วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นิริญา บัวศรี : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

int thana01

เดือนกันยายน ๒๕๔๙ มีข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์รายงานว่า นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของโรงแรมชื่อดังบนเกาะสมุย ได้มอบที่ดิน ๕,๐๐๐ ไร่บนเกาะสมุยให้แก่ทางราชการ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นป่าธรรมชาติ แหล่งต้นน้ำลำธาร และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ตามเจตนารมณ์ของบิดา

คนหนุ่มผู้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่ได้ทราบข่าวในครั้งนั้นคือ ธนกร ฮุนตระกูล ทายาทคนเดียวของชมภูนุทและอากร ฮุนตระกูล อดีตเจ้าของกิจการโรงแรมเครืออิมพีเรียลอันโด่งดัง ที่ต่อมาได้ขายกิจการจนหมด เหลือเพียงสถานที่ที่พวกเขารักมากที่สุด–โรงแรมบ้านท้องทราย บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี

ธนกร หรือกบ เกิดในเมืองไทย แต่ไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนตั้งแต่วัยเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับภรรยาของเขา–สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือกอหญ้า บุตรสาวของสีดาและสีหศักดิ์ ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตช่างภาพอาชีพระดับหัวแถวคนหนึ่งของเมืองไทย

กบเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษ กอหญ้าเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์จากสหรัฐอเมริกา ทั้งสองพบรักและแต่งงานกันอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันครองรักกันมาได้ร่วม ๑๐ ปี

กบเคยผ่านงานโฆษณา กอหญ้าเคยทำงานประจำที่ ปตท. ขณะเดียวกันก็ทำงานโฆษณา ดีเจรายการวิทยุ จัดรายการทีวีควบคู่กันไปด้วย จนกระทั่งเมื่อคุณอากรล้มป่วยลง และเสียชีวิตในปี ๒๕๔๓ ทั้งคู่ในวัยเพียง ๒๐ กว่า จึงต้องมาช่วยงานที่โรงแรมบ้านท้องทรายอย่างเต็มตัว โดยกบดูแลด้านการตลาด กอหญ้ารับผิดชอบการบริหารภายในโรงแรม

เป็นเจ้าของโรงแรมที่เคยเสิร์ฟอาหารให้แขกด้วยตัวเอง และไปแยกขยะกับลูกน้องตามประสาคนรักธรรมชาติและสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม

จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วที่นักธุรกิจรุ่นใหม่คู่นี้รับผิดชอบดูแลกิจการโรงแรมระดับห้าดาวโดยไม่เคยจ้างนักบริหารมืออาชีพจากเมืองนอก ไม่เคยเป็นเครือข่ายหรือเชนของโรงแรมดังระดับโลก แต่กลับสามารถทำให้โรงแรมของคนไทยแห่งนี้คว้ารางวัลโรงแรมยอดเยี่ยม ๑ ใน ๑๐๐ แห่งของโลกหลายปีติดต่อกัน

ทั้งคู่เชื่อเสมอว่าการดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการรักษาธรรมชาติเป็นแนวทางที่ดีและสมดุลที่สุด

สำหรับพวกเขา ธรรมชาติไม่ได้เป็นเพียงลูกเล่นทางการตลาด แต่คือของจริงที่ทุกคนต้องดูแล โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่มีส่วนในการทำลายธรรมชาติอย่างมาก ดังนั้นโรงแรมบ้านท้องทรายจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความพอเพียง ไม่ขยายกิจการ ไม่สร้างหนี้ ไม่แสวงหากำไรสูงสุด

กบเคยกล่าวไว้ว่า “แม้การดำเนินธุรกิจโรงแรมเชิงอนุรักษ์จะไม่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมหาศาลแต่ก็พออยู่ได้อย่างสบาย สามารถเลี้ยงครอบครัวและพนักงาน ๒๕๐ ชีวิต ผมพอใจในสิ่งที่มี”

ลองมาฟังกบและกอหญ้าเล่าเรื่องชีวิต ความคิด และทัศนะที่พวกเขามีต่อโลกและสังคมปัจจุบัน ในฐานะ คนตัวเล็กๆ ในสังคม

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจยกที่ดิน ๕,๐๐๐ ไร่บนเกาะสมุยให้ทางราชการ
กบ :
ตอนที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ พวกผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาเสนอขายที่ดินบนเขา เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ พ่อก็ซื้อเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร เหมือนซื้อกันไม่ให้คนอื่นมาสร้างเพิ่ม และตั้งใจเก็บไว้เป็นป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ สำหรับคนสมุย ซื้อไปเรื่อยๆ จนมีถึง ๕,๐๐๐ ไร่ ประมาณ ๒๐๐ แปลง แต่ไม่ได้เป็นผืนเดียวกัน คือกระจายอยู่ในตำบลแม่น้ำ หน้าเมือง ลิปะน้อย ตลิ่งงาม และที่อื่นๆ พอพ่อตายไป เราก็รู้สึกว่าดูแลไม่ไหว เพราะเริ่มมีการบุกรุกที่ดินกันมาก บางคนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินโดยไม่รังวัดหรือสำรวจแนวเขต ทำเอกสารปลอมกันหน้าตาเฉย เราจึงคิดจะยกให้คนอื่นดูแลเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวม ตอนแรกตั้งใจจะยกให้มูลนิธิชัยพัฒนา แต่ติดปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิ์ชัดเจน ทางมูลนิธิฯ จึงไม่สามารถรับบริจาคได้ ก็เลยเบนเข็มว่าจะยกให้ทางกรมป่าไม้ โดยมีข้อแม้ข้อเดียวคือต้องเก็บให้เป็นป่า

แล้วดำเนินการอย่างไรต่อ
กบ :
ราวปี ๒๕๔๘ เราก็ทำเรื่องถึงคุณสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจแนวเขต และกลับมาบอกว่าบนเขายังเป็นป่าต้นน้ำชั้น ๑ เอ แต่มีปัญหาแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจน ทับซ้อนกับที่ดินชาวบ้าน คือต่างคนต่างก็จำไม่ได้ว่าแนวเขตจริงๆ อยู่ตรงไหน ทางกรมป่าไม้ก็บอกให้เราไปแก้ปัญหานี้ก่อน แต่หากเราต้องทำแนวเขตจริงๆ อาจจะต้องเปิดศึกรอบด้านกับชาวบ้านทุกคนที่มีที่ติดกับเรา ทั้งๆ ที่เราอยากคืนป่าให้เกาะสมุย กลายเป็นว่าทำไมเราต้องมาเจ็บตัวขนาดนี้ เราไม่อยากมีเรื่องกับชาวบ้าน ตอนหลังมี ส.จ. คนหนึ่งซึ่งตอนนี้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย คือคุณรามเนตร ใจกว้าง มาช่วยคิดว่าจะให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล ตอนนั้นประมาณปี ๒๕๔๘ คุณรามเนตรก็ช่วยประสานกับผู้ใหญ่บ้าน คือทุกเดือนนายอำเภอจะประชุมผู้ใหญ่บ้านทั่วเกาะสมุยประมาณ ๒๐๐ คน มีครั้งหนึ่งตอนประชุม เราก็ขอเวลา ๕ นาทีเพื่อประกาศให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ได้รู้ว่าเรามีความตั้งใจจะยกที่ดินคืนให้คนสมุยเก็บไว้เป็นป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ ตามเจตนารมณ์ของพ่อ ผู้ใหญ่บ้านก็รับรู้ มีการมอบสำเนาเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดินให้นายอำเภอไป และเราก็ทดลองยกที่ดินบริเวณเขาขวางประมาณ ๑๐๐ ไร่ให้ชาวบ้านทำป่าชุมชนเป็นแปลงแรกดูก่อน มีการทำบุญ เชิญนายอำเภอ เชิญชาวบ้านมาเป็นสักขีพยาน มีการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย แต่การยกที่ดินให้ชาวบ้านทำป่าชุมชนมันผิดหลักการป่าชุมชนทั่วไปที่เริ่มจากชาวบ้านมากกว่า เหมือนเรากำลังยัดเยียดให้ชาวบ้านทำป่าชุมชน ขณะที่ชาวบ้านเกาะสมุยไม่มีประสบการณ์การทำป่าชุมชนมาก่อน กลายเป็นว่าเราต้องทำทั้งหมดเลยหรือ ทั้งยกที่ดินให้และสอนด้วย ทั้งที่เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำป่าชุมชน ยังคิดว่าหน่วยงานรัฐไม่เข้ามาช่วยบ้างหรือ ในที่สุดป่าชุมชนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีชาวบ้านเข้าไปเป็นคณะกรรมการดูแล แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปตัดต้นไม้หรือสร้างอะไรขึ้นมา ชาวบ้านเขาก็เป็นหูเป็นตาให้

