ใช่…การได้ทำอะไรตามใจตัวเองคือความสุขที่เราต้องการ แต่บนเส้นทางแห่งความรัก ไม่ว่าจะทำอะไรเราก็ต้องนึกถึงจิตใจของใครอีกคนหนึ่งด้วยเสมอ ว่าเขาจะเสียความรู้สึกกับสิ่งที่เราทำหรือเปล่า  ซึ่งผมเป็นคนที่แย่มากๆ ผมทำอะไรจะไม่แคร์ความรู้สึกของเธอเลย ไม่เคยเห็นคุณค่าความรักของเธอ บางครั้งพูดอะไรไม่ดีออกไปโดยไม่คิดว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร แต่เธอก็ทนผมมาได้ และไม่เคยเกลียดผมเลย

ความรักของผมใช้เวลาในการสร้างความผูกพันยาวนาน เวลา ๓ ปีกว่าที่เราเป็นแฟนกัน ผมรู้…ทุกนาทีที่อยู่ในความทรงจำไม่ได้สวยงามนักหรอก คงเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อมีสุขก็ต้องมีทุกข์ เมื่อมีรอยยิ้มก็ต้องมีหยดน้ำตา  การที่คนสองคนมาจากพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่างมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลงรอยและเข้าใจกันได้ทุกอย่าง และนั่นก็คือสาเหตุที่ทำให้บางทีความรักของคนสองคนจึงจำเป็นต้องมีคำว่าอดทนกันบ้าง ซึ่งจิ๊กทำได้ดีมาโดยตลอด ผมรักเธอมาก แต่ผมเป็นคนที่ไม่แสดงออก ไม่บอกว่าผมรักเธอขนาดไหน ทำให้เธอเข้าใจผมผิดมาโดยตลอดเวลาว่า “ไม่เคยเห็นคุณค่าของเธอเลย”

หลังจากเหตุการณ์ร้ายๆ ผ่านไป ผมก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยมีจิ๊กนี่แหละเป็นหลักชี้นำทางให้ผมเดินไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่เดินไปตกเหวอีก…

ผมเรียนด้านบัญชีครับ ตั้งแต่จำความได้ผมเป็นหนึ่งในประชากรโลกที่หลงใหลในตัวเลข การคิดคำนวณ การวิเคราะห์ต่างๆ ตั้งแต่ชั้น ป.๑ ถึง ป.๖ วิชาคณิตศาสตร์ผมได้เกรด๔ ทุกปี วิชานี้เป็นวิชาที่ชื่นชอบมากจึงตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ผมสงบนิ่งอยู่กับตัวเลขเหล่านั้นอย่างจริงจังราวกับมีโลกส่วนตัว พอได้เข้าเรียนระดับ ปวส. ผมก็ได้ทำในสิ่งที่ถนัดดั่งใจหวัง ผมเรียนสาขาบริหารธุรกิจ แผนกการบัญชี ผมนำความสามารถและพรสวรรค์ตอนเด็กออกมาใช้ได้อย่างเต็มตัวเต็มความสามารถ ผมอยู่กับตัวเลขเปรียบเสมือนนักถอดรหัสที่ต้องการจะรู้รหัสให้ได้ บนความตั้งใจของผมที่ต้องการเรียนให้ดีจึงเกิดความทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้ แล้วผมก็ทำได้และทำได้ดี สองปีผ่านไป ผมได้รับรางวัลการเรียนดีเด่นจากเกรดเฉลี่ย ๓.๔๘ เป็นรางวัลที่ผมภาคภูมิใจเป็นที่สุด

อย่างไรก็ตามผมก็ยังคบหาสมาคมกับเพื่อนกลุ่มเดิม จึงมีความเป็นไปได้เสมอที่ผมจะก่อความผิดอีก

วันที่ศาลอุทธรณ์นัดตัดสินคดีความ–ผมเฝ้าภาวนาอย่าให้วันนี้มาถึงเลย

เก้านาฬิกาของวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ห้องพิจารณาคดีอาญา ในห้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ผมกลับอึดอัดยังไงไม่รู้สิ เก้าอี้ที่ผมนั่งเป็นไม้ยาว ๓ เมตรได้จัดเรียงไว้ ๓ แถว ผมนั่งแถวกลางโดยมีพ่อ แม่ และจิ๊กนั่งอยู่ข้างๆ อย่างเงียบกริบ ข้างหน้าเป็นบัลลังก์ของท่านผู้พิพากษา  มองไปทางซ้ายเป็นหน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่ มองเห็นการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุดของรถยนต์  สักพักเสียงเปิดประตูจากหน้าห้องดังขึ้น ผมหันหน้าไปมองก็มีเด็กวัยรุ่นพร้อมกับผู้ชายวัยกลางคนเดินเข้ามานั่งในห้องพิจารณาคดี และนั่งลงที่เก้าอี้แถวหน้าติดกับกระจกบานใหญ่

ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างพังทลายลงต่อหน้าต่อตาอีกครั้งเมื่อท่านผู้พิพากษารูปร่างเล็ก ใส่แว่นตาหนาเตอะ แก่จนแทบจะเดินขึ้นบัลลังก์ของศาลไม่ไหว ท่านอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ตัดสินให้ผมไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายแห่งหนึ่ง (เหมือนเดิม) เป็นเวลาขั้นต่ำ ๓ ปี ขั้นสูง ๔ ปี นับตั้งแต่วันที่ตัดสิน

นี่เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมต้องกลับไป “ติดคุกเด็ก” ชดใช้ความผิด

ทำไมความดีที่ผมทำตลอด ๒ ปีที่ผ่านมาไม่มีใครมองเห็นเลย ผมตั้งใจเรียนจนจบ ปวส. และได้ผลการเรียนดีเด่นเกรดเฉลี่ยร่วม ๓.๔๘ มีงานมีการทำ เลิกเที่ยวไปมากกว่าเมื่อครั้งก่อนแล้ว อนาคตกำลังไปได้ด้วยดีต้องมาจบลงอย่างหมดหวังและสิ้นหวังอย่างนั้นหรือ

ผมเฝ้าแต่โทษโชคชะตา แต่กลับไม่โทษตัวเองที่ทำความผิดอย่างมหันต์ที่ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นพ่อของลูก เป็นสามีของผู้หญิงคนหนึ่ง ต้องจากไปโดยไม่มีวันกลับคืนมาอีก ความโกรธเกลียดที่สิงอยู่ในร่างกายผมลุกตื่นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ผมถูกตำรวจของศาลใส่กุญแจมือและนำตัวออกจากห้องพิจารณาคดีไปในห้องขังชั้นล่างของตึก เป็นห้องขังสี่เหลี่ยม มีห้องน้ำในตัว ๒ ห้อง ในห้องขังมีเยาวชนที่กระทำความผิดอีก ๔ คน ผมมองดูแววตาพวกเขาที่ไม่กลัวเกรงอะไรทั้งสิ้น และยังเด็กเหมือนกับผมตอนที่ถูกตัดสินครั้งแรกไม่มีผิด สักพักเด็กวัยรุ่นที่อยู่ห้องพิจารณาคดีเดียวกันกับผมก็เข้ามาในห้องขัง แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร เพราะตอนนี้คิดอยู่เรื่องเดียวคือทำอย่างไรจึงจะออกจากที่นี่ไปได้ จะหนีหรืออยู่สู้ความจริง  คิดไปคิดมาพลางนึกถึงคำที่แม่คอยบอกกับผมว่า “ถ้าหนีไปจะหนีรอดเหรอลูกตั้ง ๒๐ ปี”

ผมถอนใจพร้อมหันไปคุยกับวัยรุ่นคนนั้นที่นั่งอยู่ข้างผม “นายชื่ออะไรเหรอ”

“แดนครับ” เขาตอบอย่างนอบน้อม

แดนอายุ ๑๙ ปี เป็นวัยรุ่นที่หลงใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เขาถูกจับข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการโฆษณาและอนาจารโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ศาลตัดสินให้ไปฝึกอบรมที่เดียวกับผมเป็นเวลาขั้นต่ำ ๒ ปี ขั้นสูง ๓ ปี

หลังนั่งรอมาครึ่งวัน พวกเราถูกนำตัวขึ้นรถตู้ ล็อกกุญแจมือ พร้อมที่จะส่งตัวไปฝึกอบรมโดยมีเจ้าหน้าที่ของศาลใส่ชุดดำคุมตัวอย่างเคร่งครัด ระหว่างนั้นภาพในสถานพินิจฯ ก็ผุดขึ้นในหัวผม…จะมีเรื่องอีกไหม จะมีใครมาต่อยอีกหรือเปล่า แล้วจะทำยังไง ผมนั่งคิดไปตลอดเส้นทางว่าจะทำยังไงเมื่อถึงจุดหมาย

