เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง และฝ่ายภาพสารคดี

 

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ กับศรัทธาของผู้สร้างerawan01 erawan27erawan08

ส่วนหัวของช้างเอราวัณมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 100 ตัน

“สิ่งที่พวกเขาทำแต่ละชิ้น ในอนาคตจะกลายเป็นผลงานมหัศจรรย์ที่คนทั้งโลกจะหันมาดู เพราะไม่มีใครในปัจจุบันกล้าหรือบ้าพอจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้”

เพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งเอ่ยขึ้น หลังจากที่ผมพาเขาไปชมเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งใหญ่ที่สุดในโลก ไปดูปราสาทสัจธรรม ปราสาทไม้สักใหญ่ที่สุดในโลก สร้างสูงตระหง่านติดทะเลพัทยา และมาสิ้นสุดการเดินทางในเย็นนั้นที่ประติมากรรมช้างเอราวัณ ริมถนนสุขุมวิท สมุทรปราการ หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า พ่อช้างเอราวัณ, เสด็จพ่อช้าง

“พวกเขา” ที่เพื่อนชาวอังกฤษเอ่ยถึง คือคนในตระกูลวิริยะพันธุ์ ผู้ทำให้รถยนต์ยี่ห้อดาวสามแฉกจากเยอรมนี กลายเป็นรถยนต์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของเศรษฐีเมืองไทยตลอดกาล

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเป็นสิ่งก่อสร้างล่าสุดโดยการรังสรรค์ของคนในตระกูลนี้ ที่สร้างความตื่นตาให้แก่ผู้พบเห็น ขนาดอันใหญ่โตโอฬารเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนสัมผัสได้ เฉพาะส่วนหัวช้างสามเศียรก็มีน้ำหนัก ๑๐๐ ตัน ลำตัวช้างหนัก ๑๕๐ ตัน หุ้มด้วยทองแดงทั้งตัว บริเวณท้องช้างและหัวช้างออกแบบให้เป็นส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุของมีค่า ในขณะที่ส่วนขาช้างทั้งสี่ขา ผ่านกระบวนการคิดอันแยบยลของผู้สร้าง ใช้เป็นที่เก็บซ่อนอุปกรณ์สาธารณูปโภคจำเป็น เช่น ลิฟต์ ท่อแอร์ สายไฟฟ้า ท่อประปา ฯลฯ

หากจะบอกว่ารูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพ กรุงนิวยอร์ก เป็นประติมากรรมทองแดงรูปคนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประติมากรรมช้างเอราวัณตัวนี้ก็จัดเป็นช้างทองแดงตัวใหญ่ที่สุดในโลก ช้างใหญ่ตัวนี้ชวนให้นึกถึงม้าไม้กลศึกแห่งสงครามกรุงทรอย ซึ่งไม่ใช่ม้าไม้ธรรมดา แต่เป็นม้าไม้ที่มีชีวิต ด้วยซ่อนทหารไว้เต็มอัตราศึก ช้างใหญ่ตัวนี้มีชีวิตเช่นกัน แต่เป็นชีวิต ความคิดของผู้สร้างและผู้ร่วมงานจำนวนมาก บางคนเสียชีวิตไปขณะที่ช้างตัวนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง อีกหลายคนกำลังมุทำงานต่อไป เพื่อทำความฝันของผู้จากไปให้เป็นจริง

ความฝันที่จะสร้างงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้เป็นสมบัติของโลกสืบต่อไป

 

 

คนตัวเล็ก ช้างตัวใหญ่

 

พ่อบอกลูกให้มองออกไปไกลไกล

มองไปที่ริมขอบฟ้า

สู่ความฝันและจินตนาการของมนุษย์

หากขับรถมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสมุทรปราการ พอข้ามสะพานสูงสำโรงไปประมาณ ๓ กิโลเมตร จะสังเกตเห็นแนวกำแพงขนาดใหญ่ทางซ้าย สร้างเลียนแบบป้อมค่ายโบราณ หลังแนวกำแพง ช้างเอราวัณสามเศียรขนาดสูงเท่ากับตึก ๑๔ ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่บนอาคารทรงกลม

ตอนแรกชาวบ้านละแวกนั้นคิดว่าหลังกำแพงสูงจะมีการก่อสร้างอาคารสูง ไม่คาดคิดมาก่อนว่า อาคารที่ใช้เวลาสร้างนับ ๑๐ ปีจะเป็นรูปทรงช้างสามเศียร

erawan20erawan16erawan21

รอบนอกอาคารช้างจัดแสดงเป็นอุทยานพรรณไม้ในวรรณคดีและประติมากรรมลอยตัว

 

“เห็นแล้วตะลึงเลยค่ะ ขนาดขับรถผ่านทุกวันก็ว่าใหญ่แล้วนะ พอเข้ามาใกล้ ๆ ไม่คิดว่าช้างตัวนี้จะใหญ่มหึมาขนาดนี้ ยิ่งเข้าไปข้างในยิ่งงงใหญ่ว่าสร้างได้อย่างไร” หญิงสาวคนหนึ่งที่จูงลูกสาวมาไหว้พ่อช้างเล่าให้ฟัง

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาเมืองโบราณ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณว่า เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เสี่ยเล็ก หรือคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ มีโครงการจะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งโลกและโรงเรียนช่างสิบหมู่ขึ้นบนพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ริมแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดของอาคารที่ทำแบบกันไว้คือตัวตึกสูง ๗๐ ชั้น หรือ ๒๑๐ เมตร เหนือขึ้นไปเป็นประติมากรรมช้างเอราวัณสามเศียรขนาดยักษ์สูง ๙๐ เมตร หรือเท่ากับตึกอีก ๓๐ ชั้น ทั้งยังจะมีอาคารบริวารล้อมรอบอีกเหลือคณานับ และได้ดำเนินการสร้างรูปแบบจำลองและภูมิทัศน์แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะมีอุปสรรคเรื่องคนบุกรุกที่ดินและไม่ยอมโยกย้ายไป ท่านจึงล้มเลิก เพราะไม่ต้องการทำในเรื่องที่ไม่สบายใจ

ต่อมาคุณเล็กต้องการสร้างช้างเอราวัณเพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงของมีค่าที่สะสมมาเป็นเวลานาน และมอบหมายให้คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ หรือคุณแดง ลูกชายคนโต เจ้าของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสืบสานงานยักษ์ชิ้นนี้

 

อาจารย์ศรีศักรบอกผมภายหลังว่า

“คุณเล็กชอบเล่นของเก่า แต่ไม่ได้เล่นแบบคนรวยทั่วไป ที่เก็บของเก่าเอาไว้ พอสิ้นอายุขัยลูกหลานก็เอาไปขายทิ้ง แต่คุณเล็กจะศึกษาของเก่าในลักษณะสร้างสรรค์และหาความหมาย เพราะคุณเล็กชอบอ่านหนังสือ ชอบหาความหมายในสิ่งนั้น ๆ แกเห็นว่าโบราณวัตถุบางอย่างเป็นของสำคัญของบ้านเมือง เช่นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คนโบราณไม่ได้สร้างขึ้นมาค้าขาย แต่สร้างมาจากมิติทางวิญญาณ เป็นที่เคารพของคนในบ้านเมือง แกจึงสะสมของเก่าไว้มาก มีของหลายชนิดที่มีค่า กลัวหาย และอยากให้อยู่ในแผ่นดินไทย ไม่อยากให้หลุดไปนอกประเทศ อยากให้เป็นของส่วนรวม จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาและเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้าชม แต่คิดไม่ออกว่าจะสร้างอาคารแบบไหนที่ปลอดภัยและดูเป็นศิลปะด้วย

“แกรักเมืองไทยมาก ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน ไม่เคยคิดหนีไปต่างประเทศยามบ้านเมืองเกิดเหตุร้ายเหมือนเศรษฐีทั่วไป ๑๐ กว่าปีในบั้นปลายชีวิตแกอยู่แต่ในเมืองโบราณ ทำงานอย่างเดียว ไม่เคยออกไปไหนเลย

erawan19erawan23erawan24erawan25

ภายในอาคารประดับด้วยรูปปั้นชนิดต่างๆ อาทิ รูปคนธรรพ์ บรรเลงดนตรี รูปพญานาค

“จนกระทั่งมีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งมาเยี่ยมท่าน เล่าว่า ที่เมืองนอกมีคนคิดสร้างอาคารงำเมืองเป็นรูปผลแอปเปิ้ลเพื่อให้คนเข้าไปชมและดูวิวของเมือง คุณเล็กจึงคิดขึ้นมาได้ว่าน่าจะสร้างอาคารแบบนี้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงของเก่าของท่าน เพราะดูปลอดภัยและดึงดูดความสนใจของคนได้ดี แต่แทนที่จะสร้างเป็นผลแอปเปิ้ลแบบฝรั่ง แกคิดทำเป็นรูปช้างเอราวัณสามเศียรแทน เพราะคุณเล็กมีความฝังใจรูปทรงช้างเอราวัณมาตลอด ชอบ อยากทำที่บางปะกง แต่ไม่สำเร็จ อุปสรรคเยอะ เลยมาทำที่สำโรงแทน”

คุณเล็กได้คิดออกแบบร่วมกับช่างของเมืองโบราณ จนสามารถปั้นหุ่นจำลองช้างเอราวัณต้นแบบออกมา เป็นช้างสามเศียร อยู่ในท่าเคลื่อนไหวส่ายเศียร ยืนอยู่เหนือยอดโดมของอาคารที่รองรับ ดูราวกับช้างตัวนี้เหยียบอยู่บนโลก ภายในท้องช้างตั้งใจทำเป็นห้องพิพิธภัณฑ์แสดงของโบราณที่มีค่า คุณเล็กออกแบบเสร็จก็ส่งต่อให้คุณพากเพียรเป็นผู้ดำเนินการหาสถาปนิกและวิศวกรมาทำการก่อสร้าง บนพื้นที่ ๑๒ ไร่ของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด

เล่ากันว่าเหตุที่บิดาเจาะจงให้คุณพากเพียรเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะขณะนั้นเขาเป็นทั้งผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มธนบุรีฯ และเป็นวุฒิสมาชิก คุณเล็กซึ่งเป็นผู้รักศิลปะได้เล็งเห็นว่า ชีวิตที่กอปรด้วยภาระหน้าที่มากมายขนาดนั้น จำเป็นต้องมี “ศิลปะ” มาช่วยกล่อมเกลาและผ่อนคลายจิตใจ จึงให้คุณพากเพียรควบคุมดูแลการสร้างอาคารรูปช้างสามเศียรที่หน้าบ้านและหน้าโรงงานของธนบุรีประกอบรถยนต์

คุณเล็กเคยกล่าวไว้ว่า “โรงงาน…มันก็เป็นแค่โรงงาน แต่ถ้าสร้างช้างแล้ว…นั่นคือศิลปะ”

 

ครั้งหนึ่งเมื่อวุฒิสภาส่งแบบฟอร์มมาให้คุณพากเพียรกรอกรายละเอียดส่วนตัวของวุฒิสมาชิก ในหัวข้องานอดิเรก คุณพากเพียรกรอกข้อความว่า “สร้างช้างสามเศียรที่หน้าบ้าน ให้ประณีตวิจิตรบรรจงสมกับเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้…”

กระดาษ โฟม ทองแดง และเหล็กเส้น

ตั้งจิตเพื่อฟ้าดิน มีชีวิตเพื่อมนุษยชาติ สืบต่อวิทยาการสุดยอดจากปราชญ์ในอดีต และสร้างสรรค์สันติสุขชั่วกาลนานแก่มนุษยชาติ นี่ คือเป้าหมายอันแท้จริงซึ่งศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ต้องการบรรลุ

มองจากด้านนอก อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนบนคือตัวช้างเอราวัณ ส่วนล่างคือฐานอาคารศาลาซึ่งเปรียบเสมือนโลก และชั้นใต้ดินที่เรียกว่า ชั้นบาดาล รวมความสูง ๔๓ เมตร วางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗ น้อยคนที่จะรู้ว่า เบื้องหลังการก่อสร้างอาคารช้างแห่งนี้เริ่มจากรูปปั้นดินเหนียวก่อน

“ตอนนั้นมึนตึ๊บเลย ครั้งแรกเมื่อเห็นรูปปั้นช้างสามเศียรยืนบนศาลา และได้รับคำสั่งว่านี่คือแบบที่จะให้สร้างเป็นตึก นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าจะสร้างได้ยังไง” คุณสุวรรณี นภาสว่างวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ ๑๐ ปีก่อนให้ผมฟัง

“ดิฉันทำงานอยู่ที่บริษัทคอร์ริดอร์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานชิ้นนี้ วันหนึ่งคุณแดงเชิญให้ไปพบเสี่ยเล็ก เพื่อดูโมเดลช้างดินที่ช่างเมืองโบราณปั้นไว้ คำสั่งที่ได้คือ ทำอย่างไรให้ได้ตึกรูปทรงนี้ขึ้นมา ตอนแรกจะสร้างใหญ่กว่าที่เห็นเกือบสองเท่า แต่พื้นที่คับแคบเกินไป จึงทอนสเกลลงมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”

ลำพังการก่อสร้างตัวอาคารศาลาที่อยู่ด้านล่างไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะเป็นรูปทรงอาคารที่ไม่ซับซ้อน แต่ที่ยากที่สุดคือการสร้างตัวช้าง

“จากโมเดลช้างดินที่ได้มา ทีมงานใช้โฟม ไฟเบอร์ และขี้ผึ้ง จำลองเป็นรูปทรงอาคารช้างหลายครั้ง เพื่อหาโครงสร้างภายในอย่างละเอียด เพราะโครงสร้างแต่ละท่อนไม่มีรูปทรงชัดเจนเหมือนการสร้างอาคารทั่วไป โดยเฉพาะส่วนหัวช้าง หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนแบบแปลนการก่อสร้าง ปรึกษาวิศวกร หาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง หาจุดที่ถ่ายแรง ถ่ายน้ำหนัก เพราะมีจุดที่จะถ่ายน้ำหนักได้เพียงสี่จุดตรงขาช้างสี่ขา

erawan03erawan17erawan18

รูปสลักต่างๆที่อยู่บริเวณรอบๆอาคาร

“พอแบบเสร็จแล้วเราก็ขออนุญาตทางการก่อสร้างเป็นอาคารประติมากรรมขนาดใหญ่ พอได้แบบก็เริ่มวางเสาเข็มลงมือก่อสร้าง งานนี้วางเป้าการก่อสร้างไว้ ๘-๑๐ ปี”

โครงสร้างของลำตัวและหัวช้างใช้เหล็กเส้นเป็นรูปตัว H และ I เชื่อมต่อกัน คล้ายกับการสานตะกร้อ ส่วนขาทั้งสี่ขาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรับน้ำหนักตัวช้าง โดยมีศาลาเป็นฐานหลักเพื่อรับน้ำหนักขาช้างทั้งสี่ขา ด้านนอกศาลามีเสาแปดเสา ภายในศาลามีเสาสี่เสาเป็นตัวรับน้ำหนัก ประสานกับแนวคิดของคุณเล็ก ที่เปรียบเสาทั้งสี่ประดุจคุณธรรมค้ำจุนโลก

สิ่งที่ยากที่สุดคือหัวช้าง ที่ยื่นออกไปโดยไม่มีโครงสร้างอะไรรองรับน้ำหนัก ลำพังหัวเดียวก็ยากอยู่แล้ว แต่นี่ปาเข้าไปตั้งสามหัว น้ำหนักหัวช้างก็เกือบ ๆ เท่าน้ำหนักตัวแล้ว เราใช้ใช้คานโครงเหล็กที่เรียกว่า trust คอยค้ำและดึงน้ำหนักของหัวช้าง ให้ถ่ายน้ำหนักลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ขา”

คุณสุวรรณีกล่าวต่อว่า “หัวช้างเริ่มจากทำโมเดลด้วยโฟมแล้วหั่นออกเป็นท่อน ๆ (นึกภาพการหั่นหัวหอมเป็นแว่น ๆ) เพื่อหาโครงสร้างจริง ๆ เพราะหัวช้างสามหัวเป็นรูปทรงที่ยากมาก ยากกว่าตัวช้างที่มีรูปทรงเป็นก้อนเดียว เราจึงเริ่มจากทำหัวช้างหัวแรกก่อน เป็นโมเดลขนาด ๑ ต่อ ๑๐ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนจะขยายแบบเท่าจริงเพื่อขึ้นโครงเหล็ก”

เมื่อขึ้นโครงเหล็กตัวช้างเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการบุพื้นผิวช้างทั้งตัวด้วยทองแดง โดยใช้เทคนิคที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คุณรักชาติ ศรีจันทร์เคณ ช่างใหญ่ผู้ดูแลโครงสร้างช้างคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ตัวช้างทั้งตัวมีลักษณะเด่นคือหุ้มด้วยวัสดุทองแดงที่นำมาเคาะขึ้นรูปด้วยมือ ซึ่งเราเลียนแบบเทคนิคการเคาะรถยนต์ ใช้ทองแดงแผ่นหนาประมาณ ๑.๒ มิลลิเมตร ขนาด ๔ x ๘ ฟุต จำนวนนับแสนชิ้น แผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ มาเรียงต่อกันด้วยความประณีต”

“ผมเข้าไปทักทายคุณธานี กุฎฤาษี ช่างศิลปกรรมหนุ่มที่กำลังคุมงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณอยู่อย่างขะมักเขม้น