ได้มอบที่ดินแปลงอื่น ๆ ให้ชาวบ้านในพื้นที่ดูแลด้วยหรือเปล่า
กบ :
หลังจากนั้นเราจะไปทำต่ออีกแปลง ก็มีการมอบกันแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเพราะชาวบ้านบางคนในบางพื้นที่ออกมาบอกว่าที่ดินตรงนั้นเขาไม่ได้ขายให้พ่อนะ กลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมายที่เราต้องไปเคลียร์ ชักไม่สนุกแล้ว ก็เลยหยุดไป เลยจบอยู่แค่ว่ามีการประกาศให้นายอำเภอและผู้ใหญ่บ้านรับรู้ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนเดิม ไม่มีชุมชนใดสนใจจะประกาศให้ที่ดินที่เรายกให้เป็นป่าชุมชนเลย จนกระทั่ง ๑ ปีให้หลัง คือในปี ๒๕๔๙ ยงยุทธ ติยะไพรัช ขึ้นมาเป็น รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาปักหมุดเพื่อทำแนวพื้นที่อุทยาน และประกาศว่าเกาะสมุยต้องมีพื้นที่อุทยาน ๒๓,๐๐๐ ไร่ เราก็ไปบอกพวกป่าไม้ว่าถ้าจะมาวัดแนวอุทยานก็ให้ผนวกที่ดินของเราไปในเขตอุทยานด้วย แล้วเราก็ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นพยานว่าอาจจะมีการผนวกที่ดินของเราที่ยกให้ชาวบ้านเป็นอุทยานด้วย แต่พอพวกป่าไม้กลับไป ก็ไม่มีการบอกกล่าวให้คนสมุยทราบว่าพื้นที่ป่า ๒๓,๐๐๐ ไร่ที่จะประกาศเป็นอุทยานอยู่ตรงไหน หรือจริงๆ แล้วมีหรือเปล่า หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน เรื่องก็เลยเงียบหายไป ซึ่งเราก็ทำใจไว้แล้ว
กอหญ้า : ที่ผ่านมาเราเองก็ไม่มีความชำนาญ ไม่มีคนมาบริหารจัดการดูแลให้มันเป็นป่าของคนสมุย แล้วก็ไม่ได้มีคนสนใจมากด้วย รัฐก็ไม่ได้สนใจ พอยกให้ทางการก็เข้าอีหรอบเดิม คือไม่มีอะไรคืบหน้าเพราะไม่มีคนสานต่อ ชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าป่าชุมชนคืออะไร ผู้ใหญ่บ้านก็ยังไม่เข้าใจว่าป่าชุมชนต้องทำอย่างไร มีป่าอยู่ ๑๐๐ กว่าไร่ แต่ไม่ได้บริหารจัดการแบบป่าชุมชน ตอนนี้รู้สึกว่าจะมีนายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ติดกัน แล้วก็คงมีการบุกรุกเหมือนเดิมเพราะที่ดินเหล่านี้มีราคามาก

หากเป็นนักธุรกิจคนอื่น ๆ คงเก็บที่ดินไว้ทำธุรกิจหรือขยายกิจการต่อ แต่คุณไม่ทำอย่างนั้นเพราะเชื่อในเรื่องความพอเพียง ?
กอหญ้า :
วิธีคิดของเราก็ไม่ต่างจากคนอื่นที่สนใจความพอเพียง คนเราหากรู้จักคำว่า ‘พอ’ ชีวิตจะมีความสุขขึ้น เราพอเพียงกับการมีแค่ ๑ โรงแรม เราไม่ต้องการขยายเป็น ๒-๓ โรงแรมเหมือนนักธุรกิจสมัยนี้ที่จะต้องขยายให้มากขึ้นๆ จนเป็นวิถีของทุนนิยมที่ไม่มีจุดจบ
กบ : มันก็ไม่ใช่ความผิดของนักธุรกิจเหล่านั้น เพราะระบบของโลกเป็นแบบนี้ เราจะไปฝืนระบบ จะไม่ติดต่อค้าขายกับต่างชาติเลยก็ไม่ใช่ เราทำโรงแรมถ้าไม่มีลูกค้าต่างชาติ เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ถามว่าแล้วถ้าเกิดเจ๊งขึ้นมาล่ะ เจ๊งก็เจ๊ง แต่อย่างน้อยตอนนี้ไม่มีหนี้ เราไม่คิดว่าการสร้างหนี้เป็นสิ่งที่ดี แม้นักธุรกิจหลายคนจะเห็นการสร้างหนี้เป็นสิ่งที่ดี
กอหญ้า : อยู่ได้คือเราไม่มีหนี้ ไม่มีความรู้สึกกดดันว่าจะต้องหาเงินมากขึ้นๆ เพื่อใช้หนี้ เราก็อยู่ของเราไปเรื่อยๆ ทำน้อยก็ได้เงินน้อย ทำเยอะก็ได้เงินเยอะ ที่ผ่านมาเราค่อนข้างขายดีมาหลายปี ขณะเดียวกันก็มีเรื่องให้ต้องปรับปรุงอยู่เสมอ เดี๋ยวห้องก็เก่าแล้ว เราก็เอาเงินสะสมมาปรับปรุงให้ห้องดูใหม่ขึ้นทันสมัยขึ้น เอามาปรับปรุงโปรดักต์ของตัวเอง ต้องดูตลาดเพิ่มขึ้นด้วย เพราะส่วนแบ่งการตลาดในเกาะสมุยเยอะขึ้น เราอาจต้องหาตลาดสัมมนากลุ่มเล็กๆ มาเสริม ก็ต้องทำห้องประชุมเพิ่มขึ้น สปาก็เหมือนกัน เราทำมา ๗-๘ ปีแล้ว แต่ก็ต้องทำเพิ่ม เพราะสปาเดี๋ยวนี้พัฒนาไปมาก มีทั้งโยคะ ไท้เก๊ก ล้างพิษ ฯลฯ อีกหน่อยเราก็ต้องคิดถึงการพัฒนาธุรกิจเล็กๆ ในโรงแรมของเรา ซึ่งอาจจะเพิ่มรายได้ให้โรงแรมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้น

การเป็นเครือข่ายหรือเชน (chain) ของโรงแรมชื่อดังในต่างประเทศมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเคยคิดจะให้โรงแรมบ้านท้องทรายไปเป็นเชนหรือไม่
กบ :
จริงๆ แล้วเจ้าของโรงแรมจะต้องวิ่งเข้าหาเจ้าของเชน ถ้าคุณต้องการให้เชนของเขามาบริหารก็จะได้โลโก ได้การตลาด แล้วเขาก็เอาระบบของเขาซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพทั่วโลกมาใช้ในเมืองไทย แล้วเราก็ต้องปรับสินค้าของเราให้ได้ตามมาตรฐานของเขา เช่นเชนจะบอกว่าคุณต้องมีสระว่ายน้ำอย่างน้อย ๓ สระ ห้องอาหารอย่างน้อย ๒ ห้อง หรือห้องพักต้องมีขนาดใหญ่อย่างน้อย ๗๐ ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งก็ลำบากเหมือนกัน ที่สำคัญค่าบริหารจัดการแพงมาก คือต้องจ้างฝรั่งเข้ามา เพราะฉะนั้นสำหรับบางโรงแรมก็ไม่คุ้ม
กอหญ้า : เราแข่งขันกับเชนก็ลำบาก เราเป็นคนไทยทำธุรกิจโรงแรมเดียว ไปเปรียบเทียบกับพลังการขาย พลังการตลาด การหาลูกค้าของเชนอย่าง Four Seasons หรือ Marriott พวกนี้ไม่ได้เลย แค่เวลาเราไปทำการขายในญี่ปุ่น เราก็รู้แล้วว่าอำนาจในการต่อรองของเขาสูงกว่าเราเยอะ แต่อย่างน้อยเราก็มีโปรดักต์ที่ไม่เหมือนใคร เราไม่คิดจะทำเหมือนเป็นเชน เราไม่คิดจะให้พนักงานของเราเป็นเหมือนพนักงานโรงแรมในเชนบางเชนที่มีหนังสือคู่มือให้พนักงานอ่าน ว่าต้องพูดอย่างนี้ ต้องโค้งอย่างนั้น มีอะไรก็เปิดคู่มือ แต่เราเน้นให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติ การพูดจาจะเป็นภาษาต่างประเทศสำเนียงไทยก็ไม่เป็นไร

คุณคิดว่าธุรกิจโรงแรมที่ทำอยู่ทำลายธรรมชาติมากน้อยเพียงใด และคุณพยายามรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร
กอหญ้า :
เวลาจะสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ต ส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกสร้างในพื้นที่ที่ธรรมชาติสวยงาม ถ้าเป็นภาคใต้ก็ต้องมีวิวทะเล ถ้าเป็นภาคเหนือก็ต้องมีภูเขา มีแม่น้ำ เพราะนักท่องเที่ยวก็ต้องการเข้าไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ฉะนั้นทำลายอย่างแรกเลยคือบุกรุกพื้นที่สีเขียว เวลาสร้างบ้าน ๑ หลังก็ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างเยอะมาก สมัยนี้ทุกอย่างห่อพลาสติกหมด บรรจุภัณฑ์ก็เป็นวัสดุไม่ย่อยสลายถ้าเผาก็เป็นคาร์บอน ยังไงการทำธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตมีส่วนในการทำลายธรรมชาติแน่นอน แต่เราจะมีเกณฑ์ในการรับผิดชอบต่อการกระทำของเราอย่างไร เป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการต้องลงไปดู ไม่ใช่คิดแค่ว่ากูอยากสร้างตรงนี้ก็ตัดต้นไม้หมด สร้างบ้านให้เต็มไปหมด จะได้ขายได้เยอะขึ้น
กบ : อย่างแรกที่เราทำคือไม่ขยายกิจการ เรามีที่ดินอยู่ ๗๐ ไร่นี้ มีห้อง ๘๓ ห้อง ตอนพ่อยังอยู่เขาจะทำเพิ่มอีก ๓๐ ห้อง พอถึงรุ่นเรา เราก็ประกาศเลยว่าเราไม่ทำเพิ่มแล้ว ให้ทุกอย่างหยุดเดินไปข้างหน้า แต่ย้อนกลับไปดูข้างหลังหน่อย เพราะพ่อไม่เคยสนใจเลยว่าห้องที่เขาสร้างเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วมันเก่าขนาดไหน เราก็เลยกลับมาปรับปรุงของเก่าก่อนดีกว่า
กอหญ้า : ตอนที่เราเริ่มปรับปรุงโรงแรมเมื่อปี ๒๕๔๓ มีขยะเยอะมาก พนักงานของเราเอาขยะไปกองทิ้งไว้ที่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีจดหมายมาจากชาวบ้านแถวนั้นหลายคนบ่นว่าเราเอาขยะไปทิ้งไว้และเผาทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้มีควันดำกลิ่นเหม็นมาก เราก็ขับรถไปดู เห็นว่าขยะเยอะจริงๆ กระป๋องสี พลาสติก เผารวมกันหมด คงเหม็นมาก แล้วเป็นสารพิษทั้งนั้น ก็เลยไปสืบว่าใครเป็นคนเผา พบว่าเป็นพนักงานเก่าแก่คนหนึ่ง ทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าขยะมันเยอะก็เลยเผาซะ เราทำผิดจริง ก็ไปศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม คุยกับผู้รับเหมาก่อสร้างว่าคุณต้องจัดการขยะของคุณนะ เราก็ลงมือแยกขยะเอง ขยะมีประเภทไหนบ้างก็เรียนรู้จากตรงนั้น เราพบว่าขยะพวกนี้เป็นขยะที่เกิดขึ้นภายในโรงแรมทุกวัน ไม่ใช่แค่ตอนก่อสร้าง อย่างพวกกระป๋องสี ทินเนอร์ เราใช้ในโรงแรมทุกวัน เราก็ไปแก้ปัญหาจนเสร็จแล้วเขียนจดหมายไปขอโทษชาวบ้านแถวนั้น จากนั้นเราก็เลยตั้งปฏิญาณขึ้นมาว่าต่อไปนี้จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และนโยบายสิ่งแวดล้อมของเราที่เรียกว่า Green Project ก็เริ่มมาตั้งแต่ปีนั้น ส่วนที่ดินตรงที่เอาขยะไปทิ้ง ปัจจุบันกลายเป็นที่ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไปแล้ว

นโยบายสิ่งแวดล้อมที่บ้านท้องทรายทำอยู่ได้แก่อะไรบ้าง
กอหญ้า :
เวลาจะปรับปรุงโรงแรม เราต้องคิดแล้วว่ามีขยะอะไรบ้าง จะจัดการอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัยที่สุดสำหรับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการซักรีด ทุกวันนี้เราลงทุนติดตั้งระบบโอโซนเพื่อลดปริมาณสารเคมีและลดพลังงานในการทำความร้อน ถือเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ แต่เราคิดว่าคุ้มค่า
กบ : อีกด้านหนึ่งเราก็พยายามลดปริมาณขยะ อย่างอาหารจากครัวสตาฟฟ์ที่จะนำไปส่งแผนกแม่บ้าน สปา รปภ. เราก็ให้ใส่ปิ่นโตแทนถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม พยายามให้พนักงานกินอาหารที่จัดไว้ให้แทนการซื้อมาจากข้างนอก หรือถ้าจะซื้อก็จะต้องใส่ปิ่นโตแทน ผ้าปูที่นอนเก่านำมาตัดเป็นถุงผ้าไว้ให้ฝ่ายจัดซื้อใช้ใส่ของ ในห้องพักใช้ถุงผ้าหรือถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก สบู่ก้อนถ้าต้องมีกล่องกระดาษหรือพลาสติกหุ้มก็เปลี่ยนไปใช้สบู่เหลว ขนมเราพยายามเลือกแพ็กเกจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่การเป็นโรงแรมระดับห้าดาวก็ยิ่งทำลายธรรมชาติมากขึ้น เพราะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น
กอหญ้า : พอเป็นห้าดาวก็มีมาตรฐานของต่างชาติคอยกดดัน คือห้องพักต้องมีความสะดวกสบายเทียบเท่ากับของบ้านเขา เช่น มีอ่างน้ำ ๒ หลุม ไดร์เป่าผม เตียงคิงไซซ์ มันเป็นมาตรฐานชีวิตแบบฝรั่ง ฉะนั้นห้าดาวก็สร้างความลำบากให้เราเหมือนกัน เพราะว่าห้าดาวมาจากคำว่าฟุ่มเฟือย คนที่อยากจะจ่ายมาเขาก็ต้องการความฟุ่มเฟือย คำว่าฟุ่มเฟือยกับอนุรักษ์มันขัดกันมาก เพราะจริงๆ แล้วการเป็นนักอนุรักษ์ต้องใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างเครื่องปรับอากาศ เราก็รู้ว่ากินไฟที่สุด แต่แขกจ่ายเงินมาแล้ว ความคิดของเขาคือนี่ห้องเขา เราไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งแล้วเขาจะเปิดแอร์ทิ้งไว้ตลอดเวลา เราก็ใช้วิธีให้แม่บ้านที่ไปทำความสะอาดปิดแอร์ตอนแขกไม่อยู่ในห้อง

