คุณวริสรมีแนวคิดที่จะให้พนักงานมีรายได้เสริมนอกจากเงินเดือนประจำด้วย
ตอนที่เราพบกับวิกฤตเศรษฐกิจมันทำให้เราได้คิดหลายอย่าง เรื่องการทำรีสอร์ตใหญ่โตหรูหรา เรื่องการจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน ก็เลิกคิดไป หันกลับมาดูว่าเราจะทำอย่างไรให้พนักงานของเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นอยู่ได้และสามารถทำงานร่วมกับองค์กรได้อย่างมีความสุข เราพบว่าครอบครัวและเครือญาติของพนักงานล้วนเป็นชาวนาชาวสวน มีพื้นที่รวมๆ กันแล้วประมาณ ๙๐๐ ไร่ ขณะที่โรงครัวของเราก็ซื้อผักผลไม้แต่ละวันมากมาย เราจึงมีแนวคิดจัดตั้งโครงการ “เศรษฐกิจพวกเรา” เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหล โดยไปส่งเสริมให้คนเหล่านี้ปลูกพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษมาป้อนโรงครัวของรีสอร์ต แล้วทางเราจะรับซื้อหมด แต่ละวันทางโรงครัวจะเขียนบนกระดานบอกว่าต้องการซื้ออะไรบ้าง ใครจะขายก็ไปลงชื่อไว้บนกระดาน มันก็ถือเป็นการอุ้มชูเกษตรกรรอบๆ รีสอร์ตให้เขาขายสินค้าได้ราคาโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด ทางรีสอร์ตเองก็ได้ของที่มีคุณภาพ ส่วนพนักงานก็มีรายได้และความสุขมากขึ้น ความรักในองค์กรก็เพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้เรากำลังส่งเสริมเรื่องการผลิตอาหารปลาและปุ๋ยหมักให้มากขึ้น เราเลี้ยงไก่ไว้ ก็ได้ขี้ไก่มาผสมเศษอาหารทำเป็นปุ๋ยหมัก ส่วนอาหารปลาเราก็ใช้เศษผักมาผสมกับหอยเชอรี่ที่ชาวนากลุ่มที่เราไปช่วยเขาทำนาเก็บมาให้ รวมกับเศษกุ้ง ปู ปลา ที่มาจากโรงครัวใหญ่ มีใบกระถิน มีกากน้ำตาล มีเกลือ มีรำ และน้ำจุลินทรีย์ เอามาผสมกันเป็นของกึ่งแข็งกึ่งเหลว ตากแดดให้แห้งแล้วเอามาอัดเม็ดทำอาหารปลา

ใครคือผู้ซื้อ
อาหารปลาเราส่งขายในเครือข่ายเกษตรกรของเรา ทำเท่าไรก็ไม่พอขาย มีคนรับซื้อตลอด ส่วนปุ๋ยหมักนั้น เฉพาะกับพนักงานของเราเองที่มีสวนทุเรียน มังคุด ลองกอง กาแฟ ฯลฯ ทุกวันนี้ทำเท่าไรก็ไม่พอขาย ผมเลยมองว่าของพวกนี้มันมีตลาดของมันอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราปล่อยให้พ่อค้าคนกลางกวาดไปหมดเลย พอเราเริ่มทำก็พบว่ากิจกรรมนี้มันสร้างประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของการปกครอง ทั้งเรื่องของการเกษตรแบบธรรมชาติ มันทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันแล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ลงตัว เหมือนกับว่าเราเป็นคนในหมู่บ้าน เราก็ดูแลคนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ใครจะทำอะไรก็มาคุยกัน ใครจะปลูกอะไร ใครจะทำอาชีพอะไร ก็มาคุยกัน ทำแล้วยังไม่ต้องขายใคร ขายให้พวกเรากันเองก่อน นอกจากปุ๋ยหมักกับอาหารปลา เรายังส่งเสริมให้พนักงานทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาล้างรถ หรือแชมพูสมุนไพร อย่างแชมพูสระผมที่ดีที่สุดในโลกคือ มะกรูด บ้านเรามีมะกรูดอยู่เยอะแยะ ปลูกโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเลย เราเอามาปิ้งให้เกิดน้ำมัน แล้วก็เอาไปปั่น กรองด้วยผ้าขาวบาง น้ำมันมะกรูดทำให้รากผมแข็งแรงชุ่มชื้น ส่วนใต้ผิวมะกรูดที่เป็นสีขาวจะมีแทนนินสูงมาก สารแทนนินจะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อรา ที่ผ่านมาเราไม่ทำแชมพูใช้เองอาจเพราะเราเคยชินกับการซื้อของสำเร็จรูป ชาวบ้านหรือพนักงานของเราก็ไปซื้อแชมพูยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้จากมินิมาร์ตมาใช้ ทำไมฝรั่งต้องทำแชมพูใส่ขวด เพราะบ้านเขามีหิมะ ปลูกอะไรไม่ขึ้น เขามีหน้าหนาวยาวนานมาก เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องทำทุกอย่างเก็บไว้ในขวด ที่จริงบ้านเราไม่ต้องทำแบบเขา แต่เพราะเราชินกับระบบแบบนี้ มันเลยทำให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ ของทุกอย่างต้องซื้อหา ผมมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมชนบททุกวันนี้พึ่งตนเองไม่ได้ ยิ่งเราทำแต่เกษตรเคมี มันก็มีแต่ของที่ต้องใช้เงินซื้อมา

