สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเราพบ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์วัย ๕๔ ปี

อาจารย์เอ่ยว่าตั้งแต่สอนหนังสือและทำงานวิชาการมาหลายปี เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นครั้งแรกที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองจนรู้สึกใกล้เคียงการ “ติดคุก” มากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

เช้าวันจันทร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามหมายจับในความผิดตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๑ (๑) ที่ระบุว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน…”

เขาถูกกักตัวไว้ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันนั้น โดยไม่ได้รับแจ้งข้อหาตามสิทธิที่ผู้ต้องหาควรจะได้รับแต่อย่างใด

สิ่งที่ทำให้อาจารย์สุธาชัยถูกจับจ้องจากเจ้าหน้าที่รัฐอาจมาจากการดำเนินการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง อาทิ ช่วงที่มีการจับกุมตัวนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่รู้จักกันในนาม “ดา ตอร์ปิโด” ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจารย์สุธาชัยได้พยายามใช้ตำแหน่งทางวิชาการยื่น

ขอประกันตัวแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้อาจารย์ยังมีชื่อใน “ผังเครือข่ายล้มเจ้า” ที่ ศอฉ. แถลงข่าวกับสื่อมวลชนระหว่างสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. กระทั่งรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง อาจารย์สุธาชัยร่วมกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม ๒๔ มิถุนาฯ ออกแถลงการณ์ ๕ ข้อ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ยกเลิก ศอฉ. ให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ยุติการคุกคามสื่อ ให้ปฏิบัติกับแกนนำ นปช. ที่ถูกจับกุมในฐานะนักโทษการเมืองไม่ใช่อาชญากร และเปิดเผยความจริงการใช้กำลังทหารและจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าจะมีการนัดชุมนุมและเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงอีกครั้ง ส่งผลให้อาจารย์สุธาชัยถูกจับตามองจากรัฐบาลว่าอาจเป็นหนึ่งใน
แกนนำ นปช. รุ่นที่ ๒ เป็นที่มาของโอกาสพิเศษในการไปสัมผัส “ห้องกักกัน” ในค่ายทหารเป็นเวลา ๑๗๑ ชั่วโมงในระยะเวลา ๘ วัน

“ผมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองโดยบังเอิญ วันแรกที่เขาจับ ผมยังไม่ได้รับการแจ้งข้อหา ตอนเดินทางไปให้ปากคำที่กองปราบ ผมทราบแค่โดนหมายจับ ศอฉ. ในนั้นบอกว่าให้ควบคุมตัวไว้แล้วส่งไปค่ายอดิศร ผมเลยโดนจับใส่รถตำรวจมาค่ายอดิศรคนละคันกับคุณสมยศ ผมถือว่าได้รับเกียรติมาก เพราะเบาะหลังมีตำรวจถือปืนนั่งขนาบข้าง ๒ คน ข้างหน้าอีก ๒ คน มีรถตำรวจเปิดหวอนำขบวน จะบอกว่าเขาเอาไปขังก็ไม่ใช่ เรียกกักบริเวณดีกว่า สถานที่กักตัวเป็นเต็นท์ตั้งอยู่กลางสนามติดกัน ๓ หลัง รอบเต็นท์มีรั้วลวดหนามล้อม ๒ ชั้น ผมอยู่แยกกันกับคุณสมยศคนละเต็นท์ นาฬิกา เครื่องมือสื่อสาร ของมีค่าถูกเอาไปเก็บ แต่สมุด ดินสอ หนังสือ เอาเข้าไปได้ ในเต็นท์มีเตียง ๑ หลัง โต๊ะยาว ๆ คล้ายโต๊ะกินข้าว ๑ ตัว นอกเต็นท์มีถังน้ำมันเก่าสภาพดี ๓ ถังใส่น้ำ เป็นที่อาบน้ำกลางแจ้ง การสื่อสารกับโลกภายนอกถูกควบคุม เวลาผมจะโทรศัพท์หาภรรยาก็ต้องแจ้งข้อความให้เขาทราบ เขาจะจดหมดเวลาเราพูดอะไร ยังคิดว่าผมบอกรักภรรยาเขาคงต้องจดลงไปด้วยกระมัง (หัวเราะ)

“โดยรวมทางทหารอำนวยความสะดวกให้พอสมควร ความเป็นอยู่ไม่แย่นัก ในเต็นท์ร้อนแต่ไม่แย่เท่าเต็นท์ผู้ชุมนุมบนถนนในกรุงเทพฯ เพราะอยู่ในจุดที่มีต้นไม้ วันแรกผมอาบน้ำหลายครั้ง เขาก็เอาพัดลมเป่าม้ามาให้ใช้ การดูแลเข้มมาก ลองคิดว่าเดินไปปัสสาวะแล้วมีทหารถือปืนเดินตาม ๕ คนจะมีความสุขหรือไม่ วันแรกผมไม่มีอะไรทำก็อ่านหนังสือที่นำติดตัวไปเพื่อเตรียมสอนวิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ตะวันตก”

