ได้ข่าวว่า สารคดี จะทำสกู๊ปเรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อยากจะฝากให้ช่วยค้นด้วยว่า เหตุใดคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงตั้งชื่อว่า คณะราษฎร สงสัยมาตั้งแต่ สารคดี ทำสกู๊ปเรื่องเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว
(แฟน สารคดี / จ.นนทบุรี)
ถ้าคุณ “แฟนสารคดี” ไม่ถามเรื่องนี้มา ” ซองคำถาม” ก็จะไม่รู้หรอกว่า ชื่อ “คณะราษฎร” นี้ เคยเป็นประเด็นที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อการฯ ถูกโจมตีว่าร้ายมาก่อน
เรื่องมีอยู่ว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ได้โจมตีว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วย
ในเรื่องนี้ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้โต้ว่า ในสมัยสมบูรณาฯ นั้น บุคคลไม่มีสิทธิรวมกันก่อตั้งคณะการเมือง ฉะนั้นการก่อตั้งคณะการเมืองจึงต้องทำเป็นการลับ และยิ่งเป็นคณะการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ล้มระบอบสมบูรณาฯ แล้ว ก็ยิ่งต้องก่อตั้งคณะเป็นการลับมาก ไม่อาจประกาศป่าวร้องให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในคณะการเมืองได้
ทั้งไม่เคยปรากฏในตำรารัฐศาสตร์ของประเทศใดมาก่อนที่สอนว่า ถ้าจะตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมืองที่แปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ราษฎร” หรือ “ประชาชน” แล้ว จะต้องเสนอให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนเท่าใดรู้เห็นด้วยก่อน กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีคนตั้งชื่อพรรคว่า “พรรคราษฎร” “พรรคประชาชน” และ “พรรคสหประชาชนไทย” (จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า) ก็ไม่เห็นจะต้องขอความเห็นชอบจากประชาชน ดังนั้นข้อกล่าวหาของฝ่ายปรปักษ์จึงตกไป
ท่านปรีดีเล่าไว้ว่า ตัวท่านเองเป็นผู้เสนอชื่อ “คณะราษฎร” ต่อที่ประชุมที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๔๗๐ เหตุที่เสนอชื่อนี้ก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่า ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”
อนึ่งในระยะนั้นองค์การหรือสมาคมการเมืองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “political party” หรือที่เรียกโดยย่อว่า “party” ยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” แต่ใช้คำว่า “คณะ”
ที่มาของชื่อ “คณะราษฎร” ก็เป็นอย่างที่เล่ามานี้ หากต้องการอ่าน “เวอร์ชัน” ที่ละเอียดพิสดาร โปรดดูจากหนังสือ กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (๒๔๗๕-๒๕๒๕) จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (กศป.)