“เราเอาแปลนของสถาปนิกมาขยายแบบ ตอนแรกเสี่ยเล็กจะให้ใช้ดีบุกมาทำผิวช้าง เราลองศึกษาคุณสมบัติของโลหะสามชนิด คือ ทองแดง ดีบุก เงิน สรุปกันว่าดีบุกหรือเงินนั้นนิ่มเกินไปในการทำผิวช้าง จึงต้องเป็นทองแดง เพราะมีคุณสมบัติความอ่อนกับความแข็งอยู่ในตัวเดียวกัน ทองแดงดิบหรือทองแดงบริสุทธิ์ที่จะนำมาใช้ต้องผ่านการทำให้สุก จะได้นิ่ม เพื่อขึ้นรูปได้ง่าย หลังจากนั้นทองแดงก็จะกลับมาแข็งดังเดิม ทองแดงมีอายุใช้งานนานปี และมีคุณสมบัติถ่ายเทระบายความร้อนได้ดีอีกด้วย”

erawan22erawan11erawan26

เพดานอาคารเปรียบเสมือนหลังคาโลกติดตั้งงานกระจกสี (stained glass) ขนาดใหญ่ เป็นรูปแผนที่โลกโบราณ

การทำทองแดงให้สุกก็คือนำแผ่นทองแดงมาย่างไฟด้วยเตาถ่านจนทองแดงอ่อนตัว เวลานั้นคนงานต้องนั่งย่าง ทองแดงบริสุทธิ์ที่ผลิตได้ในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ตารางเมตร จนทองแดงในประเทศขาดตลาด ต้องสั่งทองแดงจากญี่ปุ่นมาเพิ่มอีก ๔๐๐ ตารางเมตร

ผมจำได้ว่ามีการทดลองเคาะแผ่นทองแดงส่วนเศียรช้างเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ เวลา ๙.๓๙ น. ใช้เครนขนาด ๑๘๐ ตันยกขึ้นไปติดตั้ง ปรากฏว่าคลาดเคลื่อนไปแค่ ๑ เซนติเมตรเท่านั้น เป็นการทำงานโดยอาศัยศักยภาพของสองมือมนุษย์ที่น่ามหัศจรรย์โดยไม่ใช้เครื่องมือทันสมัยอย่างคอมพิวเตอร์เลย” คุณรักชาติกล่าวทิ้งท้าย

การประกอบหัวช้างแต่ละหัว เริ่มจากหัวกลางก่อน เมื่อตั้งโครงเหล็กเป็นรูปหัวช้างแล้ว คนงานจะเคาะแผ่นทองแดงขึ้นรูปหัวช้างทีละชิ้นจนเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากนั้นก็ทำหมายเลขของแผ่นทองแดงแต่ละชิ้น แล้วถอดแผ่นทองแดงทั้งหมดออกมา ก่อนจะใช้เครนยกขึ้นไปประกอบข้างบน โดยมีนั่งร้านเหล็กนับหมื่นชิ้นรับน้ำหนักอยู่ด้านบน เมื่อเสร็จแล้วก็เริ่มประกอบหัวช้างอีกสองหัว ใช้ช่างเคาะ ๒๗๐ คนเชื่อมแผ่นทองแดงแสนกว่าชิ้น บนระดับความสูงเทียบเท่าตึก ๑๔ ชั้น

กล่าวได้ว่าการเคาะขึ้นรูปด้วยทองแดงงานชิ้นนี้เป็นประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะโลก เป็นเทคนิคที่ไม่เคยใช้ในการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ในโลกมาก่อน เพราะรูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพของอเมริกา หรือพระประธานปางลีลาในพุทธมณฑล ใช้เทคนิคหล่อขึ้นทั้งตัว แล้วถอดเป็นชิ้นส่วนใหญ่ ๆ นำขึ้นไปเชื่อมภายหลัง ส่วนการเคาะขึ้นรูปด้วยทองแดงแผ่นเล็ก ๆ เชื่อมต่อกันกลางอากาศนั้น ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ช้างเอราวัณตัวนี้จึงเป็นประติมากรรมลอยตัวที่ใช้เทคนิคการเคาะโลหะด้วยมือเป็นแห่งแรกที่ไม่มีที่ไหนในโลกกล้าทำ และยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

 

“คนงานส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เราต้องฝึกให้เขา เวลาทำงานก็เตรียมกล่องข้าวปีนนั่งร้านขึ้นไปนั่งเชื่อมอยู่ข้างบนทั้งวัน โชคดีที่ไม่มีใครประสบอุบัติเหตุโดนฟ้าผ่าหรือตกลงมาตอนเคาะแผ่นทองแดงอยู่ข้างบน ถ้าวันไหนมีเมฆฝนมาแต่ไกล คนงานพวกนี้กระโดดลงหมด เร็วกว่าลิงอีก” คุณธานีเล่าอย่างมีอารมณ์ขัน ตัวเขาเองก็มีประสบการณ์ขึ้นไปเชื่อมต่อแผ่นทองแดงด้วย และยอมรับว่าตลอดเวลาที่มีการก่อสร้าง มีการแก้ไขกันตลอดเวลา

“เราต้องยืนดูช้างหลาย ๆ มุม เพื่อดูข้อบกพร่อง มีตอนหนึ่งลงมายืนดูงาช้าง ก็เห็นว่างาช้างไม่เชิดขึ้น ดูแล้วไม่สง่างาม ต้องถอดงาแก้ไขกันใหม่

“แต่ที่แก้ไขเยอะที่สุดก็ตอนที่เสี่ยเล็กมาเดินดู ตอนนั้นโครงสร้างตัวช้างเสร็จเกือบหมดแล้ว เสี่ยเล็ก บอกว่าขาหลังช้างสั้นไป เพียงแค่นั้นต้องขยับช้างกันใหม่ทั้งตัว ผ่าโครงสร้างเหล็กช่วงข้างหลัง เพื่อยกขาหลังสูงขึ้นอีก ๗๐ เซนติเมตร”

erawan06

ชั้นใต้ดินหรือชั้นบาดาล เป็นที่จัดแสดงของมีค่าจำนวนมากอาทิ พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่างๆและเครื่องลายครามของจีน

คุณเล็กพูดเพียงประโยคเดียว คนงานทั้งหมดต้องใช้เวลาแก้ไขเกือบครึ่งปี เพื่อยกช้างตัวใหญ่ทั้งตัวให้สูงสง่า

ปูนปั้น ขวดไฮเนเก้น และเสาแห่งความกตัญญู

ความจริง ความดีและความงาม ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยมือของเรานั้นจะเป็นอมตะ

 

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปรียบเสมือนโลก เป็นอาคารทรงกลมก่ออิฐถือปูน สีพูอ่อนตามแบบของปราสาทหิน ให้ความรู้สึกถึงความงามและความสงบ เป็นการลงสีฉาบปูนด้วยกรรมวิธีโบราณที่เรียกว่า ปูนตำ ผสมปูนกินหมาก จนได้สีชมพูอ่อนดั่งปราสาทหินทรายที่ทนแดดทนฝนหลายชั่วอายุขัย

ภายในห้องโถง นายช่างสองพ่อลูกได้ผสมผสานงานศิลปะของโลกเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

เมื่อแหงนหน้าขึ้นมองบนเพดานภายในอาคารห้องโถงอันเปรียบเสมือนหลังคาโลก แผนที่โลกโบราณขนาดใหญ่บนงานกระจกสี (stained glass) ปรากฏขึ้นต่อหน้า นี่เป็นผลงานของศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Mr. Jacob Schwarzkopf (ขณะสร้างผลงานอายุ ๗๓ ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) สร้างที่เยอรมนี จากนั้นถอดกระจกเป็นแผ่น ๆ ขนข้ามน้ำข้ามทะเลมาติดตั้งที่นี่

งานกระจกสีเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ของชาวตะวันตกที่รู้จักกันนานนับพันปี นิยมนำมาประดับหน้าต่างโบสถ์ เพื่อให้แสงสว่างอันเป็นสัญลักษณ์ของความดีสาดส่องเข้ามาในโบสถ์ จากความเชื่อที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงแยกแสงสว่างออกจากความมืด เช่นเดียวกับการแยกความดีออกจากความชั่ว ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดที่ใช้ออกแบบห้องโถง ซึ่งต้องการให้มีแสงสว่าง-สัญลักษณ์แห่งความดีงาม ความบริสุทธิ์ สาดส่องเข้ามาภายใน

คุณจรูญ มาถนอม ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเล่าว่า

“เรานึกกันว่าจะให้แสงสว่างส่องเข้ามาภายในตัวศาลานี้ได้อย่างไร ตอนแรกคิดจะเจาะหน้าต่าง เลยนึกถึงกระจก แล้วบังเอิญมิสเตอร์จาค็อบซึ่งเป็นศิลปินใหญ่ที่เยอรมนี เขารู้จักผลงานของคุณเล็กมากมาย ไม่ว่าเมืองโบราณหรือปราสาทไม้สัจธรรมที่พัทยา เขาศรัทธาในตัวเสี่ยเล็ก ไม่เชื่อว่าคนที่ทำอะไรยิ่งใหญ่แบบนี้ยังมีอยู่บนโลกอีก มิสเตอร์จาค็อบเล่าว่า ก่อนมาเมืองไทยเขาคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินเก่งที่สุดคนหนึ่ง แต่พอมาเห็นงานของเสี่ยเล็กก็รู้ว่าตัวเขานิดเดียว จึงมีความฝันว่า อยากฝากผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งไว้กับงานของเสี่ยเล็ก จึงติดต่อผ่านคุณแดงที่รู้จักกันขอมาคุยด้วย เสี่ยเล็กเห็นความตั้งใจจริงก็อนุญาต”

