สวนผักของชุมชนเก็บของเก่าสมาชิกชุมชนทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุร่วมแรงร่วใจมาช่วยรดน้ำดูแลสวนผักในเวลาเย็น

เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ชาวชุมชนอ่อนนุช ๑๔ ไร่ ย่านถนนสุขาภิบาล ๒ เขตประเวศ กรุงเทพฯ เดิมเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใต้สะพาน เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะขาย  กระทั่งปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ กทม. มีนโยบายไล่รื้อชุมชนใต้สะพานในกรุงเทพฯ พวกเขาจึงรวมตัวเรียกร้องที่อยู่ใหม่ กระทั่งปี ๒๕๔๔ รัฐบาลได้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ในที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ๓ แห่ง หนึ่งในนั้นคือชุมชนอ่อนนุช ๑๔ ไร่

ชาวชุมชนอ่อนนุช ๑๔ ไร่ส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพตระเวนเก็บขยะและของเก่ามาขาย กระทั่งประมาณปี ๒๕๔๖ ชาวชุมชนเกิดความคิดทำโครงการสหกรณ์ขยะ โดยให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาแลกสินค้าของใช้ประจำวันที่ร้านค้าสวัสดิการในราคาถูกกว่าท้องตลาด  จากช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง ๓ ครอบครัว ปัจจุบันขยายเป็น ๗๐ ครอบครัวแล้ว  การดำเนินงานในนาม “กลุ่มขยะรีไซเคิลชุมชนอ่อนนุช ๑๔ ไร่” ประสบความสำเร็จจนสามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมขยะประกันชีวิต และล่าสุดคือกิจกรรมทำสวนผักของชุมชน

พีรธร เสนีย์วงศ์ คนจังหวัดตรัง ประธานกลุ่มขยะรีไซเคิลชุมชนอ่อนนุช ๑๔ ไร่คนปัจจุบันเล่าว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นสมาชิกเครือข่ายสลัม ๔ ภาค รู้จักคุ้นเคยกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง

“ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นคนชนบท คุ้นเคยกับการทำเกษตรมาก่อน เมื่อรู้เรื่องนี้หลายคนก็สนใจ”

ชาวชุมชนช่วยกันปรับปรุงที่ดินซึ่งเคยเป็นสนามฟุตบอลกลางชุมชนที่ไม่มีใครมาใช้งาน เนื้อที่ราว ๗๒ ตารางวา ให้กลายเป็นสวนผัก โดยผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและดูแลก็คือสมาชิกกลุ่มขยะรีไซเคิลฯ ทั้ง ๗๐ ครอบครัวนั่นเอง

หลังจากแต่ละคนตระเวนขับรถซาเล้งหาของเก่าตามที่ต่าง ๆ เมื่อกลับสู่ชุมชนก็จะเจียดเวลาว่างในช่วงเย็นผลัดกันมาช่วยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลพืชผักต่าง ๆ ที่ปลูกในสวน

นอกจากปลูกผักแล้วพวกเขายังขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้กลางสวน ทั้งยังขุดบ่อบาดาลสำหรับสูบน้ำมารดผัก ช่วยให้ประหยัดกว่าใช้น้ำประปา

จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นจากสวนผักของชุมชนคนเก็บของเก่าก็คือ การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งต่าง ๆ นานาที่หาได้มาใช้ประโยชน์ เช่น ถุงกระสอบทรายจากช่วงน้ำท่วมนำมาเป็นถุงใส่ดินปลูกต้นไม้  ตะกร้า กะละมัง หรือกระเบื้องลอนทิ้งแล้วก็ทำเป็นภาชนะปลูกผักได้ ส่วนแผ่นไม้หรืออิฐบล็อกนำมากั้นเป็นแปลงผัก

chumchon02

ซ้าย : สมาชิกในชุมชนมาเก็บผักสดไปกินได้ทุกวัน โดยหยอดเงินในกระปุกเพียง ๕-๑๐ บาท / ขวา : เศษวัสดุเหลือใช้ถูกนำกลับมาทำประโยชน์ในสวนผัก เช่น กรงสัตว์เลี้ยงทิ้งแล้วนำมาครอบแปลงผักกันนกมาจิกกิน หรือยางรถยนต์หมดสภาพก็นำมาปลูกผักได้

ส่วนกรงสัตว์เลี้ยงที่รับซื้อมาเป็นเศษเหล็ก ก็นำมาครอบบนแปลงเพาะกล้าต้นเล็ก ๆ เพื่อกันฝูงนกมาจิกกิน

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ สมาชิกทั้ง ๗๐ ครอบครัวยังนำขยะเปียกในครัวเรือน ประเภทเศษข้าว เศษอาหาร เศษผักและผลไม้ มาเทรวมในถังซีเมนต์เพื่อทำปุ๋ยหมักชีวภาพ สำหรับใช้บำรุงผักที่ปลูกในสวน ด้วยวิธีนี้ขยะเปียกจำนวนมหาศาลของชุมชนจึงถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างได้ผล

“ที่นี่ยังรับซื้อเศษใบไม้ด้วย กิโลกรัมละ ๒๕ สตางค์ สำหรับนำมาหมักปุ๋ย” พีรธรกล่าว

เมื่อผักในแปลงโตได้ขนาด สมาชิกยังมาเก็บผักไปได้ โดยนำเงินไปหยอดกระป๋องเพียง ๕-๑๐ บาท แล้วเก็บผักไปแต่พอกิน เท่านี้ก็ได้ผักสดกลับไปทำอาหารที่บ้าน ราคาถูกกว่าซื้อในตลาดหรือรถขายกับข้าว

ส่วนเงินในกระป๋องจะใช้สำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูกครั้งต่อไป หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดูแลสวนผัก

ชาวชุมชนบอกเราว่าบางครั้งก็มีคนข้างนอกที่อยากกินผักปลอดสารพิษ เดินทางเอาขยะรีไซเคิลมาขอแลกผักไปกินก็มี

ผักที่ปลูกในสวนนอกจากผักกินใบพื้นฐาน จำพวกคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ก็มีพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านหามาปลูก เช่น ชะอม มะกล่ำตาหนู ผักปลัง หรือตะลิงปลิง

รวมทั้งต้นขี้เหล็กที่คุณป้าคุณยายชอบมาเด็ดใบไปทำแกงขี้เหล็กอยู่บ่อย ๆ

“ส่วนใหญ่เขามาเอาคะน้าหรือกวางตุ้ง สมาชิกที่นี่กินง่าย ผักต้นสองต้นเขาก็ไปผัดกินกันในครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเหมือนกัน อย่างครอบครัวพี่ถ้าซื้อผักกินก็เกือบ ๑๐๐ บาทต่อมื้อ แต่ตอนนี้เก็บคะน้าจากสวน มีปลาเค็มชิ้นหนึ่ง ๓๕ บาท ก็ผัดกินได้ ๒-๓ มื้อแล้ว” พี่อ้อม ชาวชุมชนอีกคนบอกเรา

ตามปรกติคนทำอาชีพเก็บของเก่าขายมีรายได้ต่อวันไม่มากนัก ดังนั้นการทำสวนผักจึงช่วยให้ชาวชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย ได้บริโภคผักสดที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย