กีฬา_ทางเลือก
วายร้ายสีแดง

rugby newzealand

บางคนลำดับชื่อเจ้าภาพฟุตบอลโลกย้อนกลับไปได้ถึงช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐-๙๐  รู้ซอกซอนลงไปกระทั่งว่า ท่าเต้นพอซนัน-Poznan celebration ที่ผู้ชมยืนหันหลังกอดคอกันเต้น และสาวกเมืองทองยูไนเต็ดของเราก็คัฟเวอร์ด้วยนั้น มีที่มาจากสโมสรพอซนันของเมืองชื่อเดียวกันในประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ หมาดๆ

แต่กับรักบี้ชิงแชมป์โลก–ล่าสุดจัดขึ้นที่ไหน ใครครองแชมป์ จะมีกี่คนนึกออก

เดี๋ยวนะ…เราแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่ารักบี้แข่งกันข้างละกี่คน

เราไม่ค่อยยินยลความเคลื่อนไหว เกร็ดสาระของกีฬารักบี้

แม้ว่าพิธีกรรมก่อนแข่งที่ทรงพลังที่สุด น่าตื่นตาที่สุด เกิดขึ้นบนลานหญ้านั้น

ภาพมุมสายตานก เคลื่อนไปตามยอดเขาที่หิมะปกคลุมขาวโพลน-อาจเป็นยอดเมาท์คุก (Mount Cook) ของเกาะใต้ นิวซีแลนด์  แล้วเสียงหนึ่งก็ดังขึ้น…สะท้านไปทั้งเทือกเขา

เสียงร้องภาษาพื้นเมืองเมารีกระแทกหู เหมือนการขู่ตะคอกประกาศเขตแดน

ตัดภาพเป็น…แถวนักรักบี้ชุดดำกำลังตะเบ็งเสียง ขยับแขนขา ออกท่าราวกับจะกินเลือดกินเนื้อฝ่ายตรงข้าม

Kapa O Pango kia whakawhenua au I ahau!
Hi aue ii!
Ko Aotearoa e ngunguru nei!
Au, au aue ha!

คลิปวิดีโอดังกล่าวของ The Telegraph (คลิกเข้าชมที่ http://www.telegraph.co.uk/sponsored/travel/newzealand2011
/7498813/The-All-Blacks-Haka.html
) มีความน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นคุณสมบัติพึงประสงค์เฉกเช่นคลิปทั้งหลาย เพียงแต่มันเป็นคลิปกีฬา นอกจากเป็นกีฬาที่ดูยาก (ในวงกว้าง) แล้วยังดูผิดธรรมดาไปหน่อย โดยปรกตินักกีฬาจะเต้นฉลองชัยชนะหรือเมื่อทำแต้มสำคัญ แต่นี่เต้นกันตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มเกม

ทีมรักบี้ชุดดำ บนอกเสื้อประดับใบเฟินสีเงิน ซึ่งได้รับการขนานนาม All Blacks หรือทีมชาตินิวซีแลนด์ กำลังทำ “ฮะกะ” (haga) ตามธรรมเนียมปฏิบัติก่อนแข่งของทีมที่สืบเนื่องมายาวนานนับศตวรรษ

ผู้เล่น ๑๕ คน บวกสำรองอีก ๗  ยืนแถวหลังเส้นกึ่งกลางสนามประมาณ ๕ เมตร  ข้างฝ่ายคู่ต่อสู้ก็ยืนประจันหน้าอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเส้นกึ่งกลาง

ด้วยเสียง สี หรืออะไรก็ตาม ชวนให้รู้สึกว่า ชายชุดดำ ๒๒ คนขยายตัวออกจนเต็มพื้นที่แดนตัวเอง

ก่อนจะรู้จักฮะกะมากกว่านี้ ขอคั่นรายการเล็กน้อย ด้วยว่าชาติที่นิยมเล่นรักบี้และยืนอยู่ระดับแถวหน้าของโลก ส่วนใหญ่เป็นชาติในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทวีปยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก  หลายประเทศในกลุ่มนี้มีขนบการเรียกทีมรักบี้ของตนด้วยฉายาจนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง อาทิ วอลลาบีส์-ออสเตรเลีย, สปริงบ็อกส์-แอฟริกาใต้ รวมถึงออลแบล็กส์-นิวซีแลนด์ ซึ่งได้ฉายาจากชุดแข่งประจำชาติคือชุดสีดำตลอดมา

เพราะเป็นกีฬาแห่งเครือจักรภพอังกฤษ ศึกรักบี้รายการใหญ่ๆ จึงเจือปนด้วยเรื่องของการเมือง  อย่างน้อยทุกทีมก็ต้องการล้มอังกฤษ ประเทศเจ้าอาณานิคม  ขณะที่อังกฤษก็ต้องการแสดงความยิ่งใหญ่เชิงกีฬาให้ดินแดนที่เคยอยู่ในอาณัติและโลกได้ประจักษ์ (รวมถึงเป็นความภาคภูมิใจของคนอังกฤษเองด้วย) หลังจากไม่เคยครองแชมป์รายการกีฬาระดับโลกเลยนับจากได้แชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๖ จนเพิ่งมาประสบความสำเร็จสูงสุดอีกครั้งในรักบี้ชิงแชมป์โลกปี ๒๐๐๓  สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ รักบี้กับฟุตบอลเคยมีฐานะเป็นเกมแบ่งแยกสีผิวและชนชั้นของพลเมือง รักบี้เป็นกีฬาของคนผิวขาว ฟุตบอลเป็นของคนพื้นเมืองผิวสี ถึงกับมีคำเปรียบเปรยที่น่าจดจำ  “ฟุตบอลเป็นกีฬาของนักเลงที่เวลาเล่นจะเล่นแบบสุภาพบุรุษ แต่รักบี้เป็นกีฬาของสุภาพบุรุษที่ตอนแข่งจะเล่นแบบนักเลง” กระทั่งมีการพลิกวิกฤต นำกีฬาทั้งสองมาเป็นสื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติพ้นจากความบอบช้ำจากสงครามแบ่งแยกสีผิวได้สำเร็จ นั่นคือการเป็นเจ้าภาพ (และได้ครองแชมป์) รักบี้ชิงแชมป์โลกปี ๑๙๙๕ ตามมาด้วยเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ๒๐๑๐

จากข้อเท็จจริง รักบี้เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความฟิตสุดยอด  ผลการสำรวจกีฬาเจ้าแห่งพละกำลัง ๑๐ อันดับแรกในโลกเมื่อไม่นานมานี้ รักบี้ครองอันดับ ๓ ด้านการใช้พละกำลังและแรงปะทะหนักหน่วงของนักกีฬา เป็นรองแค่มิกซ์มาเทียลอาร์ตส์และอเมริกันฟุตบอลเท่านั้น

รักบี้จึงอาจเป็นกีฬาประเภททีมที่เรียกร้องทั้งพลัง ความมุ่งมั่นและความร่วมมือร่วมใจภายในทีมเป็นพิเศษ

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ก็ราวๆ ๑๒๐ ปีมาแล้ว ทีมออลแบล็กส์เริ่ม “เต้น” ก่อนเกมแข่งขันรักบี้ระดับชาติที่เรียกกันว่า ฮะกะ ซึ่งนำมาจาก “ท่าเต้นออกศึก”, “พิทักษ์การรุกราน” ของชาวเมารีเผ่าต่างๆ ทั้งในเกาะเหนือและเกาะใต้ของนิวซีแลนด์  ฮะกะแบบพื้นเมืองจึงมีหลากหลายนับร้อยรูปแบบแปรเปลี่ยนไปตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของเมารี  ทุกวันนี้ชาวเมารีทั้งหญิงชายยังฝึกเต้นฮะกะกันแต่เด็ก แม้มิได้ออกศึกรบพุ่งกันแต่ก็ใช้ในการแสดงคาปาฮะกะ (Kapa haga) ในประเพณีต่างๆ

หากจะเปรียบฮะกะของออลแบล็กส์เป็นดั่งพิธีร้องเพลงชาติหรือไหว้ครู (มวยไทย) พวกเขาก็ไม่ได้เต้นทุกครั้งไป และในระยะแรกมีเพียงนักกีฬาเชื้อสายเมารีเท่านั้นที่เต้น  เดิมเพลงที่ใช้ร้องประกอบคือเพลง Ka mate, Ka mate ของเผ่างาตีตัวทางเกาะเหนือ ซึ่งเนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อชัยชนะและความตาย  ทีมออลแบล็กส์มีโอกาสกู่ร้องเพลงนี้ครั้งสำคัญสุดในรายการรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งแรกปี ๑๙๘๗ นิวซีแลนด์กับออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพร่วม และเจ้าของท่าฮะกะคว้าแชมป์ไปครอง

พอถึงปี ๒๐๐๖ ในนัดพบกับสปริงบ็อกส์ ผู้เล่นชุดดำเปลี่ยนมาใช้เพลง Kapa o Pango ที่แต่งขึ้นใหม่ เนื้อหากล่าวถึง “ความเป็นออลแบล็กส์” ตรงๆ  ผลงานวันนั้นพวกเขาเอาชนะไปได้ไม่ยาก แต่ฮะกะเวอร์ชั่นใหม่ถูกวิจารณ์หนัก สำหรับท่าทางอันขึงขัง การตะเบ็งเสียงจากลำคออย่างดุดัน ถึงขนาดโค้ชทีมชาติออสเตรเลียร้องขอให้แบนฮะกะจากการแข่งขันรักบี้ระดับชาติ

ฮะกะนั้นอาจกินเวลาสั้นๆ ไม่เกิน ๑ นาที แต่สมาชิกของทีมก็ไม่แสดงพร่ำเพรื่อ  อดีตผู้เล่นคนหนึ่งบอกว่า การตัดสินใจว่าจะทำฮะกะหรือไม่ ใครจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำทีมกู่ร้องและแสดงท่าทาง เป็นไปโดยผู้เล่นทั้งหมด “ขึ้นอยู่กับว่าเวลานั้นทุกคนรู้สึกอย่างไร และคู่ต่อสู้ของพวกเราเป็นใครมากกว่า”

เมื่อสื่อไปสัมภาษณ์นักรักบี้นิวซีแลนด์ชุดแชมป์โลก ๒๐๑๑ ทุกคนพูดคล้ายๆ กันทำนองว่า ฮะกะเป็นการเตรียมพร้อมหรือการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมขั้นสุดท้ายก่อนเข้าสู่การแข่งขัน ทั้งยังเป็นการระลึกถึงประวัติศาสตร์และมรดกของชาติด้วย  พวกเขาจึงตั้งใจเต้นฮะกะอย่างเต็มที่เพื่อแสดงความเคารพต่อประเพณีและสิ่งต่างๆ ที่บรรพบุรุษกระทำสืบทอดกันมา

แอนตัน โอลิเวอร์ พูดน่าฟังว่า “ระหว่างที่ร้องฮะกะนั้น เราต่างคนต่างร้องเหมือนกับว่าแต่ละคนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของตัว แต่สุดท้ายแล้วเราจะเดินทางมาอยู่ที่จุดเดียวกัน  เมื่อฮะกะจบลง จิตวิญญาณของพวกเราจะรวมอยู่ที่จุดเดียวกัน” คา วิลเลียมส์ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมเมารี ก็เสนอมุมมองในแง่การรวมพลังเช่นกัน  “การที่พวกเขานำฮะกะมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมน่าจะเกี่ยวกับการสร้างพลัง มันเป็นสิ่งที่ปลุกเร้าอารมณ์และเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้พวกเขามีความกระหายต่อชัยชนะ  ถ้าคุณเต้นฮะกะได้ดี คุณก็ย่อมจะทำเรื่องอื่นๆ ได้ดีด้วย  เมื่อพวกผู้ชายเต้นฮะกะ ถ้าเขาเต้นได้น่าเกลียดน่ากลัวเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น”

ปลุกใจฝ่ายตนเองพร้อมๆ กับทำลายขวัญฝ่ายตรงข้ามนับเป็นอุบายอันแยบคาย

ลุค แมคเอลิสเตอร์ เหมือนจะรับรู้ได้ว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังคิดอะไรอยู่เวลาดูฮะกะ น้ำเสียงจึงเหมือนขอความเห็นใจ  “ผมหวังว่าเวลาที่คนอื่นดูเราร้องและเต้นฮะกะ พวกเขาจะมองเห็นประเพณีความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายต่อพวกเรา”

จากการถูกกดดันมาโดยตลอด ทีมคู่แข่งรับมืออย่างไรต่อพิธีที่ทรงพลังนี้

ช่วงหลังๆ บางทีมคิดมุกตอบโต้ด้วยการยืนแข็งเป็นหินเป็นเวลานานหลังฮะกะจบลง  บางทีมล้อมวงเป็นกลุ่มและร้องเพลงชาติข่ม (พร้อมกับคนดูในสนาม) หรือทำท่าทางคล้ายฮะกะตอบก็มี  ตามข้อมูลระบุว่า ทีมฟิจิ ซามัว และตองก้า แสดง “ท่าเต้นนักรบ” ก่อนเริ่มเกมแข่งขันเหมือนกัน

หนักสุดดูเหมือนเป็นทีมชาติฝรั่งเศสที่พากันเดินเข้าไปเผชิญหน้ากับพวกออลแบล็กส์ในนัดชิงชนะเลิศรักบี้เวิลด์คัปครั้งล่าสุดปี ๒๐๑๑  ปรากฏว่าหลังจากนั้นทีมฝรั่งเศส-รองแชมป์โลกถูกปรับ ๑๐,๐๐๐ ปอนด์ โทษฐานเข้าใกล้ทีมนิวซีแลนด์เกินกำหนดที่ระยะ ๑๐ เมตร

ย้อนกลับมาใกล้ๆ ตัว  เด็กมหาวิทยาลัยในเมืองไทยโดยเฉพาะคณะวิศวะ สถาปัตย์ เห็นฮะกะอาจไม่ลังเลจะบอกว่า แถวๆ บ้านเขาเรียกว่า “บูมคณะ”

คนดูหนังอาจบอกว่าคล้ายท่าเต้นอินเดียนแดงก่อนออกศึกสำหรับผู้เขียน ยังไม่เคยเห็นฮะกะกับตา แต่ก็เคยยินคำบางคำ และอดที่จะนึกถึงไม่ได้เมื่อเห็นลีลาพลพรรคออลแบล็กส์–คำว่า mana ซึ่งเคยพบในห้องเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อ

mana เป็นคำที่นิยามยาก แถมรายละเอียดยังแปรผันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  แต่หลักๆ ก็คือ อำนาจหรือพลังเหนือธรรมชาติที่เชื่อว่ามีอยู่ในคน ในวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จะเรียกว่าเป็น “ลัทธิความเชื่อ” ของกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนการเกิดศาสนาก็ได้

แนวคิดเรื่อง mana มีที่มาจากวัฒนธรรมชาวเกาะโพลินิเซีย เมลานีเซีย

ถิ่นฐานชาวเมารีเจ้าของตำนานฮะกะนั่นเอง

หมายเหตุ : สำหรับนิวซีแลนด์ ไม่เพียงแต่ทีมออลแบล็กส์เท่านั้นที่เต้นฮะกะ (และไม่ได้มีเพียงทีมรักบี้ที่มีฉายาลงท้ายด้วย “แบล็ก”) ทีมกีฬาอื่นๆ ของแดนกีวี เช่น Tall Blacks (ทีมบาสเกตบอล) Ice Blacks (ทีมฮอกกี้น้ำแข็ง) ก็เต้นฮะกะในบางโอกาส