ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

ประมวล 12 ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี 2564 ถึงปี 2565

จากหมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยในผืนป่ามรดกโลก ถึงการประชุมโลกร้อน COP26 ที่สหราชอาณาจักร

จากพื้นที่สงวณชีวมณฑลดอยเชียงดาว ถึงผืนป่าอนุรักษ์จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ที่ตั้งโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำหลักและสร้างเขื่อน

จากข้อเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนและยุติการนำเข้าเศษพลาสติก สู่ข้อสงสัย ความกำกวม หากไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP

จากผลตัดสิน “คดีเสือดำ” ถึงคำยกฟ้องกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 สารเคมีเกษตร

ถัดจากนี้ คือประมวล 12 ข่าวสิ่งแวดล้อมน่าสนใจในรอบปี 2564 ที่คงต้องเฝ้าติดตามถึงปี 2565

2021envnews01

(1)

หมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยในมรดกโลกแก่งกระจาน

มกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยร่วมแปดสิบคนเดินเท้าจากหมู่บ้านบางกลอยล่างกลับขึ้นไปยังบางกลอยบนและใจแผ่นดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนและเตรียมปักหลักอาศัย พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใกล้ชายแดนพม่า แม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าต้องการกลับไปใช้ชีวิตในที่ดินผืนเดิมของบรรพบุรุษ แต่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลด้านความเปราะบางของพื้นที่อนุรักษ์และความมั่นคง นำตัวทุกคนลงมา

คำถามเรื่อง “คนอยู่กับป่า” ถูกตะโกนออกมาดังๆ ในสังคมไทย เกิดข้อถกเถียงเรื่องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ แนวทางอนุรักษ์แบบ “ป่าปลอดคน” บนโลกออนไลน์มีแอชเทค #ชาติพันธุ์ก็คือคน #saveบางกลอย ขึ้นเทรนต์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และมี #saveแก่งกระจาน เพื่อรักษาป่า

กลางปี 2564 ที่ประชุมยูเนสโกลงมติให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ท่ามกลางข้อสงสัยเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน คำครหา “มรดกโลก มรดกจีน” จากท่าทีของประธานการลงมติและประเทศเจ้าภาพและ เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับการ “ล็อบบี้” คำครหา “มรดกโลก มรดกเลือด” จากการดำเนินคดีชาวบ้าน ความตายของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้นำชาวกะเหรี่ยง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ผ่านมาแล้วหลายปีก็ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews02
(ภาพ : 123rf)

(2)

โควิด19กับวิกฤติสิ่งแวดล้อม

เข้าสู่ปีที่สามการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ โรคโควิด-19 เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน เมืองถูกล็อคดาวน์จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อัตราว่างงานของประชากรเพิ่มขึ้น

ทุกครั้งที่มีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดจะทุเลา เรามักจะได้ยินหน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลายประเทศมีแนวทางที่น่าสนใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ อินเดียประกาศสร้างงานฟื้นฟูป่าทั้งในเขตชุมชน ชานเมือง ในเมือง ไอซ์แลนด์อาศัยมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยการฟื้นฟูคุณภาพดินและป่าต้นเบิร์ช

โควิด-19 นำพาพลเมืองโลกมาอยู่บนทางเลือกว่าจะออกแบบเศรษฐกิจใหม่อย่างไรในอนาคต นิว นอร์มอล (new normal) หรือชีวิตวิถีใหม่ ที่เกิดขึ้นในยุคโควิดและหลังพ้นโควิดจะเป็นอย่างไร เราจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ระยะยาว หรือจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิธีถลุงใช้ทรัพยากรอย่างไม่ลืมหูลืมตาเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งเป็นผลประโยชน์ระยะสั้น สำหรับประเทศไทยนั้น อีกไม่นานเราคงพอจะมองเห็นคำตอบ

2021envnews03
(ภาพ : 123rf)

(3)

สุขหรือทุกข์กับ CPTPP

ภาครัฐยืนยันหนักแน่นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับหากเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เพิ่มการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และถือโอกาสพัฒนากฎหมายด้านสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม แต่ภาคประชาสังคมกลับเห็นเป็นตรงกันข้าม ด้วยมองเห็นผลกระทบเชิงลบที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การเปิดทางให้ “โจรสลัดชีวภาพ” จากต่างประเทศเข้ามาแสวงประโยชน์จากพันธุ์พืชท้องถิ่น การริดรอนสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป การบีบให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods) โดยเฉพาะเครื่องมือทางการแพทย์ ขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุน แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนก็ตาม นอกจากนี้ยังรวมถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาจากการพึ่งพายานำเข้า

ในภาพรวมแล้วข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ CPTPP คือการขยายปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดมากขึ้นในสังคมไทยที่ภาครัฐต้องไตร่ตรองให้รอบคอบที่สุด

2021envnews04
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(4)

โรงงานหมิงตี้ผู้ผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกระเบิด

ตลอดปี 2564 มีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่เหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเกิดขึ้นกับโรงงานหมิงตี้ย่านกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกซึ่งใช้สารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นหลักในกระบวนการผลิต ตั้งอยู่ติดชุมชน และอยู่ติดรอยต่อกรุงเทพมหานคร ผลจากแรงระเบิดทำให้ตัวโรงงานพังถล่ม อาคารบ้านเรือนโดยรอบได้รับความเสียหาย ในช่วงที่เกิดเหตุเพลิงไหม้กองเพลิงลุกสูงมองเห็นได้จากระยะไกลและเกิดกลุ่มควันดำทะมึนพวยพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า สารพิษหลายชนิดถูกปลดปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ เจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพออกจากพื้นที่

โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ติดชุมชนเป็นปัญหาคาราคาซัง และเป็นดั่งระเบิดเวลา เผยให้เห็นจุดอ่อนด้านผังเมืองของประเทศไทย และการขาดกลไกทางกฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ระเบียบว่าด้วยทําเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ที่จะช่วยให้ประชาชนรู้ตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนของสารมลพิษ ของอันเป็นกฎหมายที่หลายประเทศทั่วโลกใช้

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews05
(ภาพ : 123rf)

(5)

เรียกร้องทบทวนนโยบายและยุตินำเข้าขยะพลาสติก

คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ พิจารณา “กลับมติ” ที่เคยกำหนดว่าจะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2563

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 108 องค์กร อาทิ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า มูลนิธิบูรณนิเวศ ชี้ว่าเป็นการโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของกลุ่มธุรกิจนำเข้าเศษพลาสติกและอุตสาหกรรมรีไซเคิล ที่ต้องการให้ขยายการนำเข้าเศษพลาสติกไปถึงปี 2569 นอกจากนี้ยังเปิดช่องว่างด้วยการผ่านกฎหมายศุลกากรที่เอื้อให้นานาชาติส่งเศษพลาสติกมารีไซเคิลในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ปัญหามลพิษจากพลาสติกและอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา

การเปิดให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกยังย้อนแย้งสวนทางกับนโยบายอนุรักษ์ภายในประเทศที่รณรงค์ให้ผู้คนลดใช้พลาสติก เพราะแม้จะพยายามลดใช้หรือใช้ซ้ำ ก็ต้องเผชิญกับมลพิษจากเศษพลาสติกปริมาณมหาศาลที่นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดปัญหาราคาขยะตกต่ำ กระทบการทำงานของกลุ่มซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งถือเป็นการทำลายเศรษฐกิจฐานราก และทำลายอาชีพของประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่ประชาชนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะในสังคมไทยมาโดยตลอด

2021envnews06
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(6)

โปรเจคเจ็ดหมื่นล้านผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำหลัก

โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังเขื่อนภูมิพล ที่มีขอบอ่างเก็บน้ำกว้างถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอภิมหาโครงการที่ถูกคิดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ก่อนหน้านี้ผู้รับผิดชอบ คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน เคยมีการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) แนวส่งน้ำอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวม ก่อนที่โครงการจะถูกพับเก็บเนื่องจากไม่คุ้มค่า ไม่มีงบประมาณ และไม่มีความไม่เหมาะสมหลายด้าน

หลังโครงการถูกพับเก็บมานาน เมกกะโปรเจคมูลค่ามากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทก็ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หากแต่คราวนี้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โครงการผันน้ำยวมมีข้อกังวลที่สังคมเฝ้าจับตาหลายข้อ อาทิ ความพร่องของรายงานอีไอเอ จนเกิดการตั้ง “ชื่อเล่น” หรือ “ชื่อเฉพาะ” ให้ว่า #อีไอเอร้านลาบเนื่องจากมีการนำภาพการกินอาหารภายในร้านลาบไปอ้างอิงในรายงาน #อีไอเอถมดำ จากการคาดแถบสีดำลงไปในตัวรายงานที่ภาคประชาชนยื่นเรื่องขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับผลประโยชน์จากแหล่งทุนจีนที่มีข่าวว่าจะเข้ามาพัฒนาโครงการ การสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งบนแม่น้ำสาละวินเพื่อเก็บกักและผันน้ำต่อๆ กันเป็นลูกโซ่ ในกรณีที่น้ำในแม่น้ำยวมไม่เพียงพอ

