เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

Samaritans - อาสาสมัครสะมาริตันส์ "ใครก็ไม่รู้" ที่อยู่ปลายสาย
ภาพถ่ายจำลองการทำงานของอาสาสมัครสะมาริตันส์

ชื่อ “สะมาริตันส์” มาจากคำว่า “Good Samaritan” ในพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นการสรรเสริญผู้ทำความดีโดยไม่แสดงตนและไม่รับผลตอบแทน (อ่านเพิ่มเติมใน Word Makers: คนสร้างคำ สำนักพิมพ์สารคดี, มีนาคม ๒๕๕๒ หน้า ๒๘๘)

เป็นเวลา ๑๖ ปีแล้วที่อาสาสมัครซึ่งเราขอเรียกเธอด้วยนามสมมุติว่า พ.สละเวลาสัปดาห์ละ ๔ ชั่วโมงมาทำงานที่ศูนย์รับโทรศัพท์แห่งหนึ่งย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยไม่เปิดเผยตัว และไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ

ภารกิจของเธอคือการ “รับฟัง”และ “เป็นเพื่อนพูดคุย” กับคนที่โทรศัพท์เข้ามาระบายความไม่สบายใจจากปัญหาหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด การงาน การเรียน หนี้สิน สุขภาพ ความรัก เรื่องเพศ ปัญหาทางจิต ฯลฯ

เป็นภารกิจที่อาจฟังดูธรรมดาในสายตาคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนอีกนับไม่ถ้วน นี่คือยาวิเศษที่ช่วยรักษาพวกเขาให้เปลี่ยนจากทุกข์ใจเป็นสบายใจ จากสิ้นหวังเป็นมีหวัง จากเห็นแต่ทางตันเป็นพบทางออก และจากอยากตายเป็นอยากอยู่

องค์กรที่ พ. อาสามาช่วยงานนี้มีชื่อว่า สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

พ. เป็นอาสาสมัครสะมาริตันส์ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นเธอทำงานประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่แปดโมงครึ่งถึงสี่โมงเย็น แบ่งเวลามารับโทรศัพท์ในวันพฤหัสบดีช่วงหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม ใช้เวลาเดินทางไปกลับอีกราว ๒ ชั่วโมง ใครๆ คงคิดว่าเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว จะเอาพลังจากไหนมารับฟังความทุกข์คนอื่นอีก ไม่ยิ่งเครียดกันไปใหญ่หรือ แต่ พ.กลับบอกว่า “ไม่เครียดค่ะ รู้แค่ว่าคนที่โทร. มาเขาไม่สบายใจ เมื่อยกหูโทรศัพท์แล้วใจของเราก็นึกถึงการเป็นเพื่อน ยินดีรับฟัง ให้เขาได้ระบายความไม่สบายใจ การที่เราสามารถทำให้เขารู้สึกดีขึ้นกลับกลายเป็นพลังให้เราด้วยซ้ำ”

คนจำนวนมากในโลกนี้มีชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทุรนทุรายอยู่กับปัญหาที่หนักหนาเกินจะแบกรับไว้ได้ เป็นเรื่องน่าอายเกินกว่าจะเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง หรือคนใกล้ตัวเหล่านั้นก็ยุ่งจนไม่มีเวลาให้ใคร

ดังเรื่องราวของเด็กหญิงวัย ๑๓ ปีในประเทศอังกฤษ ที่ฆ่าตัวตายเพียงเพราะความกลัวจากการมีรอบเดือนเป็นครั้งแรก ด้วยความไม่รู้จึงเข้าใจว่าเป็นโรคร้าย และเพราะไม่กล้าปรึกษาใครจึงตัดสินใจจบชีวิตตนเอง…การสูญเสียครั้งนั้นสร้างความสะเทือนใจให้แก่สาธุคุณแชด วาราห์ (Chad Varah) ผู้ทำพิธีฝังศพเด็กคนนี้ เขาตระหนักว่าหากเด็กน้อยได้พูดคุยกับใครสักคนแม้เพียงคนแปลกหน้า เรื่องเศร้าคงไม่เกิดขึ้น

นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สาธุคุณวาราห์ก่อตั้งศูนย์สะมาริตันส์ (Samaritans) เป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๓ เพื่อรับฟังปัญหาโดยเก็บเป็นความลับ มีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ปัจจุบันสะมาริตันส์มีศูนย์กว่า ๓๕๐ ศูนย์ใน ๔๐ ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑

อาสาสมัครสะมาริตันส์เป็น “ใครก็ไม่รู้” ที่อยู่ปลายสาย ซึ่งมี “เวลา” และเชื่อมั่นในพลังของการ “รับฟัง”

