สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org

Rudolf Augstein รูดอล์ฟ ออกสไตน์ สื่อมวลชนผู้ยิ่งใหญ่หลังจากที่เราได้เห็นประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานมาหลายสิบปี ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมประชาธิปไตยจะก้าวหน้าได้ช้ามากหรือไม่ได้เลยถ้าหากสื่อไร้ซึ่งความเป็นอิสระหรือขาดเสรีภาพในการทำหน้าที่ เพราะ “ฐานันดรที่สี่” นั้นมีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลและคานอำนาจผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสซึ่งมักจะไร้เสียงและด้อยสิทธิในสังคม

ในยุคเว็บ ๒.๐ ที่พลเมืองสื่อสารกันเองผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ต้องอาศัยสื่อเก่าในการกลั่นกรองเรื่องราวต่าง ๆ อีกต่อไป หลายคนมองว่าสื่อมืออาชีพกำลังจะหมดความหมาย แต่อีกหลายคนรวมทั้งผู้เขียนคิดกลับกันว่าสื่อมืออาชีพยิ่งทวีความสำคัญ เพราะยิ่งเรารับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของสื่อมืออาชีพ โดยเฉพาะนักข่าวสืบสวนสอบสวน ในการช่วยเราแยกแยะข้อเท็จจริงรวมถึงวิเคราะห์เจาะลึกบริบทและเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในวงการข่าวสืบสวนสอบสวนหรือ “ข่าวเจาะ” ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีนักข่าวน้อยคนที่จะใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน ทรงอิทธิพลต่อชีพจรโลก และก่อตั้งสถาบันสื่อที่ได้รับความเชื่อถือต่อเนื่องยาวนานได้เทียบเท่า รูดอล์ฟ ออกสไตน์ (Rudolf Augstein, ค.ศ.๑๙๒๓-๒๐๐๒) ผู้ก่อตั้ง แดร์ ชปีเกิล (Der Spiegel) นิตยสารข่าวเจาะภาษาเยอรมันที่ทรงอิทธิพลสูงสุดฉบับหนึ่ง  ปัจจุบัน แดร์ ชปีเกิล มียอดขายกว่า ๑ ล้านฉบับในแต่ละสัปดาห์ เป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ที่ขายดีที่สุดในทวีปยุโรป แตกไลน์ไปทำนิตยสารสำหรับเด็ก นิตยสารสำหรับวัยรุ่น นิตยสารด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่นับเว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ และสารคดีอีกมากมายออกสไตน์เกิดในเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ๑๙๒๓  ไฟสงครามโลกครั้งแรกยังไม่มอดดี ไฟสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ปะทุขึ้น หนุ่มออกสไตน์เริ่มงานเป็นนักข่าวได้ไม่นานก็ไปเป็นทหารในกองทัพนาซี มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสารและผู้สังเกตการณ์ปืนใหญ่

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด เยอรมนีตกอยู่ในฐานะผู้แพ้ ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็น ๒ ส่วนตามอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ชนะ กองทัพอังกฤษมีดำริว่าอยากสนับสนุนสื่ออิสระของคนเยอรมัน เนื่องจากสมัยสงคราม สื่อเยอรมันมีแต่โฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี ไม่ก็ตกอยู่ในอาณัติของนาซี  ออกสไตน์รับเป็นบรรณาธิการบริหารด้วยวัยเพียง ๒๓ ปี

นิตยสารฉบับแรกวางจำหน่ายในชื่อ ดีส โวค (Diese Woche แปลว่า “สัปดาห์นี้”) โดยใช้โมเดลของ
นิตยสารข่าวจากอังกฤษและอเมริกาแต่เน้นหนักไปที่ข่าวสืบสวนสอบสวนขนาดยาว เป็นที่กล่าวขานอย่างรวดเร็วถึงความหนักแน่นของเนื้อหาและความเป็นอิสระ ทีมนักข่าวภายใต้การนำของออกสไตน์วิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่กองกำลังสัมพันธมิตร ส่งผลให้กองทัพอังกฤษตัดสินใจถอนตัวหลังจากนั้นเพียง ๕ เดือน และยกนิตยสารให้ออกสไตน์ดูแลเต็มตัว

rudolfaugstein02

แดร์ ชปีเกิล ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๖๒ ตีพิมพ์บทความ “พร้อมรบในขีดจำกัด”
เปิดโปงสภาพย่ำแย่ของกองทัพเยอรมนีจนนำไปสู่การจับกุมบรรณาธิการนิตยสาร
ที่มา : http://www.spiegel.de/spiegel/print/d-25673830.html

