เรื่อง : สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์
ภาพ : ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล

Capoeira - ฝึกวิชาเตะ เต้น เล่น ตีลังกา ศิลปะการต่อสู้บราซิล

หน้าพระพุทธรูปมีร่างชายหนุ่มสองคนยืนตั้งท่าประจันหน้ากันโดยไม่ละสายตา

ไร้สุ้มเสียงสัญญาณใดๆ การต่อสู้เริ่มต้นขึ้นเมื่อหนุ่มบราซิลผิวเข้มร่างกำยำตวัดขาตีลังกาเตะคู่ต่อสู้ตรงหน้า เคลื่อนที่โยกไปมาเพื่อตั้งท่า ก่อนพุ่งตัวท่าล้อเกวียนด้วยแขนขวาเพียงข้างเดียวและตวัดขาเตะฟาดใบหน้าถึงสามจังหวะ

โจมตีต่อเนื่องลื่นไหลราวสายน้ำ แทบไม่เปิดช่องให้คู่ต่อสู้หนุ่มไทยโจมตีกลับเลยแม้แต่น้อย

ไม่ต้องกังวลไป ฉากข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตจริง หากแต่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ต้มยำกุ้ง ที่ฉายในปี ๒๕๔๘ ผ่านการต่อสู้ระหว่างขาม (นำแสดงโดย จา พนม) และนักสู้ทรงผมเดรดล็อกชาวบราซิลด้วยลีลาการเตะที่ผู้ชมหลายคนไม่คุ้นตา ละม้ายคล้ายเบรกแดนซ์ในบางครา แต่รุนแรงและหนักแน่นจนจา พนม ล้มลง

ศาสตร์ดังกล่าวมีนามว่า คาโปเอร่า (capoeira) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ผสานองค์ประกอบของการต่อสู้ การเต้น ดนตรี กายกรรม และปรัชญาชีวิตของชาวบราซิลเข้าด้วยกัน

ส่วนชายชาวบราซิลคนนั้นเรียกว่า คาโปเอริสต้า (capoeirista) หรือนักสู้คาโปเอร่าที่โจมตีต่อสู้ด้วยท่วงท่าที่งดงาม

การต่อสู้ชนิดนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่ถือกำเนิดมาแล้วยาวนานกว่า ๕๐๐ ปี ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนจะนำเข้ามาฝึกในประเทศไทยในปี ๒๕๔๒ ผ่านกลุ่มคนผู้หลงใหลศิลปะการต่อสู้ ต่อมาขยายเป็นเครือข่ายหลายแห่งที่เปิดสอนในปัจจุบัน

แต่ก่อนจะเดินหน้าทำความรู้จักคาโปเอร่าในประเทศไทย จุดเริ่มต้นของศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้เริ่มต้นในผืนป่าแห่งประเทศบราซิล

capoera01
คาโปเอร่า ศิลปะการต่อสู้ที่มีกำเนิดจากประเทศบราซิลเมื่อราว 500 ปีก่อน บางท่าต้องใช้เวลาฝึกฝนทั้งกล้ามเนื้อ จังหวะ และการจัดระเบียบร่างกาย อย่างเช่น แพน ครูสอนคาโปเอร่าจากสถาบัน Movimento Simples de Capoeira – Thailand ใช้เวลาฝึกซ้อมมากว่า 20 ปี
capoera02
บีริมเบาว์และพานเดโร่ สองเครื่องดนตรีสำคัญที่กำหนดจังหวะสร้างอารมณ์ให้กับผู้เล่นคาโปเอร่า

วิชาต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

ประวัติศาสตร์ของคาโปเอร่าเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. ๑๕๐๐ ในยุคล่าอาณานิคมที่บราซิลตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ตลอดระยะเวลา ๓๐๐ ปีในดินแดนบราซิลจึงมีการจับทาสชาวแอฟริกันร่างกายแข็งแรงไม่ต่ำกว่า ๔ ล้านคนมาเป็นแรงงานในไร่

แม้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแน่ชัดว่าคาโปเอร่าเกิดขึ้น ณ พื้นที่ใดในบราซิลและใครคือผู้คิดค้น ทว่าข้อสันนิษฐานที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความนิยมอธิบายว่า คาโปเอร่าเกิดจากการเสาะหาอิสรภาพของกลุ่มทาสบางส่วนที่หลบหนีเข้าป่า และฝึกฝนศิลปะการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวจากนายทหาร โดยตัดหญ้าเป็นพื้นที่วงกลมใช้ในการล้อมวงฝึกซ้อม

แต่เพราะทาสส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฝึกศิลปะป้องกันตัว จึงมีการผสานเสียงดนตรี การร้องเพลงและท่าเต้นแฝงเข้าไปเพื่อปกปิดการฝึกให้อยู่ในภาพของการร้องเล่นเต้นรำ

เช่นเดียวกับคำว่า “คาโปเอร่า” ซึ่งเกิดจากคำว่า “คา” (Kaá) หมายถึงใบไม้หรือพืช และ “ปูเอรา” (puêra) แสดงความเป็นอดีตของคำก่อนหน้าในภาษาทูปี-กวารานี (ภาษาอเมริกันพื้นเมือง) โดยรวมจึงหมายถึงป่าหรือพุ่มไม้ สะท้อนถึงพื้นที่ที่เหล่าทาสหลบหนีมาซ้อมนั่นเอง

ต่อมาหลังมีการเลิกทาสใน ค.ศ. ๑๘๘๘ ทาสบางส่วนที่ตัดสินใจไม่เดินทางกลับแอฟริกายังคงฝึกฝนคาโปเอร่าและใช้เป็นอาวุธต่อสู้ฆ่าฟัน จนรัฐบาลบราซิลประกาศแบนและลงโทษผู้ฝึก

กระทั่งเมื่อสงครามบราซิล-ปารากวัยมาถึง คาโปเอร่าจึงได้รับการยอมรับอีกครั้งหลังรัฐบาลบราซิลจัดตั้งกองกำลังนักสู้คาโปเอร่าในนาม black military ที่สู้รบและนำชัยชนะมาให้บราซิลได้สำเร็จ

ปัจจุบันคาโปเอร่าไม่ใช่การต่อสู้เพื่อฆ่าฟันอีกต่อไป ด้วยการผสานวัฒนธรรมและการละเล่นแบบเกมเข้าไป คาโปเอร่าจึงกลายเป็นกีฬาประจำชาติบราซิล และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) โดยยูเนสโก ก่อนได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

เพื่อทำความเข้าใจว่าคาโปเอร่าในผืนป่าทวีปอเมริกาใต้มาปรากฏในเมืองไทยได้อย่างไร เรานัดหมายพูดคุยกับสุรนันต์ ชุ่มธาราธร หรือ โต้ง หนึ่งในสมาชิกวง Buddha Bless ที่น้อยคนจะรู้จักเขาในบทบาทผู้นำเข้าคาโปเอร่าและผู้ก่อตั้งกลุ่มคาโปเอร่ากลุ่มแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Capoeira Bangkok

บ่ายวันเสาร์ภายในห้องสตูดิโอสีขาวขนาดย่อม โต้งพาเราไปรู้จักกับคาโปเอร่าพร้อมเล่าอย่างเต็มปากว่าสำหรับเขา “capoeira saves my life” จริงๆ

capoera03
ขั้นตอนการยืดเหยียดร่างกาย เตรียมพร้อมก่อนเล่นคาโปเอร่า

พาวิชากลับมาเมืองไทย

จุดเริ่มต้นความหลงใหลคาโปเอร่าของโต้งเกิดขึ้นเมื่อเขาบินลัดฟ้าไปเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ ทว่าหากย้อนไปก่อนหน้านั้น ศิลปะป้องกันตัวชนิดแรกที่โต้งรู้จักอย่างจริงจังไม่ใช่คาโปเอร่า แต่เป็นเทควันโดที่เขาฝึกฝนจนได้แชมป์ North Island Taekwondo Championship, New Zealand ก่อนต่อยอดไปศึกษาศิลปะป้องกันตัวหลายชนิดเท่าที่จะทำได้

“เราเรียนกังฟูเส้าหลิน วิชานินจุตสึ (การต่อสู้ของนินจา) และอะไรก็ตามที่มีที่นั่น ลงเรียนทุกอย่างเพราะอยากรู้อยากเข้าใจ จนไปเจอหนังฟอร์มเล็กชื่อ Only the Strong เกี่ยวกับคาโปเอร่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้น โห…เท่ว่ะ รู้เลยว่าตัวเองชอบศิลปะการต่อสู้เพราะว่ามันเท่ เรารู้สึกว่ามันสวยงาม”

ด้วยภาพยนตร์ที่จุดประกายความสนใจ เขาค้นหาโรงเรียนสอนคาโปเอร่าในเมือง ก่อนจะเรียนทั้งเทควันโดและคาโปเอร่าควบกันมาตลอด จนกระทั่งต้องบินกลับไทยด้วยความจำเป็นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC-เอแบค)

เมื่อหวนนึกถึงคาโปเอร่าที่เคยฝึก ประกอบกับไม่มีกลุ่มคาโปเอร่าใดๆ ในไทย โต้งจึงเริ่มชวนเพื่อนสนิทสองคนในชมรมเทควันโดฝึกซ้อมคาโปเอร่าด้วยกันเสียเลย

“ช่วงนั้นเราคิดในใจว่าอยากทำให้คาโปเอร่าเกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะเราอยากเล่นแล้วไม่มีเพื่อนเล่น ฉะนั้นการสอนคนอื่นให้เล่นต่อน่าจะทำให้วงขยาย แล้วเรามีเพื่อนเล่นมากขึ้น”

การหาเพื่อนเล่นไม่ได้หยุดลงแค่ในชมรมนักศึกษาเท่านั้น แต่ขยายไปสู่กลุ่มนักเรียนมัธยมฯ ที่เห็นการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ที่โต้งซื้อตำรามาฝึกเขียนโค้ดสร้างเว็บฯ เองตั้งแต่ต้น ด้วยความตั้งใจอยากโปรโมตคาโปเอร่าให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมเติบโตจากหลักหน่วยเป็นหลักสิบ จนเมื่อสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่จบจากมหาวิทยาลัย ทางกลุ่มจึงตัดสินใจเปิดพื้นที่ซ้อมแห่งใหม่ที่สวนสันติชัยปราการ บริเวณป้อมพระสุเมรุ ทุกสัปดาห์เป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อต้อนรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติย่านข้าวสารที่สนใจเข้าร่วม ต่อมาเมื่อกฎการใช้พื้นที่สวนเคร่งครัดขึ้น จึงได้ย้ายคลาสเรียนจากในสวนมาสู่สตูดิโอซ้อมจริงจัง

หากกล่าวว่าแค่มีพื้นที่ว่างที่ไหนก็เล่นคาโปเอร่าได้ใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะพื้นหญ้า พื้นปูนหรือพื้นไม้…

คำตอบคือ “ใช่” เลือกที่ปลอดภัยแบบที่เท้าคนเล่นรับไหว ไม่บาดเจ็บก็พอ

ท่ามกลางการจัดซ้อม จัดสอน และจัดแสดงโชว์เมื่อมีงานอีเวนต์ติดต่อเข้ามา คาโปเอร่าจึงเริ่มเติบโตขึ้นในไทย และด้วยการขับเคลื่อนกลุ่มจากความตั้งใจของโต้งและสมาชิก

ปัจจุบันกลุ่ม Capoeira Bangkok ได้รวมกลุ่มกับเครือข่าย Movimento Simples de Capoeira ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศบราซิลและจัดสอนในประเทศอื่นๆ มากมายทั้งมาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน

“ถ้าไม่ค่อยออกกำลังกายมาก่อนจะเล่นได้ไหมคะ” เราถามขณะเริ่มเดินเข้าสู่ Hoyhon Studio สตูดิโอสีขาวสะอาดที่แฝงตัวอยู่ในย่าน RCA หลังนัดหมายเพื่อสมัครเป็นนักเรียนคาโปเอร่ามือใหม่ พร้อมเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อยืด กางเกงวอร์มง่ายๆ เพราะแค่บทสนทนาคงไม่ชัดเจนเท่าการลองด้วยตัวเอง

ไม่ต้องรอคำตอบใดๆ ขณะที่ฝนโปรยปรายกระทบหลังคายาม ๕ โมงเย็น บรรยากาศในสตูดิโอแห่งนี้เพิ่งจะเริ่มต้น

capoera04
ศิลปะการต่อสู้คาโปเอร่าจะเล่นทีละคู่ โดยออกมาแสดงตามจังหวะดนตรีกลางวงล้อม “โฮดา” (roda) และผู้เล่นที่เหลือจะเล่นเครื่องดนตรี ปรบมือประกอบจังหวะ ร้องเพลง รวมทั้งเป็นผู้ชม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเล่น