“ใครก็ไม่รู้” นี่แหละช่วยให้คนที่กำลังทุกข์แต่ไม่อาจระบายกับคนใกล้ตัว สามารถปลดปล่อยความไม่สบายใจออกมาได้เต็มที่ จนในที่สุดแม้ยังไม่เห็นทางออก อย่างน้อยก็ได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่เต็มอกให้คลายไปตามสายโทรศัพท์

“หลายครั้งเราแทบไม่ได้พูดอะไรเลยนอกจาก…ค่ะ เหรอคะ อืม แย่จังเลยเนอะ ดิฉันเห็นใจคุณจังเลย คุณอดทนมากเลยนะกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราทำหน้าที่เพียงฟัง ให้อีกฝ่ายได้เล่าความกดดันหรือร้องไห้ หลังจากได้ระบายจนรู้สึกดีขึ้น ผู้โทร. ก็ขอบคุณว่าช่วยเขาเยอะมาก”

สะมาริตันส์ต่างจากฮอตไลน์สายด่วนอื่นๆ ตรงที่ไม่เน้นให้คำปรึกษา แต่มุ่งไปที่การรับฟังและให้ความเป็นเพื่อน ยอมรับผู้โทร. อย่างที่เขาเป็นโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ตัดสิน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้โทร.ได้เป็นตัวของตัวเอง ค่อยๆ เติบโตด้วยตัวเอง การหาทางแก้ปัญหาทำโดยการพูดคุยเพื่อให้ผู้โทร. ลองคิดหาทางออก อาสาสมัครอาจนำเสนอทางเลือกหลายๆ ทาง แต่ไม่ชี้นำว่าควรเลือกทางไหน สุดท้ายผู้โทร.คือผู้ตัดสินใจ ซึ่งไม่ว่าผู้โทร.จะเลือกทางใด อาสาสมัครก็จะให้กำลังใจและอวยพรให้ผู้โทร. โชคดีกับหนทางที่เลือกแล้ว

“การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข คือ ไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาเป็น เขาทำ เขาเชื่อนั้นดีหรือไม่ดี เรามีหน้าที่รับฟัง แล้วถามว่าเขาคิดยังไงเพื่อให้เขามีโอกาสทบทวนด้วยตัวเอง ผู้โทร.บางคนมีปัญหาเรื่องเพศที่สังคมไม่ยอมรับ มีความสัมพันธ์ที่ไม่เปิดเผย หรือทำเรื่องผิดศีลธรรม เราจะไม่ตัดสินเขา แต่มุ่งไปที่การประคับประคองอารมณ์

“เช่นผู้โทร.เป็นวัยรุ่นหญิง ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์แล้วจะทำแท้ง เราจะไม่บอกว่าควรทำหรือไม่ แต่จะพูดคุยแลกเปลี่ยน ถามว่าถ้าทำ ผลที่ตามมามีอะไรบ้าง ถ้าไม่ทำแล้วเป็นอย่างไร จะทำยังไงกับอนาคต ให้เขาค่อยๆ พูดทีละประเด็น ได้มองผลดีผลเสียในการตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง”

เพียงการ “รับฟัง” มีพลังช่วยชีวิตคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ การรับฟังอย่างตั้งใจ จริงใจ ยอมรับ และให้ความเป็นมิตร ช่วยเปลี่ยนความคิดคนที่อยากฆ่าตัวตายมานับไม่ถ้วน ดังเช่นกรณีที่ พ.เคยพบมา

“ผู้โทร.เป็นผู้ชาย บอกว่ากำลังเอาปืนจ่อหัวอยู่ เราตกใจมากเพราะไม่เคยเจอเคสนี้ ก็พยายามใช้น้ำเสียงปรกติ บอกเขาว่าถ้าคุณยังมีปืนจ่อหัวอยู่คงคุยกันลำบาก ดิฉันเองก็ไม่สบายใจ วางปืนลงก่อนดีไหมคะ แล้วมาคุยกันว่าอะไรทำให้คุณรู้สึกแย่มากขนาดจะทำร้ายตัวเอง พอวางปืนแล้วได้ระบายความกดดันจากปัญหาที่ปะปนกัน ค่อยๆ คุยว่ามีทางออกอะไรบ้างนอกจากฆ่าตัวตาย สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจ

“การฟังและพูดคุยช่วยได้เยอะมาก เพราะเวลาอารมณ์ถึงขีดสุด คนเรามักหาทางออกอื่นไม่เจอ คิดแค่ว่าอยากจบปัญหา อาสาสมัครจะช่วยให้ผู้โทร.มีสติมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เขาได้พูดเรื่องของตัวเอง พออารมณ์สงบ ใจเบาลง เขาจะค่อยๆ จัดลำดับความคิด ในที่สุดจะรู้ว่าทางออกในชีวิตยังมีอีกตั้งมากมาย

