กีฬา_ทางเลือก
วายร้ายสีแดง

United Way เยือนโรงเรียนลูกหนังซึมซับวิถี “ยูไนเต็ด”สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแห่งเกาะอังกฤษที่เราเรียกกันติดปากว่า แมนยูฯ  ชาวเมืองแมนเชสเตอร์เรียกว่า “ยูไนเต็ด” และเมื่อพูดถึง United Way-วิถียูไนเต็ด ก็คือหลักการที่ชาวสโมสรฯ ภาคภูมิใจและสามารถพิสูจน์ความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์  คนใดแม้มิใช่แฟนคลับ “ปีศาจแดง” ก็น่าจะเปิดใจรับฟัง

หัวจักรขับเคลื่อนวิถียูไนเต็ดอาจอยู่ที่ศูนย์ฝึกคาร์ริงตัน (Carrington training ground) ซึ่งเหล่านักเตะชุดใหญ่รวมตัวฝึกซ้อมภายใต้การดูแลของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และมีทีมสำรอง ทีมเยาวชนของสโมสรฯ ฝึกซ้อมอยู่ใกล้ๆ กัน แต่รากฐานการปลูกฝังและเผยแพร่วิถียูไนเต็ดให้ขจรย่อมหนีไม่พ้นโรงเรียนฟุตบอลของสโมสรฯ อันมีหลักแหล่งอยู่ในเขตซัลฟอร์ดทางตอนเหนือของเมืองนามว่า ศูนย์ฝึกเดอะคลิฟฟ์ (The Cliff training ground)

เดอะคลิฟฟ์เคยเป็นสนามฝึกซ้อมของทีมแมนยูฯ มาก่อน นักเตะรุ่นเก๋าอย่าง ไบรอัน ร็อบสัน  เอริก คันโตนา  รอย คีน  รุด ฟาน นิสเตลรอย  เดวิด เบ็กแฮม ล้วนเคยผ่านการฝึกจากที่นี่  เมื่อทีมต้องขยับขยายพื้นที่และย้ายไปซ้อมที่สนามคาร์ริงตันในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ จึงตั้งเดอะคลิฟฟ์เป็นโรงเรียนลูกหนัง มีสนามฟุตบอลในร่มและกลางแจ้ง พร้อมด้วยมูลนิธิแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดทำงานช่วยเหลือสังคมทางด้านกีฬาควบคู่การศึกษา

แต่ละปีที่นี่จะเปิดรับเด็กชาย-หญิงอายุระหว่าง ๗-๑๖ ปีทั้งในอังกฤษและจากทั่วโลกเข้าฝึกอบรม  ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยกทีมไปเปิดแคมป์สอนฟุตบอลตามสถาบันการศึกษา ชุมชนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าอินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ

เปรียบกับการฝึกวิทยายุทธ์ เดอะคลิฟฟ์เป็นดังวัดเส้าหลินของฟุตบอลอังกฤษสไตล์แมนยูฯ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลานี้

ปีที่แล้วมีนักเตะรุ่นเยาว์ ๑,๖๐๐ คนจากกว่า ๗๐ ประเทศสมัครมาฝึกอบรมกับวัดเส้าหลินของยูไนเต็ด

สำหรับปีนี้ในจำนวนนักเตะเยาวชนจากทั่วโลกที่เข้าอบรมมีเยาวชนไทย ๒๑ คนรวมอยู่ด้วย

นักบอล ๒๑ คนเรียนชั้น ม. ๓-ม. ๕ จากโรงเรียนปทุมคงคา (แชมป์กรุงเทพฯ) โรงเรียนพัทลุง (แชมป์ภาคใต้) และโรงเรียนแม่ใจ-วิทยาคม (แชมป์ภาคเหนือจากจังหวัดพะเยา) ชนะเลิศโครงการ “เอ. พี. ฮอนด้า เรดแชมเปี้ยน ปี ๒” คว้าโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปฝึกอบรมเทคนิคฟุตบอลกับเดอะคลิฟฟ์ในรูปแบบ short training course นาน ๙ วัน รวมถึงการทัวร์สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด สนามแอนฟิลด์ ชมเกมการแข่งขัน ๑ นัด และทัศน-ศึกษาในกรุงลอนดอนด้วย