เปิดตำราวิชาดนตรีและพลศึกษา

Solta a mandinga ê

[Unleash the Mandinga

Solta a mandinga,

[Unleash the Mandinga]

Solta a mandinga ê, Capoeira,

[Unleash the Mandinga, Capoeira]

Solta a mandinga

[Unleash the Mandinga]

*หมายเหตุ: คำว่า Mandinga ไม่มีความหมายตรงตัว ตีความได้หลายความหมายในบริบทของคาโปเอร่า เช่น เวทมนตร์ ความคิด ปรัชญา พลังที่ซ่อนอยู่ เป็นต้น

เสียงเพลงภาษาโปรตุเกสดังกึกก้องไปทั่วห้อง คือบทเรียนแรกที่เราเริ่มฝึกผ่านการจดจำเนื้อเพลง ร้องตามเป็นคอรัส และปรบมือตามจังหวะท่ามกลางการล้อมวงกับเพื่อนร่วมคลาสชายสี่คนและหญิงอีกสองคน ไม่ใช่การฝึกท่าเตะอย่างที่เตรียมใจไว้

แม้ในอดีตดนตรีจะถูกใช้เพื่อปกปิดการฝึกศิลปะการต่อสู้จากสายตาของนักล่าทาส แต่ปัจจุบันหน้าที่สำคัญของดนตรีคือการกำหนดจังหวะ ความเร็ว และรูปแบบการทำท่าคาโปเอร่าต่างๆ รวมถึงใช้สื่อสารความหมายผ่านเนื้อเพลง

แต่ไม่ใช่แค่เพลงที่ใช้ควบคุมทิศทางการเล่นคาโปเอร่า ยังมีเครื่องสายทรงยาวรูปร่างเหมือนคันธนู ห้อยด้วยน้ำเต้าอย่างบีริมเบาว์ (berimbau) ทำหน้าที่เป็นประธานของวง กำหนดทิศทางของเกมว่าจะเร็วหรือช้าอย่างไร

หนึ่งคนขับร้องหลัก สองคนเล่นบีริมเบาว์ประสาน ส่วนผู้เล่นที่เหลือบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่มี พร้อมปรบมือให้ตรงจังหวะ

หลังมั่นใจว่าทุกคนจดจำบทบาทของตัวเอง บทเรียนต่อมาก็เริ่มต้นด้วยการวอร์มอัปท่าต่างๆ

มือใหม่อย่างเราที่ถูกแยกจากคลาสมาสอนส่วนตัวเป็นพิเศษ ท่าแรกที่ได้เรียนคือฟุตเวิร์กพื้นฐานที่มีชื่อว่า จิงกา (ginga) เริ่มด้วยการก้าวขากว้างระยะประมาณอก ก่อนก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลังและเลื่อนกลับมาที่เดิมเป็นลักษณะสามเหลี่ยมบนพื้นเพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับและรุกคู่ต่อสู้

“เมื่อยไหม” ภัคธร โกเมศโสภา หรือ ครูแพน สมาชิกกลุ่มผู้รับบทครูเฉพาะกิจของเราในวันนี้เอ่ยถามขึ้น

“เมื่อยค่ะ” เราก้มลงเล็กน้อยพร้อมพยักหน้า หลังลองฝึกท่านี้ไปมาเป็นสิบครั้งจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง

“ถ้าเมื่อยแปลว่าทำถูกแล้ว”

เพราะเป็นท่าที่กล้ามเนื้อไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน จึงไม่แปลกที่จะเมื่อย

“ดูได้เลยนะว่าใครเก่งไม่เก่งจากท่าฟุตเวิร์กอย่างจิงกา” ครูแพนเสริมก่อนชี้ให้เรามองคนอื่นในคลาส

แม้จะเป็นท่าเริ่มต้นพื้นฐาน แต่การก้าวยืนให้มั่นและขยับให้ไหลลื่นโดยไม่เสียหลักสามารถสะท้อนความเชี่ยวชาญของแต่ละคนได้

ท่วงท่าทั้งหลายของคาโปเอร่าประกอบจากการเตะ ศอก ตีลังกา ก้มตัว และเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามหมวดหลักได้แก่ จิงกา (ginga) ที่เน้นเคลื่อนไหวในลักษณะท่ายืนไปมา ต่อด้วยอาอู (a’u) เคลื่อนไหวแบบกลับหัว เช่น ล้อเกวียนหรือตีลังกา และท้ายสุดคือ เนกาชิวา (negativa) เคลื่อนไหวใกล้พื้นเพื่อหลบ ตั้งหลักเมื่อล้ม และโจมตีกลับอย่างรวดเร็ว

หลังจบขั้นตอนการวอร์มอัป ทุกคนในคลาสต่างเริ่มยืดเหยียดร่างกายตามการนำของคุณครู เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเตรียมความยืดหยุ่นของร่างกายเพื่อรองรับท่วงท่าที่ต้องเรียนต่อจากนี้

เมื่อทุกคนแยกย้ายไปฝึกท่าประจำสัปดาห์ ครูแพนถ่ายทอดวิชาท่าต่างๆ ให้เราอีกสามท่า ได้แก่ ท่าเตะ ท่าหลบ และท่าล้อเกวียน เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเล่นล้อมวงเป็นวงกลมในช่วง ๓๐ นาทีสุดท้ายของชั้นเรียน

capoera05
เซฟ-มนต์ชนะ สัตยธำรงเธียร จากสถาบัน Sala de Jogos (ซ้าย) และแพน-พลากร จันทร์โภคาไพบูลย์ จากสถาบัน Movimento Simples de Capoeira – Thailand

ฝึกวิชาด้วยการสื่อสาร

เมื่อไฟสตูดิโอถูกหรี่ลงเป็นสีส้ม บรรยากาศรอบข้างก็เปลี่ยนฉับพลัน วงกลมถูกตั้งขึ้นอีกครั้งผ่านผู้เล่นในคลาสทั้งเจ็ดชีวิต

หากจะเรียกให้ถูกต้อง วงกลมเช่นนี้เรียกว่า โฮดา (roda)

การเล่นคาโปเอร่าจะเริ่มต้นเมื่อผู้เล่นบีริมเบาว์ส่งสัญญาณให้เริ่มเล่นได้ ก่อนที่ผู้เล่นสองคนจะเดินมาหยุดตรงหน้าบีริมเบาว์ จับมือกันหนึ่งครั้งและเริ่มเข้าไปวาดลวดลายในวงด้วยท่าโจมตี หลบ รุก และรับ สลับไปมาตามจังหวะเพลง ในขณะที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมในวงผ่านการร้อง เล่นเครื่องดนตรี และปรบมือตามจังหวะ

ชายหนุ่มคนแรกหันไปแปะมือหญิงสาวตรงข้ามเป็นการเริ่มต้นวงในวันนี้ ทั้งสองตีขาท่าล้อเกวียนออกมาตรงกลางวงพร้อมกัน ทันใดนั้นขาขวาของชายหนุ่มก็เหยียดตรงกวาดเตะเป็นวงกลม ฝ่ายหญิงสาวจึงก้มตัวต่ำหลบไปทางซ้าย สายตาจดจ้องคู่ของตนเพื่อสังเกตจังหวะ ก่อนจะตวัดตัวกลับหลังแล้วใช้ขาซ้ายตวัดเตะอีกครั้ง เป็นหน้าที่ของคู่เล่นที่ต้องหลบให้ทัน

ทว่าท่วงท่าที่ไม่เร่งรีบทำให้เราประหลาดใจ เพราะส่วนใหญ่การเตะเหล่านั้นกลับไม่โดนตัวคู่เล่นเลยแม้แต่น้อย

“ในคาโปเอร่าทั่วโลก ถ้าเราเปรียบเป็นมวยอย่างอื่นจะใช้คำว่าสู้กัน ซ้อมกัน แต่คาโปเอร่าใช้คำว่า ‘ไปเล่นกัน’ หรือ ‘Let’s play capoeira’ มันจึงชัดมาก เพราะเวลาคุณมาจับคู่กันมันคือการสื่อสาร พูดคุยด้วยการใช้ท่าทางคาโปเอร่าสื่อสาร ผมเตะแบบนี้ คุณตอบสนองแบบนี้ คุณตอบกลับมาแบบนี้ ถ้าเราเล่นรุนแรงกับเขา มันแปลว่าเราสื่อสารกับเขาว่าเล่นแรงกลับมาได้เลยนะ”

คำอธิบายจากโต้งยืนยันให้เราเข้าใจภาพตรงหน้า เพราะผู้เล่นทั้งสองต่างมีจังหวะสลับกันรุก-รับ ไร้ซึ่งคำพูดใดๆ แต่ใช้ท่าทางโต้ตอบกันอย่างลื่นไหล โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการฝึกตนเอง ไม่ใช่การล้มคู่ต่อสู้ให้บาดเจ็บจริงจัง เพราะในการเล่นคาโปเอร่าส่วนใหญ่มักไม่มีการตัดสินแพ้ชนะใดๆ หากไม่ใช่การแข่งขันที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ

“ความแตกต่างของคาโปเอร่ากับศิลปะการต่อสู้อย่างอื่นคือคาโปเอร่ามีความอิสระสูงมาก อย่างเทควันโด ยูโด คาราเต้ ไอคิโด มันเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีแพทเทิร์น ข้อดีของคาโปเอร่าคือแต่ละคนสามารถเล่นในแบบของตัวเองได้ ถ้าคุณเรียนจากครูคนนี้มา ปรกตินักเรียนจะถอดแบบครูผ่านวิธีการสอน แต่พอมาถึงจุดๆ หนึ่ง นักเรียนคนนั้นจะพัฒนาในแบบที่เขารู้สึกว่า นี่มันเป็นสไตล์ของเขา” โต้งเสริม

และแล้วครูแพนก็เดินมาตรงหน้าเราพร้อมยื่นสองมือเป็นสัญญาณเชิญชวนก่อนกล่าวสั้นๆ 

“First day you must play”

ไม่รู้ว่าเป็นกฎของกลุ่มหรืออย่างไรที่นักเรียนหน้าใหม่ทุกคนต้องร่วมวงในวันแรก แต่ไม่ทันมีเวลาให้คิด สมองรีบทวนท่าที่เพิ่งเรียนไปไม่ถึงชั่วโมง เราหายใจฮึบหนึ่งครั้งก่อนตีล้อเกวียนเข้าไปกลางวง

ใช้เวลาราว ๓๐ นาที ผู้เล่นทุกคนต่างวนเวียนกันออกไปวาดลวดลายแสดงท่าทางตามรูปแบบที่ตนถนัดจนเหงื่อไหลท่วมตัว

capoera06
เซฟ-มนต์ชนะ และครูสอนคาโปเอร่าได้จัดสรรห้องในบ้านเป็นสถานที่ฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้คาโปเอร่า จึงเป็นที่มาของชื่อสถาบัน Sala de Jogos เพราะในภาษาโปรตุเกสหมายถึง “playroom”
capoera07
นักเรียนของสถาบัน Sala de Jogos มีอายุประมาณ 35-45 ปี

วิชาไม่ฮิต เพราะชีวิตต้องฝึกฝน

ปัจจุบันนอกจากกลุ่ม Movimento Simples de Capoeira – Thailand ของโต้งแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เปิดสอนและร่วมซ้อมกันเอง เช่นกลุ่ม Capoeira Angola Bangkok ที่เน้นการเล่นคาโปเอร่าโดยยึดวัฒนธรรมและวิธีการดั้งเดิมเป็นหลัก หรือสถาบัน Sala de Jogos ที่เปิดสอนโดยครูเซฟ-มนต์ชนะ สัตยธำรงเธียร ผู้ฝึกคาโปเอร่าที่ตัดสินใจเปิดสตูดิโอของตนเองในภายหลัง เป็นต้น

โต้งเล่าเสริมว่าแม้แต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบและแนวทางการเล่นที่ยึดถือแตกต่างกัน แต่ทุกคนต่างเป็นเพื่อนกัน เรียกว่าเป็นชุมชนของคนคาโปเอร่าก็ว่าได้

ทว่าหนึ่งคำถามผุดขึ้นในใจหลังได้เห็นและลองเล่นคาโปเอร่า

ทำไมศิลปะการต่อสู้ที่สวยงามเช่นนี้ถึงไม่เป็นที่นิยมในไทย

โต้งอธิบายว่าเป็นเพราะในยุคที่กลุ่มของเขาเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มหลักในประเทศไทย ความตั้งใจของกลุ่มคือการเปิดสอนโดยไม่แสวงหากำไร เพราะต้องการให้ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเก็บค่าเรียนให้เพียงพอกับค่าเช่าสตูดิโอเท่านั้น แต่งบประมาณที่ไม่มากพอกลายเป็นข้อจำกัด เพราะเมื่อไม่สามารถเช่าสตูดิโอใจกลางเมืองไหว หลายคนไม่สะดวกเดินทางมาเรียน ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มที่ไม่ต่อเนื่องและขนาดของตลาดศิลปะการต่อสู้ที่ค่อนข้างแคบ จึงไม่สามารถสร้างกระแสความสนใจให้คงอยู่ยาวนานได้มากพอ

“คาโปเอร่าเนี่ย ถามว่าทำท่าแล้วถ่ายรูปมันเท่ไหม เท่! แต่กว่าจะทำท่าแบบนั้นได้ยากไหม ยาก! เพราะเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถเรียนแค่ ๑ เดือนแล้วจะขยับได้ตามที่ใจคุณต้องการ มันเป็นท่าที่ต้องใช้การฝึกซ้อมเยอะ ต้องใช้ความเคยชิน มีหลายส่วนของร่างกายที่คุณไม่เคยใช้กล้ามเนื้อนั้นแล้วคุณต้องมาสร้างมัน”

เพราะคาโปเอร่าไม่ใช่เทรนด์การออกกำลังกายที่ผู้เล่นจะฝึกเพียงไม่กี่เดือนเพื่อโพสต์ภาพสวยๆ ลงโซเชียลมีเดีย แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ต้องใช้ความอดทนฝึกฝนกว่าจะเป็นแต่ละท่า

ภาพการตีลังกางดงามที่เราได้เห็นจึงเป็นหลักฐานของการฝึกฝนมานานหลายปี และแม้จะเล่นมานานแค่ไหน ก็ยังมีอะไรให้เรียนรู้เสมอ

แพนพลากร จันทร์โภคาไพบูลย์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่เล่นคาโปเอร่ามาถึง ๒๓ ปีหลังจากบังเอิญรู้จักคาโปเอร่าในยุคที่โต้งยังเปิดสอนที่เอแบค จวบจนกลายเป็นครูสอนคาโปเอร่าเต็มตัวในปัจจุบันเล่าให้เราฟัง

“ช่วง ๑๐ ปีแรก เราคิดว่ารู้แล้วว่าคาโปเอร่าเป็นยังไง แต่จริงๆ เราไม่รู้เลย มารู้ตอนช่วง ๑๐ ปีหลังว่ามีอะไรมากกว่าการเข้ามาเตะไม่ให้โดนกัน เมื่อก่อนเราไม่มีความรู้ แต่พอช่วงหลังเรามีครู จึงเริ่มรู้ว่าจริงๆ เป็นการเตะให้โดนกันโดยเราอาจจะชะลอจังหวะขาให้ช้าลง เพื่อให้อีกคนหนึ่งหลบได้ แล้วต่อเกมให้พัฒนาไปได้เรื่อยๆ มากกว่า”

ฟังดูเรียบง่าย แต่ความเข้าใจเหล่านี้ต่างถูกพัฒนาไปตามประสบการณ์หลายปี

ครั้นเมื่อฝึกท่าพื้นฐานและเริ่มเล่นท่าต่างๆ ได้คล่องแคล่วในวงโฮดา บันไดขั้นต่อมาสำหรับชาวคาโปเอร่าคือ การสอบสาย เรียกว่า บาทิซาโด (batizado) เพื่อวัดระดับความสามารถของผู้เล่นด้วยสายคาดสีต่างๆ คล้ายคลึงกับเทควันโด

ทว่าจุดแตกต่างสำคัญคือ การสอบคาโปเอร่านั้นผู้เล่นจะถูกประเมินผ่านทักษะท่าต่างๆ ระยะเวลาการฝึกซ้อม และการเล่นเกมคาโปเอร่าให้หลากหลาย เช่นการช่วยเหลือคู่เล่นในวง ไม่ใช่แค่การตีลังกาหรือเตะเพื่อให้ผ่านระดับ

ดังนั้นคาโปเอร่าจึงไม่ใช่การเล่นเพื่อพัฒนาตัวเองคนเดียวหรือโจมตีคู่ต่อสู้เอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการเล่นเพื่อช่วยพัฒนาฝีมือคู่ของเราและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

สำหรับแพน คาโปเอร่าให้อะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสฝึกภาษาอังกฤษเมื่อได้ร่วมเล่นกับชาวต่างชาติ ร่างกายที่แข็งแรงขึ้น และที่สำคัญที่สุด “เรารู้สึกว่าสังคมนี้ดี พี่ๆ ดูแลเรา สอนเราในสิ่งที่ดี เราจึงมีความสุข เหมือนเป็นครอบครัว”

หลังฝึกร่วมกันจนครบ ๒ ชั่วโมง กล้ามเนื้อที่ได้ใช้งานเต็มที่แสดงอาการประท้วงอีกครั้ง ทุกคนต่างนั่งพักและยืดเหยียดเพื่อไม่ให้ปวดร้าวในวันถัดไป ก่อนส่งยิ้มให้กันหลังนัดหมายไปรับประทานมื้อเย็นต่อจากนี้

capoera08
คาโปเอร่า ศิลปะป้องกันตัวประจำชาติบราซิล แม้จะเผยแพร่วัฒนธรรมการเล่นไปหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลาย

ส่งต่อวิชาและความฝัน

“ผมเคยฝันเอาไว้ตั้งแต่เริ่มกลุ่มแล้ว โคตรอยากให้มีคนเล่นคาโปเอร่าในเมืองไทยเยอะๆ เลย แต่ผมมองทุกอย่างตามความเป็นจริง ทุกวันนี้แค่รู้สึกว่าดีใจกับน้องๆ หลายคนที่ผมเห็นพัฒนาการ เรา self-training มาตลอด ๒๐ ปี ผมเลยรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่น้องๆ เขาพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความฝันอันนั้นผมก็ต้องปล่อยให้เขาทำต่อแล้วล่ะ”

แม้จะไม่ได้ลงสนามสู่วงโฮดาบ่อยนักด้วยร่างกายที่บาดเจ็บและเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น แต่ตลอด ๒๐ กว่าปีที่คาโปเอร่าปรากฏตัวในไทยด้วยการริเริ่มก้าวแรกของโต้ง วันนี้เขากล่าวว่า ชีวิตมีทุกวันนี้ได้เพราะศิลปะการต่อสู้ ส่วนความฝันลึกๆ ในใจคงต้องถูกส่งต่อให้สมาชิกรุ่นใหม่ขึ้นมาสอนและถ่ายทอดแทน

“ถ้าไม่ค่อยออกกำลังกายมาก่อนจะเล่นได้ไหมคะ” คำถามเดิมถูกหยิบยกมาถามโต้ง ไม่ใช่ถามเพื่อตัวเอง แต่ถามเผื่อคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ จะมาลอง

“วิ่งได้ไหมครับ แล้วเราต้องเตรียมตัวอะไรก่อนวิ่ง” เขาตอบกลับด้วยคำถาม

“เอ่อ…ยืดนิดหน่อยมั้งคะ”

“เหมือนกันครับ ถ้าเปรียบคาโปเอร่าง่ายๆ เหมือนแอโรบิก ก่อนเต้นแอโรบิกคุณก็ใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม วอร์มร่างกายนิดหน่อย แล้วก็เปิดใจมา ที่เหลือต้องมาเจอในคลาสอยู่แล้ว” โต้งตอบด้วยรอยยิ้ม

__________________________________________________________________________________

ผู้สนใจลองเรียนคาโปเอร่ากับกลุ่ม Capoeira BKK (Movimento Simples de Capoeira-Thailand)

ติดต่อสอบถามทางเพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/capoeirabkk

เปิดสอนทุกวันเสาร์ เวลา ๑๗.๐๐-๑๙.๐๐ ณ Hoyhon Studio, RCA

ขอขอบคุณ

  • สุรนันต์ ชุ่มธาราธร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Movimento Simples de Capoeira-Thailand
  • พลากร จันทร์โภคาไพบูลย์ สมาชิกกลุ่ม Movimento Simples de Capoeira–Thailand และครูสอนคาโปเอร่า
  • ภัคธร โกเมศโสภา และสุรภา คมธนวัฒน์ สมาชิกกลุ่ม Movimento Simples de Capoeira–Thailand
  • มนต์ชนะ สัตยธำรงเธียร เจ้าของสถาบันสอนคาโปเอร่า Sala de Jogos

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ชัชฎาวรรณ แก้วทะพยา. (๒๕๔๕). พื้นที่กับวิถีชีวิตเมือง : กรณีศึกษากลุ่มคาโปเอร่า (Capoeira) ประเทศไทย ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.