวหาหล่อนเป็นแม่ชั้นเลว สิ่งที่หล่อนตอกกลับใส่หน้าเรียกได้ว่าเป็นฉากสะเทือนใจที่สุดในหนัง  นี่คือหนังที่ไม่มีใครเป็นคนเลวสมบูรณ์แบบ ทุกคนล้วนเลือกทางที่ตนคิดว่าถูก แม้ทางที่เลือกนั้นจะกระทบคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อย่างที่ว่า…ตัวละครในเรื่องล้วนต้องต่อรองระหว่างความเป็นเหยื่อกับความเป็นผู้ล่าในตัวเอง  อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมเราอาจเข้าข้างมิเชลและมารี-แคลร์ แต่บางฉากการกระทำของพวกเขาก็ไกลโพ้นเกินกว่าที่เราจินตนาการ  พวกเขาทำความดีอย่างสุดจิตสุดใจจนเราถูกทิ้งให้ถอยห่างเพื่อจะคิดว่าการกระทำนั้นถูกหรือไม่  การเล่นระหว่างภาวะเห็นด้วยกับภาวะไม่เห็นด้วยกับตัวละครนี้เองที่หนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับการถกเถียง

หนังของ โรแบรต์ เกดีกียัง ชวนให้นึกถึงคนทำหนังที่โด่งดังกว่าเขาเป็นสิบเท่า นั่นก็คือ ไมเคิล ฮาเนเก้ (Michael Haneke ผู้กำกับ The Piano Teacher, Caché, The White Ribbon) เพราะทั้งคู่เล่นกับประเด็นเรื่องศีลธรรมและการจ้องมอง  ทั้งคู่เคยทำหนังเกี่ยวกับชนชั้นกลางถูกทำร้ายในบ้านตัวเอง (เช่นเรื่อง Funny Games ของฮาเนเก้) และทั้งคู่เป็นคนต่างชาติที่มาได้ดีกับการทำหนังในฝรั่งเศส  เกดีกียังเป็นคนอาร์เมเนียเกิดในฝรั่งเศส ส่วนฮาเนเก้เป็นคนออสเตรียมาทำหนังในฝรั่งเศส  การที่เกดีกียังเกิดและเติบโตในฝรั่งเศสกระมังทำให้รูปแบบการทำหนังของเขาแตกต่างจากฮาเนเก้อย่างเห็นได้ชัด  ขณะที่ฮาเนเก้มักเล่นกับสถานการณ์สมมุติหรืออุดมคติ ให้ภาพชนชั้นกลางแบบภาพตัวแทน เกดีกียังกลับพยายามปั้นเรื่องราวที่ดูจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง ชนชั้นกลางในหนังเขาก็ไม่เหมารวมแต่มีรายละเอียดชีวิตที่ต่อต้านกับภาพแทน

เกดีกียังคล้ายๆ จะทำหนังตอกกลับฮานาเก้  ในขณะที่ฮาเนเก้เลือกการใช้ภาพที่เล่นกับมุมมองของผู้ชม เร้าให้ผู้ชมร่วมเป็นตัวละครและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจอันล่อแหลม  แต่กล้องของเกดีกียังเลือกวางระยะห่างกับผู้ชม ทิ้งระยะเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นทางเลือก  ภาษาภาพยนตร์ของฮาเนเก้ประกาศตัวอยู่เสมอถึงการมีอยู่ของมัน แต่ภาษาภาพยนตร์ของเกดีกียังนั้นไม่แผลงฤทธิ์หรือโชว์ตัวเพื่อชักจูงสักเท่าไร และหากจะชักจูงเขาก็ชักจูงอย่างเรียบง่าย กล่อมอารมณ์โดยที่ผู้ชมไม่รู้ตัว  สิ่งนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในการลำดับภาพและเสียงเพื่อเล่าเรื่องใน The Snows of Kilimanjaro ที่ค่อยๆ ตัดสลับไปมาเพื่อเปรียบเทียบตัวละครทีละกลุ่ม และให้เราได้ฟังเสียงของทุกๆ ฝ่าย

The Snows of Kilimanjaro เป็นผลงานเรื่องที่ ๑๗ ของ โรแบรต์ เกดีกียัง นักทำหนังสะท้อนสังคม  สิ่งที่น่าประทับใจในการดูหนังของเกดีกียังคือความลื่นไหลและเข้าขากันของนักแสดง  ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี เกดีกียังจะใช้นักแสดงชุดเดิมตลอดแทบทุกเรื่อง  น่าตกใจว่านักแสดงหลักในหนังเรื่องแรกของเขาในปี ๑๙๘๐ กับนักแสดงในหนังเรื่องล่าสุดนี้เป็นนักแสดงทีมเดียวกัน  จึงไม่น่าแปลกหากพบว่าสิ่งที่ถูกวางเป็นแก่นเรื่องรองก็คือมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น  การทำงานร่วมกับคนกลุ่มเดิมๆ มา ๓๐ ปีในโลกภาพยนตร์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก และความสัมพันธ์ของพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังน่าเชื่อถือ

เกดีกียังได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของ วิกตอร์ อูโก ผู้ที่ในปีนี้-ปีหน้าคงได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูเมื่อบทประพันธ์ Les Misérables ถูกนำขึ้นจออีกครั้งหนึ่ง