เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ
vote gay

“ระเบียบกติกาสำคัญยิ่งประการหนึ่งของสังคมที่หลาย ๆ คนยึดถือ แต่ไม่ค่อยจะนึกถึง คือการแสดงออกทางเพศให้ตรงกับเพศสภาพที่ได้รับมอบหมาย แบบว่าผู้หญิงก็ควรจะแต่งเนื้อแต่งตัวเป็นผู้หญิงให้ชัดเจน และผู้ชายก็ควรแสดงออกทั้งทางกายและกิริยาให้เป็นผู้ชาย… แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยในระบบที่แบ่งคนออกเป็นเพียงสองเพศสภาพนี้ ที่ไม่ค่อยจะพออกพอใจกับเพศสภาพที่ได้รับมอบหมายตามลักษณะอวัยวะเพศที่ติด ร่างกายมาแต่กำเนิด และแสดงออกทางเพศไม่ตรงกับความคาดหวังหรือการกำหนดของสังคม คนในสังคมจึงได้เห็นกรณีของผู้ที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศชาย และถูกอบรมกล่อมเกลาให้เป็นผู้ชาย มีกิริยาอาการหรือแต่งกายใส่เสื้อผ้าแบบผู้หญิง… อย่างที่เรียกว่า “กะเทย” ถูกมองว่าเป็นปัญหามากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปในแต่ละสังคม”

ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ
เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๔๕


จุ๋ม
นักศึกษาชั้นปีที่ ๔
ภาควิชาการละคร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


  • คนที่ผ่านการเรียนรู้และมีวิจารณญาณมากพอ ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อจบออกไปเขาเหล่านี้จะยังดึงดันแต่งตัวอย่างนี้
  • เราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่ควรจะหยุดถกเถียงกัน เพราะมันไม่ได้กระทบอะไรกับสังคม

“ที่อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เล่าว่า เพื่อนของท่านคนหนึ่งเรียนคณะแพทยศาสตร์ แล้วแต่งชุดนักศึกษาหญิงไปเรียน จนคณบดีเรียกมาเตือนแล้วให้ไปเรียนคณะเภสัชศาสตร์ เพราะเกรงว่าหากไปทำงานเป็นหมอ เป็นพยาบาล จะแต่งตัวเป็นผู้หญิงนั้น ตรงนี้เรายอมรับว่าการจะไปประกอบอาชีพบางอย่าง ไม่อาจแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้เหมือนที่เราทำอยู่ขณะนี้ แต่ที่เราเลือกแต่งชุดนักศึกษาหญิงวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะแต่งหญิงตลอดไป กะเทยที่แต่งหญิงเขาทราบดีว่า คณะที่เขาเลือกเรียน อาชีพที่เขาเลือกจะเป็นนั้น มีจรรยาบรรณอย่างไร เมื่อเราเลือกที่จะเรียนเพื่อไปเป็นครู เราก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นครูจะแต่งตัวผิดเพศไม่ได้ เป็นผู้บริหาร เป็นแพทย์จะมาแต่งหญิงก็ไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าการเรียนรู้มันก็เหมือนขั้นบันได เมื่อจบการศึกษาออกไป คนที่ผ่านการเรียนรู้ คิดเองได้ มีวิจารณญาณมากพอ ก็จะปรับตัวได้เอง ไม่ต้องกลัวว่าเขาเหล่านี้จะยังดึงดันแต่งตัวอย่างนี้ เพียงแต่เขารู้ว่า ณ ปัจจุบันเขาอยู่ตรงไหน ทำอะไรได้แค่ไหน

“การที่กะเทยแต่งชุดนักศึกษาหญิง จึงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญอะไรมากมายขนาดต้องหยิบยกมาถกเถียงกัน เราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่ควรจะหยุด เพราะมันไม่ได้กระทบอะไรกับสังคม สังคมคือความหลากหลาย แต่จะทำอย่างไรให้คนทุกคนเป็นตัวของตัวเอง และมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เป็นตัวของตัวเองโดยไม่สร้างผลกระทบให้ใครไม่ดีกว่าหรือ อยากฝากไปถึงสาวประเภทสองที่เป็นนักศึกษาเหมือนกันว่า ไม่ต้องซีเรียสเรื่องนี้ เราไม่ใช่คนที่ผิดแผกจากสังคม เรามีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดดีกว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกจะเป็นคนดี เป็นคนมีคุณภาพได้”

……………………….

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเสนอข่าวกะเทยในสถานศึกษาบางแห่งแต่งชุดนักศึกษาหญิงไปเรียน เป็นข่าวหน้าหนึ่ง ติดตามมาด้วยการนำเสนอเป็นสกู๊ปพิเศษและบทความต่อเนื่องอีกหลายวัน อาจารย์ในหลายสถาบันมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อกรณีนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการแสดงออกซึ่งเสรีภาพที่เกินขอบเขต ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งไม่ได้คัดค้าน (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนหรือเห็นดีเห็นงามด้วย) มองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนในขอบเขตที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร อีกทั้งไม่ใช่ประเด็นที่ควรเป็นข่าวเพราะเป็นเรื่องธรรมดา นอกเสียจากว่าหนังสือพิมพ์ต้องการสร้างประเด็นเพื่อเพิ่มยอดขายเท่านั้น

ในบทความ “กะเทยเหล็ก” ของ ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่ยกมาข้างต้น วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ต่อว่า สังคมกำหนดให้คนต้องเป็นเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่งซึ่งถูกจัดแบ่งโดยอวัยวะเพศที่มีอยู่ การแต่งกายและท่าทางการแสดงออกก็ควรชัดเจนตามเพศสภาพนั้น ไม่ควร “ข้ามเส้น” ทำตัวเป็นอีกเพศหนึ่ง สังคมจะเรียกผู้ชายที่มีพฤติกรรมและแสดงออกในแบบผู้หญิงว่าเป็น “สาวประเภทสอง” หรือ “กะเทย” เพราะความคิดเรื่องระบบเพศสภาพทำให้เชื่อว่ามี “สาวประเภทหนึ่ง” อยู่แล้ว (คือถูกจัดให้เป็นหญิงอย่างชอบธรรม เพราะมีอวัยวะเพศหญิงและแสดงออกตามแบบแผนที่สังคมกำหนด ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้หญิงที่ถูกจัดว่าเป็นประเภทที่หนึ่งนั้นอาจจะไม่มีอยู่หรือมีน้อยเหลือเกิน)

การที่ “สาวประเภทหนึ่ง” ไม่สามารถจะมี หรือแสดงลักษณะความเป็นหญิงได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความขาดทางกายภาพ (หน้าตาไม่สวย รูปร่างไม่ดี) หรือเพราะความไม่พอใจกับลักษณะดังกล่าว สาวประเภทหนึ่งจึงหลีกเลี่ยงที่จะทำตัวเป็นผู้หญิง ขณะที่ “สาวประเภทสอง” นั้นอยากจะเป็นผู้หญิง ก็เลยรับเอาลักษณะที่ถูกจัดว่าเป็นหญิง โดยเฉพาะท่าทางการแสดงออกและการดูแลร่างกาย ที่สาวประเภทหนึ่งออกจะขาดๆ เกินๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้หญิง (ซึ่งสาวประเภทสองมีคุณสมบัติทั้งรูปลักษณ์และการแสดงออกได้ดีกว่าผู้หญิงจริง ๆ)

การแสดงออกและพยายามจะเป็นผู้หญิงของกะเทยหลายๆ คน จึงเป็นทั้งขบถของระบบเพศสภาพ และเป็นผู้รักษาระบบเพศสภาพให้ดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กัน
แต่การ “แตกแถว” ต่อระบบความเชื่อใด ๆ มักจะนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามเอากับ “จำเลย” ในเรื่องนั้น ๆ เสมอ การแต่งตัวด้วยชุดนักศึกษาหญิงของกะเทยหลาย ๆ คนในสังคมไทยขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน

ศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ หัวข้อ “สิทธิและบทบาทของกะเทย : สังคมยอมรับเพียงใด” โดยเก็บข้อมูลจากการสุ่มตัวอย่าง ๑,๔๙๐ คน แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ ๔๑.๓ เพศหญิงร้อยละ ๕๕ กะเทยร้อยละ ๒.๘ และอื่น ๆ เช่น ทอม ดี้ ร้อยละ ๐.๘

กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิทธิของกะเทยหลายประการ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๗๗.๓) เห็นว่ากะเทยควรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเมื่อถูกข่มขืน ส่วนสิทธิเรื่องการจดทะเบียนสมรสนั้น ร้อยละ ๕๐.๕ เห็นว่าควรได้รับ ขณะที่ร้อยละ ๔๙.๕ เห็นว่าไม่ควรได้รับ

สิทธิที่กะเทยไม่ควรได้รับ เช่น ร้อยละ ๗๑.๑ เห็นว่าไม่ควรใช้คำนำหน้านามว่า เด็กหญิง นาง นางสาว, ร้อยละ ๖๔.๒ เห็นว่าไม่ควรใช้ห้องน้ำผู้หญิง และร้อยละ ๕๓.๓ เห็นว่าไม่ควรให้แต่งชุดนักเรียน นักศึกษาหญิง

นอกจากนี้บทบาทของกะเทยที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดถึงร้อยละ ๙๓.๗ คือการทำงานด้านการบันเทิง รองลงมาร้อยละ ๗๐.๔ คือการเป็นครูอาจารย์ ร้อยละ ๖๖.๙ คือเป็นแพทย์ ร้อยละ ๖๖.๖ คือเป็นผู้บริหาร ร้อยละ ๖๕.๘ คือเป็นพยาบาล และร้อยละ ๖๒.๙ ทำงานที่แสดงออกโดยการแต่งกายเย้ายวนอารมณ์

บทบาทที่กลุ่มตัวอย่างไม่ยอมรับมากที่สุดคือ การเป็นรัฐมนตรี (ร้อยละ ๖๑.๙) รองลงมาคือการเป็นนักการเมือง (ร้อยละ ๕๖.๗)
ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของกลุ่มเพศที่สาม ร้อยละ ๖๖.๑ เห็นว่า ควรแก้ไขเพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีเพียงร้อยละ ๒๖.๙ เท่านั้นเห็นว่าไม่ควรแก้ไข เพราะจะทำให้เกิดความสับสนทางสังคมมากขึ้น

แม้ว่าปรากฏการณ์ที่บรรดากะเทยสามารถแต่งชุดนักศึกษาหญิงมาเรียนในสถานศึกษาได้นี้ จะไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดว่า เส้นแบ่งของความเป็น ชาย-หญิงในระบบเพศสภาพถูกสั่นคลอนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง หรือความเชื่อเรื่อง “ระบบเพศสภาพ” ของสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้เห็นว่า คนที่ยืนอยู่คนละฝั่งมีทัศนะต่อเรื่องนี้ต่างกันอย่างไร