จากบทสัมภาษณ์ ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๒๘
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

chaiyan01“…ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไหน จะต้องมีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ…คือการไม่ยอมให้อำนาจทางการเมืองกระจุกรวมอยู่กับใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง”

เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำพาสยามประเทศเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองและจินตนาการของผู้คนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จิตใจเป็นเจ้าของชาติ

ในรอบ ๘ ทศวรรษ สังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายเหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕  จนมาถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓

๘๐ ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านการรัฐประหารมาร่วม ๑๐ ครั้ง  มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ  วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทยนับแต่หลังรัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เราได้เห็นสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว การป้ายสีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยการใช้กฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ จนเป็นเหตุให้มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมืองมากมาย

ผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้แบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของพลังมวลชนระดับชาติ และความเคลื่อนไหวทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะขนานใหญ่นับแต่ข้อเสนอของ
คณะนิติราษฎร์ (กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  ก่อตั้งเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓) ว่าด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, การเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกโยนสู่สังคมไทย

นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอัน เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร  ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือน กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง  ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจน ถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็น ด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา

ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕  สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป

ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง

ที่ผ่านมามีคำอธิบายเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕ หลายกระแส  สำหรับอาจารย์ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ มีความหมายและมีความสำคัญอย่างไร
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในทัศนะของผมคือการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในทางการเมือง ซึ่งเป็นความเป็นสมัยใหม่ในแบบของตะวันตก โดยกระแสดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นที่ยุโรปมาก่อน จากสงครามกลางเมือง (ค.ศ. ๑๖๔๒-๑๖๔๙) ระหว่างฝ่ายอภิชนในรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ อันนำมาซึ่งการปฏิวัติทางการเมืองในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ ๑๗  แล้วแพร่ไปทั่วยุโรปและทั่วโลก ส่งผลให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายหรือถดถอยลง บ้างก็เปลี่ยนไปเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์อีกต่อไป (สาธารณรัฐ) บ้างก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็เหลือน้อยเต็มที บ้างก็เปลี่ยนเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

ขณะที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในของสังคมมากกว่า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของเรานั้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเสียมาก นั่นคือเป็นอิทธิพลที่เกิดจากการที่นักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ และรับเอาอุดมการณ์แนวคิดเรื่องรูปแบบการปกครองสมัยใหม่มา  เมื่อเทียบกับปัจจัยภายในของอังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก หรือฝรั่งเศส จะพบว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของไทยเรานั้น คณะราษฎรขาดพลังแนวร่วมในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมในการขับเคลื่อนทางการเมือง

หลัง ๒๔๗๕ อาจารย์คิดว่าความคิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยบ้างหรือยัง ทำไมอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายจึงยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรคืออะไร ? อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรหมายถึงรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) หรือหมายถึง “ประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อันได้แก่ประชาธิปไตยในแบบสหรัฐ-อเมริกาหรือฝรั่งเศส  ถ้าเรายังไม่ชัดเจนว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรคืออะไร เราก็ย่อมมีปัญหาในการตอบคำถามว่าอุดมการณ์ดังกล่าวได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยมากน้อยอย่างไร เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยแล้วหรือยัง ?

สำหรับผม ผมเข้าใจว่าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎรเห็นว่าการปกครองที่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของบุคคลคนเดียวนั้นเป็นความชั่วร้าย และจะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็ต้องอาศัยการจัดการปกครองโดยมีสภา  สำหรับรูปแบบการปกครองที่จะมาแทนที่ของเดิมนั้น กล่าวได้ว่าก่อนหน้าที่จะลงมือทำการปฏิวัติ คณะราษฎรมีตัวแบบการปกครองที่เป็นทางเลือกอยู่ ๒ แบบ นั่นคือ ระหว่างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (หรือ constitutional monarchy) กับระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีพระมหากษัตริย์ (สาธารณรัฐ)  การที่ปรากฏแนวคิดการปกครองทั้งสองนี้ในคณะราษฎรนั้น ยาสุกิจิ ยาตาเบ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าเป็นเพราะ “ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความเห็นไม่ตรงกัน”  แม้ว่ามีผู้ที่เห็นว่า “ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย” แต่ก็มีกลุ่มที่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย และคนกลุ่มนี้น่าจะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มที่นิยมสาธารณรัฐ เพราะที่สุดแล้วคณะราษฎรได้ตัดสินใจที่จะเลือกยื่นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

กระนั้น เราก็ยังมิอาจล่วงรู้แน่ชัดถึงเหตุผลที่แท้จริงของคณะราษฎรในการตกลงตัดสินใจเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญเบื้องต้นก่อนระบอบสาธารณรัฐ  แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้อันเกิดจากการคาดเดาของผมมีดังต่อไปนี้คือ

ประการแรก คณะราษฎรโดยส่วนใหญ่เห็นว่า ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามแบบของอังกฤษและประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนั้น เหมาะสมเป็นประโยชน์กับสังคมไทยโดยรวมในขณะนั้นจริงๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ และน่าจะเป็นทางเลือกที่ประนีประนอมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย  ประการที่ ๒ คณะราษฎรมิได้เห็นเช่นนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจว่าระบอบดังกล่าวเป็นระบอบที่ดีเหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทยโดยรวม แต่จากการประเมินสถานการณ์ด้านกำลังทหารแล้ว คณะราษฎรเห็นว่าถ้ามุ่งหมายเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ อาจจะนำมาซึ่งการต่อสู้กันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง นั่นคือระหว่างผู้ที่นิยมฝ่ายเจ้ากับฝ่ายที่นิยมคณะราษฎร  ประการที่ ๓ ไม่ว่าคณะราษฎรจะมีความเห็นในแบบแรกหรือแบบหลัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คณะราษฎรเลือกแนวทางที่ไม่ต้องการให้มีการเสียชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะก็ตาม  ดังนั้นรูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงน่าจะเป็นการพบกันครึ่งทางของทั้งสองฝ่าย

บทสรุปสำคัญที่เราควรจะตระหนักเป็นเบื้องต้นก็คือ สังคมไทยสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสงบสันติโดยไม่ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อ ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ นั่นคือ ประการแรก คณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีความเหมาะสมและทันสมัย คือต้องการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองอยู่ที่บุคคลคนเดียว มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้พลเมืองทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง  ประการที่ ๒ แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต่างก็ให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตเลือดเนื้อของคนในชาติเหนือความเห็นและความต้องการส่วนตัว  และนี่น่าจะเป็นเจตนารมณ์หรืออุดมการณ์พื้นฐานที่ต้องตรงกันของทั้งฝ่ายพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติในปี ๒๔๗๕ ที่น่าจะถือเป็นเจตจำนง-อุดมการณ์พื้นฐานสำหรับสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไหน จะต้องมีลักษณะร่วมกันที่สำคัญของอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือการไม่ยอมให้อำนาจทางการเมืองกระจุกรวมอยู่กับใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องแบ่งแยกการใช้อำนาจ และเมื่อแบ่งแยกการใช้อำนาจจึงทำให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้  กล่าวได้ว่าในส่วนนี้ อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็งลงตัวในสังคมไทยเท่าไรนัก  สาเหตุก็คือขาดพลังที่จะถ่วงดุลตรวจสอบกันและกันอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ  อาจจะเป็นเพราะว่าอายุประชาธิปไตยของเรานั้นยังเยาว์อยู่มากเมื่อเทียบกับวิวัฒนาการของระบอบการปกครองแบบเดียวกันในอังกฤษและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย  อย่างของอังกฤษก็ปาเข้าไป ๓๐๐ กว่าปีแล้ว และในช่วง ๘๐ ปีแรกเขาก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าเราเท่าไรนักหรอก ขนาดเขาเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายใน ของเรานี้เปลี่ยนจากปัจจัยภายนอกเสียมาก เรียกว่าสั่งจากนอกหรือนำเข้าความเป็นสมัยใหม่ทางการเมือง ก็ต้องปรับตัวกันนานหน่อย

การเมืองไทยในรอบ ๘๐ ปี อะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด  ในแต่ละช่วงการเปลี่ยนแปลงนั้นมันได้พัฒนาประชาธิปไตยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าหรือสะดุดหยุดลง  หลายคนมองว่าในช่วง ๔-๕ ปีมานี้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังเข้าคลอง อาจารย์เห็นว่าอย่างไร
จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้หรือในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมาจนขณะนี้ ! ขณะเดียวกันในการตอบคำถามที่ว่า ในแต่ละช่วงการเปลี่ยนแปลงมันพัฒนาประชาธิปไตยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าหรือสะดุดหยุดลง ผมว่าที่ผ่านมาโดยรวมๆ แล้วมันเป็นพัฒนาการมากกว่าจะถอยหลัง  นั่นคือ เรากำลังวิวัฒนาการไปสู่จุดลงตัวหรือการลงหลักปักฐานของการเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในประเทศอังกฤษและในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ปกครองด้วยระบอบเดียวกันแบบนี้ ในช่วงแรกๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีอำนาจนำในทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเกิดตัวแปรของปัจจัยทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในประเทศ

อย่างเช่นในกรณีของเดนมาร์ก แม้นว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ และกลุ่มที่ขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันได้แก่ กลุ่ม “เสรีชาตินิยม” (National Liberals) และกลุ่มสันนิบาตเกษตรกร ได้ครองอำนาจนำในทางการเมืองผ่านรัฐสภาเรื่อยมา จนกระทั่งเดนมาร์กพ่ายแพ้สงครามในปี ค.ศ.๑๘๖๔ ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับขึ้นมามีอำนาจ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.๑๘๖๖ ที่มีเนื้อหาเอื้อแก่ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือถ้าจะพูดในภาษาของคนที่ไม่ชอบก็คือเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถอยหลังเข้าคลอง” ซึ่งพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ทรงใช้พระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระองค์ตามรัฐธรรมนูญนี้ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาสูงทั้งหมด โดยสามารถละเลยต่อข้อเรียกร้องต้องการจากสมาชิกสภาล่าง แม้ว่าสภาล่างจะเป็นสภาที่เป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั่วไปของเดนมาร์กมากกว่าสภาสูงก็ตาม  และแน่นอนว่าในช่วงเวลานั้น ระบอบการปกครองของเดนมาร์กก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อยู่ดี ! และเป็นเช่นนั้นจน ๖๔ ปีให้หลัง (ค.ศ.๑๙๑๕) นับจากวันแรกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ.๑๘๔๙  และถ้านับเวลา ๖๔ ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ.๒๔๗๕ นั่นคือปี พ.ศ.๒๕๓๙ ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเราดูจะก้าวหน้ากว่าของเดนมาร์กมาก เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเรามีพระราชอำนาจตามกฎหมายจำกัดมากกว่าของเขามากมาย ! แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนับว่าตอนไหนช่วงไหนของใครเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมากหรือน้อยกว่ากัน

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าการก้าวไปข้างหน้าของประชาธิปไตย ผมสงสัยว่าคืออะไร ?  ถ้าคุณตอบว่าคือประชาธิปไตยที่ไม่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าคุณมองว่าประชาธิปไตยในแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นมิสามารถเป็นระบอบการปกครองในตัวของมันเองได้  หากทว่ามันเป็นเพียงรอยต่อที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเท่านั้น  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงดักแด้ที่อยู่ในสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ผีเสื้อ  ถ้ามองแบบนี้ประชาธิปไตยในแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีวันมีเสถียรภาพมั่นคงได้เลย เพราะหากมีใครพยายามจะหยุดอยู่แค่นี้หรือพยายามจะรักษาความเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไว้ คุณก็จะมองว่ามันสะดุดหยุดลงหรือถอยหลังนั่นเอง

chaiyan02เราจะปลดแอกวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยได้อย่างไร (เลือกตั้ง -> ยุบสภา -> วิกฤต -> รัฐประหาร -> รัฐธรรมนูญ)
ผมว่าวงจรดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วนะครับ  จากบทเรียนเหตุการณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ และบทเรียนที่กำลังเกิดขึ้นในทุกขณะในขณะนี้  นั่นคือ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้จะเป็นวิกฤตแต่ก็เป็นโอกาสในเวลาเดียวกัน และหากผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะหากนำวิธีการลงประชามติด้วยหลักเสียงข้างมากแบบพิเศษ (supra-majority) มาใช้ แทนที่จะปล่อยให้มวลชนออกมาแสดงพลังปริมาณกันคนละทีสองที ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อจลาจลและสงครามกลางเมือง วงจรดังกล่าวก็จะแปรเปลี่ยนไป นั่นคือ ตัดรัฐประหารออกไปได้  แต่หากไม่สามารถทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าการแก้ไขจะผ่านหรือไม่ผ่าน โดยไม่สามารถได้การยอมรับของเสียงข้างมากจริงๆ นั่นคือ ข้างมากแบบพิเศษ ก็อาจจะเกิดสิ่งที่ไม่ได้เป็นวงจรอย่างเดิม แต่เป็นเส้นทางที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร นั่นคือ (เลือกตั้ง  -> ยุบสภา  -> วิกฤต  -> รัฐธรรมนูญ -> สงครามกลางเมือง ???….โดยแต่ละฝ่ายก็ยังไม่แน่ใจ หรือไม่รู้แน่ว่าจะลงเอยอย่างไร !?? เพราะสงครามกลางเมืองในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็มีแบบแผนเช่นนี้ นั่นคือ…<วิกฤต  -> รัฐธรรมนูญ (หรือข้อไม่ลงตัวเกี่ยวกับแบบแผนและหลักในการปกครอง) -> สงครามกลางเมือง ) หวังว่าวงจรดังกล่าวจะสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่ก่อน เพราะขณะนี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ระหว่างทางสองแพร่ง ระหว่างแบบแผนจาก <เลือกตั้ง  -> ยุบสภา  -> วิกฤต (รุนแรง แต่ประคับประคองและทนกันได้) -> ลาออก/ยุบสภา> กับเส้นทาง <เลือกตั้ง  -> วิกฤต  -> รัฐธรรมนูญ  -> สงครามกลางเมือง  -> ???

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เรื่องลบล้างผลพวงของรัฐประหาร จะป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อีกต่อไป จริงหรือ
ลำพังไม่มีข้อเสนอนิติราษฎร์ ขณะนี้รัฐประหารก็เกิดขึ้นยากอยู่แล้ว จริงๆ แล้วมันก็เริ่มยากมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ จากนี้ไปจะเกิดการเข็นรถถังออกมายึดอำนาจได้ก็มีกรณีเดียว นั่นคือต้องเกิดสงครามกลางเมืองรุนแรงก่อน  อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีข้อเสนอของนิติราษฎร์มาสำทับให้หนักแน่นขึ้นก็ยิ่งดี แต่ขณะเดียวกันข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็อาจจะกลับกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมวลชนสองฝ่ายได้ หากข้อเสนอและการขับเคลื่อนเน้นไปที่การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ โดยไม่เพิ่มน้ำหนักในส่วนของการนำข้อกล่าวหาคดีความของคุณทักษิณกลับสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้บรรยากาศการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเป็นประชาธิปไตย

รวมความว่าในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยานั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะป้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นได้ง่ายๆ ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง มีประชาชนจำนวนมากจริงๆ สนับสนุนข้อเสนอ  สอง จะมีประชาชนจำนวนมากจริงๆ สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะนิติราษฎร์สามารถทำให้เกิดสมดุลระหว่างการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ กับการนำอดีตผู้นำทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างจริงจัง

สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขควรเป็นอย่างไร
เป็นประมุขของรัฐ ครองราชย์แต่ไม่ปกครอง ไม่บริหารราชการแผ่นดิน  ในฐานะประมุขของรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล  เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ โดยสถานะบทบาทและพระราชอำนาจถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร  ขณะเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมและจารีตประเพณีการปกครองไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ในสถานะที่เคารพเทิดทูนสักการะ กระนั้นแม้ระบอบการเมืองการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะมีแบบอย่างของต่างประเทศเช่นอังกฤษเป็นต้นแบบให้ศึกษาได้ แต่เนื่องจากสภาพการณ์และระดับการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งโจทย์ปัญหาและปัจจัยแวดล้อมของสังคมการเมืองไทย มีความแตกต่างอย่างมากกับประเทศตะวันตก  ต้นแบบดังกล่าวจึงเป็นได้อย่างมากก็เพียงแม่แบบ ไม่อาจจะนำมาลอกเลียนหรือนำมาใช้อย่างสำเร็จรูปได้  สถานะและบทบาทอันเหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับสังคมหนึ่งๆ จะพึงเป็นเช่นไร ภายใต้การปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เงื่อนไขภายในสังคมนั้นจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดประเพณีการปกครองดังกล่าว มากกว่าจะเป็นผลของการ “นำเข้า” แม่แบบจากต่างประเทศโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน  อีกทั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทำหน้าที่ประมุขของรัฐในระบอบการปกครองใหม่ที่เราเพิ่งมี  กล่าวได้ว่าพระองค์ต้องทรงรับภารกิจทรงเป็นผู้บุกเบิกเข้าไปในดินแดนที่ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดเคยเข้าไปก่อน นั่นคือ การวางแนวทางของสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยเรา

สืบเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ ทำไมความขัดแย้งของคนต่างสีต่างฝ่ายถึงยิ่งร้าวลึก สังคมไทยจะปรองดองกันได้จริงหรือ
สาเหตุของความขัดแย้งที่ร้าวลึกของประชาชน ๒ กลุ่ม คือ

๑. มีการสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของผู้นำมวลชน ที่เป็น demagogues ในการขับเคลื่อนมวลชน สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม ไม่เปิดโอกาสให้มวลชนของตนได้มีบทสนทนากับมวลชนของฝ่ายตรงข้าม ผู้นำมวลชนไม่สร้างมวลชนที่คิดวิเคราะห์วิพากษ์ด้วยความคิดของตัวเอง
๒. พัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสาร ส่งผลให้การสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของ demagogues เข้าไปในหัวผู้คนจำนวนหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากกว่าสมัยก่อน
๓. ความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและโอกาสในการพัฒนาชีวิตของผู้คน
๔. วิวัฒนาการของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเราที่ยังไม่ลงตัวและยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันในสังคมได้ว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคืออะไร

สังคมไทยจะปรองดองกันได้ก็ต่อเมื่อสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น  อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี หลักการหัวใจสำคัญของการ “ปรองดอง” คือพลเมืองในที่นั้นต่างเห็นพ้องต้องกันถึงผลประโยชน์ร่วมกัน (common interests) ของพวกเขา และเลือกที่จะปฏิบัติในวิถีทางเดียวกันอันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าว  ดังนั้นตราบเท่าที่ประชาชนไม่เห็นพ้องต้องกันถึงผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่เห็นพ้องต้องกันถึงวิถีทางที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าว สังคมนั้นก็ยากที่จะปรองดองกันได้

กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจยับยั้งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ของสภา อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ในอนาคตถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วสั่งระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ก็สามารถสั่งได้ หากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่นี่จะเป็นวิกฤตทางการเมืองอันรุนแรงได้ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างสองสถาบันหลักของอำนาจอธิปไตย นั่นคือ ระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายรัฐสภา  ฝ่ายเสียงข้างมากในรัฐสภาต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (๒๕๕๐) แม้จะผ่านการลงประชามติมาแล้ว  ฝ่ายรัฐสภาหรือเสียงส่วนใหญ่ในสภาปัจจุบันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการจะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยยึดหลักการเป็นตัวแทนเสียงข้างมากของประชาชน นั่นคือ ยึดหลักอำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา (parliamentarism) และยึดหลักเสียงข้างมากในสภาและจากการเลือกตั้ง (majoritarianism)–ที่จะสร้างกติกาใหม่ (รัฐธรรมนูญใหม่) ขึ้นมา  ขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งยึดถือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในฐานะที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว  ดังนั้นในขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างหลักการการปกครองในแบบ constitutional monarchy กับ parliamentary monarchy เพราะภายใต้เงื่อนไขของการเมืองไทย ต่างฝ่ายต่างมีจุดอ่อนจุดแข็งทางหลักการด้วยกันทั้งคู่