“ผู้โทร.หลายรายที่เคยคิดฆ่าตัวตายมักโทร. มาขอบคุณ บอกว่าตอนนั้นถ้าไม่มีสะมาริตันส์ก็ไม่รู้จะผ่านภาวะนั้นไปได้ยังไง และคงไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างทุกวันนี้ อย่างเคสผู้ชายคนนี้ก็โทร. กลับมาเล่าว่าหลังจากวันนั้นที่เขาตัดสินใจอยู่ต่อไป เขาได้ทำคุณประโยชน์อะไรบ้าง และตอนนี้ไม่มีความคิดฆ่าตัวตายอีกแล้ว”

เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายจึงมีคำถามสำคัญที่อาสาสมัครต้องถามผู้โทร.ทุกครั้งคือ “เคยคิดทำร้ายตัวเองบ้างไหม” หรือ “เคยคิดฆ่าตัวตายหรือไม่” ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าถามแบบนี้เป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่า

“คนที่ไม่เคยคิด แต่พอถามแล้วตอบว่าเริ่มคิด แสดงว่าฐานในใจเขาต้องมีอะไรบางอย่าง ส่วนคนที่ไม่คิดจะบอกเลยว่าไม่คิด ผู้โทร.บางคนก็ขำๆ ว่าถามทำไม บางรายโทร.มาเป็นประจำก็แซวว่าวันนี้ยังไม่ถามคำถามนี้เลยครับ

“ถ้าผู้โทร. ตอบกลับมาว่าคิด เราจะค้นต่อว่าอะไรทำให้จากที่ไม่เคยคิดกลับคิดขึ้นมา หรือถ้ามีความคิดนี้อยู่แล้ว เราจะถามว่ามีวิธีไหนที่คุณตั้งใจจะทำ ก่อนหน้านี้เคยทำไหม ผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง มีใครหรือเหตุการณ์อะไรที่ช่วยดึงใจขึ้นมาจากการฆ่าตัวตาย เราค่อยๆ ตามประเด็นนี้ต่อเพื่อให้ช่วงสุดท้ายก่อนวางสายผู้โทร. รู้สึกดีขึ้น

“คนที่คิดฆ่าตัวตายแล้วส่งสัญญาณออกมา แปลว่าเขาไม่อยากตาย แต่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเราไม่ใส่ใจ คิดแค่ว่าถ้าไม่รักชีวิตตัวเองก็ปล่อยให้ตายไปแล้วกัน หรือได้แต่ห้ามว่าอย่าทำเลย อย่างนี้เราไม่ได้ช่วยเขา กลับกลายเป็นเหมือนปิดประตูใส่หน้าเขาดังปัง เมื่อเขาไม่มีใครก็จะคิดว่านี่คือทางออกเดียว แต่ถ้าเราจับสัญญาณได้ทันและช่วยให้เขาก้าวผ่านตรงนี้ไปได้ คนเหล่านี้ก็สามารถกลับไปสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมได้อีกมาก

“ความคิดฆ่าตัวตายอาจเกิดจากอารมณ์ซึมเศร้าที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมอง ผู้โทร.ลักษณะนี้แม้จะคุยเป็นชั่วโมงแต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น เราก็จะถามว่าคิดยังไงกับการไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ ถ้าผู้โทร.ตัดสินใจยอมพบจิตแพทย์ก็จะได้ยามาปรับระดับสารเคมีในสมองให้เหมาะสม สามารถกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้”

ฟังดูเป็นภารกิจที่ไม่ง่าย และน่าจะเหมาะกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างนักจิตวิทยา แต่งานอาสาสมัครสะมาริตันส์เปิดกว้างสำหรับคนทุกสาขาอาชีพที่มี “ใจ” อยากช่วยเหลือผู้อื่น และพร้อมรับการฝึกจากอาสาสมัครรุ่นพี่

“ถ้ามีใจมาแล้ว ทักษะการฟังและพูดเป็นสิ่งที่ฝึกได้และจะพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติ ฟังในที่นี้ไม่ใช่แค่ใช้หู แต่ต้องใช้ใจด้วย ใจที่เอื้ออาทร ใจที่เมตตา ถ้าไม่ใช้ใจฟัง เราจะไม่เข้าใจความทุกข์ของเขา เสียงของผู้โทร.ก็จะเป็นแค่เสียงหนึ่งที่ผ่านไป ส่วนเสียงของอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องไพเราะ ขอเพียงเป็นเสียงที่ออกจากใจที่เมตตา ผู้โทร.ก็สามารถสัมผัสได้”

พ.แบ่งเวลามารับโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วง ๗ ปีแรก และแม้แต่งงานแล้วก็ไม่เคยขาด กระทั่งเปลี่ยนงานประจำ ตารางชีวิตจึงรวนไปบ้าง ทำให้บางครั้งปลีกตัวมาไม่ได้ แต่ก็ยังรักที่จะทำต่อไป

