เรื่อง : ปภาดา โพธลักษณ์
ภาพ : ณัฐมล น้อยตะริ

หลงใหล หลงเหลือ หลงลืม สุนทราภรณ์
งาน “ลีลาศลีลา สุนทราภรณ์” ณ ห้างฯ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่ทำให้เหล่าคนรักลีลาศและเพลงสุนทราภรณ์มาเจอกัน

พื้นที่โล่งตรงกลางรายล้อมด้วยเก้าอี้หนังแบบที่พบได้ตามงานมงคลสมรส สายตาหลายคู่หลังเสากั้นคาดเดาว่าอีกกี่นาทีจะได้เห็นสิ่งที่กำลังรอคอย ทันใดนั้นชายชุดสูทสีแดงแขวนเครื่องเป่าทองเหลืองแนบอก เดินเข้ามาพร้อมกระดาษบรรจุตัวอักษรที่ใช้มอบความบันเทิงด้วยเสียงเพลง เบื้องหน้าคือแท่นวางโน้ตประดับด้วยผ้ากำมะหยี่สีม่วงพิมพ์ตัวอักษรสีขาวว่า “สุนทราภรณ์” เสียงทรัมเป็ตดังขึ้นพร้อมกลองชุด ผู้หญิงสวมชุดราตรีถือไมโครโฟนยกมือขึ้นไหว้ เป็นสัญญาณว่าการแสดงกำลังจะเริ่ม

“เคยได้ยินผ่านหู ไม่ค่อยได้เปิดฟังเลย”

นักเรียนปีสุดท้ายในระดับมัธยมหยุดยืนฟังสำเนียงดนตรีระหว่างรอพบแฟนของเขา

“จะอยู่รอดมั้ยก็คงไม่ได้นานขนาดนั้น เหมือนรุ่นเราก็ไม่ค่อยได้สนใจ แต่ถ้าเป็นป้า ๆ น้า ๆ เขาก็สนใจกันอยู่เป็นวัยของเขา อาจจะไม่ได้สืบต่อไป”

พนักงานบริษัทวัย 25 ปีมองมวลผ้าพริ้วเคลื่อนไปมาจากชั้นสองถัดจากทางลงบันไดเลื่อนไม่กี่เมตร

ผู้คนสวมรองเท้าหนัง รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าส้นสูง เริ่มกวาดเท้าบนพื้นกระเบื้องในจังหวะเดียวกัน บ้างหลบอยู่ขอบมุม บ้างหมุนเคลื่อนไปทั่วราวกับจะเหยียบกระเบื้องทุกแผ่น

“เราว่าเพลงสุนทราภรณ์ไม่ตายหรอก ตราบใดที่ยังมีวันสงกรานต์ วันปีใหม่ และวันลอยกระทง”

suntaraporn02
กลุ่มคนรักลีลาศร่วมกันออกลีลาครบรส ตั้งแต่จังหวะรำวง ชะชะช่า โซล ร็อก แซมบ้า ควิกสเต็ป และอีกมากมาย
suntaraporn03
พรศุลี วิชเวช นำทีมคลื่นลูกใหม่ขับร้องสุนทราภรณ์ มอบความสุขด้วยบทเพลงอมตะหวนรำลึกความทรงจำ

วันเสาร์ ณ บ้านเลขที่ 202 เอื้อ สุนทรสนาน

“สุนทราภรณ์ใส่สูทสีอะไร… สีไวโอลิน”

มุกเหมือนจะตลกเกี่ยวกับรูปปั้นชายสวมแว่นถือไวโอลิน ผู้ยืนอยู่ ณ สวนลุมพินีมาเป็นเวลา 21 ปี ซึ่งเราค้นเจอจากบทความออนไลน์ระหว่างรอตัวเลขสัญญาณไฟจราจรสีแดงนับถอยหลัง

“ครูเอื้อ”

วลีนี้หมายความถึง เอื้อ สุนทรสนาน คำว่า “ครู” มาจาก “ครูเพลง” เทียบความหมายได้กับนักแต่งเพลง คนทำเพลง หรือผู้กำกับดูแลเสียงร้องเสียงดนตรี ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้นักร้องมีชื่อเสียง ครูเอื้อทำหน้าที่หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ภายหลังเปลี่ยนชื่อวงเป็น “สุนทราภรณ์” เพื่อเล่นนอกเวลาราชการ

สุนทราภรณ์เป็นวงที่มีนักร้องประจำในสังกัดและผลิตบทเพลงหลากหลาย ทั้งเพลงรัก เพลงปลุกใจ เพลงเทศกาล เพลงประจำมหาวิทยาลัย และเพลงประจำจังหวัด ซึ่งอาจคุ้นหูคนไทยหลายคน

“วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์…”

“วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย…”

84 ปีต่อมา เรายังคงเห็นผู้คนลุกขึ้นรำวงเมื่อท่วงทำนองเหล่านี้วนกลับมาในงานเทศกาลสำคัญ

ลึกเข้ามาในซอยสุจริต 2 เขตดุสิต กรุงเทพฯ รถของเราจอดลงหน้าบ้านเลขที่ “202” ดอกชบาสีชมพูข้างกำแพงอิฐบานต้อนรับผู้มาเยือน ที่นี่คือ “โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี” จุดเริ่มต้นของเสียงร้องวงสุนทราภรณ์มากกว่าร้อยคน

เราเดินเข้ามาในบ้านพื้นไม้สีเข้ม ห้องทางขวามีรูป “ครูเอื้อ” สูงเลยศีรษะแขวนอยู่ ไม่นานนัก “โน้ต” พรชัย เอกศิริพงษ์ พนักงานบริษัทซอฟต์แวร์และนักร้องวงสุนทราภรณ์ ชายที่เจอผ่านกลุ่มคนรักสุนทราภรณ์ในเฟซบุ๊ก ชวนเรานั่งที่โต๊ะกินข้าวซึ่งปรับไว้ใช้รับแขก

ในฐานะนักร้องคลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มเสียงร้องหลักในวง โน้ตเริ่มเล่าประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้ยินดนตรีอันมีเอกลักษณ์นี้ว่า สมัยมัธยมฯ ต้น 30 กว่าปีที่แล้ว คุณอาของเขาพาไปชมดนตรีสดครั้งแรกที่เสรีเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์พาร์ค) ซึ่งแสดงเพลงสุนทราภรณ์ตามแบบต้นฉบับ แม้จะไม่รู้จักสุนทราภรณ์มาก่อนแต่เขาซึมซับเพลงวงนี้ตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งปี 2544 ช่วงปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย โน้ตมีเวลาว่างจึงมาสมัครเรียนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี โดยจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยเงินจากการสอนพิเศษ เรียนไปไม่นานก็มีโอกาสได้ลองร้องกับวงดนตรีสดสุนทราภรณ์ แต่ครั้งนั้นเขาร้องผิดจึงต้องซ้อมเพลงเดิมไปอีกหนึ่งปี จนเมื่อมีเวทีที่ศาลาเฉลิมกรุง วงสุนทราภรณ์ชวนโน้ตเข้าโครงการคลื่นลูกใหม่โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ต้องซ้อมทุกวันเสาร์และได้ออกงานร่วมกับนักร้องสุนทราภรณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นผู้สูงวัยแล้ว

suntaraporn04
บรรยากาศการเรียนการสอนของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ในช่วงวันเตรียมสอบคัดเลือกตัวแทนไปขึ้นแสดงงานประจำปี
suntaraporn05
“ดอกไม้ใกล้มือ” ต้นฉบับโดย มัณฑนา โมรากุล นำมาใช้เป็นเพลงสอบคัดเลือก

แตกต่างเหมือนเดิม

แม้จะชื่อ “คลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์” แต่โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 นับเป็นเวลา 24 ปีแล้ว ช่วงที่โน้ตเพิ่งเข้าวงยังมีนักร้องประจำซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาจากครูเอื้อโดยตรง รูปแบบการแสดงมักจะยืนร้องนิ่ง ๆ ไม่ออกท่าทางหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมมาก แต่ปัจจุบันมีงานอีเวนต์ ซึ่งไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่ตั้งใจมาฟังเป็นหลัก จึงต้องดึงดูดคนที่เดินผ่านไปมาด้วย

