stalk

เอ่ยถึง “วีรบุรุษ-วีรสตรี” ของชาติท่านนึกถึงใคร

คือคำถามง่ายๆ ที่นิตยสาร สารคดี ใช้ถามพลเมืองจากชาติสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ในสกู๊ปพิเศษ “MY ASEAN HERO : เมื่อ ‘สามัญชน’ เลือก ‘คนสำคัญ’ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ก่อนจะจัดให้มีการต่อยอดด้วยการเสวนา สารคดี Talk#1 ในหัวข้อ “MY ASEAN HERO : ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่ประชาคมอาเซียน” เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

มีการยกกรณีศึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญรับเชิญ โดยกรณีประเทศภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ มีอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช์ อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พม่า) และอาจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เวียดนาม) เป็นผู้วิเคราะห์ โดยมีคุณโซ อ่อง จาก Forum Democracy for Burma ให้ความเห็นในฐานะตัวแทนจากภาคประชาชนพม่า

ในกรณีของพม่านั้น อาจารย์ดุลยภาคระบุว่ารัฐจะกำหนดลักษณะของวีรบุรุษให้ผูกกับลักษณะของ “นักรบ” “นักการทหาร” เป็นส่วนมาก ทำให้มีรายชื่อของกษัตริย์ในยุครัฐจารีตหลายพระองค์ ก่อนช่วงหลังจะมี “วีรสตรี” ที่มากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมคือ นางอองซาน ซูจี ในฐานะสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย และที่แยกออกมาคือกรณีของชนกลุ่มน้อยที่นิยามวีรบุรุษในมุมกว้างกว่าของรัฐบาลพม่า เช่น เจ้ายอดศึกผู้นำกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) ยกย่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยอ้างประวัติศาสตร์การเป็นพันธมิตรกับชาวไทใหญ่ในอดีต เป็นต้น

ขณะที่ โซ อ่อง ชี้ว่า สำหรับพม่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือใครจะรับไม้ต่อจากนางอองซาน ซูจี ที่อายุมาก โดยเขาหวังว่าจะมีผู้นำที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยรุ่นใหม่ๆ ในพม่า เช่น มิน โก นาย อดีตนักศึกษาเหตุการณ์ ๘-๘-๘๘ หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนางอองซาน ซูจี อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่านิยาม “วีรบุรุษ” สำหรับภาคประชาชนยังอาจหมายถึงคนที่ต่อสู้ปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยซึ่งในพม่าก็มีอยู่เช่นกัน

กรณีของเวียดนาม อาจารย์มรกตวงศ์ระบุว่า คนส่วนมากจะนึกถึงโฮจิมินห์ซึ่งปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นเทพเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมในชีวิตชาวเวียดนาม และมีความพยายามกดทับผู้ที่มีคุณสมบัติคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้บดบังรัศมีของโฮจิมินห์  ทั้งนี้เกิดจากผู้ที่นิยามและสร้างความเป็นวีรบุรุษในสังคมเวียดนามนั้นถูกผูกขาดโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเท่านั้น ที่น่าสนใจคือยุคหลังยังมีการเปิดโอกาสให้มีวีรบุรุษแบบใหม่ ผู้มาจากการประสบความสำเร็จทางธุรกิจอีกด้วย

ส่วนกรณีของฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย อาจารย์สิทธาระบุว่า ในฟิลิปปินส์วีรบุรุษคนสำคัญคือ โฮเซ่ ริซัล ยังคงมีการถกเถียงกันถึงบทบาทของเขาที่ไม่ได้จับอาวุธขึ้นสู้กับเจ้าอาณานิคม แต่ต่อสู้ผ่านตัวหนังสือ  อย่างไรก็ตามริซัลก็ได้รับยกย่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้เป็น “บิดาเอกราช” มาตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกาเสียอีก

ในขณะที่อินโดนีเซีย วีรบุรุษคนสำคัญคือ “ซูการ์โน” นั้นก็ไม่ได้มีสถานะที่แตะต้องไม่ได้ มีกระบวนการทำให้ความทรงจำเรื่องซูการ์โนกลายเป็นสินค้าอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีการประกาศแต่งตั้ง “วีรบุรุษ” โดยประธานาธิบดีทุกปีในวันวีรบุรุษแห่งชาติ อย่างไรก็ตามในอินโดนีเซียใครจะได้รับการประกาศเป็นวีรบุรุษหรือไม่ยังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ส่วนคำถามที่ว่าอาเซียนจำเป็นต้องมีวีรบุรุษร่วมกันหรือไม่ โซ อ่อง ให้ความเห็นว่าถ้ามีควรจะเป็นคนที่ยึดหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน อาจารย์สิทธาระบุว่าถ้ามีก็ควรจะเป็นวีรบุรุษที่มีภารกิจที่สร้างสรรค์และปรองดอง ขณะที่อาจารย์มรกตวงศ์ระบุว่าเราอาจจะต้องย้อนคำถามว่าเราจำเป็นต้องมีวีรบุรุษหรือไม่

แต่ละก้าวที่ไปสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ในปี ๒๕๕๘ และ “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ในอนาคต

คำตอบเรื่องนี้อยู่ในใจของ “ชาวอาเซียน” ทุกคน

ภาพงานเสวนา (คลิกที่ภาพเพื่ออ่านรายละเีอียด)

stalk01

stalk02
stalk03
stalk04
stalk05
stalk06
stalk07
stalk08
stalk09