interview04

ในความเห็นของอาจารย์ ทางออกของสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร
มีวิธีคิดกับปัญหานี้ได้หลายวิธี ฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่าถ้าเอ็งไม่เอาการเลือกตั้ง แปลว่าเอ็งไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยแปลว่าเอ็งเลว นี่ก็กลับไปวิถี (Mode) แห่งการสร้างกำแพง ลองแบบนี้ได้ไหม เป็นไปได้ไหมที่ทั้งคู่จะถูก การพูดว่าการเลือกตั้งเป็นฐานของการขึ้นครองอำนาจเป็นวิธีการที่พิสูจน์ด้วยกาลเวลามานานมากแล้วในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษยชาติ คือได้พิสูจน์ว่าเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่มากที่เราตัดสินว่าใครจะขึ้นครองอำนาจโดย Ballot ไม่ใช่ Bullet คือตัดสินด้วยบัตรลงคะแนนเสียง มิใช่ตัดสินด้วยลูกปืนแบบสมัยก่อน นี่เป็นก้าวที่ใหญ่มากในการจัดการความขัดแย้งในโลกนี้ ระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างนี้ คนไปดูเบาว่าการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ๔ วินาที ใช่ แต่ ๔ วินาทีนี้ช่วยชีวิตคนนับล้านๆ คนเลยนะในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นตัวตัดสินได้ว่าใครจะขึ้นครองอำนาจ พัฒนาการทางความคิดไปไกลมาก พอจะไม่เอาการเลือกตั้ง อย่างนั้นต้องมีวิธีการบอกว่าใครจะขึ้นมาครองอำนาจ เพราะเราเดินทางมาไกล จากกรณีที่ว่าผู้ที่ได้ครองอำนาจคือผู้ที่ได้รับโองการแห่งสวรรค์ เรามาจากจุดนั้น เราจะกลับไปหรือ หรือจะเอาอย่างไร

ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าการเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง หรือเอาใครก็ไม่รู้มาใช้ทรัพยากร มาผนึกสังคมไทยเข้าไว้กับพลังทุนแห่งโลกาภิวัตน์จนจะหายใจไม่ออก การตั้งคำถามต่อการเลือกตั้งก็เป็นการตั้งคำถามที่มีเหตุผล แม้นักการเมืองถ้าเขาแฟร์เขาก็จะรู้ว่าโควตา มุ้งเหล่านี้เป็นปัญหา ดูคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี มองอย่างใจเป็นธรรมแม้จะยอมรับได้แต่ก็รู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจเมื่อเห็นหน้าตารัฐมนตรีที่จะมาดูแลชีวิตทางการเมืองของเรารัฐสภาตั้งกรรมาธิการอะไรก็แทบไม่ได้ เพราะแย่งโควตากัน กินกันไม่ลง

ดังนั้นทางออกก็คือต้องคิดถึงสังคมที่คนทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ หมายความว่า กระบวนการขึ้นสู่อำนาจอาจต้องหาช่องคิดใหม่ สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับเหมือนกันก็คือยอมรับว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาสกปรก ได้คนไม่ดีมาเป็นผู้แทน ในขณะเดียวกันต้องตั้งคำถามกับฝ่ายพันธมิตรฯ ว่าตกลงคุณยังเชื่อไหมว่ามนุษย์ในสังคมนี้มีศักดิ์ศรีเสมอกัน สามารถตัดสินชะตาชีวิตของตนได้ เป็นมนุษย์เสมอกัน เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย แนวคิดของการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าเราทุกคนเท่ากัน เราทุกคนมีเสียงเท่ากัน เพราะกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ผ่านพัฒนาการมายาวนานมาก สมัยหนึ่งผู้หญิงไม่มีสิทธิ สมัยหนึ่งคนผิวดำไม่มีสิทธิ สมัยหนึ่งไม่มีเงินไม่มีสิทธิเลือกตั้ง กว่าจะมาถึงตรงนี้เดินทางมานาน ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่เอาการเลือกตั้ง คุณจะอยู่กับคุณค่านี้อย่างไร ปฏิเสธตรงนี้หรือไม่