“แต่ก่อนพอร้องเสร็จแยกย้ายเข้าข้างเวทีหมดเลย จะเข้าไปคุยก็ไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติกันหมดแล้ว” โน้ตเล่าความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองนักร้อง

หลายครั้งมีการนำเพลงสุนทราภรณ์ไปใส่ในดนตรีหลากหลายรูปแบบ เช่น อะคูสติก หรืออิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังคงความเป็นสุนทราภรณ์ไว้ อาจปรับการบรรเลงให้กระชับขึ้น เปลี่ยนเนื้อร้องแต่ทำนองเดิม แบ่งท่อนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแนวใหม่ ถ้าร้องเพลงยาวคนเดียวอาจจะน่าเบื่อได้ พอมีหลายคู่หลายคนในเพลงเดิมทำให้มีความหลากหลายขึ้น อีกทั้งปรับบางจังหวะให้ทันสมัย

“เราต้องปรับตัวเหมือนทุกที่ แต่ยังคงความเป็นสุนทราภรณ์เอาไว้ ไม่มีที่ไหนเหมือน ต้องที่วงสุนทราภรณ์เท่านั้น” โน้ตกล่าว

จากงานเต้นรำขนาดใหญ่กลางสนามฟุตบอล โต๊ะจีนตั้งเป็นพันโต๊ะ ปัจจุบันมักเป็นงานอีเวนต์สั้น ๆ ราว 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากวงขนาดเต็มมีนักดนตรีเกือบ 20 คน จึงต้องลดขนาดลงด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่นักร้องต้องมีอย่างน้อยหกคน เพราะแต่ละคนฝึกให้ร้องเพลงคนละแนว

“ไข่หวาน” อรอนงค์ เสนะวงศ์ หลานสาวสายเลือดครูเอื้อ สุนทรสนาน และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี กล่าวว่า

“พอไปออกงานต้องผสมให้มีทุกรส และหัวใจสุนทราภรณ์เพลงหมู่ต้องหกคน หญิงสาม ชายสาม รำวงร้องกันสองคนก็ไม่ได้ ต้องโจ๊ะชึ่ง พยายามลดนักร้องแต่ทำไม่ได้ เพราะคนหนึ่งร้องไม่ได้ทุกแนว ขนาดวงพอดีเวที นักร้องยังต้องลงมายืนร้องข้างล่าง”

suntaraporn06
การซ้อมร้องเพลงเพื่อเชื่อมโยงโน้ตและคีย์ แบ่งวรรคเพลงสลับรับ-ส่ง เตรียมพร้อมขึ้นคอนเสิร์ตและออกงานอีเวนต์
suntaraporn07
โน้ตเพลงที่แต่งให้สถาบันการศึกษา ทั้ง “ธรรมศาสตร์รักกัน” “จามจุรีศรีจุฬาฯ” รวมไปถึง “สดุดีพระทศมราชา” ซึ่งแต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เรียบเรียงผ่านทำนองของครูเอื้อ

พันธุกรรมของแท้

อรอนงค์ เสนะวงศ์ ทายาทเพลงสุนทราภรณ์อธิบายที่มาของวงว่าเริ่มจากดนตรีไทยเดิม โดยบรรเลงแบบสังคีตสัมพันธ์ คือการนำดนตรีไทยมาผสมผสานกับดนตรีสากล เนื่องจากครูเอื้อเล่นเครื่องสายตะวันตกอย่างไวโอลินได้ จนยุคกลางค่อนไปทางยุคหลังปรับให้ฟังง่ายขึ้นด้วยการร้องเสียงตรง ๆ ไม่มีลูกเอื้อนมาก และปรับเปลี่ยนคำร้อง เพลงสุนทราภรณ์ยุคแรกมักมีการอุปมาอุปไมย ต้องตีความ เช่น “พี่รักเจ้ายิ่งกว่าปลารักน้ำ กินนรรักถ้ำ ไม่ล้ำพี่รักเจ้า…” แต่ยุคหลังจะใช้ภาษาตรงไปตรงมามากขึ้น

ในยุคที่สุนทราภรณ์รุ่งเรืองมีแนวเพลงซึ่งใกล้เคียงกันมากคือ “ลูกกรุง” ไข่หวานให้จุดสังเกตเอกลักษณ์ของสุนทราภรณ์ที่ต่างจากลูกกรุงสองข้อ

อย่างแรกคือ ดูว่านักร้องอยู่ในสังกัดวงสุนทราภรณ์หรือไม่ โดยอาจมีนักร้องบางคนไปร้องเพลงนอกสังกัด ก็ให้ดูที่ครูเพลงว่าสังกัดสุนทราภรณ์หรือไม่

อย่างที่สองคือ ในความคิดของเธอ เพลงลูกกรุงเป็นสุนทราภรณ์รูปแบบที่ฟังง่ายกว่า เพลงสุนทราภรณ์จะใส่เทคนิคเอื้อนหนึ่งชั้น เอื้อนสองชั้น แม้เป็นเพลงสากล แต่เพลงลูกกรุงจะถูกทอนลูกเอื้อนลงให้ร้องตรง ๆ สบาย ๆ

“สุนทราภรณ์อาจฟังยากสำหรับคนรุ่นใหม่ เสียงผู้หญิงจะสูง เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ เทรนด์สมัยนี้กลับกัน จะชอบผู้หญิงเสียงแหบ ๆ ใหญ่ ๆ อย่าง อะเดล (Adele) จริงๆ แล้วอาจไม่ได้ฟังยากแต่แปลกหูสำหรับคนรุ่นใหม่”

suntaraporn08
แผ่นเสียงและซีดี สิ่งที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นสุนทราภรณ์ แม้เวลาเปลี่ยนผ่านมานานกว่า 100 ปี

เวียนว่าย ตาย รอการเกิดใหม่

“เขามาด้วยกันทั้งนักร้อง ครูเพลง และเพลง”

ตั้งแต่แรกเริ่มวงสุนทราภรณ์รับเอาแนวดนตรีใหม่ ๆ เข้ามาเล่นเสมอ โดยครูเพลงมีส่วนสำคัญในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เลือกนักร้อง แต่งเนื้อร้องและทำนอง เนื่องจากไม่มีครูเพลงร่วมสมัยกับครูเอื้อที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แนวเพลงสุนทราภรณ์จึงหยุดอยู่ที่ความหลากหลายของเพลงชุดหนึ่ง

ไข่หวานเสริมว่าครูเอื้อยังมีหน้าที่เป็นโพรดิวเซอร์ เพลงสุนทราภรณ์ไม่จำเป็นต้องแต่งโดยครูเอื้อทั้งหมด แต่ต้องส่งมาให้ท่านดูเพื่อปรับเปลี่ยนเล็กน้อย แม้ตอนนี้จะมีครูเพลงมากมาย แต่เมื่อโพรดิวเซอร์ผู้คุมทิศทางเอกลักษณ์เพลงไม่อยู่ วงสุนทราภรณ์จึงไม่ได้แต่งเพลงทั่วไปเพิ่มอีกเลย มีเพียงแค่เพลงเฉพาะกิจ เช่น เพลงสำหรับโรงเรียน องค์กร หรือโอกาสพิเศษ ซึ่งเชิญครูเพลงเก่า ๆ มาช่วยแต่ง

“สุดท้ายแล้วเรายังต้องการครูเพลงเก่า ๆ อนุมัติ ถ้าท่านยังอยู่อาจจะได้เพลงที่ฟังเป็นสุนทราภรณ์มากกว่านี้ เหมือนกับวงการเพลงเกาหลีใต้ ค่ายวายจีฯ (YG Entertainment) สไตล์เพลงจะประมาณนี้ เต้นกระจายอย่างนี้ ค่ายอื่นมีเอกลักษณ์อีกแบบ สุนทราภรณ์ก็เหมือนกัน”

