Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

เด็กเร่ร่อนเมืองเชียงใหม่
จากขุนเขาสู่บาทวิถี
เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ชัยชนะ จารุวรรณากร

เชียงใหม่ ปลายปี ๒๕๔๒
    อากาศกลางดึกเย็นยะเยือกจนร่างสั่นสะท้าน ผู้คนส่วนใหญ่ซุกกายหลับใหลอยู่ในผ้าห่มผืนใหญ่ ใต้หลังคาบ้านอันอบอุ่น ...มันเป็นเวลาของการพักผ่อน เพื่อที่จะตื่นขึ้นมาทำหน้าที่การงานต่อไป
    และสำหรับเด็ก ๆ แล้ว มันคือช่วงเวลาแห่งนิทรารมณ์ เฝ้าฝันถึงเจ้าชาย เจ้าหญิง และการผจญภัยในสวนสวย เป็นเรื่องแสนสนุกที่จะเก็บเอาไปเล่าให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนฟังในวันรุ่งขึ้น
    ในเวลาเดียวกันนี้ เด็กหญิงคนหนึ่งกับเพื่อน ๆ ยังคงเดินเข้าออกร้านอาหาร คลับ บาร์ หรือไม่ก็เดินอยู่ตามท้องถนน เสนอขายสินค้าในมือ

(คลิกดูภาพใหญ่)

    "พัวมาลัยสิบะคะ ช่วยซื้อขอหนูหน่อยนะคะ"
    แม้สำเนียงออกจะแปร่ง ถ้อยคำไม่ชัดเจน แต่คนในเชียงใหม่ก็เข้าใจและคุ้นชินกับภาพนี้มานานแล้ว บางคนหยิบยื่นเงินให้ด้วยเวทนา บางคนก็ไล่ตะเพิดด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจ
    เด็กหญิงยังคงเดินขายพวงมาลัยต่อไป แม้กระโปรงบางเก่า ๆ และเสื้อกันหนาวเหม็นสาบ จะไม่สามารถปกป้องเธอจากอากาศหนาวเย็นได้เลย
    เช่นเดียวกับเด็กหญิงเด็กชายอีกหลายคน ที่รับบทชีวิตคล้ายคลึงกัน บางคนอาจกำลังขายดอกไม้ บางคนอาจกำลังล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ด้วยฤทธิ์ยาบางตัว หรืออาจกำลังสมสู่อยู่กับใครสักคนที่ยินดีจ่ายเงินให้หลังเสร็จกามกิจแล้ว
    ดึกดื่น อากาศยิ่งหนาวเหน็บ บางคนกลับบ้าน บางคนหาที่นอนข้างถนน บนแผงหนังสือ ใต้สะพาน ลานประตูท่าแพ บ้านร้างสักแห่ง หรือที่ไหนก็ได้ที่ยังไม่มีใครจับจอง ... ล้มตัวลงนอน เพื่อจะได้ตื่นขึ้นมาในวันรุ่งพรุ่งนี้ และต่อสู้ดิ้นรนต่อไปอีกวัน


 

ชีวิตนอกกรอบ
    ริมฝั่งตรงข้ามคูเมืองเชียงใหม่ก่อนถึงประตูท่าแพราว ๒๐ เมตร อาคารพาณิชย์สามคูหาที่ยังสร้างไม่เสร็จ ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่าสามปี แทรกตัวอยู่กับอาคารบ้านเรือนแถวนั้น สัมผัสแรกเมื่อย่างเหยียบเข้าไปในตึกร้างแห่งนี้ คือกลิ่นชวนสะอิดสะเอียนจากกองปฏิกูล ที่เกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณ
    เจ็ดก้าวสั้น ๆ จากปากทางเข้า และกองขยะเน่าเหม็น มีเสื้อผ้าในสภาพผ้าขี้ริ้วสองสามตัววางคลุกฝุ่นอยู่กับพื้น
    "เสื้อไอ้มดนี่นา" พจน์ ผู้อาสานำทางพูดพลางก้มลงหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาพิศดูอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ
    "ไอ้มดอยู่ที่นี่แหละ เมื่อก่อนก็อยู่กันเยอะ ตอนหลังมีคนมาแขวนคอตายที่นี่ คนอื่นเลยหนีไปกันหมดเพราะกลัวผี ไอ้มดมันดมกาวเยอะจนสติเสื่อม ก็เลยไม่กลัว อยู่ของมันต่อไปคนเดียว"
    ถัดจากกลางห้องเข้าไปอีกสี่ห้าก้าว เก้าอี้นวมตัวเก่าถูกนำมาวางขวางไว้ตรงปากทางเข้า "ห้องนอน" ของไอ้มด เด็กคนหนึ่งบอกว่าต้องหาอะไรมาขวางไว้เผื่อไอ้ดำมาจะได้หนีทัน ..."ไอ้ดำ"  หมายถึงตำรวจที่คอยตะครุบตัวเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาทันทีที่เจอ และตอนนี้ไอ้มดก็เผ่นหนีไปแล้วเช่นกัน
    ตุ๊กตาหมีกระมอมกระแมมวางอยู่ข้างผ้าห่มสีดำมอซอ มีร่องรอยของการซุกกายหลับใหลก่อนที่จะผลุนผลันออกไปเมื่อครู่ รอบ ๆ ห้องเกลื่อนกล่นไปด้วยเศษซากสีเหลืองของกาวกระป๋อง กาวหลอด ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมไอ้มดถึงฟั่นเฟือนขนาดบอกใครๆ ว่า อยู่ที่นี่กับผีแขวนคอ 
    เหนือพื้นขึ้นไปเล็กน้อย ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือเด็กเร่ร่อน ซึ่งเคยอาศัยตึกร้างแห่งนี้เป็นที่คุ้มแดดคุ้มฝน รูปบ้านหลังเล็ก ภูเขา ต้นไม้ รูปผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กผู้ชายตัวเล็กยืนอยู่ข้างเคียงกัน อักษรตัวโย้ปรากฏอยู่ใกล้ ๆ กัน
    "อาผึ รัก จะยา"
    "เกลียดมัน"
    "ก ข ค"
    ตัวหนังสือบรรทัดสุดท้ายนั้นทั้งโย้ และเอียงเหมือนลายมือเด็กอนุบาลเพิ่งหัดเขียน บริสุทธิ์และไร้เดียงสา ไม่ต่างจากลายมือของเด็กที่นั่งเขียนอักษรแบบเดียวกันนี้ ในห้องเรียนที่มีครูคอยดูแลสั่งสอนอย่างใกล้ชิด

 (คลิกดูภาพใหญ่)     เราอ่านประวัติศาสตร์จากภาพผนังถ้ำได้ฉันใด รอยขีดเขียนเหล่านี้ ก็บ่งบอกอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับเจ้าของลายมือได้เช่นกัน
    ตึกเก่าเน่าเหม็นแห่งนี้คือ "คฤหาสน์ร้าง" ของเด็กหลายชีวิต ก่อนที่จะเหลือไอ้มดอยู่คนเดียว
นอกจากตึกร้างแห่งนี้ เด็กเร่ร่อนยึดเอาสถานที่อีกหลายแห่งในเชียงใหม่ เป็นที่หลบฝนหลบร้อนหนาว เช่น โครงการคอนโดมิเนียมบนถนนช้างคลาน เยื้องโรงภาพยนตร์แสงตะวัน ที่ปิดตัวลงทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เด็กเร่ร่อนยึดเอาเป็นที่ซุกหัวนอน ยามว่างและนึกสนุก พวกเขาจะลงไปว่ายน้ำเล่นในสระน้ำ ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว มันก็คือที่จอดรถชั้นใต้ดินของคอนโดมิเนียม หลังฤดูฝนเมื่อหลายเดือนก่อนทำให้มีน้ำฝนขังอยู่ ที่จอดรถใต้อาคารจึงแปรสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ให้เด็ก ๆ ใช้เป็นที่ซักผ้า อาบน้ำ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
    เด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาสามารถนอนที่ไหนก็ได้ด้วยเงื่อนไขแค่ว่า มันจะทำให้เขาข้ามคืนนี้ไปโดยไม่ถูกไอ้ดำมาลากตัวไป ... ร้อนไป หนาวไป สกปรกเกินไป ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญสำหรับพวกเขา ดังนั้นใต้สะพานนวรัฐที่พาดข้ามลำน้ำปิง แผงหนังสือริมถนน ใต้เวทีบนลานประตูท่าแพ และอีกหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ จึงมีเด็กเร่ร่อนซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบใต้ฟ้าเมืองเหนือแห่งนี้มากมาย แม้แต่ที่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนเข้าไปอยู่ได้จริง ๆ อย่างอุโมงค์มืดมิด ในกำแพงประตูท่าแพ
    เรื่องมันเกิดเมื่อสามสี่ปีก่อน เมื่อเด็กคนหนึ่งดำน้ำจับปลาในคูเมืองแถว ๆ ประตูท่าแพ แล้วพบฝาท่อระบายน้ำเข้าโดยบังเอิญ ด้วยความอยากรู้จึงมุดเข้าไปสำรวจภายในท่อระบายน้ำ มุดไปได้ราว ๒๐ เมตรก็ปรากฏอุโมงค์ขนาดใหญ่ในกำแพงเมือง สำรวจแล้วว่าพอจะใช้เป็นที่ซ่องสุมได้จึงออกมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง จากนั้นภายในกำแพงเมืองอันสง่างาม และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ก็กลายเป็นที่นอน ที่ซ่องสุม ดมกาว เสพยา ของเด็กเร่ร่อนอยู่แรมปี เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีใครเข้าไปอยู่ในนั้นได้ แม้แต่ตำรวจซึ่งอยู่ประจำป้อมที่ห่างออกไปเพียง ๓๐ เมตร
กระทั่งตำรวจรู้ว่ามีเด็กเข้าไปมั่วสุมอยู่ในนั้นจึงจัดการล็อกกุญแจปิดปากทางเข้า ชีวิตผจญภัยในกำแพงเมืองจึงเป็นอันยุติ
    การต้องตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวไปเรียน กลับบ้าน ทำการบ้าน เข้านอนแต่หัวค่ำซึ่งเป็นวิถีของเด็กในวัยอย่างพวกเขา ไม่มีอยู่ในวงจรชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ชีวิตนอกกรอบจึงทำอะไรก็ได้ตามที่หัวใจต้องการ เวลาตื่นนอนของพวกเขามักจะเป็นเวลาเที่ยง ๆ แต่ต้นปีที่ผ่านมาอากาศหนาวเย็นกว่าทุกปี เด็ก ๆ ที่อาศัยนอนตามใต้สะพาน และข้างถนนจึงถูกอากาศเย็นอุณหภูมิ ๕-๖ องศาเซลเซียสปลุกให้ตื่นแต่เช้ามืด 
    หลังจากตื่นนอนแล้ว เด็ก ๆ จะออกไปทำภารกิจของตัวเอง บางคนไปซื้อกาว ไปเที่ยว หรืออะไรก็ได้ที่อยากทำ เด็กชาวเขาส่วนใหญ่มักจะออกไปขอทาน กระทั่งเย็น ๆ จึงมาจับกลุ่มสุมหัวกันแถวท่าแพ ไนต์บาซาร์ สวนหย่อมริมแม่น้ำปิงหลังคอนโดฯ เพื่อพูดคุย เสพยา เที่ยว หรือทำอะไรอื่น ๆ แล้วแต่ว่าใครคิดหาอะไรมาทำได้ 
    เด็กบางคนหาเงินด้วยการยอมเจ็บตัว ใส่นวมขึ้นชกมวยตามเวทีในร้านอาหาร หรือบาร์เบียร์ให้นักท่องเที่ยวดู ถ้าชนะเจ้าของร้านจะจ่ายเงินให้ ๒๐๐ บาท แต่ถ้าแพ้ก็จะได้เพียง ๑๐๐ บาท บางครั้งเพื่อนชกกับเพื่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวเทศ แต่พอลงจากเวทีก็กอดคอกันกลับบ้าน (หมายถึงที่ซุกหัวนอน) หรือไปต่อกันที่ไหนสักแห่ง กระทั่งสี่ห้าทุ่มจึงค่อยทยอยกันกลับ แต่บางคนก็เลือกที่จะเตร็ดเตร่อยู่จนกระทั่งเช้า แล้วแต่ว่ามีอะไรให้เขาทำบ้าง จากนั้นจึงค่อยกลับไปนอน ไปตื่นเอาตอนเที่ยง
    เรื่องอาหารการกินนั้น แน่นอนว่าคงไม่พอเพียง และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการนัก หากวันไหนมีเงินก็จะได้ลิ้มลองอาหารอย่างดี วันไหนมีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย เขาก็จะฝากท้องกับปูปลาตามคูเมือง แหล่งน้ำต่าง ๆ แม่ค้าในตลาดบางคนที่นึกสงสาร ก็จะหยิบยื่นข้าวปลาอาหารที่ขายไม่หมดให้บ้าง หรือตอนเช้า ๆ พระสงฆ์ก็จะแบ่งอาหารในบาตร วางไว้แถวม้านั่งริมคูเมืองให้เด็ก ๆ เป็นประจำ 
    นกขมิ้นน้อยไร้รังคุ้มภัยอย่างพวกเขา ต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองพ้นภัย ชีวิตบนถนนหล่อหลอมลักษณะเฉพาะตัวของเด็กเร่รอน นั่นคือการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ลักษณะกร้านโลกกว่าเด็กในวัยเดียวกัน จึงปรากฏเด่นชัดในท่าทางของเด็กกลุ่มนี้ ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า เมื่อเห็นตำรวจ เขาต้องหนี หนีให้ไกลที่สุด ไม่เช่นนั้นชีวิตเสรีข้างถนน จะต้องไปอยู่ในกรอบกรงของบ้านเด็กชาย บ้านที่มีไว้สำหรับปรับพฤติกรรมของเด็กจรจัด ซึ่งอิสรชนอย่างพวกเขามักทนอยู่ในกฎระเบียบของสถานที่เหล่านั้นไม่ได้ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงพบปัญหาเด็กหนีออกมาอยู่เสมอ
    ผ่านชีวิตเร่ร่อนมาอย่างโชกโชนตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก จนเติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุย่าง ๒๒ ปี แบงก์เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ช่วงที่ตำรวจออกจับเด็กเร่ร่อนมากที่สุด ก็คือช่วงใกล้เทศกาลต่าง ๆ ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาเชียงใหม่มาก ๆ ช่วงนั้นเด็กทุกคนต้องระวังให้ดี เดินอยู่ดี ๆ ก็อาจจะถูกลากตัวไปได้ง่าย ๆ ปรกติเมื่อจับแล้วต้องส่งไปให้กรมประชาสงเคราะห์ แต่บางครั้งกลับถูกส่งไปอยู่ในคุกทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร ด้วยเหตุและผลที่ว่า "ผู้ใหญ่" กำลังจะมาตรวจงาน ผู้น้อยจึงยืมตัวเด็กเร่ร่อนไม่มีที่ซุกหัวนอนอย่างเขา ไปนอนเล่นอยู่ในตารางสักวันสองวัน เมื่อ "ผู้ใหญ่" เห็นว่าท้องที่นี้มีผลงานแล้ว จึงค่อยปล่อยให้ออกมา การเดินเข้าออกระหว่างคุกกับถนน จึงเป็นเรื่องที่เขาทำอยู่บ่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
    เด็กเร่ร่อนที่ออกจากบ้านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ เมื่อโตขึ้นบางคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะไม่เคยย้อนกลับไปบ้านอีกเลย บางคนไม่สามารถทำบัตรได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เมื่อไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ชีวิตของพวกเขาจึงห่างไกลจากโอกาสที่จะเรียนหนังสือ หรือได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานใด ๆ 
(คลิกดูภาพใหญ่) อย่างไรคือเด็กเร่ร่อน
    มีคำถามมากมายให้ครุ่นคิดกับการที่จะเรียกใครสักคนว่าเด็กเร่ร่อน อะไรคือดัชนีชี้วัดและตัดสิน เด็กหญิงเด็กชายอายุตั้งแต่ ๕ ปีจนถึง ๒๕ ปี จับกลุ่มมั่วสุมกันตามข่วงประตูท่าแพ ริมบาทวิถีรอบคูเมือง ไนต์บาซาร์ เนื้อตัวสกปรกโสโครก ติดยา หยาบคาย ก้าวร้าว ป่าเถื่อน และไม่มีที่ซุกหัวนอน ลักษณะเหล่านี้พอจะสรุปได้ไหมว่าเขาเป็นเด็กเร่ร่อน
    "เด็กที่ไร้ที่พึ่งพิงอาศัยอย่างเป็นสุข มีวิถีชีวิตที่ขาดเสียซึ่งพื้นฐานการครองชีวิตในรูปของปัจจัยสี่ ดำรงตนอย่างไร้สวัสดิภาพส่วนบุคคลในสังคม" คือคำจำกัดความที่ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ไว้ในหนังสือ เด็กที่ถูกลืมในสังคมไทย
    ไร้ที่พึ่งพิงอย่างเป็นสุข--มิใช่เพียงไร้ที่ซุกหัวนอนเท่านั้น หากแต่ขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ อันหมายถึงความรักความอบอุ่นนั่นเอง
    ขาดเสียซึ่งพื้นฐานการครองชีวิตในรูปของปัจจัยสี่-- ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยที่เป็นสุข เครื่องนุ่งห่มยารักษาโรค และอาหารประทังชีวิตอย่างพอเพียงต่อพัฒนาการของร่างกาย
    ดำรงตนอย่างไร้สวัสดิภาพส่วนบุคคลในสังคม-- มีความหมายกว้างกว่าการขาดโอกาสพัฒนาตนในด้านต่าง ๆ เช่นเด็กอื่น ๆ ได้รับอย่างมีสวัสดิภาพ พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดผวาอยู่ตลอดเวลาว่า "จะถูกจับหากถูกพบ" เด็กที่สวมเสื้อผ้าสกปรก ไม่สวมรองเท้า ในมือถือถุงพลาสติก เดินเลาะเลียบอยู่แถว ๆ ถังขยะ พวกนี้จะถูกประเมินว่าเป็นเด็กเร่ร่อน และจะถูกตะครุบตัวไปทันที
    ครูหยุยสรุปว่า ชีวิตของเด็กเร่ร่อนเป็นชีวิตที่ขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาทุก ๆ ด้านและอยู่อย่างโดดเดี่ยว ผจญโลกอย่างไร้อนาคต และมีโอกาสเสี่ยงต่อการกระทำความผิด อันได้แก่ เสพยาเสพย์ติด เป็นขโมยหรือมิจฉาชีพ ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพ และมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ง่าย
(คลิกดูภาพใหญ่)     ขัตติยา กรรณสูต เสนอบทความเรื่องเด็กเร่ร่อนในวารสารการศึกษาแห่งชาติ และแบ่งเด็กเร่ร่อนออกเป็นสี่ประเภท โดยใช้เกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัว ดังนี้
    เด็กเร่ร่อนที่มีครอบครัว เด็กประเภทนี้ยังอยู่กับครอบครัวและกลับไปหาครอบครัวทุกวัน แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน เช่นเด็กขายของและเร่ขายบริการต่าง ๆ หรือเตร็ดเตร่อยู่บนท้องถนนโดยไม่มีจุดหมาย
    เด็กเร่ร่อนที่แยกจากครอบครัว โดยเกิดจากแรงผลักดันของผู้ปกครองหรือสภาพบีบคั้นภายในบ้าน เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ได้กลับไปหาครอบครัวอีก หรือหากกลับก็เพียงนาน ๆ ครั้ง 
    เด็กเร่ร่อนที่ไร้ครอบครัว เช่น เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกปล่อยทิ้งไว้หรือพลัดหลงจากผู้ปกครองและไม่สามารถติดตามกันได้ เด็กเหล่านี้ขาดการสัมพันธ์กับครอบครัวเหมือนเด็กประเภทที่สอง แต่เป็นการขาดจากครอบครัวแบบถาวร
    เด็กเร่ร่อนพร้อมครอบครัว ส่วนใหญ่อพยพเข้าเมืองมาพร้อมกับครอบครัว ตอนแรกครอบครัวอาจมีเงินพอที่จะเช่าห้องพักอาศัยได้ แต่ต่อมาอาจไม่สามารถหาเงินมาเช่าได้ จึงต้องอาศัยนอนตามถนน หรือเมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ทำให้เด็กต้องออกมาเร่ร่อน

    เชียงใหม่มีเด็กเร่ร่อนอยู่ทั้งสี่ประเภท จะแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ก็ตรงที่มีเด็กชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์รวมอยู่ด้วย แม้จะอยู่ในระหว่างการสำรวจจำนวนที่แน่นอน ว่าเด็กเร่ร่อนที่อยู่ในเชียงใหม่มีจำนวนเท่าไรกันแน่ แต่จากการประเมินของกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กเร่ร่อนในเชียงใหม่มานาน ว่ามีอยู่ประมาณ ๓๐๐ คน ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กพื้นราบทั้งชนบทและเมือง และอีกครึ่งหนึ่งคือเด็กที่อพยพมาจากหมู่บ้านในดงดอยทั่วภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่สาย และบางส่วนก็มาจากฝั่งพม่า ทั้งนี้เป็นการยากที่จะแยกแยะได้ว่า คนไหนเด็กไทย คนไหนเด็กต่างด้าว เพราะต่างมีปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาติเหมือน ๆ กัน
    เด็กชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งอพยพลงมาอยู่ในเมือง ในตอนแรกยังคงอยู่กับครอบครัว แต่เมื่อเวลาล่วงไป เด็กเหล่านี้จะเริ่มออกมาใช้ชีวิตอิสระนอกบ้าน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กชาวเขาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีทั้งประเภทที่แยกจากครอบครัว และเร่ร่อนพร้อมครอบครัว ลงมาใช้ชีวิตอยู่ในย่านชุมชนต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ และชุมชนหัวฝาย 
    เด็กชาวเขาที่ลงมาเร่ร่อนจึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง ของปัญหาเด็กเร่ร่อน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นทุกที 


(คลิกดูภาพใหญ่) จากยอดดอยสู่เมือง
    การปรากฏตัวของคนแปลกหน้าในชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ ย่านไนต์บาซาร์ บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ มักจะได้รับการต้อนรับด้วยสีหน้าหวาดระแวงสงสัย เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ร้องไห้จ้า และวิ่งหนีเมื่อเราเดินเข้าไปในกลุ่ม ซึ่งกำลังล้อมวงเล่นขายของกันอยู่ 
    "เขานึกว่าพี่เป็นประชาสงเคราะห์ที่มาจับเข้าคุกค่ะ" เด็กหญิงตัวโตกว่าบอก เมื่อจำใครคนหนึ่งในกลุ่มพวกเราที่มาที่นี่บ่อย ๆ ได้
    เมื่อทำความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนอื่น ๆ จึงคลายความระแวงสงสัย เว้นแต่เด็กหญิงตัวน้อย ที่ยังคงมีท่าทีไม่ไว้วางใจอยู่ดี
    ลึกเข้าไปในตรอกซอกซอย หลายชีวิตยังคงหลับใหลอยู่ในห้องเช่าเล็ก ๆ แม้จะเป็นเวลาเกือบเที่ยงวันแล้วก็ตาม ผู้หญิงร่างผอมบางคนหนึ่งนั่งให้นมลูกน้อยอยู่หน้าบ้านเช่าทรุดโทรม เสื้อชาวเขาหลากสี และภาษาที่เปล่งออกมาทำให้รู้ว่าเธอเป็นผู้หญิงจากดอยสูง เด็กชายวัยไล่เลี่ยกันสี่ห้าคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่ตรงมุมถนน เด็กชายตัวเล็กที่สุดอายุไม่น่าเกินเจ็ดปี ในมือมีถุงพลาสติกใสมองเห็นยางข้นสีเหลืองอยู่ก้นถุง ลักษณะอาการยกถุงขึ้นจ่อจมูกเป็นพัก ๆ ไม่ต้องถามก็รู้ว่าเด็กชายกำลังทำอะไรอยู่ และมันก็เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนแห่งนี้
    บ่ายคล้อย รถกระบะคันเก่าบรรทุกผู้คน ทั้งหญิงชายคนแก่คนเฒ่า และลูกเล็กเด็กแดง
    แล่นผ่านหน้าเราไป
    "เขาไปกาดหลวงค่ะ ไปขอทาน แล้วก็ไปซื้อดอกไม้มาขาย" เด็กหญิงอาข่าบอกเสียงใส
    ชาวเขาที่อพยพมาอยู่ที่ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ มาจากหลายแห่ง--แม่แตง แม่จัน เชียงดาว แม่สะเรียง แม่สรวย ดอยสามหมื่น ทั้งจากเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กลางวันพวกเขาจะออกไปขอทานอยู่แถวตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และย่านชุมชนอื่น ๆ ตกค่ำการขายดอกไม้ และพวงมาลัยตามร้านอาหาร และสถานบันเทิงคือสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไป กระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืนจึงค่อยทยอยกลับห้องพัก ที่เช่าอยู่รวมกันหลายคน แต่เด็ก ๆ บางคนพอใจที่จะยึดเอาข้างถนน ลานท่าแพ แผงหนังสือ เป็นที่พักพิงในยามที่ไม่อยากกลับไปนอนที่ห้องเช่า นอกจากอาชีพขอทานและขายดอกไม้แล้ว อาชีพค้ายาเสพย์ติดจำพวก ยาบ้า ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน ก็แฝงเร้นอยู่ในชุมชนแห่งนี้ 
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ครูเอก ครูอีกคนของกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก เล่าให้ฟังว่า เริ่มเก็บข้อมูลเด็กชาวเขาที่ลงมาเร่ร่อนในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ พบว่าชาวเขามาเช่าบ้านอยู่ที่ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ กันมาก มีทั้งกะเหรี่ยง อาข่า มูเซอ และเผ่าอื่น ๆ อีกเล็กน้อย
    ด้วยเป็นชาวเขาที่ไม่มีความรู้ ไม่มีบัตรประชาชน คือข้ออ้างที่เจ้าของบ้านยกขึ้นมาขูดรีดเงินจากชาวเขาเหล่านี้ ห้องเล็ก ๆ แคบ ๆ ค่าเช่าตกประมาณเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ถือว่าแพงโขอยู่สำหรับอาชีพขอทาน และขายดอกไม้ เจ้าของบ้านมักจะอ้างว่าเก็บเผื่อต้องจ่ายให้ตำรวจ พวกนี้ไม่มีบัตรประชาชน ถ้าตำรวจมาจะได้เอาเงินนี้ยัดใต้โต๊ะ เจ้าของห้องเช่าบอกสั้น ๆ ว่า "ให้เช่าอยู่ก็ถือว่าบุญแล้ว" ชาวเขาจึงมักเช่าห้องรวมกันหลายคน บางทีห้องเล็ก ๆ อย่างกับรูหนูห้องหนึ่งมีคนอาศัยอยู่รวมกันถึงสามครอบครัว 
    อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะต้านกระแสชาวเขา ที่หลั่งไหลลงมาทำงานข้างล่างได้ สองสามปีมานี้ พบว่าชาวเขาย้ายลงมาอยู่ในเมืองกันมากขึ้น เด็กเร่ร่อนที่เป็นชาวเขาก็เพิ่มมากขึ้น ต้นปีนี้เด็กชาวเขาลงมาขอทานกันมากอย่างน่าตกใจ พ่อแม่เองมักจะใช้ลูกเป็นเครื่องมือในการขอทาน บางคนเอาเงินที่ลูกขายดอกไม้ได้ไปซื้อยาเสพย์ติด จนติดคุก ลูกต้องอยู่คนเดียว และเดินเข้าสู่วงจรเด็กเร่ร่อนในที่สุด
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าสร้างความตื่นตะลึงให้ไม่น้อย เพียงชั่วนาทีเดียวจากปากซอยแคบ ๆ ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อันเป็นสภาพแวดล้อมของเมือง กลับกลายเป็นภาพซึ่งทำให้เผลอคิดไปว่ากำลังยืนอยู่ในหมู่บ้านที่ไหนสักแห่งบนภูสูง ห่างไกล และทุรกันดาร บ้านไม้ไผ่หลังเตี้ย ๆ กองไฟที่ใกล้มอดดับเหลือเพียงควันจาง ๆ ลอยจากกองเถ้าถ่าน ลูกหมาสองสามตัวเดินสวนกับไก่บ้านตัวเขื่อง พืชบางชนิดที่มักพบเห็นเฉพาะในหมู่บ้านบนภูเขาก็มีให้เห็นกันที่นี่ เรียกว่าแทบจะไม่แตกต่างจากหมู่บ้านที่เคยเห็นบนดอยเลย จะผิดกันตรงที่อาณาเขตของหมู่บ้านแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยรั้วคอนกรีตแน่นหนา มิใช่พงไพรเขียวขจีดังเช่นหมู่บ้านกลางดงจริง ๆ
    พ้นจากอาณาเขตรั้วคอนกรีตด้านฝั่งคลองแม่ข่า ก็ปรากฏชุมชนชาวเขาอพยพมาตั้งบ้านเรือนกันอย่างแน่นหนา ปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิมของที่นี่ บางคนสร้างบ้านถาวร บางคนเช่าห้องพักของคนเมืองไว้เป็นที่คุ้มหัวชั่วคราว
    ที่นี่คือชุมชนหัวฝาย ย่านที่อยู่อาศัยของชาวเขาอีกแห่งหนึ่งใจกลางเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณริมสองฝั่งคลองแม่ข่า ด้านหลังโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่สาธารณะ ราว พ.ศ. ๒๕๑๕ เริ่มมีชาวบ้านพื้นราบสองสามรายมาตั้งบ้านเรือนใกล้เชิงสะพานเม็งราย ต่อมาเริ่มมีการจับจองที่ และสร้างบ้านเรือนมากขึ้นทั้งสองฝั่งคลองแม่ข่า
    ไม่นานนักก็เริ่มมีชาวอีก้อ (หรือเรียกอีกอย่างว่า อาข่า) ลงมาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ เพราะทำเกษตรบนที่สูงไม่ได้ผล เมื่อเจ้าของกาแลไนต์บาซาร์เริ่มจัดสรรที่ว่าง ให้ชาวเขาขายของที่ระลึก ก็เริ่มมีชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ทยอยกันลงมาจากดอย พื้นที่แถบคลองแม่ข่าและหลังโรงฆ่าสัตว์จึงคลาคล่ำไปด้วยชาวเขาทั้งอาข่า ม้ง มูเซอ ฯลฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายของที่ไนต์บาซาร์ เด็ก ๆ ที่อพยพลงมาพร้อมกับครอบครัว จึงต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อนไปในที่สุด
    นอกจากชุมชนหัวฝายและลอยเคราะห์ซอย ๓ แล้ว ยังมีที่อื่น ๆ อีกประปราย เช่น แถวกำแพงดิน ตลาดวโรรส ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขาที่อพยพลงมาทำงานข้างล่าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับสองแห่งนั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)     ผลิตผลคนกับเมือง
    "มันอยู่ไม่ได้หรอก ปลูกอะไรก็ขายไม่ออก ได้เงินน้อยไม่พอใช้ ฝนฟ้าก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนไม่ต้องใช้เงินมาก เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ลงมาทำงานกันเยอะแล้ว" แม่เฒ่ามูเซอบอกถึงเหตุที่ต้องลงมาอยู่ในเมือง ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่แสดงความอาลัยถึงถิ่นที่จากมานาน ก่อนจะเอื้อมมือไปหยิบเสื้อประจำเผ่าที่แขวนอยู่ตรงผนังห้อง จัดแจงแต่งกายให้ตัวเองและหลานสาวตัวน้อยจนเรียบร้อย เตรียมตัวออกไปขายของที่ไนต์บาซาร์ ในขณะที่คนอื่น ๆ เริ่มทยอยออกจากห้องเช่าไปทีละคนสองคน
    แม่เฒ่าจะเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่า ทำไมวิถีแห่งชนเผ่าต้องถูกเบียดลงไปอยู่ในซอกหนึ่งของเมืองฟ้าแห่งนี้  และจะเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ทำไมผองพี่น้องทั้งหลายต้องทิ้งไร่นาให้รกร้าง และโยกย้ายมาอยู่ในที่ที่ไม่เคยคุ้น แล้วลูกหลานทั้งหลายอีกเล่า ชีวิตในเมืองได้กัดกร่อนวิถีแห่งวัยเยาว์ไปสักกี่มากน้อยแล้ว 
    จากหนึ่ง...สอง...สิบ...ยี่สิบ...เป็นร้อย กระทั่งเหยียบพัน ที่ผลิกผันชีวิตจากผืนป่าบนดงดอย มาใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในป่าคอนกรีต แสงไฟในเมืองบดบังแสงดาวบนฟากฟ้าเหนือขุนเขา ที่เคยทอแสงกระจ่างในหัวใจของใครหลายคนมาแสนนานเสียเกือบสิ้น
    สำหรับชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้ไม่กี่ปี เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และซึมซับเอาทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างมาหล่อหลอมเป็นตัวตน กำลังซึมซับวิถีแห่งเมืองแทนวิถีแห่งชนเผ่า ซึ่งกำลังถูกถีบให้หล่นไปในซอกหลืบมุมมืดของเมืองไปทีละน้อย แสงดาวแห่งขุนเขาลำเนาเดิมอยู่ห่างไกล และริบหรี่เกินกว่าจะฉายแสงนำทางให้เด็กน้อยแห่งป่าเขา เดินไปยังเส้นทางที่วัยเด็กอย่างพวกเขาควรจะเป็น
    การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไม่อาจอยู่รอดได้ด้วยการดำรงวิถีชีวิตแบบเดิม จากที่เคยเป็นทุกอย่างในหน่วยการผลิตแบบเดิม กลับกลายมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิตแบบเมือง 
 (คลิกดูภาพใหญ่)

    ผู้หญิงหอบลูกเล็กเด็กแดงและแก้วน้ำเก่า ๆ นั่งลงริมบาทวิถีในย่านชุมชนเช่นตลาดวโรรส เพื่อรอเศษเงินจากผู้ผ่านไปมา วันหนึ่ง ๆ ได้ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ บาท หากโชคดีก็อาจได้ถึง ๔๐๐ บาท เด็กตัวเล็ก ๆ หลายคนกลายเป็นสินค้าให้เช่าเพื่อนำไปขอทาน พ่อแม่จะได้เงินค่าตัวลูกวันละ ๑๐๐-๒๐๐ บาท ในขณะที่ผู้เช่าอาจทำเงินได้วันละ ๓๐๐-๕๐๐ บาทเลยทีเดียว 
    ช่วงเย็นเป็นเวลาของการขายดอกไม้ ผู้หญิงกระเตงลูกน้อยเดินขายดอกไม้ตามร้านอาหาร เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเข้าออกตามสถานเริงรมย์ เพื่อขายพวงมาลัย สนนราคาที่รับมา ๑๐ พวง ๕๐ บาท เมื่อนำมาขายในราคาพวงละ ๑๐ บาท คืนหนึ่งกำไรที่ได้จากมาลัยหลายสิบพวงจึงตกอยู่ที่ ๑๐๐-๒๕๐ บาท แต่ถ้ารับจ้างขายให้เอเยนต์ซึ่งเป็นเจ้าของดอกไม้ และเป็นคนพาเด็ก ๆ ไปปล่อยตามจุดต่าง ๆ ค่าแรงที่ได้รับก็จะไม่มากเท่ากับการลงทุนเอง 
    ค่าแรงที่แสนต่ำ รายได้จากขายดอกไม้ ขอทาน ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกท้องในครอบครัวได้อิ่ม และทุกดวงตาได้หลับสนิทในสถานที่อันอบอุ่นปลอดภัย ทางเลือกอื่นที่ "ง่าย" และ "ได้เงินมากกว่า" อย่างการค้ายาเสพย์ติดจึงเป็นทางเลือกที่ใครหลายคน จำต้องก้าวเดินไป และถลำลึกเกินกว่าจะถอยกลับออกมาได้
    หมี่พอ เด็กหญิงอาข่าวัยเก้าปี เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่พี่ชายและตัวเธอย้ายมาจากแม่สาย เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว มาเช่าห้องอยู่ในชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ กับเพื่อนบ้านอีกสี่คน ห้าวันก่อนหน้านี้พ่อกับแม่ถูกจับเพราะขายยา แต่ถูกจับไปอยู่ที่ไหน อีกกี่เดือนกี่ปีพ่อแม่จึงจะพ้นโทษ และจะกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีกทีเมื่อไหร่ เธอจะช่วยไม่ให้พ่อแม่ติดคุกได้อย่างไร คือคำถามที่เธอไม่เคยรู้คำตอบ
