interview5 interview6
เกือบทุกวันจะมีกลุ่มคนจากที่ต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายในรีสอร์ตที่แปรออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน ตั้งแต่ การปลูกข้าว-ปลูกผักไร้สารเคมี การบำบัดน้ำเสีย การเลี้ยงไก่ การทำปุ๋ยหมัก ตลอดจนการผลิตสบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างรถ ฯลฯ คุณวริสรสาธิตการปั่นจักรยานสูบน้ำขึ้นมารดแปลงพืชผัก
interview7 interview8
ชายหาดหน้ารีสอร์ตมีการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างดี จะเห็นผักบุ้งทะเลขึ้นเต็ม และไม่มีอาคารที่พักตั้งอยู่ริมหาด บริเวณอาคารที่พักซึ่งรายรอบไปด้วยสระน้อยใหญ่ ดูเผินๆ คล้ายสวนน้ำ แท้จริงแล้วคือบ่อบำบัดน้ำเสียของรีสอร์ตที่ปลูกพืชน้ำชนิดต่างๆ ไว้ช่วยในการบำบัด
interview9
น้ำมันไบโอดีเซลที่ทางรีสอร์ตผลิตขึ้นใช้เองจากน้ำมันพืชใช้แล้วจะนำมาใช้กับรถและเรือของรีสอร์ต ราคาต้นทุนบวกกำไรให้พนักงาน คิดแล้วตกราวลิตรละ ๑๗ บาท

อะไรที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ของคุณวริสรเลือกมาทำรีสอร์ตที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕
คือจริงๆ คุณพ่อเป็นคนที่นี่ เป็นคนชุมพร แต่ตอนนั้นท่านยังทำงานอยู่กรมบัญชีกลาง ที่กรุงเทพฯ ส่วนคุณแม่เป็นครู ทั้งคู่เป็นคนรักธรรมชาติมาก เวลาคุณพ่อกลับบ้านมาเยี่ยมคุณย่า แล้วมาเที่ยวหาดแถวนี้ ท่านก็ชอบมาก เพราะมันเงียบดี ในทะเลปลาเยอะ บนชายหาดก็ยังมีป่า มีต้นเสม็ด ต้นมะม่วงหิมพานต์ แล้วก็ยังพอมีสัตว์ป่าให้เห็น ถึงปี ๒๕๒๕ คุณพ่อก็เลยซื้อที่ปลูกบังกะโลเล็กๆ ไว้ เวลาที่ไปดำน้ำเราก็จะไปพักกันที่นั่น ตอนนั้นการดำน้ำบ้านเรายังไม่บูมอย่างนี้ แทบไม่มีเลยก็ว่าได้ พวกเราน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ เกาะเต่าก็ยังบริสุทธิ์มาก นั่งเรือไปยังเห็นฉลามวาฬมาว่ายลอดใต้เรือ ทะเลก็สวย ทุกอย่างเป็นภาพที่ดีในความทรงจำ ต่อมาหนังสือ เพื่อนเดินทาง เขียนถึงทะเลชุมพร คุณเสกสรร ภู่ประดิษฐ์ ที่ทำรายการโลกดนตรี ก็มาเที่ยวแล้วไปเล่าออกรายการวิทยุบ้าง รายการโทรทัศน์บ้าง จึงเริ่มมีคนมาดำน้ำที่นี่ เราก็เลยทำเป็นที่พัก แรกๆ มี ๕ หลัง มีคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียน อ.ส.ท. คุณภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าฯ ททท. คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาเที่ยวเป็นรุ่นแรกๆ ว่างๆ พวกผู้ใหญ่ก็เล่นดนตรีกัน คุณเนาวรัตน์เป่าขลุ่ย คุณพ่อผมเล่นแอ็กคอร์เดียน พอปี ๒๕๒๘ คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มขยายกิจการจากบังกะโล ๕ หลังมาเป็น ๒๐ หลัง เป็นบังกะโลที่สร้างตามแนวคิด “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” คือไม่ทำลายธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายอื่นๆ

จากบังกะโลเล็กๆ ที่ยึดแนวทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยับขยายจนมาเป็นรีสอร์ตขนาดใหญ่ได้อย่างไร
เริ่มจากปี ๒๕๓๒ ที่เกิดพายุเกย์ หาดตรงนี้ไม่โดน เราไม่เป็นอะไรมาก ตอนนั้นทางการได้งบประมาณตัดถนนลาดยางเข้ามา มีการจัดงานประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเรื่อง “โลกทะเลชุมพร” ก็ทำให้คนมาเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างสนามบินชุมพรด้วย พอถึงปี ๒๕๓๙ สนามบินใกล้จะเปิด ถนนสี่เลนก็ใกล้จะเสร็จ เราจึงตัดสินใจเตรียมการรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วยการกู้เงินลงทุนขยายห้องพักเป็น ๔๐ หลัง และ ๑๒๐ ห้องในเวลาต่อมา ก็เลยไปกู้เงินก้อนใหญ่มาลงทุนเพิ่ม อีกประการก็คือ เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด ก็เลยตั้งใจจะให้รีสอร์ตที่เรากำลังจะทำได้เป็นต้นแบบของการออกแบบอาคารที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากคนอื่นอยากมาลงทุน เขาจะได้มีต้นแบบให้ได้ศึกษา

จะเห็นได้ว่าอาคารที่พักของเราอยู่ลึกเข้าไปจากชายหาดมาก เพราะคุณภราเดชให้หลักการในการจัดวางผังเพื่อไม่ให้รบกวนธรรมชาติว่า ให้เปรียบบริเวณชายหาดเป็นเสมือนห้องนอน ถัดออกมาเป็นชานบ้าน สนามหน้าบ้าน ถนน ห้องนอนหรือชายหาดต้องให้มีกิจกรรมต่างๆ น้อยที่สุด พูดง่ายๆ คือเราจะไม่เข้าไปรบกวนธรรมชาติบริเวณนั้นเลย ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ พยายามให้คงสภาพธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด ถัดออกมาเป็นชานบ้าน ห่างจากชายหาดออกมา ก็ถือเป็นพื้นที่ที่พอใช้ประโยชน์ได้บ้าง ทำกิจกรรม นอนอาบแดด ถัดออกมาอีกหน่อยก็เป็นสนามหน้าบ้าน บริเวณนี้เราก็มาสร้างเป็นที่พัก สระว่ายน้ำ ใช้จัดงานรื่นเริง มีกิจกรรมต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว และสุดท้ายคือถนน ซึ่งเป็นจุดที่ไกลจากแหล่งธรรมชาติที่สุด ก็ถือเป็นการจัดลำดับความสำคัญ ให้ความเคารพต่อธรรมชาติ ต่อภูมิศาสตร์ และภูมิสังคม แต่ที่ผ่านมาคนมักจะมองกลับกัน พยายามตัดถนนไปให้ใกล้แหล่งธรรมชาติมากที่สุด มีถนนเลียบริมทะเล ตัดถนนเข้าไปใกล้น้ำตก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ไปเที่ยว โดยไม่คำนึงถึงสภาพธรรมชาติที่จะเสียไป

ตอนนั้นวางแนวทางในการออกแบบตัวอาคารอย่างไร
เราทำงานร่วมกับสถาปนิกคือคุณณัฐพงศ์ อินทุภูติ ศ. ดร. เอ บรูซ เอเทอร์ริงตัน จากมหาวิทยาลัยฮาวาย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ก็คิดว่าสิ่งปลูกสร้างไม่ควรสูงมาก และที่แน่ๆ คือไม่ตั้งอยู่ใกล้ชายหาด เป็นปีศาจหรือมอนสเตอร์ริมทะเล แต่จะถอยเข้าไป ซึ่งแรกๆ คนที่มาเที่ยวก็บ่น แต่เราก็พยายามทำควมเข้าใจ เราทำรีสอร์ตทั้งทีก็ไม่อยากให้รีสอร์ตของเรากลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของที่นี่ ไม่อยากเป็นตัวสร้างทัศนะอุจาด นอกจากเรื่องที่ตั้ง เราก็มาเน้นเรื่องระบบการก่อสร้าง เรามองว่าอาคารของเราควรจะต้องต้านแรงกระแทกจากลมพายุได้ ก็เลยใช้ระบบอิฐบล็อกประสานหรือ interblocking ซึ่งเป็นระบบที่เอไอทีวิจัยในเมืองไทย เป็นระบบใหม่มาก ในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีใครทำเลย มันไม่ใช่ระบบเสาคาน แต่เป็นระบบที่ให้กำแพงเป็นตัวรับน้ำหนัก เพราะฉะนั้นกำแพงจะแข็งแรงมาก ทนแผ่นดินไหวได้ ๗.๓ ริกเตอร์ กันแรงกระแทกซึ่งเกิดจากลมพายุได้ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง หากในอนาคตเกิดพายุ เราจะสามารถอพยพคนในหมู่บ้าน ๕๐๐ กว่าคนมาหลบพายุในอาคารเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญอิฐบล็อกประสานเป็นอิฐที่ไม่ต้องใช้ไม้แบบในการก่อสร้าง ก็ลดการตัดต้นไม้ไปได้ และเราก็ใช้อุปกรณ์ค้ำยันเป็นเหล็กทั้งหมด ใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดภาระการขนส่ง ทั้งหมดนี้ก็คิดจากฐานเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม

เท่าที่ทราบกิจการรีสอร์ตไปได้ด้วยดี แล้วมามีหนี้สินมากมายได้อย่างไร
ก็มาจากการลงทุนเพิ่มครั้งนั้น คือหลังจากเรากู้เงินก้อนใหญ่และเริ่มต้นก่อสร้าง ไม่ทันไรก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ค่าเงินบาทลอยตัว บริษัทไฟแนนซ์ที่ให้เงินเรากู้ก็ปิดกิจการไป ตอนนั้นเราเป็นหนี้อยู่ประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท รีสอร์ตส่วนที่ขยายก็ยังเปิดไม่ได้ แล้วปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ชุมพรด้วย ก็เป็นสองวิกฤตที่มาเจอกัน

ช่วงเวลานั้นตั้งรับกับปัญหาอย่างไรครับ
คิดว่าคงไม่รอดแล้ว เพราะหนี้ก็ท่วม เศรษฐกิจก็ไม่ดี ตอนนั้นงงไปหมด ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เราก็อยู่ไปอย่างนั้น ทำใจแล้วว่าอาจจะโดนเจ้าหนี้ยึด แต่พอดีช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะทำงาน คือคุณดิศธร วัชโรทัย กับทางสำนักพระราชวัง ลงมาทำโครงการแก้มลิงช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองชุมพร ตอนนั้นโรงแรมในเมืองน้ำท่วมหมด คุณดิศธรก็เลยมาพักที่นี่ เราอยากมีส่วนร่วมทำอะไรถวายแด่พระองค์ท่านบ้าง จึงเสนอที่พักให้แก่คณะทำงาน แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดที่จะให้คณะมาพักฟรี ให้คิดราคาพิเศษ การที่คณะทำงานมาพักที่นี่ก็เป็นโอกาสให้เราได้เห็นเบื้องหลังการทำงานของทางสำนักพระราชวัง ว่าทำงานกันจริงๆ ทั้งกลางวันกลางคืนแบบไม่มีวันหยุด มีรถโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมมาจอดที่นี่ด้วย เพราะในหลวงจะทรงสั่งงานทางโทรศัพท์อยู่เป็นระยะ ตอนนั้นทรงเตือนว่า เดี๋ยวจะมีพายุเข้าอีก ให้รีบขุดคลองที่หนองใหญ่ ทำโครงการแก้มลิงให้เสร็จก่อนพายุมา ก็เร่งขุดกัน ทำประตูน้ำทั้งวันทั้งคืนกระทั่งเสร็จ ประมาณเดือนพฤศจิกายนพายุลินดาก็เข้าจริงๆ และพอฝนตก แก้มลิงก็รับน้ำได้จริงๆ ทำให้น้ำไม่ท่วมในเมือง มันแบ่งน้ำได้เยอะมาก

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาที่ชุมพรหลังเกิดน้ำท่วมในปี ๒๕๔๑ คุณแม่ผมมีโอกาสไปเข้าเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวลร่วมกับคณะของจังหวัด พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าที่ยังไม่ได้เสด็จฯ มาชุมพรเพราะต้องไปช่วยที่อื่นที่ลำบากมากกว่า ทั้งยังรับสั่งด้วยว่าไม่ให้ชาวชุมพรทิ้งเรื่องการปลูกข้าว เพราะถ้ามีอะไรเกิดขึ้นคนใต้จะไม่มีข้าวกิน เดิมเราก็สนใจเรื่องการปลูกข้าว แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอะไร หรืออย่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทานไว้ ก็สนใจแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร มาเริ่มคิดว่าต้องลงมือทำให้ได้ก็หลังจากเกิดน้ำท่วมคราวนั้นเอง เพราะพอเกิดน้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อน เราก็ได้เห็นว่ามีแต่พระองค์ท่านที่ไม่ทรงเคยทอดทิ้งประชาชน ก็เลยคิดในใจว่าอยากทำอะไรถวายแด่พระองค์ท่านบ้าง ตั้งใจว่าถ้ามีงานใด โครงการใด ที่ทรงอยากให้ประชาชนได้ทำ เราจะต้องทำให้ได้ ก็เริ่มต้นจากการปลูกหญ้าแฝก ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ไปปลูกต้นไม้ ชวนพนักงานในรีสอร์ตไปช่วยกันปลูกตลอดแนวถนนข้างหลังจนตอนนี้มันสูงใหญ่ร่มครึ้มไปหมดแล้ว ซึ่งการได้ทำอะไรบ้างในช่วงที่มันวิกฤต ก็พอจะช่วยคลายความอึดอัดใจไปได้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ตอนนั้นลูกค้าของรีสอร์ตลดลงมากไหม
ลูกค้าเก่าก็ดีนะครับ เราไม่เคยขาดลูกค้า มีลูกค้าตลอด ยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเรายิ่งมีลูกค้าเยอะ เพราะว่าเขาจะไม่ค่อยเดินทางไกลๆ ไปดำน้ำต่างประเทศค่าใช้จ่ายสูง เขาก็เปลี่ยนมาดำน้ำใกล้ๆ เราก็พอมีรายได้บ้าง แต่เนื่องจากที่พักส่วนที่ขยายเพิ่มมันยังไม่เสร็จ รายได้ที่เข้ามากับเงินที่เราลงทุนไปก็เลยยังไม่สัมพันธ์กัน จึงต้องไปกู้เพิ่มเพื่อก่อสร้างให้ส่วนที่ขยายเปิดให้ได้ ถึงปี ๒๕๔๒ หนี้สินบวกดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า

แล้วจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นตอนไหน
จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองเลย เพราะมันดูมืดมนมาก ใจเราคิดแค่อยากจะทำงานอะไรก็ได้ที่เป็นการสนองแนวพระราชดำริ เพราะช่วงที่เราเผชิญวิกฤต เรามีแต่พระองค์ท่านเป็นขวัญและกำลังใจ เผอิญช่วงที่หันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ได้มารู้จักกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งเคยถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้คุยกันหลายเรื่อง ตั้งแต่หลักการทำงานที่ต้องมี ๓ ค. คือ ต้องคึกคัก ต้องฝึกให้คล่องแคล่ว และอย่าเครียด ให้ครื้นเครง เรื่องโครงการต่างๆ ของพระเจ้าอยู่หัว อย่างการเอาของเสียมาเป็นของดี การเอาเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก การบำบัดน้ำเสียโดยเอาผักตบชวามาใช้ที่เรียกว่าอธรรมปราบอธรรม ฯลฯ ถ้อยพระราชดำรัส เช่น “ขาดทุนคือกำไร ยิ่งให้ยิ่งมี” “ระเบิดจากข้างใน” ไปจนถึงเรื่องหลักๆ อย่างเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องเกษตรธรรมชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกลายเป็นที่มาของกิจกรรมหลายอย่างที่เราทำอยู่ตอนนี้

หลังจากคุยกับอาจารย์วิวัฒน์ อาจารย์ก็ให้เริ่มต้นจากการทำเกษตรธรรมชาติ ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้เท่าไร แต่ถือว่าเราไม่มีอะไรจะเสีย ก็ลองทำดู พอทำแล้วจึงได้รู้ว่าเกษตรธรรมชาติมันช่วยพัฒนาตัวเราได้หลายอย่าง มันสอนให้เราคารวะต่อธรรมชาติ แล้วก็เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างมันมีกฎมีเกณฑ์ของมัน ขณะที่ถ้าเป็นเกษตรเคมี มันฆ่าอย่างเดียว ที่สำคัญ พอเราเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่นๆ มากขึ้น เริ่มรู้จักปล่อยวางมากขึ้น รู้สึกดีขึ้น

ช่วงแรกๆ ที่ทำเกษตรธรรมชาติก็เริ่มจากชักชวนพนักงานไปปลูกข้าว ผมอยากปลูกข้าว เพราะพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าอย่าทิ้งเรื่องการปลูกข้าว ก็ไปปลูกในนาของพนักงานก่อน เป็นการปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี ต่อมาก็ไปปลูกรอบสระว่ายน้ำของรีสอร์ตซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตกแต่งจัดสวนอะไรเลยเพราะไม่มีเงิน อาจารย์วิวัฒน์วางแปลนไว้ให้ว่าตรงนี้ทำเป็นนาข้าว ตรงนี้ปลูกสมุนไพร รอบๆ ตัวอาคารทำเป็นสวนน้ำเล็กๆ ปลูกพืชน้ำไว้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย ก็ค่อยๆ เริ่มทำไป พอช่วงหลังก็ขยายไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของรีสอร์ต

เห็นว่านอกจากปลูกข้าวไร้สารเคมีในพื้นที่รีสอร์ตแล้ว ยังไปชักชวนชาวบ้านให้ปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมีด้วย
ที่จริงก่อนหน้านี้เราไปรณรงค์เรื่องการปลูกข้าวไร้สารเคมีในชุมชนต่างๆ มาแล้ว เพราะตั้งใจว่าจะทำงานตามแนวพระราชดำริ โดยเริ่มที่บ้านหนองใหญ่ ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง ตอนที่เราไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการใช้สารเคมี เราก็ใช้วิธีการพูดคุยกับเขา คุยกับผู้ใหญ่บ้าน กับชาวบ้าน ทุกสุดสัปดาห์ก็เฮกันไปเพื่อจะให้เขาเลิกใช้สารเคมี แต่ผ่านไป ๓-๔ เดือนก็ปรากฏว่าเขายังใช้กันอยู่ พอถามเหตุผลเขาก็ว่า เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร ถ้าจะต้องใช้เงินก็เฉพาะเวลาไปโรงพยาบาลนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมเขาต้องเปลี่ยน เขายังว่า คุณต่างหากที่เดือดร้อน เป็นหนี้ตั้งเยอะ ผมก็เลยได้คิดว่า นี่แหละเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ชาวบ้านเขาไม่ได้ลำบากอะไร เขาพออยู่พอกินพอใช้ แต่เราชอบคิดว่าเป็นชาวบ้านต้องลำบาก พยายามจะเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ต้องการ

จากการออกไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น ได้เห็นว่าสังคมที่นี่เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่มีความเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง” อยู่แล้ว เราแค่ไปพยุงเขาไว้ ไปบอกเขาว่ามันมีภัยอะไรบ้างที่อาจจะมาถึง เช่น ภัยจากการใช้สารเคมี การกว้านซื้อที่ดินของนายทุน หรือปัญหาด้านการขายผลผลิต ทีนี้ปัญหาก็คือ เราจะบอกเรื่องพวกนี้กับชาวบ้านอย่างไร อย่างเรื่องการใช้สารเคมี เราคุยกับชาวบ้านหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งมาคิดถึงคำที่พระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสไว้ ทำอะไรต้อง “ระเบิดจากข้างใน” ทรงสอนว่า เวลาเราจะทำอะไรกับชาวบ้าน ต้องถามชาวบ้านก่อนว่าเขาต้องการหรือเปล่า ไม่ใช่ไปยัดเยียดให้เขา ไปสรุปให้เขาเสร็จ มันก็ทำให้ผมได้คิดว่าสิ่งที่เราทำไปก่อนหน้านี้มันตรงข้ามกับสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสไว้ ก็เลยเปลี่ยนวิธี กลับไปถามชาวบ้านก่อนว่าเขาต้องการหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าเขาไม่ต้องการ เราก็กลับมาคิดว่า ที่ผ่านมาเราเองก็ไม่เคยทำนา ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ มันเป็นยังไง ทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี มันดีหรือไม่ดียังไง อยู่ดีๆ จะไปบอกให้ชาวบ้านเลิกใช้สารเคมีมันก็คงไม่ได้ ก็เลยคิดว่าคงต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ให้ระเบิดจากตัวเรานี่แหละ ผมก็เลยเริ่มลงมือจากการปลูกข้าว บอกพนักงานว่ามาช่วยกัน ค่อยๆ ทำไปแบบ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ตามคำแนะนำของอาจารย์วิวัฒน์ กลางคืนผมก็อ่านหนังสืออ่านตำรา กลางวันพอทำงานที่รีสอร์ตเสร็จ ก็มาปลูกข้าว หมักปุ๋ย แล้วก็ตระเวนไปหาซื้อเครื่องสีข้าวเก่ามาสีข้าวกันเอง หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีข้าวกินเอง มีแกลบมีรำ ก็เอามาทำปุ๋ยหมักได้อีก ตอนนั้นเราทำนากันในพื้นที่ของรีสอร์ตประมาณ ๑ ไร่ ใช้ปุ๋ยธรรมชาติทั้งหมดเลย ปีแรกเราได้ ๔๖ ถังต่อไร่ ปีที่ ๒ เราได้ ๖๐ ถัง ผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำยิ่งได้

เลยทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจการปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีได้สำเร็จ
ผมพบว่าเราต้องเริ่มจากการทำ “ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ” ให้เขาเห็น ปรกติแถวนี้ปลูกข้าวใช้สารเคมีจะได้ผลผลิตแค่ ๓๕-๔๐ ถังต่อไร่ ขณะที่ปีแรกเราปลูกด้วยวิธีเกษตรธรรมชาติ เราได้ข้าว ๔๐ กว่าถัง มันก็เป็นแรงจูงใจสำหรับชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน ทางรีสอร์ตก็รับซื้อข้าวปลอดสารเคมีจากชาวบ้านด้วย เพราะนอกจากเราจะต้องเลี้ยงแขกของรีสอร์ตแล้ว ยังต้องเลี้ยงพนักงานประมาณ ๑๕๐ คน วันละ ๓ มื้อด้วย การที่เรารับซื้อข้าว ก็ทำให้ชาวบ้านรอบนอกซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของพนักงานรีสอร์ต มีแรงจูงใจที่จะปลูกข้าวปลอดสารเคมีกันมากขึ้น ก่อนหน้านี้ที่นาแถวนี้ถูกขายให้นายทุนหรือไม่ก็เอาไปทำสวนปาล์มกันเกือบหมด แต่เราสามารถไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์ “เหลืองปะทิว” ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของชุมพร รวมแล้วประมาณ ๕๐๐ ไร่ โดยเรารับซื้อหมด ให้เกวียนละ ๘,๐๐๐ กว่าบาทขึ้นไป พอเราทำเรื่องนี้สำเร็จ มันก็ทำให้เราเริ่มมองเห็นหนทางที่จะไปต่อ โดยยึดหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ก็เอาใกล้ๆ ตัว เริ่มจากพนักงานร้อยกว่าคนของเรานี่แหละ ก็มานั่งประชุมกันว่าจากปลูกข้าวแล้วจะทำอะไรกันต่อ