เมื่อแหงนมองขึ้นไป แสงแดดที่ส่องผ่านกระจกขับให้ภาพแสดงทวีปทั้งห้า มีมหาสมุทรอยู่ตรงกลาง สว่างกระจ่างตา เห็นสีสันสดใสที่ศิลปินใช้สีเพียงสี่สีเท่านั้น เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโลก สีเหลืองคือดิน สีขาวคือลม สีแดงคือไฟ สีฟ้าคือน้ำ รอบนอกเป็นภาพวาดจักรราศี กลุ่มดาวสำคัญ ๑๒ กลุ่ม ถัดออกไปเป็นภาพชีวิตของมนุษย์ในโลก สื่อให้เห็นถึงอิทธิพลของดวงดาวที่มีต่อชีวิตของมนุษย์ โดยใช้แนวคิดของศิลปะตะวันตกมาผสมผสาน

“ตอนแรกมีการทดลองติดตั้งหลอดไฟจำนวนมากซ่อนอยู่ในกระจก แต่ตอนหลังคุณแดงสั่งให้รื้อทิ้ง ต้องการใช้แสงจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว”

นอกจากงานศิลปะฝีมือศิลปินต่างชาติแล้ว ภายในตัวอาคารได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยลายปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร ปูนปั้นนี้ทำจากปูนโบราณที่เรียกว่าปูนตำ โดยนำเอาปูนขาว กระดาษสา ข้าวเหนียวที่หุงให้แฉะนิด ๆ เรียกว่าข้าวแตกเต็มเนื้อ กาวหนังควาย น้ำตาลทรายแดง มาผสมกัน เริ่มจากกระดาษสาที่แช่น้ำจนเปื่อย ตำเข้ากับทราย ใส่ข้าวเหนียว ตำไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากัน แล้วใส่ปูนขาว กาว น้ำตาลแดงเข้าไปแทรก

“ถ้าตำด้วยมือ ชั่วโมงกว่าได้ปูนแค่กำมือเดียว เราจึงต้องใช้มอเตอร์หรือครกไฟฟ้าช่วยทุ่นแรง ปูนตำมีคุณสมบัติต่างจากปูนซีเมนต์ พอแห้งสนิทผิวจะมันวับเหมือนกระเบื้องเลย บางทีเราผสมหินฟลูออไรต์เข้าไปด้วย จึงมีสีขาวแตกต่างจากปูนซีเมนต์ บางครั้งก็ใช้ปูนแดงหรือปูนเคี้ยวหมากผสมเป็นสีแดงหรือชมพู” สำรวย เอมโอษฐ ช่างพื้นบ้านจากเมืองเพชรบุรี ผู้รับผิดชอบการตกแต่งภายในอาคารให้คำอธิบาย

“ตอนนั้นผมทำใบเสมาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม คุณแดงให้คนไปตาม บอกว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้หวังค้ากำไร คุณแดงให้ผมลองผูกลายปูนปั้นที่ฐานซุ้มพระเกตุประมาณ ๒ ตารางฟุตก่อน เพราะตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทิศทางการออกแบบจะไปทางไหน จึงให้ลองออกแบบเอง คิดเอง ผมก็ผสมผสานลายปูนปั้นเป็นแบบศิลปะทั้งขอม อยุธยา ไทย จีน ฝรั่งเข้าด้วยกัน พอคุณแดงเห็นงานก็ชอบใจ ให้ทำต่อ

erawan12 erawan26 erawan31
ภายในซุ้มพระเกตุเป็นที่ประดิษฐานรูปสลักหินเจ้าแม่กวนอิม เพดานอาคารเป็นรูปแผนที่โลกโบราณ ผนังภาพวาดสีฝุ่นรูปสุริยจักรวาล

“เราใช้ช่างร่วม ๓๐ คน ช่างแต่ละคนจะนั่งปั้นปูนเป็นลวดลายกันสด ๆ ไม่ได้ร่างแบบในกระดาษหรือหล่อแม่พิมพ์มาก่อน แต่ละลวดลายจึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามจินตนาการของช่างแต่ละคน โดยมีลายดอกพุดตาน ลายก้านขด ลายประจำยาม ลายเฟื่อง เป็นลายหลักภายในอาคาร”

นอกจากลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรแล้ว ยังงามสะดุดตาด้วยเครื่องถ้วยเบญจรงค์หลายแสนชิ้นที่สั่งทำเป็นพิเศษจากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และจากประเทศจีน การประดับลวดลายด้วยเครื่องเบญจรงค์ มีทั้งที่ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และใช้ทั้งเครื่องถ้วยเบญจรงค์ทั้งชิ้น สลับลวดลายสอดสีอย่างน่าดู

“ตอนแรกผมไปซื้อเครื่องถ้วยในห้าง ลูกหนึ่งราคา ๓๖๐ บาท บางลูกราคา ๒,๕๐๐ บาท เป็นลายจักรี เป็นถ้วยลายน้ำทอง เอามาทุบแตกแล้วมาประดับลวดลายให้คุณแดงกับเสี่ยเล็กดู แกก็ชอบใจ จึงใช้แนวคิดนี้มาตกแต่งทั้งหลังเลย”

สาเหตุที่ใช้เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ช่างสำรวยเห็นว่า หากใช้วิธีลงรักปิดทองอายุการใช้งานจะสั้น ไม่นานลวดลายก็หลุดร่วง แต่ถ้าเป็นเครื่องถ้วยเบญจรงค์จะคงทนถาวรกว่า เห็นได้จากลวดลายถ้วยเบญจรงค์ตามวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันก็ยังอยู่และมีความสดใสแวววาว ขณะที่ทองหรือปูนที่ทำในยุคเดียวกันกลับหลุดร่วงไปหมด อีกประการหนึ่ง ในวันหน้าคงไม่มีใครกล้านำเครื่องเคลือบเหล่านี้มาประดับ เพราะราคาแพงมาก

วันเด็กเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน คุณแดงเปิดให้เด็ก ๆ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณฟรี ปรากฏว่าบรรดาช้อนชามที่ประดับอยู่ตามรูปช้างหรือพญานาค ถูกเด็กน้อยมือซนหักเล่นด้วยเห็นเป็นของแปลก เสียหายพอควรทีเดียว

ชั้นล่างของห้องโถงอาคารรูปโดมมีบันไดสองข้าง คือบันไดทองทางด้านซ้าย เป็นบันไดสีชมพูมีส่วนผสมของหินทรายแดง และบันไดเงินทางด้านขวา เป็นบันไดสีขาวมีส่วนผสมของหินฟลูออไรต์ ทำให้เกิดสีขาวนวลแตกต่างจากปูนซีเมนต์ทั่วไป กึ่งกลางของบันไดทั้งสองข้างที่อยู่ติดผนังปั้นเป็นรูปปลาอานนท์ข้างละตัว

“ตรงที่ปั้นเป็นรูปปลาอานนท์ขนาดใหญ่ทั้งสองด้านนั้น เดิมเป็นคานเหล็กรับน้ำหนักบันได โผล่ยื่นออกมาดูไม่เรียบร้อย คุณแดงจึงมีความคิดว่าน่าจะปั้นเป็นรูปปลาอานนท์เพื่อความสวยงามและตรงกับคติที่ว่าปลาอานนท์อยู่ใต้โลก ถ้าปลาอานนท์พลิกตัวก็เกิดแผ่นดินไหว ถ้าบันไดปลาอานนท์พลิก บันไดก็พังเช่นกัน” ช่างสำรวยอธิบายความคิดที่อยู่เบื้องหลังการประดับภายในอาคารที่ต้องมีความหมายเชื่อมโยงกันได้

กลางห้องโถงมีเก๋งจีนตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างวิลิศมาหรา เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มพระเกตุทรงพระขรรค์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองโลกและมหาสมุทร เหตุที่อัญเชิญพระเกตุมานั่งเป็นประธานกลางห้องโถง เนื่องด้วยจังหวัดสมุทรปราการอยู่ติดทะเล จึงถือเป็นการคุ้มครองผู้คนในจังหวัดนี้ ถัดลงมาเป็นรูปพระอิศวรแปลงเป็นหน้ายักษ์ และรูปปั้นคนธรรพ์บรรเลงดนตรี รูปกินรี กินนร และรูปปั้นหัวช้างสี่เศียรที่ใช้ช้อนกระเบื้องตกแต่งเป็นหูช้าง ด้านล่างสุดตรงฐานพระเกตุปั้นเป็นรูปพญานาคจำนวนมาก มีความหมายถึงบริวารของพระเกตุที่มาช่วยปกป้องคุ้มครองโลกและมหาสมุทร