    "พ่อโดนจับค่ะ กี่ครั้งจำไม่ได้แล้ว หนูก็อยู่กับพี่ คนที่ดมกาวอยู่ตรงโน้นน่ะค่ะ หนูขายดอกพี่ก็ขายดอก พี่ไปกับแขกด้วยค่ะ"

      กลางคืนเธอจะเข้าออกตามร้านอาหาร คลับ บาร์ แถวท่าแพและไนต์บาซาร์เช่นเดียวกับพี่ชาย บางค่ำคืนทั้งสองก็เลือกเอาริมถนนเป็นที่นอน แทนที่จะกลับไปยังห้องเช่าโกโรโกโสอันแออัดของเธอ (และคนอื่น ๆ อีกหลายคน) 
    การถูกจับและติดคุกเนื่องจากคดีค้ายาเสพย์ติด ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชาวเขากลุ่มนี้ บางคนถูกจับปีละสองสามครั้ง บางคนแทบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในคุก เพราะเมื่อออกมาแล้วก็ต้องกลับเข้าไปอีกในเวลาไม่ช้า
    เมื่อพ่อกับแม่ไม่อาจอยู่ร่วมเผชิญชีวิตกลางเมือง ทั้งเพราะถูกจับหรือต้องไปทำงานที่อื่นนาน ๆ เด็กพวกนี้จึงต้องอยู่ในสภาพนั้นต่อไป กับเพื่อนบ้านที่เป็นญาติพี่น้อง และที่ไม่ใช่วงศาคณาญาติเดียวกัน เด็กผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ จากคนใกล้ชิดทั้งลุง น้า และเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่พ่อแท้ ๆ ได้ง่ายดายที่สุด
    "ไม่รัก พ่อนิสัยไม่ดี" น้ำเสียงห้วนแสดงความไม่พอใจ โพล่งออกมาจากปากของเด็กหญิงอาข่าวัยเจ็ดปีทันทีเมื่อถูกถามถึงพ่อ
    "พ่อนิสัยไม่ดี ชอบมาตีหนู หนูไม่ได้ทำอะไรก็ตีหนู หนูหลับอยู่ก็ตี เอาเชือกกับไม้มาฟาด บางทีก็มาจับหนู หนูกลัว"
    หากเธอเข้าใจว่าอากัปกิริยาที่พ่อทำกับเธอนั้นเป็นลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศ เธอคงจะบอกกับเราว่า "พ่อจะข่มขืนหนู" แต่ในความเข้าใจของเด็กหญิงวัยเจ็ดขวบ เธอจึงบอกได้แค่ว่า "พ่อชอบจับหนู"
    "ก็มันอยากนี่ เข้าบาร์ไปขายดอกทุกวันเห็นฝรั่งมันกอดกัน จูบกันทุกวัน เมียก็ถูกจับ จะให้ไประบายกับใคร" คือคำอธิบายอย่างไม่สำนึกผิด จากปากของพ่อที่พยายามจะเข่นฆ่าลูกในไส้ของตัวเอง ให้ตายไปจากโลกใบสวยงามของวัยเด็ก 
    จารีตและศีลธรรมที่เคยยึดถือแต่ครั้งยังอยู่ในหมู่บ้านอ่อนแรง และเสื่อมทรามเกินกว่าจะปกป้องเด็กหญิง จากเขี้ยวเล็บรอบกายได้
    การค้ายาเสพย์ติดอย่างกัญชา ยาบ้า เฮโรอีน ได้กระชากเอาจิตวิญญาณของความเป็นพ่อ และสามีไปจากครอบครัวเสียสิ้น เมื่อผู้ค้าตกเป็นทาสของมันเสียเอง เด็กหลายคนถูกทุบตีเพราะหาเงินมาให้พ่อไม่พอแก่การซื้อยา 
    "ขายดอกไม่ได้ก็ตี"
    "พ่อถูกจับบ่อย ออกมาเจ็ดวันก็เข้าไปอีก ไม่รู้จะอยู่บ้านไปทำไม"
    "อยู่กันหลายคน ไม่ชอบ"
    แม้น้ำเสียงที่ออกมาจากปากของเด็กหญิง และเด็กชายจะราบเรียบไร้อารมณ์ความรู้สึก แต่แววตาที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกบางอย่างที่ยากจะอธิบาย ก็ทำให้เราหยุดที่จะถามคำถามต่อไปเกี่ยวกับครอบครัว และสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 
    ใครบางคนบอกว่า ถ้าเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขากำลังเศร้าอยู่ละก็ เราไม่มีทางได้เห็นน้ำตาของเขาหรอก เพราะว่าน้ำตามันไหลออกมาจนหมด และเหือดแห้งไปตั้งแต่ยังอยู่ที่บ้านแล้ว 
    หลากหลายพื้นฐานของชีวิตที่ผลักดันให้เด็กน้อยเหล่านี้ ต้องออกมาเผชิญโลกเพียงลำพัง จากครอบครัวและบ้าน ที่ซึ่งควรจะอบอุ่นและปลอดภัยมากที่สุด สู่ที่ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อาจเหน็บหนาว เงียบเหงา และทุกข์ทรมานมากกว่า แต่นั่นก็คงไม่มากกว่าความรู้สึกทุกข์ทรมานจนไม่อาจทนอยู่ที่เดิมต่อไปได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้า และผจญชีวิตบนเส้นทางสายใหม่เพียงลำพัง ชีวิตบนท้องถนนที่แวดล้อมไปด้วยแสง สี เสียง สิ่งยั่วยุยามราตรี ค่อย ๆ ดึงให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่วงจรการขายบริการ และเป็นเหยื่อของยาเสพย์ติดในที่สุด

(คลิกดูภาพใหญ่) บนถนนสายโลกีย์
    ยะพี เด็กหญิงอาข่าวัยหกปี หัวเราะเสียงดังเมื่อถูกถามถึงความรู้สึก ที่เห็นฝรั่งหญิงชายกอดจูบกันนัวเนีย หน้าบาร์เบียร์แห่งหนึ่งย่านไนต์บาซาร์ ภาพกอดจูบ ควักล้วง และแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ ของมนุษย์หญิงชายคู่แล้วคู่เล่าในคลับบาร์ ที่เด็กหญิงเดินเข้าออกขายดอกไม้ทุกค่ำคืน กลายเป็นภาพปรกติธรรมดาสำหรับเด็กเร่ร่อนอย่างเธอ และคนอื่น ๆ ที่ต้องพบเห็นทุกวัน 
    "เด็กผู้หญิงมีโอกาสเข้าสู่วงจรขายบริการทางเพศสูงมาก การที่เขาพบเจอสภาพแวดล้อมในคลับบาร์ทุกวัน ก็ทำให้ความคิดเรื่องคุณค่าในตัวเองเปลี่ยนไป ความคุ้นเคยกับสถานเริงรมย์ผลักดันให้เขาเข้าสู่วงจรการขายบริการ เด็กบางคนเราเจอเขาตอนแปดขวบยังเดินขายดอกไม้อยู่เลย อีกสอง ปีมาเจอ อายุ ๑๐ ปีก็ขายบริการแล้ว ที่สำคัญมีพวกเอเยนต์เพิ่มมากขึ้นที่จ้องจะเอาเด็ก ๆ พวกนี้ไปแสวงหาประโยชน์ ยิ่งเด็กที่พ่อแม่ถูกจับ ยิ่งตกเป็นเหยื่อของเอเยนต์พวกนี้ได้ง่าย ญาติหรือคนใกล้ชิดก็จะขายเด็กให้แก่เอเยนต์ ได้ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ
    "เด็กชาวเขาที่พ่อแม่ถูกจับ เขาก็ต้องอยู่รวมกันกับเพื่อนบ้าน เด็กพวกนี้จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่สุด เด็กเองเมื่อถูกกระทำก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องบอกกล่าวกับใครได้ เพราะคนที่ทำก็เป็นพ่อ เป็นลุง เป็นน้าแท้ ๆ ของตัว มันก็เลยเป็นประตูที่ปิดตาย ไม่มีใครกล้าไปแง้มมันออกมา เด็กก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น เมื่อเขาถูกกระทำอย่างนี้แล้วก็จะมีความรู้สึกว่า จะเสียตัวอีกกี่ทีก็ไม่เห็นจะเป็นไร ทำให้เด็กเหล่านี้หันไปขายบริการในที่สุด" นุชนารถ บุญคง หรือครูน้ำของเด็ก ๆ แห่งกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก องค์กรเอกชนเล็ก ๆ ที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อนในจังหวัดเชียงใหม่มานาน กล่าวถึงชนวนที่ทำให้เด็กหลายคนต้องกระโจนลงสู่เส้นทางการขายบริการ
    ใช่เพียงเด็กหญิงเท่านั้นที่ผันชีวิตตัวเองสู่เวทีการค้ากาม เด็กผู้ชายหลายคนก็เลือกที่จะใช้ร่างกายของตัวเอง แลกกับเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ ที่มีคนหยิบยื่นให้เช่นกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)     ท่ามกลางแสงไฟเสียงเพลงคละเคล้าด้วยกลิ่นเหล้าเถ้าบุหรี่ เด็กชายอายุตั้งแต่ ๗ จนถึง ๒๕ ปีทั้งเดี่ยวและกลุ่ม แวะเวียนเดินเข้าออกตามคลับบาร์ย่านท่าแพ และไนต์บาซาร์ตลอดคืน ดอกไม้ในมือดอกละ ๑๐ บาท ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เขาวนเวียนเข้าไปในที่แห่งนั้น
    "You like boy ?"