โดยเจตนารมณ์ที่นายสุชาติ อรุณแสงโรจน์ กรรมการบริหารบริษัท เอ. พี. ฮอนด้า จำกัด บอกกล่าวคือ โครงการนี้ต้องการเน้นพัฒนาทักษะฟุตบอลขั้นพื้นฐานให้เยาวชนในแบบมืออาชีพ ตามแนวคิด “เบสิกต้องดี เทคนิคต้องเยี่ยม” เพราะถือว่าการพัฒนาระดับพื้นฐานจะส่งแรงไปสู่การพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศอย่างเห็นผล

ทีมที่ได้ตั๋วไปเยือนถิ่นปีศาจแดงต้องฝ่าด่านคู่ต่อสู้ที่เข้าชิงชัยรวมทั้งสิ้นกว่า ๓,๐๐๐ ทีม  สมาชิกทุกคนในทีมล้วนผ่านสถานีทดสอบอันเข้มข้น ๕ สถานี ได้แก่ การเดาะบอล เลี้ยงบอล รับ-ส่งบอล โหม่งทำประตู และเตะบอลข้ามสิ่งกีดขวาง รวมถึงการลงสนามแข่งขันฟุตบอลด้วย  เบสิกฟุตบอลของแต่ละทีมจึงถือว่าอยู่ในระดับพระกาฬ

โปรแกรมการอบรม short training course ของเดอะคลิฟฟ์วางไว้ ๕ วันเต็มในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่อากาศหนาวเย็น (ผิดปรกติ) การฝึกแบ่งออกคร่าวๆ เป็น

วันแรก เปิดการอบรม การเล่น ๑ : ๑
วันที่ ๒ การเคลื่อนที่ ทีมเวิร์กในการบุก
วันที่ ๓ การทำประตู
วันที่ ๔ การวางแผน รูปแบบการเล่น และลงฟาดแข้งกับทีมท้องถิ่น
วันสุดท้าย ทดสอบทักษะฟุตบอล และพิธีมอบประกาศนียบัตร

man utd02man utd03

ถึงเวลาลงสนาม โค้ชผู้รับหน้าที่ดูแลเด็กๆ คือ เควิน โอคอนเนล และ แอนดี คันนิงแฮม เปิดตำราสอนอย่างจริงจัง เป็นระบบแบบแผน หวังช่วยให้เด็กๆ พัฒนาขีดความสามารถของตนเอง แต่ในความเอาจริงเอาจังเทคนิคลูกเล่นเขาก็แพรวพราวสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานไม่น่าเบื่อ สมดังแนวคิดของโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กๆ เล่นฟุตบอลด้วยความสนุกมีรอยยิ้ม

หากโค้ชรู้สึกว่ามีข้อควรปรับปรุงเพิ่มเติมจากวันที่ฝึกจบลง ไม่ว่าในแง่เทคนิคฟุตบอลหรือบรรยากาศการเรียนที่ดีขึ้น วันต่อมาเราก็จะได้เห็นเทคนิค เกมใหม่ๆ ที่เขานำเสนอเพื่อไขโจทย์คาใจจากเมื่อวาน

การฝึกอบรมไม่ได้มีเฉพาะในสนามฟุตบอลอันหนาวเหน็บเท่านั้น บางโอกาสมีเสริมภาคทฤษฎีในห้องเรียน รวมถึงนำคลิปวิดีโอ จังหวะการทำเกมบุก การตั้งรับ และลูกยิงประตูสวยๆ ของ “ทีมชุดใหญ่” มาฉายให้ดูเป็นตัวอย่าง และสร้างบรรยากาศฮึกเหิมให้แก่ “ปีศาจแดงรุ่นเล็ก” ในช่วงหลังมื้อกลางวัน (รออาหารย่อยเพื่อกลับไปซ้อมต่อ)

โค้ชเควินและแอนดีมักสอดแทรกเรื่องทัศนคติ รูปแบบการเล่นฟุตบอลสไตล์ยูไนเต็ดลงไปในเนื้อหาที่สอน  ทัศนคติที่ว่า “ทีมยูไนเต็ดมีความกระหายที่จะเล่นฟุตบอล…ด้วยเกมบุกโจมตีอย่างรวดเร็ว ทุกคนช่วยกันเล่นด้วยทีมเวิร์กอันแข็งแกร่งซึ่งมีพื้นฐานมาจากการฝึกฝนอย่างหนักจนเกิดทักษะชั้นยอดในการส่งบอล บังคับบอล การเคลื่อนที่ และพัฒนาทักษะนั้นไปใช้กับสถานการณ์จริงในสนามแข่งขัน”

ซึ่งความกระตือรือร้น ความกระหายใคร่ฝึกซ้อมและเล่นฟุตบอลนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มเยาวชนไทยยังต้องปรับปรุง

ข้อสำคัญที่จะละเว้นไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ เมื่อเปิดการอบรมทางสโมสรฯ ส่ง เดนนิส เออร์วิน ยอดแบ็กซ้ายในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งทูตประจำสโมสรฯ มาต้อนรับและร่วมฝึกซ้อมด้วย  เขาปลุกความเชื่อมั่นในตัวเด็กๆ ชาวไทยด้วยบทบัญญัติ ๕ ข้อของสโมสรฯ คือ ๑. การไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ๒. ให้สนุกกับการซ้อม ๓. ทำงานอย่างหนัก ๔. เล่นร่วมกัน และ ๕. เชื่อมั่นในตนเอง

สิ่งสำคัญที่เออร์วินมอบให้เด็กทุกคนคือหนังสือคู่มือของโรงเรียนฟุตบอลเล่มบางๆ ชื่อ Learn to Play the United Way ซึ่งเป็นสิ่งที่โค้ชเควินและแอนดีพยายามปลูกฝังตลอด ๕ วัน นอกเหนือจากเทคนิคและแทกติกการเล่นฟุตบอล

ช่วงท้ายของการฝึกโค้ชได้หยิบเอาเนื้อหาในหนังสือขึ้นมาพูดคุยในห้อง- -ว่าด้วยการประเมินตนเองของผู้เล่น (ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม) ว่าหลังจากการฝึกแต่ละคนมีความก้าวหน้าด้านใดบ้าง และจะต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อลดจุดบกพร่องลง- -ทั้งในแง่เทคนิคการเล่น แทกติก กายภาพ สภาพจิตใจ ตลอดจนความสัมพันธ์ในทีม

แม้เป็นคู่มือการฝึกเล่มบางๆ แต่โรงเรียนฟุตบอลก็ออกแบบหนังสือนี้อย่างประณีตใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่ประวัติ ทัศนคติ วาทะคมๆ การฝึกฝน ประเมินตนเอง

ทุกหน้าเป็นกระบวนการสัมพันธ์กัน เป็นกระบวนการที่สอดรับกับการก้าวเข้ามาเรียนรู้วิถียูไนเต็ดของไอ้หนูนักเตะคนหนึ่ง

และเพื่อจะเข้าใจ “วิถียูไนเต็ด” ชัดเจนขึ้นก็ต้องขออ้างประโยคที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้

“ประวัติศาสตร์และประเพณีของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคือสิ่งที่นิยามตัวตนของเรา…ในฐานะสโมสรที่ต้องการจะเล่นฟุตบอลด้วยเกมบุกอันน่าตื่นตา และเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนานักเตะเยาวชน

“โค้ชรู้ดีว่าเขาต้องทำอะไรและรู้ว่าจะดึงสิ่งที่ดีที่สุดของเด็กแต่ละคนออกมาได้อย่างไร  พวกเด็กๆ จะไม่มีวันลืมสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีการเล่นแบบยูไนเต็ด”

วันปิดการอบรมโค้ชเควินพูดทิ้งท้ายว่า เยาวชนไทยมีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ดี สามารถผ่านการทดสอบขั้นพื้นฐานของโรงเรียนแห่งนี้ เขาบอกว่า “การฝึกครั้งนี้แม้จะกินเวลาสั้นๆ และดูเหมือนเป็นสิ่งพื้นฐาน แต่มันเป็นการฝึกรูปแบบเดียวกับที่นักเตะชุดใหญ่เขาฝึกกัน”

เป็นรูปแบบที่นานีเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเมื่อรับบอลจากเพื่อน เขาต้องอยู่ในจังหวะที่พร้อมจะพาบอลไปข้างหน้าทันที ไม่ใช่ส่งบอลคืนหลัง  เป็นรูปแบบเดียวกับที่ฟาน เพอร์ซีใช้ฝึกเพื่อวิ่งหลอกตัวประกบก่อนจะตัดเข้ารับบอลจากรูนีย์ไปยิงประตู

หมายเหตุ : นอกจาก ๓ ทีมที่ไปฝึกยังโรงเรียนฟุตบอลแมนยูฯ เอ. พี. ฮอนด้า ยังส่งอีก ๒ ทีมไปฝึกที่โรงเรียนฟุตบอลลิเวอร์พูล คือ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรีและโรงเรียนบ้านหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี โดยทุกทีมมีโค้ชหรือผู้จัดการทีมเข้าร่วมสังเกตการณ์