เรื่อง : รุ่งโรจน์ จุกมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

bird1

บ่ายวันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๗ ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุหลังสงกรานต์ที่พุ่งสูงเกือบ ๔๐ องศา แต่กลับมีผู้คนจำนวนมากเดินทางจากทุกสารทิศมารวมกันอยู่ริมบึงน้ำภายในพื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริแหลมผักเบี้ย อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี ไม่บ่อยครั้งนักที่นักดูนกจะมารวมกันมากเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ แต่ก็ไม่น่าใจประหลาดใจ หากทราบว่าพวกเขามาชุมนุมกันที่นี่เพื่อดู นกกรีดน้ำ (Indian Skimmer/Rynchops albicollis) นกที่หายากมากที่สุดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง

นกกรีดน้ำตัวนี้มาปรากฏตัวที่แหลมผักเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน โดย พอพล นนทภา แห่ง www.thaiwaterbirds.com เป็นผู้พบคนแรก เขาและเพื่อนแวะเข้ามาดูนกภายในโครงการฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล แวดล้อมด้วยนาเกลือ บ่อเลี้ยงกุ้ง และป่าชายเลน พื้นที่นี้จัดเป็นแหล่งดูนกน้ำและนกชายเลนที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทยตอนใน ตอนแรกนักดูนกกลุ่มนี้ตื่นเต้นกับ นกกาน้ำใหญ่ (Great Cormorant/Phalacrocorax carbo) นกน้ำขนาดใหญ่ที่หายากอีกชนิดหนึ่งของเมืองไทยที่พบถึง ๔ ตัว แต่เมื่อนกกรีดน้ำบินขึ้นจากบ่อเลี้ยงกุ้งด้านนอก เข้ามาหากินเหนือบึงน้ำภายในโครงการฯ พอพลก็ทราบทันทีว่า วันนี้เขาได้พบสิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าอีกหลายเท่า

นี่เป็นการพบนกกรีดน้ำตัวที่ ๔ ของเมืองไทยในรอบ ๑๒๗ ปี โดยรายงานแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๐ ที่ จ. มุกดาหาร โดย F.C. Harmand ตอนนั้นมิสเตอร์ฮาร์มานด์เรียกชื่อเดิมของนกชนิดนี้ว่า Scissorbill ตามรูปทรงเรียวยาวมาดของปากจนดูคล้ายกรรไกร จากนั้นต้องรออีก ๗๗ ปีต่อมาถึงได้มีผู้พบนกกรีดน้ำเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่บางปู จ. สมุทรปราการ โดย William W. Thomas เขารายงานว่านกกรีดน้ำกำลังหากินปะปนกับฝูงนกนางนวลแกลบ และสามารถจับปลาได้หนึ่งตัว สำหรับนกตัวที่ ๓ มีรายงานเมื่อวันที่ ๑๘ และ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่โคกขาม อ. เมือง จ. สมุทรสาคร โดย Wim van Splunder เป็นผู้พบคนแรก ต่อมาอีก ๕ วัน พิพัฒน์พงษ์ ระพีพรรณ จึงพบอีกครั้ง จนกระทั่งมาถึงครั้งล่าสุดที่แหลมผักเบี้ย*

bird2

เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาและจำนวนครั้งที่พบ สถานภาพของนกกรีดน้ำในเมืองไทยจึงถูกจัดให้เป็นนกย้ายถิ่นที่หายากมาก (very rare visitor) และเหตุผลที่ทำให้นักดูนกทุกคนปรารถนาจะได้เห็นมันสักครั้ง ไม่เพียงในบ้านเรา แต่นกกรีดน้ำยังติดอันดับหายากและมีสถานภาพเป็นนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (vulnerable) ในระดับโลกจากข้อมูลของ BirdLife International ด้วย นกชนิดนี้เคยกระจายพันธุ์อยู่ในแถบอนุทวีปอินเดีย (Indian Subcontinent) เรื่อยมาจนถึงพม่า รวมทั้งมีรายงานจากลาวและกัมพูชาด้วย แต่ปัจจุบันไม่พบนกขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นอีกนอกจากประเทศอินเดีย

ในอินเดียนกจะทำรังตามหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ๆ ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะแถบลุ่มแม่น้ำคงคา พฤติกรรมเช่นนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลง เนื่องจากพื้นที่สร้างรังตามริมแม่น้ำถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์และมีการเปลี่ยนสภาพไป จนนกขาดแคลนถิ่นอาศัยและขยายพันธุ์ ทำให้มีการประมาณการว่าประชากรของนกกรีดน้ำทั้งหมดน่าจะเหลืออยู่ไม่เกิน ๑ หมื่นตัว

นกกรีดน้ำเป็นนกในวงศ์ Laridae เช่นเดียวกับพวกนกนางนวล โดยอยู่ในสกุล Rynchops ซึ่งพบอีก ๒ ชนิด คือ นกกรีดน้ำสีดำ (Black Skimmer/R. niger) พบกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และนกกรีดน้ำแอฟริกา (African Skimmer/R. flavirostris) ที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ชื่อของนกกรีดน้ำมีที่มาจากพฤติกรรมหากิน โดยนกจะบินเรี่ยผิวน้ำเรียบๆ ไปตรงๆ พร้อมกับอ้าปากออก แล้วใช้ปากล่างที่ยื่นยาวกว่าปากบนจุ่มลงไปในน้ำและลากเป็นทางยาว เมื่อมีปลาตัวเล็กๆ มากระทบกับปากล่าง นกจะรีบหุบปากงับเหยื่อและเงยหัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วคาบบินกลับไปกิน

นกกรีดน้ำออกหากินเฉพาะช่วงเช้าตรู่และตอนเย็น รวมทั้งในคืนเดือนหงาย นกตัวที่แหลมผักเบี้ยจะใช้เวลาตลอดทั้งวันยืนนิ่งพักผ่อนสลับกับไซ้ขนอยู่กลางบ่อเลี้ยงกุ้งและนาเกลือ จนเมื่อได้เวลาหากินราวห้าโมง นกจึงบินโชว์ลีลากรีดน้ำอยู่หลายรอบ กว่าจะได้ปลาเป็นอาหารเย็น ท่ามกลางสายตาของนักดูนกนับร้อยคนที่รอชมการแสดงด้วยความตื่นเต้นและสมหวังต่อภาพประทับใจที่ทุกคนเคยปรารถนาจะได้เห็นในเมืองไทยสักครั้ง
จากนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า นกกรีดน้ำตัวต่อไปจะมาเยือนเมืองไทยอีกเมื่อใด

*ข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลนก (BCST Records Comittee) ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดย ฟิลิป ดีราวด์