ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน


“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับอนาคต แต่เป็นปัญหาของโลกวันนี้”

Constance Nalegach
ผู้แทนชิลีในสหประชาชาติ

water chiliชิลี / แม้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นเสือตัวที่น่าจับตาของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาจากการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรม ทว่าผู้นำชิลีอาจต้องฉุกคิดสักนิดเมื่อมีคำเตือนว่า อีก ๔๐ ปีประเทศที่มีรูปทรงยาวราวเส้นเชือกเลาะไปตามแนวเทือกเขาแอนดีสติดมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๑-๑.๕ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนลดลง ๑๐-๑๕ % ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลาง

“นี่คือภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเรา แน่นอนว่าภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการทำป่าไม้ สวนผลไม้ ไวน์ แม้จะอยู่ในพื้นที่ชลประทานก็ตาม” ศาสตราจารย์เฟอร์นานโด ซานติบาเนซ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิลีกล่าว

“ที่เมืองแอนดีส เราพบการละลายของธารน้ำแข็งสูงขึ้นต่อเนื่อง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา แม้จะยังมีปัญหาน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้น สวนทางกับปริมาณหิมะ น้ำฝน น้ำแข็งที่ลดลง ย่อมส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน”

เซบาสเตียน วิคูนา กรรมการบริหารศูนย์วิจัยภาวะโลกร้อน (The Global Change Research Centre) มหาวิทยาลัยซานดิเอโก ทำแบบจำลองวิเคราะห์ปริมาณน้ำพบว่า แม่น้ำไมโปอันเป็นแหล่งน้ำ
ขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรและยังเป็นแหล่งผลิตน้ำดื่มจะเหือดแห้ง ประชากรภาคกลางจะต้องทนทุกข์กับภาวะขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญไฟฟ้าที่คนชิลีภาคกลางใช้กว่าครึ่งเป็นไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำไมโปซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มแห้งขอดลงเรื่อยๆ  เซบาสเตียนกล่าวว่า  “จากแบบจำลองเราพบว่า ปี ๒๖๐๘ ปริมาณน้ำในแม่น้ำต่างๆ จะลดลง ๗๐ %  จากที่เคยมีอัตราการไหล ๑๗๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเหลือเพียงไม่เกิน ๖๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น” อีกไม่นานวิกฤตน้ำในชิลีอาจรุนแรงเกินคาดการณ์