แขกกลับมาที่ห้องพักไม่โวยวายหรือครับว่ามาปิดแอร์ทำไม อยากให้ห้องเย็นตลอดเวลา
กบ :
ฝรั่งจะให้ความร่วมมือดีกว่าคนเอเชีย แขกที่เคยมีปัญหาเป็นชาวฮ่องกง เขามาทุกปี มาอยู่ห้องที่แพงที่สุด มีอยู่ปีหนึ่งเราออกนโยบายกับแม่บ้านว่า ถ้าคุณเข้าไปทำความสะอาดห้อง แล้วแขกเปิดแอร์ทิ้งไว้ทั้งที่ไม่อยู่ในห้องให้ปิดไปเลย ไม่ต้องกลัวแขกว่า ถ้าแขกว่าเดี๋ยวผู้จัดการจะเป็นคนจัดการ ตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการ แขกฮ่องกงก็มาถามว่าปิดแอร์ทำไม เราก็บอกว่าเป็นนโยบายประหยัดพลังงาน ทางโรงแรมไม่มีนโยบายเปิดแอร์ตลอดเวลาขณะแขกไม่อยู่ในห้อง แต่หากคุณอยากให้ห้องเย็น เราก็ยินดีไปเปิดให้ คือเว้นไว้ห้องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นฝรั่งส่วนใหญ่เขาจะโอเค นี่คือตัวอย่างว่าทำไมการทำโรงแรมห้าดาวยิ่งแพงยิ่งยาก เพราะแขกเองก็คาดหวังว่าฉันจะต้องมีทีวี มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันอยากได้ไอพอด อยากได้ Wi-Fi อินเทอร์เน็ต มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเราไม่ทำ เราก็แข่งไม่ได้เหมือนกัน เพราะโรงแรมห้าดาวแห่งอื่นเขามี

int thana02

นโยบายสิ่งแวดล้อมอีกอย่างของบ้านท้องทรายคือการอนุรักษ์หรือไม่ฆ่าสัตว์ มีที่มาอย่างไร
กอหญ้า :
หลังจากเริ่มนโยบายสิ่งแวดล้อมมาเรื่อยๆ ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราสองคนไม่สบายใจมากเลย
กบ : วันหนึ่งเรากำลังเดินตรวจโรงแรม เห็นงูเห่าตัวหนึ่งอยู่ในร่องน้ำ มันกำลังเลื้อยไปใกล้ล็อบบีโรงแรม ตอนนั้นนโยบายเรื่องสัตว์ยังไม่ชัดเจน ถ้าเห็นงูพิษ เราให้พนักงานตีตายได้ เราก็วิทยุไปบอกพนักงานว่าเห็นงูเห่าในร่องน้ำ เขาก็ตีมันตาย เราสองคนยืนน้ำตาซึม คิดว่าเราต้องทำกับมันขนาดนี้เลยหรือ ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้ทำอะไร เราเป็นคนบอกเลยว่ามันจะตายหรือไม่ตาย เรารู้ว่าถ้าวิทยุเรียกพนักงานก็แปลว่ามันตายแน่ เราคิดแต่ว่าถ้ามันไปกัดแขกขึ้นมาเรื่องใหญ่นะ แขกตายนี่เรื่องยุ่งกว่า ตัดสินใจไปอย่างนั้น

แล้วก็มาเสียใจว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้น ก็เลยตั้งปฏิญาณอีกข้อหนึ่งว่า เราต้องหาวิธีที่จะไม่ฆ่าสัตว์
กอหญ้า : ก็เลยไปเปิดดูในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาซื้ออุปกรณ์จับงู
กบ : เป็นอุปกรณ์จับงูที่เราเห็นใน Discovery Channel มีอันหนึ่งเป็นคีม จับปุ๊บ ใส่ถุง รูดปั๊บ ง่ายนิดเดียวเอง แล้วเราก็ฝึกพนักงานโรงแรมให้จับงูแล้วเอาไปปล่อยข้างนอกในที่ที่เป็นธรรมชาติ
กอหญ้า : เราส่งพนักงานไปสวนงู ไปเทรนวิธีการจับงูชนิดต่างๆ ให้รู้ว่างูมีพิษบนเกาะสมุยนี้มีชนิดเดียว ไปติดต่อหมองูที่โดนงูเห่ากัดมาไม่รู้กี่ครั้งจนนิ้วกุดหมดให้มาอบรมพนักงาน แล้วเราก็ตั้งกลุ่มของเราขึ้นมาเรียกว่า กลุ่มพิทักษ์สัตว์ เป็นกลุ่มที่ดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ทั้งหมดในบ้านท้องทราย ขณะนี้มีสมาชิกราว ๓๐ คน ทุกคนมาด้วยความสมัครใจ สมาชิกมีหน้าที่คอยสอดส่องดูแล
สิ่งแวดล้อม ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือฆ่าสัตว์ สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่รอบๆ โรงแรมเต็มไปด้วยป่าไม้เขียวขจีและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ
กบ : อย่างหนู สมัยก่อนเอาไม้อัดทากาวดักหนูก็ติดแล้ว เราไปเจอ สงสารมันนะ มีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นนี่หว่า ปัญหาคือหนูเข้ามาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ ทำยังไงให้หนูไม่เข้ามาตรงนี้ แล้วถ้าจะดักมัน ไม่ใช้กาวได้ไหม เราก็ดัก จับได้ก็เอาไปปล่อย
กอหญ้า : มีวันหนึ่งพนักงานมาบอกว่างูเหลือมลงมาว่ายน้ำในสระ เราก็ตกใจ เฮ้ย…แล้วแขกตกใจหรือเปล่า พนักงานบอกว่า ไม่ครับ ทุกคนขึ้นจากสระไปเอากล้องถ่ายรูป คือถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะกรี๊ดแล้วสลบไปเลย แต่ฝรั่งเขาชอบ นกที่นี่ก็เยอะนะ เคยให้พวกนักดูนกมาสำรวจนกในโรงแรม พบว่ามีนกกว่า ๖๐ ชนิด ตอนนี้ก็กำลังสำรวจผีเสื้อ
กบ : เคยเจอนางอายเดินอยู่ในโรงแรมด้วย ตอนนั้นตีสอง เรากำลังจะกลับมาที่ห้อง เห็นมันค่อยๆ หายไปในความมืด เราตื่นเต้นมากเลย แสดงว่ามันต้องมีสัตว์อื่นอยู่อีกนะ ตอนหลังก็มีกระรอก ไก่ป่า เหยี่ยว มีอะไรที่หายากๆ เราก็ดีใจ แล้วก็มีตัวเหี้ย ซึ่งจริงๆ บ้านเราพบได้ง่าย แต่กับฝรั่งเป็นเรื่องตื่นเต้นมากที่เห็นตัวเหี้ยว่ายน้ำอยู่ในทะเลหรือออกมาเดินตามชายหาด

ความรู้สึกที่พวกคุณมีต่อสัตว์เหล่านี้เกิดจากได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กหรือเปล่า
กอหญ้า :
บ้านเราอยู่ริมหาดพัทยา เราโตมากับธรรมชาติ พ่อแม่ก็รักสัตว์ จะพาเราเที่ยวธรรมชาติเยอะ แต่ก่อนพ่อชอบไปตกปลา ทุกเสาร์อาทิตย์ต้องไปที่บางเสร่ ออกเรือ นอนในเรือ ทำให้เรารู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ แต่แม่ก็เป็นคนสอนว่าอย่าตกปลานะ อย่าทำบาปนะ แม่ชอบเลี้ยงสุนัขเลี้ยงแมว เราก็ได้คลุกคลีกับสัตว์มาตลอด ตอนเด็กๆ ก็นั่งคุยกับสัตว์ ไม่เคยกลัวงู งูปากจิ้งจกนี่เป็นเพื่อนกัน เล่นกันทุกวัน เคยเลี้ยงหนอน พอโตแล้วมันกลายเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวใหญ่ๆ สวยมากเลย พอโตเป็นวัยรุ่นก็ขาดการติดต่อกับธรรมชาติไปช่วงหนึ่ง มาสนใจจริงๆ คือตอนมาทำงานที่เกาะสมุย เหมือนได้กลับไปอยู่กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง
กบ : ตอนเป็นเด็ก คุณแม่สอนเรื่องศีล ๕ คืออย่าทำร้ายสัตว์นะลูก สัตว์ก็มีความรู้สึกเหมือนกัน จำได้ว่าเคยมีลูกหมา เราก็แกล้งมันวิ่งอยู่ในทุ่งหลังบ้าน เราก็เอาหินขว้างใส่มัน ดังพลั่ก ! แล้วเราก็เสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ ว่าไปทำมันทำไม สงสารมัน หลังจากนั้นก็ไม่ทำร้ายหมาอีกเลย แต่พอมาโรงเรียนก็ยังเล่นแหย่รังมด เอาหินขว้างให้รังมันระเบิดตู้ม ให้มดวิ่งหนีออกมา คือไม่ได้อยากเห็นมันตายแต่อยากเห็นดินมันระเบิด จินตนาการเหมือนการ์ตูนว่ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ชอบอะไรอย่างนั้นอยู่พักหนึ่ง พอเริ่มเป็นวัยรุ่นก็เลิกฆ่าสัตว์ ไม่ตบยุง ไม่ฆ่าแม้แต่แมลง

