นิรมล มูนจินดา : สัมภาษณ์
สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ

สุกรี เจริญสุข "ผมสอนความคิดนักเรียน ผมเป็นครูสอนดนตรีไทย"

“ผมสอนดนตรี สอนปรัชญา สอนความคิดนักเรียนและสังคม ผมเป็นครูสอนดนตรี”

รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข
ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นบุตรชายคนที่สามของนักเลงเพลงบอกและชาวนาแห่งอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะเรียนมัธยม สุกรี เจริญสุข ตั้งใจว่าจะเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะความเชื่อที่ว่าการศึกษาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญเอกสาขาการเล่นและการสอนแซ็กโซโฟน จาก University of Northern Colorado สหรัฐอเมริกา เมื่ออายุ ๓๒ ปี

ปีนี้ ดร. สุกรี อายุ ๕๒ ปี เป็นผู้ก่อนตั้งและผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ หนึ่งในวิทยาลัยที่ออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยมหิดล ระดมทั้งทุน ทั้งทรัพยากรบุคคลด้านดนตรีจากทั่วประเทศไทยและจากประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างวิทยาลัยดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมกับวิทยาลัยดนตรีในต่างประเทศ

ดร. สุกรี กำลังเตรียมพื้นที่แห่งการศึกษาอันอุดมสมบูรณ์เพื่อเพาะต้นกล้านักเรียนดนตรีให้เติบโตเป็นนักดนตรีมืออาชีพทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยผู้เรียนไม่ต้องไปไหนไกลจากประเทศไทย

“แทนที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เราก็เอาครูจากต่างประเทศมาสอนที่นี่เลย ลูกเรียนที่นี่ เพื่อนลูกก็เรียนที่นี่ ลูกของเพื่อนก็เรียนที่นี่ แทนที่จะได้เรียนคนเดียว ก็ได้เรียนสามสิบ สี่สิบ เรียนเป็นร้อย เด็กโตขึ้นมาก็มีพวก และเปลี่ยนแปลงสังคมไทย”

วันนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีอายุเข้าปีที่ ๑๐ มีนักเรียนดนตรีกว่า ๕๐๐ คน และสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า ๑๐๐ คน

ถึงกระนั้น การศึกษาและฝีกฝนฝีมือทางดนตรีในระดับอุดมศึกษาดูเหมือนจะเป็นเรื่องปลายมือเกินไป

สายตาที่เห็นว่า เด็ก ๆ เป็นลูกของสิ่งแวดล้อม เป็นผลผลิตของการศึกษาและการอบรม ทำให้ ดร. สุกรี สนใจกระบวนการสร้างนักดนตรีมืออาชีพ ตั้งแต่ผู้เรียนยังเป็นเด็กเล็ก เช่นเดียวกับวิธีการสอนไวโอลินตามแบบซูซูกิ ที่มีพื้นฐานว่า ชีวิตช่วงแรกเริ่มของเด็กคือเวลาที่ดีที่สุดในการเล่นไวโอลิน

ในปี ๒๕๓๘ ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อตั้งวิทยาลัยฯ ดร. สุกรีก็เริ่มต้นทำงานวิจัยส่วนตัวที่ชื่อ “โครงการพรสวรรค์ศึกษา”

ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการโครงการดังกล่าว ในฐานะที่เป็นคุณพ่อของลูกสามคนที่มีฝีไม้ลายมือทางดนตรี ดร. สุกรี –ในฐานะที่เป็นรอยต่อทางเลือดเนื้อเชื้อไขระหว่างนักเลงเพลงบอกพื้นบ้านกับนักวิโอลา-นักไวโอลิน-นักเชลโลวัยรุ่นทั้งสาม– ปฏิเสธถึงความสามารถที่บรรจุมากับดีเอ็นเอ และบอกว่า “พรสวรรค์สร้างได้ ไม่ต้องรอเทวดา”

โครงการพรสวรรค์ศึกษาที่อาจารย์ทำวิจัยเป็นอย่างไรคะ
โครงการพรสวรรค์ศึกษา (Talent Education Reserach Project) เป็นโครงการวิจัยส่วนตัวของผมที่ทำมา ๑๐ ปีแล้ว ผมไม่ได้ทำเป็น formal research แต่เป็น informal มันเป็นปรัชญามากกว่าว่า “พรสวรรค์สร้างได้” เป็นปรัชญาที่ผมคิดว่าต้องการขยายให้เป็นระบบการศึกษาของชาติ ผมวิจัยและเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้เขียน proposal เพราะไม่มีใครให้ทุน ทำเองและทำไปเรื่อย ๆ ผมตีพิมพ์ผลงานในวารสารเพลงดนตรี Music Talk การเขียนหนังสือและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นการรายงานผลการวิจัย

โครงการนี้ต้องการค้นหาพรสวรรค์ด้านดนตรีที่อยู่ในตัวเด็กตั้งแต่เกิด เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวของเด็กโดยอาศัยการเล่นดนตรี แล้วนำสิ่งที่ได้มาพัฒนาและสร้างเป็นผลงานออกมาจริง ๆ เช่น ทำแผ่นซีดีดนตรีคลาสสิก และออกแสดงคอนเสิร์ต

ผมพูดและตอบคำถามพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และให้มาเป็นหุ้นส่วนด้วย เพราะว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นกำลังสำคัญในทุก ๆ ด้าน ทั้งกำลังใจ ให้เวลา เงิน และความเข้าใจ เป็นคนคอยรับส่งลูก ซื้อเครื่องดนตรี คอยเตือนเด็กเมื่อถึงเวลาซ้อม ออกค่าชุดค่าแต่งตัวสำหรับแสดงคอนเสิร์ตให้ ความเกื้อหนุนของพ่อแม่ผู้ปกครองนี้สำคัญที่สุด นอกจากนี้ครู-ในฐานะที่เป็นคนจัดการด้านการศึกษาดนตรี-ก็ถือเป็นหุ้นส่วนด้วย

sukre02

ที่มาของโครงการนี้คืออะไรคะ
มันมีความคิดความเชื่อเก่าว่า ถ้าเราไม่สามารถตอบอะไรได้ เราก็ยกคำตอบให้มาจากสวรรค์หรือคำตอบมาจากเทวดา ผมไม่เชื่อเรื่องคำตอบของสวรรค์หรือคำตอบของเทวดา จากโครงการฯ ที่ทำมา ผมเชื่อว่า พรสวรรค์สร้างได้ ผมเชื่อว่าดนตรีเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีส่วนบันดาลให้เด็กเกิดมีพรสวรรค์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของยีน ไม่ใช่เรื่องของดีเอ็นเอ
การอบรมเลี้ยงดู การศึกษาเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมีพรสวรรค์แตกต่างกัน เด็กเกิดมาบริสุทธิ์มีความดีงาม เด็กเล็ก ๆ น่ารักไร้เดียงสาทุกคน แต่ทำไมพอโตขึ้นมาไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราก็สร้างสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับยีนที่สมบูรณ์ เช่นว่าเด็กออกมาเป็นเด็กสมบูรณ์ครบสามสิบสองประการ เราก็สร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กมีความรู้สึกนึกคิดพร้อมที่จะเป็นนักดนตรี นี่คือประเด็นสำคัญ

ในความเป็นจริงแล้วผมทนไม่ได้ที่เห็นนักเรียนในระดับปริญญาตรีปริญาโทที่มาเข้าวิทยาลัยฯ มือไม้แข็งหมดแล้ว แก้อะไรไม่ได้ เมื่อมือแข็งแก้ไม่ได้ มีความรู้น้อย เด็กเหล่านี้ก็พัฒนาช้า พอทำท่าจะได้ ก็จบปริญญาตรีเสียแล้ว อย่างเก่งก็ได้ใบปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรไปแขวนที่ฝาผนังแล้วก็ไม่หาความรู้อีก มันไปไม่ถึงความเป็นนักดนตรีอาชีพ เพราะว่าดนตรีเป็นความรู้ที่เขาเรียนมาทีหลัง ความรู้ที่เรียนมาทีหลัง เรียนแล้วก็ลืม เห็นแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าไม่มีสามารถจะทำได้

คำว่า “ทีหลัง” หมายถึงอายุเท่าไรคะ
อายุหลังจาก ๑๒ ปีแล้ว เป็นความรู้ที่เรียนทีหลัง แต่ความรู้คู่ชีวิตเป็นความรู้ที่เรียนมาแต่เกิดถึงก่อนอายุ ๑๒ ปี ยกตัวอย่างว่า เด็กที่เกิดในท้องถิ่นต่าง ๆ แล้วย้ายท้องถิ่นหลังจากอายุ ๑๒ ปี เขาก็จะรู้ว่าเขาเกิดที่ไหน เขาเป็นคนที่ไหน ความเป็นคนที่ไหนอยู่กับตัวเขาตั้งแต่แรกเกิด สมมุติว่าเขาเป็นเด็กอีสาน เขาจะพูดภาษาอีสานเพอร์เฟ็กต์ เขาเป็นเด็กปักษ์ใต้ เขาก็จะพูดภาษาปักษ์ใต้เพอร์เฟ็กต์ เป็นเด็กสุพรรณก็จะพูดภาษาสุพรรณเพอร์เฟ็กต์ หรือเป็นเด็กฝรั่งก็พูดภาษาอังกฤษเพอร์เฟ็กต์อย่างนี้เป็นต้น

แต่ถ้าเขาย้ายถิ่นฐานตั้งแต่อายุก่อน ๑๒ ปี เขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสิ่งที่เขาพบใหม่ในสิ่งแวดล้อมใหม่เป็นคู่ชีวิตได้ แต่หลังจาก ๑๒ ปีไปแล้ว ความรู้นั้นจะเป็นความรู้ที่มาบวกเอาทีหลัง เรียนแล้วก็จะลืม

