Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ม อ ง ป ร า ส า ท หิ น จ า ก มุ ม สู ง
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

    เมื่อคราวนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อหาเสียงสนับสนุนในการเป็นตัวแทนเอเชียสำหรับการประชุมจีแปด ซึ่งจะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นปีนี ้ มีกลยุทธ์ทางวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ และทำให้คนไทยรู้สึกสนิทใจสองอย่าง คือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปร่วมอวยพรคู่บ่าวสาวในโรงแรมที่เข้าพัก โดยไม่ได้รับเชิญ และกล่าวว่าเจ้าบ่าวคงทำบุญร่วมชาติกับตนมาเมื่อชาติก่อน อีกเหตุการณ์หนึ่งคือไปตอบข้อซักถาม ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเป็นกันเอง ทั้งสองเหตุการณ์ต้องอาศัยการวางแผนโดยผู้ซึ่งเข้าใจ และรู้จักวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี

(คลิกดูภาพใหญ่)

    กลยุทธ์ทางการทูตโดยใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ เสมือนขนมหวานสำหรับประเทศไทยตลอดมา ผลลัพธ์ของการรับประทานโดยไม่รู้เท่าทันก็เป็นดังเช่นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เปรียบเปรยไว้ว่า
    "ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีปัญญาเป็นนักเลงโต และไม่รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมในทางการทูต จึงเป็นเพียงเบี้ยให้คนอื่นเขาจับเดิน" เท่านั้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์. วัฒนธรรมและนักเลงโต. มติชนสุดสัปดาห์, ๒๕ มกราคม ๒๕๔๓)


 (คลิกดูภาพใหญ่)     การเสียปราสาทพระวิหารแก่กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงการขาดความรู้เรื่องคุณค่า ของวัฒนธรรมในทางการทูตครั้งสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน
    เมื่อฝรั่งเศสได้จุดชนวนปัญหาเรื่องเขาพระวิหารใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ก่อนกัมพูชาได้รับเอกราชหนึ่งปี โดยประท้วงที่รัฐบาลไทยเข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร ต่อมารัฐบาลโดยการนำของเจ้าสีหนุยื่นฟ้องต่อศาลโลก ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียปราสาทพระวิหารในที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้ประท้วงแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสทำขึ้นตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๔๗ และ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายในเขตสันปันน้ำฝั่งไทยซึ่งถือว่าเป็นหลักการแบ่งเขตแดนสากล
    กรณีปราสาทพระวิหารนี้ มีแต่นักเดินทางและนักวิชาการชาวฝรั่งเศสเท่านั้น ที่ถือว่าเป็นของกัมพูชาอันเป็นอาณานิคมของพวกตน ความรู้ทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ที่มีต่ออาณานิคมของตนอย่างลึกซึ้ง และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของรัฐบาลไทยในอดีต คือคำตอบสำหรับการสูญเสียปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชา ทั้งที่ความเป็นจริงจะตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยก็ตาม
(คลิกดูภาพใหญ่)     จักรวรรดินิยมอย่างฝรั่งเศส พยายามเข้าใจบ้านเมืองที่ตนต้องการเข้าไปครอบงำ และปกครองทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสำคัญกว่าการใช้เพียงกำลังทหารและอาวุธเท่านั้น จึงมีการจัดตั้งสถาบันทางวิชาการอย่างเป็นทางการ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ศึกษาทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณา ส่งนักวิชาการสาขาต่าง ๆ เข้ามาศึกษาค้นคว้า พิมพ์ผลงานอย่างเป็นระบบ และจัดตั้ง "สถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ" (BEFEO) ซึ่งยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
    บุคคลที่มีบทบาทในการศึกษา สำรวจ ถ่ายภาพ สเกตช์ ทำแผนผัง ปราสาทหินในเขมร ลาว และไทย ดังเช่น นายเอเตียน แอมมอนิเยร์ พันเอก เอเตียน เอ็ดมองค์ ลูเนต์ เดอลาจองกิแยร์ รวมถึงศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึก ที่สามารถลำดับกษัตริย์ขอมสมัยก่อน และหลังเมืองพระนครได้น่าเชื่อถือกว่าผู้อื่น จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา
      ด้วยการให้ความสำคัญและความเข้าใจทางประวัติศาสตร์โบราณคดี สังคมวัฒนธรรมดังกล่าวนี่เอง เมื่อเกิดกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร กัมพูชาจึงใช้ข้อมูลเหล่านี้จากนักวิชาการฝรั่งเศส สร้างความได้เปรียบให้แก่ตน ในขณะที่ฝ่ายไทยมองไม่เห็นความเชื่อมโยง ระหว่างการศึกษาทางสังคมวัฒนธรรม กับการใช้เพื่อการเมืองและการทูตนัก
    แนวทางของนักวิชาการจากสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษาด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน เพราะนักวิชาการไทยยุคแรก ๆ ได้บุกเบิกการเรียนการสอน โดยเฉพาะในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ในแนวทางเดียวกับที่นักวิชการจากสำนักนี้ได้เริ่มต้นไว้อย่างมั่นคง และถ่ายทอดสู่นักศึกษารุ่นต่อมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นแนวทางหลักของการเรียนการสอน  และการทำงานทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีในประเทศไทย
    แต่ดูเหมือนเราจะได้เทคนิค และวิธีการศึกษามามากว่าจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สังคม กับการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในการเข้าใจวัฒนธรรมอย่างถึงแก่น ไม่ติดเพียงเปลือกนอก 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ผลงานการศึกษาและบูรณะปราสาทหินต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นพยานถึงอิทธิพลดังกล่าวได้ดี เพราะข้อมูลที่ได้จากปราสาทหินแต่ละแห่ง จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาจารึก รูปแบบและวิวัฒนาการของศิลปกรรม ที่มีการกำหนดอายุอย่างแน่นอนของกษัตริย์สมัยก่อน และหลังเมืองพระนคร การศึกษาลวดลายแกะสลักเรื่องราวจากมหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ ตลอดจนเทพในนิกายความเชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามทับหลัง หน้าบัน ประติมากรรมรูปเคารพ หรือการทำความเข้าใจความหมายเชิงปรัชญา ขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ
    กล่าวได้ว่า เป็นข้อมูลที่มีมากที่สุด โดยไม่ให้ความสำคัญแก่ผู้คนที่เคยเป็นเจ้าของดินแดนแห่งปราสาทหินเหล่านั้น
    สิ่งที่เราให้ความสำคัญต่อปราสาทหิน ในแอ่งอารยธรรมอีสานของเราอย่างมากที่สุดก็คือ การสร้าง "อุทยานประวัติศาสตร์" ซึ่งเน้นความสวยงามของภูมิทัศน์รอบ ๆ ตัวปราสาท นับเป็นการหาประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน
    ปราสาทหินทุกแห่งควรได้รับการพิจารณาในมุมกว้าง ไม่เน้นแต่เฉพาะการเป็นโบราณสถานแต่เพียงอย่างเดียว
(คลิกดูภาพใหญ่)     แอ่งอารยธรรมอีสาน
   