คุณมองว่าสัตว์มีคุณค่าสำหรับมนุษย์อย่างไร
กอหญ้า :
สัตว์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าไม่มีสัตว์ในธรรมชาติ ถามว่าคนจะอยู่อย่างไร ทุกวันนี้ที่เรากินเรามีชีวิตอยู่ได้ เราก็เอาชีวิตสัตว์มาใช้มากิน ฉะนั้นเราควรจะสำนึกบุญคุณบ้าง แต่สิ่งที่เราทำกับมันคืออะไร ฟาร์มหมูเราก็เอามันใส่คอกให้อยู่ที่แคบๆ จะกินเนื้อลูกหมูลูกวัวก็ต้องพรากลูกของพวกมันมา ซึ่งมันโหดร้าย มนุษย์คิดว่าสัตว์เป็นเดรัจฉานที่ต่ำต้อยกว่า แล้วตั้งตนเป็นสัตว์ประเสริฐแต่เราต้องกลับมาดูการกระทำของเราว่าประเสริฐจริงรึเปล่า จริงๆ เราควรให้ความเคารพต่อสิทธิในชีวิตของสัตว์มากกว่านี้ ควรให้ความเคารพสัตว์มากกว่าตัวเราเองด้วยซ้ำ เพราะเราพึ่งพาชีวิตเขาอยู่ทุกๆ วัน
กบ : แต่บางคนก็รับไม่ได้กับความคิดของเรานะ คือไม่จริง สัตว์มันไม่ดีกว่าคนหรอก ยังไงมนุษย์ก็จะคิดถึงตัวเองก่อน คิดถึงคนก่อน คนจะช่วยคนก่อนเสมอ
กอหญ้า :
อย่างเว็บไซต์ tripadvisor.com ก็มีโปรแกรมหนึ่งบอกว่าจะเอาเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคให้องค์กรสาธารณประโยชน์หรือเอ็นจีโอตามรายชื่อดังต่อไปนี้ ซึ่งเราจะต้องเข้าไปโหวตว่าจะบริจาคเงินให้องค์กรใด ถ้าองค์กรใดได้รับการโหวตมากที่สุดก็จะได้เงินก้อนนี้ไป ปรากฏว่าเอ็นจีโอที่ได้คะแนนสูงสุดคือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก อันดับ ๒ คือด้านสิทธิมนุษยชน อันดับ ๓ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อันดับ ๔ เกี่ยวกับสัตว์
กบ : ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นการโหวตให้การช่วยเด็กกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เหลือคือเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสัตว์ ตัวเลขมันต่างกันมาก เราก็รู้สึกว่าส่วนนี้คนทำน้อยอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าในเรื่องการทำประโยชน์ให้กับสัตว์น่าจะเป็นที่ต้องการมากกว่า

int thana03

int thana04

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงแรมบ้านท้องทรายติดอันดับโลก
กบ :
อันนี้ชัดเจนเลยว่าเหตุผลอันดับแรกคือ แขกชอบบริการของพนักงานเรามาตลอด ที่เราได้แขกเก่ากลับมาเยอะทุกปี ส่วนหนึ่งเพราะพนักงานทำงานได้ดีมาก แขกได้เจอคนที่เขาจำกันได้ ทำให้เขาก็รู้สึกเหมือนกลับบ้าน ตามมาด้วยเรื่องธรรมชาติว่ามีหาดทรายสวยงาม มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่ที่เป็นธรรมชาติภายในโรงแรมมาก และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าโรงแรมอื่น ส่วนเรื่องสิ่งก่อสร้าง ห้องพักสวยงาม ไม่มีใครพูดถึงเท่าไหร่

รางวัลอะไรที่ได้รับแล้วภูมิใจที่สุด
กบ :
รางวัลที่เป็นความภูมิใจที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด คือรางวัล TripAdvisor Travelers’ Choice Awards ของเว็บไซต์ tripadvisor.com ซึ่งเราได้มา ๔ ปีติดต่อกันแล้ว เป็นเว็บไซต์ที่นักท่องเที่ยวจะมาโพสต์ความเห็นว่าโรงแรมไหนหรือที่เที่ยวที่ไหนในโลกดีไม่ดี ให้ดาว แล้วก็ติชม เป็นความเห็นของคนที่ไปใช้บริการจริงๆ ก็มีคนไปเขียนให้คะแนนจนโรงแรมของเราติดอันดับ ๑ ใน ๑๐๐ โรงแรมดีที่สุดของโลก คะแนนสูงสุดที่เคยได้คือติดอันดับที่ ๓๐ ของโลก ถ้าเป็นประเภทโรงแรมแบบโรแมนติก เราได้อันดับที่ ๙ จาก ๑๐ อันดับ

มองนโยบายการท่องเที่ยวของเมืองไทยอย่างไร
กอหญ้า :
รัฐไม่คิดจะทำการตลาดแบบสร้างสรรค์ วิธีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวซ้ำซาก คนไทยเก่งมากเลยที่สามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้เหมือนกันหมด คือไม่ทำแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้มีจุดขายของตัวเอง เราไปพัทยา ภูเก็ต สมุย ตามชายหาดท่องเที่ยวหลักเหมือนกันทุกอย่าง เราจะเจอบาร์เบียร์ไม่เคยพลาด อย่างเกาะช้าง ทำไมไม่พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติจริงๆ โดยไม่ต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนเลย ไม่ต้องมีบาร์เบียร์ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวกลางคืนก็ไปพัทยาหรือพัฒน์พงษ์ แต่นี่เราทำทุกแห่งให้เหมือนกัน กลายเป็นว่าต้องแข่งขันกันเอง เกาะสมุย เกาะช้าง ต้องไปแข่งกับภูเก็ต จริงๆ แล้ว
สมุยกับภูเก็ตมีจุดขายไม่เหมือนกันเลย ภูเก็ตเป็นเมืองได้เพราะเป็นเกาะใหญ่ติดกับแผ่นดินใหญ่ แต่เกาะที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า แทนที่จะมีจุดขายของตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องไปแข่งกัน กลับพยายามพัฒนาให้เป็นเมืองแบบภูเก็ต
กบ : ยกตัวอย่างร้านขายของตามสถานที่ท่องเที่ยวจะมีขายแว่นกันแดดเหมือนกันหมดเลย ๔-๕ แผง คืออะไรขายดีทุกคนก็เลียนแบบกัน คิดไม่เป็นว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างมูลค่าให้กับอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นตัวของตัวเอง รัฐหรือสังคมโดยรวมก็ไม่ได้คิดจะสอนให้คนมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นว่าชาวบ้านจะต้องรอคอยรัฐมาช่วย เหมือนรอเทวดามาโปรด