ดีส โวค เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แดร์ ชปีเกิล (“กระจก”) ตามคำแนะนำของบิดาออกสไตน์ ฉบับแรกออกวางจำหน่ายวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๗  ออกสไตน์สร้างชื่อให้นิตยสารอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสื่อที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในประเทศ  ข่าวเจาะชิ้นแรก ๆ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาคือ การตีแผ่ขบวนการติดสินบนสมาชิกรัฐสภาบางคนให้โหวตเลือกกรุงบอนน์เป็นเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก แทนที่จะเป็นแฟรงก์เฟิร์ท มหานครและศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป  ผลพวงจากกรณีอื้อฉาวในครั้งนั้นทำให้บอนน์ได้เป็นเมืองหลวงทั้งที่ “ไม่มีอะไรเลย” ในทัศนะเพื่อนชาวเยอรมันของผู้เขียน และก็ยังคง “ไม่มีอะไร” สืบมาจนปัจจุบัน

แดร์ ชปีเกิล ทำข่าวเจาะอย่างเข้มข้นจนได้รับสมญา “ปืนกลแห่งประชาธิปไตย” จากสื่อด้วยกันเอง กรณีอื้อฉาวที่นักประวัติศาสตร์ต้องบันทึกว่าเป็น “บททดสอบ” ครั้งสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งตั้งไข่ในเยอรมนี คือ “กรณีชปีเกิล” (Spiegel-Affäre) ในปี ๑๙๖๒ เมื่อ ฟรันซ์ สเตราส์ (Franz Strauss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขัดแย้งกับออกสไตน์และ แดร์ ชปีเกิล อย่างรุนแรง

ชนวนของความขัดแย้งปะทุขึ้นในปี ๑๙๖๑ เมื่อ แดร์ ชปีเกิล กล่าวหาสเตราส์ว่ารับสินบนจากบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งที่รัฐบาลว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารของกองทัพ  อย่างไรก็ตาม การสอบสวนของคณะกรรมการที่สภาฯ แต่งตั้งกลับไม่พบหลักฐานใดมัดตัวสเตราส์ได้  ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๖๒ แดร์ ชปีเกิล ตีพิมพ์บทความชื่อ “Bedingt abwehr-bereit” (“พร้อมรบในขีดจำกัด”) ข่าวเจาะชิ้นนี้เปิดโปงสถานภาพที่ย่ำแย่ของกองทัพเยอรมนีต่อหน้าภัยคอมมิวนิสต์ประชิดฝั่งตะวันออก (เยอรมนีตะวันออก ยุโรปตะวันออก และสหภาพโซเวียต) กองทัพเยอรมนีเพิ่งได้คะแนนความพร้อมจากนาโต้ในระดับต่ำที่สุด คือ “พร้อมป้องกันดินแดนในขีดจำกัดเท่านั้น”

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ตำรวจ ๓๖ นายบุกเข้าค้นสำนักงานใหญ่ในฮัมบูร์กและบ้านของนักข่าวหลายคน ยึดเอกสารไปหลายพันชิ้น จับกุมออกสไตน์และบรรณาธิการวารสาร ๒ คน คือ คลอส จาโคบี (Claus Jacobi) และ โยฮันส์ เองเกล (Johannes Engel) ในข้อหากบฏ  นักข่าวผู้เขียนบทความคือ คอนราด อาห์เลอร์ส (Conrad Ahlers) ถูกตำรวจบุกจับในโรงแรมกลางดึกขณะลาพักร้อนในสเปน ตำรวจตรึงกำลังในสำนักงานของ แดร์ ชปีเกิล และห้ามนักข่าวเข้าทำงาน เป็นการล่ามแท่นพิมพ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เยอรมนีหลังสงครามโลก

คอนราด อาเดเนาเออร์ (Konrad Adenauer) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในสมัยนั้นรู้ดีว่าสเตราส์อยู่
เบื้องหลัง  ความไม่ชอบธรรมของการระราน แดร์ ชปีเกิล ครั้งนี้ก่อให้เกิดการประท้วงและจลาจลทั่วเยอรมนี  ตอนแรกสเตราส์ปฏิเสธต่อหน้ารัฐสภาว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็น แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเขาได้โทรศัพท์ไปหากองทัพเยอรมนีในสเปน สนับสนุนให้จับอาห์เลอร์ส  ในเมื่อความแตกแล้วว่าสเตราส์โกหกสภาฯ รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล FDP ๕ คนจึงประกาศลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน เรียกร้องให้รัฐบาลไล่สเตราส์ออก สถานการณ์ล่อแหลมนี้ทำให้อาเดเนาเออร์ตกที่นั่งลำบาก เขาถูกประชาชนประณามว่าสนับสนุนการปิดปากสื่ออิสระด้วยทรัพยากรของรัฐ

