เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ราชประสงค์  ฉากสุดท้ายในเงาเพลิง

แยกราชประสงค์ เป็นสี่แยกที่ล้อมรอบไปด้วยศูนย์การค้าและโรงแรมระดับห้าดาว ถือเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ มีคนเข้าออกพื้นที่หลายแสนคนต่อวัน

ใจกลางสี่แยกแห่งนี้กลายเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัยหลักของแกนนำ นปช. ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ ควบคู่ไปกับเวทีหลักที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเริ่มมีการปราศรัยมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจห้างร้านในละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ บิ๊กซี เกษรพลาซ่า แพลทินัม  รวมไปถึงโรงแรมที่อยู่โดยรอบบริเวณ อาทิ เซ็นทาราแกรนด์ อินเตอร์คอนติเนนตัล แกรนด์ไฮแอทเอราวัณ โฟร์ซีซั่นส์ โนโวเทล เรเนซองส์ เป็นต้น  ทั้งยังเป็นเหตุให้ต้องปิดการจราจรเป็นวงกว้างในพื้นที่ต่อเนื่องจากแยกราชประสงค์ โดยเฉพาะบริเวณ ๕ แยกสำคัญคือ ราชประสงค์ ประตูน้ำ (ทิศเหนือ) ชิดลม (ทิศตะวันออก) ราชดำริ และแยกเฉลิมเผ่า เนื่องจากผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมประท้วงเต็มพื้นที่โดยมีการตั้งเต็นท์เรียงรายตลอดแนวถนน

นายประกิต ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้ข้อมูลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ทำให้ปริมาณการเข้าพักของโรงแรมทั้ง ๖ แห่งลดลง โดยที่ยอดจองห้องพักก็มีเพียงร้อยละ ๒๐-๓๐ เท่านั้น และแสดงความเป็นห่วงว่าอาจกระทบไปถึงช่วงวันหยุดสงกรานต์ซึ่งปรกติจะมีแขกเข้าพักจำนวนมาก

๔ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์พิเศษผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ขอให้ผู้ชุมนุมกลับไปชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าดังเดิม เนื่องจากการชุมนุมในบริเวณแยกราชประสงค์ “ขัดต่อกฎหมาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีต่อผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนมากที่สุด”

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวว่า “เมื่อเราอยู่ถนนราชดำเนินไม่มีใครฟัง เราจึงต้องเคลื่อนการชุมนุมมาที่นี่…ขอให้ประชาชนเสียสละเพื่อส่วนรวม  ถ้ารัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ไม่มีความหมาย…ที่กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงตั้งเวทีแยกราชประสงค์ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ผมเห็นว่าประเทศไทยถูกทำลายตั้งแต่หลังวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙”

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ดำเนินต่อไป ระหว่างนั้นในวันที่ ๕ เมษายน ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทวงถามคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และเคลื่อนขบวนไปที่รัฐสภาในวันที่ ๗ เมษายน เป็นผลให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และยกระดับ ศอ.รส.(ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย) เป็น ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) เพื่อควบคุมสถานการณ์  วันที่ ๑๐ เมษายน ระหว่างที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่สะพานผ่านฟ้าและเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณสี่แยกคอกวัวจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น บริเวณแยกราชประสงค์ก็มีการเคลื่อนกำลังตำรวจและทหารเข้ากดดันโดยรอบ

๑๔ เมษายน แกนนำ นปช. ตัดสินใจย้ายเวทีที่สะพานผ่านฟ้ามารวมตัวที่เวทีแยกราชประสงค์  ๑๙ เมษายน มีการนำตาข่ายขนาดใหญ่มาขึงด้านบนตั้งแต่แยกราชประสงค์ไปตามถนนราชปรารภเพื่อบังแดดให้ผู้ชุมนุมและป้องกันการถูกซุ่มยิง  ๒๒ เมษายน ที่แยกศาลาแดง ถนนสีลม มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อหลากสีเพื่อสนับสนุนรัฐบาล  กลางดึกคืนนั้นมีการยิง M-79 ๕ ลูกจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายไปที่ถนนสีลมจนมีผู้เสียชีวิต ๑ ศพ บาดเจ็บอีกกว่า ๗๐ คน  ระหว่างนั้นโรงแรมหลายแห่งในพื้นที่ประกาศปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรง ทางผู้ชุมนุม นปช. ได้ทำบังเกอร์ยางรถยนต์และนำไม้หลาวมาเป็นสิ่งกีดขวางป้องกันเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมตามจุดต่างๆ โดยรอบพื้นที่ราชประสงค์ อาทิ แยกปทุมวัน ทางเข้าถนนพระรามที่ ๑  แยกศาลาแดง ทางเข้าถนนราชดำริ  แยกประตูน้ำ ทางเข้าถนนราชปรารภ  ประชาชนที่อาศัยอยู่แถบนั้นบางส่วนเริ่มอพยพไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว

สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อ เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกพลฯ ซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ยิงเข้าที่ศีรษะ ๒ นัดซ้อน ขณะกำลังให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดงในช่วงค่ำวันที่ ๑๓ พฤษภาคม และเสียชีวิตในอีก ๔ วันต่อมา  ๑๔-๑๘ พฤษภาคม สถานการณ์ตึงเครียด เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมในหลายจุด

๑๙ พฤษภาคม เวลา ๐๔.๐๐ น. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ขึ้นเวทีราชประสงค์ บอกผู้ชุมนุมให้เตรียมรับมือการสลายการชุมนุม ประกาศให้ผู้หญิง เด็ก คนชราเข้าไปในวัดปทุมวนารามซึ่งประกาศเป็นเขตอภัยทาน

๐๖.๐๐ น. ปฏิบัติการทางทหารเริ่มขึ้นที่แยกศาลาแดง โดยทหารจากกองพลทหารม้าที่ ๒ รักษาพระองค์ (พล.ม.๒ รอ.) ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.วิลาศ อรุณศรี รองแม่ทัพน้อยที่ ๑ และ พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผบ.พล.ม.๒ รอ. นำรถสายพานลำเลียงพล (APC) แบบ T-85 ทำลายแนวบังเกอร์ของกลุ่ม นปช. รุกเข้ามาตามถนนราชดำริจนถึงแยกสารสิน  ยุทธวิธีของทหารคือปิดทางเข้าแยกราชประสงค์เอาไว้ทุกด้าน

ระหว่างนั้นกำลังทหารได้ยิงปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายและผู้ชุมนุมบางส่วนที่พกอาวุธอยู่เป็นระยะ มีการยิง M-79 เข้าใส่กลุ่มทหาร ขณะที่ทหารใช้กระสุนจริงตอบโต้  นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันในพื้นที่รอบๆ เป็นวงกว้าง

ที่เวทีราชประสงค์ บรรยากาศตึงเครียด  ในที่สุดแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในเวลา ๑๓.๓๒ น. ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมหน้าเวทีส่งเสียงไม่พอใจ บางคนร่ำไห้ ก่อนมีเสียงปืนดังขึ้นทำให้การแถลงบนเวทีชะงัก  ห่างจากเวทีไม่ไกลนักผู้ชุมนุมบางส่วนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถควบคุมได้ พวกเขาเริ่มเผายางรถยนต์ ขณะที่บางส่วนพยายามทำลายอาคารที่อยู่โดยรอบพื้นที่  จากนั้นแกนนำ นปช. ลงจากเวทีไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประมาณ ๑๔.๐๐ น. มีรายงานว่าเกิดเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณห้างสรรพสินค้า ZEN และบิ๊กซีที่อยู่ฝั่งตรงข้าม รวมถึงมีการขโมยของและปล้นสะดมเกิดขึ้น  ระหว่างนั้นเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งหาทางออก ส่วนหนึ่งหลบเข้าไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม

๑๖.๐๐ น. ศอฉ. ประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในยามวิกาลตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. ถึง ๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ทำให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่แยกราช-ประสงค์ได้รับคำสั่งจากต้นสังกัดให้ถอนตัวออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย

การควบคุมสถานการณ์จลาจลในแยกราชประสงค์เป็นไปอย่างล่าช้า ด้วยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ได้ เนื่องจากมีการซุ่มยิงจากตึกสูง และมีการปะทะเกิดขึ้นโดยรอบพื้นที่

๑๙.๐๐ น. ไฟที่ลุกไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ก่อให้เกิดกลุ่มควันหนาแน่น สามารถมองเห็นได้จากทุกมุมในกรุงเทพฯ

รถดับเพลิงชุดแรกเข้าถึงพื้นที่ในเวลา ๒๐.๓๕ น. เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามฉีดน้ำเลี้ยงไว้ จน ๒๒.๓๐ น. อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ในโซนห้างสรรพสินค้า ZEN ส่วนหนึ่งก็ทรุดตัวพังลงมา

ร.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยุ่นสมาน รักษาการหัวหน้าสถานีดับเพลิงบางขุนเทียน นำทีมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอีกส่วนเข้ามาเสริมในช่วงก่อนตึกจะถล่มไม่นาน เล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า

“ทีมผมเข้าถึงตัวอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ได้ในเวลาประมาณสี่ทุ่ม ที่ช้าเพราะเข้ามาทางถนนพระรามที่ ๑ แล้วต้องไปหยุดช่วยดับเพลิงที่โรงหนังสยาม  พอมาถึงราชประสงค์เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ รอบๆ มีเสียงปืนบ้างแต่ก็อยู่ไกล ไฟยังคงไหม้ตึกอยู่ เราเห็นเป้าหมายที่จะต้องสกัดเพลิงชัดเจน  การถล่มของตัวตึกผมตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ห้างทราบว่ามีการใช้ถังแก๊สวางเพลิงด้วย นี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากยางและน้ำมัน  ตอนที่ตึกยุบลงมาเป็นลักษณะที่ผมเรียกว่า Flat Over คือโดนเผาจนพื้นอาคารยุบลงไปกองรวมกันที่ชั้นใต้ดิน”

ผู้กองสุรเชษฐ์เล่าว่าช่วงนั้นไม่มีใครอยู่ที่หน้าเวทีหลักของนปช. แล้ว มีก็แต่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และนักดับเพลิงที่ทำงานแข่งกับเวลา โดย ๒๔.๐๐น. เขาได้รับแจ้งให้เข้าไปเสริมกำลังที่บิ๊กซีซึ่งก็ถูกเพลิงไหม้อยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ อาคารรอบสี่แยกราชประสงค์ที่ถูกเพลิงไหม้ส่วนมากสามารถดับเพลิงได้สนิทในเช้าวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ยกเว้นเซ็นทรัลเวิลด์ที่เจ้าหน้าที่ต้องฉีดน้ำเลี้ยงส่วนที่ทรุดไปจนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม เนื่องจากใต้ซากอาคารยังมีการคุของเชื้อเพลิงอยู่ สังเกตได้จากควันที่ลอยขึ้นมาเป็นระยะ

เจ้าหน้าที่ยังพบว่าห้างเกษรพลาซ่าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันมีความเสียหายเฉพาะชั้น ๑ คือกระจกแตกและมีร่องรอยการยิงกระสุนปืนเข้าไปในอาคาร  อีกจุดหนึ่งคือธนาคารกรุงเทพ สาขาประตูน้ำ ตู้เอทีเอ็มและเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ ๕ เครื่องถูกทุบจนใช้การไม่ได้ กระจกประตูทางเข้าถูกทุบแตก และมีการเข้าไปรื้อค้นสิ่งของภายใน

เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาประตูน้ำ บอกเราว่าได้นำคอมพิวเตอร์และทรัพย์สินมีค่าทั้งหมดไปไว้ที่อื่นตั้งแต่สถานการณ์มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น  “เราอยู่กับเขามาเดือนกว่าๆ  ธนาคารกรุงเทพเป็นเป้า เราก็ต้องสังหรณ์ใจบ้าง และการที่เราทำแบบนี้ทำให้เราเสียหายไม่มากเท่ากับการที่เราไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย”

ธนาคารอีกหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงก็ได้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกไปก่อนหน้าแล้วเช่นกัน

ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายแม้จะเตรียมพร้อมอย่างไรก็ไม่สามารถจำกัดความเสียหายได้ทั้งหมด อาทิ ร้านบิ๊กคาเมร่า ร้านขายอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพซึ่งมีสาขาใหญ่อยู่ทั้งในเซ็นทรัลเวิลด์และบิ๊กซี

ชิตชัย เธียรกาญจนวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บิ๊กคาเมร่า จำกัด เล่าว่าช่วงปรกติสาขาของร้านบนชั้น ๔ เซ็นทรัลเวิลด์สร้างรายได้ถึงเดือนละ ๑๐ ล้านบาท  “ที่เซ็นทรัลเวิลด์เราเอาของบางส่วนออกมาแล้ว แต่บิ๊กซีไม่ได้เอาออกมาเพราะเขาไม่ให้เข้าไปในช่วงนั้น  เรามีประกันภัยแต่ส่วนมากไม่รวมการวินาศกรรมและการจลาจล เรารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก”

งานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่แยกราชประสงค์ดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม อันเป็นวันที่ ศอฉ. ส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่กรุงเทพมหานครและเปิดการจราจรตามปรกติ

สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ประเมินว่าความเสียหายอันเนื่องจากการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการย่านนี้ซึ่งมีทั้งหมด ๒,๐๘๘ ราย คิดเป็นมูลค่า ๑๑,๒๗๕ ล้านบาท  แบ่งเป็นธุรกิจค้าปลีก ๑๐,๔๘๘ ล้านบาท ธุรกิจโรงแรม ๗๘๗ ล้านบาท  พนักงานได้รับผลกระทบ ๓๐,๖๖๑ คน  และคาดว่าความเสียหายของอาคารต่างๆ นั้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่าเหตุการณ์บริเวณแยกราชประสงค์กระทบกับนายจ้างและลูกจ้างกว่า ๙ หมื่นคน โดยจะมีลูกจ้างชั่วคราวที่ถูกเลิกจ้างก่อนร้อยละ ๑๐

ประสงค์ ธาราไชย นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้รับความเสียหายมากที่สุดคืออาคารทางฝั่งห้างสรรพสินค้า ZEN มีพื้นที่เสียหาย ๑ หมื่นตารางเมตร  ในทางวิศวกรรมเสียหายในระดับรุนแรง หรือ S-Severe Damage ต้องทำการทุบทิ้งสถานเดียว  อีกจุดคือส่วนที่เป็นทาวเวอร์ของ ZEN เสียหายในระดับปานกลาง หรือ M-Moderate Damage สามารถซ่อมแซมได้แต่ก็ต้องทำการทดสอบการรับน้ำหนักของตัวอาคารภายใต้คำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญก่อนทำการซ่อมแซม  ส่วนจุดอื่นๆ ของเซ็นทรัลเวิลด์นั้นอยู่ในระดับที่สามารถซ่อมแซมได้ โดยรวมเสียหายไป ๕% จากตัวอาคารที่มีทั้งหมด ๖ โซน

วันนี้ (มิถุนายน ๒๕๕๓) แยกราชประสงค์กลับสู่ภาวะปรกติ แต่ซากความเสียหายก็ยังปรากฏอยู่อย่างชัดเจน

ทว่า ความเสียหายของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ในที่สุดก็สามารถซ่อมสร้างให้กลับมาสวยงามดังเดิม

มีแต่ชีวิตคนไทยด้วยกันที่สูญเสียไปจากเหตุการณ์พฤษภาวิปโยคครั้งนี้ ที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

และวันนี้ มันยังคงเป็นรอยแผลถาวรอยู่ในใจคนไทยหลายคนที่เป็นญาติมิตรของพวกเขาเหล่านั้น