เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

batman01

นี่อาจเป็นอีกมุมหนึ่งของ “แบตแมน” ที่คุณคาดไม่ถึง

เขาไม่ใช่ลูกเศรษฐี ไม่ได้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โตแถบกอตแทมซิตี แต่อยู่ในแฟลตดินแดงกลางกรุงเทพฯ เขาขับมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้ใช้รถไฮเทค ชอบกินลาบเพราะเป็นลูกอีสานแท้ มีหนี้ที่ต้องจ่าย มีลูกที่ต้องส่งเสีย มีภาระร้อยแปดพันประการที่ต้องรับผิดชอบ

ที่สำคัญ “แบตแมน” เป็นเพียงหนึ่งในร่างจำแลงไม่ต่ำกว่า ๕ แบบของเขา

ตรุษสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ ระหว่างกรุงเทพฯ ตกอยู่ในภาวะจลาจล เขาปรากฏตัวในฐานะซูเปอร์ฮีโร่ “แบตแมน”ผู้กู้วิกฤตรถแก๊สที่ถูกจอดทิ้งไว้หน้าแฟลตดินแดงพร้อมกับมีแก๊สรั่วออกมา ท่ามกลางความหวาดกลัวของผู้อยู่อาศัยแถบนั้นว่า หากเกิดประกายไฟขึ้นมันจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองทันที

“ผมทำโดยอัตโนมัติ” เขาเอ่ยถึงสถานการณ์ที่ว่า

เช้าวันนั้น พิจิต เชื้อแก้ว เซลส์แมนขาย Talking Dictionary เพิ่งขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งแฟนที่ทำงานแถวสยาม ก่อนจะกลับมาพบว่าใกล้เคหสถานของตนกลายเป็นจุดที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงปักหลักปิดถนน โดยที่ทหารระดมกำลังมาเคลียร์พื้นที่และเตรียมสลายการชุมนุมท่ามกลางอากาศร้อนระอุ

“ตอนนั้นทหารกับชาวบ้านตะโกนด่ากัน คือในแฟลตดินแดงมีทั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ที่ผ่านมาคนแฟลต ๑ เปิดเอเอสทีวีเสียงดัง คนแฟลต ๒ เปิดดี-สเตชันเสียงดัง เดินผ่านก็บ่นกันไป อยู่กันมา แบบนี้ ไม่มีปัญหาอะไรจนทหารสลายการชุมนุมเข้ามาไล่คนใต้ถุนตึกให้ขึ้นห้อง ผมแง้มหน้าต่างถ่ายวิดีโออยู่ พอดีพี่ที่รู้จักกันบอกให้เราสวมชุดลงไปลุยเลย”

batman02

ถึงตรงนี้พิจิตเท้าความว่าเขามีชุดแฟนซีในครอบครองหลายแบบ ทั้งแบตแมน สไปเดอร์แมน ชุดนักรบโบราณ ฯลฯ โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “ป.เป็ด” ปริญญา สุขชิต นักเชียร์ฟุตบอลทีมชาติมืออาชีพผู้ที่แฟนบอลพันธุ์แท้ทราบดีว่าเขามักแต่งชุดแฟนซีมาเชียร์ทีมชาติไทย

แน่นอน พิจิตคลั่งไคล้ฟุตบอลดุจกัน ทว่าทีมชาติมิได้มีแข่งทุกวัน ชุดแฟนซีจึงถูกใช้ประโยชน์ด้วยการสวมใส่ไปร่วมวิ่งมาราธอนหลายรายการ และครั้งหนึ่งความรักกีฬาก็พาเขาไปไกลถึงยุโรป โดยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในตัวแทนคนไทยวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาว ณ เมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี

“วันนั้นผมเลือกใส่ชุดแบตแมนเพราะสีมันไม่เหลืองไม่แดง แล้วก็ลงไปถ่ายวิดีโอตรงแถวทหาร เขาก็ฮือฮากัน บางคนก็ยิ้ม ผมบอก “พี่น้อง ร้อนก็ร้อน คลายเครียดกันหน่อย เฮ้ !” จนทหารนายหนึ่งมาจดชื่อแล้วไล่เราเพราะเขาไม่สนุกด้วย ผมเลยกลับมาที่ใต้ถุนแฟลต ตอนนั้นรถแก๊สซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ เจตนาแอบแฝงมาจอดหน้าแฟลตก็มีแก๊สรั่วออกมา รถน้ำฉีดน้ำ น้ำก็หมด ชาวบ้านก็พยายามบอกทหารให้เอารถคันนี้ออกไป จะเอาคนในแฟลตเป็นตัวประกันได้ยังไง ผมจำได้ว่าช่วงนั้นมีระเบิดปิงปองตกแถวนั้น ๒-๓ ลูก แล้วยังมีการปะทะกันระหว่างคนในแฟลตกับเสื้อแดง มีการปาระเบิดขวดใส่กัน บุญแล้วที่ไม่ระเบิด ผมคิดอยากช่วยเลยวิ่งไปเกาะตัวรถ ให้เขาถ่ายรูปอย่างที่เห็นในทีวี โดยที่ไม่คิดว่านั่นเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชุมนุมกับทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่บริษัทสยามแก๊สที่มารอแก้ไขสถานการณ์ฉวยจังหวะขับรถคันนี้ออกไปได้”

เสี้ยววินาทีนั้น พิจิตกลายเป็นฮีโร่ และภาพของเขาได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

ถึงวันนี้ พิจิตไม่ได้มองการกระทำของตนว่าเป็นงานจิตอาสา ทว่าในความรู้สึกของเขา ณ เวลานั้นเพียงแค่อยากช่วยคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น

“ผมก็คนหาเช้ากินค่ำธรรมดา ดิ้นรนปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงครอบครัวเหมือนคนอื่น ตอนเป็นแบตแมนมันลืมทุกข์ พอถอดชุดออกก็ต้องกลับสู่โลกความจริง เฮ้ย ! ต้องไปจ่ายค่าไฟนี่หว่า (หัวเราะ) แบตแมนก็คนธรรมดา เดือนไหนหยุดเยอะ ทำโอทีน้อย แบตแมนก็อดเหมือนกัน ที่จริงแล้วใครๆ ก็ทำแบบนี้ได้ อาศัยลูกบ้า กล้าหน่อย หลังเหตุการณ์ก็มีทีวีบางช่องมีนิตยสารบางเล่มมาสัมภาษณ์ ส่วนในอนาคตผมจะทำแบบนี้อีกไหมเป็นอีกเรื่อง”

เราถามว่าวันนี้ความหวังของแบตแมนคืออะไร

“อยากให้คนไทยเลิกแบ่งสี เลือกตั้งแล้วก็รู้แพ้รู้ชนะ อีก ๔ ปีว่ากันใหม่ ไม่ใช่ไม่ยอมแพ้ มาเล่นกันนอกสภา ฝ่ายหนึ่งปิดสนามบิน ฝ่ายหนึ่งก่อจลาจล แบบนี้คงไม่มีใครได้อะไร ประเทศพัง คนรายได้น้อยอย่างผมโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

พิจิตยังการันตีว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ต่อให้มีอีกกี่สิบแบตแมนก็ไม่สามารถกู้วิกฤตได้

“ซูเปอร์ฮีโร่ก็คนธรรมดา และถ้าเมืองไทยแย่ แบตแมนอย่างผมก็แย่ไปด้วย”