สนับสนุน

 

วาย
นักศึกษาชั้นปีที่ ๔
ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

✢ กระเทยที่แต่งชุดนักศึกษาหญิง มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสถาบันอื่น ๆ

✢ สิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และไม่ได้ทำให้สังคม ถึงกับพังพินาศ

……….

“ปัจจุบันคนยอมรับว่าการเป็นกะเทยถือเป็นเรื่องปรกติ ไม่ได้เป็นโรคจิต วิกลจริต และการแต่งชุดนักศึกษาหญิงก็มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือสถาบันอื่น ๆ สังคมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิด การแต่งกายก็เป็นสิ่งสมมุติอย่างหนึ่ง ซึ่งสังคมเคยวางไว้ว่า ผู้หญิงแต่งชุดอย่างนั้น ผู้ชายแต่งชุดอย่างนี้ จึงจะเหมาะสมกับเพศและสรีรวิทยา แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความคิดต่อเรื่องหนึ่งจึงไม่ได้คงที่ตายตัว การมีคนยอมรับและเข้าใจปรากฏการณ์นี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องฮือฮา เพราะมันเป็นไปตามวิวัฒนาการของสังคม ดังนั้นจากเรื่องธรรมดาแล้วธรรมดาอีก อยู่ ๆ ก็มีคนมาทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา มันเหมือนกับว่าเราผิดนะ อยากจะให้คนในสังคมคิดว่า มันไม่ใช่สิ่งที่แปลก มีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยืนหยัดทำแบบนี้โดยไม่สนใจอะไร

“ก่อนจะแต่งชุดนักศึกษาหญิง เรามองและคิดว่าสังคมที่เราอยู่รับได้ขนาดไหน ไม่ใช่นึกอย่างแต่งก็จะแต่ง ต้องดูความเหมาะสมทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือตัวเราเอง แต่งอย่างไรให้เรียบร้อย ไม่น่าเกลียด ไม่ใช่กลายเป็นตัวตลกให้คนอื่นหัวเราะเยาะ และครอบครัวเรายอมรับได้มากน้อยขนาดไหน ส่วนตัวแล้ว ที่บ้านก็ไม่ได้ห้ามแต่เขาก็ไม่ได้ส่งเสริม เพียงแต่ตักเตือนเรื่องความเหมาะสมในบางครั้งเท่านั้น เขาจะบอกว่า เรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เพราะบรรลุนิติภาวะและเป็นผู้ใหญ่พอที่จะเรียนรู้กับภาวะสังคมด้วยตัวเองได้แล้ว

“ธรรมศาสตร์เป็นดินแดนที่พอจะรับเราได้ในระดับหนึ่ง ตราบใดที่เราไม่ได้ทำผิดกฎของมหาวิทยาลัย เราก็คิดว่าแต่งแล้วผิดกฎระเบียบไหม เหมาะสมหรือไม่ มีส่วนที่เอื้ออำนวยที่จะสามารถแต่งได้หรือเปล่า การที่รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ หรืออธิการบดีธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้มันเกิดขึ้น อาจารย์กำลังบอกว่า ท่านเคารพในสิทธิ์ของนักศึกษา ซึ่งมันก็เป็นกรอบให้เราใช้วิจารณญาณของตัวเอง ในการที่จะตระหนักถึงความเหมาะสม ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เหมือนเป็นเงื่อนไขและแรงจูงใจให้ตัดสินใจว่าเราควรจะแต่งหรือไม่ ทุกคนต่างรักสถาบันของตนเอง หากสิ่งที่เราทำ ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย เราคงไม่ทำ

“ตอนแรกก็มีเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างว่า แต่งตัวแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เราก็ต้องคิดเอง ว่าทำอย่างไรให้เราอยู่ได้อย่างเหมาะสมที่สุดและตัวเรามีความสุข ทำในสิ่งที่คิดว่ามันคือตัวของเราเอง โดยที่ให้ความสุขหรือความต้องการนั้นสอดคล้องกับความเหมาะสม ไม่สร้างผลกระทบหรือก่อความเสียหายให้แก่สังคมโดยรวม ในความเป็นกะเทยซึ่งธรรมชาติของเราเป็นอย่างนี้ เราคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และไม่ได้ทำให้สังคมถึงกับพังพินาศ

“แต่งตัวอย่างนี้แล้วปัญหาจะมีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับสามัญสำนึกของคนที่แต่งเอง เช่น ในการไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ เพื่อให้ได้รับความสะดวกและไม่มีปัญหา เราก็รู้ว่าควรแต่งตัวอย่างไร ทุกอย่างมันอยู่ที่กาลเทศะ อะไรคือความเหมาะสมของชุดนักศึกษา ก็ไม่มีกฎตายตัว เช่น นักศึกษาสัดส่วนหน้าอก ๓๒ นิ้ว ก็ไม่ได้มีกฎว่าต้องสวมเสื้อเบอร์ S หน้าอก ๓๐ นิ้วสวมเสื้อเบอร์ SS ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน เราต้องถามตัวเองว่าในแต่ละสถานการณ์เราจะยืนอยู่ตรงไหน เช่น เมื่อต้องเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย เราปฏิเสธชีวิตตัวเองไม่ได้ เราเป็นผู้ชายก็ต้องทำหน้าที่ของผู้ชาย ดังนั้นถ้าถามว่ากะเทยจะไปยืนอยู่ ณ จุดไหนในสังคม มันขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่ามีวิจารณญาณมากแค่ไหน

“การที่อาจารย์บางท่านในบางสถาบันอ้างว่า ชุดนักศึกษาเป็นชุดพระราชทาน ห้ามกะเทยแต่งเพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกับชุดพระราชทานนั้น อาจารย์กำลังหลงประเด็นหรือเปล่า ทำไมไม่มองไปที่แก่นของการแต่งชุดนักศึกษา ว่าควรแต่งตัวอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเอง ไปกันได้กับสังคมที่เราอยู่จะดีกว่าไหม

“สิ่งที่อาจารย์บางท่านกล่าวว่าอยากให้เด็กอยู่ในระเบียบ ทำตามกฎ เราเข้าใจ แต่การกล่าวว่าอาจารย์ธรรมศาสตร์ควรลงมาดูแลนักศึกษาบ้าง ไม่ใช่สักแต่สอนนั้น มันแรงไปนิดหนึ่งหรือเปล่าคะ เราพูดอย่างเต็มปากว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประชาชนแห่งนี้ไม่ได้สักแต่สอนนะคะ ท่านสอนและเน้นย้ำเรื่องการเป็นคนดีของสังคม การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร สอนว่าอะไรถูก อะไรผิด แล้วให้กลับเอาไปคิด ศึกษาเรียนรู้แก้ไขด้วยตัวเอง หากเอาแต่เป็นผู้ตาม ไม่คิดเองบ้าง ก็จะเป็นอย่างบทกวีที่ว่า “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไว้มากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

“เรื่องของการสมัครเข้าทำงานในปัจจุบัน ประเทศไทยน่าจะมีความเท่าเทียมได้แล้ว กฎหมายของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เขามีการคุ้มครองแรงงานอย่างเข้มงวด กะเทย เกย์ หรือทอม จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ให้ถูกกีดกันเข้าทำงานโดยไม่มีเหตุผล ในประเทศไทย ที่ทำงานบางแห่งกีดกันเกย์ หรือกะเทยเข้าทำงาน เพราะกฎหมายแรงงานยังไม่ได้คุ้มครองมาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางสังคม กฎหมายเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้หลาย ๆ เรื่อง กรณีที่กะเทย เกย์ ทอม ฯลฯ ถูกกีดกันเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน คิดว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดความเสมอภาคมากขึ้น

“การที่เด็กจะเลียนแบบใครนั้น ไม่ได้เกิดจากการเห็นคนอื่นทำเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ทางสังคม ปัจจัยภายใน บุคลิกภาพ ค่านิยม ขั้นตอนของพัฒนาการตามวัย ฯลฯ และประกอบกับมีมูลเหตุ มีแรงจูงใจที่จะทำ ปัจจัยทางครอบครัวและแรงเสริมจากสังคมของเขา ก็มีส่วนที่จะทำให้เขาเลียนแบบหรือไม่เลียนแบบใคร คิดอีกมุมหนึ่ง หากเด็กต้องเก็บกดพฤติกรรมที่อยากมีอยากเป็น เพราะกลัวพ่อแม่รู้ กลัวสังคมจะรับไม่ได้ โดยที่ความรู้สึกนั้นไม่ได้หายไป แต่ถูกเก็บไว้เบื้องลึกของจิตใจ ต่อหน้าพ่อแม่เป็นอย่างหนึ่ง อยู่โรงเรียนอยู่กับเพื่อนเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว และหากการเก็บกดนั้นเกิดระเบิดขึ้นมา เด็กหาทางออกอย่างอื่นที่ไม่ถูกไม่ควร เช่นฆ่าตัวตาย จะไม่แย่ไปกันใหญ่หรือ หากเราเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ยอมรับและเข้าในสิ่งที่ลูกเป็น และดูแลให้อยู่ในความเหมาะสม การแต่งหญิงหรือแต่งชายนั้น จะเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ ก็ลองคิดกันดู”

คัดค้าน

 

รองศาสตราจารย์วัชรี ทรัพย์มี
รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะจิตวิทยา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

✢ไม่เห็นด้วยกับกรณีนักศึกษาชาย สวมชุดนักศึกษาหญิง เพราะจะทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ประเด็นสำคัญ คือไม่เหมาะสม

✢ เมื่อยังอยู่ในสังคม ซึ่งมีกฎระเบียบ เราต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม

✢ เราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ แต่เสรีภาพทั้งหลายทั้งปวง ต้องมีขอบเขต.

.

……….

“ดิฉันไม่เห็นด้วยกับกรณีนักศึกษาชายสวมชุดนักศึกษาหญิง เพราะจะทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา แม้จะไม่มากมาย แต่ประเด็นสำคัญคือความไม่เหมาะสม ในเมื่อสามารถสอบเข้าสถานศึกษา มาได้ด้วยการใช้คำนำหน้าชื่อว่านาย ก็ควรจะแต่งตัวเป็นผู้ชายต่อไป ไม่ใช่ว่ามาแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่งหน้าทาปาก เดินก้นบิดก้นเบี้ยวอยู่ในมหาวิทยาลัย ขณะยังอยู่ในสถาบันการศึกษา ก็ควรปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบ ส่วนเวลาที่พ้นไปจากรั้วมหาวิทยาลัย จะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมาย ก็เป็นสิทธิของเขา

“แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่หากปล่อยให้นักศึกษาที่เป็นกะเทย แต่งตัวอย่างนี้ได้ต่อไป จะทำให้เกิดการทำตามอย่างกัน พอรุ่นพี่แต่งตัวตามใจชอบได้ รุ่นน้องก็แต่งบ้าง ยิ่งสมัยนี้กะเทยเฟื่องฟู รายการทางโทรทัศน์ก็ชอบแต่งตัวผู้ชายเป็นกะเทยแล้วแสดงตลก ในโรงเรียนเอง เวลามีงานการแสดงครูก็มักจะเอาพวกกะเทยมาแต่งตัวเป็นผู้หญิง แม้จะทำให้งานสนุก แต่มันไม่ดี เพราะเท่ากับว่าไปส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้เป็นเรื่องธรรมดาขึ้นไปอีก

“ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาชายแต่งตัวเป็นนักศึกษาหญิง เช่น ขณะไปติดต่อราชการ ลงทะเบียนเรียน เจ้าหน้าที่อาจแยกไม่ออก ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ครั้งหนึ่งดิฉันเข้าใจผิดคิดว่านักศึกษาที่มาติดต่อเป็นผู้หญิง จึงบอกเขาว่า ผู้หญิงต้องติดต่อทางโน้น ก็ปรากฏว่าเป็นผู้ชาย อย่างนี้เป็นต้น และแม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยจะยอมรับ และเข้าใจคนที่มีพฤติกรรมผิดเพศมากขึ้น แต่การปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ จะเกิดปัญหาต่อนักศึกษาเองได้ในอนาคต เมื่อจบจากสถาบันการศึกษานั้นไป บางคนเรียนครูมา พอเรียนจบก็คงไม่สามารถไปประกอบอาชีพครูได้ เพราะเป็นครูจะมาแต่งตัวผิดเพศไม่ได้ สังคมภายนอกมีทั้งคนยอมรับ และคนที่ไม่เข้าใจกะเทย ถ้าจบออกไปแล้วยังแต่งตัวอย่างนี้ใครจะเข้าใจ ใครจะให้อภัย เห็นอกเห็นใจ บางคนอาจสามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างเจริญรุ่งเรือง แต่ที่ทำงานบางแห่งก็ไม่ยอมรับเข้าทำงาน ถ้าปล่อยให้นักศึกษาแต่งตัวอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไป หากปรับตัวไม่ได้ในอนาคต มันถึงเกิดกลุ่ม supporting group คือกลุ่มที่คนที่มีปัญหามารวมตัวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจ ปรับทุกข์กันขึ้น

“การแต่งตัวเป็นผู้หญิง ก็คือการแสดงออกในเพศที่เขาต้องการอย่างหนึ่ง สนองในสิ่งที่เขาไม่อาจเป็นได้ในชีวิตจริง แต่สถาบันการศึกษาของประเทศไทย มีเครื่องแบบที่กำหนดไว้ตั้งแต่ชั้นประถม และมัธยมแล้ว ระดับอุดมศึกษาก็เช่นกัน เมื่อเราอยู่ในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งก็มีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแบบอยู่แล้วว่า นักศึกษาชายแต่งตัวอย่างนั้น นักศึกษาหญิงแต่งอย่างนี้ ก็ต้องแต่งตัวตามระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีระเบียบของนักศึกษาชัดเจน และเราก็พยายามจะให้อาจารย์เตือนลูกศิษย์ในเรื่องนี้ด้วย นักศึกษาที่แต่งตัวไม่สุภาพ หรือแต่งตัวผิดเพศ เราก็ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตอนมาสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย ยังทำตัวเป็นผู้ชายแท้ ๆ ได้ พอเข้ามาแล้วทำไมถึงควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาก็รู้ว่าระเบียบของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องควบคุมตัวเองต่อไปได้ให้ได้ แต่ถ้าพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาจะแต่งตัวอย่างไรมันก็เรื่องของเขา ในวัน ๆ หนึ่งมาเข้าเรียน ฟังเล็กเชอร์ มาเข้าห้องสมุด เพียงไม่กี่ชั่วโมง การแต่งตัวตามระเบียบไม่ถึงกับทำให้ตาย

“ถ้าเพียงแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย หลุดจากรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว จะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่มีใครตามไปควบคุม แต่อยู่ในมหาวิทยาลัยต้องหักห้ามจิตใจให้ได้ อีกหนึ่งปีสองปีก็จะจบแล้ว เราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ แต่เสรีภาพทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ต้องมีขอบเขต มีข้อจำกัด เมื่อเรายังอยู่ในสังคมซึ่งมีกฎระเบียบ เราต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

“การให้สิทธิให้นักศึกษาคิดเองว่าจะแต่งหรือไม่แต่ง ไม่ถือว่าเป็นการลองผิดลองถูกหรือเรียนรู้เอง หากกฎระเบียบที่ตั้งไว้มันดีอยู่แล้ว นักศึกษาควรปฏิบัติตาม ถ้าเห็นนักศึกษาทำผิด ครูบาอาจารย์ต้องว่ากล่าวตักเตือน สถาบันที่มีนักศึกษาแต่งตัวไม่สุภาพเรียบร้อย ก็สะท้อนว่าครูบาอาจารย์ไปไหนกันหมด ไม่มาดูแลลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ ตอนที่ดิฉันยังทำงานอยู่ที่ศูนย์ให้การปรึกษาของมหาวิทยาลัย เคยเจอนักศึกษาชายสองคนที่แต่งชุดนักศึกษาหญิง อาจารย์ของเขาก็ส่งมาคุยกับดิฉัน พอคุยกันไปก็ทราบว่า เขาไม่ได้อยากจะทำ แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ พออธิบายให้เขาฟังว่ามันไม่เหมาะสมอย่างไร การแต่งตัวเช่นนี้ อาจส่งผลต่อเขาอย่างไรในอนาคต เขาก็เข้าใจและเลิกแต่งตัวอย่างนั้นในที่สุด

“มหาวิทยาลัยต่างประเทศ นักศึกษาไม่ต้องแต่งเครื่องแบบก็จริง แต่จะเอามาเปรียบเทียบกับบ้านเราไม่ได้ การแต่งเครื่องแบบเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาเอง เพราะขณะที่ยังอยู่ในชุดนักศึกษา เวลาคิดจะทำเรื่องไม่เหมาะสม เช่นไปกินเหล้าเมายา ก็จะทำให้ฉุกคิดว่าเรายังสวมชุดนักศึกษาอยู่ ก่อนทำอะไรก็จะคิดมากขึ้น อีกอย่างเป็นการประหยัดด้วย มีชุดนักศึกษาแค่สามชุดก็ใส่ได้ทั้งปี แต่ถ้าเราแต่งตัวตามใจชอบ จะมีแค่สามชุดไม่ได้ แฟชั่นเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้สิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ การใส่ชุดนักศึกษาจึงดีกว่ามาก อย่างที่จุฬา ฯ ถ้าสวมรองเท้าสีขาวก็รู้เลยว่าอยู่ปี ๑ ฝรั่งมังค่ามาเที่ยวเมืองไทยก็ได้จะเห็นว่า นักศึกษาไทยสวมเครื่องแบบ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ

“อย่างไรก็ตามเราควรจะยอมรับและเห็นใจคนที่มีความผิดปรกติ โดยเฉพาะความผิดปรกตินั้น เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่ควรจะไปรังเกียจอะไรเขา เพราะจริง ๆ แล้วเขาก็มีปมด้อยและก็ตระหนักอยู่ในใจว่าเขาไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ครูเองก็ไม่ได้รังเกียจว่าลูกศิษย์คนนี้เป็นกะเทย เพียงแต่นักศึกษาที่เป็นอย่างนี้ ในขณะที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ขอให้สวมเครื่องแบบตามปรกติ ควรจะอดใจสักนิดในช่วงที่อยู่ในอาณาจักรของมหาวิทยาลัย แต่พ้นไปจากมหาวิทยาลัยแล้วจะทำอะไรก็ไม่มีใคร

.