คุณสองคนเติบโตมาทั้งในสังคมแบบฝรั่งและแบบไทย เห็นความแตกต่างของสังคมสองแบบนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและวิธีคิด
กอหญ้า :
เรื่องการศึกษา ที่เมืองไทยเราก็ท่องเอาไว้ก่อน คอยเก็งข้อสอบ แต่ระบบอเมริกันเราต้องอ่านตำราให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ ท่องไม่ได้ เขาสอนให้เราทำความเข้าใจกับโจทย์ กับสิ่งที่เราเรียน คำถามที่ได้มาจะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราอ่าน แต่ไม่มีคำตอบตรงๆ อยู่ในตำรา เราจะต้องคิดคำตอบขึ้นมาเอง อันนี้คือสิ่งสำคัญมาก
กบ : ในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้แย่ไปกว่ามหาวิทยาลัยฝรั่งหรอก แต่สิ่งที่คนไทยมีปัญหามากคือการเขียน เคยถามเพื่อนคนหนึ่งเรียนเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่าคนไทยเขียน essay มั้ย เขาบอกว่าไม่ ข้อสอบเป็นคำถามให้ตอบเป็นอัตนัย แต่วิธีการสอบที่อังกฤษคือการเขียน essay หรือความเรียง ซึ่งก่อนเขียนจะต้องวิจัยต้องศึกษาหาความรู้ ตอนเรียนก็มีวิชาเศรษฐศาสตร์กับการเมือง มันทำให้เราอ่านหนังสือเยอะ ภาษาที่ใช้ในทั้งสองวิชาโดยเฉพาะการเมืองก็ยากมาก ต้องอ่านแล้วพยายามตีความเอาเองเยอะ แล้วการสอบคือให้เขียน essay ประมาณ ๓,๐๐๐ คำ ตอนแรกคิดว่ากูจะเอาอะไรมาเขียนวะ ๓,๐๐๐ คำต่อ ๑ คำถาม เราก็เข้าห้องสมุด อ่านหนังสือหลายๆ เล่มแล้วก็มาเขียน การเขียน essay เหมือนทำวิทยานิพนธ์น้อยๆ สอนให้เราเขียนให้เป็น วิธีคิดก็คือคุณต้องเข้าใจคำถาม แล้วตอบโดยมีเหตุผลและหลักฐานมาสนับสนุน เวลาอ้างอิงก็ต้องอ้างอิงให้เป็น ไปอ่านหนังสือเล่มไหนมาคุณต้องอ้างอิงท้ายเรื่อง แล้วตอนครูให้คะแนน เขาจะวิจารณ์ว่าตรงนี้คุณแน่ใจหรือ ตรงนี้เอามาจากไหน ตรงนี้พิสูจน์ไม่ได้ หรือตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องเลย พวกเราถูกครูวิจารณ์บ่อยๆ ว่าตอบไม่ตรงคำถาม ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถามไป เพราะฉะนั้นตรงนี้ศูนย์เลย คุณเขียนมาเยอะแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย วิธีคิดของฝรั่งจะเป็นแบบนี้ ไม่ว่าในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่เมืองไทยผมสังเกตว่าไม่เป็นแบบนั้นคือฝรั่งถูกสอนให้คิดเป็นเหตุเป็นผลมาตั้งแต่เด็กเลย
กบ : ใช่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เมืองไทยขาดมากๆ ประสบการณ์จากการทำงานกับพนักงานคนไทยก็คือ บางครั้งเรานึกว่าเรื่องอย่างนี้เขาน่าจะรู้อยู่แล้ว มันเป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้วว่าทำไมสิ่งนี้ไม่ควรทำ เพราะคุณควรจะรู้ว่าผลที่ตามมาคืออะไร แต่บางทีเขาไม่ได้นึก ด้วยความไร้เดียงสา จริงๆ คือนึกไม่ถึง ไม่รู้ เปรียบเทียบกับพนักงานฝรั่ง เราสั่งแค่ ๒ ประโยคก็รู้เรื่องหมดแล้ว ถ้าเขาไม่เข้าใจ เขาถาม เขาไม่มาแบบ yes yes แต่ไม่เข้าใจอะไร
กอหญ้า : พนักงานคนไทยสั่งแล้วก็ต้องสั่งอีก ต้องพูดซ้ำพูดซาก แล้วสุดท้ายก็ต้องไปยืนคุมเอง เรามีพนักงานเป็นคนอังกฤษคนหนึ่ง ญี่ปุ่นคนหนึ่ง สิงคโปร์คนหนึ่ง พวกนี้มีประสิทธิภาพทั้งสิ้นเลย แล้วก็มีพนักงานคนไทยบางคนเคยไปอยู่เมืองนอกมา อย่างที่กบพูดคือเรื่องระบบเหตุผลและสามัญสำนึกเขาจะดีกว่า พอไปปฏิบัติจริงๆ วิธีแก้ไขปัญหาของเขาก็ดีกว่า เราสั่งงานไปสักพัก เขาส่งรายงานกลับมาให้แล้ว คือมีประสิทธิภาพสูงกว่า

คุณกำลังจะบอกว่าคนไทยคิดไม่ค่อยเป็นหรือเปล่า
กบ :
คนไทยถูกรัฐทำให้ไม่ได้ฝึกฝนในการคิดให้เป็น คือเป็นแบบพ่อปกครองลูก สำหรับตอนนี้มันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เพียงแต่ว่ามันก็เริ่มเปลี่ยนไป คนไทยเริ่มที่จะเรียกร้องอะไรมากขึ้น
กอหญ้า : คนในสังคมบางส่วนอาจเปลี่ยนไป แต่ในประสบการณ์ของเราก็ยังรู้สึกว่าคนไทยไม่อยากจะคิด เพราะไม่ได้ถูกฝึกฝนการใช้ความคิดให้มันชิน อย่างเราทำงานโรงแรม รู้เลยว่าพนักงานส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าทำได้ทุกอย่าง ขอให้สั่งเถอะ แต่อย่าให้คิดเอง นี้คือทัศนคติของคนระดับหัวหน้าแผนกแล้วนะ เขาอาจจะคิดเป็นก็ได้แต่เขาไม่อยากคิด พอเราบอกว่าพี่ก็ไปคิดมาแล้วกันว่าจะทำอะไรให้กับแผนกได้บ้าง โอ้โห เป็นงานที่ยากเย็นมากเลย แต่พอเราบอกว่าให้ไปทำอย่างนี้ๆ นะ เขาทำได้เสร็จสมบูรณ์เลย และทำได้ดีด้วย
กบ : เรื่องการใช้ความคิดบางครั้งมันเกี่ยวข้องกับการถกเถียง เอามาแชร์กันบนโต๊ะ แล้วเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด แต่คนไทยเวลาถกเถียงกันจะกลายเป็นเรื่องส่วนตัวขึ้นมาทันที…เฮ้ย มึงหาเรื่องกูรึเปล่า ทำไมมึงมาโจมตีไอเดียของกู กูไม่พูดดีกว่า พูดไปแล้วเดี๋ยวโดนหาว่าโง่ กลายเป็นว่านิสัยของคนไทยอีกอย่างคือรับคำวิจารณ์ไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็ไม่มีการถกเถียงเพื่อระดมความคิดกันออกมา ทำให้คนไทยแสดงความคิดเห็นไม่เป็น
กอหญ้า : การแสดงความคิดเห็นไม่ได้อยู่ในธรรมชาติของคนไทย ระบบการศึกษาของเราไม่ได้สอนให้เด็กฝึกฝนความกล้าพูดกล้าแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์กัน พอวิจารณ์กันมากๆ ก็โกรธกัน ทะเลาะกัน ขณะที่ฝรั่งเขาถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นเรื่องปรกติ ไม่ทำให้รู้สึกเสียหน้า สมัยเรียนในโรงเรียนเมืองไทย กลัวคุณครูเรียกชื่อในชั้นเรียนมาก เพราะไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่พอไปเรียนที่อเมริกามันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือเด็กฝรั่งยกมือแย่งกันถามแย่งกันตอบ ถ้าครูไม่เลือกให้เป็นคนตอบ บางครั้งจะโกรธ เสียใจว่าทำไมฉันไม่ได้เป็นคนถูกเลือกให้ตอบ แต่เด็กไทยจะกลับกัน สมัยนี้เวลาเรานั่งประชุมกับคนอายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไป พอเราถามว่าพี่มีความคิดเห็นอะไรไหม เขาจะคิดหนักแล้วว่าจะตอบว่าอะไร
กบ : คือตอบอะไรให้ไม่โดนนายด่า หรือตอบอะไรให้นายชอบ แล้วเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยพ่อแล้ว พ่อบอกว่า กูถามมึงแค่นี้ มึงให้คำตอบกูตามที่ถามได้ไหมอย่างสัตย์จริง คือเป็นคำตอบแบบใช่หรือไม่ใช่ ทำหรือไม่ได้ทำเท่านั้นเอง แต่กว่าลูกน้องพ่อจะตอบปาเข้าไปครึ่งนาทีแล้ว พ่อก็โกรธ แสดงว่ามึงปกปิดอะไรกู ทำไมมึงไม่บอกกู
กอหญ้า : มันก็เลยทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วนิสัยแบบนี้มันคงมีอยู่ในตัวนักการเมืองไทยด้วยเหมือนกัน มันก็เลยทำให้ประเทศเราเป็นอย่างที่เห็น ประเภทดีครับท่าน เสนออะไรที่ถูกใจนาย เราเองถ้าไม่ได้ไปอยู่เมืองนอกก็คงเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน วิธีคิดของเราอาจจะแตกต่างออกไป หรือวิธีการแสดงออกของเราก็อาจจะแตกต่าง
กบ : สิ่งที่สังคมฝรั่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากอีกเรื่องคือการเสแสร้ง พูดอย่างทำอย่าง หน้าไหว้หลังหลอก ภาษาฝรั่งใช้คำว่า hypocrite ในสังคมฝรั่ง ถ้าคุณถูกด่าว่าเป็นพวกพูดอะไรแล้วไม่ทำตามที่พูด หรือทำตรงข้ามกับที่พูด ถือว่าน่าอายมาก แทบจะต้องออกไปจากสังคมนี้ดีกว่า เพราะไม่มีใครเชื่อถือคำพูดของคุณอีกต่อไป แต่ในเมืองไทยเรายอมรับเรื่องนี้ได้ ทั้งในเวทีระดับชาติจนถึงระดับครอบครัว เป็นเรื่องธรรมดาเวลาที่พ่อแม่พูดอะไรอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง ลูกก็ต้องยอมรับ เพราะอะไร เพราะว่ากูเป็นพ่อแม่มึงไง หรือกูอาบน้ำร้อนมาก่อน
กอหญ้า : ข้อดีมากๆ อีกอย่างของฝรั่งคือ เขาจะเคร่งครัดกับกฎที่ตั้งขึ้นในสังคมของเขาอย่างมาก และด้วยความที่เขากล้าแสดงออก คนของเขาจะวิพากษ์วิจารณ์กันเองอยู่เสมอ ทำให้คนทำผิดกฎได้ยากขึ้น อย่างการลอกหรือโกงข้อสอบ ฝรั่งถือเป็นเรื่องใหญ่โตมากๆ นะ เขารังเกียจเลย ไม่ควรทำเพราะมันเสียเกียรติ แต่ในประเทศเรารู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เห็นว่าการโกงเป็นเรื่องสนุก ทำได้ ขำๆ แต่ฝรั่งเขาไม่ขำด้วย เขาไม่เอาเลย แล้วเขาก็ไม่ทำด้วย การได้มีโอกาสเติบโตมาในสังคมทั้งสองแบบมีผลต่อตัวคุณอย่างไรบ้าง
กอหญ้า : การที่เราได้ใช้ชีวิตทั้งสองรสชาติมันมีประโยชน์มากๆ เพราะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบ เลือกใช้ โดยนำเอาส่วนที่ดีของแต่ละแบบมารวมกัน ส่วนที่เลวก็ทิ้งไป มันก็ทำให้เราเป็นเราถึงทุกวันนี้ เช่นตอนอยู่เมืองนอกเราถูกฝึกให้กล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น พอกลับมาเมืองไทยก็เอาตรงนี้มาใช้ ทำให้เราสามารถเป็นผู้นำได้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองได้ บริหารความคิดของตัวเองได้ ขณะเดียวกันการที่เราเป็นคนไทย เรามีเพื่อน มีพ่อแม่ มีพี่น้อง มีความอบอุ่นในครอบครัว ต่างจากสังคมอเมริกันที่การแข่งขันกันสูงมาก ทำให้ชีวิตของคนอเมริกันว้าเหว่ มีเพื่อนน้อย

คิดอย่างไรที่วัยรุ่นไทยพูดถึงนักการเมืองว่าโกงได้แต่ขอให้มีผลงาน
กอหญ้า :
มันเป็นความคิดที่เรารู้สึกจนตรอกแล้ว ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้แล้ว
กบ : ท้ายสุดแล้วมันไปโยงกับเรื่องความยุติธรรมมากกว่า ในประเทศไทย สิ่งที่ขาดมากที่สุดคือความยุติธรรม คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย รัฐนี้เป็นรัฐที่ไม่น่าอยู่แล้ว ถ้าคุณออกมาเรียกร้องก็ไม่มีใครสนใจ หรือสนใจอยู่พักหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม อย่างคุณเจริญ วัดอักษร ใครต่อใคร ท้ายที่สุดแล้วก็ตายไป ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม
กอหญ้า : ยกตัวอย่างเรื่องตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรม แต่ไม่ค่อยทำหน้าที่เลย นายตำรวจชั้นประทวนต้องเสียเวลาไปดูแลปรนนิบัตินาย หาเงินให้นาย ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องเลี้ยงนาย ถ้าไม่ทำก็โดนนายด่า เคยคุยกับตำรวจ ถามว่าพี่ไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอที่ต้องอยู่กับระบบแบบนี้ เขาก็บอกว่าทำไงได้ ระบบของตำรวจมันเป็นแบบนี้มานานแล้ว ก็ต้องทำต่อไป
กบ : คือตำรวจที่มีอยู่ทั้งกรมจะมีคนที่มีจิตใจอยากเป็นตำรวจเพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมโดยคำนิยามของอาชีพนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์กันนะ ที่เหลืออาจจะเข้าไปด้วยเหตุผลอื่น
กอหญ้า : ตอนนี้มันแย่มากเพราะระบบนี้มันฝังรากลึกมาก ฉะนั้นก็มีความจำเป็นที่สังคมไทยและนักการเมืองต้องไปวินิจฉัยว่า ปัจจุบันนี้ที่สังคมเราเป็นอย่างนี้เพราะคนที่พิทักษ์กฎหมายและผดุงความยุติธรรมในสังคมทำงานหรือเปล่า และไร้ประสิทธิภาพขนาดไหน
กบ : สื่อไทยกระแสหลักก็เหมือนกัน เวลาไปสัมภาษณ์ใครไม่พูดเรื่องนี้ ไม่เอาความยุติธรรมมาพูด ผมว่าปัญหาหลักของประเทศไทยคือความยุติธรรม หากแก้ไขปัญหาเรื่องความยุติธรรมได้ ประเทศจะดีขึ้นเอง แต่ว่าเรากลับไปพูดเรื่องปากท้อง ทุกคนมุ่งหาเงิน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงไปจนถึงชาวนา ชาวนาทำงานเหนื่อยกว่าทำสวนทำไร่ ทำอย่างอื่นเยอะมาก ถามว่ามีกินหรือเปล่า มีกินไม่ได้ผอมโกรกเป็นตานขโมย แต่ไม่มีเงิน เงินคือความสะดวกสบาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสังคมเราตอนนี้ จะด้วยทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่ พูดไปพูดมาแล้วรู้สึกกลับไปที่เรื่องเงิน เงินไม่พอๆ ทำยังไงเพื่อให้เงินเพียงพอสำหรับทุกคน แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนมีเงินเท่ากัน

int thana05

int thana06

คุณกล้าพูดไหมว่าถ้าทำให้สังคมมีความยุติธรรมแล้วความยากจนจะหายไป
กอหญ้า :
ความยากจนทำยังไงมันก็ไม่หายไป ขนาดประเทศที่มีความยุติธรรมและเจริญแล้วก็ยังไม่สามารถทำให้ความยากจนในประเทศหายไปได้อย่างแท้จริง อย่างในอเมริกาดูเหมือนเป็นประเทศที่รวยนะ แต่ไปอยู่จริงๆ แล้วคนไร้บ้านที่มาอาศัยตามข้างถนนเยอะมาก คนไม่มีจะกินต้องไปขออาหารตามโบสถ์ก็ไม่ใช่น้อยๆ นะ
กบ : จริงๆ แล้วพูดถึงเมืองไทยหรือแม้กระทั่งในเมืองนอก มันก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง คือฐานของคนชั้นกลางใหญ่ขึ้นจริง แต่คำว่า “จน” บางทีมันก็อยู่ที่การตีความ อย่างคนที่ไปลงทะเบียนคนจน จริงๆ อาจไม่จนก็ได้ แต่อยากได้เงิน อยากได้บ้านเอื้ออาทร อยากได้โน่นได้นี่ก็บอกว่าตัวเองยากจน แต่อย่างในแอฟริกา ผู้คนอาจจะจนจริงเพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ขณะที่ประเทศของเรามีทรัพยากรมากมาย เพาะปลูกอะไรก็ขึ้น การศึกษาก็มี ไฟฟ้า น้ำประปามีหมด แต่ไม่มีความยุติธรรม แทนที่จะได้อย่างเท่าเทียมกัน ผมคิดว่าสังคมจะดีขึ้นถ้ามีความยุติธรรม เงินอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะพอได้เงินมาแล้วคุณก็ต้องเอาเงินนี้ไปทำอะไรบางอย่างอยู่ดี ถ้าเก็บไว้เฉยๆ จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีค่าอะไร ท้ายที่สุดอาจจะต้องแปลงเป็นอะไร คุณชอบอะไร คุณอยากได้รถสปอร์ตใช่ไหม คุณต้องมีเงินเยอะ แต่ถ้าผมชอบจักรยานก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพราะฉะนั้นเงินมากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับใจเรา ถ้าใจเราบอกว่าเราจน มันก็จน แต่ถ้าบอกว่าเราพอ เราอยู่ได้ ไม่พอก็หามาเติมแล้วมันอยู่ได้พอดีขึ้นก็โอเค ไม่เห็นต้องรวยก็ได้