ผมอยากจะคิดว่าคนฝั่งพันธมิตรฯ ไม่ได้ปฏิเสธตรงนี้ ถ้าใช่ หมายความว่าเขาจะต้องยอมรับว่าการขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งยังคงเป็นวิธีอยู่ เพียงแต่แบบที่มีเป็นวิธีที่ไม่แก้ปัญหาสังคมไทยก็ต้องมาถามว่าระบบการขึ้นครองอำนาจแบบไหนที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากภายนอก ที่ให้อำนาจกับปัจเจกชนในการตัดสินใจโดยมีศักดิ์ศรีเท่ากัน นี่ไม่ใช่พื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยหรอกหรือ

ขณะที่บางคนบอกว่าเราต้องเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ ก็จะได้ผู้แทนมีคุณภาพเอง
ปัญหาว่าเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ประชาชนจะชนะเองจริงหรือไม่ไม่รู้ หรือเลือกไปเรื่อยๆ ฝ่ายที่ชนะอาจมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ น่าสนใจมากนะสังคมไทยตอนนี้มีคุณค่าหลายอย่างต่อสู้กัน ถ้าถามผม บางส่วนในสมองอยากได้รัฐบาลมั่นคงบริหารประเทศ ตอนนี้มีปัญหาพืชผล ปัญหาเศรษฐกิจ ไปดูแลเรื่องนี้ อยากมีรัฐบาลที่ทำงานได้ มีความมั่นคงมากพอที่จะเจรจากับเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องส่งทหารไปรบ ผมอยากเห็นของแบบนี้เกิดขึ้น แต่อีกทางผมไม่อยากเห็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเกินไป แม้มีที่มาชอบธรรมแล้วมาลิดรอนสิทธิของผมโดยกฎหมาย หรืออาจใช้เงิน ใช้สารพัดอย่าง ทำให้ที่ที่เคยเป็นของผมไม่ใช่ของผม ไปไล่ชาวบ้านในนามการพัฒนา ผมอยากเห็นคนธรรมดาๆ มีหนทางต่อสู้กับอำนาจรัฐได้เช่นกัน

สถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยขณะนี้คือการปะทะกันของความปรารถนา ๒ อย่าง ในความเห็นผม ดีทั้งคู่ ชอบทั้งคู่ นี้เป็นสูตรสำเร็จของโศกนาฏกรรมในบทละครกรีกทั้งหลาย ในเวลาที่เราเลือกของ ๒ อย่างที่ดีด้วยกันทั้งคู่ก็จะมีปัญหา ถ้าเราเลือกรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาจากไหนไม่รู้อำนาจภายนอกกำหนดให้ยอดเยี่ยมมาเลย ก็จะสูญเสียหลายอย่าง ถ้าเราเลือกรัฐบาลเองก็อาจจะมีแต่ความสั่นคลอนในชีวิต นี่คือสิ่งที่เรากำลังพบพานอยู่หรือมิใช่

