เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

หัวเราะ และน้ำตาใน ทุ่งกุลาร้องไห้

ทุ่งกุลาอยู่ตรงไหน

ทุ่งกุลาร้องไห้

อาจเป็นความหดหู่ คลุมเครือ ลึกลับ ในความรู้สึกของคนที่ได้ยินชื่อ หรือแม้กระทั่งคนในท้องถิ่นเอง

"ทุ่งกุลาอยู่ตรงไหน ?" นักเขียนถามเจ้าถิ่นเมื่อมายืนอยู่ในทุ่งกุลาแล้ว

พระหนุ่มที่วัดแสนสีตอบ "ใจกลางของมันอยู่ที่สระสี่เหลี่ยม"

"ผมว่าน่าจะอยู่แถวลำพลับพลา" เป็นคำตอบของอดีตนายฮ้อยเมืองสุวรรณภูมิ

"อยู่นี่แหละ โน่นไงกองขี้นกอินทรีหลังบ้านผมน่ะ" พ่อใหญ่เจ้าของร้านชำข้างโรงเรียนบ้านโพนครกน้อยบุ้ยหน้าไปทางหลังบ้าน

"แล้วอาณาเขตของมันกินคลุมไปถึงไหนครับ ?"

"โคราชโน่นแหละ" พ่อใหญ่วาดมือไปทางตะวันตก ตรงกับที่พ่อใหญ่จากหมู่บ้านหว่านไฟ ร้อยเอ็ด เคยบอกนักเขียนว่า หางทุ่งกุลากินคลุมไปถึงตลาดแค นครราชสีมา

"ทิศเหนือก็จดขอนแก่น สารคาม ทิศตะวันออกก็บ่อพันขัน ราษีไศล ทิศใต้ก็สตึก บุรีรัมย์"

แผนที่จากปากคำพ่อใหญ่เจ้าของร้านชำตรงตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของที่ราบสูงอีสานที่นักเขียนเคยอ่านมา บางตำราวิชาการทางธรณีวิทยาบอกว่า ดินแดนแถบนี้ประกอบขึ้นจากแอ่งแผ่นดิน ๒ แอ่งใหญ่ คือแอ่งสกลนครทางอีสานเหนือกับแอ่งโคราชในเขตอีสานใต้ อันเป็นที่ราบกว้างใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ตอนใต้ของจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี กับทางตอนบนของบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ในเขตลุ่มน้ำมูนซึ่งยามหน้าฝนจะมีน้ำเอ่อล้นฝั่งแทบทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ ยาวไปตามลำน้ำซึ่งไม่เอื้อให้น้ำระบายออกไปอย่างรวดเร็ว ครั้นเข้าหน้าแล้งน้ำระเหยแห้งกลายเป็นทุ่งโล่ง ดินกร่อยทำการเพาะปลูกไม่ได้ เป็นทุ่งร้างที่มีแต่พงหญ้าและไม้พุ่มขนาดเล็กขึ้นประปราย คั่นแบ่งแอ่งราบกว้างใหญ่ออกเป็นท้องทุ่งย่อย ๆ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า ทุ่งสำริด ทุ่งปู่ป๋าหลาน ทุ่งหมาหลง ทุ่งหลวง ทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งราษีไศล