boardgame01

จากคอลัมน์ โลกวิทยาการ “เล่นจนเป็นเรื่อง”
สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org

“เราเป็นนักสังหารเองแหละ ตานี้จะฆ่าพระราชา เอาเงิน ๒ เหรียญ และสร้างห้องสมุดนะ”

“อะไรเนี่ย เรือจะตกหน้าผาอยู่แล้ว ยังจะงกเอาเพชรอยู่อีก”

“โอเค ตานี้จะวางไข่มดงาน ๒ ตัวในทุ่งหญ้า ยกขบวนมดไปขนแมลงปอ แล้วก็สร้างรังเพิ่ม”

“ราคาประมูลโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขึ้นไปถึง ๖๐ บาทแล้ว ผ่านก่อนดีกว่า รอประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบหน้าก็ได้”

ถ้าท่านเดินผ่านมาได้ยินบทสนทนาทำนองนี้โดยบังเอิญ อาจสงสัยว่าคนพวกนี้กำลังสุมหัวกันทำอะไร พูดไปหัวเราะไป ฟังไม่เห็นรู้เรื่องเลย

เปล่า นี่ไม่ใช่การสมคบคิดหรือทุ่มเถียงของเหล่ามือปืนรับจ้าง นักผจญภัยมืออาชีพ นักธรรมชาติวิทยาเลือดอุ่น หรือนักอุตสาหกรรมเลือดเย็นแต่อย่างใด เป็นเพียงบทสนทนาในวงเล่นบอร์ดเกมสมัยใหม่ ซึ่งเดินทางมาไกลมากแล้วจาก “เกมกระดาน” แบบดั้งเดิมที่เรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นเคยอย่างเกมเศรษฐีหรือเกมงูตกบันได แต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก

ความแตกต่างระหว่างเกมเศรษฐีกับบอร์ดเกมสมัยใหม่ อาจเปรียบได้กับความแตกต่างระหว่างรถม้ากับรถแข่ง–สองสิ่งแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เว้นแต่ว่าเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทางเหมือนกัน

“บอร์ดเกมสมัยใหม่” ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นครั้งแรกราวปี ค.ศ. ๑๙๙๕ เมื่อเกมชื่อ Settlers OF CATAN โดย คลอส ทอยแบร์ (KLAUS TEUBER) นักออกแบบเกมชาวเยอรมัน (ขณะนั้นยังออกแบบเกมเป็นงานอดิเรก งานประจำของเขาคือช่างเทคนิคทันตกรรม) ทำยอดขายถล่มทลายในยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันเป็นบอร์ดเกมสมัยใหม่ที่ขายดีที่สุดในโลก จนถึงวันนี้ทำยอดขายได้แล้วกว่า ๑๕ ล้านกล่อง หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายของเล่นและห้างสรรพสินค้า Settlers of Catan จุดประกายให้คนสนใจเกมวางแผนแบบเยอรมันอย่างกว้างขวาง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้บอร์ดเกมสมัยใหม่กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นหลายสิบล้านคนทั่วโลก มีการจัดการแข่งขันชิงรางวัลและพบปะสังสรรค์ระหว่างนักออกแบบเกมกับนักเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอ  งานเกมนานาชาติ (Internationale Spieltage SPIEL, WWW.INTERNATIONALESPIELTAGE.DE) ซึ่งจัดขึ้นปีละ ๔ วันในเดือนตุลาคม ที่เมืองเอสเซ็น (Essen) ประเทศเยอรมนี เปรียบเสมือนเทศกาลรางวัลออสการ์ในโลกภาพยนตร์ ดึงดูดนักเล่นบอร์ดเกมทั่วโลกกว่า ๑๕๔,๐๐๐ คน  ฐานข้อมูลของ Boardgamegeek (WWW.BOARDGAMEGEEK.COM) เว็บไซต์เกี่ยวกับบอร์ดเกมที่ดีที่สุดในโลก มีข้อมูลเกี่ยวกับบอร์ดเกมกว่า ๔๕,๐๐๐ เกม  บริษัทผู้ผลิตบอร์ดเกมนับพันแห่งทั่วโลกแต่ละปีออกเกมใหม่รวมกันเป็นหลักร้อย สนนราคาอยู่ระหว่าง ๓๐๐-๓,๐๐๐ บาท เลือกซื้อได้ตามรสนิยมและขนาดกระเป๋าของคนเล่น

แต่ความ “เจ๋ง” ของบอร์ดเกมสมัยใหม่ที่เจ๋งจริงคืออะไร แตกต่างจากเกมเศรษฐีหรือเกมงูตกบันไดตรงไหนกัน ?

ยากที่ผู้เขียนจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพว่าบอร์ดเกมสมัยใหม่นั้นสนุกอย่างไร เพราะชั้นเชิงทางการเขียนของผู้เขียนยังอ่อนด้อยเกินกว่าที่จะถ่ายทอดชั้นเชิงในการเล่นออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างแจ่มชัด ยังไม่นับว่าความสนุกของบอร์ดเกมที่สนุกนั้นคล้ายกันกับความสนุกของภาพยนตร์หรือหนังสือที่สนุก นั่นคือ ไม่ลองเองไม่มีทางรู้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะพยายามสื่อให้อย่างน้อยท่านรู้สึกว่า บอร์ดเกมสมัยใหม่นั้น “น่าสนุก”  จะได้ไปลองซื้อหามาเล่นบ้าง

ความ “เจ๋ง” ที่สำคัญของบอร์ดเกมสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งอยู่ตรงที่นักออกแบบได้กำจัดข้อจำกัดใหญ่ของเกมเศรษฐีสำเร็จ  ข้อจำกัดที่ว่าคือความที่มันอาศัยโชคเป็นหลัก ใครโชคร้ายทอยลูกเต๋าออกมาไม่ดีก็มีแนวโน้มน้อยมากที่จะเป็นผู้ชนะ ใครโชคดีเวลาทอยลูกเต๋าก็ชนะได้ไม่ยาก  ส่วนวิธีชนะในเกมนี้ก็ไม่ได้มีหลายวิธี  “กลยุทธ์” หนึ่งเดียวที่ใช้ได้คือ ซื้อที่ดิน บ้าน และโรงแรม ทุกที่ที่เราเดินไปตก เท่าที่เรามีเงินซื้อ โดยเฉพาะที่ดินแพง ๆ เสร็จแล้วก็ร้องเพลงรอเก็บค่าเช่าจากผู้โชคร้ายที่บังเอิญเดินมาตกในที่ของเรา

นอกจากจะอาศัยโชคเป็นหลักและไม่เปิดช่องให้คนใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันจริง ๆ แล้ว เกมเศรษฐียังมีข้อจำกัดอื่น ๆ ซึ่งทำให้มัน “ไม่สนุก” สำหรับคนที่ชอบวางแผนมากกว่ารอให้โชคเข้าข้าง เช่น อยู่ดี ๆ ถ้าใครจับได้ไพ่ “ไปคุก” กับ “ล้มละลาย” คนคนนั้นก็ต้องไปเข้าคุกหรือล้มละลาย ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด (ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนเกลียดไพ่ “ล้มละลาย” ในเกมเศรษฐีมากเพราะมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ดังนั้นจึงโยนไพ่ใบนี้ทิ้งหลังจากเล่นเกมนี้ไปไม่กี่ครั้ง)

ข้อจำกัดเหล่านี้อาจไม่เคยเป็นข้อจำกัดในสายตาของคนที่ไม่เคยเล่นเกมอื่นนอกเหนือจากเกมเศรษฐี จึงไม่รู้ว่าบอร์ดเกมทำอะไรได้บ้างนอกจากให้เราทอยลูกเต๋าแล้วเลือกตัดสินใจง่าย ๆ ไม่กี่อย่างว่าจะทำอะไร

บอร์ดเกมสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนักเล่นเกมว่า “สนุก” และ “เจ๋ง” นั้นมีลักษณะร่วมกันหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

boardgame02

๑. ไม่กำจัดผู้เล่นก่อนเกมจบ
ลักษณะหนึ่งของบอร์ดเกมสมัยเก่าคือ เป็นไปได้ที่ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะเล่นเก่งมาก ๆ (หรือที่เป็นไปได้มากกว่าคือ โชคดีกว่าคนอื่นมาก) ทำคะแนนนำคนอื่นฉิวจนไม่มีทางที่ใครจะตามทัน  ยกตัวอย่างในเกมเศรษฐี ถ้าใครได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ในเกม คนคนนั้นก็น่าจะชนะแบบนอนมาไม่ต้องลุ้น ทำให้คนอื่นอาจเบื่อที่จะเล่นจนจบเกมเพราะเล่นยังไงก็แซงหน้าไม่ได้ เท่ากับว่าผู้เล่นหลายคนถูก “กำจัด” (แพ้แน่ ๆ) นานหลายตาก่อนเกมจบ

นักออกแบบเกมสมัยใหม่มองว่า การกำจัดผู้เล่นก่อนเกมจบนั้นเป็น “บาป” ประการหนึ่งซึ่งไม่ควรทำ เพราะการเล่นบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมกลุ่มของคนหลายคน (บอร์ดเกมปรกติจะเล่นได้ระหว่าง ๒-๕ คน) ถ้ามีใครถูกทิ้งห่างมากและไม่มีทางพลิกสถานการณ์ได้ คนคนนั้นหรือหลายคนนั้นจะเริ่มเบื่อหน่ายไม่อยากเล่น สุดท้ายคนที่มีคะแนนนำก็จะสนุกอยู่คนเดียว ทำให้ช่วงท้าย ๆ ของเกมเปลี่ยนจาก “กิจกรรมกลุ่ม” ที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างสนุกสนาน กลายเป็น “กิจกรรมข้ามาคนเดียว” ที่คนอื่นนั่งดูด้วยความเซ็ง

บอร์ดเกมสมัยใหม่หลายเกมขจัดปัญหานี้ด้วยการออกแบบให้ผู้เล่นมีวิธีได้คะแนนหลายวิธี และคะแนนส่วนหนึ่งต้องรอลุ้นผลการนับตอนจบ เช่น คะแนนครึ่งหนึ่งในบอร์ดเกมเกี่ยวกับโจรสลัด Merchants & MARAUDERS มาจากสมบัติที่ผู้เล่น (โจรสลัด) แต่ละคนใส่เข้าหีบระหว่างการผจญภัย ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าโจรสลัดแต่ละคนสะสมสมบัติเท่าไร ทุกคนเปิดหีบออกมานับหลังจากจบเกมแล้วเท่านั้น ทำให้ผู้ชนะอาจไม่ใช่คนที่มีคะแนนนำมาตลอดก็ได้

บอร์ดเกมที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นบอร์ดเกมที่ให้ทุกคนรู้สึกว่า “มีลุ้น” ก่อนเกมจบ และมีหลายวิธีที่จะพลิกสถานการณ์ได้ เมื่อมีลุ้นทุกคนก็จะรู้สึกสนุกไปตลอดเกม ไม่มีใครถูกเพื่อนทิ้งห่างไว้ข้างหลัง

๒. วางแผนมากกว่าโชค ทำให้ได้ฝึกสมองและประลองทักษะจริงๆ
บอร์ดเกมสมัยใหม่มีมากมายหลายชนิดและรูปแบบ  เกมที่ออกแบบมาให้เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นดี นั้นมักจะมีโชคเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะเด็ก ๆ ไม่อาจวางแผนได้อย่างแยบยล (และเต็มไปด้วยเล่ห์กล) เท่ากับผู้ใหญ่  การใช้โชค (เช่นทอยลูกเต๋า) จึงเป็นกลไกให้เด็กได้มี “แต้มต่อ” พอแข่งกับผู้ใหญ่ได้  ส่วนเกมที่เน้นให้ผู้ใหญ่เล่นเป็นหลักมักจะถูกออกแบบมาอย่างรัดกุม เปิดโอกาสให้ใช้ทักษะการวางแผนมากกว่ารอโชคช่วย

ยกตัวอย่างเช่น ในบอร์ดเกม Power Grid ซึ่งให้เราแข่งกันบริหารโรงไฟฟ้า เราจะได้เงินในเกม (ซึ่งใช้ซื้อหรืออัปเกรดโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ) ก็ต่อเมื่อเราส่งไฟฟ้าขายเมืองต่าง ๆ ได้ตามที่เราสัญญา ซึ่งก็จะต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบ ตั้งแต่วางแผนว่าจะประมูลซื้อโรงไฟฟ้าโรงไหน ใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนระหว่างถ่านหิน น้ำมัน นิวเคลียร์ ขยะ (ชีวมวล) หรือพลังงานหมุนเวียน (ถ่านหินถูกที่สุด แต่มีทรัพยากรน้อยลงเรื่อย ๆ) และจะส่งไฟฟ้าให้แก่เมืองไหนบ้าง  ทั้งหมดนี้แปลว่าคนเล่น Power Grid ต้องวางแผนมากกว่าคนเล่นเกมเศรษฐีหลายเท่า คนเล่นเกมเศรษฐีได้เงินจากความโชคร้ายของคนอื่นเท่านั้น กว่านักอุตสาหรรมใน Power Grid จะได้เงินแต่ละที เลือดตาแทบกระเด็น

๓. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่น
ในโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่เกมคอมพิวเตอร์กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก เด็กตัวเล็ก ๆ หลายคนกดแป้นคีย์บอร์ดเป็นก่อนพูดเป็นประโยค  เสน่ห์ของบอร์ดเกมสมัยใหม่ซึ่งเกมคอมพิวเตอร์สู้ไม่ได้คือ การได้หยอกล้อ กลั่นแกล้ง แข่งขัน หรือร่วมมือกันซึ่งหน้า  ถ้าเราอยากรู้ว่าเพื่อนเราเป็นคนอย่างไรจริง ๆ การเล่นบอร์ดเกมด้วยกันก็เป็นวิธีต้นทุนต่ำที่ได้ผลดีพอสมควร ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายเหมือนกับไปปีนเขา เพราะบอร์ดเกมสมัยใหม่ที่เจ๋งจริงนั้นถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจริง ๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาเล่นโดยไม่ต้องสนใจคนอื่น

๔. “หน้าเค้ก” ที่ล่อตาล่อใจ
บอร์ดเกมยอดนิยมหลายเกมมี “หน้าเค้ก” เป็นสีสันที่ทำให้มันดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่อย่างไม่ยากเย็น เปรียบได้กับปกหนังสือที่ดูสวยงามน่าหยิบ เช่น ออกแบบชิ้นส่วนและบอร์ดมาอย่างสวยงามน่าเล่น หลายเกมไม่ได้เป็นแค่เกมนามธรรมเหมือนหมากรุก หรือหมากล้อม แต่มี “ธีม” น่าสนใจที่สอดรับกับกลไกการเล่น และทำให้บอร์ดเกมใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้อย่างดีเยี่ยม เช่น เกม London ให้เราแข่งกันฟื้นฟูกรุงลอนดอนหลังถูกไฟไหม้ใหญ่ ค.ศ. ๑๖๖๖ จนถึง ปี ๑๙๐๐  ขณะที่เราสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เราก็ต้องรับมือกับความยากจนที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนั้นด้วย (ยิ่งจนยิ่งทำให้คะแนนติดลบ) เหมือนกับลอนดอนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์

ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นเป็นเพียงบทสรุปโดยสังเขปว่า บอร์ดเกมสมัยใหม่ที่ว่า “เจ๋ง” นั้นเจ๋งอย่างไร  ผู้เขียนในฐานะแฟนบอร์ดเกมสมัยใหม่ขออาสานำบอร์ดเกม โลกของบอร์ดเกม ตลอดจนกลไกและแนวคิดเบื้องหลังบอร์ดเกมสมัยใหม่ มาแนะนำให้ท่านรู้จักตั้งแต่ตอนหน้าเป็นต้นไป เผื่อว่าใครอ่านคอลัมน์นี้แล้วจะนึกอยาก “เล่นจนเป็นเรื่อง” เหมือนกัน