แม้ปัจจุบันวงสุนทราภรณ์จะไม่มีเพลงออกใหม่ แต่บ้านสองชั้นของ เอื้อ สุนทรสนาน ยังมีโน้ตเพลงและวัตถุดิบทางดนตรีอีกจำนวนมากรอการฟังและการจัดระเบียบจากใครสักคน

“เรามีราว 2,000 เพลง แต่ยังเล่นอยู่แค่ 200-300 เพลง มีอีกหลายเพลงที่เราไม่เห็น เข้าไม่ถึง และยังไม่ได้บันทึกแผ่น เพราะหลายครั้งเล่นสด ถ้าเคยบันทึกทันก็ยังมี หรือยุคแผ่นครั่งที่ไม่ได้ถอดเป็นเสียงสเตอริโอ ก็เยอะ เพลงที่ไม่ได้นำมารีมาสเตอร์มีอีกมาก”

เนื่องจากวงสุนทราภรณ์ทำงานมาเป็นระยะเวลานาน มีนักดนตรีหลายรุ่น บางคนอาจนำเพลงไปเรียบเรียงเสียงประสานเอง ทำให้บางเพลงมีโน้ตหลายแบบ อีกทั้งสมัยก่อนเวลาออกไปจัดการแสดงต้องใช้รถหกล้อขนลังโน้ต จึงมีตกหล่นสูญหายบ้าง หรือบางเพลงต้นฉบับบันทึกแค่เครื่องดนตรีบางชนิด ก็ต้องขยายโน้ตและเขียนเพิ่มสำหรับเครื่องดนตรีอื่น

“ยอมรับว่าเราก็มีข้อบกพร่องในการจัดเก็บ คือของเราเยอะเก่าแก่ยาวนาน ไม่ได้ดูแลอย่างดีเท่าที่ควร เพราะมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร สถานที่เก็บ งบประมาณ แต่เห็นว่ามีคนเล่นแผ่นเสียงแปลงไฟล์ลงในยูทูบ เราก็ถือเป็นการช่วยเผยแพร่ ไม่ได้ไปยุ่งกับเขา”

suntaraporn09
อรอนงค์ เสนะวงศ์ ทายาทรุ่นที่ 2 หนึ่งในผู้ถือกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์เพลง และสืบทอดมูลนิธิสุนทราภรณ์ฯ

เก่าใหม่ไปมา

“ประกาศ ทราบมาว่ามีแฟนเพลง นักเรียน ฯลฯ ติดต่อขอโน้ตเพลงบ้าง ขอให้ทำซาวนด์เพลงบ้าง ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่อนุญาตให้นักดนตรีทำให้ทั้งการก๊อปปี้โน้ตเพลง และทำซาวนด์ดนตรีนะคะ ถ้ามีใครติดต่อมา ขอความกรุณาให้มาติดต่อขอที่ป้าอี๊ดเองนะคะ จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป”

ป้ายกระดาษเคลือบพลาสติกแผ่นนี้ปักด้วยหมุดพลาสติกที่บอร์ดโอ๊กหน้าทางเข้าโรงเรียน

ปัจจุบันผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงของ เอื้อ สุนทรสนาน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ ผู้เป็นลูกสาว แต่เพลงสุนทราภรณ์ไม่ได้มีครูเอื้อเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ทำนองมีผู้ประพันธ์อีกหลายท่าน ลิขสิทธิ์ก็จะไปอยู่ที่เหล่าทายาท หรือหากขายไว้กับบริษัทใด บริษัทนั้นก็จะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ อย่างบริษัท เมโทรแผ่นเสียง-เทป (1981) จำกัด ถือลิขสิทธิ์ครูเพลงจำนวนมาก รวมทั้งลิขสิทธิ์สตรีมมิง ซึ่งเป็นสุนทราภรณ์สิ่งบันทึกเสียงดั้งเดิม แต่ถ้าเป็นการคัฟเวอร์ใหม่ ลิขสิทธิ์จะอยู่ที่คนให้สิทธิ์ เช่น แกรมมี่โกลด์ หรือ Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO)

“ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เนื่องจากคนแต่งเยอะ และไม่รู้ว่าคนแต่งยกให้ใครต่อหรือเปล่า เพราะเสียชีวิตกันหมดแล้ว บางคนก็มอบให้คนที่ไม่ใช่ญาติ เทคโนโลยีไปเร็วเกินกว่าเราจะทำงานทันหรือกฎหมายจะครอบคลุมทัน”

ไข่หวานกล่าวเสริมว่า หากขอใช้ลิขสิทธิ์เพลงสุนทราภรณ์เชิงพาณิชย์ เช่น รายการประกวดร้องเพลงที่มีรายได้ ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่หากขออนุญาตเชิงการศึกษา การเผยแพร่ที่ไม่มีรายได้ หรือการกุศล จะอนุญาตให้ใช้ฟรี โดยมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเก็บเป็นข้อมูลว่าให้ใครนำเพลงไปใช้บ้าง

ส่วนกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ให้สิทธิ์เพียง 50-100 ปีหลังเจ้าของผลงานเสียชีวิต จากนั้นจะตกเป็นของสาธารณะ หลานสาวครูเอื้อกล่าวว่าเมืองนอกได้ปรับขยายเวลาแล้ว แต่ของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นยังมีงานดนตรี โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีก็ยังทำได้ เพียงแค่ไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์อีกต่อไป

suntaraporn10
เอื้อ สุนทรสนาน อัจฉริยะด้านดนตรี ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และเป็นที่เคารพนับถือในวงการตลอดมา

ภาพประวัติประกอบเสียง

ภาพไม่คุ้นตาที่สยามในเช้าวันธรรมดา เรามาหลบแดดร้อนประเทศไทยในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เพื่อรอพบตู้เพลงสุนทราภรณ์เคลื่อนที่

เมื่อพนักงานยกเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ ภูริ ศิวสิริการุณย์ วัยรุ่นอายุ 18 ปี ก็เข้ามานั่งเก้าอี้ฝั่งตรงข้ามและแจ้งกับเราว่าบ่ายโมงมีสอนพิเศษคณิตศาสตร์ต่อ เนิร์ดดนตรีและประวัติศาสตร์คนนี้เล่าให้เราฟังว่า ที่บ้านไม่มีใครฟังเพลงสุนทราภรณ์ แต่เขาได้ยินตามงานเทศกาล ด้วยภาษาที่สละสลวยสะดุดหู เขาจึงไปค้นคว้าต่อและทราบว่าเป็นเพลงสุนทราภรณ์ จนช่วงมัธยมฯ ต้น ภูริเริ่มฝึกร้องเพลงลูกกรุงกับครูที่โรงเรียน เขาใช้เพลงสุนทราภรณ์ในการประกวดและดามใจยามอกหัก

“ส่วนตัวชอบฟังเพลงลูกกรุงยุคหลังมากกว่าสุนทราภรณ์ เพราะแม้ว่าเพลงสุนทราภรณ์จะมีเยอะกว่า แต่ก็ฟังยากกว่าเพลงลูกกรุง”

ภูริอธิบายว่าแต่ก่อนสุนทราภรณ์เป็นเพลงสำหรับชนชั้นสูงซึ่งจะเปิดเฉพาะในงานของรัฐ ต่างจากเพลงลูกกรุงยุคหลังที่เริ่มเปิดในผับบาร์ เป็นยุคของไนต์คลับ หลังจากนั้นมีวงดนตรีเกิดมามากมาย แต่ก็จะกลับไปร้องสุนทราภรณ์บางเพลง หรือนำมาทำใหม่ในจังหวะทันสมัยขึ้น