ผมเดินดูลายปูนปั้นหัวนาคสิบกว่าลายอย่างเพลิดเพลิน หัวนาคแต่ละหัวไม่เหมือนกันเลย ช่างแต่ละคนปั้นหัวนาคชนิดต่าง ๆ กัน อาทิ หัวนาคแบบไทย หัวนาคแบบเขมร หัวนาคหงส์ หัวนาคคชสีห์ หัวนาคภุชงค์ หัวนาคพระพุทธบาท หัวนาคเทวดา และหากสังเกตให้ดี จะมีหัวนักการเมืองชื่อดังบางคนปนอยู่ด้วย นี่เป็นเอกลักษณ์ของช่างปูนปั้นเมืองเพชรโดยแท้

ภายในเก๋งจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปสลักหินเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถือเป็นวัตถุโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์มาก อายุเก่าแก่สมัยราชวงศ์สุย (พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑) สังเกตได้ว่ายุคนั้นยังนิยมแกะสลักพระอวโลกิเตศวรเป็นเพศชาย ขณะที่ในยุคต่อมานิยมแกะสลักเป็นเพศหญิง

ผมสังเกตเห็นว่าบนเพดานบางแห่งที่ประดับด้วยโคมไฟกระจกระย้าสวยงาม คุณสำรวยแอบกระซิบว่า กระจกสี ๆ ที่เห็นนั้น ทำจากวัสดุรีไซเคิล กล่าวคือ กระจกสีเขียวทำจากขวดเบียร์ไฮเนเก้น สีน้ำตาลจากเบียร์สิงห์ สีน้ำเงินเป็นขวดไวน์ และหากเป็นสีขาวก็ทำจากขวดน้ำปลา แต่นำมาตัดและวาดลวดลายจนมองไม่เห็นสภาพเดิมเลย

ภายในตัวอาคาร สิ่งที่ยังทำไม่เสร็จคือเสาสี่ต้น ช่างจากนครศรีธรรมราชและเชียงใหม่กำลังดุนโลหะหุ้มอยู่อย่างขะมักเขม้น เสาทั้งสี่ต้นเปรียบเสมือนพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเป็นธรรมะที่ค้ำจุนโลกมิให้ล่มสลาย แต่ละเสาจะบรรจุเรื่องราวศาสนาของโลก คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม และฮินดู และเพื่อสืบสานความตั้งใจเดิมของคุณพ่อที่อยากได้ดีบุกหุ้มตัวช้าง แต่เมื่อไม่สำเร็จต้องหันมาใช้ทองแดงแทน คุณแดงจึงเลือกใช้ดีบุกดุนลายหุ้มเสาทั้งสี่ต้นนี้แทน เพื่อรำลึกและสืบทอดความตั้งใจของคุณพ่อมิให้สูญหายไป

“เสาทั้งสี่ต้นยังหมายถึงความกตัญญูของตระกูลวิริยะพันธุ์ด้วย กล่าวคือเมื่อคุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาได้สร้างสิ่งใดขึ้นมา พวกลูกหลานก็ต้องสืบสานต่อไป เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทดแทนบุญคุญแผ่นดินด้วยการสร้างเมืองโบราณ ปราสาทสัจธรรม พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ดังนั้นลูกหลานต้องทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ด้วยการสืบสานการทำงานสร้างสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จต่อไป” คุณจรูญอธิบาย

จักรวาล ท้องช้าง และไม้มะเกลือ

 

ริมขอบฟ้า

ที่ซึ่งฟ้าบรรจบดิน

เส้น ที่ไม่มีอยู่จริง

แต่มองเห็นได้

ผมเดินขึ้นบันไดไปหยุดอยู่หน้าลิฟต์ ผนังโดยรอบสลักเป็นลวดลายงดงามด้วยถ้วยลายมังกรและกระเบี้องเคลือบจากเมืองจีน แต่ส่วนที่ใกล้เพดานเป็นลวดลายปูนปั้นดอกไม้แบบยุโรป เพื่อให้ล้อกับงานกระจกสีซึ่งเป็นศิลปะตะวันตก บนเพดานหรือหลังคาโลกที่อยู่ใกล้กัน

 

จากตรงนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะไต่ขึ้นสู่ขาช้างเพื่อเข้าสู่ท้องช้าง ที่เรียกว่าเป็นชั้นสวรรค์หรือจักรวาล ขาหลังข้างขวาเป็นบันไดวน ขณะที่ขาหลังข้างซ้ายเป็นลิฟต์ขึ้นสู่ท้องช้าง ส่วนขาหน้าข้างขวาใช้เก็บสายไฟฟ้า ท่อแอร์ ท่อประปา ขาหน้าด้านซ้ายติดตั้งระบบดับเพลิง ทุกขาจะมีสายล่อฟ้าบรรจุไว้อย่างดี เพราะต้องไม่ลืมว่าช้างตัวนี้บุทองแดงทั้งตัว และยังมีอุโมงค์หนีไฟซ่อนไว้ตรงส่วนหางช้างอย่างแยบยล

ผมเดินขึ้นบันไดวนไปตามขาช้างจนถึงบริเวณท้องช้าง เข้ามาในห้องที่เปรียบเสมือนจักรวาล ผนังเป็นภาพวาดสีฝุ่นสุริยจักรวาลฝีมือศิลปินเยอรมันคนเดิม อาศัยความโค้งของท้องช้างเห็นเป็นริมขอบฟ้า มองออกไปไกลจนสุดขอบสุริยจักรวาล เห็นพระอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้งแปด (ไม่นับโลกที่ยืนอยู่) ทางช้างเผือก และกลุ่มอุกกาบาต อันเป็นสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันในจักรวาลปรากฏขึ้นพร้อมกัน

และมนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งเล็กกระจิริดในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล บรรยากาศภายในเย็นสงบดั่งวิหารศักดิ์สิทธิ์ การจัดแสงไฟเฉพาะจุดทำให้ผู้ชมเกิดสมาธิ เบื้องหน้ามีพระพุทธรูปปางลีลาเป็นพระประธานถอดจำลองมาจากวัดเบญจมบพิตร บนยอดพระเกตุมาลาบรรจุพระบรมธาตุ ถัดขึ้นไปประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง และผนังสองด้านยังใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุของสะสมส่วนตัวของคุณเล็ก อันประกอบด้วยพระพุทธรูปและเทวรูปล้ำค่าสมัยต่าง ๆ

บริเวณพื้นท้องช้างปูด้วยไม้มะเกลือสีออกดำ คุณแดงเจาะจงใช้ไม้ชนิดนี้

“ไม้มะเกลือมีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องสีและลายแก่นไม้ ทั้งยังเป็นไม้ที่ไม่ต้องอบ คุณแดงอยากได้มะเกลือมาปูพื้นท้องช้าง แต่หาหายาก ก็ต้องสืบเสาะจนได้มาในที่สุด ที่ท่านเลือกไม้มะเกลือ เพราะไม้มะเกลือมีแก่นสีเข้ม ไม่สะท้อนเงากับโบราณวัตถุเวลาต้องไฟจัดแสดง คือพยายามให้ผู้ชมมีสมาธิแน่วแน่ขณะชมสิ่งของต่าง ๆ ไม่ให้มีสิ่งมารบกวนเลย” คุณธานีอธิบาย

ผมเดินลงมาชั้นใต้ดินของอาคารช้าง หรือเรียกว่าชั้นบาดาล เป็นสถานที่เก็บโบราณวัตถุของคุณเล็ก อาทิ เครื่องกระเบื้อง แจกันลายครามจากเมืองจีนสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์ชิง ชามสังคโลกสมัยสุโขทัย เครื่องเคลือบเขียวสมัยอยุธยา พระพุทธรูปสำคัญประมาณค่ามิได้ ฯลฯ และมีนิทรรศการแสดงประวัติของการสร้างเมืองโบราณ ปราสาทสัจธรรม และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

ระเบียงรอบนอกตัวอาคารประกอบด้วยซุ้มประตูแปดซุ้ม ด้านบนแกะสลักปูนปั้นเป็นรูปเทวดาประจำวัน ถัดจากระเบียงเป็นทางน้ำโดยรอบ มีฝายน้ำล้นเล็ก ๆ พื้นน้ำปูด้วยหินสีดำ คุณแดงให้ข้อคิดว่า เพื่อเอื้อต่อผู้ต้องการกำหนดจิตให้นิ่ง แน่วแน่ ด้วยการดูน้ำล้นเรื่อย ๆ ไป เสียงแผ่ว ๆ ของน้ำ และกระแสลมน้อย ๆ อาจพาใจให้เป็นสมาธิได้โดยง่าย ปัจจุบันเป็นที่อธิษฐานลอยดอกบัวของผู้ที่มาเยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

รอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเป็น อุทยานพรรณไม้ในวรรณคดี และพันธุ์ไม้หายากจากทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยา มีงานประติมากรรมลอยตัวเรื่องรามเกียรติ์ ตั้งแต่ตอนกำเนิดนางสีดาจนกระทั่งกรุงลงกาแตก รวมแล้วประมาณ ๑๓๔ ตอน วางเรียงรายล้อมรอบอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