บริเวณที่ราบสูงภาคอีสานของไทย ได้ชื่อว่าเป็นแอ่งอารยธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์แบ่งเป็นสองเขต คือ แอ่งสกลนครทางตอนบน และแอ่งโคราชทางตอนล่าง โดยมีเทือกเขาภูพานคั่นกลาง ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรทำให้ผู้คนทั้งสองแห่ง มีรายละเอียดทางวัฒนธรรมต่างกันไปด้วย ดังปรากฏจากรูปแบบของภาชนะดินเผาในประเพณีการฝังศพ ตลอดจนลักษณะทางศิลปกรรมภายหลังปรับรับระบบความเชื่อจากภายนอกแล้ว
   
เมื่ออิทธิพลทางพุทธศาสนา แพร่จากอินเดียเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้ชุมชนดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ เปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไปอย่างเห็นได้ชัด พัฒนาเป็นบ้านเมืองและรัฐ เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี อันมีช่วงเวลาอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ วัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง ได้แพร่ข้ามเขตภูมิศาสตร์สู่ดินแดนในแอ่งโคราช  และแอ่งสกลนคร ผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม จนกลายเป็นวัฒนธรรมทวารวดีแบบท้องถิ่น
   
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อิทธิพลทางศาสนาจากอินเดีย ได้แพร่เข้าสู่ชุมชนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงด้วย เกิดลักษณะทางศิลปกรรมทางพุทธศาสนาแบบฟูนัน  และฮินดูแบบเจนละอันเป็นต้นเค้าของศิลปกรรมขอม บริเวณเหนือทะเลสาบเขมร
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ดังนั้น ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ลงมา ผู้คนในแถบอีสานจึงมีระบบความเชื่อ ทั้งที่เป็นการนับถือผี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในชุมชนดั้งเดิม การนับถือพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูควบคู่กันไป
   
วัฒนธรรมขอมจากกัมพูชาส่งผลกระทบทางสังคม และการเมืองต่อชุมชนในเขตอีสาน โดยเฉพาะในแอ่งโคราชช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ เป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นจากศาสนสถานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในคติความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน  ประติมากรรมรูปเคารพ ตลอดจนข้อความจารึก ลักษณะการวางผังเมืองรูปสี่เหลี่ยม เทคโนโลยีการชลประทาน กล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของอิทธิพลทางการเมือง จากศูนย์กลางอำนาจที่เมืองพระนคร
   
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนคร ดังที่มักเข้าใจสับสนกับวิธีการล่าเมืองขึ้น ในสมัยอาณานิคมตลอดมา เพราะพบจารึกในอีสานหลายหลัก ที่เอ่ยพระนามของกษัตริย์ที่ไม่ได้ครองราชย์ในเมืองพระนคร แต่เป็นญาติกับกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร กล่าวได้ว่า ขอมในภาคอีสานเป็นเพียงขอมชายขอบนั่นเอง 
   
การนับถือศาสนาจากภายนอกนี้ น่าจะถูกเผยแพร่ผ่านพระสงฆ์ ฤาษี นักบวช ที่ออกจาริกแสวงบุญเผยแพร่คำสอน ดังปรากฏในตำนานต่าง ๆ กลุ่มชนชั้นที่รับระบบความเชื่อเช่นนี้ได้อย่างรวดเร็ว คือ พวกกษัตริย์และชนชั้นปกครอง ซึ่งคงนับถือศาสนาฮินดูหรือพุทธศาสนาแบบมหายาน เพราะรูปแบบความเชื่อเช่นนี้ ทำให้เกิดการจัดการปกครองแบบนครรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประชาชนทั่วไปคงนับถือพุทธศาสนา และมีบางส่วนคงนับถือผีตามเดิม
      หากเปรียบไปแล้ว ภาพถ่ายจากมุมสูงที่เห็นถึงแผนผังอันใหญ่โตของศาสนสถาน ตลอดจนสภาพแวดล้อมบริเวณรอบ ๆ เสมือนแรงบันดาลใจอันแจ่มชัด ต่อการพิจารณาบริบทแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรมในการเกิดขึ้นของปราสาทหิน มากกว่าการศึกษาศิลปกรรม และประติมานวิทยา*เฉพาะตัวปราสาทดังที่เป็นอยู่
    การศึกษาปราสาทหินในมุมสูงทำให้เราได้เห็น...
(คลิกดูภาพใหญ่) บริเวณที่ตั้งของปราสาทหินหลายแห่ง ปรากฏความต่อเนื่องในการอยู่อาศัย มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
    เมืองพิมายอยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำมูล ในแอ่งโคราช มีมนุษย์อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเขตอำเภอโนนสูงและอำเภอพิมายมีลักษณะเป็นที่ราบ เรียกว่า "ทุ่งสัมฤทธิ์" มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ค่อนข้างหนาแน่น เรียกกันโดยมากว่า ชุมชนในวัฒนธรรมทุ่งสัมฤทธิ์ 
    แหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ "บ้านปราสาท" ห่างจากเมืองพิมายราว ๑๒ กิโลเมตร มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เมื่อราว ๓,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ใช้ภาชนะลักษณะเด่นแบบปากแตร ต่อมาใช้ภาชนะสีดำขัดมันหรือแบบพิมายดำ ซึ่งใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดีที่แรกรับพุทธศาสนา บริเวณเมืองพิมายก็มีภาชนะแบบพิมายดำอยู่ด้วย 
    จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ มีการรับพุทธศาสนาแบบมหายาน เข้ามาเป็นศาสนาประจำถิ่น กลายเป็นเมืองศูนย์กลางในลุ่มน้ำมูล เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างภูมิภาค ผ่านไปยังพนมดงรัก ข้ามช่องเขาสู่เขมรต่ำในกลุ่มเมืองพระนคร ขึ้นไปทางเหนือเข้าลุ่มน้ำชีและแอ่งสกลนครและลุ่มน้ำโขง ทางตะวันตกข้ามดงพญาเย็นแถบลำสนธิสู่เมืองศรีเทพและลพบุรี 
    ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ต่อเติมเปลี่ยนแปลงปราสาทหิน และสร้างอาคารศาสนสถานเพิ่มเติม
 (คลิกดูภาพใหญ่)

    เมื่อมีการขยายตัวของชุมชนหนาแน่นขึ้น จากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์กลายเป็นเมืองที่มีความซับซ้อน เป็นเมืองที่มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยการขุดคูน้ำชั้นเดียว มีปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลาง ต่อมาได้ขยายเมืองไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นชุมชนเมืองที่จัดสร้างขึ้นตามรูปแบบอิทธิพลจากเมืองพระนคร โอบล้อมด้วยลำน้ำหลายสาย คือ ลำน้ำมูล ลำจักราช และลำน้ำเค็ม ในรัศมี ๒๐ กิโลเมตรของเมืองพิมายแวดล้อมไปด้วยชุมชนบริวารซึ่งเป็นที่ลุ่มทำการเกษตรได้ดี 
    เมืองพิมายคือศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม และการปกครองของกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำมูลตอนบน ที่พัฒนาขึ้นมากจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นหลัก ในขณะที่ขอมเมืองพระนครนับถือฮินดู อันแสดงให้เห็นความแตกต่างทางความเชื่อ และทางการเมืองของกลุ่มคนทั้งสองแห่งอย่างชัดเจน


 (คลิกดูภาพใหญ่) ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน กลายเป็นที่ตั้งศาสนสถานบนยอดเขา
    มนุษย์มีความเชื่อดั้งเดิมคล้ายคลึงกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ว่า ยอดเขาคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสามารถติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติได้ ยอดเขาบางแห่งที่สูงและห่างไกล ปกคลุมด้วยหิมะหรือความหนาวเย็นกลายเป็นที่สถิตของเทพเจ้า หลาย ๆ แห่ง คือสถานที่จาริกแสวงบุญของผู้คน ซึ่งเชื่อว่าการไปถึงยอดเขาจะสามารถติดต่อ และใกล้ชิดกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ได้มากที่สุด
    ความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อปรับรับระบบความเชื่อทางพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูมาเป็นของตน ปรัชญาเกี่ยวกับระบบจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของโลก และยอดเขาคือสถานที่สถิตของเทพเจ้า สอดคล้องกับความเชื่อเดิมในท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงพบการคัดเลือกยอดเขาที่มีความสวยงาม หรือแปลกกว่ายอดเขาบริเวณใกล้เคียง และการปรับเปลี่ยนยอดเขาอันศักดิ์สิทธิ์แต่เดิม ให้กลายเป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชน
    ในบรรดาศาสนสถานขนาดใหญ่บนยอดเขา ปราสาทพระวิหารมีความโดดเด่นที่สุด ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักกั้นระหว่างเขตเขมรต่ำกลุ่มเมืองพระนคร และเขมรสูงในภาคอีสานของไทย บริเวณกลุ่มปราสาทหันหน้าสู่เขตเขมรสูงลาดต่ำจากเหนือไปใต้ ความสูงต่างกันราว ๑๒๐ เมตร ลักษณะเป็นที่ราบหน้ากระดานบนยอดเขา บริเวณหน้าผาชันเรียกกันว่า เป้ยตาดี หากชาวขอมโบราณจากเมืองพระนคร ต้องการมาแสวงบุญที่ปราสาทพระวิหาร จะต้องเข้ามาทางช่องเขาบริเวณใกล้เคียง หรือปีนหน้าผาสูงชันที่ช่องบันไดหัก 
(คลิกดูภาพใหญ่)     กล่าวกันว่าปราสาทพระวิหารคือการแสดงอำนาจของกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร ที่เน้นความเชื่อเรื่องเทวราชา อันหมายถึงกษัตริย์คืออวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ศูนย์รวมแห่งคติความเชื่อ คือการสร้างมหาปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ และพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงมีการต่อเติมจากกษัตริย์แห่งเมืองพระนครหลายยุคหลายสมัย
    การเติบโตของชุมชนบริเวณใกล้เคียงเขาพระวิหาร สัมพันธ์กับช่องเขาติดต่อระหว่างบ้านเมืองทั้งสองเขต ของเทือกเขาพนมดงรัก เส้นทางผ่านช่องเขา คือมีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่สืบเนื่องจากอิทธิพลขอมสมัยเมืองพระนครไปแล้ว จึงพบปราสาทขนาดใหญ่และเล็กอยู่ทั่วไป ที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ เช่น ปราสาทสระกำแพงใหญ่ และ ปราสาทพนมรุ้ง
    ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาทขนาดใหญ่และฝีมือช่างชั้นสูง สะท้อนให้เห็นว่าน่าจะเป็นปราสาทที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค ที่สร้างขึ้นในบริเวณเมืองที่อยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญทางสังคม เศรษฐกิจ  และการเมืองในขณะนั้น และควรเป็นปราสาทที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ หรือเจ้านายท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับกษัตริย์แห่งเมืองพระนครอยู่บ้าง จึงมีการซ่อมต่อเติมหลายสมัย อีกทั้งได้พบเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ฝีมือคล้ายกับที่พบในเมืองพระนครด้วย
    ทางใต้ของแม่น้ำมูลซึ่งเป็นที่ราบลุ่มและที่สูง มีภูเขาขนาดเล็กจำนวนหนึ่งซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟในจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ บริเวณยอดภูพนมรุ้งเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น จึงมีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่บนยอดภูเขาไฟซึ่งดับแล้ว 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ มีความงามเทียบเท่าฝีมือช่างจากศูนย์กลางที่เมืองพระนคร จึงคงไม่เป็นเพียงศาสนสถานภายในท้องถิ่นเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์กับกษัตริย์จากเมืองพระนคร เพราะพนมรุ้งคือแหล่งกำเนิดผู้นำท้องถิ่นสำคัญ ซึ่งจารึกระบุว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด 
   
ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นจึงเปลี่ยนแปลงฐานะกลายเป็นเทวาลัยของพระศิวะในที่สุด 
   
ที่ตั้งของปราสาทอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของภูเขา ต่ำลงไปเป็นบริเวณแอ่งซึ่งคือปากปล่องภูเขาไฟ ส่วนหนึ่งคืออ่างเก็บน้ำ มีลำน้ำที่ไหลลงจากเขาสู่ที่ราบลุ่มสู่ชุมชนซึ่งมีศาสนสถาน ไร่นา สระน้ำ และอ่างเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วไป มีแนวคันชักน้ำไปที่ปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งขุดบารายขนาดใหญ่รอรับน้ำที่ไหลมาจากภูพนมรุ้ง
   
นอกจากนี้ ภูอังคารและภูปลายบัต ซึ่งเป็นภูเขาในบริเวณใกล้เคียง ก็มีศาสนสถานอยู่บนเขาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ใหญ่และงดงามเท่าภูพนมรุ้ง
        กลุ่มปราสาทตาเมือนอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ช่องตาเมือน อันเป็นช่องเขาติดต่อระหว่างเขตเขมรสูงกับเขมรต่ำ ประกอบด้วยปราสาทสามกลุ่ม คือ ปราสาทตาเมือน คือธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง และปราสาทตาเมือนโต๊ดลักษณะเป็นอโรคยศาล ซึ่งปราสาททั้งสองกลุ่มสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุด สร้างบนพื้นของภูเขาในส่วนที่เป็นพื้นหินธรรมชาติ 
   
สิ่งที่ทำให้ปราสาทตาเมือนธมเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนได้ คือภายในปราสาทประธานประดิษฐานศิวลึงค์ ที่ใช้แท่งหินทรายธรรมชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของการเลือกพื้นที่ในการสร้างศาสนสถานได้อย่างดี
(คลิกดูภาพใหญ่) ปราสาทหินคือศูนย์กลางของเมือง ที่มีระบบชลประทานชั้นยอดในเขตแห้งแล้ง
    ระบบชลประทานที่เป็นการขุดสระน้ำขนาดใหญ่รับอิทธิพลมาจากอินเดียใต้และศรีลังกา เป็นแม่แบบให้อารยธรรมขอมและส่งอิทธิพลต่อมาสู่ดินแดนในภาคอีสาน ความแตกต่างคือบารายในกัมพูชา และเมืองไทยเห็นได้ชัดว่าควบคุมโดยรัฐ แต่ในอินเดีย และศรีลังกาควบคุมด้วยชุมชนท้องถิ่น เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมในชุมชนด้วย
    พื้นที่บริเวณอีสานส่วนใหญ่เป็นเขตที่ขาดแคลนน้ำธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง ความต้องการน้ำใช้ตลอดทั้งป ีทำให้วิธีการกักเก็บน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง 
    พัฒนาการของการตั้งถิ่นฐาน ในยุคแรก จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระ ลำห้วยแม่น้ำ ภายหลังจึงมีการขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถานหรือชุมชน ต่อมาจึงสามารถจัดการน้ำโดยการขุดสระขนาดใหญ่กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ลักษณะดังกล่าวแสดงถึงพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมได้อย่างดี 
    สระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า บาราย สัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมจากเมืองพระนคร โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเมือง หรือที่เรียกว่าปุระตั้งอยู่ด้วย เพราะต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมากในการขุดสระ เพื่อรองรับประชากรจำนวนมากในระดับเมือง หรือปุระนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องได้รับการอุปถัมภ์หรือควบคุมโดยกษัตริย์หรือชนชั้นสูง 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม สามารถพัฒนาการตั้งถิ่นฐานในเขตแห้งแล้งได้ทั้งปี โดยการกักเก็บน้ำไว้ในบาราย อ่างเก็บน้ำหรือบารายขนาดใหญ่ที่สุดในเขตอีสานขนาดราว ๑,๒๐๐ x ๗๐๐ เมตร
    สระน้ำขนาดเล็กในบริเวณศาสนสถาน คือสัญลักษณ์ของมหาสมุทรทั้งสี่ทิศที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ไม่ใช่บารายซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ สำหรับใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคของผู้คนทั้งชุมชน
    จากภูพนมรุ้งมีแนวคันชักน้ำไปที่บารายรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ใกล้กับปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ราบไม่ไกลจากพนมรุ้งนัก เป็นศาสนสถานที่อยู่ในคติความเชื่อเดียวกัน ปราสาทเมืองต่ำมีแผนผังที่งดงามสมมาตร  และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา สร้างตามปรัชญาความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาล ดังนั้นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม จึงเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องจักรวาล การสร้างปราสาทหินมีปราสาทประธานแทนเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของโลก สระน้ำทั้งสี่ทิศแทนมหานทีสีทันดร มีการแกะสลักสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขาพระสุเมรุประกอบตามที่ต่าง ๆ
   
บารายหรืออ่างเก็บน้ำของปราสาทสระกำแพงใหญ่ อยู่ทางด้านตะวันออกของตัวปราสาท น่าเสียดายที่ขอบด้านหนึ่งถูกทางรถไฟตัดไป แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งพ้องกับฝีมือช่างชั้นเยี่ยมในการสร้างปราสาท และโบราณวัตถุสำคัญที่พบ
      อย่างไรก็ตาม บารายในสมัยโบราณได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ที่ยังคงใช้กันมาถึงปัจจุบัน แม้บางแห่งจะถูกทำให้เป็นอ่างเก็บน้ำยุคใหม่ทับซ้อนบารายเดิม บางแห่งขุดขยายเพิ่มเติมจนไม่ใช่รูปสี่เหลี่ยมไปบ้าง 
    แต่ก็ทำให้เห็นว่า ความสำคัญของการกักเก็บน้ำในภาคอีสานยังคงมีความจำเป็นเสมอมา
   
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของบริบทในการศึกษาสังคมวัฒนธรรมของผู้สร้างปราสาทหิน ที่ไม่ได้ถูกนำมาคิดมามองเท่าไรนัก หากเราพยายามทำความเข้าใจโบราณสถาน โดยปราศจากอคติครอบงำทางความคิด ที่เวียนวนแต่เฉพาะความงาม ลักษณะทางศิลปกรรม และประติมานวิทยาเพียงอย่างเดียว เราจะพบว่า มิติในการศึกษาจากมุมสูง ที่เข้าใจไปถึงสังคมและวัฒนธรรมของผู้สร้าง จะเปลี่ยนมุมมองที่เคยเห็นไปได้อย่างกว้างไกลและคาดไม่ถึงทีเดียว
   
เมื่อถึงเวลาใช้งานจะได้รู้เท่าทัน และไม่กลายเป็นเบี้ยให้คนอื่นเขาจับเดินอยู่ร่ำไป
   

*ประติมานวิทยา (Iconography) การศึกษาลักษณะเรื่องราว รูปภาพ รูปเคารพ ที่เป็นงานศิลปะ โดยการพิสูจน์ พรรณนา ตีความ แยกแยะ ประวัติ และความหมายของวัตถุ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนา และวัฒนธรรม เช่น การศึกษาสัญลักษณ์ และความหมาย ในงานศิลปะทางศาสนา ของประติมากรรม และสถาปัตยกรรมโบราณ เป็นต้น


บรรณานุกรม
ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๓

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail