สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org

คน (ไม่) สำคัญ : มิเชล เดอ มงแต็ง  บิดาแห่งเหตุผลบนปัญญา

“เราสามารถรู้มากด้วยความรู้ของคนอื่นได้ แต่เราไม่สามารถรู้ดีด้วยปัญญาของคนอื่นได้”

มิเชล เดอ มงแต็ง (ค.ศ. ๑๕๓๓-๑๕๙๒)

ในชีวิตคุณคงรู้จักคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่ฉลาดกว่าคุณ เก่งกว่าคุณ หรือรู้มากกว่าคุณ คนที่ทำให้คุณรู้สึกทึ่งหรือประหม่าหรือมีปมด้อย หรือที่ร้ายกว่านั้นคือ รู้สึกราวกับโดนดูถูกทุกครั้งที่คุยกัน ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

คนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้มักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ พูดเก่ง เขียนเก่ง ใช้เหตุผลเก่งชนิดที่คนอื่นเถียงไม่ทัน ขยันอ่านหนังสือ มีความรู้รอบด้าน สนใจแต่เรื่อง “ใหญ่ ๆ” ไกลตัวคนธรรมดา เช่น การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย ฯลฯ

เรามักจะเรียกคนประเภทนี้ว่า “ปัญญาชน” และยกย่องพวกเขาว่าเป็นคนฉลาด มีวุฒิภาวะและภาวะผู้นำ เรามักจะขอคำแนะนำจากพวกเขาในแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติ

เวลาปัญญาชนตัดสินใจผิดพลาดในชีวิตส่วนตัวหรือรับมือกับปัญหาชีวิตไม่เป็น เราก็มักจะมองว่าพวกเขา “โชคร้าย” หรือไม่ค่อยมี “ทักษะในการเอาตัวรอด” แต่เราจะไม่เคยคิดว่านั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพวกเขา “ฉลาดน้อยกว่าเรา”

ถ้าหากความคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสสมัยเรอเนซองซ์ (Renaissance) นาม มิเชล เอเคม เดอ มงแต็ง-เดอเลอครัวซ์ (Michel Eyquem de Montaigne-Delecroix) ยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน คนที่เรายกย่องเป็น “ปัญญาชน” จะไม่ใช่นักวิชาการผู้จบการศึกษาสูง ๆ หากเป็นใครก็ได้ที่มีสามัญสำนึก “รู้จักชีวิต” ดีพอที่จะให้คำแนะนำดี ๆ ต่อคนอื่นได้ นอกจากนี้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนจะเน้นหนักไปที่การสอนทักษะในการใช้เหตุผลแบบมีสามัญสำนึกอย่างปุถุชนคนธรรมดา แทนที่จะเป็นทักษะในการใช้ตรรกะแบบเป็นทางการและเคร่งครัดอย่างปัญญาชนบนหอคอยงาช้าง ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแทบไม่ได้เลย

และถ้าหากงานเขียนของมงแต็งยังเป็นที่ยกย่องนับถือในวงกว้างสมกับที่เขาคู่ควรได้รับ ก็จะไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเอง “ด้อย” กว่าปัญญาชนหรือใครก็ตามที่จบปริญญาจากสถาบันชื่อดังอีกต่อไป

เพราะมงแต็งใช้ชีวิตทั้งชีวิตของเขาเพื่อพยายามบอกเราว่า “คุณค่า” ของคนไม่ได้อยู่ที่ระดับการรู้หนังสือ ปัญญาชนอาจไม่ “ฉลาด” เท่ากับชาวนาผู้ไม่รู้หนังสือ หากพวกเขาเอาตัวรอดไม่ได้หรือรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ในชีวิตไม่เก่งเท่ากับชาวนา

มงแต็งถึงกับประกาศว่า “ผมชอบคุยกับชาวนามากกว่าปัญญาชน เพราะชาวนาไม่ได้รับการศึกษาพอที่จะทำให้พวกเขาใช้เหตุผลอย่างผิด ๆ เป็น”