“ทำมานาน ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย แม้ไม่ได้เงินหรือเปิดเผยตัวไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่ผู้โทร.วางสายด้วยความสบายใจ เราก็สุขใจไปด้วย บางครั้งมีคำขอบคุณหรืออวยพรจากเขา ซึ่งเป็นใครไม่รู้ที่เราไม่รู้จัก แค่นี้ก็อิ่มใจแล้ว

“ที่นี่ยังเป็นเสมือนแบบฝึกหัดที่ทำให้อาสาสมัครทุกคนเติบโตจากภายในเยอะมาก ทำให้ใจเรานิ่งขึ้น ได้นำทักษะไปใช้ในชีวิตประจำวัน บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูง เมื่อก่อนมีอะไรก็ปรี๊ดตลอด แต่เดี๋ยวนี้เย็นลงเยอะ

“การทำอะไรด้วยใจล้วนๆ มันทำให้เราแกร่งจากข้างในโดยไม่ต้องสนว่าเงินทองจะเป็นยังไง คำยกย่องชมเชยจะเป็นยังไง เพราะสิ่งเหล่านี้บางทีมันไม่ได้ตอบคำถามอะไรในชีวิต หรือที่สุดแล้วพอถึงจุดหนึ่ง ใจเราอาจไม่ได้ติดกับความสุขหรือไม่สุขด้วยซ้ำ ขอแค่ได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่น…แค่ได้ทำ ได้ให้ ได้ช่วย…ก็พอแล้ว”

  • สะมาริตันส์ประเทศไทยมีอาสาสมัครเฉลี่ย ๓๐ คน ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
  • เปิดอบรมพร้อมรับอาสาสมัครใหม่ปีละ ๒ ครั้ง อบรมแล้วค่อยตัดสินใจสมัคร จากนั้นสัมภาษณ์เพื่อประเมินความพร้อม ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้ฝึกปฏิบัติกับอาสาสมัครพี่เลี้ยงอีก ๖ เดือนก่อนลงสนามจริง
  • ไม่จำกัดอายุผู้สมัครเข้าอบรม แต่หากจะเป็นอาสาสมัครควรมีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป และพร้อมสละเวลาสัปดาห์ละ ๔ ชั่วโมงติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
  • อาสาสมัครต้องเก็บเรื่องราวของผู้ใช้บริการไว้เป็นความลับ ทำงานโดยไม่เปิดเผยตัว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อไม่ให้ผู้โทร.กังวลว่าอาสาสมัครจะเป็นคนที่ตนรู้จัก
  • หากอบรมแล้วยังไม่พร้อมจะโดดเข้าร่วมงานอาสา ความรู้ที่ได้มาก็ไม่สูญเปล่า นำไปใช้ในชีวิตประจำวันกับคนรอบข้าง ได้ประโยชน์มหาศาลเชียวละ
  • คุณยังสามารถช่วยเหลือสมาคมฯ ได้โดย
    • บริจาคเงินสนับสนุน
    • ช่วยซื้อดอกสะมาเรีย (Samaria) สัญลักษณ์ป้องกันการฆ่าตัวตาย ในช่วงวันรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ๑๐ กันยายนของทุกปี หรือเพียงมอบรอยยิ้มและกำลังใจให้อาสาสมัครขายดอกไม้
    • ช่วยจัดทำสื่อหรือเว็บไซต์ของสมาคมฯ
    • คนดังก็อาสาเป็นตัวแทนเผยแพร่งานสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้
    • ส่งต่อเรื่องราวการให้บริการและเบอร์โทรศัพท์ศูนย์รับฟังปัญหาไปให้มากที่สุด
  • หน่วยงานที่ต้องการวิทยากรไปให้ความรู้เรื่องป้องกันการฆ่าตัวตาย ก็ติดต่อมาได้เช่นกัน
  • สอบถาม โทร. ๐-๒๗๑๓-๖๗๙๐ หรือ samaritans_thai@hotmail.com
  • ติดต่อศูนย์รับฟังปัญหา กรุงเทพฯ สายภาษาไทย โทร. ๐-๒๗๑๓-๖๗๙๓ เวลา ๑๒.๐๐-๒๒.๐๐ น. ทุกวัน สายภาษาอังกฤษ (ฝากเบอร์โทร.กลับ) โทร. ๐-๒๗๑๓-๖๗๙๑ เชียงใหม่ โทร. ๐-๕๓๒๒-๕๙๗๗-๘ เวลา ๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. เว้นวันศุกร์และอาทิตย์
  • อ่านเรื่องราวและข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.samaritansthailand.blogspot.com

ขอขอบคุณ :
คุณพรทิพย์ ยศกิตติภัทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ฯ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ทุกท่าน