วันนี้อาจารย์เชื่อว่าสังคมไทยจะเกิดสงครามกลางเมืองไหม
มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของไทยหรือของโลก เราอาจจะเห็นร่องรอยการไม่ยอมจำนนกับความคิดแบบนี้ ผมนึกถึงนาซีที่เล่นงานคนยิวตายไปเป็นล้านๆ คน แต่ก็มีคนจำนวนมากซึ่งหนี และมีคนที่ช่วยคนอื่น ในสถานการณ์ที่เหมือนกับเป็นไปไม่ได้ แต่เขาทำกันอย่างไร คนเดนมาร์กช่วยคนยิวเป็นพันคน แม้แต่ในค่ายกักกันนาซีเองก็มีเรื่องแบบนี้๓ ผมว่าถ้ามีเรื่องแบบนี้จริง สังคมมนุษย์คงไม่ไร้ทางออก ยกเว้นว่าเราบอกตัวเราทุกวันว่าไม่มีทาง ต้องฆ่ากันอย่างเดียว นี่ก็เป็นปัญหา บอกว่าไม่มีทางออก ต้องรัฐประหารอย่างเดียว ก็จะพาสังคมไทยไปสู่คำตอบแบบนั้น เราก็จะมองไม่เห็นทางเลือกอื่นทั้งที่ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาทางการเมือง การรัฐประหารก็ดี การใช้ความรุนแรงก็ดี ในที่สุดก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา เหมือนกับการเอาน้ำกรดราดลงไปบนรอยแผลที่ต่อไปจะเน่าหนักกว่าเดิม อีกหน่อยก็ต้องตัดขาตัดแขน

มีคนพยายามทำอะไรอยู่อีกหลายคน กลุ่มเล็กๆ ที่ผมรู้จัก แม้กระทั่งในทางการเมืองเองก็มี อย่างเช่น สมมุติเราสามารถทำให้ ส.ส. ทุกฝ่ายทุกพรรคลองคิดสักนิดว่าในฐานะเป็นฝ่ายการเมือง ทำอย่างไรจะช่วยให้สังคมรอด ไม่ต้องมาฆ่ากันตาย หรือช่วยให้รอดโดยมีอนาคตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นตัวปัญหา พรรคจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ทำ บางพรรคอาจจะทำก็ได้ แต่ถ้ายึดแบบเดิมก็แก้อะไรไม่ได้

ผมคิดว่าถ้ามองโลกในแง่ดีที่สุดคือ คุณูปการของพันธมิตรฯ อาจเป็นการนำเสนอว่าสังคมไทยมีปัญหาทางการเมืองอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องทำโดยคิดถึงการสร้างสังคมการเมืองในบางลักษณะ อันตรายของพันธมิตรฯ คืออาจจะพาสังคมถอยกลับ แทนที่จะไปสู่สังคมที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเสมอหน้ากัน สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์มีกันอยู่เต็มที่ตามสมควร เคารพคนอื่นแม้เห็นต่างกัน ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไป มีทั้งดีและเสีย สังคมไทยก็ต้องแย่งชิงเพื่อจะบอกว่าเราอยากไปทางไหน พันธมิตรฯ อาจจะคิดทุกวันว่าอยู่ในสถานการณ์สู้รบ ปัญหาคือการสู้รบทุกชนิดมันมีวันยุติ ยุติแล้วอย่างไร อะไรคือสังคมไทยชนิดที่พันธมิตรฯ มองเห็น ในสถานะที่มีคนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ไม่น้อยและมีคนเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ มากเช่นกัน ทำอย่างไร ของพวกนี้คือโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกันดู สันติวิธีพยายามให้เห็นของเหล่านี้

