เรื่อง : นพรุจ สงวนจังวงศ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, มนุษย์ต่างวัย talk 2023

เข็นแม่เที่ยว ท่องเที่ยวเยียวยาโรค

อย่าให้ห้องนอนเป็นโลกทั้งใบของผู้ป่วยติดเตียง

“ที่เห็นคุณแม่นั่งวีลแชร์ เพราะคุณแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องใช้วีลแชร์แทนการเดิน”

รพิดา อัชชะกิจ หรือใบเตย หญิงสาวในชุดกระโปรงสีขาวแสนสวยเอ่ยและมองไปที่หญิงชราท่าทางใจดีบนรถเข็น คุณแม่ของเธอ

เป็นที่รู้กันว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว รวมไปถึงความสามารถในการคิดและสื่อสารก็อาจไม่เหมือนเดิม

“ตอนนั้นคุณแม่อยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตาย เตยร่ำร้องขอกับทุกสิ่ง ขอให้แม่ยังอยู่และเตยจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้เธอมีความสุข พอหมอส่งตัวมาแม่ไม่ต่างจากเด็กแรกเกิด กินข้าวเองไม่ได้ พลิกตัวซ้ายขวาเองไม่ได้ ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่”

ผ่านพ้นความตายมาได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ชีวิตหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราเห็นว่าการทำกายภาพที่พาไปทุกวันคงทำให้เขาเจ็บและไม่มีหวัง คนที่ไม่มีแรงแม้แต่จะลุกนั่งหรือพลิกซ้ายขวาด้วยตนเองแต่ต้องรวบรวมแรงมาทำกายภาพ เห็นเลยว่าแม่เป็นทุกข์”

3-6 เดือนแรกหลังการรักษาคือช่วงเวลาที่มีค่ามากของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทางการแพทย์เรียกว่า “โกลเด้น พีเรียด (Golden Peroid)” เป็นระยะฟื้นฟูที่มีโอกาสจะทำให้คนไข้กลับมาเป็นปรกติหรือใกล้เคียงปรกติมากที่สุด

“เราผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว สามเดือนยังไม่เห็นผล หกเดือนก็ยังไม่คืบหน้า จนเกือบหนึ่งปีแม่ยังนั่งแล้วตัวไหลอยู่เลย ทั้งที่เราลงทุนกับการรักษาไปเยอะมาก พาไปโรงพยาบาลชั้นนำ ให้ไปทำกายภาพอยู่ตลอด รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแล แต่สิ่งที่เราเห็นในแววตาของแม่ไม่ใช่สิ่งที่หวังเอาไว้ มันไม่มีความสุขอยู่ในนั้น ต้องมีอะไรผิดพลาดสักอย่าง”

เมื่อผลการรักษายังไม่น่าพึงพอใจ ต้องหาวิธีใหม่เพื่อฟื้นฟู

kenmae08

“นึกขึ้นได้ว่าตอนเด็กๆ แม่ชอบบอกกับเราว่า พอหนูโตแม่ขอไปเที่ยวนะ เลยลองบอกกับแม่ว่าถ้านั่งได้จะพาไปเที่ยว สายตาของแม่เริ่มมีความหวัง วันนั้นพอพาไปทำกายภาพแม่ไม่ดื้อกับนักกายภาพเลย พยายามนั่งจนเหงื่อเต็มตัว รู้เลยว่าเขาอยากไปมาก”

เริ่มเที่ยวจากที่ใกล้ๆ อย่างพัทยา หาข้อมูลสถานที่ที่รถเข็นวีลแชร์สามารถไปได้ เพื่อไม่ให้ลำบากทั้งคนไข้และผู้ดูแล โดยมีต้นแบบมาจาก กฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ผู้ต้องใช้วีลแชร์ในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ

“เมื่อก่อนเวลาพาไปโรงพยาบาล เราพูดหรือคุยอะไรแม่มักไม่โต้ตอบ แต่ครั้งนี้พอเห็นเส้นทางว่าเป็นการพาไปเที่ยว เหมือนในใจแม่เริ่มมีความงดงามบางอย่างเกิดขึ้น เราถามเขาก็โต้ตอบ”

เหมือนได้ยาถูกกับโรค ซึ่งในที่นี้อาจเป็นโรคใจที่การรักษาแค่ทางกายไม่อาจช่วยได้ เป็นอีกมิติที่ผู้ดูแลอาจลืมนึกถึงเมื่อมีพ่อแม่หรือคนรักป่วยติดเตียง

ต่อมาพาไปไกลถึงฮ่องกง สถานที่แห่งความทรงจำกับแม่

“ฮ่องกงคือที่ที่แม่เคยพาไป สมัยก่อนพวกเราไปได้ไกลสุดแค่นั้นตามกำลังทรัพย์ที่มี แต่แม่ก็ยอมจ่ายเพื่อให้เราได้มีโอกาสเห็นโลก เลยอยากพาแม่กลับไปตามรอยสถานที่ที่เคยไป อยากให้เขาได้ดึงความทรงจำที่เคยมีออกมาใช้และรู้สึกมั่นใจในตัวเอง เพราะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ความมั่นใจในการใช้ชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญมาก”

kenmae07

แนวคิดคล้ายการพาลูกอ่อนไปเที่ยว สามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงคำนวณเวลาเดินทาง วางแผนการเคลื่อนย้ายให้รัดกุม หน้าที่หรือกิจวัตรอื่นๆ เช่น วัดความดัน ให้ทานยา ก็ไม่ต่างจากการดูแลเมื่ออยู่บ้าน เพียงเปลี่ยนสถานที่ให้มีความสุขมากขึ้น

“เราเชื่อว่าแม่ไม่ได้รอดตายมาเพื่อนอนป่วยติดเตียง แม่รอมาจนอายุ 67 ปี ถึงจะได้ไปเที่ยวตามที่ใจต้องการ และได้เที่ยวแค่ 2 ปีเท่านั้น จนกระทั่งเขาป่วย รู้สึกไม่ยุติธรรมที่จะให้แม่ต้องอยู่แบบนี้ เขาเป็นแม่ที่ให้เราได้ทุกอย่าง ไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเรา ให้โอกาสเราได้ทำตามความฝันในทุกช่วงวัย

“พอเป็นความฝันของเขาทำไมโชคชะตาถึงให้ใช้ได้แค่ 2 ปี เรายอมไม่ได้ จะขอเติมฝันนั้นให้กับแม่เอง”

เรื่องราวการท่องโลกของลูกและคุณแม่บนวีลแชร์ ถูกถ่ายทอดผ่านแฟนเพจ “เข็นแม่เที่ยว” เพื่อเป็นความรู้และกำลังใจให้กับใครก็ตามที่ได้อ่าน โดยเฉพาะผู้มีคนที่รักป่วยติดเตียง

ในอนาคตเธอมีแผนพาแม่ไปเยือนทุกที่ในประเทศไทยที่เป็น “อารยสถาปัตย์ (Universal Design)” หมายถึงสถานที่ซึ่งมีการออกแบบให้คนทุกกลุ่มในสังคมใช้งานได้อย่างเท่าเทียม เพื่อกลับมาบอกต่อ ส่งกำลังใจให้บรรดาเจ้าของและผู้ประกอบการสร้างสถานที่ที่เป็นมิตรกับวีลแชร์ รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ มากขึ้น

“เราได้เห็นโลกใบเดิมในมิติใหม่ทุกครั้งที่พาแม่ไปเที่ยว การไปสถานที่ที่เคยไปในวันที่แม่นั่งวีลแชร์ ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ อย่างอ่อนโยน สวยงาม และมีค่ามากขึ้น ผู้คนที่เราอาจเคยมองพวกเขาไม่น่ารัก มาวันนี้เราได้เห็นว่าจริงๆ แล้วพวกเขาน่ารักมากแค่ไหน”

ใบเตยเล่าพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า ไม่ใช่แค่คนป่วยที่ถูกเยียวยา แต่สำหรับเธอซึ่งเป็นคนพาไป หัวใจก็ได้รับการปลอบประโลมจากสถานที่และผู้คนที่ต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือ

“ทุกชีวิตต่างมีอุปสรรค การพาผู้ป่วยติดเตียงไปเที่ยวอาจต้องเพิ่มขั้นตอนหรือเงื่อนไข แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้”

แม้ต้องใช้แรงกายแรงใจแค่ไหนก็คุ้มค่า เมื่อสิ่งที่ได้กลับมา คือเห็นคนที่รักมีความสุขอีกครั้ง

ติดตามเพจ เข็นแม่เที่ยว

#สสส #วัยนี้วัยดี #ชีวิตดีดีสร้างได้ทุกวัย #manoottangwai #มนุษย์ต่างวัย #มนุษย์ต่างวัยTalk2023 #OutOfTheBoxAging #สังคมสูงวัย