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews07
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(7)

ดอยเชียงดาวได้รับสถานะพื้นที่สงวนชีวมณฑล

วันที่ 15 กันยายน 2564 คณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme : MAB-ICC) ขององค์กรยูเนสโก ลงมติรับรองให้ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ในชื่อ “พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว” (Doi chiang dao biosphere reserve) นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ ๕ ของประเทศไทย ต่อจากสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา (2519) แม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ (2520) ป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง (2520) และป่าชายเลน จังหวัดระนอง (2540)

ทุกวันนี้ทั่วโลกมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลแล้วทั้งสิ้น 727 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 131 ประเทศ โดยมี 22 แห่งตั้งอยู่บนพื้นที่ข้ามพรมแดน

แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากนักเมื่อเทียบกับมรดกโลก หรือแรมซาร์ไซด์ แต่คุณลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครของพื้นที่สงวชีวมณฑลเชียงดาวคือการแสดงให้เห็นถึงสถานะการเป็นพื้นที่เฉพาะที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วยเขตแกนกลาง (core area) เขตกันชน (buffer zone) และเขตรอบนอก (transition zone)สิ่งสำคัญคือต้องปรากฎกิจกรรมของมนุษย์อยู่ในพื้นที่

2021envnews08
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(8)

ยุคเฟื่องฟูของโครงการเขื่อนรุกป่า

การเกิดขึ้นของโครงการเขื่อนในป่าจำนวนมากผิดปรกติทำให้เกิดคำถามถึงความจริงใจในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้เพื่อคนไทยทั้งชาติของหน่วยงานอนุรักษ์หลายหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลายกรณีที่หน่วยงานรัฐที่ควรทำหน้าที่อนุรักษ์ป่าไม้ไม่ออกมาปกป้องผืนป่าอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับผลักภาระให้ไปประชาชน ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ

นั่นรวมถึงการปล่อยให้รายงานอีไอเอที่น่าจะนำมาใช้พิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นตรายางประทับให้โครงการผ่านอย่างน่าตั้งข้อสงสัย

รอบปีที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะยื่นเรื่องนำเสนอเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าจนได้รับรางวัลจากต่างประเทศทั้งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล แต่สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยแท้จริงอยู่ในขั้นน่าวิตก เพราะหน่วยงานรัฐเองที่เดินหน้าผลักดันโครงการในพื้นที่ป่า ทั้งเขื่อน เหมือง ถนน แม้แต่ในผืนป่ามรดกโลกเองก็ตาม
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สืบค้นข้อมูลจาก “โครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ” พบว่าปัจจุบันมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 76 แล้วยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในป่าอนุรักษ์แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนงานดังกล่าวอีกมาก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ฯลฯ

ข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ 2562-2563 โดยกรมป่าไม้ฉบับล่าสุดระบุว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงกว่า 130,000 ไร่

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews09
(ภาพ : 123rf)

(9)

การประชุมโลกร้อน COP26ที่กลาสโกว์ โอกาสและข้อจำกัด

การประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาด้านสภาพอากาศ หรือ COP (conference of the parties) ครั้งที่ ๒๖ เลื่อนมาจากปีก่อนหน้าเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เจ้าภาพ คือ สหราชอาณาจักร จัดการประชุมกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์

เวที COP เป็นการประชุมของฝ่ายต่างๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายครั้งที่ผ่านมา กระบวนการต่อรองที่ยุ่งยากซับซ้อน เนื้อหาการประชุมที่ยังมีลักษณะเป็นการเจรจาต่อร่องทางการเมือง คำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ เงื่อนไขการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากกว่าจะเจรจาเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงใจ ทำให้ผลลัพธ์การพูดคุยที่ดีที่สุดยังไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าการจะให้ประเทศต่างๆ มากถึง ๑๙๖ ประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่ใช่เรื่องง่าย 