    "You want me to go with you ?"
    ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสาร แม้จะผิดหลักไวยากรณ์ไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะทั้งเด็กและแขกต่างก็เข้าใจกันดี หากใครจับแขกได้ ก็หมายความว่าพรุ่งนี้เขาจะมีเงินซื้ออาหารดี ๆ กิน มีเงินซื้อยามาเสพสนองความต้องการของร่างกาย หรือไม่ก็หมดไปอย่างรวดเร็ว กับการเที่ยวดิสโก้เธค ซื้อเสื้อผ้า เล่นตู้เกมหรืออะไรอื่น ๆ 
    ในแวดวงชายนิยมชาย เป็นที่รู้กันว่าหากต้องการเด็กแบบนี้จะต้องไปที่ไหน ท่าแพและไนต์บาซาร์ ขึ้นชื่อในเรื่องโสเภณีเด็กชาย ขนาดว่ามีกรุ๊ปทัวร์ต่างชาติ มุ่งหน้ามาเชียงใหม่เพื่อเที่ยวโสเภณีเด็กชาย โดยเฉพาะอยู่เนือง ๆ
    จือโพ๊ะ เด็กชายจากขุนเขาแม่สะเรียงเล่าให้ฟังว่า เริ่มขายบริการตั้งแต่แปดขวบ ทุกคืนเขาจะเข้าออกแถวบาร์เล็ก ๆ ที่เรียงรายติด ๆ กันในซอกหนึ่งของเชียงอินทร์ไนต์บาซาร์ พร้อมกับดอกไม้ที่จะนำไปขาย หากวันไหนมีแขกเขาก็ไปกับแขก ค่าตอบแทนที่ได้แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าชั่วคราวก็อยู่ระหว่าง ๒๐๐-๕๐๐บาท ค้างคืนเพิ่มเป็น ๘๐๐-๒,๐๐๐ บาท หากว่า "ทำ" ถูกใจ ฝรั่งก็อาจจะตบรางวัลให้อีกหลายร้อยบาท บางคนใจดีก็พาไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ ซื้อรถจักรยาน หรือพาไปเลี้ยงอาหารดี ๆ ฝรั่งบางคนอาจติดใจ ถึงขั้นส่งเงินมาเลี้ยงดูกันทุกเดือน จือโพ๊ะเองก็พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้ แม้ว่าอาจจะต้องฝืนใจในตอนแรกก็ตาม
    "เด็กที่เข้ามาสู่วงการนี้แล้วจะเลิกยากมาก เพราะเขาสามารถหาเงินได้ง่าย ๆ และได้ทีละมาก ๆ คืนหนึ่งได้เงิน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท ทำให้เขาเคยชิน และไม่อยากออกไปทำงานอื่นที่ลำบากกว่า และได้เงินน้อยกว่า บางคนทำไปจนถึงอายุ ๒๔-๒๕ ปีเลย ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา
    "ปัญหาในขณะนี้คือ เด็กบางคนติดเชื้อเอดส์ กว่าอาการของโรคจะปรากฏ เราก็ไม่รู้ว่าเขาไปมีเพศสัมพันธ์กับใครบ้าง และเราก็เข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ ที่สำคัญ เด็กเองก็ยังหลงระเริงอยู่บนเวทีการขายบริการด้วย" ครูน้ำเล่าถึงปัญหาที่เจอ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ปัญหาที่ควบคู่กับการขายบริการคือปัญหายาเสพย์ติด กล่าวกันว่าเด็กที่ออกมาเร่ร่อนมีโอกาส ติดยาเสพย์ติดถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ต้องกาวและบุหรี่ 
    สาเหตุหลักก็คงหนีไม่พ้นเรื่องสภาพแวดล้อม การต้องเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ใคร ๆ ก็เสพยา ผู้มาใหม่ก็จำต้องเอากับเขาด้วย ประกอบกับเหตุผลที่ผลักดันให้เขาต้องออกมาเร่ร่อนนั้น ก็ยิ่งผลักให้เขาหันหน้าเข้าหายาเสพย์ติดได้ง่ายขึ้น นอกจากเสพแล้วยังเป็นคนขายเองเสียอีก ตัวการสำคัญคือพ่อแม่เด็กนั่นเอง 
    พวกผู้ใหญ่รู้ว่าหากถูกจับในคดีค้ายาเสพย์ติด อย่างน้อยก็ต้องเข้าไปอยู่ในคุกสองปีขึ้นไป พ่อแม่จึงให้เด็กเป็นคนขาย เพราะถ้าพลาดพลั้งถูกจับก็เข้าไปอยู่สถานพินิจฯ เพียงสองสามเดือนก็ได้ออกมาแล้ว 
    เก้าปีที่ใช้ชีวิตเด็กเร่ร่อนอย่างโชกโชน จะโคะเล่าให้ฟังว่า เคยถูกตำรวจจับเพราะมียาบ้าไว้ ๕๐ เม็ด ตำรวจลงบันทึกว่ามีอยู่ ๒๐ เม็ด ที่เหลืออีก ๓๐ เม็ดตำรวจแอบเอาไปปล่อยขายอีกที บางครั้งตำรวจก็ใช้เด็กเร่ร่อนเป็นสาย ในการสืบหาผู้ค้ารายใหญ่ด้วย เขาเคยถูกจับในคดียาเสพย์ติด ทั้งขายและเสพถึงสี่ครั้ง และยังมีคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกบ่อย จะโคะเล่าว่าเขาจะซื้อผงขาวมาหลอดหนึ่งขนาดเท่านิ้วก้อย เมื่อเอามาทำเป็นเม็ดแล้วจะได้ ๔๐ เม็ด ขายในราคาเม็ดละ ๑๕๐ บาท แต่ละเดือนได้เงินเป็นแสน ๆ บาท เงินทั้งหมดละลายหายไปกับการเที่ยวอย่างเมามัน วันนี้อยู่อย่างเศรษฐี พรุ่งนี้กลายเป็นยาจก ชีวิตเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างมีเป้าหมายในชีวิต หรือมีความหวังความฝันอย่างคนอื่นเขา ชีวิตมีแต่วันนี้ มีเงินเท่าไรก็ใช้จนหมด 
    ทว่าก็มีหลายคนที่หันหลังให้แก่ชีวิตร่อนเร่บนบาทวิถี หลังจากคิดได้ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงินกลับไปเรียนหนังสือ แต่นั่นก็ต้องมีแรงบันดาลใจบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิต ซึ่งกรณีเช่นนี้มีไม่มากนัก 
(คลิกดูภาพใหญ่) คืนเด็กสู่สังคม
    การที่เด็กสักคนจะตัดสินใจกลับบ้าน นั่นหมายถึงว่าเขาได้คลายความหวาดกลัว และกล้าที่จะกลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง ทว่าเด็กบางคนต้องหวนกลับออกมาอีกเป็นรอบที่ ๒ หลังจากกลับบ้านได้เพียงไม่กี่วัน มิหนำซ้ำยังปีกหักกลับมาด้วยหัวใจที่บอบช้ำกว่าเดิม อย่างกรณีของแอม
    เด็กหญิงผิวสีแทนวัย ๑๗ ปีคนนี้ ออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ชีวิตข้างถนนไม่มีเกราะป้องกันภัยใด ๆ ทำให้แอมติดเชื้อเอดส์โดยไม่ทันรู้ตัว เมื่อซิฟิลิสเข้ามาแทรกอีก สภาพของเด็กหญิงก็ทรุดโทรม จนไม่เห็นเค้าความสดใสของวัยสาว แอมป่วยหนักเข้าจึงตัดสินใจกลับบ้าน ด้วยคิดว่าที่บ้านยังคงมีที่ว่างสำหรับเธอบ้าง แต่การณ์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คนที่บ้านไม่มีใครยอมรับสภาพอันน่าเวทนาของแอมได้ เธอจึงพาหัวใจอันเจ็บช้ำกลับออกมาใช้ชีวิตโดดเดี่ยวดังเดิม และคิดว่าจะไม่กลับบ้านอีกแล้ว
    "นี่คือตัวอย่างหนึ่งของชีวิตที่ถูกผลักออกมาจากสังคม ซึ่งไม่มีที่ว่างให้เขาได้กลับเข้าไปอีก แล้วสภาพปัญหาในครอบครัวยังอยู่เหมือนเดิม พ่อแม่ยังคงทะเลาะกัน พ่อยังคงใช้ความรุนแรง หรือล่วงละเมิดทางเพศกับลูก กรณีเช่นนี้ทำให้เราต้องกลับไปคิดเรื่องนี้ใหม่ ทั้งชุมชนและบ้านต้องพร้อมที่จะรับเด็กพวกนี้ ตัวเด็กเองก็ต้องได้รับการขัดเกลาให้พร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปรกติ ซึ่งองค์กรของเราก็มีกิจกรรมทักษะชีวิต เพื่อเตรียมเด็กให้สามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ได้กลับไปเรียนหนังสือ กลับไปอยู่บ้าน หรือถ้าหากว่าที่บ้านไม่มีความพร้อมที่จะรับเด็กเหล่านี้ เราก็ต้องหาทุนและหาโอกาสให้เขาให้ได้ แต่ขณะนี้ยังมีหน่วยงานที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือนน้อยมาก" 