สิ่งที่พบนี้มาจากไหนคะ
จากประสบการณ์และการทำวิจัย ซึ่งความสงสัยในทฤษฎีต่าง ๆ ว่า ทำไมในทฤษฎีการเรียนการสอนดนตรีของครูที่มีชื่อเสียง จึงให้ผู้เรียนเริ่มเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทฤษฎีของครูสอนดนตรีคนสำคัญของโลก เช่น ทฤษฎีของคุณครูชินนิชิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki) ชาวญี่ปุ่น ทฤษฎีของดาวโคลส ชาวสวิส ทฤษฎีของคาวออฟ ชาวเยอรมัน หรือของโกดาย ชาวฮังการี ครูสี่คนนี้มุ่งสอนเด็กตั้งแต่เล็ก เขาไม่ได้สอนผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นผมก็สังเกตว่าทำไมเขาต้องสอนเด็ก อ๋อ มันเป็นความรู้คู่ชีวิต ต้องเรียนตั้งแต่เล็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี

อย่างซูซูกิ เป็นครูสอนไวโอลินที่ก่อตั้งสถาบันวิจัยพรสวรรค์ศึกษา (Talent Education Research Institute) เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน ก็เสนอวิธีเรียนดนตรีแบบใหม่ โดยการเลียนแบบแม่สอนลูก คือลูกเรียนรู้จากแม่ด้วยการเลียนแบบ ครูสอนดนตรีก็เล่นดนตรีให้เด็กดูเพื่อให้เขาเลียนแบบ ถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ครูต้องทำอย่างนั้นได้ ถ้าอยากให้เด็กเก่ง ครูก็ต้องเก่ง เขาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อม เช่น บรรยากาศ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคน คือครูที่สมบูรณ์แบบ ซูซุกิทำลายความเชื่อเดิมเรื่องพรสวรรค์อย่างสิ้นเชิง และสร้างให้เด็กทุกคนที่อยากเรียนดนตรีเก่งได้ นักดนตรีเอกของโลกหลายคนก็เป็นลูกศิษย์ของซูซูกิ

การเรียนการสอนและการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีในโครงการพรสวรรค์ศึกษามีอะไรบ้างคะ
แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็น general music education คือเป็นความรู้ดนตรีทั่ว ๆ ไป ให้เด็กทั่วไปได้เรียนดนตรีเพื่อความสุขส่วนตัว ใครอยากเรียนหนึ่งชั่วโมงก็ดี หรือใครอยากเรียนสองชั่วโมงหรือมากกว่านั้นก็ดี นักเรียนส่วนนี้มีอยู่ร่วมหมื่นคนถึงปัจจุบัน

ประเภทที่สอง เรียนเพื่อจะเอาจริงเอาจังทางดนตรี เรียนดนตรีเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ เป็นความรู้คู่ชีวิต ก็จะเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เอาจริงเอาจังและได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

และประเภทที่สามคือ เรียนเพื่อประกอบอาชีพ คือตัดสินใจเรียบร้อยแล้วว่า ฉันจะมุ่งไปทางดนตรีแล้ว คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อย เมื่อเขาตัดสินใจปั๊บ เราต้องหาทางทุกวิถีทางเพื่อเกื้อหนุนหรือสนับสนุนให้เขาพัฒนาได้เต็มศักยภาพได้มากที่สุด ให้ได้เรียนกับครูทั้งตัวต่อตัวและเรียนเป็นกลุ่ม สร้างบรรยากาศ ตั้งวงดนตรี บันทึกแผ่นเสียง ออกแสดงงานต่าง ๆ โดยให้แต่งตัวอย่างนักดนตรีจริง ๆ เพื่อให้เจ้าตัวเด็กนี้มีความรู้สึกว่าโก้ มีความรู้สึกภูมิใจในความเป็นอาชีพ ได้ยินเสียงปรบมือจากผู้ชม มีความรู้สึกว่าได้รับ recognise จากสังคม นอกจากนั้นก็สร้างให้เขามีความรู้สึกว่า เขามีเกียรติเชื่อถือได้ มีผู้จัดการที่คอยดูแลเอาใจใส่ให้เขาทำหน้าที่เป็นนักดนตรีอย่างจริงจัง ซ้อมดนตรี เล่นดนตรีอย่างจริงจังและไม่เขว ให้เขารู้สึกว่าเขาเล่นดนตรีแล้วเขาได้ค่าขนม ได้ทุนการศึกษา มีคนดูแล พ่อแม่ก็มีความเชื่อมั่น ความจริงสตางค์ก็ไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นกระบวนการพัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นว่า โอกาสของการเป็นนักดนตรีมืออาชีพนั้นเป็นไปได้

คำว่า “พรสวรรค์” ของอาจารย์ก็มีความหมายแตกต่างจากของสาธารณชน
พรสวรรค์สำหรับผมคือ ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ ทำตลอดเวลา การทำบ่อย practice makes perfect อัจฉริยะมาจากการฝึก ประเด็นอยู่ตรงนั้น

sukre03

ไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์
เชื่อเรื่องพรสวรรค์ที่มาจากการฝึก ไม่เชื่อพรสวรรค์ที่มาจากดีเอ็นเอ ไม่เชื่อว่าเกิดมาคาบไม้ระนาดแล้วจะเป็นนักระนาด

อาจารย์เคยพูดว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้องอาศัย “พรสวรรค์ ๑ เปอร์เซนต์ อีก ๙๙ เปอร์เซนต์เป็นการฝึกฝนและความพยายาม” คำพูดนี้อธิบายอะไรเกี่ยวกับตัวอาจารย์เองบ้างคะ
ผมไม่ได้เก่งหรอก ผมไม่รอคอยสวรรค์ ไม่รอคอยเทวดา เพราะชีวิตผมไม่เคยได้อะไร คนอื่นเขามีอยู่มีกิน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เขาไม่ต้องดิ้นรน แต่ผมลำบาก แล้วผมทะเยอทะยาน ผมคิดว่าผมไม่อยากเป็นชาวนาอย่างพ่อแม่ เพราะว่าเกิดมาเป็นลูกชาวนา ตื่นเช้าตรากตรำทำงาน กลับบ้านก็เหนื่อยหมดแรง ขายข้าวก็ได้น้อย พอผมเห็นคนจากอำเภอไปที่บ้าน แต่งตัวดีมีการศึกษา ผมก็เชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงมนุษย์ ผมถึงอยากมีการศึกษาบ้างเพื่อต้องการเปลี่ยนสถานภาพที่ผมเป็นอยู่

แล้วทำไมอาจารย์สุกรีมา “เป็น” ดนตรีล่ะคะ
หนึ่ง ผมเป็นคนยากจน พ่อแม่ผมยากจน ผมเป็นคนบ้านนอก สิ่งที่ผมได้รับตั้งแต่ต้นคือ พ่อเป็นนักร้อง ร้องเพลงพื้นบ้าน ร้องเพลงบอก ศิลปินเขาเรียกนักเลง นักเลงแปลว่าศิลปิน ไม่ใช่นักเลงหัวไม้ เวลาที่เขาเมาขึ้นมาเขาก็แสดงออกทางศิลปะ ทางการร้องรำทำเพลง ผมมีหน้าที่ตีฉิ่ง ได้ยินพ่อร้องเพลงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ทุกวัน พอจำความได้ พ่อก็มีความมุ่งมั่นอยากให้เรียนอะไรสักอย่างที่นอกเหนือจากวิชาการติดตัว ความหมายคือ ให้มีศิลปะสักอย่างติดตัว เป็นนักกีฬาก็ได้ เป็นนักวาดภาพก็ได้ อะไรก็ได้ พ่อคิดว่าคนมีปัญญา คนเก่ง เป็นนักปราชญ์ต้องมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวอยู่

เป็นคุณพ่อหัวก้าวหน้าหรือคะ
เขาเป็นครูครับ เป็นครูบ้านนอกที่นครศรีธรรมราช ซึ่งในที่สุดผมก็สนใจดนตรี ผมเรียนดนตรีตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน กับพ่อจนอายุ ๑๓ พอได้ไปเรียนที่โรงเรียนคริสเตียนในเมือง ผมก็ได้ครูฝรั่งสอนให้ร้องเพลงคริสตมาส แต่ผมก็อาศัยอยู่วัด ฟังพระสวดทุกคืน โอ้โห มันเพราะจังเลย ในขณะที่คนอื่นเขาไม่ฟัง พระสวดธรรมดาแต่มันมีฮาร์โมนี มันเพราะ และมันมีความกังวาน มีประสานเสียง

ผมฟังพระสวดทุกวัน ไปอยู่โรงเรียนคริสเตียนร้องเพลงคริสตมาส ร้องเพลงประสานเสียงมันก็เพราะอีกแบบหนึ่ง ผมกลายเป็นนักร้องประจำโรงเรียน เป็นนักดนตรีประจำโรงเรียน เล่นดนตรีในงานแห่นาค งานศพ งานบวช ผมยังมีเพื่อนเป็นอิสลาม พอไปสุเหร่าก็ฟังบทสวดที่มีท่วงทำนอง สิ่งเหล่านี้มันสั่งสมโดยไม่รู้ตัว พอผมอยู่ ม.ศ. ๓ ก็เป็นนักดนตรีกึ่งอาชีพแล้ว เล่นดนตรีตามงานเดือนสิบ งานเดือนสิบนครศรีธรรมราชนี้ใหญ่มาก สิบวันสิบคืน ผมเป็นนักดนตรีประจำโรงเรียนผมได้เล่นทุกคืน

ใครคือครูสอนดนตรีคนแรกคะ
ครูคนไทยชื่อ สุมล ดุริยประพันธ์ ครับ เป็นครูต่างจังหวัด แต่ครูท่านเก่ง เล่นแอคคอเดียน และสอนให้ผมเป่าแซ็กโซโฟน เป่าทรัมเป็ต ผมก็เป็นนักเรียนหมายเลขหนึ่งของครู ครูไปเล่นที่ไหน ผมก็ติดตามไปเล่นหมด ครูรับงานบวช งานแต่งงาน งานแห่นาค งานศพ ครูไปเล่นดนตรีวงลูกทุ่งอาชีพชื่อ “ดาวรุ่งนคร” ผมก็ตามครูไปเล่นแซ็กโซโฟน คือมีโอกาสสัมผัสความเป็นอาชีพจริง ๆ ได้เงินคืนละ ๒๕ บาท สมัยนั้นข้าวแกง ๓ บาทเอง ๒๕ บาทนี้สุดยอดแล้ว แต่เงินไม่ใช่ความหมายนะ

ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือเลย ไม่เรียนเลย แต่พอสอบเข้าเรียนต่อ ก็สอบได้ ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญคือผมจำดนตรีเก่ง มีความจำที่เป็นดนตรีมาก

เรียกว่าเป็นพรสวรรค์ไหมคะ
ไม่ใช่พรสวรรค์ อย่าลืมว่าผมปากกัดตีนถีบนะ เพื่อนเขานอน ผมวิ่ง เพื่อนเขานั่ง ผมเดิน เป็นลักษณะที่ว่าเราด้อยกว่าเขาทุกอย่าง ไม่มีเงินต้องหาเงิน ไม่มีหนังสือต้องหาหนังสือ ไม่มีกางเกงต้องหากางเกง มีอยู่อย่างเดียวคือความสมบูรณ์ของร่างกายที่ถูกปลูกฝัง ถูกเทรนให้สู้แรงเสียดทานได้ มีความอดทนเพียงพอ มีความอุตสาหะพยายาม เพราะเป้าหมายมันต้องเป็นหมายเลขหนึ่ง ถ้าไม่ได้ที่หนึ่งก็ไม่ได้ทุนการศึกษา เป็นเหตุผลหลักไม่มีอย่างอื่น ผมสอบได้ที่หนึ่งตลอด เป็นนักเรียนทุนของอำเภอมา ๖ ปี

ทำไมอาจารย์ไม่สนใจสาขาอื่นที่ไม่ใช่ดนตรี
ผมมองไม่เห็นอาชีพ การเป็นนักดนตรีมันเร่ร่อน และเราเห็นโลกกว้างกว่าเพื่อนที่นั่งอยู่ในห้อง การที่ผมไปเล่นตามงานต่าง ๆ ได้พบคนโน้น รู้จักคนนี้ ได้พบผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นศึกษาธิการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมาตบไหล่ว่า “ไอ้หนูเอ็งเก่ง” ใครได้มีโอกาสอย่างนี้บ้าง นักดนตรีได้ใส่สูทผูกเนกไทเสื้อสีม่วง มันก็พิเศษต่างจากคนอื่น

ถ้าหากอาจารย์เกิดมาในครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนทุกอย่างล่ะคะ
โอกาสของการต่อสู้จะน้อยลง จิตใจเด็ดเดี่ยวคงน้อยลง คงมีความสะดวกสบายมากขึ้น และคงจะไปไม่ไกล คงไม่มีแรงขับเพียงพอให้มุมานะบากบั่น ผมคิดว่าที่ผมมาได้อย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้ มันมาจากการต่อสู้มากกว่า ไม่ใช่ต่อสู้กับคนอื่นนะ แต่ต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

อาจารย์ได้เป็นนักเรียนทุนมาตลอด
ครับ แต่เงื่อนไขของผมคือต้องได้ที่หนึ่งไง อยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครู ปัจจุบันเท่ากับ ม.๕ ม. ๖ ผมก็เรียนทุน แล้วมาอยู่ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ (สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ผมก็ได้รับทุนชื่อ “นายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง” จนจบ ปก.ศ. สูงแล้วก็เข้าเรียนต่อที่สงขลาอีก ๒ ปี (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ) ผมก็ได้ทุนของกรมวิชาการ

พอเรียนจบทำงานใช้ทุน รับราชการเป็นอาจารย์สอนดนรีที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม (สถาบันราชภัฏจันทรเกษม) ผมก็เล่นดนตรีตอนกลางคืนที่พัฒนพงศ์ พัทยา เพราะมันเข้าไปในเส้นเสียแล้ว พอเล่นดนตรีไปถึงจุด ๆ หนึ่งก็พบว่า เล่นดนตรีแล้วได้งานบ้าง ตกงานบ้าง โดนเบี้ยวสตางค์บ้าง ความไม่แน่นอนเหล่านี้มันมีอยู่สูงมาก และสิ่งที่แย่ที่สุดคือ อาชีพดนตรีเป็นอาชีพที่กระจอกมาก

มันตรงข้ามกับที่เราคิดไว้ตอนเด็ก ๆ ว่าได้เจอคนสำคัญ ได้สตางค์ และมีโอกาสด้วย
ตรงกันข้ามกันเลย พอเป็นนักดนตรีอาชีพจริง ๆ แล้วกลายเป็นว่า เขาอยากจะเบี้ยวก็เบี้ยวเราเลย เขาอยากจะดูถูกก็ดูถูกเลย นักดนตรีไม่มีเกียรติ เหมือนกับคนทำงานรับจ้าง ไม่ต่างไปจากคนรับจ้างขุดดิน ไม่ต่างไปจากช่างทาสี ช่างก่อสร้าง เราเล่นดีก็ได้รับเสียงปรบมือ ดนตรีที่เล่นก็เป็นดนตรีรายคืน เล่นหนึ่งคืนได้หนึ่งคืน ไม่เล่นหนึ่งคืนก็ไม่ได้หนึ่งคืน ไม่เล่น ๑๐ คืนก็ไม่ได้ ๑๐ คืน คือเป็นงานเหมือนงานเฉพาะกิจ ต้องทำตลอดเวลา ถ้าไม่ทำก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้บอกให้รู้ว่าอาชีพนักดนตรีไม่มีเกียรติและเชื่อถือไม่ได้ คือไม่มีความแน่นอน สิ่งเหล่านี้ก็สะสมและสั่งสมอยู่ในความคิดอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็ตัดสินใจไปต่างประเทศ เพราะคิดว่าประเทศไทยให้คุณค่าของดนตรีน้อยเต็มที เราไปอยู่ที่อื่นไม่ดีกว่าหรือ

ทำไมอาจารย์สุกรีถึงได้แตกต่างจากเพื่อนนักดนตรีที่ทำงานมาด้วยกัน เพื่อนคนอื่นอาจไม่ได้คิดถึงการไปเมืองนอกอย่างอาจารย์
เพราะผมเรียนแล้วผมคิด ผมทำงานแล้วผมคิดว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ผมต้องการคำตอบว่า ทำไมนักดนตรีกระจอก แต่อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเรียนหนังสือผมเป็นหัวหนัาชั้นตลอด ในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าวงดนตรี ทำให้ต้องคิดเยอะ ไปเจอพวกเอเจนซีที่จ้างวงดนตรีเราไปเล่น ก็ต้องมีการต่อรอง เราก็คิดตลอดเวลาว่าทำไมเขาจึงบังคับเราได้ ทำไมเราถูกเอาเปรียบตลอดเวลา ขณะเดียวกันผมก็ต้องหาคำตอบให้ลูกวงผมว่า เขาจ้างมาหมื่นบาทแล้วถูกเบี้ยวห้าพัน ผมจะบอกลูกวงผมอย่างไรเขาถึงจะเชื่อว่าผมไม่ได้อมเงิน ถึงเพื่อนเชื่อเราแล้ว ผมก็ต้องคิดนะว่าทำไมเราถูกเบี้ยวตลอดเวลา วงอื่น ๆ ก็ถูกเบี้ยวเหมือนกันหมด แต่ก็ปลงอนิจจังว่า ช่างมันเถือ นักดนตรียกประโยชน์ให้กับจำเลยตลอดเวลาว่า ยอมเขาไปเถอะ และผมก็ยอม แต่ผมคิดน่ะว่าทำไมเราต้องยอม ผมคิดว่าสังคมให้ความสำคัญเรื่องดนตรีน้อยมาก ให้คุณค่าและมูลค่าที่แตกต่างกัน

sukre04
ใช้เวลาเรียนที่อเมริกากี่ปีคะ
ทั้งหมด ๘ ปี ช่วงที่เรียนปริญญาเอกเขาให้ลง ๙๐ หน่วยกิต แต่ผมเรียน ๒๑๗ หน่วยกิต เรียน ๕ ปี ผมลงเรียนวิชาที่อยากเรียน เพราะผมเป็นนักดนตรีของมหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต และต้องการแก้แค้นว่า ผมไม่เคยมีครู พอมีครูแล้วก็เรียนให้สมอยาก อยากเรียนอะไรก็เรียนให้หมด

พอเรียนจบปริญญาเอกถือว่าถึงจุดหมายสูงสุดด้านการศึกษาแล้ว
ได้แล้ว พอเรียนจบปริญญาเอกอายุ ๓๒ ได้งานสอนดนตรีให้กับชาวอินเดียนแดงที่ไวโอมิง เป็นงานที่ได้เงินมากกว่าที่ใด ๆ เพราะต้องไปอยู่ไกล เป็นทุ่งหมาหลง ไม่มีใครอยากทำ แต่พอได้สตางค์มาแล้วก็ไม่รู้จะใช้จ่ายอะไร การทำงานที่นั่นทำให้ผมมีเงินมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน วันนั้นเรามีเงินแล้ว มีเกียรติ มีใบปริญญา แล้วเราหาอะไรต่อ

อินเดียนแดงเขาก็สอนสัจธรรมผม เขามีอาชีพทำลูกเพราะมีลูกแล้วรัฐจ่ายเงินให้หัวละ ๕๐๐ เหรียญต่อคนต่อเดือน พอได้เงินมาแล้วก็กินเหล้าและเล่นการพนัน ผมเกิดคำถามว่าผมต้องการอเมริกา หรืออเมริกาต้องการผมกันแน่ ก็ได้คำตอบว่า อเมริกาคงไม่ต้องการเราหรอก คนจบปริญญาเอกเยอะแยะ แต่เราต่างหากที่ต้องการอเมริกา และถามว่าผมต้องการอะไร ผมไม่ต้องการอะไรแล้ว เพราะผมมีเกียรติมีใบปริญญาแล้ว มันได้เกินกว่าเราต้องการแล้ว คิดได้อย่างนั้นปั๊บ สองอาทิตย์ก็กลับบ้านเลย

อาจารย์ต้องกลับมาเผชิญกับสภาวการณ์เดิมในสังคมไทยอีก
ก็ตัดสินใจแล้วไง ตัดสินใจว่า เราต้องฝ่าฟัน ต้องต่อสู้ ความหมายของผมคือสนุก ชีวิตมันมีค่า เอามันแล้ว เพราะว่าเราไม่กลัวความจนแล้ว และเราไม่กลัวความรวยแล้ว เราไม่ต้องการเงิน ไม่ต้องการเกียรติ เป็นคนธรรมดา เราสู้แล้วมัน มันมีความหมายต่อชีวิต

แสดงว่าตั้งแต่อายุ ๓๒ ถึงตอนนี้ เอามันมาตลอด
เอามัน แต่ว่าระหว่างความมันเหล่านั้น มันเกิดการท้อถอยเหมือนกัน เพราะว่าเรียนจนถึงปริญญาเอก เราคิดว่าหนักมากแล้ว แต่หลังจากปริญญาเอกหนักกว่า การทำงานในประเทศไทยมันต่อสู้ครบวงจร

งานอย่างหนึ่งที่ทำหลังจากกลับมาคือออกนิตยสาร ถนนดนตรี
ตอนนั้นรู้สึกว่า ตัวเองมีความรู้เยอะ เป็นนักเรียนนอกร้อนวิชาจนเผาตัวเอง ใครห้ามก็เอาไม่อยู่นะ ออกเป็นนิตยสารเหมือนกับสารคดีทางดนตรี เป็นความรู้ที่หลากหลาย และทำเพื่อต้องการสำรวจความรู้ความสนทางดนตรีของสังคมในระดับชาวบ้านและคนทั่วไปว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากยอดขายและจากสิ่งที่นักวิชาการด้านดนตรีระดับแนวหน้าพูดถึงดนตรี พูดง่าย ๆ คือเป็นการสำรวจตลาด แต่ทำออกมาแล้วไม่มีคนอ่าน หาคนเขียนก็ลำบาก ขายโฆษณาก็ไม่มีใครซื้อ หาสปอนเซอร์ก็ไม่ได้ เขียนเอง ทำเอง ทำอาร์ตเวิร์กเอง ออกเงินเองด้วย วันแมนแม็กกาซีน ทำอยู่ ๒ ปี จนสตางค์ที่หามาได้จากอเมริกาหมด คิดง่าย ๆ เล่มละ ๖-๗ หมื่นบาท แสนบาท แฟนหนังสือสัก ๔๐๐ กว่าคนก็ต่อว่า แต่เราก็ไม่มีสตางค์จะทำต่อ ต่อให้ขายหนังสือหมดยังขาดทุนเลย อีกอย่างหนึ่งคนส่วนใหญ่ต้องการของแจกมากกว่าจะซื้อ จนในที่สุดมันอยู่ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง ไม่มีผู้อ่านไม่มีสมาชิกเพียงพอ และไม่มีกำลังจะทำ ทำไปก็กินตัวไป ขาดทุนไป ผมคิดว่า ถนนดนตรี เป็นใบปริญญาที่สำคัญสำหรับผมมาก ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับใบปริญญาของ ถนนดนตรี

ทำไมอาจารย์เรียนจบปริญญาเอกกลับมาแล้วอยากสอนเด็กประถมคะ
เพราะอยากสร้างคนใหม่ครับ ผมมาสมัครงานเป็นครูสอนโรงเรียนประถมที่กรมวิสามัญศึกษา ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสำนักงานประถมศึกษา แต่เขาจะให้ผมเป็นศึกษานิเทศก์ แต่ผมไม่เอา ในที่สุดก็ไปสอนที่บ้านสมเด็จฯ และออกมาอยู่มหิดลเมื่อปี ๒๕๓๐

มหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ อาจารย์มาสอนวิชาอะไรที่มหิดลคะ
อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล คิดว่า มหิดลน่าจะมีดนตรีที่เกี่ยวข้องกับ music therapy ผมก็รับปากว่าจะทำ music therapy ผมก็ตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามาแล้วจะทำอะไรได้บ้าง แต่รู้ว่าที่นี่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับดนตรี ผมสอนสาขาวัฒนธรรมดนตรีซึ่งเปิดสอนปริญญาโทในปี ๓๒ ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท อยู่ ๓ ปี ก็เห็นว่าชีวิตไม่มีแก่นสาร จึงตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำอะไรจริง ๆ สักที ปี ๒๕๓๕ ผมก็ไปลาออกจากราชการและจะไปทำโรงเรียนส่วนตัว เหตุผลก็คือไม่พอใจและไม่พอกิน

อธิการบดีในขณะนั้นคือ ศ. นพ. ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ก็ถามผมว่าทำไมลาออก ผมก็บอกว่าไม่พอใจและไม่พอกิน ท่านบอกว่าจะให้เงินเดือนผมสูง ๆ คงไม่ได้ แต่ว่าถ้าจะให้สิ่งที่ทำให้พอใจ ท่านให้ได้ ท่านถามผมว่าอยากจะทำอะไร ผมตอบว่าจะสร้างวิทยาลัยดนตรี

อาจารย์ถามว่า คุณจะทำทำไม ผมตอบว่า ดนตรีมันกระจอก มันไม่เป็นอาชีพ เราก็คุยกันเยอะ แต่มีคำหนึ่งที่ผมพูดแล้วคงกินใจอาจารย์หมอคือ ทำไมต้องมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลคืออะไร คือโรงซ่อมสุขภาพใช่ไหม แล้วถ้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศมีโรงซ่อมสุขภาพหมด แปลว่าอะไร แปลว่าประเทศไทยมีแต่ผู้ป่วย แต่ผมเป็นคนดี ๆ ไม่ป่วย รัฐเคยสนใจผมไหมว่าคนดี ๆ อย่างผมต้องการอะไร ผมไม่ต้องการยารักษาโรค ผมไม่ต้องการหมอ แต่ผมต้องการฟังดนตรีเพราะ ๆ ผมต้องการน้ำใส ลมสะอาด ต้องการบรรยากาศดี ๆ ต้องการดูแกลลอรี ต้องการดูโอเปรา ต้องการดูลิเก มีให้ผมดูบ้างหรือเปล่า

อาจารย์หมอก็เอาเลย ตกลงปลงใจกันก็ทำเลย สรุปว่าบ้าจริง ๆ ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นความดีของคนที่เป็นหมอคือเขาอยู่กับความเป็นความตายของมนุษย์ เขา appreciate สิ่งเหล่านี้
ท่านก็ให้ทุนมาออกแบบก่อสร้าง ปี ๓๙ ที่ได้งบประมาณ น้อง ๆ ที่สำนักงานเขาโทรมาบอกว่า งบประมาณที่ขอไว้เกี่ยวกับการก่อสร้างกำลังจะถูกตัดออก อาจารย์ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งนะ ผมถามว่าผมจะทำอะไรล่ะ แล้วผมก็จับแซกโซโฟนหนึ่งคัน ชวนอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ซึ่งท่านเพิ่งเสียชีวิตไป ไปที่สำนักงานงบประมาณแล้วเคาะประตู ผ.อ. สำนักงบประมาณ ผมบอกว่าผมจะเป่าเพลงให้ท่านฟังสักเพลง เป็นเพลงจากภาพยนตร์เรื่อง Casablanca ชื่อ “As Time Goes By” ผมก็เอาสายแซ็กโซโฟนคล้องคอแล้วผมก็เป่าเพลง คนก็มามุงดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในห้อง ผ.อ. พอผมเป่าเสร็จ ผมก็ถามว่าได้ข่าวว่าท่านจะตัดงบประมาณเรื่องก่อสร้าง ท่านบอกว่าเปล่า พอ “เปล่า” ปุ๊บ ผมก็กลับ คนที่มามุงก็ได้ยินหมดน่ะ เพลงเดียวผมได้ ๑๕๘ ล้าน เป็นเพลงที่ผมเป่าแพงที่สุดแล้ว ตอนขับรถกลับอาจารย์สงัดท่านบอกว่า ฉันนี่นะรู้จักเธอมา ๓๐ ปี เพิ่งรู้วันนี้ว่า เธอบ้าจริง ๆ

ตอนนั้นอาจารย์ทำบางกอกแซ็กโซโฟนควอเท็ตหรือยังคะ
ผมทำบางกอกแซ็กโซโฟนควอเท็ตก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ก็เล่นข้างถนน เล่นตามใจคนเล่นครับ เพราะเราเล่นตามใจเรา เราเล่นอะไรก็สนุกนะ เวลาผมเป่าแล้ว ผมมีความสุขส่วนตัวผม เมื่อตั้งใจแบบนั้น เราก็สบายใจ เราไม่เล่นเพื่อหวังผลประโยชน์ค่าตอบแทน เราเล่นเพื่อความันของเรา คนดูเป็นผลพลอยได้ ถ้าเราเล่นเพื่อความสุขของเรา ความสุขของเราก็ไปเฉลี่ยถึงเพื่อนด้วย พอเรามันปั๊บ คนอื่นก็มันตาม

ตอนนี้ยังอยู่ไหมคะ
ไม่อยู่แล้วครับ เลิกไปประมาณ ๓ ปี ทำแผ่นเสียง ๖ แผ่น ๖ ชุด ต่างคนต่างยุ่งและคุณภาพไม่ดีพอเพราะเราไม่มีเวลาซ้อม โดยเฉพาะผมเอง

หมดสนุกด้วยหรือเปล่าคะ
ไม่หรอกครับ ตอนนี้ผมเป่าตรงไหนก็ได้ ผมมันของผมน่ะ

งานสร้างวิทยาลัยดนตรีในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างคะ
งานที่อยู่ในมือที่เป็นหลักจริง ๆ คือการพัฒนานักดนตรีโดยเฉพาะเด็กให้มีศักยภาพไปสู่ระดับนานาชาติได้ สิ่งที่เกี่ยวข้องและเกื้อหนุนให้ไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ก็คือ การสร้างวิทยาลัยดนตรีให้สมบูรณ์ วิทยาลัยดนตรีที่สมบูรณ์ประกอบด้วยหลายสิ่ง อย่างน้อยต้องมี

๑. hardware เช่น อาคารสถานที่ ห้องเรียน เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในฐานะที่เป็นวิทยาลัยดนตรี เช่น ห้องบันทึกเสียง ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะมี hardware ที่สมบูรณ์ในการสอนดนตรี

โครงการที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันคือ โรงแสดงดนตรี (auditorium) ขนาดประมาณ ๓๗๕-๔๐๐ ที่นั่ง ซึ่งใช้งบประมาณหลายสตางค์ และห้องสมุดดนตรี (music library) ที่สมบูรณ์แบบ ถ้าตรงนี้สำเร็จก็หมายความว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นวิทยาลัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ เราสู้มหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ว่า เรามี hardware เท่าเทียมเพียงพอ

๒. software เช่น หนังสือ ตำรา โน้ตเพลง แผ่นเสียง ซีดี คอมพิวเตอร์

๓. peopleware คือบุคลากร ครูบาอาจารย์ และนักเรียนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ เป็นคนเก่ง คนดี สุดท้ายคือ moneyware ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะการสร้างวิทยาลัยดนตรีต้องลงทุนแพง ต้องมีเงินในการบริหารจัดการและทำกิจกรรมต่าง ๆ ถ้าไม่มีเงินเราจะมีโรงเรียนสอนดนตรีก็แต่ในความฝัน เมื่อลงทุนลงแรงต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี และผลสัมฤทธิ์ที่ดีต้องได้จากการลงทุน ทุนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินอย่างเดียว แรงกาย จิตใจ ความเอาใจใส่ ความรู้สึกนึกคิดของคนที่จะทำงานให้สำเร็จ และการทำอย่างต่อเนื่องแบบกัดไม่ปล่อยถือว่าเป็นทุนหมด

สิ่งสำคัญถัดมาคือ บ้านเราขาดคนเล่นดนตรีที่เรียกว่าเป็น professional คือมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ว่าประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีแล้วเป็นมืออาชีพ แต่ความเป็นมืออาชีพมีค่าเท่ากับ national คือระดับชาติ และมีค่าเท่ากับระดับนานาชาติ international สามเรื่องนี้เป็นหัวข้อเดียวกันคือ professional national และ international

ช่วยขยายความคำว่า “มืออาชีพ” ต่ออีกหน่อยค่ะ
คือถ้าเป็นนักดนตรีในเมืองไทย หากินในเมืองไทยได้ หากินในจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ แต่ออกต่างประเทศไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นมืออาชีพ ส่วนมืออาชีพหมายความว่า หากินที่กรุงเทพฯได้ หากินที่หาดใหญ่ได้ หากินจังหวัดต่าง ๆ ได้ อันนี้ถือว่าเป็นระดับชาติแล้ว และยังสามารถไปเล่นที่นิวยอร์กได้ด้วย professional มีค่าเท่ากับ national และ international เราต้องพัฒนาการดนตรีของเราให้ไปถึงระดับนั้น เพราะฉะนั้นการทำดนตรีให้เป็นอาชีพ ก็ต้องให้เด็กเรียนตั้งแต่เล็ก ๆ ต้องเป็น “ความรู้คู่ชีวิต” เมื่อเป็นความรู้คู่ชีวิตปั๊บ เด็กที่เรียนตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เลิกไม่ได้ ไปขายก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ได้ ไปขายขนมปังก็ไม่ได้ ขายเต้าฮวยก็ไม่ได้ ก็หมายความว่าเขาต้องทำอาชีพเกี่ยวกับดนตรี แล้วเขารัก-เขาชอบ-เขาเก่ง แล้วเขาชำนาญ-เขาเชี่ยวชาญ-และเขาเคยมี มันต้องอยู่ในสภาพแบบนั้น เมื่อคิดให้ครบวงจรแล้ว งานส่วนปลีกย่อยที่จะเกื้อหนุนให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จก็มีเยอะมาก ทำทั้งชีวิตก็ไม่หมด

การสร้างนักดนตรีมืออาชีพจึงต้องให้เรียนดนตรีตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ
ใช่ และปัญหาเชิงซ้อนก็ตามมาว่า ๑. พ่อแม่เขาจะไม่ยอม ๒. พ่อแม่ถามว่า ลูกฉันเรียนดนตรีแล้วมันจะพอกินหรือเปล่า ๓. ถ้าไม่พอกินแล้ว ให้มันไปเรียนทำไม เรียนไปแล้วจะทำอะไร อาจารย์รับประกันได้ไหมว่า ลูกฉันเรียนดนตรีแล้วมันประกอบอาชีพได้ ในความเป็นจริงเราไปรับผิดชอบชีวิตคนไม่ได้ นอกจากเขาต้องช่วยตัวเอง เขาต้องทำเอง แล้วเขาต้องมั่นใจด้วยตัวเอง เราจะไปรับประกันอะไรเขาได้ เพียงแต่เราต้องรับประกันตัวเราเองก่อนว่า เราจะไม่เปลี่ยนอาชีพไปทำสิ่งใด ๆ นอกเหนือจากดนตรี เราต้องพิสูจน์ให้คนใกล้ตัว ให้ครอบครัวของเราเห็นก่อนว่า สิ่งที่เราทำนี้มันเชื่อถือได้ และต้องการันตีได้ว่า ลูกเราทำอาชีพดนตรีแล้ว เขาไม่เปลี่ยนใจ และเขาประกอบอาชีพได้ นี่ก็หนักหนาสาหัสแล้วนะ เพราะฉะนั้นการที่จะไปดึงลูกคนอื่น สร้างลูกคนอื่นให้เรียนรู้ดนตรี และสามารถยืนอยู่บนอาชีพดนตรีอย่างต่อเนื่องได้ก็เป็นเรื่องใหญ่

ถ้าถามผมว่า ผมต้องการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศไหม ผมไม่ต้องการหรอก ถ้าผมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เขาก็เก่งของเขาคนเดียว กลับมาก็ไม่มีเพื่อนและทำอะไรก็ไม่ได้ แทนที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เราก็เอาครูต่างประเทศมาสอนที่นี่เลย ลูกเรียนที่นี่ เพื่อนลูกก็เรียนที่นี่ ลูกของเพื่อนก็เรียนที่นี่ แทนที่จะได้เรียนคนเดียว ก็ได้เรียนสามสิบ สี่สิบ เป็นร้อย เด็กโตขึ้นมาก็มีพวกและเปลียนแปลงสังคมได้

sukre05
ในส่วนของ peopleware วิทยาลัยดุริยางคศิลป์รับอาจารย์ผู้สอนมาจากไหนบ้าง
อาจารย์ผู้สอนเป็นนักดนตรีอาชีพ ที่นี่รับคนมีฝีมืออย่าง อ. สงัด ภูเขาทอง อ. อุดม อรุณรัตน์ ครูกาหลง พึ่งทองคำ กำนันสำราญ เกิดผล อาจารย์บางท่านก็ไม่ได้มีดีกรีทางดนตรีหรอก แต่เขาเป็นนักดนตรีอาชีพและนักเรียนก็ยอมรับ เพราะฉะนั้นการตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์จะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างไปจากที่อื่น ๆ เพราะผมไม่สนใจใบปริญญา เป้าหมายเราคือการดึงคนเก่งคนที่มีความสามารถมาสอนให้คนมีใบปริญญา มีอาจารย์ชาวต่างประเทศมาจาก ๑๕ ประเทศ เช่น ออสเตรีย ลัตเวีย ญีปุ่น อเมริกา อูซเบกิสถาน อังกฤษ ฯลฯ คนไทยทุกคนที่มีฝีมือเราก็เชิญหมดทั่วประเทศ ส่วนวิธีการบริหารจัดการก็ยึดความพอใจเป็นหลัก เขาพอใจที่จะทำ เราพอใจที่จะร่วมทำ ดนตรีเป็นเรื่องของความพอใจ หัวใจมาก่อน สมองมาทีหลัง

อาจารย์ทำอย่างไรจึงดึงอาจารย์ดนตรีจากต่างประเทศให้มาทำงานที่นี่ได้คะ
ช่วงที่ตั้งวิทยาลัย ผมเดินทางไปต่างประเทศบ่อยเพื่อไปหาคน และตอนอยู่เมืองนอกผมมีเพื่อนเยอะ outgoing คุยกับเขาเยอะ เขารักน้ำใจ น้ำใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมก็คุยกับเขาว่า ๑. ผมให้เงินเดือนไม่แพง ๒. เขามาอยู่แล้วท้าทาย เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เหมือนกับผมได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา เป็นประเทศยากจน เป็นประเทศที่ไม่มีอะไรทางดนตรี แต่เราหลงกันว่ามี ที่จริงมันไม่มี จะมีก็แต่ที่เป็นธุรกิจหลายพันล้าน ซึ่งก็ตั้งอยู่บนความฉาบฉวย แต่เราสนใจความยั่งยืน เขาก็ appreciate เขาเข้าใจ เขาอยากทำ เขาอยากบ้าด้วยน่ะ แต่บ้าแปลว่าดีนะ ผมก็ชวนคนโน้นมาคนนี้มา จนในที่สุดที่นี่ก็กลายเป็นที่ชุมนุมของคนบ้างานทั้งหลาย ถ้ามาอยู่ที่นี่ คุณจะพบว่าที่นี่ไม่เหมือนส่วนราชการอื่นใด ทำงานกันถึงสองทุ่ม และนักเรียนก็อยู่กันติดที่เพราะครูอยู่ หน่วยราชการส่วนใหญ่มันร้างไม่มีชีวิตชีวา เราก็สร้างชีวิตชีวา ทำที่นี่ให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ มีต้นกล้วย มีมะพร้าว มีสิ่งแวดล้อมบรรยากาศดี ๆ กล้วยสุกก็ให้เขาตัดมาตั้งไว้ข้างล่าง เด็กอยากกินก็ได้กิน ใครอยากเอากลับบ้านเอาไปเลย แต่เอาไปขายไม่ได้