หลังจากที่เผชิญกับการประท้วงอย่างต่อเนื่องยาวนานของประชาชน ในที่สุดตำรวจก็ยอมถอนกำลังออกจากสำนักงานของ แดร์ ชปีเกิล ปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๖๒  ต่อมาในเดือนธันวาคม อาเดเนาเออร์ก็ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เที่ยวนี้ไม่มีสเตราส์ เพราะเขาทนแรงกดดันจากสังคมไม่ไหวยอมไขก๊อกลาออกในที่สุด

ออกสไตน์ถูกคุมขังในเรือนจำนานถึง ๑๐๓ วันก่อนจะถูกปล่อยตัว

ในปี ๑๙๖๕ ศาลอุทธรณ์เยอรมนีปฏิเสธที่จะพิจารณาคดีกบฏของออกสไตน์และอาห์เลอร์ส โดยให้เหตุผลว่า ระหว่างที่เกิดกรณีอื้อฉาวนั้นสเตราส์ได้ล้ำเส้นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักข่าว แดร์ ชปีเกิล  อย่างไรก็ตามสเตราส์ไม่ถูกศาลตัดสินลงโทษเนื่องจากเขาให้การว่ากระทำไปโดยเชื่อว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว (Verbotsirrtum)

คดีนี้เป็นคดีแรก ๆ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี คำพิพากษาของศาลในคดีนี้นับเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่การคุ้มครองเสรีภาพสื่อในเยอรมนีสืบมา

rudolfaugstein03

การปิดกั้นสื่อ แดร์ ชปีเกิล นำไปสู่การประท้วงของประชาชนทั่วเยอรมนี
ที่มา : http://www.demokratiegeschichte.eu/index.php?id=148

กรณี แดร์ ชปีเกิล ทำให้อาชีพทางการเมืองของสเตราส์ต้องสะดุดลงกลางคันและไม่ฟื้นคืนมาอีกเลย-เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีปี ๑๙๘๐ ให้แก่ เฮลมุท ชมิดท์ (Helmut Schmidt) อย่างขาดลอยแต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การกลั่นแกล้งสื่อคุณภาพอย่าง แดร์ ชปีเกิล ได้จุดประกายให้คนเยอรมันจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนนเป็นครั้งแรกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับเป็นจุดเปลี่ยนสังคมจากระบอบเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ออกสไตน์ไม่ใช่สื่อมวลชนผู้ทรงอิทธิพลคนแรกและคนสุดท้ายที่สนใจจะเปลี่ยนอาชีพเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัว เขาลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาฯ ในปี ๑๙๗๒ แต่ปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงปีเดียวก็ตัดสินใจกลับไปกุมบังเหียน แดร์ ชปีเกิล ตามเดิม ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่าเขาตัดสินใจถูกแล้ว เพราะเขามีอิทธิพลในฐานะบรรณาธิการ แดร์ ชปีเกิล มากกว่าในฐานะนักการเมือง

ออกสไตน์ไม่ได้เป็นแค่นักข่าวเจาะผู้เก่งกาจและไม่กลัวใคร แต่เขายังเป็นผู้นำเปี่ยมวิสัยทัศน์ที่วางโครงสร้างองค์กรอย่างรัดกุมเพื่อรับประกันว่าจะไม่มีใครแทรกแซงการบริหารงานของ แดร์ ชปีเกิล ได้ หลังจากที่เขาซื้อหุ้นจากบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ กลายเป็นเจ้าของ แดร์ ชปีเกิล คนเดียวในปี ๑๙๖๙  ต่อมาในปี ๑๙๗๔ ออกสไตน์ก็เปลี่ยนโครงสร้างบริษัท พนักงานที่ทำงานมากว่า ๓ ปี ไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็ตาม (นักข่าว แม่ครัว ยาม ฯลฯ) จะได้รับโอกาสเป็นผู้ถือหุ้นขององค์กร และมีส่วนแบ่งในผลกำไร  โครงสร้างนี้ทำให้ปัจจุบันพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นใน แดร์ ชปีเกิล ถึงร้อยละ ๕๐.๕  ที่เหลืออีกร้อยละ ๒๔.๕ และร้อยละ ๒๕ อยู่ในมือครอบครัวออกสไตน์และนักลงทุนตระกูลหนึ่ง

ในเมื่อออกสไตน์เขียนข้อบังคับของบริษัทไว้ว่า การตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ จะต้องใช้หุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ดังนั้นจึงเท่ากับว่าไม่มีทางที่ใครจะแทรกแซงหรือซื้อกิจการของ แดร์ ชปีเกิล ได้ถ้าหากพนักงานไม่ยินยอม โครงสร้างนี้ทำให้ แดร์ ชปีเกิล ดำรงความเป็นอิสระสืบมาจวบจนปัจจุบัน

ออกสไตน์เสียชีวิตในปี ๒๐๐๒ ด้วยโรคนิวโมเนียขณะอายุ ๗๙ ปี  ก่อนหน้านั้น ๒ ปีเขาได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “วีรบุรุษของเสรีภาพสื่อโลก” ๕๐ คน โดยสถาบันสื่อนานาชาติ International Press Institute และได้รับรางวัล “นักข่าวแห่งศตวรรษ” จากสื่อมวลชนเยอรมัน ๑๐๑ คน  ตลอดชีวิตเขาแต่งงาน ๕ ครั้ง และเขียนบทวิจารณ์ลง แดร์ ชปีเกิล อย่างสม่ำเสมอ

ในยุคโซเชียลมีเดียที่คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง หนังสือพิมพ์ทั่วโลกทยอยปิดตัวหรือไม่ก็ต้องก้มหัวให้โฆษณาเพื่อชดเชยยอดขาย ทำให้ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ภาคธุรกิจได้อีกต่อไป แดร์ ชปีเกิล ยังคงขายได้เกิน ๑ ล้านฉบับต่อสัปดาห์อย่างคงเส้นคงวา สาเหตุหลักเป็นเพราะสื่อฉบับนี้ไม่ขายข่าวรายวัน (ซึ่งไม่มีทางเร็วสู้โซเชียลมีเดียได้) เน้นแต่ข่าวเจาะและบทวิเคราะห์เข้มข้นซึ่งเป็นจุดยืนและจุดขายมาตลอด ๖๐ ปี ยากที่สื่อค่ายอื่นจะลอกเลียนแบบ

นักข่าว แดร์ ชปีเกิล เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ปรกติกองบรรณาธิการจะส่งนักข่าว ๓ คนไปทำข่าวสืบสวนสอบสวน ๑ เรื่องภายในเวลา ๖ เดือน เมื่อเขียนข่าวเจาะเสร็จแล้วก็ต้องผ่านการตรวจสอบและกลั่นกรองอย่างเข้มงวดจากฝ่าย Spiegel Archive (กรุข้อมูลชปีเกิล) ซึ่งมีคนทำงานถึง ๗๐ คน คิดเป็นเกือบ ๑ ใน ๓ ของพนักงานทั้งองค์กร ๒๐๐ กว่าคน ตัวเลขนี้น่าจะแปลว่าเป็นฝ่ายตรวจสอบข้อมูลของสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบบทความทุกชิ้นก่อนตีพิมพ์ และดูแลกรุข้อมูลขนาดใหญ่ของ แดร์ ชปีเกิล

ฝ่ายตรวจสอบไม่ได้ตรวจเพียงความถูกต้องของข้อมูลและคำสะกดผิดเท่านั้น แต่ยังตรวจ “ความเป็นเหตุเป็นผล” ของบทความด้วย ถึงแม้นักข่าวสะกดคำไม่ผิดเลยและใช้ข้อมูลที่ถูกต้องทุกประการ แต่ถ้าบทสรุปไม่เชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลกับข้อมูลที่ใช้ แดร์ ชปีเกิล ก็จะยังไม่ตีพิมพ์บทความ นักข่าวต้องกลับไปแก้ใหม่  ขั้นตอนที่เคร่งครัดรัดกุมเหล่านื้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ แดร์ ชปีเกิล ได้รับความเชื่อถืออย่างไม่เสื่อมคลายในแง่ของความเป็นมืออาชีพ

ในยุคที่ “ข่าวเจาะ” หลายประเทศกำลังจะตายเพราะขายโฆษณาไม่ได้  “สื่อมวลชน” หลายคนก็ประพฤติตนเป็น “ดารา” มากกว่าสื่อ และสื่อหลายค่ายก็เรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยไม่ทำหน้าที่ให้คู่ควรกับเสรีภาพที่ได้รับสักเท่าไร  ชีวิตและผลงานของ รูดอล์ฟ ออกสไตน์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเยอรมนีและคน (ไม่) สำคัญของโลก น่าจะช่วยเตือนใจเราว่า สื่อมืออาชีพไม่จำเป็นจะต้องวิ่งไล่ตามโซเชียลมีเดียให้ทัน และไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นอีกเพียงใดในอนาคต “ความเป็นมืออาชีพ” และถึงอย่างไร “ความเป็นอิสระ” ของสื่อโดยเฉพาะในการตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนในสังคมอันเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ก็ยังเป็นที่ต้องการเสมอ