แวดวงวิชาการในโลกตะวันตกรู้จักมงแต็งในฐานะนักรัฐศาสตร์เป็นหลัก แต่มรดกอันยิ่งใหญ่กว่านั้นในฐานะนักเขียนที่เขามอบให้แด่ชนรุ่นหลัง ทว่าถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายคือ การทำให้บทความ (essay) แบบไม่ใช่นิยาย ได้รับการยอมรับในฐานะ “วรรณกรรม” แขนงหนึ่ง งานเขียนของมงแต็งที่รวบรวมได้กว่า ๑๙ เล่ม มีชื่อเสียงมากในแวดวงนักเขียนสมัยนั้น เพราะเขามีความสามารถในการผสมผสานการใช้ตรรกะแบบปัญญาชนในการครุ่นคิดถึงประเด็นใหญ่ ๆ เข้ากับเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ สามัญสำนึก และบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาเขียนเล่าอย่างละเอียดลออหมดเปลือก ตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิต ไปจนถึงประสบการณ์ธรรมดาสามัญอย่างการมีเซ็กซ์ การกินข้าว และแม้แต่การ “ขี้” ! (หนึ่งในคำกล่าวที่มงแต็งชอบใช้คือ “พระราชา นักปรัชญา และคุณหญิงคุณนายทั้งหลาย ล้วนแต่ต้องนั่งขี้ทั้งนั้น”) บทความจำนวนมากมายมหาศาลของมงแต็งที่เขาตั้งชื่อสั้น ๆ ว่า “Essais” (แปลว่า “ความพยายาม” ในภาษาฝรั่งเศส) ได้กลายมาเป็นชื่อของสาขาวรรณกรรมใหม่คือ essay ในภาษาอังกฤษ

ถึงแม้ว่า Essais ของมงแต็งจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักคิดนักเขียนรุ่นหลังมากมาย อาทิ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare), ฟรีดริช นีทเช (Friedrich Nietzsche), ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) แต่ปัญญาชนส่วนใหญ่จวบจนปัจจุบัน (โดยเฉพาะนักวิชาการอีโก้จัดทั้งหลาย) ยังไม่ยอมรับว่ามงแต็งเป็นปัญญาชนที่มีความคิดอ่านควรค่าแก่การนับถือ เพราะพวกเขามองว่าประสบการณ์ส่วนตัวที่มงแต็งชอบอธิบายปะปนไปกับการวิเคราะห์ เป็นเรื่อง “ไร้สาระ” ที่ปัญญาชนไม่ควรเสียเวลาเล่าให้ใครฟัง (มงแต็งเขียนเล่าทุกเรื่อง แม้กระทั่งนิสัยเสียหยุมหยิม เช่น ฟันของเขาไม่ค่อยดีเพราะตอนเด็ก ๆ ชอบเอาฟันไปถูกับผ้าเช็ดปาก ชอบเอาลิ้นเลียริมฝีปาก และกินอาหารเร็วเกินไป) ปัญญาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบมงแต็งเพราะเชื่อว่า เราไม่ควรใช้อารมณ์ความรู้สึกซึ่งแปรปรวนตลอดเวลาเป็นพื้นฐานในการกระทำหรือการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ แต่ควรใช้เพียงหลักเหตุผลและตรรกะที่เคร่งครัดเท่านั้น

ความคิด “กระแสหลัก” แบบนี้กลายเป็นรากฐานให้แก่แนวคิดหลักใน “ยุคแสงสว่าง” (Enlightenment) ที่นำโดย เรอเน เดส์การ์ต (Rene Descartes) นักคิดที่ประกาศวาทะอมตะว่า “ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงเป็น” (“I think, therefore I am”) และเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบทฤษฎีเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงของโลก ต่อมาแนวคิดหลักในยุคนี้ก็ได้กลายเป็นกระบวนทัศน์ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมองว่าธรรมชาติเปรียบเสมือนนาฬิกาเครื่องกลที่เดินอย่างเที่ยงตรง แน่นอน และสัมบูรณ์ (absolute) และมนุษย์มีศักยภาพที่จะค้นพบ “สูตร” ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของธรรมชาติได้ ด้วยการใช้เหตุผลและตรรกะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างเป็นระบบ