น่าแปลกใจที่เมื่อเดินดูทั้งภายนอกและภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กลับไม่ปรากฏป้ายชื่อหรือรูปปั้นของผู้สร้างสรรค์ตามธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติกันเลย คุณจรูญได้เผยคำตอบให้ฟังว่า

“มีคนถามเสมอว่า ทำไมไม่มีรูปปั้นของคุณแดงหรือเสี่ยเล็กอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ เราจึงบอกว่า คนในครอบครัวนี้อยู่ด้วยการไม่แสดงตัว แสดงแต่ผลงาน ไม่เปิดเผยตัวเอง มีแต่สิ่งที่เราสร้างให้คนอื่นได้สัมผัสแทน”

ความถ่อมตนและไม่ต้องการปรากฏตัว เป็นลักษณะของชาวตะวันออกอย่างแท้จริง

ช้างเอราวัณในโลกแห่งความเป็นจริง

 

สิ่งที่ข้าพเจ้าทำไปแล้วใน วันนี้มีความสำคัญมาก

เพราะว่าข้าพเจ้าได้สละชีวิตหนึ่งเป็นค่าทดแทนไปแล้ว

ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ล่าสุดของสังคมไทยที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในนาม เสด็จพ่อช้าง หรือพ่อช้างเอราวัณ ในวันธรรมดาจะมีคนมากราบไหว้บูชานับร้อยคน และเพิ่มจำนวนเป็นหลายร้อยในวันใกล้หวยออก เนื่องจากร่ำลือกันว่าเสด็จพ่อช้างให้หวยแม่น บางคนที่มาสักการะก็ถูกหวยติด ๆ กันหลายงวด ปรากฏการณ์นี้พลอยทำให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ อันประกอบด้วยอ้อย สับปะรด มะพร้าว มันแกว ฟักทอง และยังมีพ่อค้าหัวใสนำรูปถ่ายช้างสามเศียรใส่กรอบรูปวิทยาศาสตร์มาตั้งขาย ไปจนถึงโปสการ์ด ล็อกเกต พวงกุญแจ เหรียญที่ระลึกรูปช้างสามเศียร และที่ขาดไม่ได้คือแผงลอตเตอรี่ที่มีเรียงรายอยู่หลายแผง

 

“เรื่องของเรื่องเริ่มมาจากมีสามล้อคนหนึ่งถูกหวยเพราะมาบนกับเสด็จพ่อช้าง ก็เลยพูดกันปากต่อปาก ชาวบ้านที่มาบนเริ่มซื้ออ้อย ซื้อกล้วยมาถวาย บางทีขนอ้อยเต็มรถสิบล้อมาทิ้งไว้ที่นี่ เราต้องเอารถแบ็กโฮมาตักออกไปให้ช้างที่เขาดินกิน ส่วนรำแก้บนนี่มีทุกวัน” คุณธานีเล่า

“นี่คนยังน้อยนะครับ เมื่อ ๒ ปีก่อนช่วงที่ขึ้นโครงรูปช้างเสร็จใหม่ ๆ แต่ละวันมีคนแห่มาดูหลายพันคนจนแน่นไปหมด วิพากษ์วิจารณ์กันว่าช้างอะไรตัวใหญ่โตมโหฬารเพียงนี้ จนต้องปิดช่องการจราจรเลยทีเดียว” คนขายดอกไม้ธูปเทียนคนหนึ่งบอกว่า พ่อช้างเอราวัณทำให้เขามีรายได้มากขึ้น

ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์ไปแล้ว แม้แต่รถยนต์ที่แล่นผ่านก็บีบแตรแสดงความคารวะ ภาพคนในรถที่แล่นผ่านมายกมือขึ้นเหนือศีรษะมีให้เห็นหนาตาขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดเทศบาลตำบลสำโรงเหนือได้เลือกใช้ “พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ” เป็นดวงตราสัญลักษณ์ของเทศบาลด้วย

แม้ว่าความคิดดั้งเดิมในการสร้างประติมากรรมช้างขนาดใหญ่คือการทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วไป เป็นที่รวมของศิลปกรรมหลากหลายประเภท หลากหลายช่างฝีมือ แต่เมื่อประชาชนคิดว่าช้างเอราวัณตัวนี้ให้โชคให้ลาภ แห่แหนกันมากราบไหว้ทุกวันจนถนนพลุกพล่านติดขัดไปด้วยผู้คนและยวดยาน คุณแดงก็มิได้ห้ามปรามหรือขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านบูชาเซ่นสรวง ด้วยเห็นว่าเป็นความเชื่อเฉพาะตน

ความคิดนี้ไม่ต่างไปจากคุณเล็กผู้เป็นบิดา อาจารย์ศรีศักรเล่าว่า “มีผู้เคยเสนอว่าควรตกแต่งช้างเอราวัณนี้ให้เป็นช้างทรงของพระอินทร์ โดยมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่บนคอช้าง แต่คุณเล็กไม่สนใจเพราะต้องการให้ช้างยืนอยู่ในสภาพอิสระ เป็นช้างของจักรวาล แต่โดยเหตุที่ช้างเอราวัณเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบความเชื่อของทั้งคนที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ การสร้างให้เป็นอาคารงำเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้ ได้ชักนำคนที่พบเห็นจำนวนมากให้มองว่าเป็นช้างศักดิ์สิทธิ์ เลยมีคนเป็นจำนวนมากไปกราบไหว้บนของสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะการขอลาภ ขอหวย เป็นต้น ซึ่งนับว่าหักเหไปจากเจตนารมณ์ของคุณเล็กเป็นอย่างมาก เพราะคุณเล็กแม้ว่าจะเชื่อในอำนาจและจิตวิญญาณในทางศาสนาก็ตาม แต่ก็ไม่เคยเชื่อและสนใจสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์อย่างที่คนเป็นจำนวนมากในเมืองไทยยึดเป็นสรณะ”

ปัจจุบันอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วหลังจากใช้เวลาก่อสร้างร่วม ๑๐ ปี ตั้งแต่ ที่ไม่มีใครคิดว่าอาคารรูปช้างเหยียบโลกจะสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ จนชาวต่างชาติที่มาเที่ยวชมช้างเอราวัณตัวนี้ ต่างนึกว่าคนไทยจ้างฝรั่งมาสร้าง ไม่มีใครรู้ว่าคนในตระกูลวิริยะพันธุ์ต้องลงเงินไปเท่าไหร่กับการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นนี้ เช่นเดียวกับงบประมาณสร้างเมืองโบราณและปราสาทสัจธรรมที่ไม่ปรากฏตัวเลขแน่ชัด เพราะ…

จำไม่ได้ เพราะเราไม่เคยไปหุ้นกับใคร เราก็เลยไม่ต้องคิดว่าเท่าไหร่ ก็ทำไปเรื่อย ๆ ” คือคำกล่าวของคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ภรรยาของเสี่ยเล็ก

แม้ในช่วงของการทำงานที่ผ่านมา อุปสรรคต่าง ๆ จะถาโถมเข้าใส่ ไม่ว่าช่างฝีมือ วัสดุ หรือเทคนิควิธีหลากหลายที่ผ่านการลองผิดถูกมาตลอด ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างแท้จริง หากไม่ “พากเพียร” อย่าง “วิริยะ” จริง ๆ แล้ว ก็ยากที่จะผ่านพ้นมาถึงจุดจุดนี้ได้ สมดังเจตนารมณ์ที่สลักไว้ในเสาแห่งความกตัญญูทั้งสี่ต้นภายในพิพิธภัณฑ์ ที่ตอกย้ำถึงความกตัญญูต่อแผ่นดิน และความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตัวเอง

erawan32erawan33

คุณเล็ก(ซ้าย) และคุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ สองพ่อลูกผู้สร้างความฝันในกระดาษสเกตช์ให้เป็นจริง

สิ่งที่คุณเล็กและคุณแดง สองพ่อลูกแห่งตระกูลวิริยะพันธุ์ มอบไว้แก่โลก เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่อนุชนรุ่นหลังควรศึกษาให้กระจ่าง และจะพบว่า

“สิ่งที่ตนได้เรียนรู้หรือได้ค้นพบนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่น้อยนิดในจักรวาล มนุษย์เป็นแค่เศษธุลีของจักรวาลที่มีพื้นที่และเวลาเป็นนิรันดร์”

 

 


หนังสืออ้างอิง

– ชีวิตและผลงาน เล็ก วิริยะพันธุ์. ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเล็ก วิริยะพันธุ์ ณ เมรุ หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศรินทราวาส, ๔ กันยายน ๒๕๔๔.

– ริมขอบฟ้า. ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเล็ก วิริยะพันธุ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศรินทราวาส, ๔ กันยายน ๒๕๔๔.