ถ้ามีคนตั้งให้อาจารย์เป็นคนกลางหรือมีอำนาจ อาจารย์จะทำอะไรเพื่อยุติปัญหา
อย่างแรกคือปลดอาวุธทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันที่ ๒ คือไม่ไปจำกัดสิทธิการนำเสนอข่าวสารของเขา แต่จะต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง อย่างเช่นในเยอรมนีมีกฎหมายห้ามออกแถลงการณ์หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ใช่มนุษย์ หรือเป็นอะไรบางอย่างที่แสดงความเกลียดชัง ขณะเดียวกันทำอย่างไรให้สื่อขณะนี้ ทั้ง ASTV และ NBT ทั้งสองฝ่ายเปิดพื้นที่ของตัวเองให้มีข่าวสารอื่นๆ บ้าง อาทิ ASTV ไปถ่ายทอดสื่ออื่น มีถ่ายทอดสัมมนาบางเวทีมาให้คนใน ASTV ดู เพราะตอนนี้คนจำนวนมากไม่เห็นคุณค่าของสื่ออื่นๆ แล้ว คนบางกลุ่มรับข่าวสารช่องเดียว อย่าง NBT มีคนบอกเลยว่าถ้าไม่มีรายการของสามเกลอหัวแข็งนี่จะไม่มีอะไรเลย ถ้าหายไปคนรอฟังอย่างเดียว ไม่ดูอย่างอื่นแล้ว แบบนี้ไม่ไหว ต้องแทรกข่าวสารอื่นๆ เข้าไป หรือวิทยุก็เช่นกัน มีวิทยุหลายสถานี บางสถานีตั้งใจเล่นงานพันธมิตรฯ ในขณะที่ ASTV ของพันธมิตรฯ ก็เล่นงานรัฐบาลกับ นปช. ทุกวัน กระทั่งการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ การใช้มือตบไล่ คนไปไหนก็ไปไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจ เพราะถ้าพูดจากมุมสันติวิธี ถามว่าการใช้มือตบไล่คนเป็นการแสดงออกแบบสันติวิธีไหม คงต้องตอบว่า ก็เป็น แต่ถามว่าควรไหม ผมมองว่ามันเกินไป ถามว่าอะไรกำหนดว่าเกินไปหรือไม่ ผมคิดว่ามนุษย์เรามีหลายสถานะอยู่ในตัว บางสถานะเป็นรัฐมนตรี แต่บางสถานะก็คือคนธรรมดา กินข้าวกับเมียแล้วไปไล่เขานี่ มันย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคนพอสมควร คนที่จะใช้สันติวิธีแบบนี้ก็ต้องคิดด้วยว่าสิ่งที่ทำนั้นทำอะไร ในที่สุดใช้ไปจะเป็นการลุอำนาจ คนก็กลัวเดินออก แล้วสิ่งที่เกิดไม่ใช่แค่กลัว พอกลัวแล้วก็เกิดความไม่มั่นใจ อ่อนแอ จุดหนึ่งจะโต้ตอบด้วยความรุนแรงตามมาถ้ามีโอกาสผมก็อยากอธิบายของเหล่านี้ ปลดอาวุธก็ต้องปลด ไม้กอล์ฟก็ต้องปลด ธงปลายแหลม หนังสติ๊ก มีดดาบ ไม่ต้องพูดถึงปืนผาหน้าไม้ทั้งหลายด้วย เอาออกทั้งคู่ เหลือแต่มือตบตีนตบ คืนอย่างอื่นให้หมด

มีอีกหลายอย่างที่น่าทำ หน่วยงานหรือสถาบันที่จะต้องเป็นกลาง ที่จะทำกับทุกฝ่ายเสมอหน้ากัน เช่น ตำรวจ ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำ จะปราบหรืออะไรโดยไม่ใช้กำลังก็ต้องทำลักษณะเดียวกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้ากัน ถ้าไม่ทำ ต่อไปความศรัทธาความเห็นดีเห็นงามกับของพวกนี้จะลดลง มันเป็นต้นทุนที่สูงมาก ผมไม่รู้ว่าสังคมไทยจะรับไหวหรือไม่

เหตุการณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้กับเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯ เหมือนหรือ
ต่างกันอย่างไร

น่าสนใจ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในนครหลวงน่าจะทำให้เราเห็นบ้างไหมว่าเหตุการณ์ในภาคใต้เป็นอย่างไร อยากให้คนในสังคมไทยเห็น คนที่ผ่านเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาอาจตระหนักได้ว่าคนภาคใต้อึดอัด ทั้งเหตุที่เกิด สิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้า ทั้งวิธีการที่แต่ละฝ่ายบอกว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ “ความจริง” ซึ่งน่าสนใจ ขนาดที่เหตุการณ์เกิดต่อหน้าต่อตาคนกรุงเทพฯ มีกล้องถ่ายภาพเต็มไปหมด แล้วเวลาเกิดความรุนแรงในภาคใต้ทำไมเราแน่ใจนักว่าอะไรคือความจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีใครแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เราควรจะตั้งข้อสงสัยกับคำถามว่า เวลาเกิดความรุนแรงขึ้น “ความจริง” จะเป็นอย่างไร