มงแต็งมองต่างมุมว่า วิธีเดียวที่มนุษย์สามารถใช้ในการศึกษาตัวเองและโลกได้ คือมองจากมุมมองของตัวเอง ซึ่งนั่นแปลว่าเราต้องยอมรับนิสัยส่วนตัว (ทั้งดีและเลว) อารมณ์ความรู้สึก สามัญสำนึก สัญชาตญาณ และธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ (เช่นเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องขี้) ว่าล้วนเป็นปัจจัยที่ผูกพันแนบแน่นและส่งอิทธิพลต่อความคิดของเราอย่างแทบจะไม่มีทางแยกออกจาก “เหตุผลที่เป็นระบบ” ได้

มงแต็งตั้งคำถามว่า วิชาที่ตั้งอยู่บน “เหตุผลที่เป็นระบบ” เช่นความรู้ทางคณิตศาสตร์และตรรกศาสตร์ มีประโยชน์อะไรกับคนทั่วไป ถ้ามันไม่ได้ช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปรกติสุข

ถ้ามองจากสายตาของคนสมัยใหม่ เหตุผลที่เป็นระบบอาจช่วยให้เราสอบผ่านวิชาเลขและวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เราเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็น และถกเถียงกับคนอื่นด้วยเหตุผลได้ แต่มันช่วยอะไรเราแทบไม่ได้เลยในการดำรงชีวิต ถ้าเราไม่อยากทำงานในสาขาวิชาเหล่านั้น และโดยเฉพาะเมื่อคนเราต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตนานาชนิดที่มักจะรุมเร้าเข้ามาในเวลาที่เราไม่คาดคิด แต่ถึงกระนั้นก็ตามเราก็ยังมะงุมมะงาหราเอาตัวรอดมาได้

มงแต็งบอกว่า นั่นเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “ความรู้ที่แท้จริง” ที่เราใช้ในการดำเนินชีวิตนั้นเป็นความรู้คนละชุดกันกับหลักเหตุผลที่โรงเรียนสอน และเสริมว่าเขารู้จักชาวนาและช่างผู้ไม่รู้หนังสือหลายร้อยคนที่มีความสุขและมีปัญญามากกว่าคณบดีมหาวิทยาลัย

มงแต็งชี้ให้เห็นว่า “ความรู้” (knowledge) ทั้งหลายในโลกนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ “รู้หนังสือ” (learning) และ “ปัญญา” (wisdom) คนที่รู้หนังสือมาก ๆ คือพวก “รู้มาก” ในขณะที่คนมีปัญญาคือพวก “รู้ดี” มงแต็งบอกว่า ปัญญาคือความรู้ที่มีประโยชน์กว่าความรู้แบบรู้หนังสือมากมายหลายเท่า เพราะมันคือความรู้ประเภทที่ช่วยให้เราสามารถมี “ชีวิตที่ดี” ได้ ซึ่งในนิยามของมงแต็งหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเปี่ยมคุณธรรม แต่โรงเรียนกลับไม่เคยสอนความรู้แบบนี้ให้แก่นักเรียนเลย มงแต็งบ่นเรื่องนี้ไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า

“ระบบการศึกษาของเราไม่เคยตั้งเป้าให้นักเรียนเป็นคนดีและมีปัญญา สอนเพียงแต่ให้พวกเขารู้หนังสือเท่านั้น ในแง่นี้ต้องบอกว่าการศึกษาของเราก็ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะไม่เคยสอนให้เราค้นหาคุณธรรมหรือใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา สอนแต่วิธีถอดสูตรคณิตศาสตร์และรากศัพท์ของคำต่าง ๆ… สังคมของเราสนใจแต่จะถามว่า “บัณฑิตคนนี้พูดภาษากรีกหรือละตินเป็นหรือเปล่า” หรือ “เขาแต่งกลอนและเขียนหนังสือเป็นหรือเปล่า” แต่เรากลับเอาคำถามที่สำคัญที่สุดไว้ท้ายสุด นั่นคือ “เขาเป็นคนดีขึ้นและมีปัญญามากขึ้นหรือเปล่า” เราไม่ควรถามว่าใคร “รู้มาก” ที่สุด (most) แต่ควรถามว่า ใคร “รู้ดี” ที่สุด (best) ต่างหาก เรามัวแต่พยายามยัดข้อมูลต่าง ๆ ลงไปในช่องความจำของสมองนักเรียน แต่กลับปล่อยให้ช่องความรับผิดชอบชั่วดีว่างเปล่า”

ในความเห็นของมงแต็ง เป้าหมายหลักของการศึกษาในระบบควรเป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักรับมือกับความท้าทายหลัก ๆ ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญในชีวิต เช่น ความรัก เซ็กซ์ ความเจ็บป่วย ความตาย การมีลูก เงิน การไต่เต้าในอาชีพการงาน ตลอดจนสถานการณ์ moral dilemma หรือที่คุณมุกหอม วงษ์เทศ เรียกว่า “ความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม ซึ่งแปลว่า ตัดสินใจไม่ได้ระหว่างสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง กับสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ”

นอกจากมงแต็งจะชี้ให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าง “เหตุผลที่เป็นระบบ” (the rationality) ซึ่งตั้งอยู่บน “ความรู้หนังสือ” กับ “ความมีเหตุผล” (the reasonable) ซึ่งตั้งอยู่บน “ปัญญา” และอธิบายว่าปัญญาหรือความ “รู้ดี” มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าความ “รู้มาก” อย่างไรแล้ว ข้อเขียนของเขาหลายเรื่องยังช่วยทำลายมายาคติหรือความเข้าใจผิดของคนทั่วไปเกี่ยวกับ “ความฉลาด” อีกหลายเรื่อง เช่น เวลาเราอ่านหนังสือที่เราไม่เข้าใจหรือรู้สึกว่าน่าเบื่อ เรามักจะโทษตัวเองว่าโง่ คนเขียนหนังสือต้องฉลาดกว่าเราแน่ ๆ เพราะเราเชื่อว่าความคิดที่ลึกซึ้งนั้นไม่สามารถอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายได้ แต่มงแต็งเสนอว่า หลายครั้งแทนที่จะโทษตัวเองว่าโง่ เราควรจะโทษคนเขียนว่าไร้ความสามารถที่จะสื่อสารให้เราเข้าใจ เพราะจริง ๆ แล้วหนังสือที่คนจำนวนมากอ่านไม่รู้เรื่องนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากความขี้เกียจของคนเขียน (ที่ไม่พยายามเขียนให้คนอ่านรู้เรื่อง) ไม่ใช่ความฉลาด หนังสือที่ “อ่านง่าย” นั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ “เขียนง่าย” ไปด้วย หากเป็นผลผลิตของความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของนักเขียนที่ตั้งใจจะสื่อความคิดให้คนทั่วไปเข้าใจ มงแต็งแถมท้ายด้วยว่า ถึงเราจะไม่ได้อ่านหนังสือเยอะเท่ากับคนอื่นก็ไม่เป็นไร เพราะมีหนังสือมากมายที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย เป็นเพียงผลผลิตของคนรู้หนังสืออีโก้จัดที่อยากให้คนอื่นชมว่าตัวเอง “ฉลาด” ด้วยการเขียนหนังสือที่มีแต่บทอ้างอิงหรือบทแสดงความชื่นชมนักปรัชญาในอดีต แต่ไม่แสดงความคิดเห็นของตัวเองเลย

แม้ว่า “ปัญญา” อันเต็มไปด้วยความอ่อนโยนและความเป็นมนุษย์ของมงแต็งยังเป็นเรื่องที่คนสมัยใหม่ไม่ยอมรับว่าเป็นมาตรวัด “ความฉลาด” หรือความเป็น “ปัญญาชน” แต่ก็มีเหตุการณ์หลายอย่างตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมาที่บ่งชี้ว่า ความคิดของมงแต็งอาจได้รับการรื้อฟื้นและยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้ ยกตัวอย่างเช่นนักคิดสมัยใหม่อย่าง โทมัส คุน (Thomas Khun) และ สตีเฟน ตอลมิน (Stephen Toulmin) ได้แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บน “เหตุผลที่เป็นระบบ” ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่นักคิดยุคแสงสว่างเชื่อ หากมีส่วนที่ตั้งอยู่บนอารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณ และรวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์ด้วย การค้นพบครั้งสำคัญ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกฎสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ กฎความไม่แน่นอนของไฮเซ็นเบิร์ก กฎความไม่สมบูรณ์ของโกเดล และกฎการตัดสินไม่ได้ของทูริง ล้วนชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติไม่ใช่เครื่องจักรที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงสัมบูรณ์ตามสูตรตายตัวดังที่นักคิดสมัยนิวตันหรือเดส์การ์ตเชื่อ หากเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความบังเอิญ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ความจริงสัมพัทธ์ (relative truths) และความวุ่นวายโกลาหล ซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน มนุษย์เราไม่สามารถใช้ “เหตุผลที่เป็นระบบ” อย่างเดียวในการทำความเข้าใจกับธรรมชาติแบบนี้ได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถใช้ความ “รู้มาก” อย่างเดียวในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณธรรมได้ แต่ต้องใช้สามัญสำนึก นิสัย สัญชาตญาณ และอารมณ์ความรู้สึกมากมายนับไม่ถ้วน ควบคู่ไปกับการใช้เหตุผลแบบรู้หนังสือ ความสามารถในการใช้ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือ “ปัญญา” นั่นเอง

มงแต็งเชื่อว่าเราทุกคนไม่ควรรู้สึกผิดหวังหรือมีปมด้อยที่ไม่รู้หนังสือเท่ากับนักวิชาการที่เรียนจบโรงเรียนดี ๆ และพูดเก่งเขียนเก่ง เพราะเราอาจจะ “ฉลาด” กว่าพวกเขาหลายเท่าในการดำรงชีวิต

ในโลกทัศน์ของมงแต็ง มนุษย์ผู้ “ดีพอ” ที่จะรับมือกับชีวิต อาจพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ผายลมถี่กว่าปรกติ เปลี่ยนใจแทบทุกครั้งหลังอาหาร รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องน่าเบื่อสุดจะทานทน และไม่รู้จักนักคิดนักปรัชญาในอดีตเลย มงแต็งย้ำว่า ถ้าเราสามารถดำรงชีวิตอย่างปุถุชนธรรมดา ๆ ที่ยึดมั่นในคุณธรรม พยายามแสวงหาปัญญาอยู่เสมอแต่ไม่เคยอยู่ไกลจากความเขลา เพียงเท่านั้นก็นับเป็น “ความสำเร็จ” ที่ควรค่าแก่ความภูมิใจแล้ว

ความคิดของมงแต็ง นักคิด (ไม่) สำคัญที่โลกลืม อาจทำให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นบ้างเมื่อได้พบกับนักวิชาการหรือปัญญาชนในคราวต่อไป

เพราะไอ้เจ้าคนรู้มากที่ชอบผลิตงาน “วิชาเกิน” ที่คนธรรมดาต้องปีนบันไดอ่าน และพล่ามเรื่องปัญหาของสังคมไทยได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ในชีวิตส่วนตัวกลับทำให้คนรอบข้างเสียใจตลอดเวลาและบอกรักใครไม่เป็น อาจกำลังนึกอิจฉาความสามารถในการดำเนินชีวิตอันแสนจะธรรมดา ๆ ของคุณอยู่ก็เป็นได้