สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

dek“สังคมแบบไหนกันที่ยอมรับว่าการเอารถถังออกมา ทำให้เกิดความสงบ”

“สังคมไทยไม่เชื่อเรื่องการพึ่งพาตัวเอง ยึดติดตัวบุคคล เชื่อเรื่องฮีโร่ เมื่อ ๕ ปีก่อนคิดว่าคุณทักษิณเป็นฮีโร่ แต่ตอนนี้เชื่อ คปค. แทน ทั้งที่คำสั่งหลายฉบับกระทบสิทธิเสรีภาพโดยตรง โดยเฉพาะการห้ามชุมนุมเกิน ๕ คน เพราะเกรงว่าคนในชาติจะแตกความสามัคคี นั่นเป็นความคิดที่ผิด ขอย้ำว่าการเห็นต่างไม่ใช่การแตกสามัคคี”

ช่วงเย็นวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ลานกิจกรรมหลังตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คนราว ๒๐ คน นั่งจับมือกันเป็นครึ่งวงกลมโอบล้อมคน ๕ คนซึ่งกำลังแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อนผ่านเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางการจับตามองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยซึ่งกังวลกับคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน ๕ คนของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่เพิ่งล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไปเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

เจ้าของเสียงข้างต้นคือ อรุณวนา สนิกะวาที นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ ใน ๕ ตัวแทนในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ อรุณวนาเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวในวันนั้นที่แสดงตนคัดค้านการทำรัฐประหารของ คปค. อย่างชัดเจน อันถือเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงอย่างยิ่ง ด้วยขณะนี้ไทยไร้กฎหมายรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ถูก คปค. ยกเลิกตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

อรุณวนา หรือ ปุ๊ก พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ แต่ไปเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เรียนชั้นประถม ครั้งหนึ่ง เธอเคยทำงานร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในตำแหน่งรองเลขาธิการฝ่ายนักศึกษา นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัล “Young Thai Artist Award 2005” จากผลงานนวนิยายเรื่อง คืนฝันวันต่อสู้ อีกด้วย

ในภาวะที่ผู้มีอำนาจปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างความสมานฉันท์ของคนในชาติซึ่งถูกทำให้แตกร้าวอย่างรุนแรงในสมัยรัฐบาลทักษิณ แล้วอะไรเล่าที่ทำให้เธอกล้า “คิดต่าง” ?

“ช่วงค่ำวันที่ ๑๙ กันยายน ตอนที่เห็นคุณทักษิณ (อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี) ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. คิดว่าคงเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่อำเภอหาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นาน แต่พอได้ยินว่าใช้ในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกแปลกใจ ต่อมาสถานีโทรทัศน์ตัดรายการปรกติ และพี่นักข่าวที่รู้จักกันโทร. บอกเรื่องรัฐประหาร จึงได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้านี้ในกลุ่มพวกเราไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดรัฐประหารในยุคนี้ รู้ทันทีว่าไม่เห็นด้วย สำหรับดิฉัน วันรุ่งขึ้นประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว แม้ว่าประชาชนจะยังไปจ่ายตลาดได้และไม่มีการยิงกัน แต่มองลึกๆ นั่นเป็นภาพลวงตา ความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่มีการเอารถถังออกมา เราก็คิดกันว่าคงอยู่นิ่งไม่ได้ จึงคุยกันในกลุ่มว่าต้องทำอะไรสักอย่าง”

ต่อมาก็มีผู้ที่คิดคล้ายๆ กันอีกหลายคนมารวมตัวกันในนาม “เครือข่าย ๑๙ กันยาต้านรัฐประหาร” เริ่มปฏิบัติการชุมนุมเงียบท่ามกลางกฎอัยการศึกโดยใส่เสื้อสีดำเป็นสัญลักษณ์ เมื่อเย็นวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์

“การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ ทุกคนไปด้วยตัวเองหลังจากได้พูดคุยกันไม่กี่ครั้ง ทุกคนต่างมีเป้าหมายร่วมกันว่าไม่ยอมรับการรัฐประหาร จึงไปรวมตัวกันตั้งแต่หกโมงเย็น แล้วตัดสินใจสลายตัวราวหนึ่งทุ่ม เพราะคิดว่าถ้านักข่าวต่างประเทศกลับแล้วคงไม่ปลอดภัยแน่”

เมื่อ คปค. มีประกาศฉบับที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องการให้นิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง อรุณวนาเป็นคนแรกๆ ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง คปค. เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งที่เป็นการลิดรอนละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในวันต่อมา เธอก็ตอบรับคำเชิญของ “กลุ่มโดมแดง” ซึ่งเป็นรุ่นพี่นักกิจกรรม ไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า ๕ คนที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“มีคนพูดเหมือนกันว่าทำแบบนี้เหมือนคร่ำครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ถ้าเรามองแค่ว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว แล้วไปแล้ว โดยไม่สนใจเรื่องถูกผิด ถ้าอย่างนั้นคุณโดนข่มขืนก็คงต้องยอมรับสภาพ ไม่ต้องแจ้งตำรวจหรือฟ้องศาล เพราะมันแก้ไขไม่ได้ คิดแบบนี้ไม่ดีเลย มันเท่ากับยอมรับและสร้างบรรทัดฐานให้แก่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“นิยายเรื่อง คืนฝันวันต่อสู้ ที่ดิฉันเขียน ก็อ้างอิงการต่อสู้ของคนเดือนตุลา ขณะที่เขียนคิดว่าการรัฐประหารมันล้าสมัยแล้วและต้องไม่เกิดขึ้นอีก แต่ก็เกิด อย่างช่วงนี้ (ปลายเดือนกันยายน) สิ่งที่ คปค. ทำอยู่ คือ ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ประกาศกฎหมายเอง เอาทหารไปถือปืนหน้าสถานีโทรทัศน์ ห้ามโน่นห้ามนี่ ตามรอยเผด็จการหรือไม่ เขาเอาคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตย’ มาสร้างภาพ จริงๆ ดิฉันเชื่อว่าเสรีภาพนั้นอยู่กับตัวเราเอง ไม่ใช่เขาหรือใครมีสิทธิมาหยิบยื่นให้ หรือมีคำสั่ง ดิฉันยอมรับตรงนี้ไม่ได้

“ต้นทุนที่สังคมไทยต้องจ่ายกับการรัฐประหารครั้งนี้ในระยะยาวคิดว่าไม่คุ้ม เราได้เห็นเด็กและผู้ใหญ่ไปถ่ายภาพกับรถถัง นักศึกษายืมปืนทหาร ทำท่าจี้ทหารแล้วถ่ายภาพ ถามว่าเขาคิดอะไรบ้างไหม นี่คืออาวุธที่เอาออกมารัฐประหารนะ ถ้ากลับกัน เปลี่ยนเป็นทหารเอาปืนจ่อจะเป็นยังไง เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อาวุธเช่นนี้แหละที่ฆ่าคนในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์มาแล้ว แต่ตอนนี้เรากลับตลกและสนุกกับมัน ถ้าดิฉันเคยผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลามาคงไม่แค่สะเทือนใจ แต่คงร้องไห้ที่สังคมไทยไม่เรียนรู้อะไรเลย

“สังคมแบบไหนกันที่ยอมรับว่าการเอารถถังออกมาทำให้เกิดความสงบ ในอนาคต ถ้าอยากยุติความขัดแย้งก็หยิบปืนมาจี้อย่างนั้นหรือ มันไม่ต่างอะไรกับตอนนี้ ถึงเขาจะอ้างว่าไม่ได้ยิงนะ แต่แค่จี้ก็ตาม เด็กที่เติบโตมาในสังคมที่ยอมรับพฤติกรรมแบบนี้จะเป็นคนอย่างไร ที่น่าเสียดายคือบางคนกำลังเรียนรู้ประชาธิปไตย พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น น้องดิฉันตั้งคำถามทันทีว่าแล้วที่ผ่านมาประชาชนเคลื่อนไหวไปเพื่ออะไร ถึงที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ พอทหารออกมา มันส่งผลเสียต่อกระบวนการเรียนรู้มาก

“สังคมไทยไม่เคยคิดอย่างจริงจังว่าถ้าไม่ทำรัฐประหารและไม่เอานายกฯ ทักษิณ จะมีทางออกอย่างไร คือไปตั้งสมมุติฐานไว้แล้วว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากหนทางนี้ จึงมีกระบวนการต่างๆ ทำให้เป็นจริง ทั้งที่จริงๆ ยังมีทางที่ดีกว่านั้นมากถ้าสังคมหยุดคิดกันสักนิด

“อีกอย่างหนึ่งคือ สังคมไทยต้องการฮีโร่หรือผู้นำ ไม่ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง ได้แต่รอให้ใครสักคนจัดการให้ ขอเสริมอย่างเดียว ครั้งหนึ่งคุณทักษิณเคยเป็นฮีโร่ เป็นความหวังของการเมืองที่น่าเบื่อ แต่พอเขาทุจริต แล้วมีคนออกมาไล่ คนไทยก็คิดว่าคนคนนั้นเป็นฮีโร่ แล้วเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง

“คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าในฐานะประชาชน เราทำอะไรไม่ได้ หรือไม่กล้าทำอะไร ทั้งๆ ที่นักการเมืองคือคนที่พวกเขาเลือกเข้ามา คือกับเรื่องของสังคม เรามักรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ แต่เวลารายการเรียลลิตี้บอก ถ้าคุณอยากเป็นนักร้อง คุณคว้าฝันได้ แบบนั้นเรากล้าทำ เช่นกัน ตอนนี้เรากำลังถูกทำให้เชื่อว่าวิกฤตการณ์ของการเมืองไทยมีทางออกเดียวคือรัฐประหาร แล้วคนไทยก็เชื่อ เพราะคิดว่าคงทำอะไรไม่ได้ ในต่างประเทศเราจะเห็นชัดเจนว่า ผู้นำไม่ดีโดนโค่นโดยพลังประชาชนคนแล้วคนเล่า แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่มีภาพแบบนี้ บ้านเรามีอำนาจมืด เปรียบเป็นหมากรุก เมื่อใดที่พลังประชาชนเริ่มเรียนรู้หรือจะรุกฆาตผู้ปกครอง ก็จะมีคนบอกว่า เดินต่อแพ้แน่ แล้วล้มกระดาน แล้วอย่างไร จะยอมเดินใหม่แล้วโดนแบบนี้อีกหรือ

“ตอนนี้ถ้าเอาแต่รอว่า คปค. จะจัดการยังไง คงไม่ต้องทำอะไรเลย ให้เขายิงก่อนถึงบอกว่ารัฐประหารไม่ดีใช่หรือไม่ เราอยากให้คนไทยตั้งคำถามมากกว่านี้ เชื่อในสิทธิเสรีภาพ เชื่อว่าเราทำอะไรเพื่อสังคมได้มากพอๆ กับการทำอะไรเพื่อตัวเอง เราสามารถต่อสู้อำนาจมืดได้ ผิดถูกยังไง มาค้นหา มาเรียนรู้ร่วมกัน

“การที่ดิฉันออกมาวิพากษ์ไม่ถือเป็นการเสียสละอะไร คนอย่างพวกเรายังมีเพื่อนพ้องคอยปกป้อง ยังมีสื่อที่เขารับรู้ถึงการทำงานของเราคอยดูแลอยู่ แต่คนที่ต่อสู้อยู่ตอนนี้โดยที่สื่อและสังคมไม่รู้จักหรือรับรู้ต่างหากที่เสี่ยงกว่ามาก และนั่นคือผู้กล้าตัวจริง”