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตถึงท่าที และสิ่งที่อาจตามมาหลังประเทศไทยไม่ร่วมลงนามในแถลงการณ์สำคัญในเวที COP26 อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ หนึ่ง แถลงการณ์กลาสโกว์ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ (Glasgow Leaders Declaration on Forest and Land Use) เพื่อยุติการทำลายป่าไม้ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยที่ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาด้านการเผาทำลายป่าเพื่อปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของประเทศไทยยังมีส่วนทำให้เกิดการเผาทำลายป่าไม้เพื่อปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับประเทศไทยยังคงแสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาร่วมกับประชาคมโลกอย่างจริงจังใน COP26 โดยประกาศเป้าหมายหลักว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

สอง แถลงการณ์ด้านก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับปีฐาน 2563 ในประเทศไทย การทำนาข้าวเป็นต้นตอสำคัญของการปล่อยก๊าซมีเทน รวมถึงการใช้น้ำจำนวนมาก แม้ว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรตจะมีแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถลดใช้น้ำและลดการปล่อยก๊าซมีเทน แต่ประเทศไทยยังไม่นำมาประยุกต์ใช้เนื่องจากขาดการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงทุนทรัพย์

สาม ความร่วมมือลดใช้และยุติการลงทุนในพลังงานถ่านหิน สาเหตุลึกๆ ที่ไม่ร่วมลงนามอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากถึงประมาณ 27 แห่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่งอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 แห่งที่ลำปาง และกลุ่มทุนพลังงานของไทยยังมีธุรกิจพลังงานถ่านหิน และเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายแห่งในต่างประเทศ การไม่ร่วมลงนามในแถลงการณ์หรือพันธะสัญญาต่างๆ ข้างต้นจนอาจทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพล้าหลังด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews10
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(10)

การกลับมาของ “จะนะรักษ์ถิ่น” ทวงสัญญา SEA

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นเมกกะโปรเจคที่บริษัทเอกชนร่วมกับรัฐบาลภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คือ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่โครงการนี้ถูกทักท้วงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะบทบาทของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่งคง ผลประโยชน์ทับซ้อนจากการกว้านซื้อที่ดินและเปลี่ยนสีผังเมืองที่มีนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง

ปลายปีก่อน (พ.ศ.2563) ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนำโดยชุมชนประมงพื้นบ้านในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จากตำบลสะกอม ตลิ่งชัน นาทับ เคยมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาโครงการให้ถี่ถ้วนรอบด้าน ไม่ต้องเร่งรัดโครงการ จนเกิดการลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ที่มีเนื้อหาสำคัญคือรัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA บนฐานทรัพยากร ศักยภาพของระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจทั่วทั้งพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยคณะผู้ศึกษาต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปหนึ่งปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะผลักดันให้เกิดการทำ SEA ขึ้นจริง ในทางตรงข้ามกลับมีการเร่งรัดจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA หลายฉบับเพื่อขับเคลื่อนโครงการ จนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นต้องกลับมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อทวงคำสัญญา แม้จะถูกสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถูกแจ้งข้อหา แต่ชาวบ้านยังคงปักหลักที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย แล้วกลับมาชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

กระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีจึงลงมติให้หน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รอผลการทำ SEA ให้เป็นที่ยุติก่อนดำเนินโครงการต่อ

อ่านเพิ่มเติม

นิคมฯ เจ้าปัญหากับคำสัญญาอันว่างเปล่าhttps://www.sarakadee.com/2021/12/14/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/

ย้อนฟังเสียงจะนะรักษ์ถิ่น เชิงสะพานชมัยมรุเชฐhttps://www.sarakadee.com/2021/12/09/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99/

2021envnews11
(ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

(11)

ศาลฎีกาพิพากษาคดีล่าเสือดำจำคุกปรับเงิน เปรมชัยและพวก

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา “คดีล่าเสือดำ” หรือ คดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 หรือผ่านมาแล้วเกือบสี่ปี

คดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ร้อง ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยมี เปรมชัย กรรณสูต [อดีตประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)] เป็นจำเลยที่ 1 ยงค์ โดดเครือ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 นที เรียมแสน (แม่บ้าน) จำเลยที่ 3 และธานี ทุมมาส (พราน) จำเลยที่ 4

