ทีมสุขกันเถอะเรา
เรื่อง : พรภิรมย์ ปิยะศิรินานันทร์
ภาพ: ปฐมา เหนียนเฉลย

“พี่เป็นต้นเหตุให้สามีเสียชีวิต พี่เป็นคนโชคร้ายที่สุด”

คุณนิติดต่อเข้ามาทางอินบ๊อกซ์ของเพจเฟซบุ๊ก I SEE U เมื่อเสียสามีด้วยโรคโควิด-๑๙ เธอไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างไร

เธอเขียนเล่าว่า “สภาพจิตใจตอนนี้แย่มาก เรามีกันแค่สองคน ไม่มีลูก ไม่เคยเจอทุกข์หนักขนาดนี้ พอสูญเสียแล้วมันไปไม่ถูก รับไม่ไหว ไม่มีหลัก ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว มันเคว้งคว้าง ทั้งโดดเดี่ยว ทั้งเหงา สามีเสียชีวิต ๔ เดือนแล้ว ยังร้องไห้ทุกวัน”

!! เราได้รับมอบหมายให้ติดต่อคุณนิ เพื่อช่วยรับฟังความทุกข์ของเธอ !!

I SEE U เส้นทางความสุข
iseeyou1

จิตอาสา I SEE U

เราเป็นสมาชิกของกลุ่มจิตอาสา I SEE U Contemplative Care เรียกสั้น ๆ ว่า I SEE U ทุกคนที่เป็นสมาชิกจะผ่านการอบรม ๓ วัน ๒ คืน เพื่อเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การฟังอย่างลึกซึ้ง การภาวนา การเผชิญความตาย และอื่น ๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจผู้คน (ผู้ป่วย) มากขึ้น

เดือนกันยายน ๒๕๖๑ เราเข้าอบรมกับ I SEE U ที่ธรรมสถานว่องวานิช จังหวัดสมุทรปราการ ได้เจอเพื่อนมากมายหลากหลายวัย และกระตุกให้เรากลับมาสนใจมองดูตัวเองมากขึ้น เห็นว่าชีวิตคนเราไม่แน่นอน ความตายมาถึงได้ตลอดเวลา ไม่เคยคิดเลยว่าเราพร้อมจะตายหรือยัง ใช้ชีวิตอย่างประมาท กินเที่ยวอยู่ไปวัน ๆ จนถึงวัยใกล้เกษียณ

ภาพที่จำได้ดีที่สุดคือการจับคู่ปิดตาเดิน เราเป็นคนจูงเพื่อนที่ปิดตา เราต้องทำให้เพื่อนมั่นใจที่จะก้าวเดินไปกับเรา เพื่อนที่ปิดตาบอกว่า

“เรามองไม่เห็นทาง แต่รู้สึกปลอดภัยนะ ว่าเพื่อนจะพาเราเดินไปให้ถึงจุดหมายได้”

หลังอบรมเรามีโอกาสไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล บางครั้งเรื่องราวที่ผู้ป่วยบอกเล่าทำให้เรารู้สึกบางอย่าง คนป่วยที่ควรมีความทุกข์กับโรคร้าย กลับยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาได้ เช่นผู้ป่วยมะเร็งหลายรายบอกว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” มะเร็งทำให้เขาได้ทำอะไรดี ๆ มากมาย ได้เข้าใจชีวิต และอยู่กับมันอย่างมีความสุข

น้องจูนเล่าให้ฟังว่า “หนูเป็นมะเร็งกระดูก เดินไม่ได้ ต่อมารักษาแล้วกลับมาเดินได้ วันนั้นหนูดีใจมากจนร้องไห้ออกมา เมื่อก่อนไม่เคยเห็นคุณค่าของขาสองข้างเลย แต่พอกลับมาเดินได้ เวลาที่ก้าวเท้ารู้สึกว่าแค่เดินได้ก็มีความสุขแล้ว การมีชีวิตปรกติคือสิ่งวิเศษสุด”

iseeyou3
iseeyou4

I SEE U ฉันเห็นคุณ คุณคือสิ่งสะท้อนให้เรากลับมาเห็นตัวเอง

ถ้าวันหนึ่งเราต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เราจะเป็นแบบคุณได้ไหม? เราจะยังมีความสุขกับชีวิตต่อไปได้หรือเปล่า?

เวลาเยี่ยมผู้ป่วยสิ่งที่สำคัญมากคือการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

แค่เราตั้งใจรับฟังใครสักคนอย่างใส่ใจ ก็ทำให้ความทุกข์ของเขาหายไปเกินครึ่งหนึ่งแล้ว

เมื่อก่อนเวลาเราคุยกับลูก เขาเคยบอกว่าเราไม่ฟังที่เขาพูด ความจริงก็ฟังนะ แต่เหมือนไม่ได้ยินสิ่งที่เขาบอก มันเข้าหูซ้ายแล้วทะลุออกหูขวาไปเลย พอถามอีกทีก็จำไม่ได้ หรือเราจะเริ่มความจำเสื่อม

หลังอบรม I SEE U ทำให้เข้าใจว่าการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไร

การฟังอย่างลึกซึ้งคือการที่เราต้องอยู่กับเขาจริง ๆ ฟังมากกว่าสิ่งที่เขาพูดออกมา เช่น น้ำเสียงเป็นอย่างไร เบื่อหรือดีใจ สังเกตท่าทางของเขา ตื่นเต้นหรือเศร้า บางครั้งสิ่งที่เขาพูดอาจขัดแย้งกับสิ่งที่แสดงออกมาก็ได้

การฟังที่ดีจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น เวลาฟังควรฟังเขาพูดให้จบก่อน อย่าพูดแทรก และอย่าด่วนตัดสินเขา ถ้าทำได้เขาจะอยากเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟัง เราจะใกล้ชิดกันมากขึ้น

ความสุขของครอบครัวจะกลับมา

I SEE U ก็เหมือนครอบครัวใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยคนหลายวัย ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น จนถึงผู้สูงอายุ

เราอบรม I SEE U รุ่น ๘ ตอนไปเยี่ยมบ้านบางแคครั้งแรก ได้รู้จักน้องคนหนึ่ง (I SEE U รุ่น ๔) น้องเป็นคนเก่ง มนุษย์สัมพันธ์ดี ชวนคุยเล่าว่าได้นำสิ่งที่เรียนรู้จาก I SEE U ไปดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ ต้องใช้ความรักและความอดทนมาก แม่จะหลงลืมมากขึ้นเรื่อยๆ และเราจะกลายเป็นคนแปลกหน้าของเขามากขึ้นเรื่อยๆ เราประทับใจน้องมาก สนิทสนมกันมากขึ้นจากการทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน

คน I SEE U มีลักษณะพิเศษคล้าย ๆ กัน คือมีจิตใจเอื้อเฟื้อ และชอบช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ เวลาอยู่ด้วยกันจะมีความสุขมาก เหมือนดั่งเป็นญาติพี่น้องให้ความรัก ช่วยเติมพลังให้กันและกันอยู่เสมอ

iseeyou5

In Loving Memory ในความทรงจำรัก

เดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นช่วงที่โรคโควิด-๑๙ ระบาดรุนแรง มีผู้ติดเชื้อวันละสองหมื่นกว่าคน มีคนเสียชีวิตวันละสองร้อยกว่าคน โรงพยาบาลไม่มีเตียงพอที่จะรับผู้ป่วย หลายคนเข้าโรงพยาบาลไปแล้วไม่มีโอกาสกลับบ้านอีกเลย ญาติได้เห็นหน้าครั้งสุดท้าย คือวันที่ส่งขึ้นรถพยาบาล ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-๑๙ ต้องจัดการเผาศพทันที ไม่มีการประกอบพิธีกรรมใด ๆ

ทางกลุ่ม Peaceful Death ร่วมกับธนาคารจิตอาสา และอีกหลายองค์กร ได้จัดทำโครงการดูแลใจผู้สูญเสียจากสถานการณ์โควิด-๑๙ และชวนกลุ่มจิตอาสา I SEE U มาร่วมโครงการนี้ด้วย โดย I SEE U ทำกิจกรรมให้บริการจัดงานศพออนไลน์ ตั้งชื่อว่า “In Loving Memory” หรือ “ในความทรงจำแห่งรัก”

กิจกรรมจัดผ่านแพลตฟอร์มซูม สามารถรวมญาติพี่น้องใกล้ไกลมาร่วมกิจกรรมได้ในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง

หวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียได้บ้าง

เมื่อคุณนิติดต่อมาทางอินบ๊อกซ์ของเพจเฟซบุ๊ก I SEE U เราได้รับมอบหมายให้รับฟังคุณนิผ่านทางวิดีโอคอล

ในวัยใกล้เกษียณคุณนิมีใบหน้าเศร้าหมอง เราทักทายกันก่อน เธอสูดหายใจเข้าลึก ๆ หนึ่งครั้ง แล้วเริ่มต้นเล่าว่า

“เพื่อนโทรฯ มาชวนไปเที่ยวพังงาช่วงสงกรานต์ พี่อยากไปแต่สามีไม่อยากไป สุดท้ายสามียอมไป วันเดินทางกลับ พี่เริ่มมีอาการไม่ค่อยสบาย คิดว่าเป็นหวัดธรรมดาเลยไม่ได้ไปหาหมอ จนอาการเป็นหนัก ในที่สุดไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลปรากฏว่าพี่ติดเชื้อโควิด-๑๙ และต้องนอนที่โรงพยาบาลเลย

“สามีกลับบ้านคนเดียว วันรุ่งขึ้นสามีไปตรวจแต่คิวเต็มหมดทุกที่ หลังจากนั้น ๒ วันพี่ติดต่อสามีไม่ได้ เริ่มกระวนกระวายใจห่วงว่าเขาเป็นอะไร พี่โทรฯ หาคนข้างบ้าน รบกวนให้เขาช่วยไปดูที่บ้าน ว่าสามีเป็นอย่างไรบ้าง ไปเจอสามีนอนหมดสติอยู่ในบ้าน จึงพาส่งโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นสามีเสียชีวิตเพราะช็อกจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก่อนหน้านี้สามีเคยช็อกมาแล้ว และตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ ด้วย

