ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
 ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

 

เราพูดกันมาเยอะแล้วว่าสื่อควรมีบทบาทอย่างไรในสังคม ก่อนหน้านั้นสื่อมีปัญหาถูกรัฐใช้อำนาจในการปิดกั้น ปัจจุบันปัญหานี้ค่อนข้างลดลง แต่เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่า คือรัฐกับทุนเข้ามาบวกกัน ผลก็คือ ทุนกลายเป็นตัวสำคัญกว่า อำนาจมันลึกลับซับซ้อนมากกว่ารัฐเสียอีก คือไม่ใช้อำนาจดิบเข้าไปปิดหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่ใช้วิธีการเข้าไปควบคุมสื่อด้วยวิธีที่แยบยลหลายอย่างด้วยกัน ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสื่อทั้งโลกเวลานี้ คือการที่ทุนเข้าไปครอบงำสื่อ จนกระทั่งสื่อไม่สามารถทำตัวเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านเพียงพอแก่ประชาชนได้อีกต่อไป

มันคงเกิดขึ้นเมื่อไม่เกิน ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง อย่างอเมริกานี่เห็นชัดเลย กฎหมายที่เคยใช้ควบคุมไม่ให้ทุนเข้าไปผูกขาดควบคุมสื่อ ค่อยๆ ทลายตัวลงไป เช่นกฎหมายห้ามข้ามสื่อก็ถูกเลิกล้มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายอย่างนี้ด้วยซ้ำไป เคยมีแต่นโยบายว่าไม่อยากจะให้มีการข้ามสื่อ แต่พอเปิดไอทีวีขึ้นมาก็เริ่มมีการข้ามสื่อแล้ว อาร์เอส แกรมมี่ ไม่ได้ข้ามไปเป็นเจ้าของสื่อ แต่ข้ามไปเป็นเจ้าของเวลา ขายเพลงตัวเองเป็นชั่วโมงๆ แล้วเราทุกคนก็ต้องฟัง เรียกว่ามันทำลายความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการทำงานดนตรีไปเลย

ทางออกของเรื่องนี้คือ ผมคิดว่าเราต้องห้ามไม่ให้มีการข้ามสื่อ เช่น ใช้การออกกฎหมาย อีกสิ่งที่จะต่อสู้ได้คือ พลังของการรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้สังคมเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกครอบงำโดยทุน ก็ต้องมีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น มันคงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องมีคนทำ ทำทุกอย่าง นับตั้งแต่การศึกษา ทำในห้องเรียน จนถึงทำสื่ออีกชนิดหนึ่ง คือสื่อที่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์โดยตรง เช่นพวกบุ๊กรีวิวทั้งหลาย เป็นต้น ผมคิดว่าในเมืองไทยยังไม่มีหนังสือหรือวารสารวิจารณ์หนังสือจริงๆ เลย เราเคยมี โลกหนังสือ แต่มันก็ไม่ได้เป็นวารสารแบบ แซทเทอร์เดย์รีวิว เราจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มพลังการวิจารณ์ ไม่ว่าวิจารณ์เพลง วิจารณ์หนังสือต่างๆ ออกมาให้มากขึ้น

มันมีการทดลองบางอย่างที่ยังไปไม่ถึงไหนเราก็เลิกกันเสียก่อน เช่น ตอนเปิดไอทีวี เราทดลองว่าจะไม่ยอมให้มีใครถือหุ้นเกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อไม่ให้คนใดคนหนึ่งครอบงำสื่อไอทีวีได้ แต่ยังไปไม่ทันถึงไหนเราก็ปล่อยให้มีการขายหุ้นเป็นล็อตใหญ่ ๆ ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ให้แก่บางบริษัทไปแล้ว โดยอ้างว่าการทำธุรกิจแบบนี้จะให้ทุกคนถือหุ้นเล็กหมดโดยไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีแต่จะขาดทุน เพราะไม่มีใครรับผิดชอบจริงๆ เรายังไม่ได้ศึกษาเลยว่า ถ้ากระจายการถือหุ้นแล้วจ้างคนที่มีความสามารถมาบริหารให้เกิดกำไร มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้

เวลานี้สิ่งที่คุณทักษิณไม่พูดถึงเลย คือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเกิดขึ้นและกระจายออกไปทั่วโลกจำนวนมากพอสมควร ซีอีโอทั้งหลายก็ไม่เคยพูดถึง ทั้งที่มันเป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ในบ้านเราต้องขอยกตัวอย่างสำนักข่าวประชาธรรม เราจดทะเบียนเป็นบริษัทและทำงานในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจ แต่นอกจากคนทำงานจริงๆ แล้ว ไม่มีกรรมการคนไหนได้เงินเดือนสักคน ทุกคนทำงานฟรี แต่คนที่เราจ้างเขามาทำข่าว เราต้องจ่ายเขา เมื่อเราได้กำไร เราก็จะทบกลับไปลงทุนเพิ่ม ไม่เคยเอากำไรมาแบ่งกัน

ทางออกที่พอจะมองเห็นอีกทางก็คือ เราน่าจะหันมามองสื่อทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน ฯลฯ ให้มากขึ้น แล้วใช้เป็นพลังในการถ่วงดุลกับสื่อกระแสหลักทั้งหลาย เวลานี้สื่ออินเทอร์เน็ตในเมืองไทยยังค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะคนไทยยังใช้เพียง ๑-๒ ล้านคน แต่มันคงเพิ่มขึ้นภายหน้า ถ้าเราดูทั้งโลกก็จะพบว่า พวกแอ็กติวิสทั้งหลายซึ่งถูกห้ามไม่ให้สื่อสารผ่านสื่อ ถูกสื่อกระแสหลักบล็อกเอาไว้ เขาก็ไปโผล่ทางอินเทอร์เน็ต ใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ความคิดและข้อมูลของฝ่ายตัวเองแทน ซึ่งก็ได้ผลพอสมควรทีเดียว

อะไรที่มันเล็กๆ ผมว่ามันอยู่รอดง่าย สารคดี เองก็ไม่ได้ใหญ่และอยู่รอดได้แล้วใช่หรือไม่ เพราะว่าโฆษณาของ สารคดี ไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลจะชอบขี้หน้าหรือไม่ชอบขี้หน้าคุณ คุณก็ยังได้โฆษณาเท่าเดิม ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บางฉบับที่โฆษณาจำนวนมากมาจากรัฐวิสาหกิจ มาจากบริษัทในเครือข่ายของคณะรัฐมนตรี จะโดนบีบได้ง่าย เขาถอนโฆษณาออกคุณก็หน้าซีดแล้ว แต่ สารคดี หลังจาก ๒๐ ปีผ่านไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ผมอ่าน สารคดี มา ๑๐ กว่าปีแล้ว จำได้ว่าสมัยแรกๆ ผมเรียกว่าเป็นความรู้ในวงเหล้า เช่น แชมพูทำงานอย่างไรกับผมเรา ก็ดี เป็นความรู้ที่น่าสนใจ แต่เอาไปใช้ในวงเหล้า จะไม่หนักเท่า สารคดี ในยุคปัจจุบัน ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่า สารคดี ในยุคหลังๆ บางเรื่องผมดูหน้าปกแล้ว เฮ้อ เรื่องนี้ไม่น่าสนใจเลย แต่พออ่านก็มีมุมที่เราไม่เคยคิดถึง ไม่คิดมาก่อน เช่น เรื่องภูกระดึง ใครๆ ก็พูดจนเบื่อ แต่พอมาอ่าน เฮ้ย ไม่เลวโว้ย

สารคดี ผ่านช่วงแสวงหาจนเจอจุดยืนที่ตลาดรับ มันถึงขายออก กว่าจะเจอจุดยืนอันนี้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้การลงทุนไปพอสมควร ผมว่าอย่าทิ้งจุดขายนี้ง่ายๆ จะปรับปรุงอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องไม่กระทบตัวจุดขาย หนังสืออย่างนี้ทำยากมาก ทำได้แค่นี้ผมก็ชื่นชมมากแล้ว ต้องถือว่า สารคดี ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ แต่พวกคุณเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

พระไพศาล วิศาโล พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทองและมูลนิธิสุขภาพไทย นอกจากงานเผยแผ่ธรรมะแล้ว ยังมีผลงานเขียนและแปลหนังสือด้วย

 

ติดตามอ่าน สารคดี มาตั้งแต่ฉบับแรก หน้าปกเป็นรูปพลุ ขณะนั้นอาตมาบวชแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังอ่านอยู่

พัฒนาการของ สารคดี เกี่ยวข้องกับบุคลิกของบรรณาธิการด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงที่คุณวันชัยเป็นบรรณาธิการ สารคดี จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก นอกจากนั้นยังเสนอปัญหาเกี่ยวกับผู้ยากไร้ในสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล เช่น เรื่องเขื่อนปากมูล กรณี ๖ ตุลา พฤษภาทมิฬ หรือกรณีปัญหาคนกะเหรี่ยงที่ได้รับสารพิษจากห้วยคลิตี้ นี่เป็นลักษณะเด่นของ สารคดี คือการสะท้อนหรือตีแผ่ความจริงด้านที่เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งหนังสือประเภทสารคดีส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยพูดเรื่องนี้เท่าไหร่ คือไม่อยากเอาเรื่องที่ไม่ดีไม่งามหรือเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาพูด

ความจริงมีอยู่สามระดับ คือความจริงที่น่ารู้ ความจริงที่ควรรู้ และความจริงที่ต้องรู้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยอีกมุมหนึ่งของประเทศที่ สารคดี นำมาเสนอ เป็นเรื่องที่คนไทยไม่ใช่ควรรู้ แต่ต้องรู้เลย เพราะไม่งั้นสังคมไทยจะมีช่องว่างห่างขึ้นเรื่อยๆ

บทบาทของสื่อมวลชนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะทำให้ช่องว่างของสังคมไทยยิ่งถ่างออก เพราะว่าสื่อมวลชนเวลานี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาภายใต้ระบบบริโภคนิยม แล้วบริษัทโฆษณาเหล่านี้เขาก็ต้องสนับสนุนสื่อมวลชนที่มีเรตติ้งสูง คนอ่านมาก สื่อที่มีคนอ่านมากเป็นสื่อที่เน้นความบันเทิง สร้างฝัน หรือไม่ก็มีแต่เรื่องราวภายในแวดวงของคนชั้นกลางที่มีอำนาจการซื้อสูง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสพ การบริโภค กิน เที่ยว ชอปปิง หรือเรื่องเซ็กซ์ สื่อแบบนี้ขายดี แต่มันจะทำให้ผู้อ่านอยู่ในโลกแคบๆ ของตัวเอง โลกของคนชั้นกลางเป็นโลกที่ฝัน เพราะมันห่างเหินจากความเป็นจริง

เวลานี้สื่อมวลชน (นิตยสาร, โทรทัศน์) มีหน้าที่ดึงคนให้มาอ่าน มาดู และรับรู้โฆษณาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พูดอย่างไม่เกรงใจ รายการและเนื้อหาต่างๆ ที่เสนอทางสื่อ ส่วนใหญ่คือเหยื่อล่อให้คนดูคนอ่านมาสัมผัสกับโฆษณา พูดง่ายๆ เวลานี้สื่อมวลชนไม่ได้ขายเนื้อหา ไม่ขายรายการ แต่ขายผู้อ่านผู้ดูให้แก่เจ้าของสินค้า

สารคดี ควรยืนหยัดในการนำเสนอหรือตีแผ่ปัญหาที่เกิดในสังคมไทย ไม่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการทำลายป่า ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน หรือผลกระทบจากนโยบายที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล เพื่อที่จะได้ร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป และทำให้เราเกิดจิตสำนึกของความเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินหรือเพื่อนร่วมโลก

สารคดี มีจุดเด่นประการหนึ่ง คือเอาเรื่องของคนเล็กๆ ในสังคมไทยมาพูด และชี้ให้เห็นว่าเขาสามารถทำอะไรต่ออะไรได้มากมายจากจุดที่ตัวเองอยู่ เช่น นายดาบตำรวจที่ปลูกต้นไม้ ๒ ล้านต้นตลอด ๑๕ ปีที่ผ่านมา บางครั้ง สารคดี ก็เอาความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์คนไทยมาพูด อ่านแล้วเห็นเลยว่าหากเรามีความอุตสาหะแล้ว ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้แก่โลกได้ บางคนก็สร้างตัวขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่เจอกับอุปสรรคมากมายแต่ก็ไม่ยอมแพ้ เรื่องราวเหล่านี้แฝงคติธรรมไว้ไม่น้อย และสำคัญด้วย โดยเฉพาะในยุคที่คนเอาแต่บริโภค กลัวสิ่งยาก ไม่สู้งานหนัก อยากให้ สารคดี ทำตรงนี้ต่อไปให้มากๆ หากมีทุกฉบับยิ่งดี ช่วยขุดคุ้ยคนดีขึ้นมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับรู้ เป็นการเสริมด้านบวกและสร้างทางออกให้แก่ผู้คน นอกเหนือจากการพูดถึงปัญหาสังคมซึ่งเป็นด้านลบ