    ครูน้ำกล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนคงจะต้องเริ่มต้นกันที่นโยบายของรัฐ "การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนในทุกวันนี้ก็คือ เจอที่ไหนจับส่งสงเคราะห์ ถ้าเป็นเด็กชาวเขาหรือเด็กต่างด้าว ก็จับส่งประเทศเขาเลย แค่นี้เอง ไม่มีนโยบายอื่นรองรับเลย จากการทำงานเรารู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กต่างด้าวทั้งหมด บางส่วนเป็นเด็กชาวเขาที่ลงมากับพ่อแม่ซึ่งไม่มีสัญชาติ ถึงแม้จะเป็นเด็กต่างด้าว ถ้าส่งเขากลับประเทศ อีกไม่นานเขาก็กลับมาอีก อย่างนี้ไม่ต้องตามจับไปตลอดหรือ วิธีการแบบนี้มันถูกแล้วหรือ
(คลิกดูภาพใหญ่)     "องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก ก็ยังไม่มีการประสานงานกันเท่าที่ควร และควรจะทำงานกันเป็นเครือข่าย แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ องค์กรฉันช่วยเด็กเร่ร่อนไม่ได้ เพราะฉันช่วยเด็กกำพร้าเป็นหลัก อย่างนี้เป็นต้น อย่าลืมว่าเด็กเร่ร่อนบางคนก็กำพร้าเหมือนกัน ถ้าคุณดูแลเด็กกำพร้าไม่ดี เด็กก็อาจจะออกมาเป็นเด็กเร่ร่อนได้เหมือนกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องแนวคิดการทำงานของแต่ละองค์กร" ครูน้ำเสนอความคิดเพิ่มเติมว่า "น่าจะผลักดันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ให้ผู้ใหญ่ตระหนัก ชุมชนต้องมีความรู้เรื่องสิทธิเด็ก มันอาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่เราก็ควรส่งเสริมให้สังคมได้เรียนรู้ และถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่ง 
    "โรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะปลูกฝังเรื่องนี้ให้เด็ก ต้องทำให้เขารู้จักสิทธิ และปกป้องตัวเองได้ ให้เขารู้ว่าเมื่อมีปัญหาเขาจะไปหาใคร สิทธิของเขาอยู่ตรงไหน สำหรับเด็กชาวเขานั้นจริง ๆ แล้วเด็กไม่ได้อยากออกมาเร่ร่อน แต่เพราะไม่มีทางเลือก ฉะนั้นการแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องทำให้เขามั่นใจ ว่าเขาจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และมีสิทธิ ไม่ใช่กลับไปอย่างไม่รู้อนาคต ไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะไปอยู่อย่างไร ตรงไหน" 
    ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนะวิธีที่จะหยุดยั้งการไหลบ่าสู่เมืองของชาวเขา อันส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กเร่ร่อนไว้ดังนี้
    "หากตั้งคำถามว่าทำไมเด็กชาวเขาถึงต้องลงมาเร่ร่อน เราคงต้องย้อนกลับไปดูว่า เหตุที่ทำให้เขาต้องลงมาอยู่ข้างล่างคืออะไร
    "ประการแรกเลย ชุมชนชาวเขาแต่เดิมเป็นชุมชนที่พึ่งตัวเอง และอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ความจำเป็นในเรื่องการใช้เงินตรามีน้อย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง มีคนนำสิ่งฟุ่มเฟือยเข้าไปในชุมชน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้ชาวเขาหันมาพึ่งพาเงินตรามากขึ้น ต้องนำสินค้าไปขาย ต้องลงมาทำงานเพื่อหารายได้ 
    "ประการที่ ๒ คือ การที่ชาวเขาไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ บางหมู่บ้านนั้นอาจถูกประกาศเป็นป่าสงวน หรือประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกินของเขา เมื่อการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีทางอยู่รอดแบบเดิมของเขาถูกจำกัดลง ทางออกของเขาคือการส่งลูกหลานลงมาทำงานในเมือง นี่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากพื้นที่ทำกินบนที่สูงมีจำกัดลง 
    "อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุจากคนในเมือง ขึ้นไปชักชวนชาวเขาให้ลงมาทำงานข้างล่าง เช่น มาทำงานก่อสร้าง มาทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรม แสดงพิธีกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวดู บางทีคนพื้นราบก็ขึ้นไปขอเด็กชาวเขา อ้างว่าจะนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่ที่จริงแล้วบังคับให้เด็กไปขายดอกไม้ ขอทาน เด็กพวกนี้จึงกลายเป็นเด็กเร่ร่อน
    "การที่พ่อแม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจว่า ทุกคนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด แต่มันอาจมีเงื่อนไขหลายประการ ผู้หญิงอาข่าอาจต้องหอบลูกเล็ก ๆ ลงมาขอทาน เพราะสามีติดคุกในคดีค้ายาเสพย์ติด หรือสามีไปทำงานที่อื่นแล้วไม่กลับมา ทิ้งลูกทิ้งเมีย บางคนก็เกิดจากปัญหาสุขภาพอนามัย สามีติดเอดส์ตาย ก็ต้องหอบกันลงมาเป็นขอทาน" 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ดร. ชยันต์สรุปว่า เด็กเร่ร่อนชาวเขาเกิดจากปัญหาสังคมหลาย ๆ ด้านที่ผลักดันให้ชาวเขาต้องลงมาอยู่ในเมือง เป็นเพราะนโยบายพัฒนาที่สูงไม่ได้ทำให้ชาวเขาอยู่บนดอยได้อย่างมีความมั่นคงในชีวิต 
    "ระบบการเรียนในทุกวันนี้ ก็เตรียมเด็กให้เข้าไปอยู่ในเมืองทั้งภาคบริการ และอุตสาหกรรม มากกว่าที่จะเตรียมให้เขาอยู่ในภาคเกษตรบนพื้นที่สูง การศึกษาสอนให้เขียนหนังสือได้ นับเลขได้ แต่การศึกษาไม่พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาบนที่สูง และไม่ทำให้เด็กนักเรียน นำความรู้ไปทำงานภาคเกษตรบนที่สูง เหมือนกับว่าเรียน ๆ ไปให้อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้กับชีวิตบนดอยได้อย่างไร มันไม่เชื่อมโยงกับชีวิตบนดอย 
    "นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด แต่เดิมเขาปลูกฝิ่น ทางราชการบอกว่าผิดกฎหมาย ให้มาปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็ปลูกกาแฟกัน แต่ก็ขายไม่ได้ หันมาปลูกท้อก็ไม่ไหว ปลูกขิงก็เจอเชื้อรา ...ทำทุกอย่างแล้วก็ยังไม่ดี ยังเลี้ยงตัวเองเหมือนระบบเก่าไม่ได้ ก็เลยขายที่ดินให้คนอื่นที่มีฐานะมีเทคโนโลยี ที่จะทำการผลิตแบบใหม่ได้ซึ่งเขาไม่มี ชาวเขาจึงกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก ต้องทำงานหนักกว่าเดิม  แต่ก็ยังอยู่ในวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบเดิมไม่ได้ ฉะนั้นเขาก็ต้องลงมาข้างล่าง