ค่ำคืนอันมืดมิดกับอนาคตที่มืดมัวเดินทางมาหาผมพร้อมกันในคืนนี้

หนึ่งทุ่ม ๑๕ นาที ไฟนาฬิกาข้างคนขับบอกเวลาให้ผมรู้ รถตู้หยุดนิ่งหน้ารั้ว-ประตูไฟฟ้า คำสั่งให้ลงรถก็ดังขึ้น พวกเราทั้ง ๑๑ คนลงจากรถด้วยความสงบนิ่ง แต่ภายในจิตใจผมเชื่อว่าทุกคนกระวนกระวายอย่างมาก ก้าวแล้วก้าวเล่าเดินเข้าประตูรั้วไฟฟ้าและกำแพงสูงเหมือนป้อมปราการ พวกเรายืนเรียงหน้ากระดาน รอที่จะรับคำสั่งต่อไป และผู้คุมก็เดินมาสั่งด้วยน้ำเสียงที่ดุดัน “ถอดเสื้อผ้าให้หมดแล้วหันหลังไป” ผมไม่คิดกลัว เพราะผมเจอมาหมดแล้ว ผมเหลือบมองไปที่แดน ใบหน้าของเขาหวาดกลัวจนเหมือนงูพิษที่กำลังป่วยปางตาย ผู้คุมตรวจค้นทุกส่วนของร่างกายเราจนแน่ใจว่าไม่มีที่ผิดกฎของศูนย์ฝึก

ก่อนที่จะเข้าไปนอนที่หอนอน ผู้คุมได้พาเราไปกินข้าวและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ให้สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน และยาสระผม ของใช้เหล่านี้ต้องรักษาให้ดีเพราะแจกครั้งเดียว ถ้าญาติของใครไม่มาเยี่ยมก็แย่เลย ที่นี่เยี่ยมได้เฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น มีเวลาเยี่ยมครั้งละ ๓๐ นาที

ผู้คุมสร้างความกลัวให้กับพวกเราโดยเล่าว่า “เมื่อ ๒ วันก่อนมีเด็กโดนแทงคอเกือบตาย ข้อหากวนตีน ฉะนั้นอย่าไปกวนใครเขาล่ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน และใครมีคู่อริบอกมาโดยด่วนเลย…เดี๋ยวจะตายฟรี !” ผมเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เพื่อนที่มาใหม่ใจคงตกไปอยู่ตาตุ่มแล้วละ

ผมคิดถึงบ้านเหลือเกิน ถึงบ้านของผมจะไม่อบอุ่นนัก แต่บ้านเป็นที่ป้องกันภัยให้เราไม่ใช่หรือ และไม่เคยมีใครคิดร้ายกับเราด้วย ผมคิดถึงคนที่อยู่ข้างนอกด้วยความหดหู่ใจและท้อแท้กับชีวิต

ผู้คุมพาเราไปยังหอนอน ๑ ที่เดิมที่ผมเคยอยู่ ไม่คิดเลยว่าต้องกลับมาพบสภาพที่เลวร้าย ลูกกรงล้อมรอบหอนอน ประตูเหล็กหนา ๒ บานที่ล็อกกุญแจอย่างดี ดูแล้วหนียาก หอเหล่านี้พอเวลาผ่านไปจำนวนเด็กที่กระทำความผิดก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว หอนอนที่เคยนอนไม่เบียดกันกลับเต็มไปด้วยเยาวชนที่นอนติดกันยังกับแม่เหล็ก ทางเดินแทบจะไม่มีเดิน ต้องระวังว่าจะเดินไปเหยียบหัวใครหรือเปล่า แถมเสียงคุยกันยังเหมือนนกเอี้ยงยกพวกตีกันอีก

เมื่อผู้คุมนำเรามาส่งแล้ว เขาก็เดินจากไปโดยไม่สนใจว่าเราจะอยู่ได้หรือไม่ จะมีเรื่องไหม จากประสบการณ์ผมรู้ดีว่าจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องหากลุ่ม ที่นี่เด็กจะแบ่งเป็นจังหวัดว่าใครอยู่ที่ไหนแล้วจึงเรียกว่า “บ้าน…” เช่นบ้าน อย. หรือบ้านอยุธยาซึ่งเป็นบ้านที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเวลานั้น  ต่อมาคือบ้านนนทบุรีซึ่งมีเด็กมากและเป็นมือขวาของบ้าน อย. หรือจะเรียกว่าเป็นเมืองขึ้นก็ได้ ซึ่งผมอยู่กลุ่มนี้ บ้าน สป. หรือบ้านสมุทรปราการเป็นกลุ่มที่มีเด็กมากที่สุด จึงไม่มีใครอยากยุ่งกับกลุ่มนี้เท่าไร และมีบ้านเล็กบ้านน้อยอีกหลายบ้านที่ไม่มีเสียงมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะยอมไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะพ่อบ้าน (เด็กที่เป็นขาใหญ่ของกลุ่ม) จะเป็นคนจัดการทุกอย่างเหมือนผู้บัญชาการสูงสุดสู่ความยิ่งใหญ่ และก้าวขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดโดยไม่ถูกบีบบังคับจากทั้งเด็กและเจ้าหน้าที่

เด็กใหม่ทุกคนจะต้องทำงานหนัก ตากแดดตากฝนหน้าดำ ถูกใช้งานเหมือนวัวเหมือนควายเป็นการช็อร์ตความรู้สึก ๑-๒ เดือนที่โหดร้าย หรืออาจมากกว่านั้นถ้ายังทำงานไม่ดีพอ ทุกคนเรียกหน่วยนี้ว่าหน่วย “โยธา” ผมยังไม่เคยสัมผัสกับหน่วยนี้มาก่อน เพราะครั้งแรกที่ถูกส่งมาฝึกเป็นวันหยุดพอดี จึงไม่รู้ว่ามันโหดร้ายแค่ไหน พอได้สัมผัสก็รู้เลยว่านรกมีจริง

หน้าที่ของพวกเราคือนำจอบมาขุดดินเพื่อทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา ดินแข็งพอๆ กับปูนตราเสือทำให้มือทั้งสองของผมแตกและบวมเป็นน้ำใสซึ่งเจ็บมาก พวกเราใช้เวลาขุด ๑ เดือน บ่อบ่อนั้นก็ลึกจนมิดศีรษะ ผมทำงานอย่างขยันขันแข็ง แทนที่จะได้รับคำชมกลับตรงกันข้าม มีแต่คำดุด่ากลับมาอย่างไม่มีเหตุผล

“เยาวชน…ญาติเยี่ยม เยาวชน…ญาติเยี่ยม” เสียงประกาศของเจ้าหน้าที่บอกว่ามีญาติมาเยี่ยมผม ผมรู้ทันทีว่าคงเป็นแม่แน่ๆ ผมไม่อยากให้แม่มาเห็นผมในสภาพนี้เลย สภาพร่างกายจากการทำงานหนักทำให้ดูโทรมมาก

การเยี่ยมแต่ละรอบจะมีเยาวชนประมาณ ๑๐-๒๐ คน ผมนั่งอยู่ในห้องเยี่ยมที่มีโต๊ะไม้ทอดยาวอยู่เบื้องหน้า และแล้วญาติแต่ละคนก็เข้ามาในห้องเยี่ยม ผมจ้องมองไปที่ประตูทางเข้าก็เห็นพ่อแม่ พี่สาว น้องสาว และจิ๊กถือของพะรุงพะรัง ผมยกมือและโบกไปมาให้เขาเห็น ผมดีใจมาก ดีใจเหมือนคนขาขาดได้รับขาเทียม เพราะรู้ว่าสิ่งที่ขาดไปกลับมาหา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้อยู่กับเราถาวร

เชื่อไหมว่า…ในจุดที่มืดที่สุดนั้นจะเป็นจุดที่เราสามารถมองเห็นแสงสว่างได้ดีที่สุด ไม่ต่างจากคืนที่มืดที่สุดจะทำให้เรามองเห็นดวงดาวได้สวยงามที่สุด นั่นคือคนที่รักเรา

ผมได้แต่ยิ้มกลบเกลื่อนความทุกข์และความเจ็บทั้งหลายทั้งปวง ไม่แสดงให้รู้ว่าเราเจ็บแค่ไหน แม่มองผมพร้อมหยิบอาหารกองไว้บนโต๊ะและจัดแจงเป็นอย่างดี

แม่บอกผมว่า “อดทนหน่อยนะ เมื่อเรื่องมาถึงขนาดนี้แล้วก็ต้องสู้ ทนอยู่หน่อยนะ” ผมรู้สึกว่าดวงตาของผมมันอยากจะร้องไห้ออกมาให้เต็มห้อง แต่ก็ต้องกลั้นมันไว้ไม่ให้จมน้ำตาตัวเองตาย  ทุกคนให้กำลังใจผมว่าต้องสู้ต่อไปเพื่ออนาคตข้างหน้า ก่อนที่จะเดินจากไปอย่างช้าๆ

จิ๊กมาเยี่ยมผมทุกสัปดาห์ ให้กำลังใจทุกครั้ง สำหรับผมแล้วคนรักเป็นเหมือนของขวัญที่ผมแสนปลื้มจนลืมไม่ลง เธอจึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของผม เธอให้กำลังใจมาโดยตลอดเวลาในวันที่ต้องชดใช้กรรมและอยู่เคียงข้างกันในวันที่ท้อแท้ที่สุดในชีวิต ไม่ว่าผมจะเป็นเช่นไร เธอไม่เคยตอกย้ำซ้ำเติมกัน ให้แต่ความรักความหวังดีกลับคืนมา จะมีสักกี่คนที่ทนเราได้ขนาดนี้

ผมใช้เวลาอยู่ในบ้านหลังนั้นนาน ๖ เดือน ก่อนที่จะสมัครมาที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑

สำหรับพวกผมแล้ว คำว่าบ้านหลังที่สองก็คือบ้านทดแทนสำหรับวัยรุ่นที่ก้าวพลาด บ้านแห่งโอกาสที่ให้ทั้งความรัก ความอบอุ่น ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ บ้านหลังนี้จะมีให้กันเสมอ

เด็กทุกคนไม่ใช่นักโทษหรืออาชญากรโดยสันดาน เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ ไม่มีกำแพงสูงจนมองไม่เห็นดาวเดือน ไม่มีรั้วไฟฟ้าไว้สำหรับกักกัน ไม่ใช้ความรุนแรงที่ทำให้เราหวาดกลัว วิตกกังวลจนเป็นโรคประสาท

บ้านกาญจนาภิเษกเป็นสถานที่ที่ยืนยันว่าชีวิตเรานี้ยังมีค่า…อีกครั้ง และคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีอย่างจริงจัง

จากความปวดร้าวและเจ็บปวด สู่รอยยิ้มแห่งชีวิตที่ก้าวข้ามหลุมดำ จากบ้านต้นทางที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและความรุนแรง สู่บ้านที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “กำลังใจ”

บรรยากาศที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวใหญ่ร่มรื่นน่าอยู่ เงียบ ไร้ความวุ่นวาย ทุกคนดูเป็นมิตร นี่คือความรู้สึกแรกที่ผมสัมผัสได้จากบ้านหลังนี้ พลางคิดถึงต้นไม้ที่บ้านต้นทาง ที่เหมือนคนขาดสารอาหาร หัวโตตัวลีบ ผอมกะหร่อง ไม่ช่วยให้สภาวะโลกร้อนดีขึ้นได้เลย

นางทิชา ณ นคร หรือป้ามล เป็นผู้อำนวยการของบ้านกาญจนาภิเษก ครั้งแรกที่เราพบป้ามล เราได้รับการต้อนรับจากป้ามลเป็นอย่างดี ดีเสียจนลืมไปว่าเราเป็นเด็กสถานพินิจฯ

การอบรมเด็กใหม่ในห้องประชุมของตึกอำนวยการ ป้ามลบอกกับเราว่า จงลืมไปเถิดว่าเราเป็นเด็กที่ไหน จากศูนย์ฝึกไหน แต่ ณ ปัจจุบันทุกคนเป็นหลานชายของป้า เป็นเด็กบ้านกาญจนาภิเษก ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และที่สำคัญที่นี่ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหากับเด็ก และเด็กก็ไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งกันและกัน ทำให้ผมรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นเหลือเกินกับบ้านหลังนี้ ผมเชื่อว่าเด็กอีก ๒๐ คนที่นั่งฟังป้ามลอยู่คงคิดเช่นเดียวกันกับผม

ความรักความอบอุ่นที่ป้ามลและเจ้าหน้าที่บ้านกาญจนาภิเษกมีให้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เราย่างเข้ามา ทำให้ผมเกิดความปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด ราวกับว่าเป็นต้นไม้ที่กำลังจะตาย แต่ได้น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้สวยสดงดงามขึ้นอีกครั้ง

บ้านหลังนี้มีเรื่องราวมากมายให้ค้นหาไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ใช้ความคิดมากกว่ากำลังกาย สอนให้เราคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะในด้านทักษะชีวิต ผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาหลังกระทำความผิด พร้อมหยิบยกตัวอย่างให้เห็น อีกทั้งยังให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย สร้างความผูกพันและอบอุ่นให้กับครอบครัว เป็นการจัดการความรุนแรงในเด็กและเยาวชนได้ดีโดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง

แต่ใช้ความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น ไม่ปิดกั้นทางความคิด เป็นที่ปรึกษาได้ในทุกเรื่อง เข้าเจาะตรงกลางใจเข้าแทนที่

บ้านหลังนี้ทำให้คนเลวอย่างผมได้มีโอกาสปรับปรุงตัว แก้ไขในนิสัยเดิมๆ สำนึกกับสิ่งผิดที่เราทำลงไปในอดีต เปลี่ยนจากอาหารชั้นแย่ที่สุดเป็นอาหารที่ขายดีที่สุดอย่างหนึ่ง

ผมไม่ปฏิเสธที่ใครๆ จะบอกว่าในอดีตผมเป็นเด็กเลว ชั่ว เ-ี้ย หรือตะกวด แต่ปัจจุบันผมปรับปรุงตัวเป็นคนดีได้ ไม่เป็นคนที่ใจร้อน อะไรยอมได้ก็ยอม ไม่มีคำว่าเสียศักดิ์ศรีหรอก เส้นแห่งพฤติกรรมแข็งแรงดี เพราะการอบรมสั่งสอน และ “กำลังใจ” ของบ้านกาญจนาภิเษกโดยแท้จริง

ผมเชื่อว่าคนทุกคนไม่ได้เลวไปตลอดหรอกครับ เขามีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวได้เสมอ ขอเพียงโอกาสและความเข้าใจที่จะทำให้ต้นไม้ต้นนี้สวยสดงดงามและสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกของเราต่อไป

วันของการขอโทษและให้อภัยเป็นอีกวันที่แสดงให้ทุกคนในประเทศนี้เห็นว่า ณ มุมเล็กๆ มุมหนึ่งมีการสำนึกผิดของเด็กคนหนึ่งที่เคยก้าวพลาด ก้าวผิดจังหวะ นามว่า “สิทธิ์” และมีการให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ของหญิงร่างแคระสู้ชีวิตที่ต้องสูญเสียสามี ตลกร่างแคระชื่อดังไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมา

ทุกวันนี้สิทธิ์ถูกปล่อยตัวจากบ้านกาญจนาภิเษกไปแล้ว มีงานมีการทำที่ดี เป็นคนดีของสังคม ไม่ทำให้พ่อแม่หนักใจในตัวเขาอีก

ส่วนอีกคดีหนึ่ง…คือเรื่องของ “เบิ้ม” ผู้ที่ก่อคดีโชกโชนเพื่อตามหาและแก้แค้นคนที่ฆ่าพ่อเขา จนกระทั่งโคจรมาพบกันในบ้านกาญจนาภิเษก

“น้อย” โดนคดีฆ่าคน ๒ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นพ่อของเบิ้ม มาอยู่บ้านกาญจนาภิเษกก่อนเบิ้มจะมา จึงมีการปรับเปลี่ยนนิสัยอย่างสิ้นเชิง ป้ามลรับรู้เรื่องราวจากน้อย จึงหาวิธีการให้สองคนนี้ดีกันด้วยระบบการจัดการของบ้านกาญจนาภิเษก และแล้ววันประกาศอิสรภาพก็มาถึง เมื่อสองคนนี้ดีกันอย่างสนิทใจเป็นวันที่ป้ามลประกาศชัยชนะ นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อหรือนิยายน้ำเน่า แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในบ้านแห่งโอกาสหลังนี้

…………………………………………………………………