ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์    ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

nakorn01

จาก สัมภาษณ์ : นคร จันทศร เมื่อไทยกระโดดขึ้นรถไฟความเร็วสูง ? ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ

พลันที่รัฐบาลผุดไอเดียเสนอร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งของประเทศ เมกะโปรเจ็กต์ที่มีรถไฟความเร็วสูงเป็นธงนำ ภาพฝันสวยหวานเรื่องรถไฟความเร็วสูงก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั่วสังคมไทย และอาจเรียกได้ว่าไม่เคยมีครั้งใดที่ภาพรถไฟหัวกระสุนจะลอยเด่นจนถูกฉวยมาเป็นประเด็นร้อนมากมายเท่าครั้งนี้

ใครที่เคยใช้บริการรถไฟรางของไทย โดยเฉพาะในการเดินทางระยะไกล คงยากจะปฏิเสธถึงความรู้สึกอ่อนอกอ่อนใจกับรูปแบบหนึ่งของการคมนาคมไทยที่เปิดให้บริการมานานกว่า ๑๐๐ ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวจนเข้าสู่ยุค “ม้าเหล็กขาลง”

ว่ากันว่าหากรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริง รถไฟหัวกระสุนหน้าตาคล้ายชินคันเซนของญี่ปุ่นจะพาเราออกเดินทางแหวกอากาศ ใช้เวลาจากจุดศูนย์กลางประเทศอย่างกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ หนองคาย หาดใหญ่ได้ในเวลาแค่ ๔-๕ ชั่วโมงเท่านั้น

นับเป็นการเปิดความหวังของการคมนาคมทางรางในประเทศที่ตีบตันมานาน

และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท หรือในชื่อเต็มว่า ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและลงมติผ่านขั้นรับหลักการไปแล้ว พร้อมกับคำถามในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องความคุ้มค่า หรือใช่เวลาที่เหมาะสมหรือไม่  แม้กระทั่งถ้อยแถลงของนายกฯ ที่รัฐสภา ว่าจะใช้รถไฟความเร็วสูงขนผักขนสินค้า สร้างงานสร้างรายได้  ข้อมูลเหล่านี้เท็จจริงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเท่าใด ?