    "ถ้าหน่วยงานของรัฐแก้ปัญหาต้นทางได้ดี ให้เขามีที่อยู่บนที่สูงอย่างมั่นใจ เด็กชาวเขาก็คงไม่อยากลงมาเร่ร่อนอยู่ในเมือง ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงที่สูงจนกลายเป็นเมือง แต่หมายความว่าทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต เขามีสิทธิอยู่ได้ มีการศึกษาที่สามารถเอาไปปรับใช้กับวิถีชีวิตบนที่สูงได้ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำ และรับฟังความคิดเห็นของเขา ให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าทิศทางการพัฒนาของเขาจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นการท่องเที่ยวก็ได้ การเกษตรก็ได้ แต่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย
    "ส่วนรูปแบบการพัฒนาแบบไหนที่จะเหมาะสมเหนี่ยวรั้งให้เขาอยู่ได้ อันนี้ต้องมาคิดร่วมกัน เอาประสบการณ์ที่ผ่านมามาวิเคราะห์กัน เช่นชุมชนที่เคยปลูกกะหล่ำปลีทั้งหมด เกิดปัญหาอย่างไร เอาสิ่งเหล่านี้มาคุยกัน ต่อไปอาจจะได้รูปแบบที่เหมาะสมกว่านี้  ไม่ใช่เข้าไปสู่การผลิตเพื่อเศรษฐกิจทั้งหมด บางส่วนต้องเพื่อยังชีพด้วย" 
(คลิกดูภาพใหญ่) ฝันในวันมืดมิด
    เด็กข้างถนนที่ท่าทางกร้านโลกนั้น ใช่จะเฉยชากับชีวิตเสียทีเดียว ลึก ๆ แล้วบางคนก็มีความฝัน ความปรารถนาบางอย่างฝังอยู่ในใจ... เป็นความปรารถนาที่แสนจะธรรมดา เช่นว่า 
    "เป็นคนดีที่สังคมยอมรับเหมือนคนอื่น ๆ และไม่อยากให้สังคมมองพวกเราเป็นกองขยะ"
    "อยากมีพ่อแม่ มีบ้านและครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า"
    "อยากพบหน้าและกลับไปอยู่กับพ่อแม่"
    "อยากกลับบ้านที่แม่สะเรียง และอยากเรียนหนังสือสูง ๆ"
    "อยากได้อดีตกลับคืนมา"
    เป็นบันทึกสั้น ๆ ที่เด็กแต่ละคนเขียนไว้เมื่อครูข้างถนนถามว่า เขามีความฝันอย่างไรในชีวิต
    บางความฝันของเด็ก ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นจริง หรืออาจเป็นเพียงภาพฝันที่ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ ห่างไกล และเลือนลางเกินกว่าที่สองมือจะเอื้อมคว้าถึง ไม่ว่าฝันนั้นจะล่องลอยไปไกลถึงหมู่บ้านบนภูสูงที่เขาจากมา หรือเป็นแค่ความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ ที่อยู่ใกล้กันแค่มือเอื้อม เราเองคงไม่อาจหยิบยื่นความฝันเหล่านั้น ให้แก่พวกเขาได้ สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แบ่งพื้นที่ให้เขาได้ยืนบ้าง แทนที่จะผลักไสให้เขาออกไปอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม และจมดิ่งสู่ขุมนรกอันมืดมิด
      "สังคมข้างนอกกับสังคมของพวกผมมันต่างกัน น้อยคนนักจะยอมรับ ไม่มีคนเข้าใจหรอก คนเราเปื้อนดินเปื้อนโคลนอาบน้ำก็หาย แต่คำว่า ขี้คุก ขี้ยา อาบน้ำพันครั้งก็ไม่หาย ทำไมต้องมาซ้ำเติมกัน พวกผมออกจากบ้านมาก็เพราะมีปัญหาทั้งนั้น พอคิดจะเป็นคนดีก็ถูกสังคมรุมอีกว่าเป็นขี้คุกขี้ยา แล้วอย่างนี้จะให้พวกผมเป็นคนดีไปทำไม 
    "สังคมขี้ยาอย่างพวกผม บางทียังดีกว่าสังคมคนดีข้างนอกอีก พวกผมมีแต่ความจริงใจ ถ้าให้เลือกผมขออยู่อย่างนี้ดีกว่า ถ้าอยู่ข้างนอกแล้วแกล้งทำเป็นคนดีแต่ไม่มีความจริงใจ ใส่หน้ากากเข้าหากัน ผมไม่ใส่ ผมหนักหน้า"
    แววตาจริงจังแฝงความตัดพ้อของคนพูดค่อยกลืนไป กับความมืดที่เข้าครอบคลุมเมืองเชียงใหม่ เด็กหญิงชายเริ่มมานั่งที่ม้านั่งริมถนน อีกสักครู่ก็คงออกไปกับใครสักคน และกลับมาพร้อมเงินสักก้อน 
    หากย้อนวันคืนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ณ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ คงเป็นเวลาของการสืบทอดวิถีแห่งชนเผ่า เด็กหญิงเด็กชายคงเอนกายลงบนตักของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชานเรือน รบเร้าจะฟังนิทานใต้แสงดาว 
    นิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่า ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น ซึมซับเข้าสู่หัวใจของเด็กน้อยกระทั่ง
    ผล็อยหลับไป ...พรุ่งนี้เขาจะตื่นขึ้นมาเพื่อสืบทอดวิถีแห่งชนเผ่าต่อไป
    หากแต่ในค่ำคืนนี้ ชีวิตพวกเขายังคงดำเนินไปตามวิถีของเด็กเร่ร่อน บางทีใครสักคนในหมู่พวกเขา อาจกำลังจ้องหาดวงดาว ที่จะนำทางไปสู่ดินแดนที่จากมา และเฝ้าหวังว่าสักวันจะได้กลับไปใช้ชีวิตปรกติ ในสังคมของเขาอีกครั้ง 
    แม้ว่าเพื่อนพ้องคนอื่น ๆ จะยังหลงเพลินไปกับแสงสียามค่ำคืนของเมืองฟ้าแห่งนี้ต่อไป
 (คลิกดูภาพใหญ่) ขอขอบคุณ
    เด็กเร่ร่อนทุกคน 
    ครูน้ำ ครูเอก พี่พจน์ เอก โอ๋ บอล ซัน ฟอร์ด คาน กั้ง มดแดง และทุก ๆ คนที่กลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก
    ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ
    ชาวบ้านชุมชนหัวฝาย, ชุมชนลอยเคราะห์ ซอย ๓
    คุณบุญมี แสวงธรรม หัวหน้ากรมประชาสงเคราะห์ จ. เชียงใหม่
    คุณสุนทร ชาญนุวงศ์ พ่อบ้านสถานพินิจและคุ้มครองเด็และเยาวชน จ. เชียงใหม่ 
  เอกสารประกอบการเขียน

ขัตติยา กรรณสูต. วารสารการศึกษาแห่งชาติ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๓๑.
นภมณฑล สิบหมื่นเปี่ยม. เด็กเรร่อนในประเทศไทย. ๒๕๓๖.
วัลลภ ตังคณานุรักษ์. เด็กที่ถูกลืมในสังคมไทย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
จากยอดดอยสู่สลัม, ไม่ทราบชื่อผู้เขียนและสถานที่พิมพ์

 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหินจากมุมสูง | เด็กเร่ร่อนเมืองเชียงใหม่ จากขุนเขาสู่บาทวิถี | เมื่อหมีเป็นผู้อุปถัมภ์เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรมตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซไทย-พม่ากับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจากวัฒนธรรมการย้ายถิ่นของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail