โลกใบใหญ่
สถาปัตยกรรม
สุชาดา ลิมป์ : รายงาน

technokorat02

อาคารหอประชุม ๑ (ด้านหลัง) ไม่เพียงเปี่ยมคุณค่าทางสถาปัตย์ ยังล้นด้วยคุณค่าทางจิตใจอันเกิดจากการออกแบบโดยอาจารย์และก่อสร้างโดยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกศิษย์ในยุคก่อตั้งมหาวิทยาลัย (ภาพ : นิคม บุญญานุสิทธิ์)

ความเปลี่ยนแปลงคือความเที่ยงแท้ของทุกสรรพสิ่ง เป็นสิ่งยืนยันชะตากรรมของ “อาคารหอประชุม ๑” และ “อาคารอุตสาหกรรม ๒” ที่มีมาแต่แรกตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา

แม้จะมีกลุ่มผู้ทัดทานการรื้อถอนด้วยเหตุผลว่า ๒ อาคารเก่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ฝ่ายผู้บริหารก็อ้างความทรุดโทรมและไม่สนองประโยชน์ใช้สอยแล้ว จึงเดินหน้าแผนรื้อ-ปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อสร้างอาคารหอประชุมใหม่ขนาด ๓,๘๐๐ ที่นั่งอันทันสมัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกประดามี

“ที่เราไม่ยอมให้รื้อ เพราะอาคารนี้มันมีรอยมือรอยตีนของครูเรา”

เสียงศิษย์เก่าหลายคนแสดงเหตุผลคัดค้านตรงกัน เนื่องด้วยอาคารหอประชุม ๑ เกิดจากการร่วมใจกันของอาจารย์และลูกศิษย์ โดยมี ดร.วทัญญู ณ ถลาง ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยคนแรกเป็นผู้ออกแบบ ขณะที่เหล่านักศึกษาร่วมพลีหยาดเหงื่อแรงงานก่อสร้างขึ้นกับมือเมื่อปี ๒๕๐๒ มากกว่าความงามคือศูนย์รวมคุณค่าทางจิตใจ…ย้อนไปเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน อาคารนี้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modernism) ที่สะท้อนพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมของไทยในช่วงเวลาหนึ่งได้ดี มีระบบระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ เหมาะสำหรับการชุมนุม ๖๐๐ คน ซึ่งมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่มีอยู่ขณะนั้น จึงใช้เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ปฐมนิเทศไหว้ครู ปัจฉิมนิเทศ ฯลฯ บางครั้งยังใช้เป็นสถานเรียนวิชาที่ต้องรวมนักศึกษาจำนวนมาก บางคราวเป็นอาคารเอนกประสงค์สำหรับให้นักศึกษาทำกิจกรรมด้วย

ส่วนอาคารอุตสาหกรรม ๒ แท้แล้วก็เป็นอาคารเดียวกันกับหอประชุม เพียงตั้งชื่อแยกกันตามจุดประสงค์หลักของการใช้งาน โดดเด่นด้วยโครงสร้างกล่องบันได และการออกแบบทางเดินให้เป็นมุมเอียงสลับเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน แก้ปัญหาทางเดินด้านนอกอาคารที่มีรูปทรงแคบยาว ไม่ให้ผู้เดินรู้สึกว่าระยะทางไกลเกินไป ทั้งวัสดุก่อสร้างก็สนับสนุนฝีมือช่างท้องถิ่น ใช้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนทำพื้นใช้ไม้มะค่าซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นทำโครงสร้างอาคาร ยิ่งกว่านั้นเมื่อปี ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยือนและประทับที่ห้องรับรองของผู้อำนวยการบริเวณชั้น ๑ ผู้บริหารในยุคแรกจึงคงสภาพห้องนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้รู้ประวัติความเป็นมา

 

technokorat01หน้า อาคารอุตสาหกรรม ๒ มีงานศิลปกรรมบนฝาผนังกล่องบันไดโดยอาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติและบุคคลสำคัญแห่งเมืองโคราช  ปัจจุบันใช้งานอาคารเฉพาะด้านล่าง ชั้นบนปล่อยร้างทรุดโทรม (ภาพ : นิคม บุญญานุสิทธิ์)

technokorat03

ทางเดินทำมุมเอียงสลับ แก้ปัญหาอาคารรูปทรงแคบยาว หลอกผู้เดินไม่ให้รู้สึกว่าระยะทางไกล (ภาพ : บริพัตร สุนทร)

เมื่อผู้บริหารคนปัจจุบันดำริว่าจะรื้อทั้ง สองอาคาร ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจึงรวมตัวกับกลุ่มซีเอสอาร์โคราชและกลุ่มสถาบันพัฒนาเมืองนครราชสีมาออกมาคัดค้านไม่ยอมให้ทำลายหรือเปลี่ยนรูปทรงอาคารอย่างเด็ดขาด

“ผมยังมองไม่เห็นความจำเป็นต้องรื้อถอนอาคารหอประชุม ๑ และย้ายกล่องบันไดของอาคารอุตสาหกรรม ๒ ออกไปไว้ด้านข้างเพื่อขยายพื้นที่ใช้สอยของอาคารใหม่โดยอ้างว่ายังอนุรักษ์ห้องรับรองไว้ คุณรู้หรือเปล่าความเป็นโมเดิร์นเขาวัดฝีมือกันที่บันได ใครออกแบบให้โปร่งโล่งเบาสบายได้ดีกว่ากัน แล้วถ้าคุณเปลี่ยนแปลงหัวใจของโมเดิร์นเสีย นั่นยังเรียกว่าอนุรักษ์ได้หรือ ที่สำคัญคือพื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้มันพอดีกับจำนวนเต็มที่ ๗๐๐ คน ถ้าคุณจะขยายให้มันรองรับจำนวนหลักพัน ผังแม่บทที่วางไว้เป็นอย่างดีต้องเสียแน่นอน ตามมาด้วยปัญหาใหม่ในอนาคต แล้วทำไมต้องฝืนสร้างในเมื่อมหาวิทยาลัยยังมีพื้นที่อื่นอีกมากที่จะสร้างอาคารใหม่ได้อย่างสง่าโดยยังอนุรักษ์อาคารเก่าให้ดูดีในแบบที่มันเป็นได้”

ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ยืนยันว่าอาคารเก่าชำรุดไม่ใช่ขยะ หากคือสมบัติของมหาวิทยาลัยที่อวลไปด้วยลมหายใจแห่งชีวิต กาลเวลา และภูมิปัญญาของครูบาอาจารย์

“เมื่อปี ๒๕๐๐ พื้นที่แถบนี้ยังเป็นทุ่งดินลูกรังไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเลยแม้แต่ต้นเดียว อาจารย์วทัญญูท่านเรียนจบทางด้านผังเมืองจากต่างประเทศจึงนำหลักการมาใช้ สังเกตภูมิทัศน์ว่าแม่น้ำลำตะคองอยู่ฝั่งไหนแล้วขุดบ่อเพื่อหาพื้นที่กักเก็บน้ำ วางผังเส้นทางถนนเอาไว้ให้เผื่ออนาคต ทั้งยังกำหนดไว้เสร็จสรรพว่าควรมีอาคารอะไรสร้างตรงไหนบ้าง ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดให้สอดคล้องกันหมด คนรุ่นต่อมาสามารถนำผังนี้มาใช้ได้ถึงปี ๒๕๔๐”

ผศ.นิคม ยังอธิบายถึงเหตุผลที่ ๒ อาคารเก่านี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์

“ในยุค ๒๕๐๐-๒๕๑๐ ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ พัดลมอาจเพิ่งมีด้วยซ้ำซึ่งหายากมากในต่างจังหวัด สถาปนิกต้องอาศัยทิศทางลมช่วยสร้างความเย็นและระบายอากาศ สร้างงานโดยยึดความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติเป็นที่ตั้ง ประจวบกับสถาปัตยกรรมช่วงนั้นเป็นกระแสของโมเดิร์น เน้นสัจจะของวัสดุเปลือยไม่ปรุงแต่งให้บิดเบือนจากความจริง มันจึงออกทื่อ ๆ พอเปลี่ยนยุคบริหารจากอาจารย์วทัญญู หลายคนที่ไม่เข้าใจแนวคิดก็มองว่าอาคารโมเดิร์นมันน่าเบื่อ พอทรุดโทรมก็อยากปรับเปลี่ยนอยากขยาย ซึ่งพอทำแล้วมันเสียรูปแบบเดิมไป สูตรที่เคยคำนวนพื้นที่ให้รองรับจำนวนคนที่ตั้งใจไว้ก็ผิดเพี้ยน ทีนี้พออาคารไม่สามารถตอบโจทย์ประโยชน์ใช้สอยได้ดังใจก็อยากรื้อทิ้ง”

เสียงจากอาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการผังเมืองชวนขบคิด หาใช่ความผิดของอาคารอายุล่วงครึ่งศตวรรษซึ่งเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงหรือวัสดุราคาแพง เพียงการออกแบบและจัดการที่ดีก็เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาวแล้ว เมื่อจะตัดสินว่าสิ่งใดควรอนุรักษ์มักมีประเด็นเรื่องคุณค่าและแนวคิดการรับรู้ความสำคัญต่างกันให้ถกเถียงอยู่เสมอ หากผู้มีอำนาจขาดการศึกษาอย่างถ่องแท้ก็อาจทำลายคุณค่าไปอย่างไม่อาจเรียกคืน จึงควรฟังเสียงของสังคมมหาวิทยาลัยด้วย เพราะสิทธิของพวกเขาใครคนหนึ่งจะทุบทิ้งไม่ได้

“เราอยากให้ผู้บริหารเปิดประเด็นปัญหาที่เป็นข้อเท็จจริงต่อกัน เรายินดียื่นมือช่วยเหลือข้อติดขัดอยู่แล้ว ทั้งการระดมทุนจากศิษย์เก่าหรือจัดหาสถาปนิกเขียนแบบใหม่ให้ส่งทันกรอบงบประมาณภายในสิ้นเดือนมีนาคม ราชมงคลผลิตศิษย์เก่าเก่ง ๆ ออกมาตั้ง ๕๐ กว่ารุ่นแล้ว ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันทุกปัญหามันย่อมมีทางออก”

โชคดี ปรโลกานนท์ สะท้อนมุมมองในฐานะศิษย์เก่าแผนกวิชาช่างกลเกษตรของมหาวิทยาลัยรุ่นที่ ๑๓ ซึ่งเคยมีความผูกพันจากการใช้สอยประโยชน์ของอาคารหอประชุม ๑

“หากสุดท้ายทางผู้บริหารยืนกรานรื้อถอนหรือปรับเปลี่ยนอาคารเก่า เราคงต้องต่อสู้ฟ้องศาลปกครองให้ระงับ เพราะมันเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่เพียงสมบัติของมหาวิทยาลัยนะครับ มันเป็นสมบัติของโคราชสมบัติของแผ่นดิน และถ้ามองในเรื่องของระบบการเรียนการสอน ครูของเราวางองค์ความรู้ด้านสถาปัตย์ที่ดีที่สุดไว้ให้แล้ว มันตลกนะถ้านักศึกษาสถาปัตย์ของเรากลับต้องดิ้นรนออกไปหาต้นแบบดูจากที่อื่น”

แม้สถาปัตยกรรมยุคใหม่จะเน้นเชิดชูพลังงานจักรกลแทนที่คุณค่ามนุษย์ ใช้เหตุผลนิยมตอบสนองมากกว่าศิลปะหรือศรัทธาเช่นอดีต แต่หากปล่อยให้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของอาคารประวัติศาสตร์ถูกล้มลง โดยมุ่งพัฒนาแต่ความเจริญ อนาคตมหาวิทยาลัยคงไม่แคล้วเป็นเพียงพื้นที่แออัดไร้มนต์เสน่ห์