วันที่ ๒ อาจารย์สุธาชัยเล่าว่าทหารลดความเข้มงวดลง จากเดิมที่ยืนคุมรอบเต็นท์เหลือเพียงเฝ้าระวังหน้าเต็นท์ แต่วันนี้เขากลับต้องถูกลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการโดยถูกยึดหนังสือโดยไม่มีทีท่าว่าจะได้คืน

“ทหารบอกว่า ศอฉ. จะขอตรวจว่าอ่านอะไร หนังสือที่ถูกเอาไปมี ๖ เล่ม สองเล่มแรกเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ คือ Philosophy of History และ Red Star over Malaya ของ Cheah Boon Kheng เล่มที่ ๓ ทฤษฎีโพสต์โมเดิร์น ฉบับการ์ตูน เป็นหนังสือแปล เล่มที่ ๔ แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๑) เล่มนี้ผมเขียนเอง เล่มที่ ๕ มิเชล ฟูโกต์ : Michel Foucault ของ ธีรยุทธ บุญมี เล่มที่ ๖ คนไทยในกองทัพนาซี ของ พ.อ. วิชา ฐิตวัฒน์ เขาเอาไป ๒ วันก็ยังไม่คืน”

เหตุนี้อาจารย์สุธาชัยจึงตัดสินใจ “ขออนุญาตไม่ทานข้าว” จนกว่าจะได้หนังสือคืน

“เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์บอกว่าไม่เคยสลายการชุมนุม เพียงแต่ ‘ขอพื้นที่คืน’ ผมจึง ‘ขออนุญาตไม่ทานข้าว’ จนกว่าจะได้หนังสือคืน ผมไม่ทราบหรอกครับว่า พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่าผมคงกินเจเล่อิ่มแล้ว คิดว่าทางทหารจะแจกเจเล่ผมหรือครับ (หัวเราะ) วันเดียวกันทางตำรวจยื่นเรื่องต่อศาลขอคุมตัวผมต่ออีก ๗ วัน โทรศัพท์มาที่ค่ายและคุยกับผมว่าจะคัดค้านหรือไม่ ผมถามว่ายังไม่ทราบข้อกล่าวหาจะคัดค้านอย่างไร ถึงทราบว่าผมต้องสงสัยว่าจะเป็นแกนนำ นปช. รุ่น ๒ ที่จะจัดชุมนุม จะไปก่อความเดือดร้อน เป็นผู้ต้องสงสัยที่ต้องคุมตัวไว้ก่อน”

ในทัศนะของอาจารย์สุธาชัย การจับโดยไม่แจ้งข้อหา หรือเพียงคาดการณ์ว่าเขาจะเป็นแกนนำ นปช. รุ่น ๒ แล้วจับมาขังทันทีโดยยังไม่มีการกระทำความผิด ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง “เหมือนคุณไม่ได้ทำอะไร ตำรวจมองว่าคุณหน้าเหมือนโจรก็ขอคุมตัวไว้ก่อน เพื่อป้องกันว่าจะไม่ไปก่อคดีซึ่งผิดหลักการยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนสองมาตรฐานทางกฎหมาย ขณะที่แกนนำเสื้อหลากสีจัดชุมนุมขัดกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ชัดเจนกลับไม่โดนข้อหา ถ้าจะอ้างว่าชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลก็ไม่เป็นไร แต่กฎหมายไม่ได้ยกเว้นและไม่ได้เขียนว่าหากสนับสนุนรัฐบาลสามารถทำได้ เรื่องที่ว่าผมจะเป็นแกนนำน่าจะมาจากแถลงการณ์ของผมกับสมยศที่มีข้อเรียกร้อง ๕ ข้อ มีจุดที่บอกว่าจะมีการชุมนุมอีกในช่วงต่อไป ผมไม่เห็นข้อความนี้แต่คงหลีกเลี่ยงไม่รับผิดชอบไม่ได้ ที่หนักคือต่อมา ASTV ผู้จัดการ เอาไปลง ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นำไปกล่าวซ้ำทางช่อง NBT ว่าแกนนำรุ่น ๒ จะน่ากลัวกว่ารุ่น ๑ เพราะเป้าหมายสูงกว่า”

อาจารย์สุธาชัยได้รับหนังสือทั้ง ๖ เล่มคืนหลังอดอาหารไป ๘ ชั่วโมง และใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหารจนได้รับการปล่อยตัวในเวลา ๑๗.๐๐ น. ของวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓

“ตลอดระยะเวลานั้นผมไม่รู้สึกกลัวเพราะไม่ได้ทำผิด คิดแล้วว่าสักวันเราต้องได้กลับบ้าน แต่ถ้าคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าประเทศนี้อยู่ ๆ มีการฆ่าคนเป็นร้อยคน และคนที่ตายเหล่านั้นกลับบ้านไปหาญาติไม่ได้อีกแล้ว เรื่องนี้มันน่าเศร้ากว่า”

หลังได้รับอิสรภาพ ความทรงจำ ๑๗๑ ชั่วโมงในค่ายทหารในฐานะ “นักโทษการเมือง” ยิ่งตอกย้ำให้อาจารย์สุธาชัยเห็นว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย

“ผมยอมรับว่าเป็นนักวิชาการเสื้อแดง แต่ถ้าบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย การเป็นสีอะไรก็ไม่น่ามีปัญหา และผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไปเสียทุกเรื่อง…

“เรื่องที่ผมไปยื่นขอประกันตัว ‘ดา ตอร์ปิโด’ ก็เกิดจากผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโจมตีกันทางการเมือง ผมทำงานด้านประวัติศาสตร์มานาน เห็นคนได้รับเคราะห์จากข้อหานี้หลายคน เหตุผลต่อมาคือผมเห็นด้วยกับการต่อต้านรัฐประหาร มันเป็นเหตุให้รู้จักดาที่ไปชุมนุมที่สนามหลวงหลัง ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ผมไม่ได้สนิทกับเขาแต่ก็เคยแลกเปลี่ยนทักท้วงกัน พอเขาโดนจับผมก็ไปเยี่ยม เขาบอกว่าไม่สบายและอาจโดนแกล้ง ผมพอจะช่วยได้ด้วยตำแหน่งทางวิชาการโดยที่เราไม่ได้เดือดร้อนก็ช่วย แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จและกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างที่คาดไม่ถึงจริง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ดาควรมีสิทธิ์ได้ประกันตัวต่อให้ทำผิดจริงก็ตาม เพราะคดียังอยู่ในชั้นศาลก็ต้องสู้คดีกันไป ส่วนเหตุผลที่ผมไปสังเกตการณ์การชุมนุม เพราะคิดว่าในอนาคตอาจต้องเขียนประวัติศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของเรา ถ้าไม่ดูให้เห็นกับตาก็ไม่ต่างกับนั่งเทียนเขียน การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนควรสนใจ

“หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สิทธิของผมถูกละเมิด สิทธิของคนในประเทศนี้ถูกละเมิดมากเกินไป มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ปัญหาหลักของชนชั้นปกครองไทยคือการนับถือตัวบุคคล ชอบบอกว่าชาวบ้านไม่รู้จักประชาธิปไตย แต่ผมอยากให้มองกลับไปในประวัติศาสตร์ ชาวบ้านไม่เคยทำรัฐประหารนะครับ แล้วใครคือคนที่ทำรัฐประหาร ก็ชนชั้นนำทั้งนั้น ชนชั้นนำนั่นเองที่ต้องเรียนเรื่องประชาธิปไตยใหม่ ตอนนี้คนบางกลุ่มมีตรรกะว่าเลือกพรรคเพื่อไทยย่อมมาจากการทุจริต ถ้าเลือกประชาธิปัตย์เท่ากับประชาธิปไตย เราแน่ใจว่านี่ดีแล้ว ถูกแล้วหรือ

“ผมทำเช่นนี้ผมไม่กังวลว่าจะเข้าทางทักษิณ เพราะไม่มีการต่อสู้ใดบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันก็ต้องไปเข้าทางใครสักคนอยู่ดี ที่สำคัญผมมองทักษิณไม่ต่างกับอดีตนายกฯ คนอื่น ไม่ได้มองเป็นปีศาจที่ต้องทำลายล้าง คำถามคือถ้าทักษิณคอร์รัปชัน ไม่มีวิธีแก้แบบประชาธิปไตยหรือ ถ้าบอกว่าไม่มี ในสหรัฐอเมริกาทหารอเมริกันคงต้องทำรัฐประหารโค่นอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในสมัยที่แกครองอำนาจแล้ว แต่เขาไม่ทำเพราะรู้ว่าประชาชนเลือก ต้องเคารพเสียงส่วนมาก คุณไม่มีสิทธิ์คิดแทนคนส่วนมาก ต้องให้ทำงานครบวาระ แต่เกลียดเขาได้ไหม ได้ ของเราก็เหมือนกัน ทักษิณไม่ดี มีทางเดียวต้องจัดการด้วยระบบเดียวกัน สองปีที่ผ่านมาถามว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่โกงกินหรือ ดูเหมือนวันนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ทุจริตอย่างไรก็ไม่มีใครโทษคุณอภิสิทธิ์ แต่ชี้นิ้วไปที่คุณเนวิน ชี้นิ้วไปที่คนอื่น มันประหลาดเหลือเกิน”

อาจารย์สุธาชัยเล่าว่า ภารกิจที่ต้องทำต่อไปคือกลับไปสอนหนังสือ ส่วนเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในเครือข่ายล้มเจ้าก็ต้องสู้ไปตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด

“ที่ผมตัดสินใจฟ้อง ศอฉ. เรื่องผังล้มเจ้าที่ระบุชื่อผมเป็นหนึ่งในเครือข่าย ถ้าไม่ทำก็เท่ากับผมยอมรับ เรื่องที่โดนขังเรื่องเล็กมาก ผังล้มเจ้าเรื่องใหญ่กว่า แต่ถ้าท่านนายกฯ ขอโทษผม ผมก็พร้อมจะยอมความเพราะผมไม่ชอบค้าความ อีกอย่างไม่ได้โกรธแค้นท่านหรือเจ้าหน้าที่ ศอฉ. เป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แค่นี้ชีวิตผมก็เปลี่ยนไปเยอะครับ สามปีที่ผ่านมามีจดหมายเขียนมาต่อว่าผมที่มหาวิทยาลัยหลายร้อยฉบับ ส่วนมากก็เขียนด้วยอารมณ์ใช้ภาษาหยาบคาย ไม่ลงชื่อผู้เขียน แต่บางคนผมรู้สึกเคารพเขาเพราะเขาลงชื่อที่อยู่มาอย่างชัดเจน ยังคิดด้วยซ้ำว่าจะหาเวลาตอบจดหมายเขาให้ได้”

สุดท้าย อาจารย์สุธาชัยวิเคราะห์ทางออกของสังคมไทยไว้ว่า

“เฉพาะหน้าถ้ารัฐบาลอยากจะปรองดอง ผมขอว่าคนเสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุมซึ่งโดนขังอยู่หลายร้อยคนตอนนี้ต้องได้รับการปล่อยตัว คนเหล่านี้คือนักโทษการเมือง การไม่เห็นด้วยกับรัฐไม่ใช่อาชญากร และผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ควรลาออกแล้วให้ใครก็ได้ในประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ถ้ายังทำการปรองดองต่อไปในสภาพแบบนี้ยากจะสำเร็จ ลองคิดดูว่าถ้าคุณมีญาติตายในเหตุการณ์ที่ผ่านมา คุณอยากสมานฉันท์หรือไม่ อยากลืมหรือไม่ ในขณะที่คู่กรณีของคุณมีอำนาจและเขาออกทีวีพูดเรื่องนี้ การทำแบบที่ผมบอกยังจะเป็นการพิสูจน์ว่าพรรคประชา-ธิปัตย์มีสมาชิกที่มีความสามารถไม่ใช่แค่คุณอภิสิทธิ์ การปรองดองรอบนี้อาจต้องอาศัยเวลานับสิบปีในกรณีเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่ทำความขัดแย้งจะขยายตัวลุกลามต่อไปและไม่จบลงง่าย ๆ แน่นอน

“เหตุการณ์ที่ผ่านมาเทียบได้กับ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คือมีการล้อมปราบและชนชั้นนำในสังคมไทยรวมตัวกันอย่างมีเอกภาพ ต่างกับเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมในปี ๒๕๓๕ ซึ่งในฐานะนักประวัติศาสตร์ผมต้องบอกว่าตอนนั้น พล.อ. สุจินดา คราประยูร ชนะหลังจากปราบผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย มันไม่ต่างกับคราวนี้ แต่ชนชั้นนำในตอนนั้นจำนวนมากถอนการสนับสนุนรัฐบาล เขาเลยพ่ายแพ้ไป ในคราวนี้ชนชั้นนำไม่ถอนการสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์แถมสนับสนุนอย่างเต็มที่ รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงเทียบได้กับรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่มีทหารเป็นเปลือก มีอำนาจนอกระบบครอบอยู่ แต่ประวัติศาสตร์มันเดินไปข้างหน้า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรค้ำฟ้า เราต้องยอมรับกันว่าวันนี้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

  • จากชื่อบทความเต็มคือ “หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สิทธิของผมถูกละเมิดสิทธิของคนในประเทศนี้ถูกละเมิดมากเกินไป” คำให้การจาก ผศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และความทรงจำ ๑๗๑ ชั่วโมงในค่ายทหาร. คอลัมน์ โลกใบใหญ่:บุคคลในข่าว นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓๐๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