ในส่วนของเพลงพื้นบ้านล่ะคะ
เราก็มีอาจารย์สอนดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย มี อ. สมบัติ ฉิมหล้า มาสอนแคน อ. สนอง คลังพระศรี รับผิดชอบเรื่องแคนและสอนพิณ อ. อานันท์ นาคคง รับผิดชอบดนตรีพื้นบ้านชุมชนต่าง ๆ และ อ. ณรงค์ชัย ปิฏกรัชต์ ก็ออกภาคสนามไปสำรวจชุมชนเผ่า ดนตรีลาว ดนตรีเขมร ดนตรีพม่าก็ได้มาแสดงที่นี่อย่างสนุกสนานครึกครื้น เรารักษาอดีตและเรานำอดีตเหล่านั้นให้มารับใช้ปัจจุบัน ในที่สุดเราก็จะเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอดีตเหล่านั้น

สัดส่วนของการเรียนการสอนดนตรีพื้นบ้านกับดนตรีสากลมีมากน้อยแค่ไหนคะ
ดนตรีสากลจะมากที่สุด ดนตรีไทยรองลงมา ดนตรีพื้นบ้านน้อย เทคโนโลยีดนตรี เช่น ซาวน์เอ็นจิเนียร์ บันทึกเสียง ก็มีคนสนใจมาก ส่วนดนตรีแจ๊ซ ดนตรีสมัยนิยม ดนตรีบำบัด อุตสาหกรรมดนตรี ก็ตามลำดับ

อาจารย์ชวนเด็ก ๆ จากที่ไหนมาเข้าเรียนบ้างคะ
ผมคิดว่าการสร้างโรงเรียนดนตรีมันเหมือนกับทำร้านอาหาร อาศัยก็บอกกันปากต่อปาก ปีแรก ๆ เปิดร้านใหม่ ๆ ก็เอาเท่าที่มี ชวนเท่าที่มา มาแล้วก็ชวนกันทำกิจกรรมที่คนอื่นเขาไม่ทำ ทำกิจกรรมเยอะและทุกกิจกรรมต้องดี พอดีแล้วเขาก็ไปพูดต่อ อย่าง อ. เดชา อินทาภิรัต ที่เป็นเพื่อนกัน ก็มาสอนด้วยความเกรงใจเพื่อน แต่มาถึงแล้วติดใจ สอนเด็กแล้วมันสนุก มีคนสืบทอด มีคนให้ความสำคัญ มีความสุข สอนไปเรื่อย ๆ เขาก็มาแนะนำผมว่า คนนั้นคนนี้เก่งให้ชวนมา ผมก็ได้เพื่อนมากขึ้น ได้ครูมากขึ้น แล้วนักเรียนที่มาเรียนที่นี่ได้เจอครูเก่ง ๆ เขาก็กลับไปบอกน้อง ไปบอกเพื่อน ในที่สุดเด็กเก่งด้านดนตรีก็จะมาที่นี่

อาจารย์มีวิธีคัดเด็กอย่างไรคะ
เด็กมาเขียนใบสมัครเองแล้วนัดสอบ ถ้ากรรมการที่สอบตกลงรับก็ได้เข้าเรียน ถามว่ามาตรฐานอยู่ที่ไหน มาตรฐานก็อยู่ที่กรรมการ เพราะกรรมการก็เป็นอาจารย์ที่นี่ ถ้าเลือกเด็กแย่ อาจารย์ก็แย่ ถ้าเลือกเด็กที่ใช้ได้ เด็กใช้ได้เหล่านั้นก็จะออกไปเป็นดารา

วิทยาลัยฯ สอนระดับชั้นไหนบ้าง
ที่นี่กลับตาลปัตรจากคนอื่น คือเราเปิดปริญญาโทก่อน แล้วเปิดปริญญาตรี เปิดเตรียมอุดม และเพิ่งจะเปิดปริญญาเอก ผมเปิดเตรียมอุดมดนตรี (ม.๔-ม.๖) ด้วย เพราะเราต้องการสร้างเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ ในระดับเตรียมอุดมศึกษานี้เราสอนวิชาสามัญ ๓๐ เปอร์เซนต์ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม โดยเชิญอาจารย์จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มาสอน ส่วนภาษาอังกฤษเราสอนเอง บังคับให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ ๕ วัน ให้เขารู้ภาษาอังกฤษดีเท่า ๆ กับภาษาไทย แต่ข้อแตกต่างของนักเรียนที่นี่กับที่อื่นคือ เด็กต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ในขณะที่รัฐช่วยนักเรียนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ แต่ผมเห็นว่าสักวันหนึ่งเมื่อรัฐเห็นความสำคัญขึ้นมา เขาคงจะต้องช่วย ตอนนี้มีเด็กจบไปแล้ว ๓ รุ่น

แล้วเด็กเหล่านั้นไปสู่ความเป็นมืออาชีพได้มากน้อยแค่ไหนคะ
ประกอบอาชีพดนตรีได้อย่างดีจำนวนหนึ่ง จำนวนหนึ่งก็ตกงาน แต่ว่าเราติดอาวุธทางความคิดไว้ว่า เราสร้างคนออกไปสร้างงาน ไม่ได้สร้างคนออกไปหางาน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ควรจะตกงาน ถ้าสร้างคนออกไปหางานมันจะตกงาน เพราะงานมีอยู่เท่าเดิม

แล้วอาจารย์เริ่มทำโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ตอนไหน
ตอนผมลาออกจากราชการ ผมตั้งโรงเรียนปี ๓๕-๓๖ เพราะว่าผมต้องการสอนเด็ก แต่เดิมผมเปิดร้านซ่อมเครื่องดนตรีก่อนตอนปี ๓๒ ชื่อร้าน Dr. Sax เพราะว่าจะร้านซ่อมเครื่องดนตรียากมาก พอใครช่วยซ่อมไม่ได้ ก็เปิดซ่อมกันเองเสียเลย เสร็จแล้วก็สอนดนตรีเด็ก เราก็ให้คนไปซื้อเครื่องดนตรี เขาก็ซื้อของปลอมมา เลยไปติดต่อบริษัทต่าง ๆ มาขายเครื่องดนตรีด้วยเสียเลย คือลุยมันไปหมด กระทั่งถึงช่วงที่ผมคิดว่า ผมคงรับราชการไม่ไหวแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปตามทิศทางที่เราต้องการ เลยเปิดสอนดนตรีเองเพื่อต้องการพิสูจน์ว่าได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ

ตอนแรกตั้งชื่อโรงเรียนว่า Dr. Sax ก่อน เพราะผมจบปริญญาเอกแซ็กโซโฟน ต่อมาเปลี่ยนเป็นเอื้อมอารีย์ ซึ่งมาจากชื่อแม่ของผม (เอื้อม) กับแม่ของภรรยาผม (อารีย์) พอเริ่มก่อร่างสร้างตัวโรงเรียน อธิการบดีไม่ให้ออก ทีนี้ยุ่งเลย แต่ก็ต้องทำต่อ

พอปี ๒๕๓๘ ก็เปิดโรงเรียนสอนดนตรีเป็นโครงการสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เสรีเซ็นเตอร์ด้วย เลยกลายเป็นทำสองที่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการสร้างเด็ก ที่เสรีเซ็นเตอร์มีเด็ก ๑,๒๐๐ คน ที่เอื้อมอารีย์สัก ๙๐๐ คน รวมแล้ว ๒ พันกว่าคน ทั้งสองที่ใช้วิธีการสอนเดียวกัน ถ้าเด็กเหล่านี้ตั้งใจมากเรียนดนตรีต่อสัก ๑๐๐ คน ผมว่าก็ดีแล้ว เพราะเรามีแหล่งผลิตเด็กเรียนดนตรีเพื่อส่งต่อให้วิทยาลัย ตอนนี้ปริมาณเด็กที่ต้องการเรียนก็เพิ่มขึ้น มี waiting list คอยเรียนที่เสรีเซ็นเตอร์ประมาณ ๓๐๐ คน

ผลตอบแทนที่กลับมาเป็นอย่างไรบ้างคะ
ผมคิดว่ามันได้มากกว่าที่คิดแล้ว ๑. เด็กมันสมองดีมาเรียนดนตรี ๒. เด็กมีความสามารถทางดนตรีมาเรียนดนตรี ๓. เด็กที่มีฐานะครอบครัวดีมาเรียนดนตรี และเด็กที่มาเรียนดนตรีทุกคนมีเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตัวเอง ที่นี่มีเด็กทั้งที่มีฐานะและไม่มีฐานะ มีอยู่ ๒-๓ เรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็ก คือ ๑. ต้องมีเงิน ๒. มีความสามารถ ๓. มีมันสมอง มีความฉลาด คุณขาดข้อใดข้อหนึ่งได้ข้อเดียว ขาด ๒ อย่างไม่ควรมาเรียน ไม่มีเงินก็ต้องเก่ง ต้องเรียนดี และต้องเป็นคนดี

แต่ที่ผมเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงคือมีเด็กเก่งดนตรี เด็กมีฐานะ มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีความสามารถทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติสนใจมาเรียนที่นี่มากขึ้น เกิดค่านิยมที่เด็กจะเรียนดนตรี และพ่อแม่รุ่นใหม่ก็อยากให้ลูกเรียนดนตรี นี่คือความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นค่านิยมที่ดี จนในที่สุดค่านิยมเหล่านั้นก็จะพัฒนาไปสู่รสนิยมในอนาคต

อาจารย์คิดว่างานที่ทำอยู่นี้บานปลายกว่าที่ทำเพื่อความพอใจในตอนแรกหรือเปล่าคะ
ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่มันก็ไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น เมื่อเราได้วิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ มีครูที่เก่ง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม มีกิจกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาคน มีวงดนตรีอาชีพ มีซิมโฟนีออร์เคสตร้า หรือวงมโหรีอาชีพจริง ๆ แล้ว ผมก็จะเลิกบริหาร แล้วไปสอนหนังสือ

sukre06

ตอนนี้มีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนดนตรีมาพร้อมกันแล้ว สังคมไทยก็เริ่มเปลี่ยนสายตาที่มองดนตรีและนักดนตรีไป
ใช่ พ่อแม่นั่งรถเก๋งไปส่งให้ลูกเรียนดนตรี ภาพเด็กหิ้วเครื่องดนตรีไปเรียนดนตรี ภาพเด็กนั่งเป่าขลุ่ยแล้วพ่อแม่ผู้ปกครองนั่งชื่นชมยินดี เด็กสีซอมีคนปรบมือ ภาพเหล่านี้เป็นภาพใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย มันเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตด้วย เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกเล่นดนตรี แล้วเสียงดนตรีสามารถเชื่อมโยงให้พ่อแม่นั่งฟังลูกได้ ผมว่าเป็นภาพใหม่ของสังคมไทย

แล้วสมมุติถ้าเราสามารถทำเงินเดือนครูให้ได้ ๕ หมื่นบาท ใครก็อยากมาทำงานเป็นครู หรือสามารถทำเงินเดือนนักดนตรีอาชีพให้ได้สัก ๕ หมื่นบาท เป็นนักดนตรีอาชีพอยู่ในมหาวิทยาลัย สอนหนังสือด้วย เป็นนักดนตรีอาชีพด้วย ซ้อมวงดนตรีอาชีพตอนเช้า สอนหนังสือตอนบ่าย และเล่นดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าหรือวงมโหรีปี่พาทย์หรือทำแผ่นเสียงตอนค่ำ ถ้าเขามีเงินเดือนสักแสนบาท ผมคิดว่าใคร ๆ ก็อยากเป็นนักดนตรี

ตามความเห็นของผม ปัจจุบันนี้อาชีพนักดนตรีป็นอาชีพที่แพงที่สุด เพียงแต่ขอให้คุณเก่งจริง แพงอย่างไร-ดนตรีอาชีพคิดเป็นวินาที คุณเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ ประกอบสารคดี เขาคิดเป็นวินาที ไม่มีอาชีพใดในโลกนี้ที่คิดเงินเป็นวินาที มีแต่เป็นเงินเดือน เป็นรายวัน หรือเป็นรายชิ้น

ที่อาจารย์เคยพูดว่า “ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต” กินความขนาดไหนคะ เพราะทุกวันนี้ก็ดูเหมือนว่า ดนตรีเป็นหุ้นส่วนอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เราได้ยินเพลงโฆษณา เพลงทางสถานีวิทยุ กระทั่งสยามสแควร์ก็มีเสียงตามสาย
พวกนั้นเป็นสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่หุ้นส่วน ดนตรีที่เป็นหุ้นส่วนชีวิตของผมหมายความว่า ดนตรีอยู่ภายในตัวมนุษย์ แต่ปัจจุบันเท่าที่เห็น ดนตรีเป็นสิ่งแวดล้อมมากกว่า ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนเป็นเรื่องของรสนิยม ถ้ามนุษย์มีดนตรีอยู่ข้างในเขาจะอารมณ์ดี บรรยากาศดี ความรู้สึกดี ความคิดดี มองโลกในแง่ดี เพราะดนตรีมีส่วนหล่อเลี้ยงจิตใจเขา

หมายความว่าจะต้องเล่นดนตรีเป็นด้วยหรือเปล่าคะ
จะเล่นดนตรี หรือจะร้อง หรือจะฟังเพลงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างขาดไม่ได้ กินข้าวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ใช่ไหม มีดนตรีเพื่อให้อยู่อย่างมีชีวิต คนที่เขาร้องเพลงพื้นบ้าน ร้องเพลงกล่อมลูก เขาอาจจะร้องเพลงเดียวแล้วชอบ เขาก็มีดนตรีเป็นหุ้นส่วนเหมือนกัน ยามทุกข์-ร้องเพลง ยามสุข-ร้องเพลง ยามอารมณ์เหงา-ร้องเพลง ทุกอารมณ์แสดงออกทางดนตรีได้หมด

ที่จริงคนไทยก็มีดนตรีเป็นหุ้นส่วนชีวิตมานานแล้ว
นานมาแล้ว พระสวดทุกวัน ร้องเพลงทุกวัน หน้าท่านถึงอิ่มเอิบเพราะมีดนตรีอยู่ข้างใน ท่านสวดตลอดเวลา ท่องบ่นตลอดเวลา จิตว่าง ถ้าคุณฟังเพลงหรือร้องเพลง จุดวินาทีที่คุณร้องอยู่ คุณลืมอย่างอื่นหมดเลย เหมือนการปฏิบัติธรรมนั่นแหละ

ผมอยู่วัดอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส ท่านเขียนว่าอย่างนี้ ดนตรีและศิลปบริสุทธิ์มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง เราฟังดนตรีที่มีความไพเราะก็เหมือนการศึกษาพระธรรม ผมก็สงสัยว่า ทำไมพระถึงมีศีลที่ให้งดเว้นการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรีเพราะเป็นข้าศึกแห่งกุศล แปลว่าอะไร ผมก็ไปสวนโมกข์ฯเพื่อถามท่านพุทธทาส ท่านก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ดนตรีที่บริสุทธิ์จะนำจิตขึ้นสวรรค์ ดนตรีไม่บริสุทธิ์จะนำจิตลงต่ำ คือเขาห้ามดนตรีหยาบที่นำจิตใจลงต่ำ ดนตรีที่เป็นกิเลส ทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ในขณะเดียวกันพระสวด พระตีระฆัง ก็คือการร้องเพลง การเล่นดนตรี แต่เขาไม่ได้เรียกว่าดนตรีเท่านั้นเอง เขาเรียกว่าการทำให้จิตใจสงบ

และอาจารย์ก็เชื่อว่า ดนตรีคลาสสิกไม่จำเป็นต้องปีนบันไดฟัง
ใช่ ผมถึงเล่นดนตรีข้างถนน เล่นเพลงคลาสสิกข้างถนน เพื่อพูด เพื่อตอกย้ำ เพื่อทำให้เห็นว่า ดนตรีเป็นของสำหรับทุกคน ไม่มีชนชั้น คนเดินดินกินข้าวแกงฟังดนตรีคลาสสิกมันงามน่ะ

ที่อาจารย์เคยพูดไว้ว่า “เด็กที่เล่นดนตรีได้ ๑ เพลงจบ ๑ เถาจบ ๑ โซนาตาจบ เด็กคนนั้นไม่สามารถทิ้งดนตรีได้ และเด็กคนนั้นมีศักยภาพทางสมองสูงกว่าเด็กอื่น” ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นคะ
การที่เขาเล่นได้ เขาต้องประกอบด้วยความพยายามเยอะ ต้องการทักษะเยอะ ประกอบด้วยหัวใจที่รักดนตรีเยอะ และประกอบด้วยสมองที่สั่งการให้ร่างกายทำงานเยอะมาก เมื่อเขาทำได้จบเพลงหนึ่ง จิตใจเขาจะเบิกบาน เกิดความรัก ความชอบ กว่าจะได้ ๑ เพลง มันต้องเลียนแบบทำซ้ำท่องจำขึ้นใจกลับไปกลับมา จนในที่สุดมันเข้าไปในตัว กว่าจะจบหนึ่งเพลง ก็ต้องทำกันเป็นพันครั้ง หลายพันครั้ง เป็นหมื่นครั้งจนจำได้ แล้วมันจะลืมได้อย่างไร คุณท่องสูตรคูณตั้งแต่ ป. ๑ ถึง ป. ๖ ทุกวัน คุณลืมไหม

นอกจากนี้ ดนตรีเป็นเรื่องของเสียง เสียงมีพลัง พลังทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เส้นสมองฝอย ๆ ของเด็กคนนี้จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป ถ้าเขาฟังเสียงหยาบ ๆ อย่างเสียงตวาด เสียงที่ไม่พึงประสงค์ เสียงรบกวน เส้นสมองเหล่านั้นมันก็กระเจิดกระเจิง ไม่งอกงาม ไม่แตกกิ่งก้านสาขา เมื่อไม่แตกกิ่งก้านสาขามันก็ทึบ แต่เสียงที่ฟังแล้วพอใจ คุณก็อยากฟัง เนื้อเต้น เลือดลมสูบฉีดไปทั่วร่างกาย ไม่ใช่แต่สมองอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคุณก็รู้สึกเปล่งปลั่งกระปรี้กระเปร่า เหมือนกับใส่น้ำให้ต้นไม้ที่เหี่ยวเฉาขาดน้ำ พอข้ามคืนมา มันมาได้อย่างไรล่ะ กำลังน่ะ
ส่วนเด็กที่ฟังเพลง ไม่ว่าจะถูกบังคับหรือชอบฟังเองก็แล้วแต่ จะได้พลังในระดับหนึ่ง แต่เด็กที่เล่นดนตรีจะได้พลังเป็นกำลังสอง หรือกำลังสาม เพราะฉะนั้นความจำ ความคิด ทักษะ หัวใจมันเกิดหมด พอมันเกิดหมด มันเป็นพลังมหาศาล พลังเหล่านั้นจะสร้างความชื่นชอบ สร้างความสดชื่น สดใส งดงาม เกิดสุนทรียะ หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
อย่าเชื่อผมนะ ต้องไปทดลอง

๑๐ อันดับแรกในคลังความฝันของอาจารย์มีอะไรบ้างคะ
อันแรก ผมอยากทำวิทยาลัยให้สำเร็จ มีความสมบูรณ์ มีค่าเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยดนตรีในญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา

อันที่สอง ผมอยากสร้างให้เด็กไทยเมดอินไทยแลนด์เป็น soloist ระดับโลกให้ได้

อันที่สาม ทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีของโลก ทั้งวงดนตรีไทย ทั้งกลิ่นดนตรีไทย มีที่ยืนบนแผนที่โลก คนฟังแล้ว อ้อ นี่ดนตรีไทย การที่มีวิทยาลัยดี ๆ ในประเทศไทยเป็นประการที่สี่ เด็กไทยไม่ต้องไปที่ไหน มาที่นี่ มาเมืองไทย ได้เรียนกับครูที่ดี ครูที่ดีเหล่านี้มีค่าเท่ากับครูระดับโลกทั้งหลาย