มีคำกล่าวว่า ในยามสงคราม ความจริงคือเหยื่อรายแรก ในความรุนแรง ความจริงก็เป็นเหยื่อรายแรก ถ้าเอามามองสถานการณ์ในภาคใต้ก็เป็นสถานการณ์ใกล้สงคราม คุณจะหวังและเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณได้ยินจากฝ่ายหนึ่งคือความจริง คุณจะไปเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดเป็นอย่างไร คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าทุกครั้งที่มีการตายการเจ็บการฆ่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือฝ่ายผู้ก่อการร้ายคนไหน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่โดนยิงขณะขี่มอเตอร์ไซค์อาจจะไม่ได้โดนผู้ก่อการร้ายยิง แต่อาจจะโดนยิงด้วยเรื่องชู้สาว ดังนั้นการตั้งคำถามกับความจริงจึงยาก เพราะสื่อที่ใช้ ภาพที่เห็น มันสามารถเอามาแสดงให้เห็นทั้งสองฝ่าย แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือน้องโบว์ (น.ส. อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ) ตายจริง มีคนตายจริง แต่สิ่งที่ถูกจัดวางโดยฝ่ายต่างๆ ไม่ได้มุ่งทำความจริงให้ปรากฏ บางทีความจริงนั้นกลัวว่าจะไปโทษใคร อันตรายกับใคร ก็ไปซ่อนตามที่ต่างๆ คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ข้อเท็จจริงมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมสูงมาก ถ้าคุณเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ อันที่ต่างไปจะผิดหมด

สิ่งที่เป็นบทเรียนจากสถานการณ์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ก็คือ ปัญหานี้เป็นปัญหาการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง ทหารที่ลงมาทำงานส่วนหนึ่งผมว่าเขาก็ตระหนักกับปัญหานี้ เขาก็พยายามใช้หนทางทางการเมืองตามสมควรทั้งที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ปัญหาความขัดแย้งในการเมืองระดับชาติชัดเจนกว่ามาก แต่เหมือนกับคนในสังคมไม่อยากจะแก้ด้วยการเมืองสักเท่าไร ประเดี๋ยวก็เรียกร้องหารัฐประหาร เดี๋ยวก็ประกาศตัดสินใจใช้อาวุธห้ำหั่นกัน ทำไมไม่ตระหนักเสียทีว่าการตอบโต้ด้วยความรุนแรงรังแต่จะทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยิ่งยากมากขึ้น เพราะความรุนแรงไม่ใช่ยารักษา แต่เป็นอีกโรคหนึ่งที่โถมทับลงมาบนโรคเดิม และยังจะทำให้โรคเดิมแก้ยากขึ้น แถมจะทำให้มีผลระยะยาวต่อไปในอนาคต ถ้ามองว่าตอนนี้มีแต่ความแตกแยก นึกหรือว่าความรุนแรงจะมาแก้เรื่องความแตกแยกได้ ไม่ว่าจะรูปใดก็จะยิ่งทำให้ความแตกแยกลึกลงไปอีก ถ้ามีกำลังมากอาจจะปิดปากคนได้ชั่วคราว แต่ความแตกแยกไม่ได้หายไปเพียงเพราะเขาไม่พูด มันรวมไปอยู่ในเลือดในวิญญาณของเขา จะเอาอย่างไรกับอนาคต ในสังคมไทยที่มีภาคส่วนและความแตกต่างขัดแย้งกันมากมายขนาดนี้