ระยะหลังเราพบว่า พอเราเริ่มทำของพวกนี้ได้เอง คนในชุมชนก็เริ่มลดการซื้อของจากมินิมาร์ตลง หันมาซื้อของที่เราทำกันเองมากขึ้น เงินก็หมุนเวียนอยู่ในกลุ่มพวกเรา ตามสโลแกนที่ว่า “เงินทองไม่รั่วไหล อยู่ในกระเป๋าพวกเราดีกว่า” แล้วของที่เราทำกันเอง ขายคนกันเอง ไม่ต้องขายแพงมากมันก็ยังมีกำไร อย่างน้ำยาล้างรถ เราลงทุน ๒๐๐ กว่าบาท ได้น้ำยา ๑๑ ลิตร ใช้กันเป็นปีไม่หมด พอมาทำขาย ไม่ต้องแพงมากก็ยังได้กำไรครึ่งๆ เราขายลิตรละประมาณ ๔๐ บาท ก็ยังถูกกว่าไปซื้อในเมือง คุณภาพก็ไม่ต่างกัน เป็นการช่วยลดรายจ่ายให้พนักงานและคนในชุมชน เขาก็อยู่ได้สบายขึ้น

การที่ทางรีสอร์ตใช้การพึ่งตนเอง ผลิตเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน สบู่เหลว ถ่าน ยาสระผม ผงซักฟอก ฯลฯ รวมไปถึงปลูกผักปลูกข้าวกินเองนั้น ลดค่าใช้จ่ายในรีสอร์ตลงได้มากน้อยเพียงใด
ลดไปได้มากครับ ผมว่าแค่เรื่องข้าวก็ลดรายจ่ายได้เยอะแล้ว แทนที่เราจะเอากำไรไปจ่ายให้พวกพ่อค้าคนกลาง ก็เปลี่ยนมาเป็นเอากำไรมาไว้ที่พวกเรากันเอง เงินทองไม่รั่วไหล ส่วนเรื่องผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้น มันเริ่มต้นมาจากความพยายามที่จะลดปัญหาขยะพลาสติก พวกขวดใส่แชมพู สบู่เหลว ฯลฯ ในห้องพักลง ก่อนหน้านี้เราต้องสั่งซื้อของพวกนี้อยู่เป็นประจำ ตกเดือนละ ๖ หมื่นบาท ใช้เหลือก็ต้องทิ้ง บางทีเอามากรอกใหม่ แต่พอเก่าก็ต้องทิ้ง ทั้งสิ้นเปลืองทรัพยากรและทำให้ขยะในรีสอร์ตในแต่ละวันเยอะมาก ช่วงหลังเราจึงเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบขวดปั๊ม ก็จะแค่เติมและไม่มีขยะเลย หลังจากนั้นเราก็ทดลองผลิตพวกแชมพู สบู่ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เอง โดยใช้สมุนไพรท้องถิ่น ใช้สูตรที่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้ ที่จริงเราคิดเรื่องนี้มานานแล้วแต่ติดตรงที่ยังทำไม่เป็น ตอนแรกไปจ้างกลุ่มแม่บ้านทำ ก็ปรากฏว่าคุณภาพไม่ค่อยคงที่ เดี๋ยวเหลวไปบ้างเดี๋ยวหนืดไปบ้าง บางทีก็แอบใส่น้ำหอมลงไป เราไม่ชอบกลิ่นน้ำหอมแรงๆ อยากได้กลิ่นธรรมชาติ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยได้อย่างใจเท่าไร กระทั่งมาเจอพี่ปัญญา ปุลิเวคินทร์ อดีตพนักงาน ธ.ก.ส. ซึ่งตอนนี้มาอยู่ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ นครนายก พี่ปัญญาเชี่ยวชาญด้านนี้ เราก็ไปเรียนกับพี่ปัญญา จากนั้นก็เริ่มผลิตเอง ทั้งสบู่เหลว น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาล้างห้องน้ำ ทำได้ครบทุกอย่าง และพอทำบ่อยเข้า เราก็รู้มากขึ้น สามารถพัฒนาสูตรให้ดียิ่งขึ้น อย่างตอนนี้เรารู้แล้วว่า น้ำยาซักผ้าถ้าจะให้ดีต้องใช้สับปะรดผสม มันจะกัดคราบสกปรกได้ดี แล้วกลิ่นก็หอมด้วย ในที่สุดของพวกนี้เราก็พึ่งตนเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถลดรายจ่ายได้จากเดือนละ ๖ หมื่นบาทเหลือประมาณเดือนละ ๑ หมื่นบาท

แล้วการตั้งบริษัทจำลองขึ้นภายในรีสอร์ตชื่อ “บริษัทอุ้มชูไม่จำกัด” มีวัตถุประสงค์อะไร
เรามีโครงการที่จะไม่เกษียณคน เมื่อก่อนเรานั่งเถียงกันว่า จะให้พนักงานเกษียณตอนอายุ ๕๕ หรือ ๖๐ ดี แล้วจะให้เงินชดเชยกี่เดือน แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่เราลำบาก เราพบว่าพนักงานเหล่านี้ไม่ทิ้งเรา เราก็เลยมาคิดว่าจะดูแลเขาต่อไปอย่างไร ที่สุดก็คิดโครงการนี้ขึ้น ให้ชื่อว่า “บริษัทอุ้มชูไม่จำกัด” มันเป็นโครงการเล็กๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเราซึ่งเป็นลูกจ้างถาวรของบริษัท กับพนักงานของเรา เป็นการทำงานร่วมกันในอาชีพที่เขาถนัดเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงาน อย่างโครงการแรกของเราคือ “ไข่สุโข” มันก็เริ่มจากว่าแต่ละเดือนทางรีสอร์ตต้องใช้ไข่ไก่ราว ๘,๐๐๐ ฟอง ตอนนั้นสุโขพนักงานของเรามีหน้าที่เลี้ยงไก่อยู่แล้ว เราก็เลยสนับสนุนให้เขาเลี้ยงไก่แบบเกษตรอินทรีย์ภายในรีสอร์ต เลี้ยงแบบธรรมชาติ เลี้ยงไก่ ๑๐๐ ตัว ได้ไข่ ๗๐ ฟองต่อวัน ก็เอามาใช้ในรีสอร์ต ส่วนที่ไม่พอเราก็ค่อยซื้อเพิ่ม นอกจากจะได้ไข่แล้ว การเลี้ยงไก่ยังช่วยกำจัดเศษอาหารในรีสอร์ตได้มาก แถมเรายังได้ขี้ไก่เอาไปทำปุ๋ยหมักด้วย ที่สำคัญตั้งแต่ทำเรื่องไข่ ผมว่ามันเฮฮาตลอด ไข่รุ่นแรกๆ มันจะเล็ก เราก็ให้พนักงานกินเองก่อนเพราะมันยังขายไม่ได้ คนก็จะแซวว่าไข่สุโขทำไมเล็กจัง สุโขก็เริ่มสนุก ผมกับเขาก็สนิทสนมกันมากขึ้น หรืออย่างตอนเริ่มทำปุ๋ยหมัก สุโขมีสวนปาล์ม ๒๕ ไร่ เราขายปุ๋ยให้สุโขคนเดียวก็หมดแล้ว เพราะเขาบอกว่าถูกกว่าไปซื้อปุ๋ยเคมี ทีนี้หลังจาก “ไข่สุโข” มันก็มีโครงการอื่นๆ ตามมา คือแทนที่เราจะไปรีดประสิทธิภาพจากพนักงาน เราก็ปล่อยให้เกิดการระเบิดจากข้างใน โดยเราเพียงแต่กระตุ้นหรือเปิดโอกาสให้เขาได้คิดได้ทำในสิ่งที่เขาถนัดและต้องการจะทำ

แต่การทำโครงการแบบนี้เราก็ต้องรู้ว่าเราต้องพร้อมจะเข้าไปยุ่งเรื่องของชาวบ้าน เข้าไปดูว่าครอบครัวเขาเป็นยังไง ลูกเขาเรียนดีไหม มีความสุขหรือเปล่า มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะลดต้นทุนยังไง การทำโครงการ “อุ้มชูไม่จำกัด” ผมว่ามันก็เหมือนกับเป็นการแลกมุมมองทางความคิด เขาก็ได้หลายๆ มุมจากเรา เรื่องของเศรษฐกิจ การดำเนินงาน ฯลฯ เราเองก็ได้รับรู้ความคิด ได้รับรู้ปัญหาของพนักงาน แล้วพอเราได้คุยกัน มันก็เริ่มไม่ห่วงเขาคนเดียวแล้ว แต่ห่วงไปถึงคนในครอบครัวเขา ในชุมชนเขาด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า “อุ้มชูไม่จำกัด” มันก็มาจากความตั้งใจที่เราจะอุ้มชูเขา ให้เขาอุ้มชูตัวเองได้ ให้อุ้มชูครอบครัวได้ อุ้มชูบริษัทได้ อุ้มชูชุมชนได้ เรียกว่าอุ้มแล้วก็ชูด้วย คือช่วยกันสุดๆ แล้วก็ไม่จำกัด ช่วยกันทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเงิน กฎอย่างเดียวคือ ห้ามยืมเงิน ยืมเงินไม่ได้เพราะเราก็ไม่มี และก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่จะช่วยกันเรื่องแนวความคิด เรื่องเศรษฐกิจ เราต้องมีความสุขที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

แล้วจาก “อุ้มชูไม่จำกัด” พัฒนามาเป็น “รอดพอดี” ได้อย่างไร
“อุ้มชูฯ” เป็นการทำงานคนเดียวหรือสองคนอย่างการเลี้ยงไก่ ส่วน “รอดพอดี” เป็นงานกลุ่ม คือพอเกิดโครงการ “อุ้มชูฯ” แล้ว ก็มีพนักงานคนอื่นที่อยากจะทำบ้าง ซึ่งเราก็พร้อมสนับสนุน คงต้องบอกด้วยว่าหลังจากเราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้กับองค์กร สิ่งหนึ่งที่เรายึดถือคือพระราชดำรัสที่ว่า “ขาดทุนคือกำไร ยิ่งให้ยิ่งมี” คือไม่ต้องถามว่าช่วยแล้วจะได้อะไร แต่ให้คิดไว้เลยว่า “ขาดทุนคือกำไร” และสิ่งที่เราจะช่วยกันนี้ “ยิ่งให้ยิ่งมี” เราต้องช่วยเขาก่อน รู้จักให้ก่อน ส่วนเรื่องจะได้อะไรมันจะตามมาเองทีหลัง ผมคิดว่าที่สังคมไทยตอนนี้มีปัญหา เพราะมันขาดการให้ มีแต่จะเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเดียว

ความหมายของ “รอดพอดี” คือให้เขารอดไปด้วยกัน กิจกรรมในโครงการก็จะเป็นงานที่ต้องอาศัยคนหลายคนเข้ามาร่วมกันทำ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายอย่าง ตั้งแต่สีข้าว ปลูกผัก เผาถ่านคุณภาพสูง ทำน้ำมันมะพร้าว สบู่เหลว แชมพู น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาล้างรถ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ฯลฯ ทำแล้วก็ขายให้รีสอร์ตหรือให้คนข้างนอกมารับซื้อ ส่วนที่เป็นกำไรเขาก็แบ่งกัน พนักงานของเราก็จะได้มีรายได้พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน อย่างตอนนี้ก็กำลังจะทำน้ำมันรำ เพราะพอสีข้าวแล้ว เราได้รำเต็มๆ เลย และน้ำมันรำได้ราคาสูง โครงการของเรา ทั้ง “อุ้มชูไม่จำกัด” และ “รอดพอดี” ทำให้เราไม่ต้องทิ้งคน ไม่ต้องเกษียณคน เพราะฉะนั้นอัตราการหมุนเวียนพนักงานของเรา ถ้าเกิดมีถ้วยรางวัลระดับประเทศ ผมว่าเราอาจจะได้รางวัลชนะเลิศก็ได้ คือพนักงานของเราไม่ค่อยมีคนลาออก มีอยู่ ๑๐๐ กว่าคนก็อยู่กันไปอย่างนี้

มีทั้งงานของรีสอร์ตกับงานพิเศษอย่างนี้แล้ว พนักงานแบ่งเวลาทำงานอย่างไร
ส่วนใหญ่ก็จะให้เขาทำในช่วงเลิกงาน แต่ก็มีที่ทำในเวลางานด้วย เพราะจริงๆ แล้วคนทำงานแต่ละแผนกก็ไม่ได้มีงานทำอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเขาก็จะว่าง ช่วงไหนใครว่างก็ไปทำ เขาก็หมุนเวียนกันไป ไม่ได้เฮไปทำพร้อมกัน