“สุนทราภรณ์เองก็มีพลวัตของวง อย่างยุคหนึ่งมีโครงการคลื่นลูกใหม่ คำว่า ‘คลื่นลูกใหม่’ เนี่ย ทุกวันนี้เขาก็อายุ 40-50 แล้ว หรือยุคที่กลับมาบูมใหม่ ๆ และเป็นอีกเวอร์ชันสแตนดาร์ดหนึ่งที่เปิดในเมืองไทย ซึ่งสแตนดาร์ดไม่ได้หมายความว่าเพราะหรือไม่เพราะ ที่นำมาใช้บ่อยคือเวอร์ชันของแกรมมี่ ก็จะเป็นอีกยุคหนึ่ง”

นอกจากนี้ภูริชี้ให้เห็นว่าเพลงสถาบันการศึกษา เพลงที่ใช้ทางการเมือง เพลงรัก และเพลงงานเทศกาลจำนวนมากคือ สุนทราภรณ์

“สุนทราภรณ์อยู่ในหัวคนไทยมาตลอด ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ความสนใจแค่ไหน และตั้งใจฟังขนาดไหน เพราะมีเป็นพันเพลง ซึ่งมีทั้งเพลงในกระแส ถัดจากกระแส และก็นอกกระแสที่หาฟังยากมาก ต้องไปตามสืบ”

เมื่อภูริฟังสุนทราภรณ์ไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงพลวัตของภาษาในเพลงสุนทราภรณ์และเพลงลูกกรุงยุคหลัง โดยเขากล่าวว่าเราต้องเป็นคนรับข้อมูลมาแล้วถ่ายทอดต่อให้คนรุ่นหลัง

“ประวัติศาสตร์พวกนี้ตัวบุคคลไม่สำคัญ จะเป็นใครไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่จะส่งต่อ เช่นเดียวกับเพลงสุนทราภรณ์ เราไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้ว่าใครเป็นเจ้าของวง ใครเป็นนักร้อง คนนี้ร้องเพลงอะไร พลวัตของเพลงอยู่ในตัวเพลงเอง”

อย่างไรก็ตามครูสอนพิเศษวัย 18 คนนี้ออกความเห็นว่า ตราบใดที่ยังมีวันปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันลอยกระทง สุนทราภรณ์ก็ไม่มีวันตาย รายการเพลงและละครเวทีในปัจจุบันก็หยิบเอาเรื่องมาเล่าใหม่ได้ตลอด อย่างช่วงนี้มีกระแสใน TikTok ใช้เพลง “สเน่หา” ของ ศรีไศล สุชาตวุฒิ ประกอบคลิปวิดีโอที่ถ่ายไลฟ์สไตล์เมืองเก่า

“เด็กรุ่นใหม่แค่ยังไม่รู้ว่าที่ฟังอยู่คือเพลงสุนทราภรณ์ ลองพูดสิ โฉมเอย โฉมงาม อร่ามแท้… ใคร ๆ ก็ร้องได้ ซึ่งอนาคตอาจมีเพลงใหม่ ๆ เข้ามาแทน เหมือน “All I Want for Christmas Is You” หรือ “Jingle Bells” ก็ยังไม่ตาย แม้คุณไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้อง”

“ความนิยมลดลงตามยุคสมัย มีขึ้นก็มีลง”

อ้างอิง

  • พรชัย เอกศิริพงษ์,ผู้ให้สัมภาษณ์,15 กรกฎาคม พ.ศ.2566
  • อรอนงค์ เสนะวงศ์,ผู้ให้สัมภาษณ์,15 กรกฎาคม พ.ศ.2566
  • ภูริ ศิวสิริการุณย์,ผู้ให้สัมภาษณ์,26 กรกฎาคม พ.ศ.2566
  • วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์.(2566).รู้จัก ‘ครูเอื้อ’ รูปปั้นชายถือไวโอลินในสวนลุมพินี, สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2566 จาก https://becommon.co/world/kru-eor/
  • สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2566 จาก http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/newsun/index.asp?newdesk=newcon
  • วาดฝัน คุณาวงศ์.ชีวิต ความรักของครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ที่มาของเพลงสุนทราภรณ์ที่คุณอาจไม่เคยรู้ สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2566 https://workpointtoday.com/suntraporn-series-society/