สัมภาษณ์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรียบเรียง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
ประเทศไทยปลายปี ๒๕๕๔ ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งช่วงแรกดูจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาๆ ในช่วงหน้าฝน จะลุกลามบานปลายขยายขอบเขตความเสียหายกระทั่งกลายเป็นวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
พื้นที่ประสบภัยพิบัติครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดทางภาคเหนือไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางตอนล่าง ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรม บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ศาสนสถาน โบราณสถานหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำ ไม่เว้นแม้กระทั่งจังหวัดกรุงเทพมหานครทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ระบบป้องกันภัยทั้งหลายพ่ายแพ้ให้แก่มวลน้ำมหาศาลที่ไหลทะลักลงมาจากตอนบน
ท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติที่คนไทยทั้งประเทศกำลังสับสนกับรายงานข่าวที่ฟังเข้าใจยาก และประกาศเตือนภัยที่ดูจะผิดไปจากเหตุการณ์จริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าของภาครัฐ บนหน้าจอโทรทัศน์ช่องสถานีทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส ก็ปรากฏภาพของนักวิชาการอิสระ ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์น้ำรายวันด้วยคำอธิบายที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย พร้อมด้วยแผนภาพแสดงเส้นทางการไหลของน้ำว่ากำลังเคลื่อนจากทิศทางใด มุ่งหน้าไปทางไหน จะไหลบ่าเข้าท่วมถนนหรือล้นพนังกั้นน้ำใด มีผลให้พื้นที่ใดบ้างได้รับผลกระทบ น้ำจะท่วมสูงมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันยังชี้แนะแนวทางป้องกันชนิดที่หน่วยงานราชการต้องเงี่ยหูฟังและนำไปปฏิบัติตาม