อันที่ห้า อยากทำอาชีพนักดนตรีให้มีเกียรติเชื่อถือได้ มีอยู่มีกิน หมายถึงหมอหาเงินได้เท่าไร นักดนตรีหาเงินไม่ต่างกัน อาชีพดนตรีจะบอกว่าดีกว่าหมอคงไม่ได้ เพราะว่าอาชีพหมออยู่กับน้ำตา กับเลือด กับความรับผิดชอบ อยู่กับความเป็นความตายของมนุษย์ อยู่กับความเอาจริงเอาจัง นักดนตรีก็เอาจริงเอาจังเหมือนกัน แต่นักดนตรีอยู่กับรอยยิ้ม กับเสียงเพลง ผมมีคนมาเล่นดนตรีให้ฟังทุกวัน มาร้องเพลงให้ฟังทุกวัน เพราะฉะนั้นผมมีความสุข ซึ่งต่างไปจากอาชีพหมอ

สิ่งสำคัญที่สุด อยากได้วงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าของประเทศไทย อาจจะเป็น Thailand Philharmonic หรือ Thai National Philharmonic Orchestra ที่มีศักยภาพระดับโลก มีผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีคอนดักเตอร์ มีคนเขียนเพลงที่สามารถทำเพลงไทย ๆ เป็นสินค้าได้

ลำดับต่อไปที่ผมคิดว่าจำเป็นคือ มีอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับดนตรีอีก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดนตรี ทำไมเราไม่มีโรงงานทำเปียโน ทำไมเราไม่มีโรงงานระนาด ทำไมเราไม่มีโรงงานทำแคน ทำไมไม่ทำแคนให้เป็นเครื่องดนตรีของโลก

ถัดไปน่าจะมี music festival ในประเทศไทย แทนที่จะเป็น Jazz Festival in Thailand ทำไมไม่มีมหกรรมดนตรี Southeast Asia in Thailand ทำไมไม่มีการประกวดวงโยธวาทิตในประเทศไทย ทำไมไม่มีการประกวดคอนแชร์โตในประเทศไทย ทำไมไม่มีการประกวดดนตรีนานาชาติในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้จำเป็น แต่ว่าผมกำลังน้อย กำลังในที่นี้ทั้งเงิน ทั้งนักดนตรีที่มีอยู่ก็ยังเป็นเด็ก ยังเป็นเงื่อนไขที่จำกัด ถ้าพัฒนาเงื่อนไขต่อไปอีก ๒ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี ให้เราสามารถยืนด้วยตัวเองทุกอย่าง เราก็สร้างงานในระดับโลกได้

ลำดับต่อไป ถ้าผมมีโอกาส ผมจะทำสถานีวิทยุที่เป็น public radio ๔ สถานี สถานีคลาสสิก ดนตรีคลาสสิก ๒๔ ชั่วโมง สถานีแจ๊ซ ๒๔ ชั่วโมง ดนตรีไทยพื้นบ้าน ๒๔ ชั่วโมง และน่าจะมีเพลงลูกทุ่ง ป็อบปูลามิวสิก ๒๔ ชั่วโมง หรือเวิลด์มิวสิก ๒๔ ชั่วโมง ในที่สุดสถานี ๒๔ ชั่วโมงเหล่านี้จะเป็นมหาวิทยาลัยดนตรีของประชาชนทั่วไป

สุดท้ายที่อยากจะมีคือ มิวสิกมอลล์ อย่างที่เขามีแฟชั่นมอลล์ แต่มิวสิกมอลล์มีความจำเป็นและความสำคัญสำหรับสังคมไทยรุ่นใหม่มาก ถ้าหากว่ามีร้านที่เกี่ยวกับดนตรีสัก ๘๐ ร้านไปอยู่ที่เดียวกัน คุณต้องการอะไรที่เกี่ยวกับดนตรี-คุณไปได้ คุณต้องการตุ๊กตาที่เล่นเครื่องดนตรี-คุณไปได้ คุณต้องการร้องเพลงคาราโอเกะ-คุณไปได้ ต้องการให้ลูกเรียนดนตรี-คุณไปได้ คุณอยากซื้อซีดี-คุณไปได้ คุณอยากหาโน้ตเพลง-คุณไปได้ คุณอยากซื้อแผ่นเสียง-คุณไปได้ อยากซื้อหนังสือดนตรี-คุณไปได้ อยากซื้อเครื่องดนตรี ตั้งแต่ของหมอลำจนกระทั่งของคลาสสิก-คุณมาได้

ตอนนี้อาจารย์สุกรีเป็นใครคะ
เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นครูดนตรี ผมไม่ได้เป็นนักดนตรีอีกต่อไป เพราะว่าไม่ได้ประกอบอาชีพดนตรีเพื่อมีรายได้ แต่ผมเป็นครูดนตรี สอนดนตรี สอนปรัชญา สอนความคิด ทั้งนักเรียนและสังคม ผมเป็นครูดนตรี

และในฐานะที่เป็นคุณพ่อของว่าที่นักดนตรีมืออาชีพ ๓ คน มองลูก ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เขาเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะบุกเบิกเรื่องดนตรีต่อจากผม เขาจะอยู่ในสถานภาพที่สามารถประกอบอาชีพและเลี้ยงชีพเป็นนักดนตรีอาชีพได้โดยไม่ต้องประกอบอาชีพอย่างอื่น เขาจะเป็นครูสอนดนตรีได้ทั้งในแง่ฝีมือ ทัศนคติ และเป็น model ใหม่ในสังคมไทย โดยต่อยอดจากผม ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างชาวบ้านกับชาวเมือง ก่อนรุ่นผม ครูสอนดนตรีเป็นครูประจำตำบล รุ่นผมขยายออกไปเป็นครูประจำอำเภอ ประจำจังหวัด เป็นครูระดับชาติ แต่ไปที่อื่น เช่น นิวยอร์ก เบอร์ลิน คนก็ยังไม่รู้จักผมในฐานะที่เป็นครูสอนดนตรี เพราะเรายังด้อยในอีกหลายเรื่อง เพราะเรายังต้องขุดดินปลูกต้นไม้เอง แต่ในรุ่นลูก เขามี hardware มีเงิน มีวิทยาลัยพร้อมแล้ว เขาก็จะเติบโตไปเป็นนักดนตรีเฉพาะทางได้

sukre07

โปรยอาจารย์สุกรี

จากโครงการฯ ที่ทำมา ผมเชื่อว่า พรสวรรค์สร้างได้ ผมเชื่อว่าดนตรีเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีส่วนบันดาลให้เด็กเกิดมีพรสวรรค์

ทำไมต้องมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลคืออะไร คือโรงซ่อมสุขภาพใช่ไหม แต่ผมเป็นคนดี ๆ ไม่ป่วย รัฐเคยสนใจผมไหมว่าคนดี ๆ อย่างผมต้องการอะไร ผมไม่ต้องการยารักษาโรค ผมไม่ต้องการหมอ แต่ผมต้องการฟังดนตรีเพราะ ๆ ผมต้องการน้ำใส ลมสะอาด ต้องการบรรยากาศดี ๆ ต้องการดูแกลลอรี ต้องการดูโอเปรา ต้องการดูลิเก

มืออาชีพหมายความว่า หากินที่กรุงเทพฯได้ หากินที่หาดใหญ่ได้ หากินจังหวัดต่าง ๆ ได้ อันนี้ถือว่าเป็นระดับชาติแล้ว และยังสามารถไปเล่นที่นิวยอร์กได้ด้วย professional มีค่าเท่ากับ national และ international

การทำดนตรีให้เป็นอาชีพ ก็ต้องให้เด็กเรียนตั้งแต่เล็ก ๆ ต้องเป็น “ความรู้คู่ชีวิต” เมื่อเป็นความรู้คู่ชีวิตปั๊บ เด็กที่เรียนตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เลิกไม่ได้ ไปขายก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ได้ ไปขายขนมปังก็ไม่ได้ ขายเต้าฮวยก็ไม่ได้ ก็หมายความว่าเขาต้องทำอาชีพเกี่ยวกับดนตรี

ถ้าผมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เขาก็เก่งของเขาคนเดียว กลับมาก็ไม่มีเพื่อนและทำอะไรก็ไม่ได้ แทนที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เราก็เอาครูต่างประเทศมาสอนที่นี่เลย ลูกเรียนที่นี่ เพื่อนลูกก็เรียนที่นี่ ลูกของเพื่อนก็เรียนที่นี่ แทนที่จะได้เรียนคนเดียว ก็ได้เรียนสามสิบ สี่สิบ เป็นร้อย เด็กโตขึ้นมาก็มีพวกและเปลียนแปลงสังคมได้

ตอนนี้เราได้มากกว่าที่คิดแล้ว ๑. เด็กมันสมองดีมาเรียนดนตรี ๒. เด็กมีความสามารถทางดนตรีมาเรียนดนตรี ๓. เด็กที่มีฐานะครอบครัวดีมาเรียนดนตรี และเด็กที่มาเรียนดนตรีทุกคนมีเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตัวเอง

ถ้าเราสามารถทำเงินเดือนครูให้ได้ ๕ หมื่นบาท ใครก็อยากมาทำงานเป็นครู หรือสามารถทำเงินเดือนนักดนตรีอาชีพให้ได้สัก ๕ หมื่นบาท เป็นนักดนตรีอาชีพอยู่ในมหาวิทยาลัย สอนหนังสือด้วย เป็นนักดนตรีอาชีพด้วย ซ้อมวงดนตรีอาชีพตอนเช้า สอนหนังสือตอนบ่าย และเล่นดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าหรือวงมโหรีปี่พาทย์หรือทำแผ่นเสียงตอนค่ำ ผมคิดว่าใคร ๆ ก็อยากเป็นนักดนตรี

ดนตรีเป็นเรื่องของเสียง เสียงมีพลัง พลังทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เส้นสมองฝอย ๆ ของเด็กคนนี้จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป ถ้าเขาฟังเสียงหยาบ ๆ อย่างเสียงตวาด เสียงที่ไม่พึงประสงค์ เสียงรบกวน เส้นสมองเหล่านั้นมันก็กระเจิดกระเจิง ไม่งอกงาม ไม่แตกกิ่งก้านสาขา เมื่อไม่แตกกิ่งก้านสาขามันก็ทึบ แต่เสียงที่ฟังแล้วพอใจ คุณก็อยากฟัง เนื้อเต้น เลือดลมสูบฉีดไปทั่วร่างกาย