การพิจารณาคดีผ่านกระบวนการมาตามลำดับ ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกา สังคมต่างจับตาว่าผลการตัดสินจะออกมาเช่นไร

เมื่อถึงวันอ่านคำพิพากษา ได้เกิดความสับสนเกี่ยวกับผลการตัดสิน โดยมีการอ้างถึงการยกเลิก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อันเป็นกฎหมายฉบับเก่า บังคับใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อันเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ที่ตีความได้ว่าอาจส่งผลให้จำเลยทั้งสี่พ้นจากความผิดตาม มาตรา 55 (ฐานมีซากสัตว์) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ของกฎหมายฉบับเก่า อันจะทำให้จำเลยได้รับการลดโทษจำคุกลงคนละ 8 เดือน

อย่างไรก็ตาม กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่ผลคำพิพากษา ลงโทษจำเลยทั้งสี่เทียบเท่าผลการตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ ดังนี้

  • จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 2 ปี 14 เดือน
  • จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี 17 เดือน
  • จำคุกจำเลยที่ 3 กำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท โดยรอการลงโทษหรือรอลงอาญา 2 ปี หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
  • และจำคุกจำเลยที่ 4 กำหนด 2 ปี 21 เดือน

พร้อมให้ทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านบาทและดอกเบี้ยแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อ่านเพิ่มเติม

2021envnews12
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

(12)

ยกฟ้องคดี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรณีเคลื่อนไหวแบน 3 สารเคมีเกษตร

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ฟ้อง วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

การฟ้องร้องเกิดขึ้นหลังเพจ BIOTHAI นำภาพของสมาคมดังกล่าวมาขีดฆ่าเพื่อให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าการใช้ฉลากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสีน้ำเงินไม่ได้หมายความว่าสารพิษนั้นอันตรายน้อยแต่ประการใด เพราะการใช้สีฉลากของสารเคมีระบุถึงพิษเฉียบแบบพลัน ไม่ได้ระบุถึงความเสี่ยงอื่นๆ เช่น การก่อมะเร็ง หรือการก่อกลายพันธุ์ วิฑูรย์ยังถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท หลังให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า มีสมาคมวิชาการที่ต่อต้านการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง มีอดีตนายกสมาคม และมีกรรมการบางชุดทำงานกับบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากบรรษัทสารเคมีข้ามชาติ

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง หลังพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่เขาโพสต์เรื่องความอันตรายของสารเคมี เป็นความเห็นทางวิชาการที่มีจุดหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนที่ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ได้มีการพาดพิงเป็นการส่วนตัว โดยสรุปแล้วไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและไม่เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พรบ.คอมพิวเตอร์

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และ BIOTHAI เป็นผู้นำรณรงค์ให้ประเทศไทยแบนสารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ถือเป็นคนแรกในเครือข่ายผู้รณรงค์ที่ถูกฟ้องร้อง และเป็นครั้งแรกที่เจ้าตัวที่ถูกฟ้องคดี

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกประกาศแบนสารเคมีทางการเกษตรที่มีฤทธิ์ร้ายแรง ที่สหรัฐอเมริกามีกรณีผู้เสียหายจากไกลโฟเซตฟ้องบริษัท ทางบริษัทต้องไกล่เกลี่ยคดี ด้วยเงิน ๒ แสนกว่าล้านบาท

การถูกฟ้องครั้งนี้ทำให้ภาพนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของวิฑูรย์ปรากฎชัด เพราะสิ่งที่ทำเป็นการนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่การขมขู่ คุกคาม นักปกป้องสิทธิ สิ่งแวดล้อม ทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมาย อาทิ การทำร้ายร่างกาย เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก นักวิชาการจากหลายองค์กรให้ความเห็นว่ากรณีวิฑูรย์อาจเข้าข่ายฟ้องกลั่นแกล้ง ฟ้องปิดปาก หรือ SLAPPs (Strategic Lawsuits Against Public Participation) การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณชน เพื่อให้หยุดการวิจารณ์ในประเด็นสาธารณะด้วยการทำให้กลัว ทำให้สูญเสียทรัพยากร

จึงมีข้อเรียกร้องและตั้งความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมในอนาคตจะสามารถคุ้มครองนักวิชาการ ประชาชนในท้องถิ่น และผู้ที่ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ลุกขึ้นมาเปิดเผยความจริง จะไม่ถูกกลั่นแกล้ง หรือฟ้องร้องเพื่อปิดปาก