“โรงพยาบาลโทรฯ มาหาพี่ แจ้งว่าสามีเสียชีวิตแล้ว พอได้ยินพี่รับไม่ได้ กรี๊ดจนสลบไป พยาบาลต้องมาช่วย จนรู้สึกตัวขึ้นมาก็ร้องไห้ไม่หยุด พี่หายจากโควิด-๑๙ หมอให้กลับบ้าน พอเข้าบ้านพี่เดินตามหาสามีทุกห้องแต่ไม่เจอ พี่เสียใจมาก ร้องไห้ฟูมฟายไม่รู้สึกตัวไปหลายวัน

“หลังจากนั้นเป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปหาหมอกินยา คิดตลอดว่า ‘พี่เป็นต้นเหตุให้สามีเสียชีวิต พี่เป็นคนโชคร้ายที่สุด’ เพราะถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ไม่มีลูก ไม่มีใครเลย ยังทำใจไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต”

คุณนิเล่าพร้อมกับน้ำตาไหลพรั่งพรู สะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งตัว เรารับฟังแล้วรู้สึกไปด้วย จนน้ำตารื้นคลอเบ้า ปล่อยให้คุณนิได้ร้องไห้ เพื่อระบายความรู้สึกเศร้าเสียใจข้างในออกมา อย่างไม่ต้องเก็บกดเอาไว้

ตอนรับฟังเราได้ยินเธอโทษตัวเอง ว่าเป็นสาเหตุให้สามีเสียชีวิต

“ไม่มีใครผิดหรอกค่ะ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ อาจจะถึงวาระของเขาที่ต้องจากไปอยู่แล้ว ขอให้พี่อภัยให้ตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

“ถ้าวันนี้ดวงวิญญาณของสามีกำลังมองดูอยู่ พี่คิดว่าเขาจะมีความสุขไหมคะ ที่เห็นพี่เศร้าเสียใจแบบนี้”

คุณนิหยุดร้องไห้ ใช้มือปาดน้ำตา และตอบว่า “ไม่มีความสุขแน่นอน เพราะเขาไม่ชอบให้พี่ร้องไห้ สามีบอกว่าอะไรผ่านไปแล้วให้มันผ่านไป อยู่กับปัจจุบันดีกว่า”

สุดท้ายเราคิดว่าการที่สามีของเธอจากไปอย่างกะทันหัน ไม่ได้ร่ำลากัน และไม่มีโอกาสจัดพิธีอะไรเลย อาจมีบางอย่างค้างคาใจเธออยู่ เลยชวนคุณนิจัดงานเพื่อรำลึกถึงสามี ซึ่งอาจช่วยให้เธอยอมรับได้ว่า สามีเสียชีวิตไปแล้ว

คุณนิตัดสินใจจัดงาน In Loving Memory ในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๔

iseeyou6

ขอบคุณจากหัวใจ

หลังจบงานไปแล้วระยะหนึ่ง คุณนิเขียนจดหมายมาเล่าว่า

“การจัดงาน In Loving Memory ทำให้เรายอมรับการจากไปของสามีได้จริงๆ รู้สึกดีที่ได้ทำพิธีส่งสามีอย่างสมบูรณ์แบบ รู้สึกตัวว่าต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อทำสิ่งดี ๆ อุทิศให้สามี สิ่งที่ทำได้คือการสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น นั่งสมาธิทุกวัน”

“หลังจบงานเราเหมือนมีครอบครัวใหม่ เหมือนเป็นญาติพี่น้อง ในวันที่เราโดดเดี่ยว มีคนรับฟังเราเล่าเรื่องความทุกข์อย่างตั้งใจ เราได้รับกำลังใจและคำแนะนำที่ดีจากทีมงานทุกคนในการก้าวเดินต่อไป และอยู่กับความทุกข์แบบเข้าใจมากขึ้น

“ขอบคุณทุกคนที่เป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน กลับเข้าใจเราและอยู่ข้างเรามากที่สุด ในวันที่เราอ่อนแอที่สุด ขอบคุณจริงๆ”

เส้นทางความสุข

เราคิดว่าชีวิตคือการเดินทาง

วันที่เราตัดสินใจก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของเรา เดินไปบนเส้นทางสายใหม่ เราได้เห็นทัศนียภาพใหม่ๆ พบเพื่อนใหม่ เรียนรู้ ลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

การทำงานจิตอาสาที่เคยคิดว่าเราคือผู้ให้ แต่แท้จริงแล้วเรากลับเป็นผู้รับสิ่งดี ๆ มากมาย ซึ่งงานทั่วไปอาจให้ไม่ได้

เราดีใจที่วันนี้มีเพื่อนร่วมทาง บนเส้นทางที่ได้ช่วยเหลือผู้คนที่มีความทุกข์ ทำให้เรามีความสุขอิ่มเอมใจ ที่เงินก็หาซื้อไม่ได้

I SEE U นี่แหละ คือเส้นทางความสุขของเรา

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.