บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี และประธานกรรมการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดีแทค บุญชัย เบญจรงคกุล

 

ผมเริ่มอ่าน สารคดี สักสิบกว่าปีที่แล้ว บอกแผงหนังสือแถวบ้านไว้ว่า อันนี้ต้องเป็นสมาชิกนะ เพราะผมไม่อยากตกรถ ที่หยิบ สารคดี มาอ่าน เพราะชอบสัตว์ป่า ตอนเด็กๆ เคยอยากเป็นนายพราน แต่พอโตขึ้น หลายอย่างก็สอนให้รู้ว่ามันเป็นการไปดึงชีวิตที่เขาหวงเหมือนเรา การดูอะไรผ่านกล้องเล็งที่ติดปืน เราจะไม่เห็นว่าเขามีชีวิต เมื่อก่อนไม่มีหนังสือที่พูดถึงชีวิตสัตว์ป่านอกจาก สารคดี พอได้อ่านก็เห็นว่า…เฮ้ย มันมีมากกว่าเรื่องสัตว์ป่า มันมีเรื่องชีวิต ผู้คน เรื่องศิลปะที่ผมชอบ เรื่องนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ ฯลฯ เฮโลสาระพาก็อ่าน ผมเคยพยายามจะตอบปัญหา “หมูอมตะ” นะ (หัวเราะ) แต่ไม่เคยตอบได้ ยากจริง ๆ แต่ก็ลับสมองดี

ผมเป็นประธานมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ต้องเดินทางไปเยี่ยมเยาวชนในโครงการ ๗๖ จังหวัด ผมจึงมักจะได้อ่าน สารคดี ในรถ ในรถจะมีหนังสือตั้งหนึ่ง เราต้องเป็นคนรู้เกือบทุกเรื่อง จะได้คุยกับคนได้ทุกจังหวัด ไม่ใช่มองหน้ากัน คุยเป็นแต่เรื่องเซลลูลาร์ ถ้าเราคุยถึงปัญหาของเขาได้ เขาจะเป็นเพื่อนเราได้เร็วขึ้น

เล่มที่อยู่ในรถตอนนี้ก็มีเรื่องปอเนาะ ผมกำลังจะลงไปสร้างโรงเรียนสอนศาสนาของน้องๆ มุสลิม พอดีกำลังมีปัญหาทางใต้ ก็คิดว่าขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง ทำไมเราไม่นำความรักมาให้กัน เราทำโรงเรียนสอนศาสนา เขาคงไม่มาเผา ผมไม่เคยสร้างโรงเรียนสอนศาสนาให้คนมุสลิม แต่พอได้อ่านเรื่องปอเนาะใน สารคดี ก็ทำให้เราคิดได้ว่าจะไปสร้างอะไร

ในการดำรงชีวิต มีองค์ประกอบมากมายที่เราควรรู้ ผมเองก็มีความเข้าใจสังคมผ่านหนังสือ สารคดี นี่แหละ ได้ข้อคิดและความรู้หลายอย่างที่เราเอาไปขยายความได้ จำไม่ได้ว่าหยิบยืมข้อมูลในนี้ไปเปิดประเด็นกี่ครั้ง เช่นเวลาไปพบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแล้วจะคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม เราควรจะมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจ ไม่ใช่อะไรที่เขาได้ยินจนเบื่อ เรื่องการระเบิดแก่งของแม่น้ำโขงที่ผมหยิบยกมาพูดก็มาจาก สารคดี เจ้าชายญี่ปุ่นมาเมืองไทยปีหนึ่งห้าหกหนเพื่อศึกษาพันธุ์ปลาน้ำจืดอย่างเดียว ถ้าเราจะระเบิดแก่ง แล้วพันธุ์ปลาตั้งหลายชนิดที่เรามีในแม่น้ำโขงล่ะ ? มี สารคดี เล่มหนึ่งที่ผมชอบ กางออกมาแล้วมีรูปปลาตัวเล็กตัวน้อยเต็มไปหมด ผมอยากให้มีรูปลักษณะนี้เยอะ ๆ จะได้เห็นอะไรจะ ๆ

เรื่องการสร้างเขื่อนที่ สารคดี ชอบลง คือประเด็นไม่ให้สร้าง เราฟังเยอะ มันต้องมีคนนำเสนอข้อมูลว่าทำไมไม่อยากให้สร้าง เพราะพวกนี้จะไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยสนใจเรื่องที่เกิดนอกกรุงเทพฯ ไม่ค่อยอยากรับรู้ปัญหา แต่สิ่งนั้นมันเหมือนวันเวลาที่จะล้มมาทับคนกรุงเทพฯ เราควรจะรับรู้หน่อยว่าสิ่งที่เราไม่อยากรู้มันกระทบเรา

หนังสือที่เราเอาเงิน ๙๐ บาทไปแลกมา เขาให้ข้อมูลที่ซื้อ ๙,๐๐๐ ยังคุ้มเลย มันให้คุณค่าตัวเราในสายตาคนที่นั่งคุยกับเราไม่รู้เท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลที่บังเอิญตรงกับวิถีชีวิตของผม เราทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงที่สุด เดี๋ยวนี้ market segment มันย่อยลงไประดับหมู่บ้าน เราต้องเข้าใจคนแต่ละหมู่บ้าน ฉะนั้นต้องมีคนค้นข้อมูลให้เรา ถ้าผมจะไปตั้งแผนกวิจัย ไม่รู้กี่ปีกว่าจะได้เท่ากับทีมงานที่หนังสืออย่าง สารคดี มี ในเมื่อ สารคดี เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ก็มีส่วนที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ ถ้าเรารู้จักใช้ข้อมูลนั้นให้เป็นประโยชน์ในจังหวะที่ถูกต้อง

เป็นเอก รัตนเรือง เป็นเอก รัตนเรือง
ผู้กำกับภาพยนตร์

 

ผมกลับมาจากเมืองนอกตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ รู้จักสารคดีเป็นหนังสือเล่มแรกเลย รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่สวยมาก ชอบการวางเลย์เอาท์ ชอบรูปถ่าย ในยุคนั้นถือว่าเด่นเลย ตอนนั้นผมทำพวกกราฟฟิคดีไซน์ กลับมาไม่มีงานทำ ยังเคยคิดว่าจะไปสมัครงานที่สารคดีเลย จากนั้นก็ติดตามมาเรื่อยๆ

ผมชอบเล่ม ดร. ป๋วย ชอบปก ดร.ป๋วยอยู่ในช็อตสวยๆ ใส่เสื้อ ผูกเนคไท เป็นรูปขาวดำ โทนอ่อนๆ สีเทาๆ ผมไม่ได้เป็นคอการเมือง แต่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ หลายเหตุการณ์ที่ตอนเด็กเราเห็นมัน แต่ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร สารคดีทำให้เรารู้ว่า เออ มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผมจะชอบมากเล่มที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ต่างๆ ปกเสรีไทย, ๑๔ ตุลา, อาจารย์ป๋วย, คุณสืบฯ ฯลฯ ผมมีหมดเลย แต่เล่มที่เป็นแมลงผมก็ไม่ซื้อ รู้ว่ามันต้องมีอะไรดี แต่มันไม่ดึงดูดผมเท่านั้นเอง

สารคดีเป็นหนังสือที่ผมอ่านได้ทุกหน้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากมากในแมกกาซีนปัจจุบัน บางทีไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ แต่พออ่านไปก็มีอะไรให้เราอินกับมันได้ เรื่องที่เขาทำผมเชื่อว่าเขาเอาอยู่ ข้อดีอีกอย่างคือมันลึก และหากคนเขียนไม่ได้มีความคิดเห็นที่มัน radical พอ เขาก็ไม่ออกความเห็น ก็จะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ๆ ไม่ได้เสนอแค่ความจริงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้เขียนหวือหวาว่าตัวฉันรู้สึกอย่างไร ผมโอเคกับเนื้อหามากๆ ถึงจะไม่โอเคกับปกเพราะรู้สึกมันแย่ลงเรื่อยๆ แต่ผมอาจจะชอบสารคดีเป็นการส่วนตัว อาจจะชื่นชมคนกลุ่มนี้ ก็เลยรู้สึกเป็นหนังสือที่เราไว้ใจ เชื่อถือได้ ผมซื้อเพราะเหตุนั้นเลย

ถ้าสารคดีมีอารมณ์ขันหน่อยก็จะดี ปัญหาอีกอย่างคือปก หลายๆ ครั้งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่สารคดีหรือเปล่า แล้วก็หัวสารคดีเนี่ย แต่เมื่อไรจะลงตัวสักที ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่เอาซะทีเถอะอันไหนก็ได้ เปลี่ยนอีกแล้วโว้ย ผมงง

เปรียบเป็นคน มิสเตอร์สารคดีคงเป็นชายอายุประมาณ ๓๐ เจอกันตอนกลางวัน นั่งกินกาแฟและพูดคุยกันยาว เขาคงเป็นนักวิชาการที่คุยสนุกเพราะมันรู้มาก รู้เยอะ ไม่ได้โม้ และทุกเรื่องที่มันรู้มันคุยสนุก แต่คงไม่ใช่คนที่อยากผมอยากเจอบ่อยๆ แค่เดือนละครั้งก็พอ

ไม่รู้ว่าแก่หรือเปล่า แต่สารคดีเป็นผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติแต่เราต้องระวัง ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเกิดจากเราต้องการเปลี่ยนจริงๆ โลกเราตอนนี้อยากจะเป็นเด็กกัน ทุกอย่างต้องดูเด็กๆ มันก็น่าห่วงที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักสารคดี และคนอ่านก็จะตายไปเรื่อยๆ ผมกลัวมากเลยว่า วันหนึ่งเราต้องยอมเปลี่ยนตัวเองตามเงื่อนไขการตลาดเพื่อเข้าหาคนที่อายุน้อยลง เพื่อความอยู่รอด ชีวิตคนเรามักจะมีเรื่องอย่างนี้เสมอเลย แต่ทีนี้ คนรุ่นใหม่จะอ่านหรือไม่อ่านสารคดีมันคงเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยด้วย

สารคดีเป็นมากกว่าหนังสือนะ มันเป็นสถาบัน เป็นอะไรที่เราไว้ใจมันได้ เป็นหนังสือที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยมาก สารคดีทำเรื่องมาเยอะมากแล้ว ให้ความรู้ผมมาพอสมควร ผมอาจจะไม่ได้เอาไปใช้ในงานของผมตรงๆ แต่อะไรที่เราอ่าน มันคงเป็นตะกอนที่ตกอยู่ในตัวเรา ๑๘ ปีแล้วนะครับ ผมได้เพื่อนคนหนึ่งที่ถ้าเขายังไม่ตายไป ผมก็เป็นเพื่อนไปตลอด เป็นเพื่อนแท้ๆ