330banner

ถึงเวลาต้องเลือก ป่าหรือเขื่อน ก่อนหายนะมาเยือน

หลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี ๒๕๕๔ ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างไม่มีใครคาดคิด รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เร่งผลักดันโครงการป้องกันน้ำท่วมออกมาขนานใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่กลางป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น จนปลุกกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนในกลุ่มผู้รักธรรมชาติขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมกับคำถามว่าเขื่อนเหล่านี้จะป้องกันน้ำท่วมและแก้ภัยแล้งได้จริงหรือ และคุ้มค่ากับการสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของประเทศหรือไม่

สารคดีพิเศษฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ภาพรวมของเขื่อนและป่าในระดับโลก มาถึงกรณีเขื่อนแม่วงก์ และตัวอย่างการจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จในหมู่บ้านเล็ก ๆ บนภูเขา

เริ่มต้นจากบทสรุปที่ช่วยทบทวนความเข้าใจพื้นฐานในบทบาทของป่า-ที่เก็บน้ำถาวร กับเขื่อน-ที่เก็บน้ำชั่วคราว ในเรื่อง “ถึงเวลาต้องเลือก ป่าหรือเขื่อน ก่อนหายนะมาเยือน” เมื่อทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้รักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อคืนสมดุลให้แก่โลก เขื่อนจำนวนมากกำลังถูกรื้อถอนเพื่อคืนชีวิตแก่สายน้ำ และป้องกันความเสี่ยงจากการพังทลายของเขื่อนซึ่งกำลังจะหมดอายุ

“ปลุกเขื่อนแม่วงก์กลางป่าอนุรักษ์ เบื้องหลังกำแพงยักษ์สูง ๕๖ เมตร” สารคดีพิเศษที่จะนำผู้อ่านร่วมสำรวจผืนป่าบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อตรวจสอบข้ออ้างว่าพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของผืนป่าทั้งหมด แต่จะเกิดอะไรขึ้นเล่า หากที่แห่งนั้นคือหัวใจของป่า

และสำหรับคำถามว่า ถ้าไม่เอาเขื่อนจะมีทางออกอื่นหรือไม่

“เขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย บทเรียนของการจัดการน้ำ” นำเสนอตัวอย่างปัญหาการสร้างเขื่อนในอดีตที่ผ่านมาหลายแห่ง และตัวอย่างการดูแลจัดการน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ชุมชนที่รักษาป่าเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างยั่งยืน โครงการแก้มลิงที่อาจทดแทนเขื่อนขนาดใหญ่ และหนทางป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองที่อยู่ปลายน้ำ

“ถึงเวลาต้องเลือก ป่าหรือเขื่อน” อ่านจบแล้วโปรดร่วมกันตัดสินใจ…