เคยคิดหรือไม่ว่าถ้าหากวันหนึ่งคุณไม่มีธุรกิจโรงแรมนี้แล้ว จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร
กบ :
เราก็ต้องฝึกที่จะอยู่โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเรายังมีกิเลสอยู่ ตอนนี้ไม่มีอะไรให้เป็นที่พึ่งหรือเป็นตัวอย่างได้เลย พระในอุดมคติก็คือคนที่อยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน ท่านก็มีวิธีครองตนให้เป็นที่นับถือ คือตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เรื่องภาพลักษณ์ตัวเอง ไม่มีคิ้ว ไม่มีผม ไม่มีเสื้อผ้า จริงๆ ไม่ควรมีแม้กระทั่งมือถือ ไม่ควรมีสิ่งของอะไรที่เป็นสมบัติของตัวเองเลย ผมเชื่อว่าพระโดยคอนเซ็ปต์แล้วเป็นอย่างนั้นนะ คือตัดแล้วซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่บวชเป็นพระแล้วยังชอบโทร. หาคนโน้นคนนี้ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ บางรูปสวดมนต์ไปคุยโทรศัพท์ไปอันนี้ผมว่าไม่ใช่พระที่แท้จริง ตอนนี้ก็เลยไม่ค่อยนับถือ ไม่ใช่ว่าคุณนุ่งผ้าเหลืองแล้วเราจะยกมือไหว้ ยกเว้นพระรูปไหนที่ได้เจอกันได้คุยกันแล้วได้เห็นการปฏิบัติครองสมณเพศของท่าน ฉะนั้นตัวอย่างของคนที่อยู่โดยไม่ใช้เงินมันน้อยลงไปทุกที แล้วมันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกิเลสมันเพิ่มขึ้นมากมายเหลือเกิน ถามว่าอย่างเราไม่ต้องใช้เงินจะทำได้ไหม ก็คิดว่าอยากทดลองดูก่อนว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเรามีบ้าน มีพื้นที่ปลูกผักปลูกอะไรเองได้ แล้วถ้าเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้บ้าง เราก็ไม่ต้องไปพึ่งตรงนั้น แน่นอนว่าข้าวก็ต้องซื้อ แต่ผักนี่อยากลองดูว่าจะทำได้ขนาดไหน ต้องใช้เนื้อที่ขนาดไหนในการเลี้ยงคน ๒ คน ลองปลูกผลไม้หลายชนิดหมุนเวียนกันเดือนนี้เราได้กินมะม่วง เดือนหน้าเราได้กินกล้วยหรือผลไม้อื่นๆ ก็ต้องลองกัน ไม่ใช่เรื่องกินอย่างเดียว เรื่องอื่นอย่างเช่นดูทีวีก็ยังติดยูบีซี ยังติดอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียงของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเหมือนกัน แต่คิดว่าจะพยายามใช้ชีวิตโดยใช้เงินให้น้อยที่สุด แล้วหลายๆ คนที่ชีวิตมีภาระมากก็เพราะว่าเขามีครอบครัวมีลูกที่ต้องรับผิดชอบ แต่เราโชคดีที่ไม่มีลูก

เพราะอะไรถึงไม่มีลูก
กบ :
ขนาดเรายังถามตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม แล้วเราจะสร้างเด็กเพื่ออะไร ไม่มีคำตอบไหนเลยที่จะตอบตัวเองได้ว่าเราจะมีลูกไปเพื่ออะไร เราคิดว่าพ่อแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกเกิดมาเพราะอยากมีเป็นของตัวเอง เพราะมนุษย์รักตัวเอง เราก็เลยรู้สึกว่าการมีลูกเป็นความเห็นแก่ตัวของพ่อแม่ ก็เคยบอกกับแม่ แม่ก็ร้องไห้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ลูกไม่ดีใจเหรอที่เกิดมาเป็นลูกแม่ ไม่ใช่ ดีใจแม่ คือเกิดมาแล้วได้พ่อกับแม่แบบนี้โชคดีมากเลย ถามว่าตอนก่อนที่จะมีผม แม่คิดอะไรอยู่ เขาก็ตอบกลับมาว่าคนเรารักกัน มันก็ต้องมีพยานรักนะลูก วันหนึ่งกบเจอคนที่กบรักแล้วกบจะเข้าใจ นี่คือวิธีตอบ ท้ายสุดการมีลูกคือการทำเพื่อตัวเอง ก็เลยคิดว่าเราไม่ต้องทำเพื่อตัวเองก็ได้ ถ้าทำเพื่อตัวเองจริงๆ ตอนนี้คือเราไม่อยากมีลูก
กอหญ้า : คิดว่าคนล้นโลกแล้ว มันเยอะเกินไปแล้ว ถ้าคิดจะเลี้ยงเด็กก็เอาเงินที่เรามีไปให้เด็กที่เกิดมาแล้วต้องใช้ดีกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมีเด็กขึ้นมาอีกคน คือเมื่อไหร่ที่มีอีกหนึ่งชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องหายไป คิดดูวันหนึ่งเราใช้อะไรบ้างโดยเฉพาะชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ต้องมีทั้งรถ ต้องใช้ไฟฟ้า ต้องบริโภคมากมาย
กบ : ถ้าเหตุผลในการมีลูกคือการสืบตระกูลหรือสืบเผ่าพันธุ์ เราไม่คิดว่ามันจำเป็น เพราะสุดท้ายมนุษย์เกิดมาแล้วก็ตาย แล้วเราก็ยังแสวงหานิพพานอยู่ ท้ายสุดแล้วนิพพานก็คือไม่ต้องกลับมาเกิด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเราบังคับตัวเองไม่ให้ทำให้ใครมาเกิดได้ มันก็ช่วยให้คนไม่ต้องกลับมาเกิด มารับกรรม อันนี้เป็นแค่ความคิดของผมซึ่งคนส่วนใหญ่รับไม่ค่อยได้

ในระยะยาวตั้งใจใช้ชีวิตอย่างไร
กบ :
สมมุติว่าถ้ามีมูลนิธิด้านสัตว์ป่าหรือธรรมชาติอะไรที่เราสนใจ เราอาจจะขอเข้าไปลองทำดูว่าเราทำได้หรือเปล่าทำไหวไหม เราพร้อมที่จะเสียสละขนาดนั้นหรือ เอาเข้าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ก็ได้
กอหญ้า : ความต้องการจริงๆ คืออยากเดินตามหลักศาสนาพุทธ เพื่อหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ผูกมัดหรือยึดติดกับอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก และก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรายังยึดติดกับครอบครัว การงาน สัตว์เลี้ยง ไม่เว้นแม้ธรรมชาติ เลยคิดว่าอย่างน้อยเราก็เกิดมาเป็น “สัตว์ประเสริฐ” แล้ว มีพลังมีปัญญาเหนือกว่าชีวิตอื่นๆ ในโลกนี้ เราจึงมีหน้าที่ทำในสิ่งที่ประเสริฐจริง คิดถึงตัวเองให้น้อยลง เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะให้กับสิ่งอื่นๆ โดยมีผลประโยชน์แก่ตัวเองน้อยที่สุด ก็เลยตั้งใจจะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและงานอนุรักษ์สัตว์ให้มากขึ้น และหวังว่าจะสามารถทำให้คนไม่มากก็น้อยเข้าใจว่าการใช้ชีวิตควบคู่กับธรรมชาติโดยสร้างผลกระทบต่อโลกและชีวิตอื่นๆ ให้น้อยที่สุด จริงๆ แล้วทำได้ในโลกปัจจุบัน โดยไม่ต้องลำบากอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด