ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ

movieหนังของ ทาเคชิ คิตาโน กำลังเป็นที่จับตามองของแฟนหนังทั่วโลก ด้วยรสชาติของความรุนแรงที่ไม่เหมือนใคร มีอารมณ์ขันร้ายลึก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความสะเทือนใจออกมาได้ การตัดต่อที่สร้างผลทางความรู้สึกสูง พร้อมด้วยการใช้ขนาดภาพในหนังอย่างแม่นยำ ลีลาทีเล่นทีจริงที่เผลอเอาจริงโดยไม่รู้ตัว และการที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เขากลายเป็นคนทำหนังระดับแนวหน้าของญี่ปุ่น ในฝรั่งเศสนับถือเขาราวกับเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของวงการภาพยนตร์ทีเดียว

ทาเคชิ คิตาโน เป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มาแรง และสร้างสมชื่อเสียงมาเรื่อย ๆ ตลอดทศวรรษ ๑๙๙๐ หนังของเขาเริ่มเป็นที่จับตามองในต่างแดนด้วยเรื่อง Sonatine ได้รับการยกย่องมากขึ้นหลังจาก Kids Return และประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อ Hana-Bi คว้ารางวัล Silver Lion จากเทศกาลหนังเวนิซในปี ๑๙๙๘ ปีที่แล้วผู้คนคาดหวังไว้ไม่น้อยกับหนังใหม่ของเขาเรื่อง Kikujiro ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ไม่มีกลิ่นอายของมาเฟียอย่างที่คนดูคุ้นเคย ล่าสุดคิตาโนเพิ่งปิดกล้องหนัง ที่ไปถ่ายทำในอเมริกาชื่อ Brother ซึ่งหวนกลับมาจับหนังยากูซ่าอีกครั้ง

คิตาโนเกิดที่โตเกียวในปี ๑๙๔๗ เข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนักแสดงตลกในปี ๑๙๗๒ ทั้งที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ปีต่อมาเขาได้ตั้งคณะแสดงตลกนาม Two Beat โดยแสดงคู่กับ คิโยชิ คาเนโกะ โดยคิตาโนจะเป็นที่รู้จักในนาม Beat Takeshi คณะตลกคู่ Two Beat ได้ออกโทรทัศน์ครั้งแรกในปี ๑๙๗๕ อีกสามปีต่อมาคณะนี้ก็ดังระเบิด การแสดงคู่ไมโครโฟนของทั้งสองได้รับความนิยมท่วมท้นในญี่ปุ่น

คิตาโนเริ่มเข้าสู่วงการหนังตั้งแต่ปี ๑๙๘๑ แต่มาดังจริง ๆ ในปี ๑๙๘๓ จากบทนายสิบใน Merry Christmas Mr. Lawrence ของ นากิสะ โอชิมา คิตาโนประเดิมงานกำกับครั้งแรก ปี ๑๙๘๙ ด้วยเรื่อง Violent Cop ซึ่งสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติถึงหกรางวัลด้วยกันรวมทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม ตามด้วย Boiling Point (๑๙๙๐) และ A Scene at the Sea (๑๙๙๑) ก็สามารถกวาดรางวัลในบ้านเกิดไปได้ถึงแปดรางวัล คิตาโนเริ่มสร้างชื่อในต่างประเทศด้วย Sonatine (๑๙๙๓) เมื่อหนังเรื่องนี้ส่งเข้าประกวดในเทศกาลหนังเมืองคานส์ อีกสองปีต่อมา คิตาโนทำเรื่อง Getting Any? (๑๙๙๕) และมาโด่งดังกับ Kids Return (๑๙๙๖) เมื่อหนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้ง ในที่สุด Hana-Bi (หรือ Fire works) ก็ประสบความสำเร็จสูงสุดในระดับนานาชาติ

นอกเหนือจากการทำหนัง คิตาโนยังแสดงในรายการโทรทัศน์นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดัง และหันมาจับงานวาดภาพในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งผลงานวาดภาพของเขาได้ปรากฏในหนังเรื่อง Hana-Bi โปสเตอร์หนังเรื่อง Kids Return ก็เป็นฝีมือการวาดของเขาเช่นกัน คิตาโนเคยบอกว่าแม้เขาจะคร่ำเคร่งกับการทำหนังแต่ก็สมัครใจที่จะทำงานด้านอื่นเสริม เพราะว่ามันเกื้อหนุนและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เขาอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงยินดีที่จะทำรายการตลกเหมือนเช่นเคย พักผ่อนด้วยการวาดภาพ และเล่นปาจิงโกะ

ในฐานะคนทำหนัง คิตาโนไม่เพียงแต่รับบทผู้กำกับ เขายังเขียนบท ตัดต่อ และแสดงนำในหนังของตนเองอยู่หลายเรื่อง สำหรับคนที่เคยดูงานของเขามาก่อนย่อมทึ่งเป็นธรรมดา เพราะว่าหนังที่คิตาโนเหมาหมดถึงสี่ตำแหน่งในเรื่องเดียว คุณภาพของหนังก็ไม่ได้ย่อหย่อนแต่อย่างใด

แม้ว่าหนังญี่ปุ่นร่วมสมัยจะห่างไกลจากสายตานักดูหนังชาวไทยอยู่มาก แต่หนังทุกเรื่องของคิตาโนได้มีโอกาสฉายในเมืองไทยในเทศกาลหนังญี่ปุ่น และเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ส่วน Kikujiru (๑๙๙๙) ปรากฏโฉมทางเคเบิลทีวี

หากจะให้จำแนกประเภทหนังของคิตาโนคงยากจะบอกว่าเป็นแอ็กชัน คอมิดี้ หรือดราม่า แต่ทั้งหมดได้ผสมรวมเป็นหนึ่งเดียว และนี่คือจุดเด่นในหนังของคิตาโน เพราะขณะที่กำลังโหด ๆ อยู่ก็สามารถแทรกใส่อารมณ์ขันร้าย ๆ ไว้ได้ แต่เมื่อหนังคลี่คลาย จึงรู้สึกได้ถึงความเป็นดราม่าที่ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ผู้ที่ได้ดูหนังของคิตาโนคงเข้าใจลักษณะที่ว่านี้เป็นอย่างดี และการที่หนังของคิตาโนสามารถสร้างความโดดเด่น และเข้าไปเกาะกุมหัวใจของนักดูหนังทั่วโลกเป็นเพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาดังที่กล่าวมา

หนังส่วนใหญ่ของคิตาโนเป็นเรื่องเกี่ยวกับยากูซ่าจนคนดูคุ้นเคย แถมภาพของยากูซ่าก็ยังติดตัวเขาในฐานะนักแสดงอีกด้วย อีกทั้งยากูซ่าตัวจริงก็ยังชื่นชมและนิยมหนังของคิตาโน เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาไปเดินเล่นอยู่ในโอซากา แล้วรู้สึกว่ามีพวกยากูซ่ามาป้วนเปี้ยนอยู่รอบตัว ภายหลังถึงได้รู้ความจริงว่ายากูซ่าท้องถิ่นได้ส่งลูกน้องมาอารักขา เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะปลอดภัยในถิ่นนี้ ทำเอาคิตาโนสาบานว่าจะไม่ไปเพ่นพ่านแถวนั้นอีก

ความรุนแรงในหนังของคิตาโนเป็นความรุนแรงในแบบที่เราจะไม่มีวันได้พบในหนังมาเฟียประเทศไหน ถึงจะเห็นเลือดน้อยกว่าแต่รสชาติของความรุนแรงที่ได้รับนั้นเท่าเทียม หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งความโหดที่ปรากฏในหนังยังออกมาในลีลาแบบทีเล่นทีจริง ดังเช่น ฉากทรมานคนเพื่อเค้นเอาความจริงใน Sonatine เหยื่อถูกมัดอยู่กับเครน มูราคาวาซึ่งสวมบทโดยคิตาโนสั่งให้ลองเอาเหยื่อจุ่มน้ำดูเพื่อทดสอบว่าคนเราจะทนอึดในน้ำได้นานแค่ไหน พอครบ ๑ นาทีก็ยกขึ้นปรากฏว่ายังไม่ตาย เขาเลยสั่งให้ลองใหม่อีก ๒ นาทีปรากฏว่ายังเป็นอยู่ ทีนี้พอครบ ๓ นาทีเหยื่อก็กลายเป็นศพ คำพูดทิ้งท้ายของมูราคาวามีเพียง ตกลงต้อง ๓ นาทีถึงจะตายได้Ž จากนั้นก็เดินหนีไปทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาทำราวกับจะเล่นตลกกับเหยื่อเท่านั้น ไม่ได้คิดฆ่าจริง

หนังของคิตาโนมักจะวนเวียนอยู่ในแวดวงอาชญากรรม ใน Violent Cop เขารับบทตำรวจตงฉินที่มีความประพฤติบ้าระห่ำ มีทั้งศัตรูภายนอกอย่างพวกยากูซ่า ศัตรูภายในอย่างตำรวจคอร์รัปชัน และยังมีปัญหาส่วนตัวคือต้องดูแลน้องสาวสติฟั่นเฟือน ความกดดันรอบข้างทำให้เขาทะลักจุดเดือด ระเบิดความแค้น และลงมือปฏิบัติการอย่างรุนแรงต่อศัตรูทั้งหมดด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก Boiling Point หนังเรื่องที่ ๒ ก็ยังเกี่ยวข้องกับยากูซ่าอีก เป็นเรื่องของเจ้าหนุ่มท่าทางทึ่มซึ่งทำงานในปั๊มน้ำมัน และเผลอมีเรื่องกับพวกยากูซ่า จากนั้นทางปั๊มก็ถูกก่อกวนเรื่อยมา เขาจึงเดินทางไปต่างเมืองเพื่อซื้อปืนมาล้างแค้น แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามแผนและทั้งหมดเป็นเพียงความฝันของพระเอกที่หวังจะเป็นฮีโร่กับเขาบ้าง เรื่องนี้คิตาโนไม่รับบทพระเอก แต่รับบทเป็นยากูซ่าทะลึ่งทะเล้น ซึ่งมีความโหดที่แปลกกว่าชาวบ้าน คือสามารถข่มขืนเพื่อนสนิทของตัวเองได้ แถมเพื่อนผู้โชคร้ายคนนั้นไม่ใช่ผู้หญิง ! ไม่เพียงเท่านี้ เขายังตัดนิ้วก้อยของเพื่อนคนดังกล่าวไปให้ยากูซ่าอีกหลังจากข่มขืนเสร็จ คิตาโนกำกับฉากนี้ออกมาในลีลาทีเล่นทีจริง ดูทั้งน่าขัน และน่าหวาดเสียวไปพร้อมกัน เพราะเมื่อเอามีดหั่นนิ้วไม่ขาดก็ให้ผู้หญิงอีกคนเอาเขียงไม้มากระแทกลงไปที่ตัวมีด

movie 02

A Scene at The Sea

movie 07

Sonatine

หนังของคิตาโนมักจะพูดกันน้อยคำ มีบทพูดเพียงเล็กน้อย แถมเรื่องที่พูดกันก็ไม่ค่อยจะสลักสำคัญเท่าใดนัก แต่คิตาโนสามารถสื่อสารให้คนดูเข้าใจในเรื่องราว และลื่นไหลไปกับเรื่องได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษาพูด เพราะเราสามารถเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ ผ่านภาษาหนัง A Scene at the Sea เป็นหนังที่ตอกย้ำความสามารถในการทำหนังพูดน้อยของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะพระเอกและนางเอกในเรื่องนี้เป็นใบ้ และหูหนวก ดังนั้นฉากรักของพระนางจึงจีบกันแบบเงียบเชียบ เสียงที่ได้ยินส่วนใหญ่คือเสียงคลื่นซัดเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนเก็บขยะที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่น นับเป็นหนังของคิตาโนที่เศร้าที่สุดและปลอดยากูซ่า

ในบรรดาหนังยากูซ่าทั้งหมดของคิตาโน Sonatine นับเป็นงานที่โดดเด่นที่สุด หนังว่าด้วยเรื่องของมูราคาวา ยากูซ่าที่เบื่อหน่ายกับการเข่นฆ่าในแวดวงมาเฟีย ช่วงหนึ่งของหนังมูราคาวาพาลูกน้องไปหลบพักร้อนอยู่ชายทะเล จากนั้นกิจกรรมกุ๊กกิ๊กที่ไม่น่าเชื่อว่ายากูซ่าจะกระทำก็บังเกิดขึ้น เป็นต้นว่า ขุดหลุมทรายแล้วล่อให้ลูกน้องตกลงไป หรือแสดงระบำญี่ปุ่นที่น่ารักน่าชัง ขณะที่ช่วงท้ายของหนังพลิกผันเป็นดุดัน เมื่อมูราคาวาตัดสินใจบุกเดี่ยวสังหารยากูซ่ายกรัง แต่เขากลับรอดตายเพียงเพื่อจะไประเบิดสมองตัวเองอย่างโดดเดี่ยวในตอนจบ

ดูเหมือนคิตาโนจะบ้าหลุดโลกไปเลยตอนที่ทำ Getting Any? เพราะเป็นหนังตลกที่เข้าข่ายเละเทะ เรื่องเปิดขึ้นที่เจ้าเบื๊อกรายหนึ่งฝันอยากจะฟันสาว แต่เขาจะต้องประกอบอาชีพใดล่ะ ถึงจะมีโอกาสงาม ๆ เช่นนี้ เรื่องเริ่มต้นที่ความฝันของเขา แล้วก็ต่อเนื่องเป็นฝันซ้อนฝันไปอีกหลายทอด จนในท้ายที่สุดเรื่องบิดกลายเป็นเรื่องของ “ไอ้แมลงวัน” โดยที่คิตาโนรับบทศาสตราจารย์สติเฟื่อง เรื่องนี้คิตาโนบทน้อย แต่ใช้พลังส่วนใหญ่ ไปกับการนำเสนอมุขตลกหลุดโลก สุดท้ายวิธีจัดการกับแมลงวันยักษ์ คือต้องขนอึมากองไว้ให้มากที่สุดเพื่อล่อแมลงวันมาติดกับ หนังเรื่องนี้หากคนดูไม่เคยดูผลงานของคิตาโนมาก่อนก็คงจะประณามหยามเหยียดกันแน่ว่า ทำไมถึงเป็นหนังตลกที่เละตุ้มเป๊ะหาแก่นสารไม่ได้เช่นนี้ แต่ถ้าได้ดูงานของคิตาโนมาบ้างคงจะเข้าใจได้เองว่า เป็นความตั้งใจของเขาที่จะทำหนังให้ออกมาเพี้ยนบ้าขนาดนี้ ความเละทั้งมวลไม่ใช่มาแบบมั่ว ๆ แต่ผ่านการทับถมกลั่นกรองของคนที่ผ่านโลกและทำหนังมาแล้วอย่างช่ำชอง แม่นยำ ซึ่งตลอดเรื่องเต็มไปด้วยการกระแทกกระทั้นเสียดสี

มีคนเคยบอกว่า คิตาโนมีนิสัยการทำหนังที่แปลกอย่างหนึ่ง หากว่าหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเขาประสบความสำเร็จได้รับคำสรรเสริญเยินยอมากมาย เรื่องต่อมาคิตาโนจะแกล้งทำหนังเลวออกมาเป็นการประชดประชัน หรือกลั่นแกล้งกับการคาดหวังของคนดู ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง Getting Any? ก็คงเข้าข่ายนี้

คิตาโนหวนกลับมาสร้างชื่อในระดับนานาชาติอีกครั้งด้วยเรื่อง Kids Return หนังวัยรุ่นที่พัวพันกับแก๊งยากูซ่าเช่นเคย เรื่องนี้คิตาโนไม่ร่วมแสดงด้วยแต่แฝงตัวอยู่หลังกล้องในตำแหน่งเดิมคือ เขียนบท กำกับ และตัดต่อ เรื่องนี้มีฉากหลักอยู่ในค่ายมวย เพราะเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นสองคนที่หนีเรียนมาเที่ยวจนชีวิตพลิกผัน คนหนึ่งไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักมวยแค่เดินตามเพื่อนมาแต่กลับมีพรสวรรค์ทางด้านนี้อย่างมาก ผลก็คือกลายเป็นนักมวยรุ่นเยาว์ฝีมือฉกาจ ส่วนเพื่อนกลับกลายเป็นยากูซ่าที่เติบโตเป็นผู้จัดการสาขาอย่างรวดเร็วทันใจ แต่ในที่สุดด้วยความเยาว์วัยและคึกคะนอง ทำให้ทั้งคู่ล้มเหลวและหวนกลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้คิตาโนเล่าว่าเขาเก็บมาจากประสบการณ์ที่เคยพบเห็นในวัยเรียน

Hana-Bi เป็นหนังที่กระพือชื่อเสียงของคิตาโน ให้ขจรขจายในต่างแดนอย่างกว้างขวางด้วยการันตีจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสิงโตเงิน แต่หากจะให้คะแนนผลงานแก่คิตาโนแล้ว หนังของคิตาโนจัดได้ว่าเป็นหนังคุณภาพทุกเรื่อง และ Hana-Bi ไม่ใช่งานในระดับที่สมควรคว้ารางวัลเป็นครั้งแรก สำหรับคิตาโน แต่เป็นหนังที่ทางเทศกาลหนัง อาจเห็นพ้องแล้วว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับหนังของเขา…

ในเรื่องนี้ คิตาโนรับบทตำรวจที่เคยดี แต่มีแผลเป็นชีวิต เพราะครั้งหนึ่งเขามีส่วนในการทำให้เพื่อนตำรวจคนสนิทต้องพิการตลอดชีวิต เรื่องนี้ฝังใจเขามาก ขณะเดียวกันภรรยาก็กำลังรอวันตายด้วยมะเร็งร้าย และเขายังมีหนี้สินก้อนโตที่ต้องชำระแก่ยากูซ่า ขณะที่เพื่อนพิการหันหน้าเข้าหาศิลปะ และแปรความรู้สึกที่กระทบจากธรรมชาติมาเป็นภาพวาดในจินตนาการอันสวยสด แต่เขากลับถลำลึกสู่ด้านมืด ในที่สุดก็สวมเครื่องแบบตำรวจมาปล้นธนาคาร จากนั้นพาภรรยาหนีไปพักผ่อนยังทุกที่ที่เธอต้องการ ภาพสุดท้ายของหนังเป็นชายหาดเงียบสงบ แต่แล้วเสียงกระสุนสองนัดที่ดังขึ้น ก็กลายเป็นบทสรุปของหนัง

Kikujiro เป็นหนังของคิตาโนเรื่องแรกที่มีตัวเอกเป็นเด็ก ส่วนคิตาโนรับบทชายเสเพลที่มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ กับภรรยาสาว ทั้งคู่ดูไร้แก่นสาร และไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผลรองรับ เพียงแค่รู้ว่ามาซาโอะเด็กชายวัย ๑๐ ขวบเพื่อนบ้านของตน อยากเดินทางไปหาแม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนเลยในชีวิต ภรรยาสาว ก็ยินดีที่จะให้เขาติดตามไปเป็นเพื่อนเด็กโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ระหว่างทางเป็นกิจกรรมเสียเวลาประเภทไปเที่ยว แทงม้า พักผ่อนในโรงแรม กว่าจะพามาซาโอะไปหาแม่ได้ก็นานโข เรื่องนี้คิตาโนแบ่งเรื่องเป็นหลายองก์ โดยมีภาพนิ่งของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในองก์นั้น ๆ คั่นก่อนเข้าเรื่อง มาซาโอะได้พบเห็นแม่ในระยะไกล และได้รู้ว่าแม่มีครอบครัวใหม่เสียแล้ว มาซาโอะจึงกลับบ้านกับชายผู้นั้น ก่อนจากถึงจะถามไถ่ชื่อกันจึงได้รู้ว่า “ลุง” ที่เดินทางไปด้วยมีชื่อว่า คิคูจิโร Kikujiro เป็นหนังที่คิตาโนบอกว่า เป็นการรำลึกถึงบิดาของเขาเอง

คิตาโนมักใช้นักแสดงเจ้าประจำเล่นหนัง และเขายังมีวิธีการคัดเลือกนักแสดงที่แสนประหลาด อย่างเช่น พระเอกแสนทึ่มในเรื่อง Boiling Point และ Getting Any? คงจะเป็นนักแสดงที่ไม่มีใครเลือกเป็นตัวเอกเด็ดขาด หรือแม้แต่ มาซาโนบุ เอ็นโดะ หนึ่งในพระเอก Kids Return ก็เป็นพระเอกใหม่ที่เข้ามาทดสอบบทกับคิตาโนด้วยสีหน้าที่เชื่อว่าตนจะไม่มีวันได้บทนี้เด็ดขาด แต่นี่กลับเป็นเหตุผลที่คิตาโนเลือกเขา

สไตล์ด้านภาพในงานของคิตาโนเป็นส่วนที่โดดเด่นอีกประการหนึ่ง เขาหลีกเลี่ยงที่จะใช้ภาพใกล้เพื่อเร้าอารมณ์ การเล่าเรื่องของเขาเป็นไปอย่างช้า ๆ จงใจสร้างความอึดอัดให้แก่คนดูในบางตอนเพื่อบทสรุปที่ได้ผลชะงัด อย่างที่บอกแล้วว่าคิตาโนตัดต่อหนังด้วยตนเอง ภาพที่ปรากฏในหนังเกิดขึ้นราวกับว่า เขาได้ลำดับภาพไว้เรียบร้อยแล้วขณะที่ถ่ายทำ หลายคราวสามารถสร้างความขบขันได้อย่างง่าย ๆ เป็นต้นว่า เด็กหนุ่มวัยคะนองที่เพิ่งจะฝึกมวยได้สองวันคิดจะออกไปชกคนที่รังแกเพื่อน เราจะเห็นภาพเขาเดินออกจากตัวตึก ตัดมาที่ภาพปานกลางของชายร่างใหญ่ที่เขาตั้งใจจะมาชก ตัดมาอีกทีที่เด็กหนุ่มคนนี้อ้าปากค้างกับร่างทะมึน และตัดอีกที ก็เห็นภาพเจ้าหนุ่มคนเดิมล้มคว่ำไปกับพื้น ขณะที่เพื่อนอีกสองคนวิ่งหนีกันกระเจิง การลำดับภาพของคิตาโนไม่เพียงสร้างผลทางอารมณ์ขัน แต่ยังใช้ได้ผลในกรณีของความรุนแรงเช่นกัน ในหลายคราวกล้องก็ปล่อยให้คนดูเห็นการอัดตีกันอย่างรุนแรงโดยไม่ตัด อีกหลายคราวก็ปิดบังไม่ให้เห็นอะไรเลยได้ยินแต่เสียงกระสุน หรือเห็นแค่ภาพเลือดสาด เห็นยากูซ่าเหวี่ยงดาบเล่มยาวเข้าใส่กล้อง แต่ไม่เห็นท่าฟันลงไปตรง ๆ ที่ร่างของเด็กหนุ่ม

นอกจากนี้ความคาดเดาไม่ได้ก็เป็นรสชาติที่สำคัญในหนัง มือปืนในหนังของคิตาโนมักจะปรากฏตัวในรูปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ไม่เพียงแต่ตัวละครในหนังจะคาดไม่ถึง คนดูก็ยังไหวตัวไม่ทันเช่นกัน ใน Kids Return ยากูซ่าระดับหัวหน้าสาขาคนหนึ่งถูกยิงตายด้วยฝีมือมือปืนหัวล้าน สวมแว่นตาหนาเตอะ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดธรรมดา แถมยังขี่จักรยานอย่างใจเย็น หรือบางทีมือปืนใจโหดก็มาในร่างของชายวัยดึกที่ท่าทางเหมือนนักตกปลาสมัครเล่น ซึ่งมาพร้อมกับอุปกรณ์ตกปลาทั่วไป เดินท่อม ๆ อยู่ตามถนนแต่เมื่อเจอเป้าหมายก็สังหารได้อย่างรวดเร็วทันใจ หรือเด็กหน้าจ๋องที่แวบแรกดูใสซื่อ ก็สามารถชักมีดออกมา กระซวกท้องยากูซ่าคนหนึ่งให้ดับดิ้นไปใน Sonatine

หากจะบอกว่าหนังของคิตาโนเป็นหนังอันว่าด้วยโลกของผู้ชายก็คงไม่ผิดนัก ตัวละครในหนังหลายเรื่องของเขาแทบจะไม่มีผู้หญิงเลย ใน Violent Cop ไม่มีนางเอก ผู้หญิงในเรื่องนี้มีเพียงน้องสาวปัญญาอ่อนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใน Boiling Point มีนางเอก แต่เธอก็เป็นเพียงไม้ประดับในหนังเท่านั้น Kids Return พระเอกหนุ่มสองคนไม่มีแฟน มีแต่กันและกัน และอยู่ในโลกแบบผู้ชายคือหมัดมวยและยากูซ่า ใน Sonatine ถึงจะมีสาวมาเปลื้องผ้าต่อหน้า มูราคาวา (คิตาโน) ก็ยังไม่สนใจและละทิ้งเธอไป ก่อนจะระเบิดหัวตัวเอง โดยเฉพาะใน Boiling Point นั้น คิตาโนยังสวมบทโฮโมเซ็กชวลฉุกเฉินที่ข่มขืนเพื่อนตัวเองหน้าตาเฉย โดยที่เพื่อนตั้งตัวไม่ติดเลยด้วยซ้ำ แม้ว่าใน A Scene at the Sea จะมีนางเอก แต่ดูเหมือนเธอจะไม่ค่อยส่งผลต่อเรื่องราวเท่าใดนัก และดูท่าว่าพระเอกจะรักทะเล และกระดานโต้คลื่นมากกว่าเธอเสียอีก ขณะที่นักวิจารณ์กำลังจะฟันธงลงไปว่า หนังของคิตาโนมีกลิ่นอายของโฮโมเซ็กชวลอบอวล แต่คิตาโนก็แก้เกมด้วยการโยกย้ายตัวเองมามีภรรยาในหนังสองเรื่องสุดท้าย อย่าง Hana-Bi และ Kikujiro

แม้ว่าหนังของคิตาโนจะได้ชื่อว่าเป็นหนังที่บีบคั้น และกลั่นแกล้งคนดูอย่างถึงที่สุด แต่คนดูก็ยินดีที่จะถูกเขาหักหลัง และทรมานอยู่ต่อไป