ขอขอบคุณ

คุณจรูญ มาถนอม

คุณสุวรรณี นภาสว่างวงศ์

คุณสำรวย เอมโอษฐ์

คุณรักชาติ ศรีจันทร์เคณ

คุณธานี กุฎฤาษี

คุณชลธิต ฉลองสัพพัญญู

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

 

 

 

 

 

 

 

หลายชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณjumroon

จรูญ มาถนอม ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

“เสี่ยเล็กเคยมีโครงการทำเมืองขนาดใหญ่ให้เป็นเมืองทางวัฒนธรรม บนที่ดินขนาดใหญ่ริมแม่น้ำบางปะกง ประกอบด้วยโรงละคร โรงเรียนช่างสิบหมู่ ตลาดค้าขาย ให้ผู้คนในนั้นสร้างงานขึ้นมาเอง หาเลี้ยงตัวเองได้อยู่ในนั้น อีกโครงการคือพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เสี่ยอยากสร้างชิ้นประติมากรรมยิ่งใหญ่ หากเป็นช้างธรรมดาก็ไม่ยิ่งใหญ่ จึงต้องเป็นช้างเอราวัณ

“ต่อมาเสี่ยเลิกโครงการที่บางปะกงไปเพราะเห็นว่าปราสาทไม้สัจธรรมก็ยังสร้างไม่เสร็จ ตัวเองก็อายุมากแล้ว เลยมุ่งมาทำพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เป้าหมายคือเป็นที่เก็บของสะสมของเสี่ย โดยให้คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ หรือคุณแดง ลูกชายคนโต เป็นคนดูแล

“เสี่ยเล็กเคยพูดว่า โลกเต็มไปด้วยการต่อสู้แก่งแย่ง ทำสงครามกัน หรือแม้แต่กีฬาบางชนิดเช่นวิ่ง ๑๐๐ เมตร เอาชนะกันแค่เสี้ยววินาทีเดียว เสี่ยก็วิจารณ์ว่าจะบ้าหรือเปล่า ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อเอาชนะกันแค่เสี้ยววินาทีเดียว เสี่ยเล็กบอกว่าไม่มีอะไรหยุดความอยาก ความโลภของมนุษย์ได้ นอกจากศาสนา เพราะศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี จึงเป็นที่มาของแนวคิดเสาสี่เสาในอาคาร เป็นตัวแทนของศาสนาต่าง ๆ ที่ค้ำจุนโลก

“มีช่วงหนึ่งเอางานโมเดลพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณไปแสดงที่งานศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มีคนถามว่าทำไมไม่สร้างพระอินทร์ ชาวบ้านมองว่าจะเป็นที่พึ่งทางใจของเขาได้ ถึงขนาดรวมตัวกันส่งนายตำรวจเป็นตัวแทนมาหาเสี่ย ขอให้มีพระอินทร์อยู่บนคอช้าง แต่เสี่ยไม่เห็นด้วย บอกว่าเราไม่ได้สร้างศาลเจ้า เราสร้างประติมากรรมยิ่งใหญ่ สร้างงานศิลปะ ก็ไม่จำเป็นต้องมีพระอินทร์

“พิพิธภัณฑ์ช้างนี่ น่าสนใจว่าคนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นคนทำงานและคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา ทำให้ทีมงานมีกำลังใจที่จะทำงานกันมากขึ้น”

สุวรรณี นภาสว่างวงศ์ สถาปนิกโครงการพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

“ตัวอย่างชิ้นงานในโลกที่ใกล้เคียงกับช้างเอราวัณก็คือ รูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพที่กรุงนิวยอร์ก แนวคิดการออกแบบคล้ายกัน คือใช้ทองแดงขึ้นรูป เทพีแห่งเสรีภาพเขาหล่อทั้งตัวก่อน แล้วค่อยถอดเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ขึ้นไปประกอบ แต่ช้างเอราวัณใช้แผ่นทองแดงชิ้นเล็ก ๆ ค่อย ๆ เคาะขึ้นเป็นรูปด้วยมือ ภายในเป็นโครงเหล็ก แต่ไม่ได้ยึดเชื่อมแผ่นทองแดงเข้ากับเหล็ก เพราะโลหะทั้งสองชนิดเชื่อมกันไม่ติด ต้องทำเป็นตะขอเกี่ยวระหว่างแผ่นทองแดงเข้ากับเหล็กโครงสร้าง และทำให้มีการยืดหยุ่นได้ระดับหนึ่ง

suwanne “แต่การสร้างช้างเอราวัณยากกว่า เพราะเทพีแห่งเสรีภาพเป็นทรงสูงชะลูด ทุกอย่างอยู่ในรูปทรงนี้หมด เหมือนตึกสูงที่พุ่งขึ้นในแนวดิ่ง แต่ช้างมีรายละเอียดมากกว่า มีมิติมากกว่า มีหัวถึงสามหัว มีงวง งา หูช้าง มีรอยพับด้วย ต้องหาทางทำช่องระบายอากาศถ่ายเทความร้อน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกันด้วย

“สิ่งที่ยากที่สุดคือหัวช้าง เพราะยื่นออกไปโดยไม่มีโครงสร้างรับน้ำหนัก ลำพังหัวเดียวก็ยากอยู่แล้ว นี่ปาเข้าไปตั้งสามหัว

“โครงสร้างหลักใช้ระบบเสาคานคอนกรีต โดยมีศาลาเป็นฐานหลักเพื่อรับน้ำหนัก ภายในศาลาจะมีเสาสี่เสาเป็นตัวรับน้ำหนัก ประสานกับแนวคิดของเสี่ยเล็กว่า สี่เสาคุณธรรมค้ำจุนโลก และตรงกับหน้าที่ของเสาหลักที่จะรองรับน้ำหนักของช้างลงมาที่ขาสี่ขา

“หัวช้างใช้วิธีทำโมเดลด้วยโฟมแล้วมาเฉือนออกเป็นท่อน ๆ แต่มันยากกว่าตัวช้างที่มีรูปทรงเป็นก้อน เพราะหัวช้างเป็นสามหัว รูปทรงซับซ้อน จึงเริ่มจากทำหัวช้างหัวแรกก่อน แล้วถอดแบบทำกลับเป็นโมเดลขนาด ๑ ต่อ ๑๐ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีก ก่อนจะขยายแบบเท่าจริงเพื่อขึ้นโครงสร้างเหล็ก

“ทุกอาทิตย์จะมีการพูดคุยกันตลอดทั้งเรื่องโครงสร้าง วัสดุที่ใช้ ฉนวนกันความร้อน การป้องกันน้ำซึม

“พอเป็นงานประติมากรรม ต้องซ่อนระบบต่าง ๆ ให้อยู่ในที่มิดชิด เสาสี่ต้นนั้นตามแนวคิดของเสี่ยอยากทำเป็นเชิงเทียน ต้องมีส่วนฐาน ส่วนคอด ต้องฝากระบบสายล่อฟ้า ระบบไฟฟ้า ระบบแอร์ ซ่อนเข้าไปด้วย

“ลักษณะของโครงสร้าง นอกจากคิดเรื่องการถ่ายน้ำหนักแล้ว ต้องคิดเรื่องแรงลม แรงปะทะ ตัวช้างจึงต้องสั่นไหว แกว่งบ้าง วิศวกรคำนวณไว้แล้วว่าจะอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

“คิดว่าในชีวิตนี้คงไม่มีงานอะไรที่ท้าทายและยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว ทุกวันนี้เวลาชาวต่างชาติมาดูพิพิธภัณฑ์ช้าง เขาบอกไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือคนไทย นึกว่าเป็นฝีมือฝรั่ง”

ธานี กุฎฤาษี ช่างศิลปกรรม หนึ่งในทีมงานก่อสร้าง

“ผมนำแบบที่ได้จากคุณสุวรรณีมาขยายอีกทีหนึ่ง แล้วมาแก้ไขที่หน้างานด้วย ผมต้องไปนั่งดัดเหล็ก เชื่อมเหล็ก และประกอบแผ่นทองแดงอยู่บนนั่งร้าน

“ส่วนยากที่สุดคือหัวช้าง โดยเริ่มทำหัวอันกลางก่อน ประกอบบนพื้นข้างล่างก่อนยกขึ้นไป ใช้เหล็กขึ้นโครง กว่าจะขึ้นแบบได้ ต้องดัดเหล็กให้ได้รูป ยากที่สุด แล้วทำเครื่องหมายตามเหล็กแต่ละเส้นที่สานกัน เวลาขึ้นประกอบข้างบนก็ประกอบตามหมายเลข

tane

“ส่วนลวดลายบนตัวช้าง พวกลายผ้า หรือพู่สะบัดบนตัวช้าง ก็ดัดกันข้างบน ขึ้นโครงเหล็กเส้นหนึ่งสานให้เป็นไปตามลวดลาย โดยใช้กระดาษทาบวัดแล้วมาทาบใส่แผ่นทองแดง เอาแผ่นทองแดงมายึดใส่โครงเหล็กอีกทีหนึ่ง เวลาประกอบทีมหนึ่งจะมีช่างสองสามคน คนหนึ่งอยู่ข้างนอกเชื่อมแนว อีกคนอยู่ข้างในคอยเชื่อมตะขอ โดยใช้คีมจับเพราะทองแดงร้อน กว่าจะประกอบได้แต่ละชิ้นต้องขึ้นลงนั่งร้านหลายครั้งเพื่อดูความเรียบร้อย หากไม่ใช่ก็ต้องขึ้นไปตัดทิ้ง ทำใหม่

“ส่วนที่ทำยากที่สุดคืองาช้าง เป็นรูปทรงง่าย ๆ แต่ทำยาก ต้องทำให้งาเชิดดูสง่า และเวลาฝนตก แต่ละช่วงของช้างจะมีน้ำขัง ต้องเจาะรูเล็ก ๆ ไปทั่วให้น้ำไหลได้ โดยเฉพาะช่วงงา งวง ชายผ้า

“การขึ้นรูปด้วยทองแดงเป็นเทคนิคการเคาะผิวรถยนต์ เราใช้แผ่นทองแดงขนาด ๔ x ๘ เมตรกับขนาด ๒๕ x ๑๒๐ ซม. เอามาเผาให้อ่อน เคาะแผ่นหนึ่งแล้วตัดซอยเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม

“สภาพทองแดงจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตอนแรกเป็นสีทองแดง ๒ ปีผ่านไปจะเริ่มดำ กว่าจะเป็นสีเขียวก็ใช้เวลาเป็นร้อยปี แต่ถ้าเค็มมากจะเขียวเร็วขึ้น หมายถึงสนิมมาแล้ว… ทองแดงที่ใช้เกือบครึ่งเสียไปเพราะเป็นงานทดลอง และคุณแดงต้องการได้งานดีที่สุด เหมือนงานปั้นดิน เสียแล้วเสียเลย”

สำรวย เอมโอษฐ์ ช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี ผู้รับผิดชอบการตกแต่งภายในอาคาร

“ตอนแรกที่คุณแดงให้ผมมาออกแบบปูนปั้น ผมก็นึกอยู่นานว่าจะเอาอะไรมาประดับดี คิดจะประดับด้วยกระจก หรือปิดทอง ก็เหมือนวัดวัง มีคนทำเยอะแล้ว และทองกับกระจกก็ไม่ทน อยู่ได้แค่สิบปีก็จะดำ หมดคุณค่า เลยลองเอาถ้วยเคลือบจีนและเบญจรงค์ไทยมาใช้ เห็นตัวอย่างจากวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เดี๋ยวนี้ยังอยู่สวยเหมือนเดิม

sumrouy “แต่ถ้วยพวกนี้ราคาแพง ไม่เคยมีใครกล้าเอามาทุบแตก ผมเป็นคนได้ความคิดนี้มา เวลาจะตัดถ้วยจีน ต้องกระทุ้งให้ตูดถ้วยหลุดออกมาก่อน แล้วเอาคีมคีบให้แตกสี่ห้าชิ้น เอาชิ้นส่วนเหล่านี้มาประดับบนลายปูนปั้นให้คุณแดงดูก่อน แกชอบ ก็ให้ทำไปเรื่อย ๆ

“ลวดลายปูนปั้นมีทั้งศิลปะไทย ขอม แขก จีน ฝรั่ง ผสมผสานกัน เพราะเป็นศิลปะทั้งโลก และได้แบบมาจากธรรมชาติ อาทิศิลปะขอม เอาทัศนะมาจากน้ำ ส่วนอยุธยา เอาทัศนะมาจากไฟ เอาเปลวไฟและเถาใบไม้มาทำลวดลาย แบบที่ออกก็ไม่ได้เขียนลายมาก่อน ไปออกตอนทำเลย ปั้นไปทำไปแบบสด ๆ เลย

“การผสมปูนตำแบบโบราณ ช่างแต่ละคนจะรู้เองว่าส่วนผสมเป็นอย่างไร เพราะการปั้นแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน อย่างจะปั้นดอกไม้ ก็ต้องใส่ข้าวเหนียวมาก ๆ ให้เหนียวเข้าไว้ เวลาปั้นกลีบดอกบาง ๆจะได้แข็งแรง

“เราเองก็เป็นช่างบ้านนอก ทำอยู่ตามวัด เพิ่งมาทำงานใหญ่ก็ตอนซ่อมวัดพระแก้ว คุมลูกน้อง ๓๐๐-๔๐๐ คน แต่เป็นงานรักษาของเก่า ไม่ได้ทำใหม่ ไม่เหมือนงานนี้ที่มีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้ใช้ฝีมือของตัวเอง เราทำอยู่ที่นี่ ๗ ปีกว่า ลูกน้องประมาณ ๓๐ กว่าคน

“เป็นบุญของเราที่มาเจอเสี่ยเล็กและคุณแดง คิดว่างานนี้เป็นงานดีที่สุดในชีวิต เพราะหนึ่ง สถานที่ดี เป็นงานศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของไม่ได้สร้างเพื่อค้ากำไร สอง เจ้าของใจถึง มีทั้งเวลา อุปกรณ์ สถานที่ให้ เราเปรียบได้กับวงดนตรีจากบ้านนอกวงเล็ก ๆ แต่เขาให้เรามาขึ้นเวทีใหญ่ ถ้าเราแสดงไม่ดี ก็ไม่คุ้มกับที่เขาให้โอกาส”

………………..

ช้างเอราวัณ : เทพเจ้าแห่งช้าง

วิยะดา ทองมิตร

ในภาษาสันสกฤต เรียกช้างเอราวัณว่า ไอราวต ไอราวณ ภาษาบาลีเรียก เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และเอราวัณ ชื่อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่า กลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก โดยมีความสอดคล้องที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก

บางตำนานก็ว่า พระอิศวรได้ประทานช้างเอราวัณให้เป็นช้างทรงของพระอินทร์ บ้างก็ว่าช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรเอราวัณจะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ชื่อว่า เอราวัณ และบ้างก็ว่าช้างที่มาฆมานพใช้ในการสร้างศาลาบนมนุษย์โลกนั้น เมื่อตายไปได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเอราวัณและคอยเนรมิตกายเป็นช้างทรงของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

chang01

เอราวัณเป็นช้างที่มีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายเผือกผ่องเมื่อเทียบกับภูเขาไกลาสซึ่งเป็นภูเขาเงิน ภูเขานั้นจะมีสีหมองคล้ำลง เป็นช้างที่มีพลังมาก เป็นเจ้าแห่งช้างทั้งหลาย ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่า

ช้างไอราวตะมีงา ๔ งา มี ๓ งวง รูปร่างใหญ่มหึมา และเป็นช้างเผือก

ในไตรภูมิพระร่วงได้พรรณนาถึงความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียดดังนี้คือ

และว่ายังมีเทพยดาองค์ ๑ ชื่อ ไอยราวรรณเทพบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีที่สเด็จไปเล่นแห่งใดๆ ก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเล่นจึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตรตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้าง นอกหัวทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้ากว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เริงใหญ่ตัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวอันใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อ สุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งพระอินทร์โดยกว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วาแลฯ เหนือหัวตัวนั้นแลมีแท่นแก้วหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา แลมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีทั้งสองแก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ทั้งฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนาดังเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์แลมีแท่นนอนอยู่ในที่นั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสน์หนาหมอนใหญ่หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา แลประดับนี้ด้วยแก้วถนิอาภรณ์ทั้งหลายแล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้น หัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ฯ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวๆ มีงา ๗ อันแลงาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานนั้นมีสระได้ ๗ สระๆ แลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอๆ บัวแลกอนั้นมีดอก ๗ ดอกๆ แลอันนั้นมีกลีบ ๗ กลีบๆ แลอันๆ มีนางฟ้ายืนรำระบำบรรพต แล ๗ คน แลนางแลคนๆ นั้นมาสาวใช้ได้ ๗ คนโสด…

กล่าวโดยสรุป ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาว มีหัว ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงาเจ็ดงา แต่ละอันยาวสี่ล้านวา แต่ละงามีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาฟ้อนรำอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์มีบริวารอีกเจ็ดนาง รวมได้ว่า ช้างเอราวัณมี ๓๓ หัว มีงา ๒๓๑ งา มีสระบัว ๑,๖๑๗ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ มีดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัว ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ และบริวารของเทพธิดาอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง

บทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์ และเนื่องจากพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าเทพที่กำกับดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง นำความอุดมสมบูร์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปบนสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลให้เกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศทางเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประทับใจและชื่นชมในตัวช้างเอราวัณที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลก

ช้างเอราวัณถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้ช้างเอราวัณจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ สัญลักษณ์ของการกระทำดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในงานศิลปกรรมต่าง ๆ จึงนิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่ไปกับพระอินทร์ หรือบางทีก็ทำแต่เพียงรูปช้างสามเศียรอันเป็นสัญลักษณ์ของช้างเอราวัณเท่านั้น เหตุที่ทำเป็นรูปช้างสามเศียรแทน ๓๓ เศียรนั้นคงเป็นเพราะรูปแบบทางด้านศิลปะน่าจะมีความงดงามลงตัวมากกว่า